CSR not PR

ยังมีหลายคน และหลายองค์กรที่เข้าใจสับสน จะด้วยความตั้งใจ, แกล้งไม่รู้ หรือทำตามกระแสก็ตาม

แต่จะบอกแบบเตือนสติทุกคนว่า Corporate Social Responsibility หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CSR นั้น

ไม่ใช่กิจกรรมสร้างภาพลักษณ์องค์กร หรือการประชาสัมพันธ์หน่วยงานแต่อย่างใด

แม้ว่าหลายองค์กร จะผนวกเข้าไว้เป็นงานหนึ่ง ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ก็ตาม แต่...................

ต้องระวังให้ดี และต้องแยกให้ขาด บางองค์กรแยกเป็นแผนกออกมาต่างหาก

เพื่อกันความพลั้งเผลอ ของพนักงานที่อาจจะอดคิดปะปนกันไม่ได้

ช่วงหลังมานี้ ที่เห็นกันมากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทย คือ

การจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่ง เป็นทุนตั้งต้น และจัดตั้งออกมาเป็นรูปของมูลนิธิ เพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เพื่อแยกความรู้สึก ระหว่างการทำธุรกิจ กับการทำประโยชน์เพื่อสังคม

แต่ก็ยังเป็นคำถามอยู่ในใจนักวิชาการหลายคนว่า ใช่ CSR หรือไม่

เพราะถ้าขาดการมีส่วนร่วม ของพนักงาน ที่อยู่ฝั่งของการทำธุรกิจ กับมูลนิธิที่ทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคมแล้ว

ก็จะกลายเป็นต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ สำนึกรับผิดชอบต่อสังคมคงไม่เกิด





ถ้าเราจะคิดใหม่ โดยแปลงคำว่า CSR เป็น Corporate Stakeholder Responsibility

อาจจะทำให้ความเข้าใจ คำว่า Social ในแบบไทย ๆ ของเราดีขึ้น โดยขอนิยาม คำว่า

Stakeholder คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการทำธุรกิจขององค์กรผ่านสำนึกความรับผิดชอบ ที่ทุกคนพึงจะมี และช่วยกันทำ ดังนี้



1. Customer (ความรับผิดชอบต่อลูกค้า)

ในอันที่จะส่งมอบสินค้า และบริการที่ดีมีคุณภาพสูงเท่านั้น

โดยไม่ปลอมปน หรือสอดไส้ จนก่อให้เกิดอันตราย ไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สำนึกที่มีต่อลูกค้า จะช่วยกระตุ้นเตือนทุกคนในองค์กร ให้ส่งมอบอย่างตรงไปตรงมา, จริงใจ จนเกิดความพึงพอใจ




2. Shareholder (ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น)

ด้วยการบริหารกิจการอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ไม่เล่นแร่แปรธาตุ หรือตกแต่งบัญชีให้ดูดีจนเกินงาม

จนทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดในผลประกอบการของบริษัท

ยิ่งเป็นบริษัทมหาชนแล้ว สำนึกส่วนนี้ยิ่งต้องมีสูงเป็นพิเศษ

เพราะความเสียหายจากการประกอบกิจการที่ไม่สุจริต จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก




3. Employee (ความรับผิดชอบต่อพนักงาน)

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี, การดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของพนักงาน, การไม่เอาเปรียบแรงงานด้วยการกดขี่

หรือลดทอนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการทำงาน เพียงเพื่อจะลดต้นทุน

เพราะถ้าเราไม่สามารถดูแลพนักงานภายใน ให้มีขวัญกำลังใจที่ดี, มีความผาสุกได้แล้ว

ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะไปสร้างความผาสุกให้แก่คนภายนอก




4. Supplier (ความรับผิดชอบต่อผู้รับจ้างช่วง) หรือผู้ที่จัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่องค์กรของเรา

การทำสัญญาอย่างยุติธรรม และชำระเงินตรงตามงวดงานที่ตกลงกันไว้

โดยไม่จ่ายล่าช้า จนทำให้สถานะทางการเงินของผู้รับจ้างช่วงเกิดการชะงักงัน




5. Partner (ความรับผิดชอบต่อพันธมิตร)

โดยมีปฏิสัมพันธ์แบบจริงใจ และเป็นความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

ไม่ใช่จะเอาแต่ได้เพียงฝ่ายเดียว หรือทำอย่างไรก็ได้ ให้ได้ประโยชน์มากกว่าอยู่ตลอด

ที่สำคัญจะต้องร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย




6. Community (ความรับผิดชอบต่อชุมชนรอบข้าง)

แต่ละองค์กร อาจจะขีดวงเป็นรัศมีออกไปรอบตัวอาคารที่บริษัทตั้งอยู่ เช่น ในรัศมี 2 กิโลเมตร

และคอยไปสอดส่องดูแล หรือสอบถามว่า ได้รับความไม่สะดวก หรือผลกระทบอะไรจากการประกอบกิจการของเราหรือไม่

ถ้ามีสิ่งใดที่เราอาจพลั้งเผลอหลุดรอดบางสิ่งที่ไม่ดีสู่ชุมชน

ก็ให้รีบดำเนินการแก้ไขในทันที โดยอาจดึงชุมชนเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยก็ได้




7. Society (ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม)

อาจจะเป็นระดับจังหวัด, ภาค, ประเทศ หรืออาจไกลไปถึงต่างประเทศ ในกรณีที่เราทำการค้าส่งออก

เพราะเราคงอาจคาดไม่ถึงว่า จะมีผลกระทบใดบ้างที่ส่งความเสียหายไปสู่พื้นที่ อื่น ๆ ที่ไกลออกไป

หรือแม้แต่การช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาส การช่วยทำนุบำรุงพลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม





ถ้าเราแบ่งแบบนี้ แล้วพิจารณาแต่ละส่วนอย่างมีแบบแผน, กำหนดแนวทางวิธีการที่เป็นรูปธรรม, กำหนดตัวชี้วัด และประเมินผลเป็นระยะ

คงจะทำให้เราสร้างสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมได้ครบถ้วนรอบด้านมากกว่า

แบบนี้ถึงเรียกว่า เป็นองค์กรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคนที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อ สังคมอย่างแท้จริง ไปที่ไหนใคร ๆ ก็ต้อนรับ





ที่มา จาก ; จดหมายข่าวรายเดือน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ปีที่ 9 ฉบับที่ 108 มีนาคม 2552




Create Date : 27 ตุลาคม 2552
Last Update : 27 ตุลาคม 2552 7:46:34 น.
Counter : 2337 Pageviews.

0 comments

Ko7vasan.BlogGang.com

ko7vasan
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]

บทความทั้งหมด