เสพงานศิลป์ ๓๑



ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - ‪Yuhki Kuramoto‬









“โครงการเยือนอดีตวังหน้าช่วงปิดภาคเรียน"


นับตั้งแต่กรมศิลปากรได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ล่วงเลยมาเป็นเวลานานนับศตวรรษ กรมศิลปากรได้มีการปรับปรุงพัฒนาโครงการสร้างการบริหารจัดการองค์กร มีการถ่ายโอนภารกิจ การขยายส่วนราชการและการแบ่งส่วนราชการภายใน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ให้กรมศิลปากรมีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ สืบทอด และธำรงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนานก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑o๒ และจะยังคงเป็นสถาบันหลักในด้านการปกป้อง คุ้มครองมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติต่อไป ตามวิสัยทัศน์ และนโยบายในเชิงรุกที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายของประเทศ






สำหรับกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่าพิพิธภัณฑสถานเป็นสื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชาติ ในวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๗ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารหอคองคอเดีย (Concordia Hall) หรือ ศาลาสหทัยสมาคม จัดเป็นพิพิธภัณฑสถาน เรียกว่า ตั้งมิวเซียม โดยจัดแสดงสิ่งของล้ำค่าและหาชมยากประเภทต่างๆ ทั้งที่ผลิตโดยชาวสยามและของจากห้างร้านของชาวต่างประเทศมาเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓o โปรดให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานมาตั้ง ณ วังหน้า และเปิดให้ประชาชนได้ชมเป็นการถาวร






กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงวางรากฐานการพิพิธภัณฑ์ไทยมาแต่อดีตจนกระทั่งกลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงกำหนดจัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “มรดกล้ำค่าสมเด็จพระปิยมหาราชในมิวเซียมหลวง” ขึ้น โดยนำมรดกอันล้ำค่าในรัชกาลพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจัดแสดงให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชม โบราณวัตถุทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ล้วนแต่เป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าและหาชมได้ยากยิ่ง อาทิ ตราแผ่นดินประจำรัชกาล หีบทองคำลงยา






เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ กล้องเมียร์ชอม เหล็กไหล ไม้กลายเป็นหิน ฯลฯ นิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา o๙.oo - ๑๘.oo น. ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร






นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญ พระพุทธรูปคันธารราฐ มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ให้ประชาชนได้สักการะ เพื่ออำนวยความอุดมสมบูรณ์ และความเป็นสิริมงคลสืบไป พระพุทธรูปคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปปางขอฝน ที่สร้างขึ้นสำหรับพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ และงานพระราชพิธีพืชมงคล เพื่ออำนวยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดมพร้อมพืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ โดยโปรดให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน ปั้นพระพุทธปฏิมายืน ปางขอฝน เลียนแบบพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา o๙.oo - ๑๘.oo น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย






พระบรมสาทิศลักษณ์ ภาพและข้อมูลจากเวบ
banmuang.co.th
eduzones.com
บล็อกเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์












พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์


'วันสายใจไทย' ฟื้นฟูละครร้องปรีดาลัย ศิลปะที่กำลังสูญหาย”


เนื่องในวันสายใจไทย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ เมษายนของทุกปี มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ สุประวัติ ปัทมสูต สร้างสรรค์ละครร้องเฉลิมพระเกียรติเรื่อง "ยังมีรักอยู่" เพื่ออนุรักษ์ละครร้องแบบคณะปรีดาลัยอันทรงคุณค่า ซึ่งบทละครร้องที่เป็นคำกลอนทั้งเรื่อง ประพันธ์โดยชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียนผู้มากความสามารถ ท่วงทำนองดนตรีไทย บรรเลงโดยวงดนตรีลูกศิษย์สุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ      
   


ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิสายใจไทยฯ ฟื้นฟูละครร้องขึ้น ด้วยกังวลว่าศิลปะการแสดงโบราณที่เจ้านายของไทยบุกเบิกขึ้นจะสูญหายไป มีกำหนดออกอากาศให้คนไทยได้ชื่นชมในรายการพิเศษ "วันสายใจไทย" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในวันจันทร์ที่ ๑ เมษายนนี้ ซึ่งรายการในวันนั้นนอกจากการแสดงละครร้อง ยังจะจัดการแสดงในรูปแบบต่างๆ ด้วย เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทยฯ เพื่อนำไปช่วยเหลืออาสาทหารพราน ทหารกล้า และครอบครัวที่สละชีวิตหรือทุพพลภาพจากการป้องกันประเทศ
   


ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ รองผู้จัดการมูลนิธิสายใจไทยฯ ในฐานะประธานจัดงานวันสายใจไทย กล่าวว่า มูลนิธิสายใจไทยฯ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๘ วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ช่วยเหลือแก่ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ โดยมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต สำหรับผู้บาดเจ็บพิการให้รับเป็นรายเดือนตลอดชีพ ด้วยทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ต่อไปข้างหน้า ปี ๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพฯ องค์ประธานมูลนิธิฯ มีพระราชดำริให้ฝึกอาชีพขึ้น ให้สมาชิกช่วยตนเองและมีรายได้ งานที่ฝึก ทำจนเป็นสินค้ามีคุณภาพจำหน่าย 
   


นอกจากนี้ รองผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้จัดคณะแพทย์ออกตรวจฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการและตรวจสุขภาพผู้มีอายุ ๕๕ ปีขึ้นไป รวมถึงให้คำแนะนำด้านเกษตรกรรมกับสมาชิก มอบทุนการศึกษา โดยดำเนินการต่อเนื่องจนปัจจุบัน ๓๖ ปี ก็ยังไม่หยุด สมาชิกส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ได้มอบความช่วยเหลือไปยังครูและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ทางภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยราย โดยรับเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ให้เงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนตลอดชีวิต จากนั้นจะให้ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้และฝึกอาชีพ มูลนิธิฯ ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนหนึ่งได้จากพระราชวงศ์และเจ้านายสนับสนุน และคนไทยบริจาคช่วยเหลือผู้เสียสละเพื่อชาติอย่างต่อเนื่อง 
   


"ขณะนี้มูลนิธิฯ ช่วยกว่า ๔,ooo ครอบครัว ได้รับเงินเดือนตลอดชีวิต แม้ในส่วนสินค้ามูลนิธิสายใจไทยฯ ผลงานสมาชิกจะได้กำไร แต่ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานมูลนิธิเพิ่มขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพ จึงต้องมีการหาทุนเข้ามาประกอบอีกทางด้วย นั่นคือการจัดรายการพิเศษวันสายใจไทยรับบริจาค" ท่านผู้หญิงพึงใจกล่าว
   


ในปีนี้รายการพิเศษวันสายใจไทยไม่เพียงเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลแด่ในหลวงในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา พระราชินีในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘o พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ ๖o พรรษา และสมเด็จพระเทพฯ องค์ประธานมูลนิธิฯ ในโอกาสวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๕๖ หากยังมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมให้คนไทยรู้จักละครร้องศิลปะการแสดงที่กำลังจะสูญสิ้น
   


รองผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าวว่า มูลนิธิฯ อยากฟื้นฟูศิลปะละครร้องแบบคณะปรีดาลัยที่อาจจะสูญหายไป เพราะคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ฟัง ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการติดต่อกับตะวันตก รับวัฒนธรรมละครเพลงหรือโอเปร่าเข้ามาในไทย เกิดคณะละครปรีดาลัย ก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นละครร้องสลับพูด ต่อมามีการพัฒนาให้เป็นสากลมากขึ้น ในวันสายใจไทยจึงจะจัดการแสดงละครร้องเฉลิมพระเกียรติ เสนอเรื่องคนเก็บของเก่าขาย เคยใช้ชีวิตผิดพลาด ทำไม่ดี แต่ท้ายสุดคิดได้กลับมาทำความดี 
   


"ละครร้องเรื่อง "ยังมีรักอยู่" ส่งเสริมศีลธรรม โดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณ ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ตรงกับคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังสืบสานพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเสมอมา โดยเฉพาะดนตรีไทย เพลงโบราณต่างๆ ทรงฟื้นฟูให้กลับมาอีกครั้ง ปัจจุบันเรากำลังลืมตัว ไม่รู้จักประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมไทย เรามีของเก่าที่มีคุณค่าจำนวนมาก แต่เด็กไทยไม่รู้จัก" ท่านผู้หญิงพึงใจย้ำละครร้องครั้งนี้จะกระตุ้นให้คนหวนคิดถึงศีลธรรมและปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท ทั้งยังปลุกละครร้องให้มีบทบาทอีกครั้ง
   


สำหรับละครร้องคุณภาพ กำกับการแสดงโดยสุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักแสดงหลัก ประกอบด้วย ตั๊ก-นภัสกร มิตรเอม รับบทพระเอก "บุญทัน" ซาเล้งเก็บของเก่า วัย ๓๒, ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ รับบท "นายทอง" พ่อของบุญทัน, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล สวมบท "นางศรี" แม่บุญทัน ร่วมด้วยศิลปินเอเอฟ โบว์-สาวิตรี สุทธิชานนท์ รับบท "นางสาวดวงตะวัน" ขณะที่ตัวละคร "เถ้าแก่ฮง" คนรับซื้อของเก่า ได้โย-ญาณี ตราโมท "เจ๊สดสวย" ได้นักแสดง ผัดไท นิลุบล สวมบทบาท อีกตัวละครหลัก "รปภ.นุ้ย" ยามวัยฉกรรจ์ ขี้เมา ขโมยของ แสดงโดยวัชระ ปานเอี่ยม และ "นักข่าวอาวุโส" รับบทโดยนีรนุช ปัทมสูต นอกจากนี้ มีการแสดงละครเพลง Les Miserables ประกอบด้วย
   


ติดตามได้ในรายการพิเศษวันสายใจไทย ๑ เมษายนนี้ เวลา ๒๑.๕o - oo.๒๕ น. ติดต่อและบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทยฯ ล่วงหน้าได้ที่ เบอร์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีเลขที่ o๖๗-๒-o๒๑oo-o ธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักพหลโยธิน บัญชีเลขที่ o๙๙-๒-๖๓๒๒๒-๔ ธนาคารกรุงเทพ สาขาพลับพลาไชย บัญชีเลขที่ oo๑-๓-๑๒๑๑๘-๑ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนศรีอยุธยา บัญชีเลขที่ o๑๓-๖-o๒๓๙๘-๓ หมายเลข SMS 4268678.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
siamrath.co.th
thaipost.net













"ภาวนากับลายพู่กัน : ศิลปะแห่งสติ"


ภิกษุณีนิรามิสาแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ (พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายาน นิกายเซน) เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ ๒๕ มีนาคม และจะอยู่จนถึงวันที่ ๓o เมษายน เป็นการเดินทางจาริกธรรม ภายใต้หัวข้อ together We are One เราคือหนึ่งเดียว งานแรกคือ การเปิดนิทรรศการ "ภาวนากับลายพู่กัน : ศิลปะแห่งสติ" ในวันที่ ๓ เมษายน เวลา ๑๗.๓o น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นการแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาผ่านการวาดภาพลายพู่กันของหลวงปู่ เป็นคำสอนที่เป็นข้อความและเป็นกลอน มีทั้งภาษาอังกฤษ จีน และฝรั่งเศส

 

ภิกษุณีนิรามิสากล่าวว่า นิทรรศการจะเปิดตั้งแต่วันที่ ๒ - ๒๒ เมษายน มี ๘o ภาพจัดแสดง เป็นวิธีการหนึ่งที่จะใช้ในการเผยแผ่ศาสนา ธรรมะ ผ่านงานศิลปะ โดยที่ทุกคนอาจจะบริจาค โดยรับภาพที่หลวงปู่วาดไปติดตั้งไว้ที่บ้าน เวลาที่เห็นภาพก็เหมือนกับได้เตือนให้ฝึกปฏิบัติ กลับมาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับใจ อยู่กับชีวิตอย่างมีความสุข และมั่นคง นอกจากนี้ ในงานจะมีการแสดงดนตรีธรรมะ โดยนักบวชหมู่บ้านพลัม พร้อมกันนั้นหลวงปู่จะสาธิตการวาด





  


ภิกษุณีนิรามิสากล่าวด้วยว่า ระหว่างวันที่ ๔ - ๘ เมษายน ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา จะเป็นงานภาวนาพิเศษสำหรับครู นักการศึกษา และผู้นำองค์กรด้านการศึกษา หลวงปู่จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การนำปัญญาทางจิตวิญญาณมาใช้ในชีวิตประจำวันเสื่อมไปมาก คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษาไม่สามารถรับคำสอนสิ่งต่าง ๆ แล้วนำไปใช้ให้สังคมเจริญได้ จึงได้เผยแพร่โปรแกรมจริยธรรมประยุกต์ เพราะถ้าครูมีความสุข โลกก็จะมีความสุขด้วย ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนโลกได้ เมื่อปีที่แล้วเปิดที่ประเทศอังกฤษก็มีครูและนักการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก การภาวนาแบบนี้อยากจะให้ครูเข้าใจว่าไม่ใช่การนั่งหลับตาทำสมาธิ เจริญสติ แต่จริงๆ แล้วการภาวนาแบบนี้ คือ การนำคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งงดงามมาก มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชีวิตของคุณครูเองและการนำเอาไปสอนในห้องเรียน





 


"ในโรงเรียนเคยมีชั่วโมงสอนศีลธรรม ซึ่งความจริงหลวงปู่มองว่า เป็นสิ่งที่งดงามมาก เพราะว่าไทยเป็นเมืองพุทธ แล้วเปิดให้พุทธศาสนาสอนได้อย่างแพร่หลายในโรงเรียน แต่ในต่างประเทศยากมาก เขาจะห้ามสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งทุกอย่างที่เข้าไปสอนจะทำภาษาให้เป็นกลาง และต้องออกแบบอย่างละเอียดอ่อนมาก แต่เมืองไทยเรามีมรดกของความเป็นพุทธอย่างเต็มที่ แล้วระบบการศึกษาตอบรับ แล้วกษัตริย์เราก็เป็นประมุขของพุทธศาสนาในประเทศไทย เราเติบโตอยู่กับพุทธศาสนา ในชั้นเรียนก็สามารถที่จะพูดเรื่องพุทธศาสนาได้ ท่านบอกว่ามันเป็นเงื่อนไขและเหตุปัจจัยที่พร้อมมาก แต่ถ้าเรารู้วิธีที่จะนำเอาเนื้อหาไปใช้ให้เหมาะสม จะสามารถช่วยเด็กและช่วยสังคมไทยได้เยอะมาก"
 


ภิกษุณีนิรามิสากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในวันที่ ๙ เม.ย. หลวงปู่จะไปเทศน์ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น ๕ สยามพารากอน อันเป็นสถานที่คนจะไปเสพสิ่งต่างๆ เพื่อให้คนเห็นว่า ในโลกที่อยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย การเสพการบริโภคสิ่งเหล่านี้ก็มีความงดงามที่สามารถสัมผัสได้ สามารถที่จะเข้ามาฟังธรรม โดยไม่ต้องซื้อตั๋วแพง ๆ เหมือนกับไปชมคอนเสิร์ต และในวันที่ ๑๓ - ๑๗ เม.ย.จะจัดงานภาวนาครอบครัวที่วังรีรีสอร์ท จ.นครนายก ในเวลาเดียวกันนั้นก็จัดงานภาวนาคนหนุ่มสาวด้วย งานสุดท้ายของหลวงปู่ที่เมืองไทยก็คือ การทอดผ้าป่าเพื่อสร้างหอปฏิบัติธรรม ที่สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติ หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย ที่บ้านสระน้ำใส ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา



ภาพและข้อมูลจากเวบ
matichon.co.th
เฟซบุคหมู่บ้านพลัม-ประเทศไทย
เฟซบุคiCAREClub












วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ลายเส้น ฝีมืออาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์


"ประวัติศาสตร์ ๑oo ปีเพาะช่าง ชุมนุมฝีมือ ๓๒ ศิลปินแห่งชาติ"






นิทรรศการศิลปกรรมในวาระเพาะช่างครบ ๑oo ปีเป็นการจัดแสดงงานศิลปกรรมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติที่เคยเรียนที่เพาะช่างมากถึง ๓๒ ท่าน ครั้งประวัติศาสตร์ เป็นประวัติศาสตร์การแสดงนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญ ที่ประวัติศาสตร์วงการศิลปะต้องจารึกไว้ เป็นประวัติศาสตร์เป็นประวัติการณ์ นิทรรศการศิลปกรรมในวาระเพาะช่างครบ ๑oo ปีเป็นการจัดแสดงงานศิลปกรรมเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติที่เคยเรียนที่เพาะช่างมากถึง ๓๒ ท่าน เป็นประวัติศาสตร์ของการชุมนุมภาพเขียนของศิลปิน เป็นประวัติศาสตร์ผลงานศิลปินแห่งชาติ และเป็นประวัติศาสตร์ที่บอกถึงวิวัฒนาการของวงการศิลปะและเพาะช่างให้เป็นที่ปรากฏอย่างงดงาม

ครั้งในอดีต เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนเพาะช่าง มีกระแสพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“การศึกษาที่จะใช้วิชาช่างของไทยของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเรา และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงามดีกว่าที่จะเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จฯมาขอชื่อโรงเรียน เราได้ระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่าโรงเรียนเพาะช่าง”





สีน้ำ วัดโพธิ์ ฝีมืออารย์เฉลิม นาคีรักษ์


จากวันนั้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๖ ถึงวันนี้พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นร้อยปีแห่งการเพาะปลูกบ่มเพาะช่างให้เกิดและสร้างศิลปินให้เกิดบนแผ่นดิน นิทรรศการครั้งนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์แห่งความเจริญงอกงามไพบูลย์อันเนื่องมาจากการเพาะปลูกต้นศิลปะแต่ในอดีตงอกงามสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

ณ ปัจจุบัน วันศุกร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา ๙.๓o น. วันสำคัญของวงการศิลปะ ศิลปินและชาวเพาะช่างมาถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการศิลปกรรมในวาระเพาะช่างครบ ๑oo ปี นิทรรศการศิษย์เก่าเพาะช่างที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ ยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ทรงใช้เวลาทอดพระเนตรผลงานของเหล่าศิลปินอยู่เป็นเวลานาน

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติที่ได้มีโอกาสตามเสด็จในหอศิลป์เพาะช่าง เล่าให้ฟังว่า พระองค์สนพระทัยในผลงานของศิลปินแต่ละคนเป็นอันมาก เมื่อทอดพระเนตรเห็นภาพของท่านอาจารย์จิตร บัวบุศย์ รับสั่งว่าได้เห็นผลงานเมื่อครั้งก่อน เมื่อถึงภาพเขียนของศาสตราจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ทรงรับสั่งถึงงานที่มีอายุนานและสีออกจะเก่าแล้วทำไมของแวนโก๊ะที่ท่านเห็นจึงดูใหม่ จนกระทั่งถึง ภาพจานสีพู่กันของพระองค์ท่านที่ทรงวาดภาพผีเสื้อเมื่อครั้งแสดงผลงานเพาะช่าง ๙o ปี ที่นำมาจัดแสดงเป็นภาพ มีบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ศิลปินกมล ทัศนาญชลี ได้นำมาจัดวางให้เป็นที่ปรากฏ





ภาพพวาดฝีมืออาจารย์สนิท ดิษฐพันธุ์ วาดเมื่ออายุ 81 ปี เป็นภาพที่กำลังปรับแต่งยังไม่เสร็จ


พนม พรกุล รองอธิการบดีสำนักบริหารเพาะช่าง กล่าวว่า “เมื่อคิดถึงโรงเรียนที่ตั้งมาถึงร้อยปีจึงคิดจัดงานสำคัญครั้งนี้ขึ้น และได้กราบบังคมทูลขอภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแสดงในงาน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้นำมาแสดงเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทั้งสององค์” ผลงานหาที่หาชมได้ยาก สีสันยังสดใสราวกับทรงวาดเสร็จใหม่ ๆ และยังมีภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ อีกสององค์เช่นกัน ผ่านเข้าหอศิลป์เพาะช่างจะเห็นสี่ภาพสำคัญอยู่ ณ เบื้องหน้า ให้ได้เห็นความงามเป็นมิ่งขวัญมงคลแด่มวลศิลปินและผู้ชมงานเป็นสำคัญ


ภาพที่ปรากฏภายในหอศิลป์จะมีภาพเขียนของศิลปินแห่งชาติ ขอเพียงได้พบงานของศิลปินแห่งชาติท่านแรก อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ยิ่งเป็นภาพลายเส้นวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน หอเอนปิซ่า แห่งอิตาลี ลายเส้นภาพปลา และส่วนของซุ้มเรือนแก้วที่ลอกไว้ครั้งออกตระเวณเก็บงานเก่าเพื่อมาอนุรักษ์นั้นบุญตาที่ได้เห็นฝีมือจากต้นฉบับจริง ด้านประติมากรรม พบงานที่ได้แรงดลใจจากคลื่นและคนของอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขต ที่แสดงเป็นงานต้นแบบ ของจริงอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสูงสองเมตร หล่อด้วยสำริด ประติมากรรมของอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ และยังมีประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติคนล่าสุด เข็มรัตน์ กองสุข


ภาพสีน้ำมันคนเหมือนของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ และอีกทั้งรูปวาดสีน้ำแสดงเส้นสีอารมณ์ความรู้สึกรวดเร็วฉับพลันแม่นยำของเส้นและสีสันอันงดงามของวัดโพธิ์รูปนั้นก็เรียกได้ว่าคุ้มที่ได้เห็น ยังมีภาพต้นฉบับของอาจารย์ประสงค์ ปัทมนุช ที่สีสันองค์ประกอบภาพแสดงถึงยุคสมัยและการปรับตัวของศิลปะไทยที่ก้าวสู่สู่ศิลปะสากลอย่างชัดเจน ภาพลายเส้นออกแบบเขียนลวดลายบานประตูพระอุโบสถ ของครูโหมด ว่องสวัสดิ์แสดงให้เห็นถึงฝีมือ ความงามสะท้อนความพยายามของศิลปินชั้นครู





ทิวทัศน์สีน้ำมันสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ ฝีมือ อาจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์


ภาพประวัติศาสตร์ที่หาดูยากสองภาพของอาจารย์สนิท บุษปฤกษ์ เป็นประวัติศาสตร์ที่มาของศิลปินและผลงาน ภาพอ่างศิลาวาดสมัยครั้งยังหนุ่ม ถึงวันนี้อ่างศิลาเปลี่ยนแปลงไป ภาพสวนผักที่สะพานควาย สีสวยมีชีวิตชีวา ด้วยความเก่าแก่ของภาพจึงดูเหมือนภาพเขียนสียุคกลางที่ออกโทนน้ำตาลวันนี้ไปสะพานควายจะหาสวนผักที่ไหนได้ นี่คือคุณูปการของศิลปินที่บันทึกไว้


งานปาดชาโคลของอังคาร กัลยาณพงศ์ มีสามภาพที่เขียนในต่างวาระรูปลูกสาวเขียนเมื่อปี ๒๕๒๓ และรูปดอกไม้ที่เห็นเส้นสายน้ำหนักอันงดงาม เป็นงานยุคหลังสุดเขียนเมื่อปี ๒๕๕๒ แทบไม่เห็นความต่างในลีลาฝีมือ นอกจากห้วงเวลาที่ห่างกัน


ภาพสีน้ำ "อาลัยรัก" ทะเลไม่เคยหลับ เป็นงานมิกซ์แมนระว่างสีน้ำของกมล ทัศนาญชลี กับครูชาลี อินทรวิจิตร กมลเขียนสีน้ำ ครูชาลีจดจารบทกวีที่มาจากเพลงของครู ต้องเห็นจึงเข้าใจเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก ภาพอาลัยรัก จากวรรณกรรมสงครามชีวิตของศรีบูรพาที่ครูชาลีนำมาจินตนาการต่อ เคยแต่ฟังเสียงนุ่มๆ แต่ไม่ได้เห็นฝีมือเนียน ๆ สุเทพ วงศ์กำแหงมาแสนนาน คราวนี้เขียนสีน้ำเขียนทะเลที่น้ำและฟ้ายังชื่นชุ่ม เส้นสีที่ปรากฏยังคงความงามให้เห็นชัดเจน ภาพนี้เขียนเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๖ ใหม่สดล่าสุด ใช้สุ้มเสียงมาก ๆ ในการร้องเพลงไม่ทำให้ฝีมือในการเขียนภาพตกลงแต่อย่างใด


จะมีสักกี่ครั้งที่จะมีงานศิลปะชั้นเทพมารวมกันได้มากขนาดนี้ ไม่ไปดูย่อมไม่ได้เห็น ไม่ไปชมย่อมตกประวัติศาสตร์ นอกจากไปชมความงามของภาพประวัติศาสตร์เหล่านั้นแล้ว ไปชื่นชมให้กำลังใจความอุตสาหะของคณะทำงานที่ได้เสาะหารวมผลงานที่สูงค่าและสูงราคามาให้ชื่นชมจนได้ งานดีดีมากมายเช่นนี้ต้องดูให้คุ้ม


งานแสดงศิลปกรรมเชิดชูเกียรติศิษย์เก่าเพาะช่างศิลปินแห่งชาติ ในโอกาสฉลองประวัติศาสตร์ หนึ่งร้อยปีโรงเรียนเพาะช่าง ตักศิลาพาหุรัด นับเป็นประวัติศาสตร์ของการแสดงศิลปกรรมไทย เป็นประวัติศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ จึงไม่ควรให้ชีวิตตกประวัติศาสตร์พลาดด้วยประการทั้งปวง


นิทรรศการศิลปกรรมในวาระครบ ๑oo ปีเพาะช่าง ผลงาน ๓๒ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินรับเชิญและคณาจารย์ของเพาะช่างจัดแสดงถึง ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖


ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net













เล่าศิลป์ผ่าน 'แสตมป์'


"ศิลปวัฒนธรรม" เรียนรู้กันไม่จบสิ้น...แล้วก็มีช่องทางให้ศึกษามากมาย ในโอกาสที่ไปรษณีย์ไทยเปิดตัวแสตมป์ชุดที่ ๑,ooo ในประวัติศาสตร์ ๑๓o ปีวงการแสตมป์ไทย ชื่อชุด "งานศิลป์ช่างหลวง" ในจำนวนทั้งหมด 3 ชุด อันได้แก่ "งานศิลป์พื้นบ้าน, งานศิลป์ช่างหลวง และงานศิลป์ร่วมสมัย" เพื่อเตรียมรับการจัดงานแสตมป์โลกที่จะมาถึง ถือเป็นมุมมองด้านศิลปะไทยที่หลายคนอาจมองข้าม ด้วยแท้จริงแล้วบนพื้นที่กระดาษไม่กี่ตารางเซ็นติเมตรนี้มีเรื่องเล่าน่าสนใจมากโข...  





เด็ก ๆ สนุกกับการเวิร์กช็อป



วิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ต้องการผลิตแสตมป์ที่ระลึกในการจัด "งานสแตมป์โลก ๒๕๕๖" ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อตั้งคอนเซ็ปต์ว่า "อาร์ต (ART)" จึงกระตุกต่อมคิดขึ้นมาทันทีว่า จะถ่ายทอดความงดงามของมรดกไทยออกไปสู่สายตาชาวโลกอย่างไร และเมื่อพูดถึงงานศิลป์ ทำให้คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ครอบคลุม จึงแบ่งประเภทงานศิลป์ไทยออกเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงสิ่งดั้งเดิมจะคิดถึง "งานศิลป์ช่างหลวง" ที่สำนักช่างศิลป์หลวงดูแลอยู่ แล้วเมื่อมองบ้านและชุมชนก็เป็นที่มาของ "งานศิลป์พื้นบ้าน" พอได้ทั้งสองด้านมาแล้ว คำถามต่อมาคือยุคปัจจุบันช่างศิลป์ที่รับใช้บ้านเมืองมีอะไรบ้าง จึงมาเป็น "งานศิลป์ร่วมสมัย" ที่ยังไม่ทิ้งรากเหง้าเดิม





วิบูลย์ เสรีชัยพร โชว์แสตมป์ศิลป์ ๒ ชุดที่จำหน่ายแล้ว

                        

"ทั้งสามชุดนี้คิดว่าครอบคลุมงานศิลป์ของไทยทั้งหมดแล้ว เป็นภาพลักษณ์ที่ถ้าเผยแพร่ออกไปในรูปแบบแสตมป์ผนึกบนจดหมาย พัสดุ แล้วส่งไปต่างประเทศ ผู้คนก็จะเข้าใจ ประทับใจ และซาบซึ้งในมรดกตกทอดของไทย ทั้งสามชุดนี้มีลักษณะเหมือนกันคือประกอบด้วย ๘ ดวง อย่างแสตมป์ชุดงานศิลป์พื้นบ้าน ทำเป็นภาคละสองดวงเป็นคู่ ๆ โดยหยิบเอาชิ้นงานศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมานำเสนอ มองแล้วรู้ทันทีว่าภาคไหน อย่างอีสานจะเป็นบั้งไฟและแคน ภาคกลางเป็นตุ๊กตาชาววังและเครื่องปั้นดินเผา





ใต้ผ้าทอเมืองมีความรู้

                        

แต่พอมาเป็นแสตมป์ชุดงานศิลป์ช่างหลวง (ช่างสิบหมู่) โจทย์เปลี่ยนไป ไม่ได้สะท้อนความเป็นภาค แต่สะท้อนความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงสะท้อนออกมาทั้งหมด ๘ งานช่าง อาทิ งานลายรดน้ำ ปูนปั้น หัวโขน บุดุนโลหะ และงานประดับมุก เป็นต้น ส่วนโจทย์ที่ยากกว่าคือแสตมป์งานศิลป์ร่วมสมัย จึงมีการหารือกับผู้รู้ว่าจะสะท้อนออกมาอย่างไร ซึ่งแนวทางคร่าวๆ เราจะนำผลงานของศิลปินยุคปัจจุบันทั้งจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ประติมากรรม ซึ่งล้วนงานชิ้นเลิศแห่งยุคมาแสดง ตอนนี้ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว" หัวเรือฝ่ายการตลาดไปรษณีย์ไทย แจกแจง





กระจกสะท้อนศิลป์ช่างหลวง

                        

และจากสิ่งชวนใคร่รู้บนแผ่นกระดาษใบจิ๋ว ก็นำมาซึ่งนิทรรศการหมุนเวียนชื่อ "สามศิลป์...ไม่กินกัน" โดยจำลองคำไทยๆ ที่คุ้นเคยอย่างคำว่า "ศรศิลป์ไม่กินกัน" มาล้อแล้วสื่อให้เห็นว่าศิลปะสามแขนงนี้ "เลอเลิศ อลังการ และล้ำค่า" ซึ่งใช่เพียงบอร์ดนิทรรศการธรรมดา หากใช้วิธีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น ในมุมของงานศิลป์ช่างหลวงจะมีกระจกเงาที่มองอีกมุมสะท้อนรากเหง้าของงานช่างหลวงให้เห็น แล้วนิทรรศการก็สามารถดูจากหลังกระจกได้ด้วย เชิญชวนให้ดูชิ้นงานแล้วตามไปดูว่าช่างผู้สร้างสรรค์มีที่มาที่ไปอย่างไร





มุมศิลปะพื้นบ้าน

                        

ขณะเดียวกันในมุมของงานศิลป์พื้นบ้าน ชวนให้ดูชิ้นงานเสร็จก็ไปดูผ่านช่องไม้ไผ่ หรือชะโงกหาความรู้ในโอ่ง ในไห หรือการพลิกผ้าทอแต่ละชิ้นเพื่อดูว่ามีที่มาอย่างไร เป็นการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานหลายสื่อไว้ด้วยกัน แม้กระทั่งบนพื้นที่ทอดยาวไปสู่นิทรรศการแต่ละงานช่างก็ต้องสังเกตดีๆ จะมีลักษณะของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับช่างนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวิร์กช็อปโดยเฉพาะช่วงปิดเทอมให้คุณพ่อคุณแม่พาเด็ก ๆ มาร่วมสร้างสรรค์จินตนาการโดยใช้งานศิลป์เป็นตัวถ่ายทอด เช่น การประดิษฐ์กล่องสวยด้วยแสตมป์ การเพ้นท์ถุงผ้า การตัดแสตมป์เป็นชิ้น ๆ ประกอบเป็นภาพตามจินตนาการ เป็นต้น ซึ่งจะจัดไปจนถึง 30 มิถุนายนนี้
                        

"แสตมป์ทั้งสามชุดนักสะสม เยาวชน ตลอดจนผู้สนใจ จะได้เรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น เพราะภาพแสตมป์ชุดเดียว ถ้าอยากต่อยอดก็จะอยากรู้ว่าทำไมภาพเหล่านี้จึงเป็นงานศิลป์ของภาคเหนือ กลาง อีสาน หรือใต้ แล้วถ้าอยากเห็นของจริงก็ต้องไปค้นคว้าต่อ แล้วไปหาดูได้ที่ไหน วันนี้บอกได้เลยว่าพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์สามเสนในแห่งนี้จะเป็นอีกแหล่งเรียนรู้มีชีวิตที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้ สามารถให้เรื่องราวเข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี โดยใช้แสตมป์เป็นตัวเดินเรื่อง จึงอยากเชิญชวนให้เข้ามาเก็บเกี่ยวและตักตวงประสบการณ์ให้ชีวิต" หัวเรือใหญ่ฝ่ายการตลาดคนเดิมชี้ชวน


ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net













"ขาว-ดำในมุมมอง ยรรยง โอฬารชิน”


ห้าทศวรรษมาแล้วที่ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) นิยมชมชอบการถ่ายภาพขาวดำแนวศิลปะที่มีความลึกซึ้ง ภาพถ่ายขาวดำของอาจารย์ยรรยงคว้ารางวัลยอดเยี่ยม ได้รับคำยกย่องมามากมาย ปัจจุบันช่างภาพบรมครูผู้ตกหลุมรักศิลปะภาพถ่ายขาวดำกำลังตระเตรียมผลงานเพื่อแสดงนิทรรรศการภาพถ่ายขาวดำด้วยกล้องฟิล์ม เมื่อในปัจจุบันองค์ความรู้เรื่องการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายขาวดำจากผู้ชำนาญการถ่ายภาพ เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการเพื่อให้ได้ผลงานดีเลิศ และกระแสความนิยมศิลปะภาพถ่ายขาวดำทั่วโลกกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากมีคุณค่าและดูได้นานเหนือกาลเวลา


"ก่อนหน้านี้มีอาจารย์จิตต์ จงมั่นคง อาจารย์ไพบูลย์ มุสิกโปดก ศิลปินแห่งชาติ แล้วก็มาผม ปัจจุบันอายุ ๗๕ ปีแล้ว ต่อจากนี้ไม่มีอีกแล้วที่ช่างภาพจะล้างฟิล์ม ขยายภาพขาวดำในห้องมืด และอัดขยาย ทำทุกกระบวนการด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง เกิดผลลัพธ์ที่ดีคือ ภาพถ่ายขาวดำที่สดใส คมชัด เก็บรักษาและดูได้นาน จากนิทรรศการนี้เด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ ได้คำแนะนำเรื่องฟิล์ม เทคนิค มุมมอง กระบวนการให้ภาพมีความสมบูรณ์" ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ กล่าว






นิทรรศการครั้งสำคัญนี้จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗ มีนาคม - ๙ เมษายน ๒๕๕๖ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดฯ วันที่ ๒๗ มีนาคมนี้ เวลา ๑๔.oo น. ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นการเผยแพร่ผลงาน เกียรติประวัติของศิลปินแห่งชาติ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนวิธีการสร้างผลงาน โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายขาวดำ เทคนิคการถ่ายภาพ การล้างฟิล์ม ขยายภาพขาวดำในห้องมืดกับผลงานกว่า ๑๒o ภาพ ในขนาด ๑๖ X ๒o นิ้ว ของอาจารย์ยรรยง ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ท่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติปี ๒๕๕o แล้ว


อาจารย์ยรรยงบอกว่า นี่เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำศิลปะภาพถ่าย และมีความสุขเมื่อได้นำผลงานมาโชว์ให้ผู้สนใจได้เป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการถ่ายทำภาพขาวดำผ่านมุมมองหรือมุมกล้องของตนเอง แต่ต้องไม่ลอกเลียนแบบ เห็นว่าการศึกษาผลงานของนักถ่ายภาพที่มีงานเด่น ๆ ช่วยพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพได้ ไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์ แต่มีพรแสวง ปัจจุบันสะสมผลงานภาพถ่ายขาวดำด้วยกล้องฟิล์มของตัวเองไว้กว่า ๓oo ภาพ ผ่านมา ๕๕ ปี นำมาล้าง อัด ขยาย ผลงานออกมาดี มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แล้วก็มีมูลค่าด้วย บางภาพหาดูไม่ได้แล้ว เช่น ตลาดน้ำมหานาค ตลาดน้ำเจ้าพระยา ศาลาเฉลิมไทย จากนี้ยังจะมุ่งมั่นทำศิลปะภาพถ่ายต่อไป






"เลือกขนาด ๑๖ X ๒o นิ้ว เป็นขนาดของภาพส่งเข้าประกวดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตั้งใจโชว์ผลงานเต็มที่ ทั้ง ๑๒o ภาพ มาจากการที่ผมยกกล้องฟิล์มบันทึกภาพขณะเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงมุมมองศิลปะในแบบของยรรยง โอฬาระชิน โดย ๙o% เป็นงานใหม่ช่วง ๕ ปี อีกส่วนเป็นภาพพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ช่วงปี ๒๕๓๒ - ๒๕๔o เป็นช่วงที่ผมมีโอกาสถวายงานพระองค์ ขอพระราชทานพระราชานุญาตนำภาพส่วนพระองค์มาจัดแสดงและตีพิมพ์หนังสือ นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติ อาทิ ถวัลย์ ดัชนี, กมล ทัศนาญชลี แอบถ่ายขณะร่วมโครงการสัญจรต่างแดน" ศิลปินแห่งชาติกล่าว และย้ำจะมุ่งมั่นทำศิลปะภาพถ่ายต่อไป


นอกจากจะได้ชมภาพถ่ายที่งดงามและได้รับความรู้ในการสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายแล้ว ในงานยังมีการจำหน่ายหนังสือประวัติและผลงานภาพถ่ายกว่า ๕o ปี ของยรรยง โอฬาระชิน เล่มที่ ๒ ซึ่งจัดพิมพ์เพียง ๑,๒oo เล่ม ในราคา ๕oo บาท ที่ผู้เข้าชมจะได้ร่วมทำบุญร่วมกัน รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ เจ้าของผลงานระบุว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ถ้าได้รับการรักษาและผ่าตัดจะต่อชีวิตให้ยืนยาวขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการรักษารายละ ๒ หมื่น ขณะเดียวกันศิลปินแห่งชาติเตรียมผลงาน ๒ ชิ้น ประกอบด้วยภาพเชิดหนังใหญ่บ้านดอน ระยอง และภาพวัดไชยวัฒนาราม อยุธยา ถ่ายด้วยฟิล์มอินฟราเรด ที่ตั้งราคาภาพละ ๖ หมื่นบาท เพื่อจำหน่ายหารายได้สมทบทุนมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ อีกทางด้วย






ทั้งนี้ ช่วงบ่ายทุกวันของงานนิทรรศการ ยกเว้นวันที่ ๓o มีนาคม ศิลปินแห่งชาติจะอยู่ให้ความรู้ถ่ายทอดเทคนิคการสร้างสรรค์งานภาพถ่ายกับผู้ที่สนใจ ทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม สอบถามเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่ o๒-๒๔๗-oo๑๓ ต่อ ๔๑๔๒ กลุ่มนิทรรศการ สวธ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
wikipedia.org













"งานฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ ๒๓๑ ปี"


ด้วยกระทรวงวัฒนธรรมกำหนดการจัดงานฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ๒๓๑ ปี ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ เมษายน ๒๕๕๖ ณ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ (พื้นที่รอบสนามหลวง กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วัดในเขตบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนหน้าพระธาตุ ถนนสนามไชย ถนนราชินี ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระจันทร์ ถนนราชดำเนินกลาง และหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน) โดยมีการจัดกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติอันทรงคุณค่ามากมาย เพื่อเฉลิมฉลองวันสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ การแสดงสวนดอกไม้หลากพันธุ์ มหกรรมอาหารไทย ตลาดย้อนยุค การแสดงร้อง ระบำ ละคร การแสดงทางวัฒนธรรมและสาธิตช่างสิบหมู่ เป็นต้น ซึ่งจะแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ในการนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางทั่วถึงจึงกำหนดการจัดแถลงข่าวการจัดงานฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ “วัฒนธรรมนำไทย” ในวันอังคารที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งภายในงานฯ มีกิจกรรมสาธิตต่างๆ ประกอบด้วย การสาธิตมหกรรมอาหารไทย ขนมไทยโบราณ ขนมไทยมงคล การละเล่นขาโถกเถก การสาธิตกิจกรรมตลาดย้อนยุค การแสดงละครนอก เรื่อง สุวรรณหงส์ ฯลฯ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายสนธยา คุณปลื้ม) เป็นประธาน ตามกำหนดการที่แนบมาพร้อมนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
สำนักสารนิเทศโทร. ๐ ๒๔๒๒ ๘๘๕๑ - ๘ โทรสาร. ๐ ๒๔๒๒ ๘๘๕๓


ภาพและข้อมูลจากเวบ
ryt9.com













"ดอยตุง เพื่อเรา...และเพื่อเขา"


มุ่งหน้าสานต่อพระราชปณิธานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ที่มีพระราชประสงค์จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุงให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี การสร้างอาชีพสร้างรายได้ จึงเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มี คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการบริหารโครงการดอยตุงฯ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ซึ่งล่าสุดได้จับมือกับศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม จัดงาน ไลฟ์สไตล์ ฟอร์ ไลฟ์ลิฮูด (Lifestyle for Livelihood) หรือ "เพื่อเรา..และเพื่อเขา" เพื่อแสดงและจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดอยตุง ภายใต้แนวคิด "เดอะ แฮนด์ส ฟอร์ม เดอะ ฮิล" ที่บริเวณแฟชั่นฮอลล์ ชั้น ๑
                    

คุณหญิงพวงร้อย เปิดเผยถึงงานที่เน้นแนวคิด "เพื่อเรา..และเพื่อเขา" เพราะต้องการจะบอกกับผู้บริโภคว่า จุดมุ่งหมายของโครงการดอยตุงเน้นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืนควบคู่กับการดูแลรักษาธรรมชาติทั้ง ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ผ่านการส่งเสริมอาชีพสุจริตให้เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย  ภายใต้การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เข้ากับการดีไซน์และการบริหารจัดการทางธุรกิจอย่างมืออาชีพ จนได้กลุ่มสินค้า ๔ ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม อย่างเสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าพันคอ พรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป กาแฟดอยตุง แมคคาเดเมีย และการท่องเที่ยวในพื้นที่ดอยตุง
                    

"อีกเป้าหมายของการจัดงานนอกเหนือไปกว่าการจำหน่ายสินค้า นั่นคืออยากให้ทุกคนรู้จักแบรนด์ดอยตุง ซึ่งเป็นงานที่ช่วยสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน ช่วยแก้ปัญหายาเสพติด ช่วยปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และยิ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลมีนโยบายให้หันมาใส่ผ้าไทย ประการแรกเพราะผ้าไทยย่อมต้องเหมาะกับสภาพเมืองไทยมากกว่าผ้าชนิดอื่น ประการต่อมาแสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนควรหันมาคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว เพราะนับวันทรัพยากรจะหมดลงทุกวัน และยิ่งทุกวันนี้เหมือนเรากำลังขโมยทรัพยากรของรุ่นลูกหลานมาใช้หรือเปล่า อนาคตอีก ๕o ปี คนจะเกิดมาอีกกี่เท่าตัว แล้วทุกคนก็ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ ถามว่าลูกหลานจะเอาอะไรกิน ถ้าเราไม่ตระหนักเรื่องนี้" ผอ.บริหารโครงการดอยตุงฯ แสดงความห่วงใย
                    

สำหรับบรรยากาศภายในงานซึ่งจัดไปจนถึงวันที่ ๙ เมษายนนี้ มีกิจกรรมแบ่งปันความรู้กูรูด้านต่าง ๆ เช่น จัดสวนถาด จากนักจัดดอกไม้ชาวญี่ปุ่น นาโอมิ ไดมารุ ที่ชุบชีวิตกิ่งไม้ตายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รวมถึงบาริสต้าหนุ่มจากแดนกิมจิ พอล คิม ที่บินตรงจากสหรัฐอเมริกาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ มาเปิดบูธกาแฟดอยตุงพร้อมเผยเคล็ดลับการชงแฟให้ได้รสชาติละมุนลิ้นแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง แค่เพียงต้มให้ถึงจุดเดือดถึง ๑oo องศาเซลเซียส แล้วปล่อยให้ความร้อนคลายลงเหลือเพียง ๙o กว่า ๆ จึงค่อยนำมาชงกาแฟ ขณะเดียวกันภาชนะที่จะใส่กาแฟก็ต้องผ่านการลวกน้ำร้อนมาก่อนเพื่อควบคุมอุณหภูมิน้ำให้คงที่นั่นเอง


ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net













"Art Deconstruction @ Siam Center"


ตั้งแต่ สยามเซ็นเตอร์ ปรับโฉมใหม่ให้กลายเป็นเมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ ทำให้คนรักงานศิลปะหรือคนที่กำลังแสวงหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้มีพื้นที่เสพงานศิลป์ดีๆ ล่าสุดนำเสนอผลงานศิลปะมิติใหม่เหนือจินตนาการ ในคอนเซ็ปต์ Deconstruction จัดแสดงผลงานศิลปะบนถนนแห่งความคิด Idea Avenue ภายใต้ชื่องาน “Siam Center Idea Avenue : Deconstruction” ตั้งตระหง่านให้ชมฟรีบริเวณชั้น ๑ ไปจนถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖






งานแสดงผลงานศิลปะบนถนนแห่งความคิด Idea Avenue ครั้งนี้ นำเสนอผลงานศิลปะมิติใหม่เหนือจินตนาการในคอนเซ็ปต์ Deconstruction สะท้อนมุมมองโครงสร้างของสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่นำมาประกอบขึ้นใหม่เป็นผลงานที่ได้แนวคิด แนวปฏิบัติ และประโยชน์ใช้สอยใหม่ ๆ นำเสนอผ่านรูปแบบของศิลปะ แฟชั่น ดนตรี เทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ โดยมีเหล่าคนดังในแวดวงแฟชั่นและศิลปะ อาทิ กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), สมบัษร ถิระสาโรช ออร์แกไนเซอร์มือทองผู้สร้างสรรค์งานสุดบรรเจิด และ ทรรศนัย ญานอุบล ผู้ก่อตั้งThe Embassy of Design Territory ร่วมกันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์






ในวันเปิดงาน บริเวณ Idea Avenue เต็มไปด้วยแนวคิดและไอเดียไม่เว้นแม้แต่การนำโครงสร้างเวที (Quick Frame) มาเปลี่ยนแปลงหน้าที่ จากที่เคยเป็นพื้นกลับกลายเป็นฉากผนังสูงซ้อนกัน จนเกิดเป็นเวทีพีระมิดยักษ์กลางสยามเซ็นเตอร์ในคอนเซ็ปต์Deconstruction โดยมี บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ รับหน้าที่ภัณฑารักษ์พาชมนิทรรศการ “Siam Center Idea Avenue : Deconstruction” พร้อมชมฝีมือการวาดภาพด้วยแสงไฟแทนการใช้พู่กันและสีตามปกติ จากศิลปินแนวป๊อปอาร์ต กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ ในห้องนิทรรศการ Siam Center Art in the Air และ ดัง-พันกร บุญยจินดา โชว์เสียงเพลง “กระแซะเข้ามาสิ” ร่วมกับวงดนตรีแท็บเลตที่สามารถเล่นดนตรีได้เสมือนวงดนตรีจริง ที่นิทรรศการ Siam Center Music Orchestra ท่ามกลางเซเลบริตี้รุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักงานศิลป์ อาทิมนต์ริสสา ลีนุตพงษ์, ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธ์, ศริณญา-ศุภกฤตมหาดำรงค์กุล, ปวีณลักษณ์ ลิมปิชาติ, ปิยะวิภา อินทรทัต, ธีรพันธ์จึงสกุลวัฒนา, อแมนด้า โทณวณิก, ธนพล เสรีดีเลิศ, ธีรกิตติ์ จารุจินดา, แอรอนนา โทณวณิก ฯลฯ มาร่วมงานมากมาย






นิทรรศการแบ่งเป็น 7 โซน หลากหลายและน่าตื่นตาตื่นใจต่างกันไป อย่างโซน Deconstruction Movement แนะนำคอนเซ็ปต์ศิลปะ Deconstruction อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจถึงคอนเซ็ปต์ศิลปะสไตล์ Deconstruction ผ่านการแสดงโดยใช้ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งการ Deconstruction ล้วนเคลื่อนไหวอยู่ในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา ในเรื่องราวของศิลปะ อาคาร สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี หรือแม้แต่อาหาร






โซน Art Deconstruction : This is not a swimming pool ผลงานชิ้นใหญ่ที่สื่อความหมายของงานศิลปะแบบ Deconstruction ได้อย่างชัดเจนเมื่อสระว่ายน้ำย้ายจากที่ที่เคยอยู่ มาอยู่ใจกลางสยามเซ็นเตอร์ สระว่ายน้ำถูกใช้เป็นพื้นที่พิเศษสำหรับจัดกิจกรรมที่เหนือจินตนาการ เป็นห้องร้องคาราโอเกะ ห้องถ่ายภาพ ห้องทำอาหาร และทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่สระว่ายน้ำอีกต่อไป


โซน Siam Center Music Orchestra by Acer : วงดนตรีแท็บเลต พัฒนาให้เครื่องแท็บเลตทำหน้าที่เป็นนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดถูกพัฒนาขึ้นจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีแท็บเลต ๑๒ เครื่องทำหน้าที่บรรเลงโน้ตของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ประกอบเป็น “แท็บเลต แบนด์” วงดนตรีแท็บเลตที่สร้างสรรค์การแสดงดนตรีสดโดยปราศจากเครื่องดนตรีและนักดนตรี แต่สร้างความสุขสุนทรีย์ให้กับผู้ฟังได้อย่างน่าจดจำ เฉกเช่นเดียวกับวงดนตรีที่มีนักดนตรีเป็นผู้บรรเลง






ซน Fashion Deconstruction : แฟชั่นมุมมองใหม่ ถ่ายทอดผ่านทาง Digital Mirror Room ด้วยเทคนิคภาพเคลื่อนไหวภายในกล่องกระจกดีไซน์เก๋ นำเสนอผลงานที่ได้ไอเดียจากการจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อผ้ากับสิ่งต่างๆ เช่น เข็มขัดที่กลายเป็นเสื้อแจ๊กเกต ถุงมือที่กลายเป็นเสื้อหรือเนยแข็ง และโต๊ะที่กลายมาเป็นกระโปรง เป็นการสร้างสรรค์แฟชั่นรูปแบบใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องราวของโลกแฟชั่นทุกอย่างสามารถ Deconstruction ได้


ข้อมูลเพิ่มเติมของนิทรรศการคลิกได้ที่ //www.facebook.com/siamcenter


ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 10 เมษายน 2556
Last Update : 20 มิถุนายน 2556 19:09:19 น.
Counter : 5236 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
วัดตะโหมด Wat Tamod, Phatthalung. nanakawaii
(11 เม.ย. 2567 09:28:07 น.)
Pecchè? By Gaetano Errico Pennino ปรศุราม
(8 เม.ย. 2567 11:54:21 น.)
วาดสวย สมาชิกหมายเลข 4313444
(27 มี.ค. 2567 08:29:19 น.)

Haiku.BlogGang.com

haiku
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]

บทความทั้งหมด