ไปงานปฐมนิเทศมหาวิทยาลัยของลูก (ชีวิตแม่ของหมอ) เมื่อผ่านการสัมภาษณ์ และประกาศผลอย่างเป็นทางการ คณะส่งจดหมายเชิญ ผู้ปกครอง(ผปค) และนิสิต ไปงานปฐมนิเทศ!!! แปลกใจงานปฐมนิเทศนิสิตที่เชิญ ผปค ไปร่วมงานด้วย ทางคณะ อจ. ตัวแทนจากแพทยสภา และประธานสมาคมผปค คนปัจจุบัน มาจัดบรรยายแนะนำ เรื่องโปรแกรมการเรียน ตลอดจนสิ่งต่างๆที่ลูกจะต้องทำ ต้องเจอ เพื่อจะได้เป็น นายแพทย์หรือแพทย์หญิง ตามความตั้งใจ เอิ่ม..ก็น่าลองไปดู เขาเล่าว่า หลักสูตร 6 ปี เด็กต้องเรียนรู้และทำอะไรบ้าง แบ่งเป็น 2 ช่วง หลักๆ • ชั้น พรีคลีนิค ปีที่ 1 เรียนปรับฐานความรู้ต่างๆ ร่วมกิจกรรมน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย เหมือนได้พักเหนื่อยจากการเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบเลย ปีที่ 2 เรียนกายวิภาค และระบบต่างๆของร่างกาย มีทั้งทฤษฎี ต้องจำชื่อ เรียก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ต่างๆ เป็นภาษาลาติน ทั้งยาวทั้งยาก ไฮไลต์ คือการเรียนกับ "อาจารย์ใหญ่" โดย 1 ท่านจะมีลูกศิษย์ 5-6 คน เด็ก ต้องเริ่มตั้งแต่นำร่างท่านขึ้นจากการดอง ล้างทำความสะอาด แล้วนำร่างท่านไปที่ห้องเรียน วันเปิดคลาส เด็กต้องนำพวงมาลัยมากราบขอขมา ต่อท่าน ลูกเล่าว่าตอนแรกๆก็ทั้งตื่นเต้น และกลัว พอเข้าเรียนจริงๆ ทั้งเนื้อหา และความกดดันที่ต้องจำให้ได้ มีสอบตลอดเวลา สามารถหยุดพักไปทานข้าวและกลับมาเรียนต่อได้สบายๆ ยิ่งช่วงใกล้สอบ อยู่ในห้องจน จนท ต้องมาไล่เพื่อปิดห้อง คนที่ไม่ชิน น่าจะเป็น เราที่เวลาลูกกลับมาถึงบ้าน จะได้กลิ่นน้ำยาติดตัวมา แรงมาก ลูกบอก มิน่า เวลาขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน คนเว้นระยะห่างจากเขา ทั้งๆที่รถก็แน่น เขาบอกว่าตัวเองคงชินกลิ่นแล้ว ปีที่ 3 เรียนระบบของร่างกาย ภูมิคุ้มกัน ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา ยาขั้นพื้นฐานต่างๆ ต้องจำชื่อ ระบบของร่างกาย ชื่อโรค ชื่อยา บร้าๆๆๆ มากมาย และต้องเตรียมสอบ NL 1 • ชั้นคลีนิค ปีที่ 4 ขึ้นชั้นคลีนิค โดยจะมีพิธีรับเสื้อกาวน์ยาว (White Coat Ceremony) เป็นการให้เด็กรู้ว่ากำลังจะเริ่มบทบาทหน้าที่ในการเรียนรู้การรักษาและปฎิบัติกับคนไข้ ที่เป็นคนมีชีวิตจริงๆ โดยจะจัดกลุ่มละ 8-10 คน วนไปฝึกหรือจะเรียกว่าดูการทำงานตามวอร์ดต่างๆ สูติ ศัลย์ เมด เด็ก สลับกับการเรียน เลคเชอร์ในห้องเรียน และช่วยให้คนไข้กับญาติแยกแยะว่า เด็กกะโปโลเดินไปมาใน รพ พวกนี้ คือ นิสิตแพทย์ ปีที่ 5 การเรียนจะเน้นไปที่การฝึกงาน วนไปเป็นผู้ช่วยรุ่นพี่ จะได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลคนไข้ บางครั้ง อจ ก็จะให้ลองซักประวัติคนไข้ (โดยต้องแนะนำตัวว่าเป็นนิสิตแพทย์ ต้องขออนุญาตคนไข้ซักประวัติ แล้วแต่คนไข้จะให้หรือไม่ยินยอมก็ได้) แล้วลองวินิจฉัยเบื้องต้น ให้รุ่นพี่กับอาจารย์ ฟัง ปีนี้จะเพิ่มวนวอร์ด จิตเวช นิติเวช เวชศาสตร์ชุมชน รร แพทย์บางแห่งก็จะมีทำสัญญากับ รพ ใน ตจว ให้นิสิตไปฝึกทำงาน จึงมีศัพท์ ว่า วนใน กับ วนนอก เกิดขึ้น ต้องเตรียมสอบ NL 2 ไปด้วยตอนจะจบปี 5 ปีที่ 6 ที่เรารู้จักในชื่อเรียกว่า "Extern" เป็นเหมือนช่วงทดลองทำงานรักษาคนไข้ ทำหัตถการ ต่างๆ เช่น ทำคลอด เย็บแผล ผ่าตัดเล็กๆ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Staff และ อจ แพทย์ ต่างจากปี 5 ตรงที่ทำงานเองจริงๆ ทุกอย่าง ชั่วโมงทำงานเหมือนหมอจริงๆ ทุกประการ บางแห่งจะให้นิสิต เปลี่ยนมาใส่เสื้อกาวน์สั้น เพื่อให้คนไข้และญาติ รู้ว่าพวกนี้คือ นิสิตแพทย์ คนใน รพ เกือบทุกคนก็จะเรียก สรรพนาม ว่า หมอ นำหน้า เหมือนเตือนสติให้รู้ว่าต้องตั้งใจทำงานแบบจริงจัง มีความรับผิดชอบ ต้องเตรียมสอบ NL 3 ไปด้วยล่ะจ๊ะ การจะเป็นหมอที่ออกไปรักษาคนไข้ได้นั้น ไม่ใช่แค่เรียนจบสอบผ่านตามหลักสูตร 6 ปี ของคณะแพทย์เท่านั้น แต่ต้องผ่านการสอบ National Lisense Examination (NL) คือ การประเมินและสอบรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม คนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยใดๆก็ตาม ทุกคนต้องมาทดสอบจนกว่าจะผ่านทั้ง 3 ระดับ จึงจะยื่นขอขึ้นทะเบียนและขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ โดยทางแพทยสภาจะเป็นผู้ออกใบนี้ พร้อมเลข ว. NL สามารถสอบกี่ครั้งจนกว่าจะผ่านได้ แม้เราไม่ผ่าน ระดับ 1 แต่เราสามารถสมัครสอบ ระดับสูงกว่าได้ หากมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด เป็นอีกหนึ่งด่านหิน ที่บางคนเรียนจบรับปริญญาแล้ว แต่ก็ยังติด NL บางระดับไม่ผ่าน จึงไม่สามารถรักษาคนไข้ได้ NL คือ มาตรฐานในการทดสอบและประเมินที่ใช้แบบเดียวกัน กับทุกคนที่ต้องการเป็นคุณหมอ โดยเฉพาะในการสอบ NL 3 จะต้องไปสอบภาคปฏิบัติกับ รร แพทย์ อื่น ให้ อจ ที่นั่นจะเป็นคนประเมินว่าให้ผ่านหรือไม่ ตัดปัญหาการช่วยลูกศิษย์ของตัวเอง ถึงตอนนี้ เราผู้ซึ่งไม่เคยรู้ว่าเส้นทางการเรียนหมอมาก่อน รู้แค่สอบติดยาก เรียนยาก เรียนหนัก ก็เริ่มกังวลแทนลูก😐😐
|
บทความทั้งหมด
|