เหตุปัจจัย ปั้นแต่งความฝันของเด็กคนหนึ่ง นับจากวันที่ลูกบอกว่าเขาจะเรียนหมอ ผ่านความผิดหวังที่สอบไม่ติดในครั้งแรก จนถึงวันที่สอบติดได้ตามตั้งใจ แม้ประกาศผลไปแล้ว แต่เรานั่งคุยกันบ่อยครั้งมาก เรื่องความคิดอยากเป็น หมอ มันมาจากไหน อาชีพที่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตคน อาชีพที่เรียนหนัก ตารางการทำงานก็หนัก (จวบจนคุณจะเป็นระดับอาจารย์หมอ) ที่ผ่านมา ลูกก็เคยถามถึงอาชีพอื่นๆ รอบๆตัวพ่อกับแม่ ว่าต้องเรียนจบอะไร เวลาทำงานเขาทำอย่างไร แทบไม่เคยถามถึงอาชีพหมอ เรากังวลว่า ลูกอยากเป็นหมอ เพราะคิดว่า มันเท่ห์ มันจะหาเงินได้มากๆ ลูกบอกน่าจะเกิดจากตอนที่ย่าป่วยเข้า รพ เขารู้สึกว่าอาชีพหมอดีจัง หมอไม่ใช่แค่รักษาย่าให้หายเจ็บ ยังทำให้ญาติๆ มีความสุขด้วย ส่วนหมอก็ได้เงินได้ด้วย คิดว่าน่าจะมีไม่กี่อาชีพที่ได้ช่วยชีวิตคนและได้เงินไปพร้อมๆกัน แต่ตอนนั้นยังไม่คิดจริงจังมาก เพราะยังอยูป.6 แต่ก็มีอีกเหตุการณ์ คือ ตอนพ่อป่วยเข้ารับการผ่าตัด ผู้ช่วยอาจารย์หมอเจ้าของไข้ เป็นคนหนุ่ม มีความมั่นใจสูง หน้าตาเคร่งเครียด ไม่ค่อยรับฟังคนไข้เท่าที่ควร เราแม่ลูกแอบตั้งชื่อ หมอคนนี้ว่า เฮียเครียด หลังผ่าตัด พ่อมีอาการปวดท้อง ทานอาหารไม่ค่อยได้ และอาเจียนบ่อยครั้ง เวลาบอกหมอคนนี้ ก็จะบอกว่ามันเป็นอาการหลังผ่าตัด สุดท้ายพ่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ผ่านไปเกือบเดือน พ่อมีอาการมากขึ้น น้ำหนักลดไป เกือบ 10 กิโล พ่อเริ่มคิดว่าตัวเองต้องตายแน่นอน แม้เคยไปพบหมอตามนัด เล่าอาการก็ได้คำตอบแบบเดิม วันหนึ่งที่อยู่บ้าน แผลที่ผ่าตัดปริแตกราวๆ 2 ซม. จึงเรียกเรียกรถพยาบาลไปส่ง และต้องเข้ารับการผ่าตัด ผลการวินิจฉัย คือ ติดเชื้อในช่องท้องจากการผ่าตัด เราลองไปค้นข้อมูลดู อาการที่เราเล่าให้หมอฟังมาตลอดมันตรงกับโรคนี้ หาก อจ.หมอเจ้าของไข้ และผู้ช่วย ไม่มีอีโก้ ตั้งใจรับฟังคนไข้มากกว่านี้ พ่อคงไม่ต้องเสี่ยงตาย และต้องทุกข์ทรมาณมาเป็นเดือน เป็นอีกเหตุการณ์ ที่เกิดตอนลูกเรียน ม.4 ทำให้เขาอยากเป็นคุณหมอ ที่จะตั้งใจรักษาคนไข้ให้หายป่วย เหมือนหมอของย่า กับหมอเด็กประจำตัวเขา และอยากมีความรู้มากพอ เผื่อวันหนึ่งจะเจอหมอที่รักษาพ่อ เขาจะได้บอกว่า คุณอาจมีความรู้ที่เก่งมาก แต่คุณไม่ใช่หมอที่ดี และอาจไม่คู่ควรกับคำว่า หมอ เลย เมื่อลูกอธิบายถึงความตั้งใจเป็นหมอดังนี้ เราสองคนแอบคุยกันว่า ต่อไปเราต้องดูแลกันให้ดี ไม่ต้องเป็นภาระให้เขามาห่วงเรา เพราะจากที่ฟังคนที่มีคนในครอบครัวเป็นหมอจะบอกว่า ไม่ใช่แค่หมอที่ต้องเสียสละเวลาความสุขส่วนตัว ครอบครัวก็ต้องเข้าใจและเสียสละด้วย แม่บางคนบอกตัวเองนอนป่วยใน รพ ขณะที่ลูกยังนั่งรักษาคนไข้อยู่ ณ รพ อื่น อาจทำได้แค่โทรมาถามไถ่อาการเท่านั้นเอง เมื่อตอนที่ว่าง เพราะ คนเป็นหมอต้องปฏิบัติ ดัง พระราชดำรัสของพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย " ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้บริสุทธิ์ " แต่.... หมอแต่ละคน จะยึดถือปฏิบัติแบบไหนก็ขึ้นกับอัชฌาสัย ของผู้นั้น
ปรับ ขนาดตัวอักษรแล้ว ค่ะ ขอบคุณที่แนะนำนะคะ
โดย: แมวเหมียวลายสีชมพู วันที่: 28 พฤษภาคม 2567 เวลา:18:23:41 น.
|
บทความทั้งหมด
|
ดูผ่านจอคอม ตัวหนังสือเล็กมากเลยค่ะ