เสพงานศิลป์ ๕๑



ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto









"ศิลป์เพื่อการศึกษา ๘๑ พรรษาเทิดไท้มหาราชินี”


สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดารในพระอุปถัมถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ หรือ The Association for the Promotion of Education in the Remote Areas under the Patronage of her Royal Highness the Princess Mother


จัดงานเนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร ในพระอุปถัมถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ กลุ่มชั้นนำศิลปินของประเทศ และศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกันจัดนิทรรศการจิตรกรรมและประติมากรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแสดงความจงรักภัคดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จ พระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ภายใต้ชื่องาน “ศิลป์เพื่อการศึกษา ๘๑ พรรษาเทิดไท้มหาราชืนี” ภายใต้แนวคิด สื่อศิลป์ สร้างสรรค์แบ่งปันเพื่อน้อง


การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากศิลปินที่ได้นำผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมมาแสดง โดยมอบรายได้สบทบทุนให้แก่โครงการมุมหนังสือ สื่อสร้างสรรค์ปัญญา และโครงการสอนน้องเรียนศิลป์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยพัฒนาศึกษาให้เด็กในถิ่นกันดาร และสนับสนุนการสอนน้องเรียนศิลป์ ซึ่งเป็นการสร้างคนและพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร ฯ และหอศิลป์แห่งชาติ จ.พระนครศรีอยุธยา


ทั้งนี้ สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดารในพระอุปถัมถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ มีความประสงค์ขอเรียนเชิญแขก ผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่าน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนิทรรศการจิตรกรรมและประติมากรรมในงาน “ศิลป์เพื่อการศึกษา ๘๑ พรรษาเทิดไท้มหาราชืนี” โดยในงานได้รับเกียรติจากคุณ ชัย โสพณพานิช ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. กรุงเทพประกันภัย ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.oo น. ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น ๒ ศูนย์การค้าสยามพารากอน สำหรับนิทรรศการเปิดแแสดง ๙ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๑ -๒๙ สิงคม ๒๕๕๖ เวลา ๑o.๓o - ๒o.oo น. เป็นต้นไป


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : o๘๑-๔๔๗-๗๔๘๑
Email : sarahrosemaria@gamail.com
Facebook : สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com












ฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย


"พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เผยโฉมฉลองพระองค์ใหม่”


เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๑ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จัดงานเผยโฉมความงดงามของฉลองพระองค์ ทั้ง ๙ องค์ใหม่ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พร้อมเปิดตัวหนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ ฉบับภาษาอังกฤษ และเปิดห้องสมุด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบครบวงจร ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ผ่านมา


ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เผยว่า เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงได้เชิญฉลองพระองค์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จำนวน ๙ องค์ มาจัดแสดงให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมชื่นชมความงดงามของชุดไทยพระราชนิยมในห้องนิทรรศการที่ ๒ “ไทยพระราชนิยม” และได้เชิญฉลองพระองค์ที่จัดแสดงในชุดก่อน ไปดูแลรักษาตามกระบวนการอนุรักษ์สากล เพื่อไม่ให้เกิดการเสื่อมสภาพหรือชำรุดเสียหายอันเกิดจากการจัดแสดงเป็นระยะเวลานาน





ฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต



“ตัวอย่างของฉลองพระองค์ใหม่ อาทิ ฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิตออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง (ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๕๒๕) ตัดเย็บจากผ้ายกทองสีแดงลายพุ่มข้าวบิณฑ์ประยุกต์ ปักประดับด้วยหินสี เลื่อม ดิ้นทองและลูกปัด เป็นลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ สันนิษฐานว่าทรงระหว่าง พ.ศ.๒๕o๕-๒๕๑o, ฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย ออกแบบโดยปิแอร์ บัลแมง (ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๕๒๕) ตัดเย็บจากผ้ายกทองสีงาช้าง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปักประดับด้วยลูกปัด เลื่อม และคริสตัล ตามลายของผืนผ้า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์นี้ในพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕”





(ขวา) ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
และ ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ



ด้าน ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เผยว่า หนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ ฉบับภาษาอังกฤษ จัดทำขึ้นเพื่อให้ชาวต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมในการแต่งกายแบบชุดไทย พร้อมประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวมถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยหนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ ฉบับภาษาอังกฤษนี้ เป็นหนังสือประกอบนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งกายของสตรีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ และพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ และสืบสานธรรมเนียมการแต่งกายแบบไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่มาของชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบ รวมถึงพระราชกรณียกิจในการฟื้นฟูส่งเสริมหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมือง และการเผยแพร่ผ้าไทย





ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพมืออาชีพ



“หนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ ฉบับภาษาอังกฤษนี้เป็นหนังสือที่อ่านง่ายสำหรับชาวต่างชาติ เนื่องจากไม่ได้แปลตรงตัวตามฉบับภาษาไทย มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้อ่านที่เป็นชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น พร้อมมีการอธิบายเพิ่มเติม และที่สำคัญมีพระฉายาลักษณ์นอกเหนือจากฉบับภาษาไทยอีกด้วย พร้อมกันนี้ได้ช่างภาพมืออาชีพ อย่าง ณัฐ ประกอบสันติสุข ได้ถ่ายภาพฉลองพระองค์ออกมาได้ชัดเจน และเห็นถึงรายละเอียดของเส้นไหม และตัวผ้า ทำให้ฉลองพระองค์แต่ละชุดโดดเด่นขึ้นมา เมื่ออ่านและดูภาพประกอบไปด้วยจะได้อรรถรสในการอ่านมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หนังสือฉบับนี้ มีจำนวนทั้งหมด ๒๑๖ หน้า





หนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ ฉบับภาษาอังกฤษ



นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังได้เปิดห้องสมุด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบครบวงจร โดยรวบรวมและให้บริการหนังสือเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ผ้า เครื่องแต่งกาย การออกแบบและแฟชั่น ตลอดจนหนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมจัดทำหนังสือนิทานสำหรับเด็ก เพื่อให้เยาวชนได้สนุกกับการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไหม การทอผ้า ลายผ้าต่างๆ และการแต่งกายแบบไทย


และในช่วงปลายปีนี้ระหว่างวันที่ ๖-๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ ๑ เรื่อง “ผ้าและฉลองพระองค์ในราชสำนัก” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน





บรรยากาศภายในห้องสมุด



พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา o๙.oo - ๑๖.๓o น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓o น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๑๕o บาท ผู้สูงอายุ (อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป) ๘o บาท นักเรียน นักศึกษา ๕o บาท เด็กอายุ ๑๒ - ๑๘ ปี ๕o บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เข้าชมฟรี และสำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรุณาแต่งกายสุภาพ (ห้ามสวมกางเกงขาสั้น) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. o๒-๒๒๕-๙๔๒o, o-๒๒๒๕-๙๔๓o, หรือที่เวบไซต์ queensirikitmuseumoftextiles.org



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com












ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม


"ความสั่นไหวในอารมณ์ที่แตกต่าง”


รู้สึกถึงลมที่พัดผ่านมั้ย

"ผมรู้สึกถึงอากาศเย็น ๆ ของลมที่พัดผ่าน มีฝนโปรยลงมานิด ๆ รู้สึกหนาวหน่อยๆมั้ย ? ถ้าไม่รู้สึกไม่เป็นไร " ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม กล่าวถามขณะพาชมภาพเขียนสีน้ำสไตล์หวัด ๆ ที่บันทึกไว้เมื่อครั้งไปเที่ยวปารีสเมื่อไม่นานมานี้


อย่าเชื่อในสิ่งที่ผมนำเสนอ ขอให้ตั้งคำถามและสงสัย เป็นประโยคที่อาจารย์สันติย้ำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมไปถึงรูปแบบสันนิษฐานซากโบราณสถานสร้างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่หน้าโบราณสถานเพื่อแสดงให้ผู้ชมได้เห็นภาพว่าซากที่เหลืออยู่นั้น ขณะที่ยังมีความสมบูรณ์อยู่มีลักษณะเช่นไร






ในห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อาจารย์สันติจะใช้ปากกาไวท์บอร์ดวาดเส้นรูปทรงของลวดลายในสถาปัตยกรรมไทย วาดภาพรูปแบบสมบูรณ์ของปูนปั้น เจดีย์องค์สำคัญในรูปแบบศิลปะต่าง ๆ บนพื้นฐานของหลักวิชาการที่ผ่านการค้นคว้าวิจัยมาแล้วอย่างถี่ถ้วน


เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน อาจารย์นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไทย สร้างภาพ ๓ มิติ อธิบายให้นักศึกษาได้เห็นภาพและเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด






จากการทดลอง ศึกษา วิธีการทำงานในโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเป็นสื่อในการเรียนการสอนนี่เอง นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภายใต้กรอบวิชาการ พัฒนาไปสู่การกระโดดออกนอกกรอบ สะท้อนถึงตัวตนภายในที่ยังคงอัดแน่นด้วยวิญญาณศิลปินเต็มเปี่ยม ทำให้วันนี้เราจึงได้เห็นนิทรรศการศิลปะที่บอกเล่าตัวตนของอาจารย์สันติแบบย่อ ๆ "ซากโบราณสถาน สู่จิตรกรรมดิจิทัล" จัดแสดงตลอดเดือนสิงหาคม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ กรุงเทพฯ


" แนวความคิดหลัก สั้น ๆ คือ ข้าพเจ้าใช้ดิจิทัล ขณะเดียวกับดิจิทัลใช้ข้าพเจ้า ช่วยข้าพเจ้าสื่อสารกับผู้ดู ผมจะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีดิจิทัล เหมือนกับนักดนตรีไม่มีเครื่องดนตรี ก็ไม่มีเพลง หรือเครื่องดนตรีแม้วิเศษอย่างไร ถ้าไม่มีนักดนตรีไปจัดการกับมันก็ไม่มีเสียง






ขณะเดียวกันศิลปิน เขียนสีน้ำ สีน้ำมัน อะคริลิก ถ้าไม่มีสีก็ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาไม่ได้ ในกรณีนี้ผมให้ความสำคัญกับเครื่องมือ ในการสื่อคือ ดิจิทัล และต้องการสื่อว่าดิจิทัลเป็นเครื่องมือใหม่ เทคนิคใหม่ เป็นของใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน"


นิทรรศการแบ่งส่วนการแสดงออกเป็น ๔ ห้อง ในห้องแรกแสดงประวัติย่อๆของศิลปิน ที่มีความผูกพันกับศิลปะมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต (สาขาจิตรกรรม) และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอินเดียศึกษา (ประวัติศาสตร์และโบราณคดี )จากมหาวิทยาลัยปารีส ๓ (ซอร์บอนน์ นูแวล์)






ต่อด้วยการจัดแสดงผลงานวาดเส้นลวดลายประดับ คัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนัง ลายเส้นรูปแบบของเจดีย์ ซึ่งเกิดจากการจินตนาการจากสภาพของสิ่งที่เหลืออยู่โดยศึกษาเพิ่มเติมว่าสิ่งที่หายไปควรเป็นอย่างไร เป็นงานเชื่อมโยงกับงานวิชาการที่ทำมาตลอด ๔o ปี


ห้องที่ ๒ เป็นการแสดงผลงานสีน้ำในรูปแบบ "หวัด ๆ" โดยมีรูปที่ไม่หวัดจัดแสดงให้ชมพอเป็นสังเขปว่าเขียนให้สมบูรณ์แบบก็ได้ หากในคราวนี้อยากแสดงถึงความสนุก


" เป็นเรื่องที่ปลดปล่อยที่สุดของผม เพราะผมไม่อาศัยกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ผมอยากจะเขียนอย่างไรก็เขียนอยากใช้สีใช้ อยากใช้เส้นใช้ ไม่มีกฎกติกาใดๆว่าสีน้ำที่ดีเป็นอย่างไร ผมใช้สีน้ำตามที่มันเป็น ใช้สีน้ำตามที่ผมต้องการเขียน "






ในขณะที่ห้องที่ ๓ เป็นการสืบเนื่องของสีน้ำแบบหวัดๆไปสู่เทคนิคดิจิทัล เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคนิคสมัยใหม่ตอบสนองการทำงานได้ ทว่าให้เอฟเฟคที่แตกต่างกัน


ในขณะที่ห้องแสดงสุดท้าย เป็นการนำข้อมูลจากรูปแบบสันนิษฐานมาผสมทำให้มีสีสัน เติมอารมณ์ความรู้สึกที่สั่นไหว ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลากหลายโปรแกรม


"ผมมองซากโบราณสถานนิ่งไม่ไหวติง แต่ผมต้องการให้มีชีวิตด้วยการทำต้นไม้ให้สั่นไหว มีคอนทราส จัดวางความนิ่งคู่กับเคลื่อนไหว เป็นไดนามิกที่ผมพอใจ"






ซากโบราณสถานโบราณเก่าแก่ที่ดูเหมือนสะกดกาลเวลาไว้ชั่วขณะ ฉับพลันมีลมเย็น ๆ พัดผ่านกิ่งพุทรา ใบไม้ขยับกลับปลุกอิฐเก่าให้มีชีวิต


เป็นความสั่นไหวที่เกิดขึ้นขณะชมนิทรรศการของอาจารย์สันติ เล็กสุขุม ที่ทำให้เราได้สัมผัสถึงลมเย็นๆ มองเห็นเมฆสีชมพู ที่นำไปสู่จินตนาการพรั่งพรู


นิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึง ๓o สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา o๙.oo-๑๖.oo น. วันพุธอาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์).







ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคกรุงเทพวันอาทิตย์













"แสตมป์ดวงใหญ่ที่ระลึก ๑o ปีไปรษณีย์ไทย”


บริษัท ไปรษณีย์ไทย จัดทำแสตมป์ดวงใหญ่สุดแห่งศตวรรษ ที่ระลึก ๑o ปี หลังแปลงสภาพจาก กสท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (๑๔ ส.ค.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย ได้เฉลิมฉลองครบรอบทศวรรษแห่งการแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) มาจัดตั้งเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ ซึ่งยังคงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


ทั้งนี้ ได้มีการจัดพิมพ์ตราไปรษณียากรที่ระลึก ๑o ปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสดวงใหญ่ที่สุดของไทยเท่าที่เคยมีมาในรอบ ๑๓o ปี นับตั้งแต่มีแสตมป์ดวงแรก โดยมีขนาด ๖๒ x ๖๒ มม. สะท้อนภารกิจเครือข่ายชีวิตและเศรษฐกิจไทย ราคาดวงละ ๑o บาท (เต็มแผ่น ๔ ดวง) เหมาะสำหรับการผนึกส่งพัสดุสิ่งของ หนึ่งในบริการโลจิสติกส์อันเป็นธุรกิจหลักของไปรษณีย์ไทยในปัจจุบัน และอนาคต นอกจากนี้ยังมีซองวันแรกจำหน่าย ๑๘ บาท


ผู้สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศ สอบถามเพิ่มเติมที่ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร โทร. o๒-๘๓๑-๓๘๕๖, o๒-๘๓๑-๓๘๕๓ และ o๒-๘๓๑-๓๘๗๖ หรือ Line: stampinlove



ภาพและข้อมูลจากเวบ
posttoday.com













"อิมเมจิน ฮับ จับงานศิลป์มาแจ้งเกิด”


ถ้าไม่มีเวทีให้ ดีไซนเนอร์ดี ๆ ที่ไหนจะได้ “แจ้งเกิด”ในช็อปเล็กๆ ที่ชื่อ“อิมเมจิน ฮับ”มีพื้นที่ให้กับเด็กศิลป์ได้ต่อยอดผลงานสู่ผลิตภัณฑ์สุดคูล


ใครจะคิดว่าผลงานหวาน ๆ น่ารักน่าชัง ไล่ไปจนจี๊ดโดนใจขาช้อป ภายใต้แบรนด์ “Imagine” จะเป็นอดีต “เศษงาน” ของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ที่ต้องเรียกว่า “เศษงาน” เพราะชิ้นงานเหล่านี้ คืออดีต ผลงานในเศษกระดาษ ภาพสเก็ตที่เกิดจากการขีด ๆ เขียน ๆ ในห้องเรียน หรือแม้แต่งานที่ส่งอาจารย์ไปแล้ว และทุกคนก็พร้อมจะหลงลืมทันทีเมื่อเรียนจบ โดยไม่คิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรได้


“นี่เป็นเศษงานของพวกเขา และเขาเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะสร้างมูลค่าอะไรได้ ขณะที่บางคนก็หลงลืมและทิ้งไปแล้ว เขาอาจมองเป็นแค่เศษงาน แต่เรามองเป็นอะไรที่ต่อยอดได้ เพราะสิ่งที่เขาทำมา สะท้อนความเป็นตัวตนของเขา”


“พิมพ์จิต ตปนียะ” รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ผู้ดูแลโครงการสนับสนุนการออกแบบของนักศึกษาสู่เชิงพาณิชย์ บอกเล่าเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในร้าน “อิมเมจิน ฮับ” ภายใน “อิมเมจิน วิลเลจ” ศูนย์การค้าในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขต รังสิต ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า ๒ เดือน


ช็อปเล็กๆ แห่งนี้ ถือกำเนิดขึ้น ด้วยมีเป้าหมายที่อยากจะให้เป็น ศูนย์รวมผลงานของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ หลังจากอาจารย์ผู้สอนยอมรับว่า เห็นผลงานของเด็กๆ แล้วเกิดอาการ “เสียดายของ” ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเลยพยายามหาช่องทางให้นิสิตได้นำผลงานมาวางจำหน่าย อย่างโครงการ Creative Society ที่ให้ส่งผลงานไปฝากขายในร้าน BU Café ของมหาวิทยาลัย การจัดเทศกาลโชว์ของ หรือแม้แต่หาพื้นที่นอกมหาวิทยาลัยให้นิสิตได้ไปแสดงผลงาน


ทว่าในครั้งนี้เด็กศิลป์จะได้เรียนรู้ธุรกิจชัดเจนที่สุด เพราะไม่ใช่แค่มีอะไรก็เอามาขาย แต่ผลงานของพวกเขาจะต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้บริหารโครงการ มีการพูดคุย ประชุมงาน เซ็นสัญญา เจรจาต่อรอง ไม่ต่างจากการรับโจทย์ในโลกธุรกิจ


และเมื่อคาแรคเตอร์หรืองานชิ้นไหนได้รับคัดเลือก ก็จะต้องไปออกแบบต่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในร้าน อย่าง กระเป๋า เสื้อ ผ้าพันคอ ปกสมุด ฯลฯ ในขนาดที่กำหนดไว้ และต้องสอดรับกับกระแสสังคม ความนิยม และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นนักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ผู้มีกำลังซื้อระดับ B-B+ มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง และมีรสนิยม


นี่คือการเรียนรู้จากการลงมือทำ ที่แม้แต่ตำราเรียนก็สอนพวกเขาได้ไม่หมด


“ระหว่างเรียน เราก็พยายามใส่ความเข้าใจในธุรกิจให้กับเด็กๆ บอกเขาว่าในการทำงานจริงจะเป็นอย่างไร ให้เขาเข้าใจความสำคัญของลิขสิทธิ์ การคิดราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่ตัดราคาจนทำลายวิชาชีพของตัวเอง เขาต้องมีอะไรที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานนี้ ไม่ใช่ลดลงแต่ต้องเพิ่มขึ้น เขาต้องอยู่ได้ด้วยการประกอบอาชีพในอนาคต ฉะนั้นต้องไม่ทำร้ายกัน ไม่คิดทำลายกัน แต่คุณต้องอยู่ได้ รุ่นพี่รุ่นน้องคุณก็ต้องอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่เราสอน”


มุมคิดแบบธุรกิจที่ อาจารย์พิมพ์จิต บอกเราว่าต้องใส่เติมให้กับนักเรียนศิลปะ เพื่อให้รู้เท่าทันโลกธุรกิจ และยืนหยัดได้เมื่อเข้าสู่การทำงานในอนาคต และที่อิมเมจิน ฮับ ก็เป็นเหมือนห้องเรียนธุรกิจที่สำคัญของพวกเขา


ที่ร้านแห่งงานศิลป์ ไม่ได้มีแค่ผลงานของนักศึกษา ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “Imagine” เท่านั้น ทว่าส่วนหนึ่งยังเป็นสินค้าฝากขายของกลุ่มศิษย์เก่าที่มีธุรกิจและแบรนด์ของตัวเองอยู่แล้ว


“เด็กคนหนึ่งยังเรียนอยู่ แต่ไม่มีเงินเรียน และยังต้องช่วยทางบ้านด้วย เลยไปวาดรูปและพิมพ์เป็นผ้าพันคอ แล้วขายในเว็บไซต์ ปรากฎประสบความสำเร็จมาก ขายไม่ทันเลย เราก็ติดต่อมาวางที่ร้าน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ การมีพื้นที่ตรงนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนได้รู้คุณค่าของงานตัวเอง รู้ว่ามูลค่าของมันไม่เหมือนกับงานอุตสาหกรรม แต่เป็นงานที่มีคุณค่าด้วยตัวเองจริงๆ” และนั่นก็คือความคาดหวังของคนทำงานเบื้องหลังอย่างพวกเขา


มุมหนึ่งของร้าน อิมเมจิน ฮับ ยังมีกระเป๋าลวดลายแสบๆ สไตล์ Tattoo อารมณ์เหมือนมีลายสักอยู่บนผืนผ้า ขัดกับเจ้าของผลงานที่เป็นสาวน้อยหน้าหวาน วัย ๒๕ ปี “จิ๊ก” ประภาสิริ คร้ามสมอ อดีตนิสิตสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เธอเรียนจบมาแล้วสองปี และผลงานจากการเรียนอย่างตั้งใจ ก็กลับมาปลุกความฝันให้เธอได้อีกครั้ง


“ตอนที่เรียนอาจารย์ให้หัวข้อว่า เราชอบอะไร ก็พบว่าชอบสัตว์ทะเล และสัตว์ประหลาด เลยเอามาบวกกันตามจินตนาการ จนวาดออกมาเป็นคาแรคเตอร์แบบนี้ เป็นผลงานที่ทำตอนเรียน”


เธอยอมรับว่า ตอนเรียนไม่คิดว่าผลงานจะต่อยอดเป็นสินค้าอะไรได้ แต่เมื่อได้รับโอกาส ภาพวาดกราฟฟิกที่เคยสะสมไว้ รวมทั้งผลงานระหว่างเรียน ก็ถูกนำมาใช้กับงานในวันนี้ ผสมผสานจนเป็นสไตล์ของตัวเองอย่างเด่นชัด ปรากฏเป็นผลิตภัณฑ์เก๋ ๆ ทั้ง กระเป๋า ปกสมุด ผ้าพันคอ แม้แต่กระเป๋าใส่แทบเล็ต ก็แสบสันได้ด้วยลวดลายแบบ “จิ๊ก”


การไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่มีการประชุมกับทีมงานหลายๆ ส่วน ช่วยขยับไอเดียของมือใหม่ ให้น่าสนใจมากขึ้น อย่างการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน ใส่ความสนุกให้กับชิ้นงาน เช่น กระเป๋าใบใหญ่ ที่มีกระเป๋าลูกเล็ก ๆ ห้อยอยู่ข้าง ๆ ช่วยสลัดความน่าเบื่อ ซึ่งดูจะเรียกความสนใจจากนักช้อปสาว ๆ ได้ไม่น้อย


“เป็นศิลปินจะมาทำธุรกิจ ก็ต้องวางแผนอะไรเยอะมาก ต้องศึกษาเพิ่มเติม ไม่ใช่รู้แค่ว่าจะออกแบบคาแรคเตอร์ ตัวนี้ซึ่งเราชอบ แต่ไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป และไม่รู้จะเอาไปขายใคร ก็คงเป็นไปไม่ได้ เราต้องมองเป็นเรื่องของธุรกิจมากขึ้น”


ดีไซเนอร์หน้าใหม่บอกกับเรา ถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังเข้าสู่โลกการค้า ซึ่ง อิมเมจิน ฮับ ไม่เพียงเปิดพื้นที่ ให้ผลงานของเธอได้ปรากฏโฉมเท่านั้น ทว่ายังจุดแรงบันดาลใจให้ความฝันที่อยากเป็นผู้ประกอบการของเธอ โชติช่วงขึ้นอีกครั้ง


“เป็นคนที่เวลาถูกใครมาตีกรอบ จะทำงานไม่ค่อยได้ ก็เลยคิดว่า อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เพราะเราจะมีโอกาสผลิตผลงานตามใจได้มากกว่า” เธอให้เหตุผล ที่คงโดนใจเด็กศิลป์หลายคน แต่เหตุผลที่ดูน่าสนใจและเท่ห์ไปกว่านั้น คือ คำตอบที่ว่า..


“การทำงานให้กับคนอื่น เราก็จะได้แต่แบบเดิมๆ ตามที่เขาต้องการ ที่ตลาดต้องการ แต่จะไม่มีสิ่งแปลกใหม่ออกมาเลย ซึ่งศิลปินควรมีหน้าที่สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตลาดด้วย ไม่อยากให้เป็นแค่ผลงานที่ทำออกไป พอจบแล้วก็กลายเป็นแค่ขยะชิ้นหนึ่ง แต่อยากให้เกิดประโยชน์ เกิดแรงบันดาลใจ ให้กับผู้อื่น ซึ่งแม้เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ยังดีที่ได้ทำ” เธอสะท้อนมุมคิด ในฐานะคนทำงานศิลปะคนหนึ่ง ที่อยากสร้างคุณค่าให้โลกใบนี้บ้าง


ดีไซเนอร์สาว ยังแย้มความฝันกับเราว่าผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ของตัวเอง ที่เธอจะทำออกมาเร็ว ๆ นี้ คือ ผันพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เพราะมองว่าสามารถขายให้กับกลุ่มผู้หญิงได้ง่าย เธอบอกว่า การทำงานอะไรออกมา คงไม่ได้ดูแค่ว่างานของเราจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่ต้องดูด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และนั่นคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ จากเวทีธุรกิจเล็ก ๆ แห่งนี้


ไม่มีความฝันไหนที่ไม่ต้องเผชิญอุปสรรค และไม่มีความสำเร็จใดที่จะได้มาง่าย ๆ ดูอย่างความมุ่งมั่นของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ ที่เธอไม่เคยทิ้งเศษงานของตัวเอง และฝึกฝนฝีมืออย่างต่อเนื่องทุกวัน เวลาว่างก็ลุกมาขีด ๆ เขียน ๆ แล้วเก็บไว้เป็นพอร์ทงานของตัวเอง เธอบอกว่า ในอนาคตจะหยิบงานพวกนี้มาใช้ได้ โดยเฉพาะนำมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง ดั่งที่ใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่ต้น ก่อนฝากความคิดให้กับคนที่อยากเดินบนความฝันเดียวกันนี้..


“ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโอกาสและจุดมุ่งหมายของตัวเอง ถ้าเรามีแรงบันดาลใจ มีจุดมุ่งหมาย ผสมกับโอกาสที่ได้รับ และทำมันให้ตลอด ไม่ทิ้ง ไม่ยอมแพ้ แม้ยากที่จะไขว่คว้ามา แต่ถ้าพยายามและมุ่งมั่น สักวันหนึ่งก็คงสำเร็จได้กันทุกคน”


หนึ่งมุมคิดจากคนรักศิลปะ ที่กำลังปล่อยแสง เพื่อ “แจ้งเกิด” ในร้าน อิมเมจิน ฮับ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
bangkokbiznews.com













"ศิลปะเพื่อคนตาบอด เติมฝันในโลกมืด”


เมื่อศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาจารย์ที่โด่งดังได้รับเชิญจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มาสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายและศิลปะปูนปั้นนูนต่ำให้แก่ผู้พิการทางสายตา หรือ "คนตาบอด" ได้รับรู้ถึงความงามทางศิลปะเทียบเท่าผู้มีสายตาปกติ ใน นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ตามฝันสุดขอบฟ้า เทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน จึงไม่รอช้า รีบสร้างผลงานที่งดงามทันที


และตอนนี้นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอดจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ ทรงเปิดงานพร้อมทอดพระเนตรผลงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้


ผศ.กรี สินธุภิญโญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการจัดงาน ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของนิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอดนี้ว่า ได้แรงบันดาลมาจากโปรเจ็กต์หนึ่งในต่างแดน เสนอเกี่ยวกับสมองคือส่วนที่มองเห็น ไม่ใช่ดวงตา ผสานกับบทเพลง "เสียงในความเงียบ" ที่ประพันธ์ขึ้นให้คนหูหนวก เชื่อว่าเราสามารถทำให้คนตาบอดมองเห็นได้จากการสัมผัสผลงานศิลปะ จนเป็นที่มาของผลงานจำนวน ๘๑ ภาพ ตามความฝันของคนตาบอดว่าอยากจะเห็นอะไรบ้าง ในนิทรรศการประกอบด้วย ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพศิลปะปูนปั้น และสื่อผสม ส่วนธีมปีนี้มาจากปีแรกของการจัดนิทรรศการ ได้รับรู้ถึงความฝันของน้อง ๆ คนตาบอด


"๘๑ พรรษาแม่ของแผ่นดิน ๘๑ ฝันของคนตาบอด ๘๑ ผลงาน จุฬาฯ มีส่วนร่วมในการรวบรวมภาพวาด ภาพถ่ายสื่อถึงฝัน แล้วก็ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างงานปูนปั้นต่ำเป็นสื่อถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย อยากให้สังคมได้รับรู้ สำหรับคนตาบอด เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าหนังสือเสียง หรือการบริจาคเงิน นิทรรศการนี้เป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับพวกเขาช่วยเสริมสร้างจินตนาการ อีกมิติหนึ่งได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้คนตาบอด องค์กรอื่น ๆ สามารถพัฒนาต่อยอดทำกิจกรรมส่งเสริมคนตาบอดได้ ในมุมมองการท่องเที่ยวทั้งคนตาบอดและคนตาดีก็ได้ดูภาพถ่าย ภาพวาดแหล่งท่องเที่ยว กลายเป็นการท่องโลกไปด้วยกัน" ผศ.สุกรีเชื่อว่าทุกคนที่เห็นผลงานจะตกหลุมรักในความสวยงามของเมืองไทย และจะเชิญผู้พิการทางสายตาจากสถาบันทั้งหลายได้มาสัมผัสศิลปะปูนปั้นกัน


ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ศิลปะภาพถ่าย มีโอกาสนำภาพถ่าย "เจดีย์พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิศิริ" มาให้ ผศ.ถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์ จากรั้วศิลปากรทำภาพปูนปั้น ตากล้องชั้นเยี่ยมบอกว่า ในฝันของคนตาบอดอยากเห็นดอยอินทนนท์ จึงเลือกภาพนี้มานำเสนอให้คนพิการทางสายตาได้สร้างจินตนาการถึงจุดสูงสุดของประเทศไทย ชื่นชมความงามของธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ร่วมเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน โครงการนี้ยังจัดประมูลผลงานศิลปะในวันที่ ๒๕ สิงหาคม วันสุดท้ายของนิทรรศการเพื่อหารายได้ช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางสายตา ใครสนใจมาร่วมประมูลกัน


ด้าน วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ศิลปะภาพถ่าย บอกว่า ส่งภาพร่าเริงตอนเช้า เป็นภาพนกจาบคาหางเขียวที่อพยพมาจับคู่ทำรังและวางไข่ที่บางบาล จ.อยุธยา ช่วงเมษายนมีนกเป็นร้อยคู่ กลายเป็นแหล่งดูนกที่ได้รับความนิยม รายละเอียดไม่มาก เพื่อให้ศิลปินศิลปากรได้ทำผลงานนูนต่ำ เลือกนก เพราะตามฝันของคนพิการมีทั้งสัตว์ ดารา อย่างพี่เบิร์ด-ธงไชย สตีเวน เจอร์ราร์ด นักฟุตบอลชื่อดัง มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส และแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม


"เชื่อว่าถ้าคนตาบอดได้คลำภาพนูนต่ำจะทำให้มีความสุข แล้วก็รับรู้ในโลกกว้างไม่ได้ถูกทอดทิ้ง มีเราช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมที่ให้คนตาบอดได้มีส่วนร่วม" ศิลปินแห่งชาติย้ำ ก่อนพาเด็กชายจิรวัฒน์ ศิริพาสาร นักเรียนตาบอด ชั้น ป.๕ จากโรงเรียนธรรมิกวิทยา จ.เพชรบุรี ไปสัมผัสผลงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการ เป็นภาพที่น่ารักมาก


วันเปิดนิทรรศการมีผู้พิการทางสายตาจากมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ เข้าร่วมงาน แต่ละคนใช้สองมือสัมผัสผลงานศิลปะปูนปั้นด้วยความสนใจใคร่รู้ และมีรอยยิ้มเปื้อนหน้า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนตาบอดได้เห็นสิ่งที่อยากเห็นตามความฝัน อย่างภาพในหลวง วัดพระแก้ว วัดร่องขุ่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มัลดีฟส์ ทะเล ดอกไม้ แพนดา ช้าง กระทั่งไดโนเสาร์ เติมเต็มจินตนาการสุดยอด


น้องวัฒน์-จิรวัฒน์ เด็กตาบอดที่ใช้หัวใจถ่ายภาพ และนำผลงานชื่อ "สมบูรณ์เพราะในหลวง" ร่วมแสดงนิทรรศการ เผยความในใจว่า ถ่ายภาพนี้แถวคลองชลประทานที่โรงเรียน เพราะเราจำเป็นต้องมีคลองนี้เพื่อทำเกษตร ในหลวงท่านส่งเสริมการเกษตร มีความในอยากเห็นในหลวง ก็ตื่นเต้นได้มาสัมผัสผลงานที่นิทรรศการ ดีใจมาก แล้วก็ได้เห็นนกสองตัวเกาะกิ่งไม้ มีตัวหนึ่งกำลังกางปีก ถามอาจารย์วรนันท์ก็ได้รู้ว่าเป็นนกจาบคาหางเขียว มันอพยพมาไทยเพื่อวางไข่ ได้รู้จักโลกของนกมากขึ้น


ส่วน ศักดิ์สยาม พอสินธ์ นักศึกษาชั้นปี ๒ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง หนุ่มผู้พิการทางสายตา แต่หัวใจไม่ท้อ พูดคุยกับเราหลังสัมผัสผลงานหลาย ๆ ชิ้นว่า ศิลปินสร้างงานศิลปะเก่งมาก มือจับ ๆ คลำ ๆ ภาพนูนต่ำไม่นานก็พอรู้ว่าเป็นภาพอะไร ทั้งทะเล ภูเขา แม้โลกของเราจะมองไม่เห็น แต่นิทรรศการนี้ทำให้ได้ท่องโลกกว้างเหมือนเข้าไปสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จริงเลย ประทับใจสุด ๆ


นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด "ตามฝัน...สุดขอบฟ้า เทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน" จัดแสดงที่หอศิลป์ กทม. ผลงานศิลปะกว่า ๘o ชิ้น จะเปิดประมูลในวันสุดท้ายของนิทรรศการ เพื่อหาเงินสมทบทุนช่วยผู้พิการทางสายตา.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net

thailandexhibition.com












โครงการวรรณกรรมวิจารณ์ กับ ‘สนามเด็กเล่น’


มูลนิธิเอสซีจี ชวนสัมผัสความงามของภาษากวี ผ่านโครงการวรรณกรรมวิจารณ์ กับ ‘สนามเด็กเล่น’ ซึ่งเปิดพื้นที่ความสุขสำหรับนักอ่าน และผู้มีใจรักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ มาล้อมวงสนทนาสัมผัสความละเอียดอ่อน ละเมียดละไมของกวีนิพนธ์ ‘สนามเด็กเล่น’ กับผศ.สกุล บุณยทัต พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักเขียน พรชัย แสนยะมูล อย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาวงการวรรณกรรมไทย


เดือนสิงหาคมนี้ มูลนิธิเอสซีจีชวนอ่านรวมกวีนิพนธ์ร่วมสมัย “สนามเด็กเล่น” ของพรชัย แสนยะมูล กวีรางวัลลูกโลกสีเขียว นักเขียนอารมณ์ดีที่มีดนตรีในหัวใจ แล้วมาร่วมล้อมวงสนทนาสัมผัสความงามของภาษา คุณค่าของบทกวีด้วยกันกับผศ.สกุล บุณยทัต นักวิจารณ์ชั้นแนวหน้าของวงการวรรณกรรมไทย เจ้าของคอลัมน์ปากกาขนนก นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนพูดจาภาษากวีกับนักเขียนอย่างใกล้ชิด ในวันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.oo-๑๕.๓o น. ณ โรงละครวัชรนาฏยสภา (เอสี่) มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์


ผู้สนใจดาวน์โหลดใบสมัครเข้าร่วมโครงการและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ //www.scgfoundation.org หรือโทร o๑-๕๘๖-๑๑๙o กิจกรรมดี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย


โครงการวรรณกรรมวิจารณ์ จัดทำขึ้นเพื่อต่อยอดงานด้านศิลปะและวรรณกรรมจากโครงการ Young Thai Artist Award โดย มูลนิธิเอสซีจีซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการอ่านและวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาวงการวรรณกรรมไทย



ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคมูลนิธิเอสซีจี
contestwar.com
















หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับ สถานทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย และ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ จัดแสดงนิทรรศการ “สิ่งทอแห่งอนาคต” เป็นนิทรรศการสัญจร ซึ่งผสมผสานวิทยาศาสตร์ วิทยาการ และศิลปะสิ่งทอ วัสดุ อุปกรณ์ และชิ้นงานต่างๆ มีแรงบันดาลใจแสนบรรเจิดและก่อให้เกิดความแนวคิดแปลกใหม่ในอนาคต นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศการ ลา แฟต ๒oo๙


หลังจากความสำเร็จของนิทรรศการ “สิ่งทอแห่งอนาคต” ณ ทรี โปสตาล เดอ ลีลล์ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ๒oo๖ ณ เมืองอีสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อเดือนกันยายน ๒oo๗ และ Futurotextiles 08 ซึ่งจัดแสดง ณ เมืองกูร์ไทร ประเทศเบลเยียม ในฤดูใบไม้ร่วงปี ๒oo๘ นิทรรศการสัญจรชุดนี้นำเสนอวิสัยทัศน์ที่เป็นจริงของสิ่งทอในอนาคต ที่ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อโลก สิ่งแวดล้อม และตัวมนุษย์เอง






การนำเสนอนิทรรศการแบ่งเป็นหลายส่วน เพื่อให้ท่านได้พบมิติต่าง ๆ ของโลกสิ่งทอ ทั้งความหลากหลายอัน น่าอัศจรรย์ กระบวนการแปรสายใยเป็นผ้าผืน โดยใช้วัสดุผสม และไม่ผ่านกระบวนการทักทอเช่นในอดีต พร้อมตอกย้ำว่า ณ ปัจจุบัน สิ่งทอเป็นเป็นทั้งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ล้ำเลิศไม่แพ้สาขาอื่นใด ในขณะเดียวกัน นิทรรศการจะทำให้ท่านเพลิดเพลินกับโลกศิลปะ แห่งความสุนทรีย์ด้วยผลงานของดีไซเนอร์ชั้นนำ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


แนวความคิดหลักของนิทรรศการ “สิ่งทอแห่งอนาคต” แบ่งออกเป็น ๖ กลุ่มคือ

การค้นพบสิ่งทอ เปิดโลกสิ่งทอด้วยการทำความรู้จักใยผ้ารูปแบบใหม่ ทำความเข้าใจกับคำว่า “สิ่งทอ” และรู้จักผืนผ้าแห่งอนาคต ซึ่งหมายถึงสิ่งทอ และสิ่งที่จะเป็นเนื้อผ้าในอนาคต
สิ่งทอครัวเรือน สิ่งทอของเครื่องเรือน และ การสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ซึ่งผสานสิ่งทอไว้กับวัสดุผสม
สิ่งทอเสื้อผ้า จัดแสดงเครื่องแต่งกายตามยุคสมัยและการสร้างสรรค์ในรูปแบบการตัดเย็บของ ห้องเสื้อชั้นสูงแบบล้ำยุค
สิ่งทอพาหนะ การใช้วัสดุผสมในส่วนของพาหนะการขนส่ง
สิ่งทอป้องกัน สิ่งทอที่ใช้เพื่อความปลอดภัยหลาย ๆ ประเภท เช่น สิ่งทอป้องกันเปลวไฟ
สิ่งทอกันกระแทก รวมไปถึงป้องกันในกรณีอุณหภูมิสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
สิ่งทอก่อสร้าง จัดแสดงสิ่งทอที่ใช้สำหรับงานสถาปัตยกรรม
สิ่งทอภูมิประเทศ ตัวอย่างสิ่งทอที่ใช้ในการเกษตรหรือใต้ดิน
สิ่งทอการแพทย์ แสดงผลงานการใช้สิ่งทอในวงการแพทย์ เช่น อวัยวะเทียม หรือ การปลูกถ่ายอวัยวะ

นิทรรศการนี้ อำนวยการสร้าง โดย เทศกาลเมือง ลีลล์ ๓ooo ด้วยการสนับสนุนของ Culturesfrance เพื่อการจัดแสดงระดับนานาชาติ สนับสนุนการจัดแสดงในภูมิภาคโดย ประชาคมท้องถิ่นเมืองหลวงลีลล์และแคว้นนอร์ ปาส์ เดอกาเลส์


ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเพ็ญวดี o๒-๒๑๙-๒๙๑๑ หรือ artcenter@jimthompsonhouse.com

หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ ๙.oo – ๑๗.oo น.
การเดินทาง สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ
เข้าชมฟรี



ภาพและข้อมูลจากเวบ
jimthompsonhouse.com













"ชีวิตวิปริต (Undead)”


Number 1 Gallery ภูมิใจเสนอนิทรรศการศิลปะ “ชีวิตวิปริต (Undead)”โดย เกรียงไกร กงกะนันทน์ ศิลปินไทยที่ได้ศึกษาวิชาศิลปะจากสถาบันศิลปะทั้งในประเทศไทยและประเทศอิตาลี

เกรียงไกรได้ซึมซับศิลปะแนวตะวันตกจากทวีปยุโรป และหลอมรวมตัวตนเข้ากับขนบทางศิลปะของตะวันตก จากที่ได้ศึกษาศิลปะจากศิลปะระดับปรมาจารย์หลายงานที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่าง ๆ เกรียงไกรได้นำประสบการณ์นี้มาสร้างอิทธิพลต่องานของตน เมื่อได้กลับมาที่ประเทศไทย งานศิลป์ของเกรียงไกรได้ผสานความรู้เชิงศิลป์แบบตะวันตกเข้ากับแนวคิดทางพุทธศาสนาที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เยาว์วัย จนในที่สุด เกรียงไกรได้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินดาวรุ่งของไทยที่ได้รับได้รับการยอมรับในวงการศิลปะระดับนานาชาติ และได้แสดงผลงานของตนมาแล้วใน ๒๓ ประเทศ ซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ในการแสดงผลงานศิลปะครั้งล่าสุดนี้ ภาพวาดของเกรียงไกรแสดงภาพทั้งที่เป็นสัญลักษณ์และที่เป็นรูปธรรม ซึ่งกำลังดิ้นรนอยู่ภายใต้เงื้อมมือของปีศาจอันโหดร้าย ภาพต่าง ๆ มักมีองค์ประกอบหลักคือ สายตาที่ไร้อารมณ์ การตัดสิน และการว่าร้าย ซึ่งแสดงถึงการต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างการเป็นอิสระไร้การควบคุมกับการควบคุมตนเอง อีกทั้งยังแสดงความขัดแย้งโดยบรรจงวาดปีกซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงการโบยบินในขณะที่น้ำตาของปีศาจหยดลง กลีบสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะดุดตาตัดกับภาพวาดสีดำ-ขาว อาจเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่เบ่งบานหรือวงเลือดที่กระจายออกเมื่อชีวิตและพลังเริ่มปลดปลง






เกรียงไกร กงกะนันทน์ เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร การแสดงผลงานครั้งสำคัญ ๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ได้แก่ งาน “Beijing International Art Biennale (BIAB) ครั้งที่ ๕” ณ กรุงปักกิ่งประเทศจีน และงาน “On The Threshold of The Senses” ที่ Tally Beck Contemporary เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ ผลงานของเกรียงไกร ได้แสดงในงาน “Restless II” ที่ Cavin-Morris Gallery เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และงาน “Global Art 2013” ที่ Douro Museum ประเทศโปรตุเกส ตลอดจนงาน “Among Strangers” ที่ Gallery Jirehประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุด เกรียงไกรได้ร่วมกับศิลปินชาวโคลอมเบียในโครงการที่จัดโดยกระทรวงต่างประเทศของประเทศโคลอมเบีย และจะเข้าร่วมแสดงในงาน “International Biennial of Engraving Sarcelles” ที่ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ในปีหน้า เกรียงไกรจะมีงานแสดงผลงานเดี่ยวในประเทศโมนาโคและประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย






พิธีเปิดในวันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.oo น. เชิญร่วมพบปะพุดคุยกับศิลปินและรับสูจิบัตร

นิทรรศการ : ชีวิตวิปริต
ศิลปิน : เกรียงไกร กงกะนันทน์
วันที่ : ๕ – ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๖
สถานที่ : นัมเบอร์วันแกลอรี่อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย กรุงเทพฯ
สามารถโหลดไฟล์ภาพขนาดใหญ่ได้ที่ : //www.number1gallery.com/New2013/Undead/work.html
รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับนิทรรศการกรุณาติดต่อ : คุณกรกต ศรีดี : o๘๓-๔๔๕-๘๓๓๓, o๒-๖๓o-๒๕๒







ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com













“Sound reflection of urban life”


นิทรรศการ : “Sound reflection of urban life”
ศิลปิน : ฉันทวุฒิ  สุวรรณหงษ์ (Chantawut Suwannahong)
ลักษณะงาน : จิตรกรรม จำนวน ๑๕ – ๒o ภาพ
พิธีเปิดนิทรรศการ : วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๘.oo น.
คุณประพัฒน์ จิรสิริธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ
ระยะเวลาที่จัดแสดง : ๒๗ สิงหาคม – ๘ กันยายน ๒๕๕๖
ห้องนิทรรศการ : ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๓ - ๔


แนวความคิด

ผลงานชุด “Sound reflection of urban life” เป็นการนำเสนอมุมมองของตัวข้าพเจ้าเองผ่านออกมาเป็นผลงานศิลปะในเชิงนามธรรม (Abstracts) เนื่องจากข้าพเจ้าเกิดและเติบโตในเมือง นานวันสิ่งเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นความคุ้นชินกับการใช้ชีวิตกับตึกรามบ้านช่องที่แออัดมีความผันแปรและผกผันอยู่ตลอดเวลา กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ไหลบ่าผ่านตัวของข้าพเจ้า จนบางคราวไม่อาจระบุได้เลยว่าจุดเริ่มต้นแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่ใด หรือเริ่มจากอะไร การเติบโตและการใช้ชีวิตท่ามกลางความผกผันอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ก่อให้เกิดคำถามต่อวิถีของคนเมืองเฉกเช่นข้าพเจ้าที่เป็นอยู่


การยอมรับในปฏิกิริยาของความกระอักกระอ่วน ของข้าพเจ้ากับเมืองได้สื่อสารกับข้าพเจ้าในรูปแบบความเป็นนามธรรม ที่สะท้อนถึงขอบเขตของสีที่ยอมให้เข้าหากัน และยังประนีประนอมในการให้จังหวะที่สวมกันของรูปทรง เสมือนแผนที่ในใจของข้าพเจ้า นำไปสู่การเข้าใจชีวิต โดยธรรมชาติ กับเมือง



ภาพและข้อมูลจากเวบ
chamchuriartgallery.blogspot.com













"เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ ๑๗”


วันที่ : ๒๒ สิงหาคม - ๑ กันยายน ๒๕๕๖
สถานที่: ห้องออดิทอเรียม ชั้น ๕ และ ห้องประชุม ๔o๑ ชั้น ๔
โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิหนังไทย


หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิหนังไทย จัดงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ ๑๗ (17th Thai Short Film and Video Festival) ระหว่างวันที่ ๒๒ สิงหาคม – ๑ กันยายน ศกนี้ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น ๕ และ ห้องประชุม ๔o๑ ชั้น ๔ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยตลอดเทศกาลจะจัดฉายภาพยนตร์สั้นทั้งของไทยและต่างประเทศมากมายหลากหลายรสชาติ แฟน ๆ หนังสั้นไม่ควรพลาดแต่อย่างไร นอกจากโปรแกรมหนังประกวดทั้งหนังไทย-เทศ แล้ว โปรแกรมเด่น ๆ ของปีนี้ ยังได้แก่ โปรแกรมหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นแคลร์มอง เฟอร์ลอง (เทศกาลหนังสั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก), โปรแกรม S-Express ที่รวบรวมหนังสั้นจากประเทศ จีน และอาเซียน, โปรแกรมหนังสั้น Queer, โปรแกรมหนังสั้นที่เกี่ยวกับคนพิการ เป็นต้น


นอกจากโปรแกรมฉายหนังแล้ว ปีนี้ ในช่วงเทศกาลภาพยนตร์สั้น สถาบันหนังไทยจัดกิจกรรมชั้นครู (Masterclass) ผู้กำกับภาพยนตร์อินเดียรุ่นใหม่ Umesh Kulkarni ที่เคยคว้ารางวัลภาพยนตร์สั้นต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเทศกาลฯ สองปีซ้อน และยังได้สร้างสรรค์ผลงานหนังยาวที่ได้ฉายไปเทศกาลที่โดดเด่น อย่างเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน เทศกาลภาพยนตร์ร็อตเตอร์ดาม เทศกาลภาพยนตร์ปูซานอีกด้วย


ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ //www.facebook.com/thaishortfilmvideofestival หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ o๒-๘oo-๒๗๑๖ หรือ o๒-๔๘๒-๒o๑๓-๑๔ ต่อ ๑๑๑ และ thaishortfilmfestival@gmail.com งานนี้ชมฟรีทุกรายการ ไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างไร



ภาพและข้อมูลจากเวบ
bacc.or.th
wikalenda.com














ภาพจากเวบ เฟซบุค arteyeviewnews



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 21 สิงหาคม 2556
Last Update : 21 สิงหาคม 2556 23:54:53 น.
Counter : 4338 Pageviews.

0 comments
ตลาดเช้า, สถานีรถไฟพินอูลวิน สายหมอกและก้อนเมฆ
(18 เม.ย. 2567 17:06:42 น.)
บันเทิงเริงจีน 449:เทพีมหาสงกรานต์ 67/หมีเซียะ&เซียะหลี/21ปีเลสลี่/Kowloon Walled City/บุปผารักอลวน ข้าน้อยคาราวะ
(12 เม.ย. 2567 20:34:55 น.)
Pecchè? By Gaetano Errico Pennino ปรศุราม
(8 เม.ย. 2567 11:54:21 น.)
La dernière valse from Une Revue by Reynaldo Hahn ปรศุราม
(21 มี.ค. 2567 10:13:15 น.)

Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด