การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค กนกศักดิ์ พ่วงลาภ พนักงานอัยการ




การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค

Fri, 2016-09-23 14:05 -- hfocus
https://www.hfocus.org/content/2016/09/12777

การรักษาโรคของแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งวิชาการและศิลป์ เป็นเรื่องยาก เพราะสิ่งที่แพทย์กำลังต่อสู้อยู่นั้น คือ เชื้อโรค ซึ่งบางชนิดมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ทุกนาที เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถกำจัดได้การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ ไปจนกว่าร่างกายฟื้นตัว หรือแม้ต่อสู้กับโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น เส้นเอ็นอักเสบ ภาวะอาการเครียด โรคระบบประสาท ก็ยังต้องอาศัยการวินิจฉัยคลำไปทีละจุด ตั้งสมมติฐานขึ้นแล้วพิสูจน์สมมติฐานนั้น การทำในสิ่งที่ยากยิ่งเช่นนี้ ย่อมมีแนวทางการรักษาได้หลายแนวทาง เพื่อไปสู่จุดหมาย คือ ทำให้คนไข้หาย ซึ่งความเห็นและวิธีการรักษาของแพทย์แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ถ้าการรักษานั้นเป็นไปอย่างราบรื่น คนไข้ก็ไม่ติดใจในวิธีการรักษา เพราะไม่ว่าวิธีใด ถ้าคนไข้หายคนไข้ก็จะพอใจ ไม่ติดใจในวิธีการรักษา แต่หากการรักษานั้นไม่ราบรื่น คนไข้ไม่หาย หายช้า สูญเสียอวัยวะบางอย่าง หรือเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนที่คนไข้คิดว่ามากเกินไป คนไข้อาจไม่พอใจจนเกิดคดีความขึ้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ คดีประเภทนี้ เขาสู้คดีกันอย่างไร มีประเด็นอะไรที่เป็นข้อแพ้ชนะในคดี พยานหลักฐานอย่างไรที่มีน้ำหนักส่งผลสำคัญต่อคดี

บทความนี้มุ่งหมายโดยบริสุทธิ์ใจให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้ว่านักกฎหมายคิดอย่างไร เพื่อผู้ที่เดือดร้อนจะสามารถรู้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างคร่าวๆ ใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนจะเป็นคดีความกัน มิได้เจตนาจะพาดพิงถึงเรื่องใครคนใดคนหนึ่ง เป็นความรู้เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น คนเป็นไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่อาจเกิดวิกฤตแก่คนไข้ได้นานาประการ เมื่อเกิดแก่คนไข้แล้ว ความวิกฤตนั้นอาจเกิดแก่แพทย์ผู้รักษาได้อีก สถานการณ์นั้นได้แก่

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต คนไข้เข้าใจว่าแพทย์รักษาไม่ทันท่วงที ทำให้เขาทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ควร

- คนไข้ไม่พอใจการรักษา เพราะแพทย์ตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออกช้าเกินไป จนคนไข้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้คนไข้สูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียระบบการทำงานของร่างกาย เช่น เลือดออกในปอด ไตทำงานผิดปกติ เลือดออกในลำไส้ ฯลฯ

- คนไข้มีข้อสงสัย ข้อข้องใจในวิธีการรักษา สงสัยในความชำนาญของแพทย์ เช่น ทำไมต้องเปลี่ยนแพทย์หลายคน

สถานการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งการฟ้องร้องเป็นคดีได้


สิ่งที่จะนำมากำหนดเป็นประเด็นว่าการรักษาเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ คืออะไร

คำตอบคือ การกระทำของแพทย์กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ สภาพร่างกายของคนไข้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่อย่างไร มีเหตุแทรกแซงอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากแพทย์และการรักษาหรือไม่ มีเหตุสุดวิสัยหรือไม่

ประเด็นที่ 1 เรื่อง "แพทย์กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่" พิสูจน์ได้โดยอาศัยความเห็นของแพทยสภา ผู้ที่คิดว่าตนเองเสียหายอาจร้องเรียนได้ การพิสูจน์ประเด็นความถูกต้องตามหลักวิชาการ ถ้าพิสูจน์กันในศาลอาจใช้ความเห็นของแพทยสภาเป็นที่ยุติได้ ถ้าไม่มีความเห็นของแพทยสภาคดีนั้นจะมีน้ำหนักน้อยแทบไม่อาจชี้ข้อถูกผิดได้เลย

ประเด็นที่ 2 เรื่อง "สภาพร่างกายของคนไข้เป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาหรือไม่อย่างไร" เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง เคยมีคดีแพ่งคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าแพทย์กระทำโดยประมาทเลินเล่น ทำให้หญิงที่ไปคลอดลูกต้องถูกตัดมดลูกไป ความเห็นแพทยสภาในคดีนั้นไม่ชี้ชัดไปในทางใด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเพียงคนเดียวที่ให้การว่า "ร่างกายของคนเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน" ไม่ว่าขั้นตอนการวางยาสลบ หรือโลหิตไหลไม่หยุดจากการผ่าตัด หรือการตอบสนองต่อยาในแต่ละช่วงของการรักษานั้น ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อยาและวิธีการรักษาแตกต่างกัน ร่างกายแต่ละคนมีความแตกต่างในรายละเอียด มดลูกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สาเหตุที่ว่า มดลูกทำไมไม่หดตัว ทำไมเลือดไหลไม่หยุด เกิดจากอะไรตอบไม่ได้ชัดเจน แต่การรักษาหรือการแก้ไขปัญหาเหมือนกัน (คือตรงตามมาตรฐานการรักษาและแก้ไขปัญหา) คือเลือดไหลไม่หยุดจำเป็นต้องตัดมดลูก เพราะร่างกายที่แปลกกว่าคนอื่นอาจมีได้ เช่น ฉีดยาชาไป 10 เข็ม แต่ไม่รับรู้ฤทธิ์ยาก็มีได้ (ในคดีนี้ปรากฏว่ามีการฉีดยาชาถึง 10 เข็ม ยังไม่ปรากฏอาการชา) แม้แตกต่างจากคนอื่นเป็นล้านคนก็อาจมีได้

คำให้การที่ว่า "ร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน" คือประเด็นสำคัญและเป็นจุดที่อาจชี้การแพ้หรือชนะในคดีนี้ได้

ข้อเท็จจริงอย่างนี้มีน้ำหนักพอที่จะชี้หรือคาดการณ์ถึงผลคดีได้ แต่นักกฎหมายเท่านั้นที่จะรู้ว่าน้ำหนักที่ว่านั้นคือข้อเท็จจริงโดยตรงคืออะไร และข้อเท็จจริงที่มาประกอบหรือสนับสนุนคืออะไร นำสืบได้ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน ใช้พยานกี่คนให้การยืนยัน เป็นใครบ้างที่จะเพียงพอต่อประโยชน์ทางคดี

การแพ้ยา ซึ่งคนไข้อาจจะแพ้ได้อย่างง่ายดายกว่าคนอื่น ก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแพ้ยาชนิดเดียวกันบางคนแพ้ตั้งแต่ให้ยา บางคนให้ยาไปสักพักหนึ่งแล้วค่อยแพ้ก็มี

บุคคลแต่ละคนอาจมีโรคอื่นประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคโลหิตไม่แข็งตัว และโรคอื่นๆ ที่บุคคลนั้นอาจยังไม่รู้ หรือในส่วนนี้ แพทย์อาจจะรู้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หรือก่อนการรักษา แต่แพทย์อาจจะไม่ได้สื่อสารให้คนไข้เข้าใจดีพอ หรือสื่อสารดีพอแล้วแต่คนไข้ไม่เข้าใจ เพราะเรื่องของระบบร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อนแพทย์ต้องเรียนถึง 6 ปีถึงจะเป็นแพทย์ได้ (ซึ่งยังไม่นับการเรียนชีววิทยาในชั้นมัธยมอย่างเข้มข้นก่อนหน้านั้นอีก 6 ปี) โรคต่างๆ เช่น ความดัน เบาหวาน โลหิตไม่แข็งตัว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรเฉพาะตัวเฉพาะบุคคลที่ทำให้การรักษายากขึ้น และเป็นลักษณะพิเศษซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละคน ที่จะส่งผลทำให้การรักษาโรคเดียวกันสำหรับแต่ละคนจะมีวิธีการและระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกันไปได้

มีข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การตอบสนองต่อเชื้อโรคของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คนสองคนได้รับเชื้อไข้เลือดออกชนิดเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาการที่ปรากฏอาจหนักเบาไม่เท่ากัน ระยะเวลาที่จะหายจากโรคย่อมไม่เท่ากัน โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่เกิดจากเชื้อโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ที่ต้องอาศัยการรักษาตามอาการ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น โรคหวัด ไข้เลือดออก

ประเด็นที่ 3 เรื่อง "เหตุแทรกแซง เหตุสุดวิสัยอื่นๆ" เช่น หากพิสูจน์ได้ว่ามีการติดเชื้ออย่างอื่นในขณะนั้นทั้งๆ ที่แพทย์รักษาความสะอาดดีแล้ว และตามหลักวิชาระบุว่าอาจเกิดขึ้นได้ เหตุอย่างนี้ถ้าเป็นผลสำคัญส่งผลต่อร่างกายของผู้ป่วยแล้วจะโทษแพทย์ไม่ได้ เพราะการรักษาความสะอาดและวิธีการตามหลักวิชาใดๆ ไม่มีอะไรที่รับรองด้วยเปอร์เซ็นต์

การแพ้ยาของคนไข้ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนก็อาจเกิดขึ้นได้ การแพ้ยาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนแพ้อย่างรุนแรงจนหายใจไม่ออก ระบบหายใจล้มเหลวก็อาจมีได้ ถ้าการแพ้ยานี้ส่งผลอย่างสำคัญต่อร่างกาย ขนาดที่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของแพทย์และผลที่จะเกิดแก่ร่างกายคนไข้แล้ว จัดว่าการแพ้ยาเป็นเหตุแทรกแซงอย่างหนึ่ง ที่อาจจะโทษแพทย์ไม่ได้

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีจุดหักเหอีกอย่างหนึ่ง แพทย์บางคนที่เชี่ยวชาญอาจรู้ว่าหากมีข้อมูลเบื้องต้นว่าคนคนนี้แพ้ยาชนิดหนึ่งก็อาจจะมีแนวโน้มจะแพ้ยาในกลุ่มที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งแพทย์บางคนอาจไม่รู้ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่รู้เพราะไม่ชำนาญอย่างนี้อาจโทษแพทย์ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิจารณาที่ควรคำนึงก่อนเป็นคดีความ เพราะข้อโต้แย้งใดๆ มีราคาตามธรรมชาติที่ต้องเสีย (ถึงไม่เสียอะไรเลย ก็ยังเสียเวลา) ซึ่งไม่ควรจะเสียโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกลายเป็นเหยื่อของการค้าความ

สำหรับผู้เสียหายที่มั่นใจแล้วว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของแพทย์ อาจร้องเรียนต่อแพทยสภาได้ หรือร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะการบริการทางการแพทย์เป็นการบริการอย่างหนึ่งที่จัดเป็นคดีผู้บริโภค

ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ถือว่าเป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้ประกอบธุรกิจไม่แตกต่างกัน จะมีที่ไม่เหมือนกันตรงที่รายละเอียดคือ ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะฟ้องแพทย์โดยตรงไม่ได้ ต้องฟ้องหน่วยงาน ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ผู้เขียน: กนกศักดิ์ พ่วงลาภ พนักงานอัยการ

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.มติชน วันที่ 17 กันยายน 2559





Create Date : 24 กันยายน 2559
Last Update : 10 กรกฎาคม 2560 19:14:39 น.
Counter : 1201 Pageviews.

2 comments
  
เรือนเล็บ เก็บตะวัน จากมื้อนั้น นั่นนิ้วสาว
แวววับ จับแสงวาว สะอาดขาว พราวนิทรา
ตื่นนอน ตอนวันพระ เตรียมข้าวนะ เข้าวัดวา
ทานใหม่ ให้รีบหา บุญรักษา ขายค้าเจริญ
ต้นกล้า อาราดิน
โดย: ต้นกล้า อาราดิน วันที่: 24 กันยายน 2559 เวลา:6:53:43 น.
  
หมอ ก็เป็นแค่หัวโขน วันหนึ่งก็อาจเปลี่ยนเป็น ผู้ป่วย หรือ ญาติผู้ป่วย ..
รวบรวมมาฝาก .. จะได้เข้าใจกันมากขึ้นว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผลกระทบของ "หมอ" เท่านั้น
มีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม และ มีความสลับซับซ้อนกว่า คำพูดไม่กี่คำ ที่ยกขึ้นมาอ้าง

ถอดความ รายการสามัญชน คนไทย ตอน กฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุข ... ชเนษฎ์ ศรีสุโข https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-11-2016&group=7&gblog=208

ร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ... ปัญหา หรือ โอกาส ... https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-07-2010&group=7&gblog=61

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-11-2016&group=7&gblog=207

การกระทำของแพทย์ในการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-09-2016&group=7&gblog=204

ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2016&group=7&gblog=197

ได้ไม่เท่าเสีย ....โดย สุนทร นาคประดิษฐ์ ( ความเห็น เกี่ยวกับ การฟ้องร้องแพทย์ ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-03-2009&group=7&gblog=21

ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2009&group=7&gblog=12



ปัจจุบันแพทย์พยาบาลสามารถถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย(คดีแพ่ง) โดยง่าย เหตุเพราะมีการตีความว่าการรักษาช่วยชีวิตคนไม่ต่างอะไรจากสินค้าหรือบริการที่มุ่งหวัง กำไรทั่ว ๆ ไป (ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค)ทำให้มีแนวโน้มการฟ้องร้องสูงขึ้น เรื่อย ๆ ที่ผ่านมาประเด็นนี้ ได้รับการปลอบขวัญจากรัฐเพื่อลดความวิตกกังวลของบุคลากรภาครัฐว่า“ไม่ต้องกังวล เพราะมีพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เป็นเกราะป้องกันการฟ้องร้องไว้” จึงทำให้แพทย์พยาบาล หลายคนชะล่าใจ คิดว่าไม่ว่าผิดถูกอย่างไร ไม่ว่าศาลจะทำคำตัดสินออกมาเช่นไรบุคลากรก็ไมได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแพทย์พยาบาล อาจตกอยู่ในฐานะล้มละลายโดยง่ายได้เหตุเพราะแท้จริงแล้วบุคลากรยังคงมีความรับผิดชอบต่อเงินที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องทดรองจ่ายให้ไปก่อนควรเข้าใจเสียใหม่ว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงเกราะป้องกันมิให้แพทย์พยาบาลตกเป็นจำเลยโดยตรง แต่ความรับผิดทางอ้อม (การโดนไล่เบี้ย )ยังคงอยู่

ที่สำคัญคือในการอภิปรายและการประชุมในหลายๆ ครั้ง ผู้บริหารระดับสูง ในกระทรวงก็ยอมรับว่าท่านไม่มีอำนาจสั่งห้ามการไล่เบี้ยได้ เพราะเมื่อกระทรวงต้องนำเงินหลวงออกไปจ่ายให้กับโจทก์ตามคำพิพากษาท่านมีหน้าที่ตั้ง กรรมการสอบเพื่อพิจารณาการ ไล่เบี้ยและรายงานผลให้กระทรวงการคลังที่เป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระทรวงการคลัง จะดูคำพิพากษาศาลเป็นหลักหากศาลตัดสินว่ามีความผิด การไล่เบี้ยนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก !!ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านี้คือขณะนี้มีคดีแพ่งที่กระทรวงตกเป็นจำเลยและรอฟังคำตัดสินของศาล อยู่อีกประมาณ ๕๐ คดีคิดเป็นทุนทรัพย์ประมาณ ๓,๐๓๙ ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ ๙กรกฎาคม ๒๕๕๙ กลุ่มกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข)

ที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านี้คือหากรัฐยอมผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะมีคดีฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอีกกี่ร้อยเท่าเพราะเดิมพันตามร่างกฎหมายใหม่นี้เป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทต่อการร้องเรียนหนึ่งรายและเมื่อจ่ายเงินไปหลายล้านบาทออกไป กระทรวงการคลัง จะยอมมิให้มีการไล่เบี้ยอย่างที่ผู้ผลักดันกฎหมายออกมาโฆษณาชวนเชื่อ จริงหรือ !?!

แนะนำให้อ่านอย่างยิ่งยวด .. โดยเฉพาะ แพทย์พยาบาล ที่ยังรับราชการอยู่

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย
ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสมาคม
ดาวน์โหลด วารสารเมดิคอลโฟกัส MedicalFocusปีที่ 8 ฉบับที่ 94 ตุลาคม 2559
//www.luckystarmedia.co.th/download/medical_focus_vol_94.pdf


...............................

ตัวอย่างคดีที่แพทย์พยาบาลโดนไล่เบี้ย

- คดีแรก Drug allergy ศาลเห็นว่าแพทย์กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงมีคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องชดใช้สินไหมเป็นเงินจำนวน ๓,๖๘๘,๖๓๐ บาท เมื่อคดีนี้ เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาไล่เบี้ยคำตัดสินที่ได้ออกมาคือแพทย์ต้องควักเงินส่วนตัว เพื่อชำระในอัตรา ๕๐% คิดตกเป็นเงินทั้งสิ้นที่แพทย์ต้องจ่ายคืนให้กับรัฐ๑,๘๔๔,๓๑๕ บาท

- คดีที่สอง Compartment syndrome ศาลจึงมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องชดใช้สินไหมพร้อมค่าเสียหายเป็นเงิน ๔,๒๕๑,๓๗๗ บาท โดยมีการไล่เบี้ยให้แพทย์ต้องชดใช้เงินคืนรัฐจำนวน ๗๐% และพยาบาล ๓ คนอีก ๓๐%

- คดีที่สาม Snake bite ศาลจึงตัดสินให้จำเลยมีความผิดและต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท คดีนี้ มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยแพทย์คิดเป็น ๖๐% พยาบาล ๔๐%

- คดีที่สี่ Extubation ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง!! ต้องชดใช้เงินรวมทั้งสิ้น ๕,๑๒๕,๔๑๑ บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการไล่เบี้ย มีคำสั่งให้ไล่เบี้ยเป็นจำนวนเงิน ๕๐% ของเงินที่จ่ายไป โดยให้แพทย์รับไป ๗๐% พยาบาล ๒ คน ๓๐%

- คดีที่ห้า Pulmonary tuberculosis คำพิพากษาให้จำเลย ที่เป็นกุมารแพทย์มีความผิดฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องจ่ายเงินประมาณ ๓,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท
โดย: หมอหมู วันที่: 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา:14:33:52 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด