ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหญิงชาวสิงคโปร์วัย 78 ปี จบด้วยการเสียชีวิต .. ที่มา Wichai Naiyaraksaereemd



การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าของหญิงชาวสิงคโปร์วัย 78 ปี ที่จบด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง และเสียชีวิต 6 วันหลังผ่าตัด

กรณีศึกษาและบทเรียนที่เราต้องมาศึกษาเรียนรู้ว่าในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดถึงแม้จะเป็นการนัดผ่าตัดที่นัดล่วงหน้าไม่ได้ฉุกเฉิน(Elective surgery) แพทย์ก็ไม่ควรประมาท และขบวนการดูแลคนไข้หลังผ่าตัด ทีมสุขภาพที่ดูแลก็ต้องใส่ใจกับ Complaint ของคนไข้ โดยเฉพาะที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการแสดงเริ่มต้นของภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ถึงแม้บางอย่างจะมีโอกาสพบได้น้อยมาก แต่ถ้าปล่อยเวลาผ่านไปนานเกินไปก็อาจให้การรักษาไม่ทัน

นางYuen Ingeborg ชาวสิงคโปร์วัย 78 ปี ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2016 หลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้างซ้ายเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2016 ที่โรงพยาบาล Mount Elizabeth โดยมี Dr. Sean Ng Yung Chuan เป็นศัลยแพทย์กระดูกที่ผ่าตัด

“แนวทางที่แพทย์ผู้ดูแลคนไข้ที่เสียชีวิตหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ไปไกลเกินกว่าที่จะใช้คำว่า Human error เป็นการให้สัมภาษณ์ของ Kamala Pannampalam เจ้าหน้าที่ไต่สวนสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไข้รายนี้ หลังจากที่เธอใช้เวลาไต่สวนหาข้อมูลเป็นเวลา 7 วัน โดยการซักถามจากสมาชิกภายในครอบครัวของนางYuen แพทย์และพยาบาลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความเห็น (โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยรายนี้)”

1 พ.ย. 2016 นาง Yuen Ingeborg เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ากับ Dr. Sean Ny Yung Chuan ที่โรงพยาบาล Mount Elizabeth ระหว่างการผ่าตัด Dr. Ng ได้พลาดไปตัดถูกเส้นเอ็น Medial collateral ligament เขาได้โทรไปเรียกศัลยแพทย์กระดูกอีกท่านหนึ่งมาช่วยเย็บซ่อมเส้นเอ็น หลังผ่าตัดผู้ป่วยดูสบายดี

เช้าวันถัดมา (2 พ.ย. 2016) ผู้ป่วยมีอาการซีดลง Dr. Ng ได้สั่งให้เลือด 1 ถุง วันนี้เริ่มมีการทำกายภาพบำบัด นางYuenไม่ได้ complain อาการใด ๆ กับ Dr. Ng ตอนค่ำวันเดียวกัน Dr.Ng ได้เดินทางไปประชุมทางด้านวิชาการที่กรุงโตเกียวโดยไม่ได้ฝากคนไข้ให้แพทย์ศัลยกรรมกระดูกท่านอื่นดูแลต่อ

ตอนเย็นวันที่ 2 พ.ย. 2016 นาง Yuen มีอาการปวดเท้าซ้าย(ข้างที่ผ่าตัด) พยาบาลประจำตึกตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเท้าซ้ายเย็นกว่าปกติและคลำชีพจรไม่ได้ พยาบาลได้รายงาน Dr. Jeffrey Mah แพทย์ประจำบ้านที่อยู่เวรซึ่งเขาก็คลำชีพจรไม่ได้เช่นกัน

Dr. Mah พยายามติดต่อไปที่ Dr. Ng แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงได้ติดต่อไปที่ Dr. Chin Pak Lin ศัลยแพทย์กระดูกที่ได้ร่วมผ่าตัดกับ Dr. Ng Dr. Chin Pak Lin ได้รีบเข้ามาโรงพยาบาลและส่งคนไข้ไปตรวจเอ็กซเรย์อย่างละเอียด ผลปรากฏว่าตรวจพบเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่ขาพับ(Popliteal artery และ Popliteal vein) ถูกตัดขาดทำให้ขาบริเวณที่ต่ำกว่าเข่าลงมาขาดเลือดและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ มีผลให้เกิดการติดเชื้อตามมา Dr. Chin ได้ตัดสินใจเปิดการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน และได้ตัดขาบริเวณตั้งแต่เหนือเข่าลงมาออก(Above knee amputation) เพื่อรักษาชีวิตของนาง Yuen แต่หลังผ่าตัดอาการของ นาง Yuen ทรุดลงตามลำดับ มีอวัยวะภายในล้มเหลวหลายระบบ(Multiple organ failure) และหัวใจหยุดเต้นตามมา นางYuen เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2016……6 วันหลังผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าระหว่างผ่าตัด Dr. Ng ไม่รู้ว่านอกจากตัดถูกเส้นเอ็นแล้วเขายังตัดไปถูกเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่ขาพับด้วย ทำให้เลือดออกภายใน และไม่มีเลือดไหลเวียนไปที่ปลายขาซ้าย ทำให้ขาบริเวณตั้งแต่ใต้เข่าลงมามี อาการเย็น เป็นสีดำคล้ำ

ในระหว่างการไต่สวนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ Ponnampalam ได้ระบุว่าบุตรของนาง Yuen ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องขบวนการดูแลหลังผ่าตัดของทีมแพทย์และพยาบาล

“ลูก ๆ ของ นาง Yuen รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเมื่อทราบว่า Dr. Sean Ng เลือกที่จะไปประชุมที่กรุงโตเกียวหลังการผ่าตัดผ่านไปเพียง 1 วัน และไม่ได้อยู่ดูแลมารดาของเธอเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น”
“ในความเห็นของพวกเขา(ครอบครัวของ นาง Yuen) การดูแลผู้ป่วยของ Dr. Sean Ng ยังไม่ได้มาตรฐานดีพอ”
ครอบครัวของ นาง Yuen ต้องการทราบว่า ถ้าสามารถตรวจสอบพบเส้นเลือดถูกตัดขาดตั้งแต่เนิ่น ๆ มารดาของพวกเขาจะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่
ครอบครัวของ นาง Yuen ยังตั้งคำถามถึง ความรู้ ทักษะและการฝึกอบรม (Competencies and training) ของพยาบาล 5 คน ที่มีส่วนดูแลมารดาของพวกเขาหลังผ่าตัด และอดสงสัยไม่ได้ว่าน่าจะมีการละเลยการสังเกตอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อน และน่าจะมีความบกพร่องของบันทึกทางการพยาบาล
“บุตรสาวของ นาง Yuen รู้สึกโกรธและเศร้าใจทั้ง ๆ ที่ได้บอกพยาบาลไป 2 ครั้ง คือช่วงเย็น วันที่ 1 พ.ย. 2016 และเช้าวันที่ 2 พ.ย. 2016 ว่าบริเวณขาข้างที่ผ่าตัด รู้สึกเย็นเหมือนน้ำแข็ง แต่พยาบาลกลับบอกว่าเป็นปกติของคนไข้หลังผ่าตัด และไม่มีทำอะไรเพิ่ม

Dr. Ng ทำงานทางด้านศัลยกรรมกระดูกตั้งแต่ปี 2011 ก่อนหน้าการผ่าตัด แพทย์ได้บอกนาง Yuen ว่าเขาติดประชุมวิชาการที่กรุงโตเกียว และได้แนะนำให้ทำการผ่าตัดหลังเขากลับจากประชุม แต่ตัวคนไข้ยืนยันที่จะให้ทำการผ่าตัดก่อนที่เขาจะไปโตเกียว โดยที่ไม่ได้บอกเหตุผลใด ๆ
Dr. Ng ได้กล่าวว่า ก่อนเดินทางไปโตเกียวเขาได้ตรวจเช็คนาง Yuen แล้ว และบอกว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดี” เขายังกล่าวว่าตัวคนไข้ไม่ได้บอกเล่าอาการขาซ้ายเย็นหรือชาในช่วงเวลานั้น
Dr. Ng กล่าวว่าในขณะที่เขาอยู่ที่กรุงโตเกียว พยาบาลได้รายงานว่าคนไข้ complained อาการเป็นเหน็บและที่ชาที่ขาซ้าย เขาได้โทรไปหา Dr. Adrian Ng วิสัญญีแพทย์ที่ได้ช่วยดมยาระหว่างผ่าตัดให้ช่วยไปดูคนไข้ หลังไปดูคนไข้ Dr. Adrian Ng ได้บอกเขาว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ให้เขาประชุมต่อได้ แต่เมื่ออาการคนไข้แย่ลง Dr. Ng ได้รีบกลับมาก่อนการประชุมจะสิ้นสุดและถึงสิงคโปร์ วันที่ 5 พ.ย. 2016 ก่อนหน้าที่ นาง Yuen จะเสียชีวิต 1 วัน
“Dr. Ng ได้ระบุว่าเหตุผลที่เขาไม่ได้ฝากให้ศัลยแพทย์กระดูกท่านอื่นดูแล ในช่วงที่เขาไปประชุมที่ต่างประเทศ เนื่องจากก่อนที่เขาจะเดินทางไปกรุงโตเกียว เขาได้ตรวจคนไข้แล้วไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และสภาพโดยรวมของนาง Yuen ก็อยู่ในสภาพที่ยอมรับได้” เป็นการเขียนรายงานการไต่สวนของเจ้าหน้าที่ Ponnampalam

ตัว Dr. Ng ก็ไม่สามารถให้ความเห็นใด ๆ เมื่อโดนถามว่าถ้าสามารถตรวจสอบพบเส้นเลือดถูกตัดขาดในห้องผ่าตัดและได้รับการแก้ไขตั้งแต่ในห้องผ่าตัด นาง Yuen น่าจะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่

นอกจากนี้ นางสาว Ponnampalam ยังพบว่า Dr. Ng ยังได้บันทึกเวชระเบียนย้อนหลังในช่วงเวลาวันที่ 1 และ วันที่ 2 พ.ย. 2016 หลังจากที่กลับมาจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นข้อห้ามของแพทยสภาแห่งสิงคโปร์

ในรายงานเจ้าหน้าที่ไต่สวน ผู้บริหารโรงพยาบาลยังกังวลกับทีมพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยหนึ่งในทีมพยาบาลได้ถูกตักเตือน เนื่องจากมีการบันทึกทางการพยาบาลว่าระบบไหลเวียนเลือดที่ขาว่าปกติ โดยที่ไม่ได้มาประเมินคนไข้จริง ๆ

Dr. Tang Jun Yip ศัลยแพทย์ประจำ Singapore General Hospital(SGH) ซึ่งทำผ่าตัดเปลี่ยนเข่ามากกว่า 2,000 รายต่อปี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีรายงานคนไข้เปลี่ยนเข่าที่เกิดภาวะแทรกซ้อนตัดถูกทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำไปพร้อม ๆกัน

Professor Yeo Sen Jin ศัลยกรรมกระดูกอาวุโสแห่ง SGH กล่าวว่า ภาวะแทรกซ้อนนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน เขายังให้ความเห็นว่า นาง Yuen น่าจะทรมานจากอาการปวดและชา โดยเฉพาะเมื่อยาชาที่ได้ระหว่างการผ่าตัดหมดฤทธิ์แล้ว
Professor Yeo ยังตั้งคำถามกับ Dr. Ng ว่า “หลังผ่าตัด Dr. Ng ได้ตรวจดูบริเวณขาด้านซ้ายของ นาง Yuen จริงหรือ ถ้าไม่ได้ตรวจจริงแสดงว่าเขาละทิ้งสิ่งควรกระทำ”

ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง Dr. Nicholas Goddard จาก Royal Free Hospital จากเมืองลอนดอน ซึ่งครอบครัวของ นาง Yuen ได้เชิญมาให้ความเห็นได้กล่าวว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนเข่าที่ศัลยแพทย์พลาดไปตัดถูกเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำเป็นผลมาจากเทคนิคการผ่าตัดที่ไม่ชำนาญ”

ในบทสรุป นางสาว Ponnampalam เจ้าหน้าที่ไต่สวนได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบหลักฐาน ได้แสดงให้เห็นว่า เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำได้ถูกตัดขาดระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนเข่าโดย Dr. Ng ถึงแม้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ศัลยแพทย์กระดูกทุกคนต้องรู้และตระหนักถึงระหว่างการผ่าตัด

นางสาว Ponnampalam ยังกล่าวอีกว่า “Dr. Ng ไปต่างประเทศหลังการผ่าตัดใหญ่วันที่ 2 พ.ย. 2016 โดยไม่ได้ฝากศัลยแพทย์ท่านอื่นดูแลต่อถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่รอบคอบและมีผลทำให้ตรวจพบการขาดเลือดของขาข้างที่ผ่าตัดช้าเกินไป
“การตัดสินใจไม่ฝากให้แพทย์ท่านอื่นดูแลต่อในระหว่างที่ตัวเองไม่อยู่ ถือเป็นความคิดที่ตื้นและไม่รอบคอบ”

เธอยังกล่าวว่า “บันทึกทางการแพทย์หลังผ่าตัดของ นาง Yuen ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานและไม่น่าเชื่อถือ ขาดรายละเอียดสำคัญหลายอย่างโดยเฉพาะการตรวจทางด้านระบบประสาทและการไหลเวียนเลือดของขาข้างที่ผ่าตัด และการบันทึกเวชระเบียนย้อนหลังของ Dr. Ng นอกจากผิดกฎของแพทยสภาแห่งสิงคโปร์แล้ว ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เนื่องจากสภาพคนไข้แย่ลงไปมาก

บันทึกทางการพยาบาลก็สั้นไม่ได้ลงรายละเอียดที่สำคัญ และการบันทึกของพยาบาลรายหนึ่งก็เขียนตาม Dr. Ng โดยไม่ได้ตรวจเช็คอาการคนไข้ด้วยตัวเอง(Independent checks)

บทสรุปสาเหตุการตายของนาง Yuen คือการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดของแพทย์ในฐานะ Primary care ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

หลังการไต่สวน Dr. Noel Yeo ผู้บริหารสูงสุดของ Mount Elizabeth Hospital ได้ส่งเรื่องร้องเรียนให้แพทยสภาแห่งสิงคโปร์ ในระหว่างรอการพิจารณาของแพทยสภาแห่งสิงคโปร์เขาถูกสั่งพักงานเป็นเวลา 8 เดือน
หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ผู้บริหารของ Mount Elizabeth Hospital ได้ทบทวน Nursing protocol การดูแลผู้ป่วยหลังการเปลี่ยนเข่า โดยมีผลตั้งแต่ เม.ย. 2018 โดยพยาบาลที่ดูแลคนไข้กลุ่มนี้จะต้องตรวจสอบชีพจรและการไหลเวียนเลือดบริเวณขาข้างที่ผ่าตัดทุกราย และต้องมีการบันทึกในแบบฟอร์มที่โรงพยาบาลจัดทำขึ้น

“สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อปรับปรุงขบวนการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนเข่า เราคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการ Monitor อย่างใกล้ชิดและตรงเป้าหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบันทึกทางการพยาบาลจะช่วยเพิ่มความตระหนักเชิงคลินิก (Clinical awareness) ทำให้สามารถตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ"

เดรดิต FB @ Wichai Naiyaraksaereemd
https://www.facebook.com/ikkyuninja.thailand/posts/2488501294572071



Create Date : 10 ตุลาคม 2562
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 21:22:53 น.
Counter : 3624 Pageviews.

0 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณna_nyu

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด