เสพงานศิลป์ ๓๘



ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - ‪Yuhki Kuramoto‬









"ฉลองครบรอบ ๑ ปี พิพิธภัณฑ์ผ้า”


พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฉลองครบรอบ ๑ ปี จัดกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” ตลอดเดือนพฤษภาคม เชิญชวนชาวไทยร่วมสืบสานความเป็นไทยด้วยการแต่งกายชุดไทยเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ พร้อมร่วมสนุกกับการตอบคำถามในใบกิจกรรมเพื่อรับของที่ระลึกตลอดเดือนพฤษภาคมนี้


ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” เพื่อฉลองครบรอบ ๑ ปี พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๙ พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า


“เนื่องในวันที่ ๙ พฤษภาคมนี้ถือเป็นวันที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครบรอบ ๑ ปีเต็ม โดยเมื่อปีที่แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นเพื่อฉลองครบรอบขวบปีพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ พร้อมทั้งตอบแทนผู้รักความเป็นไทยที่ร่วมแต่งกายอย่างไทยมาชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ






“สำหรับกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” เป็นแนวคิดที่มุ่งหวังจะให้คนที่มาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้แต่งตัวอย่างไทย เนื่องจากทุกวันนี้ไม่ได้มีโอกาส ใส่ชุดไทยกันบ่อย ๆ ส่วนมากจะสวมใส่กันในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น งานพระราชพิธี งานมงคลสมรสหรืองานบุญ เป็นต้น เราจึงถือโอกาสนี้เป็นวันพิเศษที่จะรณรงค์ให้คนหันมาแต่งกายอย่างไทยมาที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อย่างสุภาพสตรี อาจจะแต่งชุดไทยพระราชนิยมหรือชุดไทยในยุคใดก็ได้ เช่น นุ่งจีบ ห่มสไบ นุ่จับกุมรือนุ่งโจง สวมเสื้อแขนหมูแฮม หรือสวมเสื้อลูกไม้ ชุดอะไรที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยจากภาพในประวัติศาสตร์ เราถือว่าได้หมด หรือจะเป็นชุดไทยแบบผสมผสานหรือชุดพื้นเมืองต่าง ๆ เช่น ชาวไทยภูเขา หรือชุดไทยพื้นเมือง ม่อฮ่อม ผ้าถุง ฯลฯ ขอให้เป็นชุดที่มีความเป็นไทยก็สามารถเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ ถือเป็นของขวัญที่มอบให้กับทุก ๆ คนที่มารวมนิยมไทยกับเราค่ะ”


“นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษตลอดเดือนพฤษภาคม ให้ผู้มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ร่วมสนุกโดยจะมีใบกิจกรรมให้ตอบคำถามเกี่ยวกับฉลองพระองค์ที่นำมาจัดแสดง รายละเอียดด้านในมีทั้งภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ พร้อมรับของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หากตอบคำถามถูกหมดทุกข้อ เรียกว่า นอกจากจะได้ชื่นชมความวิจิตรตระการตาของฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ้าไทย และได้ของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปด้วย”






ดร. อนุชา ทีรคานนท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติไทยที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายและผ้าชนิดต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงความร่วมสมัยไม่ตกยุค


“ในปัจจุบันผ้าไทยหาได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง และมีความหลากหลาย สามารถนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาในเรื่องของเนื้อผ้า ทั้งในแง่ของสีสัน ผิวสัมผัส ความหนาบาง ความเหมาะสมที่จะใช้ในสภาพอากาศต่าง ๆ อย่างบ้านเราเป็นเมืองร้อน ก็มักจะพูดกันไปว่า ใส่ผ้าไหมแล้วร้อน ซึ่งจริง ๆ ผ้าไหมในปัจจุบันก็มีหลายเนื้อให้เลือก สามารถเลือกให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ และเหมาะกับบุคลิกของตัวเอง


“ทุกวันนี้คนไทยก็ใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยกันมากขึ้นด้วยเสน่ห์ของผ้าไทย รวมถึงความหลากหลาย ของเนื้อผ้า นอกเหนือจากผ้าไหม ก็มีผ้าฝ้ายหลายรูปแบบ รวมถึงผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยที่มีมากมายให้เลือก สามารถนำมาตัดเย็บ ตัดให้มีรูปแบบเป็นทางการ ทั้งสวมใส่ในงานประชุมใหญ่ หรือพิธีการต่าง ๆ และยิ่งถ้าผลิตผ้าที่สามารถนำมาตัดเย็บให้มีรูปแบบร่วมสมัยได้มากขึ้นเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งหันมานิยมสวมใส่ผ้าไทยกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผ้าไหมเนื้อบาง มีน้ำหนัก มีความยืดหยุ่น เหมาะที่จะตัดเป็นชุดสตรีร่วมสมัยได้


“อีกไม่นานนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยิ่งควรให้ความสำคัญกับการคงอัตลักษณ์ของชาติไว้ จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะมีเสื้อผ้าของผู้หญิงผู้ชายที่แสดงเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเสน่ห์ของอาเซียน และเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยที่สะท้อนถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในหลายรูปแบบ หลายลักษณะ หลายภูมิภาค บางอย่างก็อาจจะอิงกับชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้เรานำมาใช้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับโอกาสและกาลเทศะ”






ทั้งนี้ ตลอดวันมีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ให้ความสนใจ แต่งกายตามกติกาของกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” คือ สุภาพบุรุษสวมเสื้อพระราชทานกับโจงกระเบน หรือกางเกงแบบสากล ส่วนสุภาพสตรีใส่ชุดไทยพระราชนิยม ๘ แบบ รวมทั้งชุดไทยแบบผสมผสาน เช่น สวมเสื้อลูกไม้ เสื้อแขนกระบอก พร้อมนุ่งซิ่นหรือโจงกระเบน เป็นต้น


สมพร ธิรินทร์ แฮร์สไตลิสต์ชื่อดังในลุคร่วมสมัย สวมเสื้อเชิ้ตขาวทับด้วยเสื้อกั๊ก นุ่งโจงกระเบน ลายสร้อยดอกหมาก ถือตะกร้าสานลายดอกพิกุลดูเก๋ไก๋ไปอีกแบบ เผยความรู้สึก ชื่นชอบผ้าไทย เป็นการส่วนตัว ยามเดินทางไปที่ไหน หากเจอผ้าไหมสวย ๆ หรือผ้าไทยพื้นบ้าน ก็มักจะซื้อหามาฝากญาติผู้ใหญ่ หรือเก็บไว้ตัดชุดเสื้อผ้าของตัวเองยามต้องออกงานในโอกาสสำคัญ






“ด้วยความเป็นคนชอบผ้าไทยอยู่แล้ว ไปไหนถ้าเจอผ้าสวย ๆ ก็มักจะซื้อไปฝากคุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่บ้าง หรือเก็บไว้เองบ้าง ส่วนใหญ่เวลามีงานที่เป็นโอกาสสำคัญ อย่างงานแต่งงานของเพื่อน ๆ ช่วงพิธีเช้าก็จะแต่งผ้าไทยใส่โจงกระเบนไปร่วมงานอยู่บ่อยๆ หรือถ้าไปออกงานสังคม รวมถึงงาน ที่มีคอนเซ็ปต์ไทย ๆ อย่างล่าสุดไปดูโขนก็นุ่งโจงกระเบนไปให้เข้ากับบรรยากาศงาน นอกจากนี้ ถ้ามีงานสัมภาษณ์ออกสื่อ ก็จะหาโอกาสใส่ชุดผ้าไทยเสมอ เพื่อช่วยเผยแพร่และนำเสนอ ความเป็นไทยให้คนอื่น ๆ ได้เห็นว่า การประยุกต์ผ้าไทย ให้เข้ากับชุดสากล ก็เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้


“สำหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๑ ปี ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ก็ตั้งใจแต่งตัวมาร่วมกิจกรรม นุ่งโจงกระเบน ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ซึ่งเป็นผ้าในแถบภาคอีสาน แต่ด้วยความที่เป็นงานกลางวันจึงไม่ใส่สูท แต่เปลี่ยนเป็นสวมเสื้อเชิ้ตขาวทับด้วยเสื้อกั๊กดูรีแล็กซ์ เติมสไตล์ให้ดูเป็นตัวเองด้วยแหวน และหมวก ถือตะกร้าสานลายดอกพิกุลให้เข้ากับชุด






“ส่วนใครที่ยังไม่เคยมาที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หรือคนที่สนใจอยากศึกษาศิลปะเกี่ยวกับผ้าไทย อยากให้มาที่นี่และลองเปิดใจกว้างดูว่าพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ของเมืองไทยเราเป็นอย่างไร เพราะเมื่อได้มาแล้วจะรู้สึกหลงเสน่ห์ แล้วจะอยากมาอีก ที่สำคัญมาแล้วชอบช่วยบอกต่อปากต่อปากด้วย เหมือนอย่างผมที่มาแล้วมาอีกเป็นครั้งที่ ๕ แล้ว”


สืบเนื่องจากผลตอบรับอย่างดีในกิจกรรม “แต่งไทยพระราชนิยม เดินชมไม่เสียอัฐ” ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงได้ขยายเวลากิจกรรมนี้ออกไปอีก ๓ วัน ได้แก่ วันจันทร์ที่ ๑๓ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ และ ๒๖ พฤษภาคมนี้ ใครที่ยังไม่ได้มีโอกาสแต่งชุดไทยไปชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขอเรียนเชิญชม ความวิจิตรตระการตาของฉลองพระองค์ และผ้าทอประเภทต่างๆ อันเป็นประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของเมืองไทย พร้อมสนุกสนานกับกิจกรรมดี ๆ มีสาระประโยชน์ ตลอดเดือนพฤษภาคม ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราช















ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com













ศิลปะอิพเพรสชั่นนิสต์ 'รักษ์อ่างศิลา'


ช่วงนี้ อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เปิดนิทรรศการใหม่ที่น่าสนใจ เปลี่ยนบรรยากาศมานำเสนอศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ของคนรักศิลปะที่ชื่อ มณู จันทรสร ซึ่งกลับมาสร้างสรรค์งานศิลป์อีกครั้ง จนมีผลงานเป็นที่ปรากฏในนิทรรศการจิตรกรรมชุด "รักษ์อ่างศิลา" รับรองว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย แถมทักษะทางด้านศิลปะดี สามารถที่จะเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้


ซึ่งในวันเปิดนิทรรศการได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการเดี่ยวชุดนี้ มณู จันทรสร เจ้าของผลงาน เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจว่า อ่างศิลา จ.ชลบุรี เป็นหมู่บ้านชายทะเลที่ตนเคยไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเมื่อครั้งเริ่มศึกษาจิตรกรรมอยู่ที่เพาะช่าง เป็นสถานที่ใช้ฝึกทักษะการเขียนภาพวิวทิวทัศน์ โดยเฉพาะภาพทะเล เป็นความผูกพันที่อยู่ในใจ เมื่อตัดสินใจจะเริ่มต้นก้าวเข้ามาสู่วงการศิลปะอย่างเต็มตัวก็เลือกอ่างศิลา เพื่อสร้างผลงานชุดใหม่ เพราะมีมุมมองที่อยากจะถ่ายทอดอย่างเต็มที่ โดยใช้เทคนิคสีน้ำมันและเกรียงที่ถนัด สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้เด็ดขาด ผลงานทั้งหมดเป็นแนวอิมเพรสชั่นนิสต์






ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันและภาพลายเส้นรวมแล้วกว่า ๓o ชิ้นที่จัดแสดงให้ทุกคนได้ชื่นชม ณ บริเวณลานนิทรรศการ ชั้น ๓ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท นั้น จิตรกรใช้เวลาเกือบ ๔ เดือน คลุกคลีและทำงานสร้างสรรค์ในสตูดิโอชั่วคราว โดยมีกัลยาณมิตรสำคัญเป็นเพื่อนที่ช่วยเอื้อเฟื้อ ทำให้ศิลปินได้มีโอกาสคลุกคลีและสัมผัสวิถีวัฒนธรรมชุมชนอ่างศิลาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปีอย่างลึกซึ้ง ดื่มด่ำกับทะเลชลบุรีในแต่ละโมงยาม เกิดเป็นผลงานที่สุดแห่งความภาคภูมิใจของเขาจำนวน ๕o ชิ้น ซึ่งศิลปินคัดที่โดนใจมาแสดงนิทรรศการ


มณูกล่าวว่า สิ่งที่ทำต้องการถ่ายทอดมุมมองใหม่ๆ ของอ่างศิลา หลายคนอาจไม่เคยเห็น เช่น หมู่บ้านประมงที่ยังคงรักษาวิถีท้องถิ่น ออกเรือจับกุ้ง หอย ปู ปลา ในทะเล ยามฤดูมรสุมเรือประมงก็จะเข้ามาหลบพายุ ก็บันทึกบรรยากาศเหล่านี้ไว้บนผืนผ้าใบ แล้วยังมีตลาดเก่าอ่างศิลา ๑๓๓ ปี พระตำหนักมหาราช พระตำหนักราชินี มีศาลเจ้านาจา งดงามด้วยสถาปัตยกรรมจีน ตนได้ไปวาดรูปในสถานที่จริงๆ ประทับใจกับอัธยาศัยไมตรีของพี่น้องชุมชนอ่างศิลา อ่างศิลาไม่ได้มีชื่อเสียงเลื่องลือเฉพาะครกหิน แต่เป็นสถานที่พิเศษที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะและเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย






"นี่แค่เริ่มต้น จากนี้ไปจะเดินทางไปวาดรูปเพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในแต่ละจังหวัดของเมืองไทย ต้องการจะฝากผลงานไว้ให้ลูกหลานได้ดูกัน คนเรารู้จักวันเกิด แต่ไม่รู้วันตาย ในวันที่มีแรงต้องรีบทำ ในชีวิตจริงของผมก็เปรียบเสมือนเรือลอยในทะเล บรรทุกสัมภาระมาเต็มลำ ต้องฝ่าลมฟน พายุ แต่ไม่ท้อ สู้ให้สุดใจ ระหว่างทางอาจทำในสิ่งที่ไม่ใช่ แต่กาลเวลาจะกะเทาะเปลือกออกจนเหลือแต่แก่นแท้ของตัวเอง ต้องเดินทางต่อไป" มณู จิตรกรฝีมือฉกาจ กล่าววลีเด็ดส่งท้าย


สนใจชมผลงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ "รักษ์อ่างศิลา" จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๖-๓๑ พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา o๙.oo-๒๑.oo น. บริเวณลานนิทรรศการ ชั้น ๓ ของโรงแรม แวะเวียนไปได้จะไม่ผิดหวัง แถมได้บุญ รายได้จากการจำหน่ายภาพสมทบทุนมูลนิธิสิริวัฒนา เชสเชียร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
bsnnews.com













"Keisei Kobayashi : Wood engraving 1978 - 2009”
โดย เคเซ โคบายาชิ


นิทรรศการ “Keisei Kobayashi: Wood engraving 1978 - 2009” นำเสนอผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ (Wood engraving) ของศิลปินชั้นครูชาวญี่ปุ่น เคเซ โคบายาชิ ด้วยแรงบันดาลใจจากเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ที่ทำให้ผู้คนหยิ่งผยองอยู่ในมายาคติอันมืดหม่น หลงลืมความอ่อนโยนและความรู้สึกทางผัสสะที่ดีงามต่อธรรมชาติแวดล้อม โดยใช้ภาพเมืองใหญ่และสรรพสัตว์กับพืชพรรณในธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความยิ่งใหญ่อันจริงแท้ของโลก


๓ มิถุนายน – ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (ถนนบรมราชชนนี)



















ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุค Ardel Gallery













"คิดได้ไง – The Sketch”


หอศิลป์ตาดูไทยยานยนตร์ ร่วมกับภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกลุ่มเดอวาฟเสนอ “คิดได้ไง?! – The Sketch” นิทรรศการแสดงต้นตอความคิดของศิลปิน : กฤช งามสม, สุวิทย์ มาประจวบ และประเสริฐ ยอดแก้ว


หลายครั้งหลายคราวที่เราเกิดความพึงใจต่อผลงานศิลปะที่ถูกติดตั้งในหอศิลป์ ผลงานเหล่านี้เป็นดั่งประจักษ์พยานที่บ่งบอกถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน และคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าผลผลิตทางปัญญาจะเจิดจรัสต่อสายตาผู้ชม ความสำเร็จ ณ เบื้องหน้านี้ทำให้เรา “กลุ่มเดอวาฟ” นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ รุ่น ๖ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกิดความสงสัยถึงกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของศิลปิน เป็นเหตุให้กลุ่มเดอวาฟ สนใจที่จะค้นหาที่มา ที่เป็น ที่ไปของผลงานศิลปะ และนำเสนอออกมาในรูปของนิทรรศการชื่อ “คิดได้ไง?! – The Sketch”


นิทรรศการที่จะพาคุณซอกแซกถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานของสามศิลปินร่วมสมัยมากความสามารถ ได้แก่ กฤช งามสม ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในการสร้างงานศิลปะสื่อผสมจากวัสดุที่น่าสนใจพร้อมกลไกประกอบเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม สุวิทย์ มาประจวบ ศิลปินผู้สร้างผลงานโดยนำแรงบันดาลใจมาจากสิ่งของเหลือใช้ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเพียงเศษขยะจนเกิดเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และประเสริฐ ยอดแก้ว ศิลปินดาวรุ่งพุ่งแรงที่สร้างผลงานสะท้อนความเชื่อของผู้คนผ่านทางวัสดุใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาแทนความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทั้งสามล้วนเคยแสดงผลงานทั้งในและต่างประเทศมาแล้วมากมาย การจัดแสดง “ความคิด” ของศิลปินรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังเสาะแสวงหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ไม่น้อย


“คิดได้ไง?! – The Sketch” นำเสนอแบบร่างในรูปแบบที่แตกต่างของ ๓ ศิลปิน ๓ สไตล์ เช่น กฤช งามสม ถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับกลไกต่าง ๆ ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สุวิทย์ มาประจวบ คิดค้นผลงานจากสำเพ็ง คลองถม และร้านของเล่น สิ่งของเหล่านี้คือแบบร่างที่อยู่ในหัวก่อนจะถ่ายทอดสู่รูปหุ่น ๓ มิติ ส่วนประเสริฐ ยอดแก้ว ที่เป็นคนชอบคิดชอบเขียน แม้แบบร่างของเขาจะอยู่ในกระดาษแต่ลายเส้นนั้นสวยงามและทรงพลังไม่แพ้ผลงานจริง


นิทรรศการแสดงต้นตอความคิดของศิลปิน “คิดได้ไง?! – The Sketch” เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๓o เมษายน – ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ (จันทร์ – เสาร์ เวลา ๑o.oo – ๒o.oo น.) ณ หอศิลป์ตาดูไทยยานยนตร์ ชั้น ๒ อาคารไทยยานยนตร์ สุขุมวิทซอย ๘๗ แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ (ลงรถไฟฟ้า BTS สถานีอ่อนนุช เดินมาอีก ๓ ซอย)


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “กลุ่มเดอวาฟ ”
โทรศัพท์ : o๘๕-๙๓๖-๕๙๒๕
อีเมลล์ : puy_si-gum@hotmail.com
เฟซบุค TheSketchexhibition



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com













“มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง”


“มา แล สาบ” นิทรรศการที่จะทำให้คุณอยู่บนโลกที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน ได้อย่างมีความสุข ด้วยการเรียนรู้จากผู้อาวุโสที่สุดบนโลก ... ในบ้านคุณ “แมลงสาบ” -- ARUBA TEAM


มิวเซียมสยาม ร่วมกับนักพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ไอเดียเก๋ ชวนคนไทยเจาะใจแมลงสาบ กับนิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง นิทรรศการกู้โลกแนวแปลก ตีแผ่วิถีชีวิตแมลงสาบจอมซ่าส์ฆ่าไม่ตาย อยู่ง่าย กินง่ายทุกสภาพแวดล้อม สะท้อนหนทางคลายทุกข์-สร้างสุขที่มนุษยชาติควรปฏิบัติตาม ผลงานชนะเลิศจาก “Young Muse Project” โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ ๓


สังคมไทย สังคมโลกในปัจจุบัน มนุษย์เราอยู่ยากขึ้นทุกวัน เนื่องด้วยสาเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากมนุษย์เอง หรือจากธรรมชาติ หรือสภาพคล่องในการใช้ชีวิตในยุคข้าวยากหมากแพง ชิงดีชิงเด่น เช่น การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานี้ อาจยังไม่ส่งผลถึงเห็นหายนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนนัก แต่กำลังเป็นสิ่งที่สะสมเพื่อรอวันปะทุ เมื่อนั้นเราอาจได้เห็นสถานการณ์ที่เรียกว่า “โลกป่วย” เข้าแล้วจริง ๆ และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะทำยังไง เราจะอยู่ได้ไหม





“ARUBA” ทีมชนะเลิศจาก “Young Muse Project” โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ ๓
นายพิชญ์ อำนวยพร (โอ๊ต), นายธนากร ลีระมาศ (ท๊อป) และนายอนุรักษ์ จันทร์ดำ (แบงค์)
นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ชั้นที่ปี ๓ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เจ้าของผลงานนิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง



มีข้อเสนอดี ๆ จากการระดมสมองของกลุ่มเยาวชน “ARUBA” ทีมชนะเลิศจาก “Young Muse Project” โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ ๓ ซึ่งประกอบด้วย นายอนุรักษ์ จันทร์ดำ (แบงค์), นายธนากร ลีระมาศ (ท๊อป) และนายพิชญ์ อำนวยพร (โอ๊ต) นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ชั้นที่ปี ๓ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่า ให้มนุษยชาติทุกคนมาร่วมเรียนรู้ประสบการณ์การดำรงชีพของแมลงสาบด้วยกัน ว่ามันอยู่อย่างไร กินอะไร อาบน้ำหรือไม่ ฯลฯ ในสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อันทำให้แมลงสาบมีชีวิตรอดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ กว่า ๑ ล้านปี จากนิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง


นิทรรศการ “มา แล สาบ” มองแมลงสาบแล้วย้อนมองตัวเอง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม - ๓o มิถุนายน ๒๕๕๖ (ปิดทุกวันจันทร์) เวลา ๑o.oo - ๑๘.oo น. ณ มิวเซียมสยาม (อาคารนิทรรศการ ชั้น ๑) ชมฟรี!!

สอบถาม: โทร. o๒-๒๒๕-๒๗๗๗ ต่อ ๔๑๑ หรือ เฟซบุค museumsiamfan



ภาพและข้อมูลจากเวบ
museumsiam.org













"ศิลป์สานฝันคนตาบอด "ตามฝัน สุดขอบฟ้า เทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน”


คนพิการทางการมองเห็นหรือ “คนตาบอด” เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาและข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมพักผ่อนที่ให้ทั้งความรู้ ความบันเทิง ตลอดจนมุมมองใหม่ ๆ โครงการนิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด “ตามฝัน สุดขอบฟ้า เทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน” จากความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเกิดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ๘๑ พรรษา และเพื่อเปิดโอกาสให้คนตาบอดได้สัมผัสและสร้างจินตนาการในการรับรู้ โดยแถลงข่าวที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส วันก่อน


หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญจัดนิทรรศการ ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงรูปแบบการจัดงานว่า ความฝันของคนตาบอดที่อยากเห็นซึ่งรวบรวมจากการสัมภาษณ์โดยนิสิตจุฬาฯ ที่มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์ และได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก สถานที่และบุคคล อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาดใหญ่ เชียงใหม่ เกาะสมุย แหลมพรหมเทพ วัดพระแก้ว พระปฐมเจดีย์ เรือหลวงจักรีนฤเบศร “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มที่สอง สถานที่ สัตว์ หรือวัตถุไม่ระบุชัดเจน อาทิ โรงแรมสวย ๆ ท้องฟ้า ตึก รถเมล์ รถถัง น้ำตก วัตถุโบราณ สัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น


“อยากเชิญชวนช่างภาพทั่วประเทศ ส่งภาพเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการเพื่อคนตาบอดนี้ ภาพที่ส่งมาต้องมีขนาดความยาว ๑,๙oo พิกเซล จากนั้นคณะกรรมการจากสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ จะช่วยกันคัดเลือกภาพที่น่าสนใจไว้จำนวน ๘๑ ภาพ หากภาพของคุณได้รับการคัดเลือก จะมีการส่งอีเมลกลับไปเพื่อติดต่อขอภาพจริงขนาดใหญ่มาทำเป็นงานประติมากรรมทั้งนูนสูง นูนต่ำ หรือลอยตัว รวมถึงรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้คนตาบอดได้รับรู้ในสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอหรือถ่ายทอดตามความฝันของผู้พิการเหล่านั้น” ผศ.ดร.สุกรี กล่าว


ในงานแถลงข่าวได้นำตัวอย่างผลงานศิลปะเพื่อคนตาบอดมาจัดแสดงและสาธิตการชมงาน โดยผู้พิการทางสายตา สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี ๓ หลังจากทดลองสัมผัสแล้ว บอกความรู้สึกว่า ถ้าพูดถึงความฝันที่อยากเห็นนั้นมีมากมาย แต่บางอย่างอาจทำได้ยาก สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดตอนนี้คือภาพของสมาชิกในครอบครัว เพื่อน ๆ อาจารย์ คนรอบข้าง ผู้ที่คอยช่วยเหลือ ดูแล เพราะเวลาที่คนเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือจะรู้สึกดี จึงอยากรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น หน้าตา บุคลิกลักษณะเป็นอย่างไร จะเหมือนอย่างที่จินตนาการไว้หรือไม่ โครงการนี้น่าจะช่วยให้คนตาบอดมีจินตนาการมากขึ้น อีกทั้งทำให้รู้ว่ายังมีคนในสังคมไม่ทอดทิ้ง พยายามช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้เสมอ


นิทรรศการจะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๑๓-๒๕ สิงหาคมนี้ สำหรับผู้สนใจร่วมส่งภาพเข้าร่วมงานติดตามรายละเอียดที่ escapephotographer.com



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net













"ชีวิตกับฤดู (Life and Season)”


นิทรรศการศิลปะ “ชีวิตกับฤดู”
โดย ตนุพล เอนอ่อน
จัดแสดงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖
พิธีเปิดนิทรรศการ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๙.oo ณ แกเลอรี เอ็น ถนนวิทยุ


นิทรรศการศิลปะ”ชีวิตกับฤดู” โดยตนุพล เอนอ่อน บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในส่วนของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และในส่วนของสภาพแวดล้อมจิตวิญญาณ คือการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์หรือความเป็นไปในธรรมชาติ เกิดความรัก ความเคารพ ความเชื่อ และความศรัทธา ซึ่งทำให้มนุษย์ดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติมาอย่างช้านานและตลอดไป


ผลงานจิตรกรรมของตนุพล เอนอ่อน มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งในด้านทัศนียภาพและภูมิปัญญาชาวบ้านในภาคอีสาน ศิลปินใช้เทคนิคสีอะคลิลิกและชาร์โคลบนผ้าใบ เส้นสายรายละเอียดที่ได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมพื้นบ้านอีสาน มีการใช้เฉดสีที่เป็นเอกลักษณ์และรูปทรงที่เรียบง่ายแต่เฉพาะเจาะจงความศิลปิน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณา ติดต่อคุณแสง o๘๖-๖o๑-๗๑๑๑, o๒-๒๕๒-๑๕๙๒, เปิด อังคาร – เสาร์ ๑o.oo-๑๙.oo (ปิดวันอาทิตย์-จันทร์)
Galerie N ถนน วิทยุ (ตรงข้ามสวนลุมพินี, ๓ เมตร จากรถไฟฟ้าใต้ดิน ทางออก ๓, ๑.๕ กิโลเมตร จากสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต)







ภาพและข้อมูลจากเวบ
fineart-magazine.com













"'นิว บิกินนิ่ง' ศิลปนิพนธ์สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์”


สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ที่ผลิตนักออกแบบด้วยหลักสูตรด้านดีไซน์ของสถาบันชั้นนำจากประเทศอิตาลี ร่วมกับสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ จัดงาน "CIDI Art Thesis Exhibition 2013" นิทรรศการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ นำเสนอผลงานการออกแบบที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์และจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดกว่า ๑๕o ผลงาน จาก ๒ สาขา ได้แก่ สาขาการออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) และสาขาการออกแบบตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ (Interior and Product Design)


ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันการออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI) กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า "สถาบันฯ มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันศักยภาพนักออกแบบรุ่นใหม่อย่างเต็มกำลัง ล่าสุดจัดงาน "CIDI Art Thesis Exhibition 2013" นิทรรศการแสดงศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๑ นำเสนอผลงานการออกแบบหลากหลายไอเดียสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “นิว บิกินนิ่ง” (New Beginning) นิยามแห่งการเริ่มต้นครั้งใหม่อย่างยิ่งใหญ่ และการเริ่มต้นออกเดินทางตามหาความฝันของเหล่ายังดีไซเนอร์ เปิดมุมมองงานศิลป์อันเกิดจากจินตนาการและความคิดแปลกใหม่ รังสรรค์สู่ผลงานในรูปแบบก้าวล้ำนำสมัย โดยในแต่ละผลงานล้วนมีความแตกต่างอย่างโดดเด่นตามแนวทางความถนัดและไอเดียในการดีไซน์ของเจ้าของผลงาน โดยผู้เข้าชมงานจะได้สัมผัสกับกว่า ๑๕o ผลงานการออกแบบที่เป็นฝีมือกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด”


นิทรรศการศิลป์นิพนธ์ในปีนี้ที่นำเสนอ ๒ สาขา คือสาขาการออกแบบแฟชั่น และสาขาการออกแบบตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์กว่า ๑๕o ผลงาน สำหรับงานแฟชั่นโชว์กำกับโดย อภิวัฒน์ ยศประพันธ์ แฟชั่นกูรูชื่อดังของเมืองไทย พร้อมด้วยนางแบบกิตติมศักดิ์ นำโดย กนกอร ใจชื่น Miss Thailand World 2007 และชัญษร สาครจันทร์ Miss Thailand Universe 2011 ร่วมด้วยนางแบบชั้นนำอีกมากมาย กับผลงานแฟชั่นดีไซน์สุดยอดไฮไลต์กว่า ๙o ชุด อาทิ ผลงาน PARALLEL OF THE GRAVITY "แรงดึงดูด" สะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งในจักรวาล


ผลงาน godmother นำเสนอคอนเซ็ปต์ “the beautiful of the darkness” ความงดงามที่ไม่อาจถูกซ่อนเร้นแม้จะอยู่ใต้ความมืดมิด, ผลงาน Together ที่นำแรงบันดาลใจจากความแตกต่างของสองสิ่งคือ ความอ่อนโยน และความแข็งกร้าว, ผลงาน BREATH OF THE UNIVERSE การออกแบบที่สะท้อนความคิดที่ว่า “มนุษย์คือผู้ถูกสร้าง ไม่ใช่ผู้สร้าง”


square in fabric เป็นผลงานบอกเล่าเรื่องราวความเป็นเพศชายที่มีอยู่ในตัวของเพศหญิง โดยการนำรูปทรงเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยมมาซ้อนกันให้เกิดเป็นมิติ ใช้สีโทนขาว เทาและดำ หรือผลงาน FOUNTAIN CERTAINTY IS UNCERTAINTY ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “น้ำพุ” รูปทรงและการเคลื่อนไหวที่ก่อเกิดเป็นสีสัน และเส้นสายทั้งโค้ง ตรง


ผลงาน The hour of battle คอลเลคชั่นที่นำความหมายของเลข ๑๑ เป็นตัวแทนของเวลาที่เชื่อมจากอดีตถึงปัจจุบันตามการเดินทางของนาฬิกาทราย เช่นเดียวกับสงคราม ในอดีตที่มีนักรบสวมชุดเกราะ กับวิวัฒนาการการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ปิดท้ายด้วยผลงาน Life Balance หยิบยกเรื่องราวของความวุ่นวายในสังคมเมืองยุคปัจจุบันมาขยายเป็นเลเยอร์ให้เห็นภาพความแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันสร้างเลเยอร์ภายในให้มีความอ่อนเรียบของเครื่องแต่งกายที่ถูกลดทอนตามยุคสมัย


ในส่วนผลงานของนักศึกษาสาขาการออกแบบตกแต่งภายในและออกแบบผลิตภัณฑ์ ๕o ผลงาน อาทิ “Amore" Italian Restaurant & Pub งานออกแบบร้านอาหารอิตาเลียนแนวโมเดิร์น นำเสนอด้วยบรรยากาศที่แตกต่าง แต่นำมาผสมผสานรวมกันได้อย่างลงตัว, ผลงาน The ribbon งานออกแบบที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจจากเชือกผูกรองเท้าของนักบัลเลต์, ผลงาน The Crown' Salt & Pepper container การออกแบบขวดพริกกับเกลือแบบใหม่ด้วยรูปทรงโก้หรู, ผลงาน Recycled PET Lamp จากแรงบันดาลใจ ความคิดการออกแบบงานชิ้นใหม่จากวัสดุรีไซเคิลที่แตกต่างจากวัสดุชิ้นเดิมโดยสิ้นเชิง, ผลงาน THE WINERY HOUSE การออกแบบร้านอาหารอิตาเลียน ภายใต้คอนเซ็ปต์การเดินทางที่เกิดจากการแบ่งปันร่วมกัน ปิดท้ายด้วยผลงาน BLOC* การออกแบบร้านขายของที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความชื่นชอบในรูปแบบลวดลาย และโทนสีหวานพาสเทลในสไตล์เฟมินิน


นิทรรศการแสดงงานศิลปนิพนธ์ประจำปี ๒๕๕๖ ของนักศึกษาสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๒-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ชั้น ๑ สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ โทร.o-๒๗๔๑-๓๗๑๗-๘ chanapatana.com



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.netbanmuang.co.th













"ลอด ข้าม ผ่าน โครง : Trans-structurity”


“Trans-structurity No. ½” ความกลัวโดยธรรมชาติแล้วมิใช่สิ่งถาวร หากแต่เป็นจินตนากรรมที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวิกฤติทางอุดมการณ์ อย่างไรก็ตามในสถานะการณ์ปัจจุบันความกลัวถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต จนในบางครั้งความกลัวอยู่ใกล้กับชีวิตจนบุคคลมิทันได้สังเกตุ ยิ่งไปกว่านั้นความกลัวกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรม ที่ซึ่งปัจเจกบุคคลใช้ชีวิตโดยสมยอมภายใต้วัฒนธรรมแห่งความกลัวดังกล่าว ความกลัวจึงเป็นประเภทหนึ่งของวาทกรรมทางการเมือง ซึ่งมิได้มีความเป็นแก่นสาร (Essential) ในตัวของมันเอง


เนื้อหาสำคัญในโครงการนี้คือการสร้างบทสนทนาและข้อถกเถียงในปริมณฑลของ “การเมืองแห่งความกลัว” (Politics of Fear) เพื่อที่จะเปิดโอกาสในการทำความเข้าใจลักษณะต่าง ๆ ของความกลัวในสังคมโลกร่วมสมัย ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดมุมมองและทางเลือกต่อเสรีภาพและอิสรภาพที่สมควรแก่ปัจเจกบุคคล


นิทรรศการ “ลอด ข้าม ผ่าน โครง : Trans-structurity” โดย ทัศนัย เศรษฐเสรี
ตั้งแต่วันที่ : ๗ มิถุนายน - ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖
เปิดงาน : ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๘.oo – ๒๑.oo น.
สถานที่ : ๓๓๘ OIDA Gallery ๑o๒๘/๕ อาคารพงษ์อมร ชั้น ๔ ถนนพระราม ๔, ทุ่งมหาเมฆ, สาทร, กทม ๑o๑๒o (ประมาณ ๓o เมตร จากรถไฟฟ้าใต้ดินด้านขวา, สถานี ลุมพินี ทางออก ๑)
โทร: +๖๖๙-o๑๙๘-๘๗๔๙ แฟกซ์:+๖๖-๒๖๗๙-๘๖๑๙
อีเมล: info@338oidagallery.com
เปิด: วันพุธ ถึง วันจันร์ เวลา ๑๓.oo น. - ๑๗.oo น. และ ตามนัดนัดหมาย
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ TQPR Thailand: เมธาวรินทร์ มณีกูลพันธ์, mae@tqpr.com โทร: o๒-๒๖o-๕๘๒o ต่อ ๑๑๕



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipr.net













"Anthropos Bangkok”


Anthropos ที่จัด ณ กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกกับการปฎิรูปและกระตุ้นความคิดด้วยนิทรรศการกลุ่ม โดยมีศิลปินรุ่นใหม่ทั้งสิบที่เป็นที่รู้จัก จากทั้งประเทศไทยและสิงคโปร์ ได้แก่ กมลพันธุ์ โชติวิชัย, ธาดา เฮงทรัพย์กูล, ปิยรัศมิ์ ปิยพงศ์วิวัฒน์, ตะวัน วัตุยา, ประเสริฐ ยอดแก้ว, Genevieve Chua, Jeremy Hiah, Ana Prvacki, Traseone and Jason Wee


ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย จิตรกรรม วาดเส้น กราฟิติ และผลงานสื่อประสมจัดวาง นิทรรศการ Anthropos ได้นำผู้ชมเข้าสู่การสำรวจถึงความสนใจที่เรามีร่วมกัน : หลืบของความลึกในนิยามความเป็นมนุษย์ ที่ซึ่งอาณาจักรอภิปรัชญาแห่งจิตใจ ได้เผชิญหน้ากับพื้นที่ทางกายภาพของร่างกาย ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราวทางโลก พลังงานที่จับต้องไม่ได้ หรือการกล่าวอ้างที่มีพลวัตรด้วยผลงานที่โดดเด่นในนิทรรศการ Anthropos ได้นำไปสู่รูปแบบเฉพาะทางวัฒนธรรม พิธีกรรมทางสังคมและร่างกายในฐานะแม่แบบของความสมบูรณ์ทางสุนทรียะ


พิธีเปิดนิทรรศการวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๘.oo น.


นิทรรศการ : Anthropos – Bangkok
ศิลปิน : กมลพันธุ์ โชติวิชัย, ธาดา เฮงทรัพย์กูล, ปิยรัศมิ์ ปิยพงศ์วิวัฒน์, ตะวัน วัตุยา, ประเสริฐ ยอดแก้ว, Genevieve Chua, Jeremy Hiah, Ana Prvacki, Traseone and Jason Wee
สถานที่ : Numthong Gallery
วันที่ : ๒ – ๓o มิถุนายน ๒๕๕๖
ติดต่อโทร : o๒-๖๑๗-๒๗๙๔
เว็บไซต์ : gallerynumthong.com



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com













"The Reality of Simple Lifestyle”


หากพูดถึงศิลปะ เชื่อได้ว่าคนทั่วไปจะนึกถึง ‘งานจิตรกรรม (Painting)’ เป็นอันดับแรก งานจิตรกรรมเป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการวาดระบายชั้นของสี หรือด้วยการจัดองค์ประกอบความงามอื่นด้วยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้เกิดภาพ ๒ มิติ โดยไม่ลึกหรือนูนขึ้นจากพื้นระนาบที่รองรับอยู่


งานจิตรกรรมจึงเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นการแสดงออกที่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่คิดออกมาเป็นรูปภาพได้ทันที ตามอารมณ์และความรู้สึกของศิลปิน หรือถ่ายทอดโดยใช้สีแต้มระบายมุมมองเบื้องหน้าให้เสมือนจริง เทียบเท่าคล้ายกับ ‘ดวงตา’ มนุษย์มองเห็นเองอย่างใดอย่างนั้น






ศิลปิน ชัยวุฒิ เทียมปาน (Artist – Chaiwoot Thiampan) เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปินที่มีทักษะฝีมือมือด้าน ‘งานจิตรกรรมวาดภาพเหมือนวัตถุ’ได้อย่างยอดเยี่ยม ชัยวุฒิศิลปินดีกรีเกียรตินิยม จบการศึกษาจากปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาวิชาจิตรกรรม อีกทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้นักเรียนนักศึกษาในด้านจิตรกรรมอีกด้วย ศิลปินมุ่งมั่นทำงานศิลปะฝึกฝนฝีมือ เคี่ยวกรำค้นหาเทคนิคเฉพาะตัวเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ศิลปินจึงรวบรวมผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเวลา ๑o กว่าปีนี้ เปิดตัวผลงานในนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของเขา “The Reality of Simple Lifestyle”






“The Reality of Simple Lifestyle” จัดแสดงผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ รวมรวมเอาผลงานทั้งหมดจากภาพแรกที่ได้เริ่มต้นจนถึงผลงานใหม่ทั้งหมดรวม ๓o ภาพ แต่ละชิ้นล้วนมีความสำคัญในความหมายและคุณค่าทางใจของศิลปินทั้งสิ้น สร้างจากแรงบันดาลใจของ ‘โต๊ะอาหาร’ ภายในบ้านของศิลปินเอง หรือร้านรวงบริเวณใกล้เคียงที่ศิลปินผูกพัน แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาศิลปะที่เสียงดังฟังชัดเจนที่สุด นั่นคือศิลปินเห็นอย่างไรก็ถ่ายทอดออกมาผ่านสมองและหัวใจด้วย ‘ความเหมือนอย่างที่สุด’ มีผู้ช่วยการบันทึกเก็บมุมมองคือกล้องถ่ายรูป โดยตั้งใจนำเสนอภาพลักษณ์ของวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันที่เราคุ้นชิน ผ่านมุมมองจากหุ่นนิ่ง ด้วยวิธีการเขียนภาพที่เหมือนจริง แบบคมชัด จากมุมมองของภาพถ่าย ตามแบบอย่างแนวสร้างสรรค์จากฝั่งอเมริกา Photorealist และจนตกผลึกพัฒนามาสู่ การวาดภาพเหมือนจริงที่น่าทึ่ง (Hyperrealist) วาดภาพให้เหมือนยิ่งไปกว่ารูปถ่ายเสียอีก และที่สำคัญคือภาพนั้นมาจากการวาดด้วยมือคน






หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ จึงใคร่ขอเรียนเชิญผู้ที่สนใจและรักในงานศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานจิตรกรรมที่มีความเหมือนที่พิเศษเช่นนี้ ในนิทรรศการ“The Reality of Simple Lifestyle” โดย ชัยวุฒิ เทียมปาน ศิลปินตั้งใจจริง มุ่งมั่น และแน่วแน่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ ‘สัจจะในชีวิตสามัญ’ ออกมาในแนวความคิดที่ยึดถือ “ผมเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะแสดงคุณค่าด้วยตัวของมันเอง ถ้าเราพยายามทำให้ถึงที่สุดของมัน” มาร่วมเป็นหนึ่งในผู้ชมที่สัมผัสนิทรรศการด้วยดวงตาของท่านเอง ที่ได้ ‘ดู มอง เห็น’ ผลงานจริงอันน่าทึ่ง ทั้งความงดงามและความสามารถเฉพาะตัวของศิลปิน และเชิญชวนคนใกล้ตัวมาร่วมเพ่งพิจารณาผลงาน ซึมซับสุนทรียะ และพิสูจน์ความเหมือนยิ่งกว่าเหมือนด้วยตัวคุณเอง


พิธีเปิดนิทรรศการในวันพฤหัสที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๘.oo น. โดย อาจารย์สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ (สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเพชรบุรี) ให้เกียรติเป็นประธาน


ดูรายละเอียดผลงานเพิ่มเติมได้ที่ : //www.facebook.com >> search page >> Chaiwoot Thiampan


นิทรรศการ : “The Reality of Simple Lifestyle”
ศิลปิน : ชัยวุฒิ เทียมปาน
วันที่ : ๑๓ มิถุนายน – ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖
สถานที่ : หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์
รายละเอียดเพิ่มเติมโทร : o๒-๖๖๒-o๒๙๙, o๘๖–๘๙๑–๑๘๙๓, o๘๙–๖๙๔–๕๓๘๙
อีเมล์ : info@sacbangkok.com
เฟชบุ๊ค : //www.facebook.com/sacbangkok
เว็บไซต์ : //www.sacbangkok.com



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 25 พฤษภาคม 2556
Last Update : 20 มิถุนายน 2556 19:06:36 น.
Counter : 15635 Pageviews.

0 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
Aankhon Mein Teri Ajab Si (आँखों में तेरी अजबसी) from Om Shanti Om (ओम शांति ओम) ปรศุราม
(29 มี.ค. 2567 09:47:16 น.)
Dies Bildnis ist bezaubernd schön from Die Zauberflöte by Wolfgang Amadeus Mozart ปรศุราม
(26 มี.ค. 2567 10:24:16 น.)
ภ า พ จิ ต ร ก ร ร ม ฝ า ฝ นั ง สมาชิกหมายเลข 7582876
(23 มี.ค. 2567 11:46:41 น.)

Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด