ทำไม ผมถึงลาออกจากราชการ .... เรื่องเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2551 เอามาเล่าสู่กันฟัง




ทำไม ผมถึงลาออกจากราชการ


การลาออก จากราชการ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมี ข้าราชการคนไหน ที่ตั้งใจไว้ว่า เข้ามารับราชการแล้ว จะลาออก .. ส่วนใหญ่ ก็ตั้งใจว่า จะทำงานราชการไปเรื่อย ๆ ...

เมื่อข้าราชการคนหนึ่ง อยากจะลาออก ก็มักจะมีสาเหตุ หลายประการ รวม ๆ กัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว ดังนั้น การที่จะให้บอกแน่ ๆ ว่า ลาออกเพราะอะไรนั้น จึงค่อนข้างยาก ที่จะระบุให้ชัดเจน ...


สำหรับตัวผม สาเหตุที่ออก หลัก ๆ เลย ก็เป็นเรื่อง ลักษณะงานของหมอผ่าตัด เนื่องจาก ผมดูแล้วงานมีแต่เยอะขึ้น ขณะที่อายุเราก็เยอะขึ้น ด้วยเช่นกัน (ถึงแม้ตอนนี้ยังหนุ่มอยู่ก็ตาม )

เมื่อ ผมดูพี่ ๆ ออร์โธฯ หรือ ศัลย์ ในรพ. ที่อายุมากแล้ว แต่ต้องมาอยู่เวรดึก ๆ ต้องมาถูกตามในวันหยุด ซึ่งควรจะเป็นวันที่ได้พักผ่อน .. แล้วผมคิดว่า ผมไม่อยากเป็นแบบนี้ไปอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้า

ส่วนสาเหตุรอง ๆ มีเพียบ เช่น เรื่องร้องเรียนเยอะขึ้น ความต้องการของผู้ป่วย (ญาติ) มากขึ้น ต้องการให้เรารักษาตามใจของเขา ทั้ง ๆ ที่ บางครั้งก็ไม่จำเป็น หรือ บางครั้งก็ไม่ถูกต้อง เสียด้วยซ้ำไป แนวโน้มความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ปริมาณก็มากขึ้น และเรื่องอื่น ๆ อีกบางส่วน


ใครบางคนเคยบอก ไว้ว่า “ ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองไปทางไหน ก็มีปัญหา คนโน้นก็ไม่ดี คนนี้ก็แย่ อะไร ๆ ก็มีปัญหาไปหมด ให้กลับมามองดูสิว่า คนที่มีปัญหานั้นอาจเป็นตัวเราเอง ก็ได้ “ ผมก็คิดว่า อาจเป็นจริง แบบนั้นก็ได้ เลยต้องกำจัดปัญหา .........ผมเองครับที่ออกไป

หลาย ๆ คนที่เมื่อรู้ว่า “หมอลาออก “ ก็จะคิดว่า ทำไมหมอไม่เสียสละ ? ทำไมไม่อดทน ? ทำไมไม่คิดถึงภาษีที่ประชาชนส่งเสียให้เรียนหมอ ? ทำไม่ท้อแท้ ไม่อยู่แก้ไขปัญหา ที่เป็นอยู่ ? ฯลฯ

เลยอยากเล่าให้ฟังความเป็นมา เผื่อจะเข้าใจกันมากขึ้น ( หวังว่า จะเป็นอย่างนั้นนะครับ )

สภาพ งานที่ผมทำอยู่ ที่ รพ.รัฐ ประจำจังหวัด แห่งหนึ่ง ( เป็น รพ.ทั่วไป ขนาด ๓๕๐ เตียง ) มีหมอออร์โธฯ ๓ คน แบ่งงานเท่า ๆ กัน ซึ่งถือว่าโชคดีของผมเหมือนกันที่ พี่ ๆ ยุติธรรม ไม่เอาเปรียบน้อง ไม่เจอแบบที่อ้างว่า พี่อายุมากแล้วขอทำงานน้อยลง ( แต่ได้เงินมากกว่า ) เหมือนบางแผนก งานก็แบ่งง่าย ๆ เหมือนกับทุก ๆ ที่แหละครับ

๑. ตรวจผู้ป่วยนอก ๒ วันต่อสัปดาห์ ตรวจครั้งหนึ่งก็ ๘๐-๑๐๐ คนต่อ ๓ ชม.ผู้อำนวยการสั่งว่า ถ้าตรวจไม่หมดในช่วงเช้า บ่ายก็ต้องมาตรวจให้หมด ผมก็เลยต้องพยายามตรวจให้หมด อย่างรวดเร็ว ซึ่งเครียดมากเหมือนกัน

แล้วเดี๋ยวนี้ มีคนไข้ประเภทขอมากขึ้น ตั้งใจมาขอโดยเฉพาะ ขอยาเยอะ ๆ ขอยาเดิม ห้ามเปลี่ยน ขอเอกซเรย์ ขอใบส่งตัว ขอ... ขอ.. ฯลฯ บางทีไม่สนว่า เป็นอะไร จะรักษาอย่างไร ประมาณว่า “ จะเอาแบบเนี๊ย หมอเขียนตามที่สั่งละกัน “

เมื่อก่อนก็หงุดหงิด ตอนหลัง ๆ ผมก็จะอธิบายแล้วถ้าเขายืนยัน อะไรให้ได้ ก็ให้ไปเลย ไม่คิดมาก ( ถึงแม้จะหงุดหงิดอยู่บ้าง ก็ตาม ) เขาคิดมาจากบ้าน ตั้งว่าจะเอาแบบเนี๊ย แล้วจะให้เรามาอธิบายแค่ ๒ นาทีให้เขาเปลี่ยนใจ มันก็คงทำได้ยาก

เคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง ก็พยายามเปลี่ยนแปลง โดยขอมาตรวจ opd ตอนบ่าย แทนที่จะเป็นตอนเช้า เพราะคิดว่า ตอนเช้าทุกแผนกก็ตรวจพร้อม ปริมาณคนไข้ ก็จะเยอะ เจ้าหน้าที่ห้องบัตร ห้องยา ฯลฯ ก็จะต้องทำงานหนัก เพราะคนไข้เยอะมาพร้อม ๆ กัน ... คนไข้ก็ต้องรอคิวตรวจ รอคิวรับยานาน ...

ผมเลยเปลี่ยนมาตรวจตอนบ่าย ก็ดีขึ้นนะครับ ทั้งคนไข้และเจ้าหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ปริมาณงานก็เท่า ๆ เดิม แต่ กระจายงานมาอยู่ในช่วงบ่าย ซึ่งไม่ค่อยยุ่ง ทำให้สะดวกขึ้น คนไข้ก็ไม่ต้องรอนาน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเร่งทำงาน ... ทำไปได้สักพัก ก็มีปัญหาอีก เพราะ ปกติเจ้าหน้าที่จะว่างช่วงบ่าย แต่พอผมเปลี่ยนมาตรวจช่วงบ่าย เขา/เธอ ก็ไม่ว่าง คนไข้บางคนก็บ่นว่า บ้านไกล ไม่มีรถกลับ ( ให้ไปตรวจกับหมออื่นตอนเช้าก็ไม่เอาอีก )

แต่สิ่งที่หนักก็คือ ปริมาณคนไข้เยอะขึ้นกว่าเดิม ตรวจไม่หมด เลยสี่โมงครึ่ง ก็ต้องตรวจต่อ จะหยุดก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะส่งให้ใครตรวจต่อ จะให้น้องที่อยู่เวร ER ตรวจต่อก็คงไม่ไหว .. พอตรวจต่อ นอกจากผมที่ต้องอยู่ตรวจแล้ว เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ก็ต้องอยู่ด้วย กลายเป็นว่า คนอื่น ๆ เขาก็ต้องมาเดือดร้อน เพราะผม ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่คิดว่า น่าจะทำให้ดีขึ้น

พอทำไปได้สัก สี่ห้าเดือน ก็เลยต้องเลิก กลับมาตรวจแบบเดิม เหมือนกับคนอื่น ๆ ตรวจไปให้ได้มากที่สุด เที่ยงก็ได้พัก เหลือบ่ายก็ให้แพทย์ที่ออกตรวจตอนบ่าย ตรวจต่อให้ ... เหมือนกันกับแผนกอื่น ๆ ( ช่วงหลัง ผู้อำนวยการออกคำสั่งให้แพทย์ทุกแผนกตรวจคนไข้ให้หมดในช่วงเช้า ถ้าไม่หมด ก็ต้องมาตรวจต่อตอนบ่าย )


๒. อยู่เวรใน สลับกันไป ๓ คน อยู่ประมาณ ๒๔-๒๖ เวรต่อเดือน หรือ ๖-๗ เวรต่ออาทิตย์ ( ๘ ชม. ต่อเวร วันราชการก็ ๒ เวร บ่าย ดึก แต่ถ้าวันหยุด ก็จะเป็น ๓ เวร เช้า บ่าย ดึก ) ซึ่งอยู่เวรแต่ละวัน มีคนไข้ฉุกเฉินให้ผ่าตลอด ถ้าวันไหนอยู่เวรแล้วไม่มีตาม ถือว่าผิดปกติ ต้องโทรไปถามว่า วันนี้ผมอยู่เวรหรือเปล่า :-p แล้วถ้าอยู่เวรแล้วได้กลับบ้านก่อนเที่ยงคืน ก็ถือว่าเป็นเวรที่ค่อนข้างสบาย ส่วนใหญ่เกินเที่ยงคืน เฉลี่ย ๖ เดือนก่อนที่ผมจะลาออก คนไข้ที่ต้องมาทำนอกเวลาราชการ ทั้งผ่าและไม่ผ่า ก็ประมาณ 80 รายต่อเดือน พอคิด work load ก็มักจะเกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ( ถ้าใครสนใจ ก็ติดต่อมาได้เลยครับ รายได้ดีเหมือนกัน ถ้าทำไหว )


๓. วันผ่าตัด เนื่องจากมีแพทย์หลายคน หลายแผนก แต่ห้องผ่าตัดมีน้อย เลยต้องใช้วิธีแบ่งกัน โดยให้มีวันประจำ ของแพทย์แต่ละคน ที่จะผ่าตัด ก็แบ่งคนละ ๑ วัน ต่อ อาทิตย์ ถ้ามีคนไข้เหลือเยอะ ก็หาเวลาแทรก ๆ ไป ในบางวันที่แพทย์เจ้าของห้อง ไม่มีคนไข้ผ่า หรือ ผ่าตัดเสร็จเร็วกว่าที่คาดไว ซึ่งก็ทำให้ ผมไม่เคยมีอาทิตย์ไหนเลยที่ว่าง ไม่ต้องผ่าตัด

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเคยทำตารางนัดผ่าตัดผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน( case elective ) วันผ่าตัดละ ๒ คน (อาทิตย์ละ ๒ คน) ก็สะสมไปเรื่อย ๆ จนนัดนานเป็นปี เลยครับ จนต้องเลิกใช้ตารางนัดผ่าตัด เพราะถูกร้องเรียนว่า รอคิวผ่าตัดนาน

กลับมาใช้วิธีเดิม ๆ ก็คือไม่ต้องนัดกันแล้ว เสี่ยงดวงกันหน่อย ถ้าใครโชคดีมาช่วงที่ว่าง ก็ได้ผ่าเร็ว ใครมาช่วงคนไข้อุบัติเหตุเยอะ ๆ ก็ต้องรอไปก่อน อาทิตย์หน้าค่อยมาใหม่ เหมือนกับแพทย์ท่านอื่น ๆ ที่ไม่มีตารางนัดผ่าตัด ก็ไม่มีเรื่องร้องเรียนว่า นัดผ่าตัดนาน เพราะไม่มีนัดแล้ว ...

แต่ปัญหาของคนไข้ และ หมอ ก็คือ ไม่รู้ว่าจะได้ผ่าวันไหน วางแผนไม่ได้เลย ...คนไข้บางคนมาเป็นสิบครั้งก็ไม่ได้ผ่า เพราะไม่เร่งด่วน มีคนไข้ที่เร่งด่วนกว่า ให้หมอผ่าทุกอาทิตย์ไป



๔. งานอื่น ๆ เช่น อยู่ตรวจ opd บ่าย เวรชันสูตร งานบริหาร ประชุม เป็นต้น


เมื่อ ๕-๖ ปีก่อน หน้าที่ผมจะลาออก ในความรู้สึกผมตอนนั้นก็คือ งานมันเยอะมากเกินไป ( เงินก็ชักไม่อยากได้แล้ว ) แล้วความต้องการ ข้อเรียกร้อง ของผู้ป่วยและญาติ ก็มากขึ้น เสียงบ่น เสียงว่าให้เข้าหู บ่นว่าต่อหน้า ก็เยอะมากขึ้น เมื่อเทียบกับตอนที่ผมมาทำงานใหม่ ๆ ......

เลย มาคิดว่า อยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ คงไม่ไหว เหนื่อยทั้งกาย ( คนไข้เยอะขึ้น ผ่าตัดเยอะขึ้น อยู่เวรดึก ๆ วันรุ่งขึ้นก็ต้องมาทำงาน หมอก็น้อย โอกาสที่มีหมอเยอะขึ้นกว่านี้ ก็แทบไม่มีโอกาส ) เหนื่อยทั้งใจ ( การเรียกร้อง เรื่องร้องเรียนเยอะขึ้น มีบางท่านโดนฟ้องร้องด้วย ) เหนื่อยกายไม่เท่าไหร่ พอได้พักก็หาย แต่เหนื่อยใจนี่สิครับ เราทำงานเต็มที่แล้ว ยังต้องมาคอยระวังว่า จะโดนฟ้องเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แบบนี้ไม่ไหว แล้วฟ้อง ไม่ใช่แค่ฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหาย อย่างเดียว ( เดี๋ยวนี้ก็เรียกค่าเสียหายเยอะด้วยสิครับ หลายล้าน ซึ่งบางที ผมยังคิดเลยว่า ผมทำงานทั้งชีวิต ก็คงไม่มีเงินเก็บถึงขนาดนั้น ) แต่ยังฟ้องอาญา ให้ติดคุก อีกต่างหาก

หลาย ๆ คนก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก โอกาสมันน้อยมาก ๆ แล้วถ้าโดนฟ้อง รัฐ ก็ช่วยอยู่แล้ว ก็จริงครับ ถ้าฟ้องแพ่ง เมื่อศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในฐานะเป็นข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุข ก็มาช่วยเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ หมอก็จะต้องถูกสอบสวน ต้องขึ้นศาล กว่าเรื่องจะจบก็ใช้เวลาหลายปี สภาพจิตใจตอนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าใครไม่เคยเจอ ไม่เคยโดนฟ้อง ก็ไม่รู้หรอกครับ ว่า ทุกข์ทรมานขนาดไหน นี่ยังไม่รวมถึง ชื่อเสียงที่เสียหายด้วยนะครับ ... เรื่องฟ้องแพ่ง ก็พอมีคนช่วยบ้าง แต่ฟ้องอาญานี่สิครับ หมอรับไปเต็ม ๆ คนเดียวเลย ถึงแม้จะมีคนมาช่วยเหลือเรื่องคดี แต่ถ้าศาลตัดสินว่า ผิดจริง งานนี้ คุก เต็ม ๆ เลยนะครับ อย่าบอกว่า ไม่เคยเกิดขึ้น ที่ศาลตัดสินให้หมอติดคุก ...

ตอน แรก ๆ ผมวางแผนไว้ว่า ตอนอายุ ๔๐ ค่อยตัดสินใจว่า จะอยู่หรือจะออกจากราชการ แต่ดู ๆ แล้วยังไง ก็ไม่ได้อยู่ถึงเกษียรแน่นอน ผมจึงเริ่มหาทางเลือกอื่น ทำไปด้วย .. เริ่มจาก เปิดคลินิก และ รับปรึกษา รพ.เอกชน ผ่านไปสี่ห้าปีก็เห็นว่า น่าจะพอไหว เลยลาออกจากราชการ .... คิดวางแผนล่วงหน้าหลายปีนะครับ ไม่ใช่ว่านึกจะออก ก็ออกเลย ...



อ้อ ผม เรียนจบออร์โธฯ มาก็ทำงาน รพ.รับราชการอย่างเดียว ไม่ทำเอกชน ไม่เปิดคลินิก เป็นแพทย์ออร์โธฯและหัวหน้าฝ่ายวิชาการ (พคบว) ทำอยู่ ๕ ปี ก็ได้อะไรเยอะครับ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี (และไม่ดี ???) ได้เข้าใจว่า สิ่งที่เราคิดว่า ดี คนอื่นเขาอาจคิดอีกอย่าง แล้วก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจคนมากขึ้น

ตอนจบใหม่ ๆ ไฟแรง ( มาก ) เห็นปัญหา ก็คิดว่า ทำไม ไม่มีใครแก้ไข คิดว่า แก้ไขไม่ยาก แต่พอทำจริง ๆ จึงเข้าใจว่า ทำไม ถึงยังเป็นปัญหาอยู่จนมาถึงเรา ....... เคยมีรุ่นพี่ คนหนึ่งบอกว่า “ ปัญหาที่มีอยู่ มันไม่ได้พึ่งมี มันมีมานานแล้ว ถ้ามันแก้ไขได้ง่าย ๆ มันก็คงไม่เป็นปัญหามาถึงเราหรอก “ ทำตั้งนาน ถึงเข้าใจ

เมื่อ ตัดสินใจแน่นอน ก็ได้แจ้งผู้อำนวยการและพี่ ๆ ล่วงหน้า ๖ เดือน มีแต่คนคิดว่า จะออกจริงหรือ ? ทำไมต้องบอกล่วงหน้านานขนาดนั้น จะต่อรองอะไรหรือเปล่า ??? อย่างว่าแหละครับ ต้องรอจนกระทั่งยื่นใบลาออกแล้วถึงจะเชื่อว่า “ ออกจริง “



คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ที่หมอลาออกกันนั้น เป็นเพราะเรื่อง “ เงิน “ แต่ผมบอกเลยนะครับ เท่าที่คุยกับหมอหลาย ๆ คนที่ลาออก ไม่มีคนไหนเลยครับที่ลาออกเพราะ รัฐ ให้เงินน้อย ...แต่ออกด้วยสาเหตุอื่น ๆ มากกว่า


ถ้ายังคิดแก้ไขปัญหา แพทย์ลาออก ด้วยการเพิ่มเงิน ผมบอกเลยว่า ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ ... การเพิ่มเงิน ช่วยได้เพียงแค่ ให้หมอที่อยู่ราชการ อยู่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้น มีแรงใจเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง ... แต่หมอที่ตัดสินใจว่า จะออก ก็ออกอยู่ดี ... แล้วการใช้วิธีเพิ่มเงิน ก็ทำมาตั้งหลายปี หลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สามารถ หยุดยั้งการลาออกของหมอใน รพ.รัฐ ผู้รับผิดชอบ ก็น่าจะคิดได้แล้วว่า วิธีแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงิน ไม่ได้ผล คงต้องหาวิธีอื่น ๆ มาใช้ร่วมด้วย และ ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย เพราะยิ่งช้า หมอที่อยู่ รพ.รัฐ ก็จะน้อยลง แต่ปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้หมอที่ยังไม่คิดจะลาออก ก็อาจทนไม่ไหว ลาออกตามมาด้วย





โดย: หมอหมู วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:52:52 น.



ปล.ผมเขียนบทความนี้ ลงในบล๊อกนานแล้ว นำกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกรอบ แล้วผมก็คิดว่า ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีแพทย์อีกหลายท่านที่มีประสบการณ์คล้ายกับผม ....



Create Date : 28 มกราคม 2554
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 13:29:20 น.
Counter : 3311 Pageviews.

15 comments
โจทย์ตะพาบ ... วันใดที่เธอรู้สึกเหมือนไม่มีใคร โปรดมองมาทางนี้ เธอจะเห็นใครคนหนึ่งที่รอเธอ ... tanjira
(9 เม.ย. 2567 14:13:50 น.)
:) peaceplay
(4 เม.ย. 2567 00:24:23 น.)
2/04/67 สมาชิกหมายเลข 4675166
(2 เม.ย. 2567 10:33:07 น.)
ผลประกอบการในช่วง 1,000 Blog ที่ผ่านมา toor36
(7 เม.ย. 2567 16:58:19 น.)
  

มาเยี่ยมชม มาทักทายครับ

มาอ่านแล้วก้ได้เข้าใจในอาชีพหมอมากขึ้นครับ ขอบคุณหมอหมูมากเลยครับ ที่เขียนอธิบายให้เข้าใจ เพราะว่าที่ผ่านมาผมก็อยู่ในฝ่ายคนไข้ที่ใช้บริการอย่างเดียว ก็ได้แต่บ่นหมอว่า ทำไมคนไข้ต้องรอนานจัง ... แต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจในปัญหาและสาเหตุต่าง ๆ ของอาชีพหมอแล้วครับ

เป็นกำลังใจให้แก่หมอหมูครับ

อิอิ
โดย: อาคุงกล่อง วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:16:45:55 น.
  
งานไหนๆ ก็มีปัญหาทั้งนั้น
ก็ต้องมีกำลังใจมีน้ำใจให้กันต่อไป
โดย: kithe วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:17:01:50 น.
  
แฟนเราก็ออกด้วยเหตุเพื่อนร่วมงานค่ะ

หากตั้งใจเร่งทำให้คนไข้ทุกคนให้หมดคิว ไม่มีวันหมดเลยค่ะ

คิดว่าหากจะให้งานลดต้องเริ่มจาก prophylaxis ซึ่งเราคิดว่าบ้านเราล้มเหลวค่ะ มีแต่ cure ลูกเดียว
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:17:22:06 น.
  
แวะมาเยี่ยมครับคุณหมอ
ขอให้มีความสุขมากๆนะครับ
สวัสดีครับ
โดย: nordcapp (nordcapp ) วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:19:02:42 น.
  
" ปัญหาที่มีอยู่ มันไม่ได้พึ่งมี มันมีมานานแล้ว ถ้ามันแก้ไขได้ง่าย ๆ มันก็คงไม่เป็นปัญหามาถึงเราหรอก "

ตอนนี้ยังนุกกับการแก้ปัญหาอยู่
เมื่อไหร่ที่เริ่มทนไม่ได้กับปัญหา
ก็อาจจะเออรี่รีไทร์
ไปเปิดร้านกาแฟ
โดย: ตัวกลมๆผมม้า วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:19:12:12 น.
  
อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นเลยค่ะ่ว่าทำไมเห็นหมอ
ออกจากราชการมาทำของตัวเองหรือเอกชนกันแยะ
บางส่วนก็คงจะมีในเรื่องของรายได้
แต่คิดว่าส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นแบบที่คุณหมอหมู
เจอแหละค่ะ เข้าใจเลยว่ามันกดดันและเครียดมาก
โดย: narellan วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:19:20:19 น.
  
อ่านแล้วเข้าใจ หมอนี่งานหักมากๆๆ ตอนเรียนก็หนัก ยิ่งเรื่องคนไข้บ่นแล้วหดหู่ใจ
โดย: เทวดามิคาเอล วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:19:31:18 น.
  
อ่านแล้วน้ำตาแทบไหลพราก

ยิ่งเป็นผู้หญิงเวลาทำงานกับพยาบาลบางวอร์ด ยิ่งรู้สึกตัวเองโดนกลั่นแกล้ง

แล้วเวลาเป็นวันนั้นของเดือนก็ทำให้ทั้งวีนทั้งเหวี่ยงคนไข้

นับถือค่ะ พี่เก่งมาก ที่ทำงานนาน เพราะอย่างพวกหนูทำงานกันไม่ถึงปี ก็ยื่นใบลาออกกันพรึชพรับ ทนไม่ได้ทั้งคนไข้ และ ระบบ งาน

เงินไม่ต้องพูดถึงค่ะ ตอนนี้โดนหักเดือนละ 10000 คงเหลือคนทำงานอ่าค่ะ ทำงานงกๆ 8 ชม ได้ 600 คุ้มมากๆ T^T

แต่ก็ทำ ไม่รู้ทำไมสิคะ ตอนนี้คงเพราะสนุกที่นั่งว่า นั่งเหวี่ยง วีน คนไข้และญาติที่ไม่มีเหตุผล พวกเมา พวกไม่รู้จักเวลา 555 ขอทำงานต่อ สู้ต่อไปค่ะ

ปล.เคยคิดจะยื่นใบเหมือนกันหลังจากเหนเพื่อนๆ ทำ แต่โดนผู้บริหารเรียกไปคุยเหตุผลก่อน
โดย: JustHolla วันที่: 28 มกราคม 2554 เวลา:20:03:43 น.
  
หมอต้องยอมรับงานหนักตั้งแต่คิดจะสอบเข้าไปเรียนแล้วค่ะ

มันเป็นงานเพื่อสังคม ทำเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เหนื่อยปางตายก็ต้องกลั้นใจทำ ลุกจากเตียงตีหนึ่งตีสองทั้ง ๆ ที่ได้นอนมาไม่ถึงชั่วโมง กึ๋นไม่พอก็อย่าคิดที่จะไปทำ ทำดีแค่ไหนก็มีสิทธิ์โดนด่า โดนแช่ง โดนฟ้อง

คิดแล้วเหนื่อยใจ เมื่อก่อนคิดว่าจะเป็นหมอ แต่คิดว่าตัวเองคงไม่อดทนถึงขนาดนั้น ทำไปคงจะไม่มีความสุข เหนื่อยใจ ลาออก เสียดายเวลาและเงินภาษีที่คนอื่นส่งเราเรียน ถึงได้เบนเข็มออกจากเส้นทางสายอาชีพนี้ ไปทำอย่างอื่นที่น่าจะเหมาะกับเรามากกว่าแทน

ระบบราชการก็น่าเหนื่อยใจ
โดย: ฟ้า (kurobina ) วันที่: 29 มกราคม 2554 เวลา:23:32:48 น.
  
ถ้ามีคนคิดได้ว่าหมอเสียสละทำเพื่อพวกเค้า

ก็คงไม่มีพวกที่จะคอยจ้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ?
โดย: JustHolla วันที่: 30 มกราคม 2554 เวลา:18:44:09 น.
  
แค่มานั่งอ่านยังรู้สึกเซ็งได้ขนาดนี้ ถ้าเป็นคุณหมอจะขนาดไหนเนี่ย....
โดย: PuPe_so_Sweet วันที่: 18 มิถุนายน 2554 เวลา:1:23:43 น.
  
Benjapol Tuamsomboon
https://www.facebook.com/benjapolaun/posts/1535220049849616

คำเตือน!! ยาวมว๊ากก จนนึกว่าพิมพ์รายงานส่งอาจารย์

หลังจากที่ผมโพสต์เรื่องการลาออกเมื่อประมาณ 3 อาทิตย์ก่อน ก็มีทั้งเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ เข้ามาถามกันหลังไมค์เยอะเหลือเกิน 55 เดี๋ยววันนี้ผมจะมาบอกให้ฟังละกันครับ ว่าทำไมผมถึงเลือกที่จะลาออก เอาเท่าที่ผมสรุปได้เป็นข้อๆดังนี้ละกัน

1.ต่อบล็อกผิด ชีวิตเปลี่ยน

เราอยู่ในสมัยที่ความนิยมเป็นหมอมีมากเหลือเกิน จริงๆแล้วถ้าเพื่อนที่สนิทๆกันจะพอรู้ ว่าจริงๆผมไม่ได้ตั้งใจจะมาเรียนหมอหรอกครับ จริงๆแล้วอยากเรียนวิศวะคอมฯ อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือทำอะไรที่มันเกี่ยวกับพวกไอที ตอนนั้นก็เคยสอบนะ แต่ยื่นคะแนนที่เชียงใหม่ที่เดียว แล้วก็ไม่ติด 55 บังเอิญว่าสอบหมอติดก่อน ตอนแรกก็ว่าจะไม่เอาแล้ว แต่ครูกับพ่อแม่ก็อยากให้เรียน ตอนแรกเราก็บอกกับแม่ว่าไม่อยากเรียน แต่แม่บอกเราว่า “ถ้าเราเรียนจบวิศวะ เรามาเรียนต่อหมอไม่ได้ แต่ถ้าเรียนจบหมอ เรามาเรียนวิศวะต่อได้นะ” (ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ไม่ถูกซะทีเดียวอ่ะนะ) ตอนนั้นก็เลยยอมเรียน ตอนเรียน มันก็เรียนได้อยู่หรอก แต่ในใจมันก็จะมีความคิดอยู่ลึกๆ ว่าถ้าเกิดวันนั้นเราได้ทำตามความฝันที่เราอยากเรียน เราจะมานั่งบ่นกับตัวเองแบบวันนี้มั้ย? ยิ่งเวลาที่เราเหนื่อยกับอาชีพหมอ คำถามนี้มันก็ผุดขึ้นมาในหัวสมองรัวๆเลย (จริงๆแล้วผมคิดว่า ยังไงเราก็ขาดทุนเรื่อง “เวลา” อยู่ดีครับ การเรียนตอนอายุ 18 กับการกลับไปเรียนตอนอายุ 24 นี่มันยากต่างกันนะ) ซึ่งถึงแม้จะมีคนบอกว่า เรียนวิศวะอาจจะหางานยาก ไม่เหมือนหมอ มันก็ถูก แต่อย่างน้อย ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำอ่ะ ถึงผลมันออกมาไม่ดี แต่เราก็ยอมรับมันได้นะ ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว

2.ผมไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเรียนต่อสาขาอะไร

มันก็สืบเนื่องมาจากข้อ 1 นั่นแหละครับ พอเราไม่ได้ตั้งใจจะมาเรียน เราก็ไม่รู้ว่าเราชอบอะไรกันแน่ เห็นเพื่อนๆได้เรียนต่อ เราก็อยากจะมีบ้าง แต่เราก็ตอบคำถามข้อนี้ไม่ได้ซักที บางคนก็อยากให้ผมไปเรียนสาขาที่เบาๆ เช่น Rehab, Commed แต่ผมก็คิดมาตลอดว่า ถ้าเราจะเรียนอะไรซักอย่าง เราก็ควรจะชอบในสิ่งนั้นก่อนป่าววะ ถ้าเราไปเรียนโดยที่เราไม่ชอบ มันก็เหมือนกับเราเลิกกับแฟนคนนึง แล้วไปคบกับแฟนอีกคนนึง ซึ่งเราไม่ได้ชอบเค้า เราจะคบไปทำไมวะ เพื่อให้ลืมคนเก่า (คนเก่าในที่นี้ก็เหมือนการเป็น GP อยู่ รพ.ช.นั่นแหละ) ทั้งๆที่เราก็ต้องมานั่งทนกับคนที่เราไม่ได้รัก อย่างงี้เหรอ (เหมือนคลุมถุงชนเลยเนาะ) ผมว่ามันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องนะ เรียนจบมาก็ลำบาก จะเรียนต่อก็ลำบาก ตอนนี้ก็เห็นน้องๆเริ่มไปหาทุน กับหาที่เรียนต่อกันแล้ว ก็รู้สึกสงสาร เอาจริงๆแล้วก็อยากเรียนอะไรที่มันไม่ใช่สายหมอมั่ง อย่างเรียนภาษา เรียนทำอาหาร เรียนทำแอป อะไรอย่างนี้มากกว่าอ่ะ

3.งานที่มันเหนื่อยทั้งใจและกาย

อยู่ รพ.ช. เป็นหมอประจำ รพ.เล็กๆ 30 เตียง แต่เอาจริงๆแล้ว คนไข้ไม่ได้น้อยตามจำนวนเตียงเลย มีหมอ 4 คน หัก ผอ. ออกเหลือ 3 คน ตรวจคนไข้วันๆนึง 60-80 คน บางวันตรวจเป็น 100 คน บางทีเลิก 4โมงครึ่งบ้าง 5 โมงเย็นบ้าง บางคนปัญหาเยอะ ปัญหาน้อยแตกต่างกัน บางทีอยากคุยกับคนไข้นานๆ แต่คนหลังๆก็เริ่มโวยวายว่าตรวจช้า ตรวจเร็วๆก็โดนว่าว่าตรวจไม่ละเอียด มี pitfall อีก อยู่เวร บางทีโชคดีก็ได้กินข้าวตรงเวลา บางทีก็เลื่อนไป 1ทุ่ม - 2ทุ่มบ้าง ตอนกลางคืนอยู่เวรก็ไม่รู้ว่าจะโดนตามตอนไหน นอนหลับก็ไม่สนิท บางคืนก็โดนตามบ่อยๆ นอนไม่พอ อารมณ์ก็ไม่ดี หงุดหงิดก็ลงกับใครไม่ได้ สุขภาพกายก็เสีย สุขภาพจิตก็เสีย นี่ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆที่ผมเจอ อย่างเช่น
- ญาติคนไข้จะมาฟ้องเรา เพราะเค้าได้ยินเราพูดอย่างนึง แล้วไปแปลเป็นอีกอย่างนึง จนพากันมาที่ รพ. เป็นสิบคน จนที่ พยาบาลกลัว
- ใบร้องเรียนต่างๆ ว่าเราตรวจไม่ดีมั่ง เสียงดังมั่ง (คนไข้แก่ๆทั้งนั้น พูดเบาๆก็ไม่ได้ยินอีก)
เมื่อก่อนก็พอทนได้ เพราะเป็นไม่บ่อย แต่เดี๋ยวนี้คนไข้จากอำเภออื่นเริ่มมาตรวจที่ รพ. ผมแล้ว (ปากต่อปากกันว่า รพ.นี้ ดีกว่า รพ. อื่น) เราก็ทำอะไรไม่ได้ ในเรื่องนี้อีก เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เค้าตกลงกัน ภาระมันก็เลยมาตกอยู่ที่คนทำงานนี่แหละ
ผมก็เลยคิดว่า ถ้าเราทนไม่ไหว เราก็ออกมาดีกว่า ให้คนที่เค้าตั้งใจอยากจะมาทำงานตรงนี้ มาแทนผมดีกว่า

4.ผมไม่ชอบระบบราชการเลย

เอาจริงๆ ก่อนจะมาทำงานก็ไม่เคยมีความคิดว่าจะลาออกหรอก เคยคิดว่าอยากจะอยู่เป็น ผอ.รพ. ไปเรื่อยๆเหมือนกัน แต่พอได้มาทำงานจริงๆแล้ว มันไม่ใช่อย่างที่คิดว่ะ มันมีอะไรมากกว่านั้น ผมก็รู้อยู่ ว่าข้าราชการเป็นอะไรที่มั่นคง อย่างน้อยก็รู้ว่า เค้าจะไม่เอาเราออกง่ายๆ ซึ่งก็นั่นแหละครับ คนที่ตั้งใจทำงาน ก็ทำงานกันไปเรื่อยๆ คนที่ไม่อยากทำ มันก็ไม่ทำ ยังไงก็เอาออกไม่ได้อยู่แล้ว กว่าจะถูกให้ไล่ออกจากราชการ ต้องมีการสอบสวนกี่รอบก็ไม่รู้ สุดท้าย เรื่องก็ค่อยๆเงียบไป คนที่ทำงานก็หมดกำลังใจแบบนี้แหละ นอกจากนั้น ก็เรื่องระบบอาวุโส ในราชการนี่แหละ คนที่อายุน้อยกว่าต้องทำตามคนที่อายุมากกว่าตลอด ตอนเป็น GP ก็โดน abuse จาก specialist, หมอรุ่นพี่ จบ specialist มาก็อาจจะโดน specialist รุ่นพี่ abuse กันต่อ เพราะภาระงานมันหนักขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อย GP ก็จะกลายเป็น Referologist เพราะคนไข้ก็อยากจะเจอหมอเฉพาะทาง จะทำหัตถการอะไรก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่หมอเฉพาะทาง เกิดมีปัญหาขึ้นมา ก็เตรียมเอาขาแหย่เข้าไปในคุกได้เลย หรือการมีไดโนเสาร์อยู่ในองค์กร เราอยากจะให้เค้าพัฒนาเรื่องนี้ แต่คนที่แก่กว่าเค้าก็ไม่อยากทำ บอกว่า “เค้าทำอย่างงี้กันมาตั้งนานแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราจะให้เค้าเปลี่ยนทำไม?” อืม บางที เราก็อยู่แต่ใน Comfort zone จนเราชินเนาะ ถ้าเราไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง อีกหน่อยเราก็จะอยู่แบบไดโนเสาร์แบบนี้ไปเรื่อยๆแหละ นี่ยังไม่รวมถึง งานคุณภาพต่างๆมากมาย ต้องมีแบบประเมิน ตัวชี้วัดนู่นนั่นนี่ ที่คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด บางอันมันก็ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องทำเลย เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเราเปล่าๆ บางคนอาจจะบอกว่า “อดทนไปอีกหน่อยน่า เดี๋ยวเป็น ผอ. เดี๋ยวก็สบายแล้ว ค่อยไปเปลี่ยนแปลงตอนนั้นก็ได้” ผมกลัวว่าผมอาจจะไม่ไหวก่อนแก่น่ะสิ 555 ผมก็ไม่รู้ว่าจะทนรอไปถึงวันนั้นทำไม ในเมื่อตอนนี้เรามีทางเลือกที่ดีกว่าให้เลือก ทำไมเราถึงไม่เลือกมันล่ะ อีกอย่าง พ่อกับแม่ก็มีสิทธิข้าราชการของพ่ออยู่แล้ว ผมก็ทำประกันชีวิตไว้แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องใช้สิทธิข้าราชการอะไร

5.ผมรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป

รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอารมณ์ร้อนขึ้น หงุดหงิดง่ายกว่าเดิม เบื่อ ไม่มีความสุขในการทำงานเลย ทุกวันนี้ตื่นมาก็มานั่งถามตัวเอง นี่เรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่ นี่คือชีวิตที่เราต้องการจริงเหรอ เหตุการณ์มันเริ่มมาพีคตอนที่ผมเริ่มมีอาการเจ็บตานั่นแหละครับ ถ้ามีคนจำได้ คือตอนนั้นอยู่เวรติดกัน 2 วัน จะไปตรวจก็ไม่ได้ ไม่มีคนมาแลกเวร ตอนนั้นจะไปตรวจที่ รพ.ศ. ก็ต้องรอคิววันถัดไป ซึ่งถ้าผมไปตรวจ ก็จะมีน้องตรวจกันอยู่ 2 คน ผมก็สงสารน้อง ก็เลยเลือกที่จะไปตรวจที่ clinic แทน พอไปตรวจ ก็เป็นแผลที่กระจกตา (corneal ulcer) แล้วอาจารย์ก็นัดตรวจวันถัดไปเลย แต่ผมก็อยู่เวรอีก ก็ต้องไปทำงานทั้งที่ยังป่วยอยู่อย่างงั้น ตอนแรกเพื่อนคุยกับอาจารย์ว่าจะนัดวันตรวจที่ รพ.ศ. ให้ แต่ผมก็ปฏิเสธไป อาจารย์ก็เลยฝากเพื่อนมาบอกว่า “ถ้าเราป่วยเป็นอะไรไป เดี๋ยวเค้าก็หาคนมาแทนเราได้แหละ แต่คนที่จะเสียใจที่สุดน่ะ คือคนที่รักเรานะ” คำพูดนี้มันทำให้ผมฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้เยอะเลย เรามัวแต่ทำงานจนไม่ดูแลตัวเองเลยเหรอวะเนี่ย ตอนที่ไปตรวจตาซ้ำอีกวัน อาจารย์บอกว่าโชคดีนะ ที่มาตรวจเร็ว ไม่งั้นแผลใหญ่กว่านี้ อาจจะมีปัญหากับการมองเห็นของผมก็ได้ แต่สุดท้ายแผลก็ฝากแผลเป็นไว้ที่ตาผม (corneal scar) อยู่ดี อีกอย่างคือเดี๋ยวนี้เริ่มมีปัญหาปวดท้อง (Dyspepsia) มาบ่อยๆ จากกินข้าวไม่ค่อยตรงเวลาบ้าง กินเผ็ดบ้าง เคยได้ฉีดยาแก้ปวดเช้า-เย็น คาเข็มฉีดไว้อย่างงั้น แล้วก็ยังต้องมาทำงาน ตอนตาเจ็บก็ปิดตามาทำงาน รู้สึกสงสารตัวเองชิบ

จริงๆมันก็มีเหตุผลอย่างอื่นอีกแหละครับ แต่อาจจะเล่าได้ไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยผมก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองบ้าง ว่าอย่างน้อยเราก็ทนทำงานใช้ทุนจนครบเวลาได้ ผมเชื่อว่าถ้าระบบสาธารณสุขบ้านเรายังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ซักวันนึง ผมคงได้นั่งดูความ ship high ของระบบนี้ ทุกอย่างมันก็คงต้องพังลงมาแน่นอน

“เราใช้เวลา 6 ปี ในการสร้างหมอที่ดี 1 คน แล้วเราก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ทำให้ทุกอย่างมันพังลงมา”

ปล.ตอนนี้ผมก็ยังทำงานอยู่ที่เดิมจนถึงสิ้นเดือนนะครับ
ปล2.เดี๋ยวจะมาบอกว่าชีวิตหลังจากลาออกเป็นอย่างไร อิอิ
โดย: หมอหมู วันที่: 11 กรกฎาคม 2560 เวลา:20:35:45 น.
  
จาก post ของคุณหมอ Purit Deewan
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1555044907873315&set=a.361238537253964.93041.100001034620750&type=3&theater

#คนในอยากออก #คนนอกอยากเข้า

เสียดายไหม ตอบเลยว่ามาก ทุกวันนี้ยังมีความสุข(เป็นส่วนมาก)เมื่อตรวจคนไข้ เมื่อเช้าคนไข้ยังขอบคุณและขอให้ผมถูกหวยเลย เราก็ได้แต่ยิ้มๆแล้วบอกว่า ผมไม่เล่นหวยครับ
วันนี้จะมาขอระบายความในใจ ตลอด 6 ปี ที่เรียนและ 2 ปี ที่ก้าวเข้ามาเป็นหมอ

1. ตอนเรียนจบ เราภูมิใจมาก เพราะค่านิยมคนไทย หมอยังเป็นอาชีพที่นับหน้าถือตาอันดับต้นๆ

2. เด็กอายุ 18 จะรู้อะไร ว่าหมอต้องอดหลับอดนอนตั้งแต่ตอนเรียนและตลอดชีวิต สอบทุก 2 สัปดาห์ อ่านหนังสือยิ่งกว่าเตรียมสอบ admission ในเวลา 1 เดือน เจอคำดูถูกถากถางมานับไม่ถ้วน กว่าจะสร้างหมอคนนึงขึ้นมาได้

3. ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกคนมากจริงๆที่สร้างผมมา ถึงแม้วันนี้ผมจะทำตามปณิธานที่ให้ไว้ไม่ได้ก็ตาม

4. ที่ตัดสินใจแบบนี้ เราใช้เวลาคิดไตร่ตรองอยู่ 8 เดือน ไม่มีวันไหนเลยที่เราเปลี่ยนใจ เราไม่ได้เบื่อคนไข้ แต่เราเบื่อระบบ

5. ตอนแรกจะเรียนต่อสูติ ทำงานวันแรกเคสแรกก็รับเด็ก
คลอดตายในมือเลยจ้า CPR + UVC เอง อ.เด็กอึ้งเลย บอกทำเป็นด้วยหรอ แต่ก็นะเลยกลัวมาก เลยเบนไปรังสี ก็คะแนนรังสีไม่ดีอีก เลยจะเรียนพยาธิ แฟนก็ทักว่า เธอจะเอาอะไรกิน เลยมาใช้ทางพระพุทธเจ้า มองดูต้นเหตุ คิดไตร่ตรองกับตัวเอง ว่าทำไมเราโลเลจัง เราเลยมีสติ รู้แจ้ง อ๋อ เป็นเพราะเราไม่ได้ชอบอะไรเลยไง เราแค่จะเรียนต่อเพราะอยากจะออกไปจากการเป็นแพทย์ intern สุดท้าย เราไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปสู่บรรยากาศแบบนั้นอีกแล้ว

6. เวลาเป็นสิ่งที่ หมอไม่มี และมันเคยทำให้เรากับแฟนมีปัญหากัน เค้าบอกว่าเราไม่มีเวลาให้เขาเลย เคยต้องตื่นตี 4-5 ไป รพ. บางวันอยู่เวร 2 วันติด เหนื่อยมาก (เพื่อนเคยโดนจัดให้อยู่เวร 9 วันติด ไปท้วง อาจารย์บอกว่า "ถ้าพวกมึงมีปัญหามาก อยู่ไม่ไหวก็ไม่ต้องอยู่" เลยต้องไปช่วยเพื่อน แบ่งเวรมาอยู่โดยที่ไม่ได้บอกอาจารย์) กลับมาตอนเย็นไม่กินข้าวเย็นเพราะง่วงมาก ต้องนอนเลย ตื่นมา รพ. วนไป ทำแบบนี้ทุกวันหลายเดือน ไม่ได้คุยกับแฟน ไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่ ทั้งๆที่อยู่บ้านเดียวกัน

7. ปัญหาที่มีผลกระทบมากคือ การนอนหลับ เพราะเราเป็นคนหลับยาก ตื่นง่ายมาก แค่เปิดสวิตไฟก็ตื่นแล้ว อยู่เวรทุกครั้ง เครียดมากกับการต้องตื่นมาดูคนไข้หลังเที่ยงคืน เพราะมันจะทำให้เรานอนไม่หลับเลย เลยต้องพึ่งยา ativan 1 mg ต้องกินทุกครั้งก่อนอยู่เวร มันเลยกลายเป็นว่า วันที่ไม่อยู่เวร มันจะนอนไม่หลับ ถ้าไม่ได้กินยา ทุกวันนี้เลิกละ

8 .เอาเรามาทำงานหนัก ไม่ได้พัก เสียสุขภาพกายและจิต และต้องเสียอะไรหลายๆอย่างในชีวิต เราก็หวังว่าสิ่งตอบแทนที่ได้กลับมามันจะต้องสมผลกัน เงินมากน้อยไม่ว่า แต่คุณต้องจ่ายตรงเวลา ไม่ใช่ติดค้างจนจะเท่าเงินเดือน 1 เดือน บางที่มีการไม่จ่ายบอกหมอว่าให้บริจาคเงินให้ รพ.

9. หลายคนพูดว่าเป็นหมอต้องเสียสละ เวลาเราไปจ่ายตลาด เราไม่ได้เอาความเสียสละไปซื้อกับข้าว หรือเปล่า เลิกพูดสักทีเถอะ ว่ามึงเป็นหมอนะ ต้องเสียสละ

10. ต้องมีการกระจายงานที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ให้แค่แพทย์ใช้ทุนทำงาน อยู่เวรเป็นคนขับเคลื่อน รพ. โอเคให้เราทำงานหนัก แต่พอขอปรึกษาเคส แพทย์เฉพาะทางมีอารมณ์เวลารับปรึกษา (บางกรณี) และปฏิเสธการดูเคสด้วยซ้ำไปทั้งๆที่เป็นสาขาของตัวเอง บางทีก็สงสัยนะว่าที่เรียนต่อกันเพราะอยากสบายหรือ อยากจะเป็นหมอเฉพาะทางกันจริงๆ

11. ระบบเดิมเป็นมาอย่างไร วันนี้ก็คงยังเป็นเต่าล้านปีอย่างนั้น เราคนเดียวยากที่จะเปลี่ยน มันง่ายกว่าคือการเอาตัวเองออกมา

12. ผมแนะนำน้องๆหรือญาติคนไข้หลายๆคนที่อยากให้มาเป็นหมอแบบผม ว่า อย่ามาเรียนเลย และไม่อายปากด้วย ไม่อยากให้ใครมาเจอประสบการณ์แบบผม

13. ตอนไปสวิส คุยกับคนสิงคโปร์ เค้าถามเราว่า เวลาเข้า รพ. ครั้งนึงเสียตังประมาณเท่าไหร่ เราบอกว่าไม่ทราบ เพราะประเทศไทย ทุกคนฟรี และ doctor ต้อง hard working จริงๆ เค้าก็อึ้ง ทำหน้าตกใจ แล้วถามกลับ "งี้ก็แปลว่าคุณทำงานฟรีอะสิ"

14. ทำไมคน Gen ก่อนๆถึงมีความคิดว่า ข้าราชการ สธ. มันมั่นคง ผมกลับคิดว่ามันล่มแล้ว และมันจะแย่ลงเรื่อยๆ

สุดท้าย ผมอาจจะขาดคุณสมบัติกับตำแหน่งข้าราชการด้วยประการทั้งปวงที่กล่าวมา ขอมอบตำแหน่งให้คนอื่นๆที่พร้อมจะเสียสละสิ่งต่างๆข้างต้นมาทำงานแทนผมละกันครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 12 กรกฎาคม 2560 เวลา:20:45:18 น.
  
ธีระ วรธนารัตน์
Wed, 2017-07-12 16:18 -- hfocus
https://www.hfocus.org/content/2017/07/14216

กรณีศึกษาล่าสุดของน้องหมอที่ลาออกจากราชการ สะท้อนปัญหาสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

หนึ่ง ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ ระบบราชการที่เน้นอำนาจบนลงล่างในทุกระดับ ทำให้ไม่เหมาะกับยุคที่คนต้องการอิสระทางความคิด การทำงาน และความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นระบบงานที่ไม่เอื้อต่อสมดุลชีวิต มีงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสารจากการสั่งการนโยบายต่างๆ ถาโถมเข้ามาสู่ระดับปฏิบัติการ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีสวัสดิภาพและประสิทธิภาพ

สอง ปัญหาของคนในสังคมไทย ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความสุขสบายหรูหราฟู่ฟ่า และคลั่งไคล้ระบบทุนนิยมตะวันตก จึงอยากได้ อยากมี ความเป็นมาตรฐานระดับโลก มองการรักษาพยาบาลแบบซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่เตรียมใจรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการตรวจรักษา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากปัญหาเชิงระบบที่มีหน่วยงานหลายต่อหลายแห่งพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์มาตรฐานโรงพยาบาล ซึ่งแทนที่จะเกิดผลดี กลับเกิดผลเสีย เพราะทำให้คนเข้าใจกันผิดว่ามาตรฐานแปลว่าต้องไม่มีความผิดพลาด...

และสำคัญที่สุดคือ สาม ปัญหาของคนที่มาเรียนจนจบเป็นแพทย์ เป็นปัญหาตั้งแต่คนที่เข้ามาเรียนแพทย์ ที่หากรู้อยู่ว่าไม่อยากเรียน ก็ไม่ควรฝืนเรียน เพราะไม่มีแรงใจตั้งแต่ต้น แต่หากอยากเรียน จะด้วยเพราะอยากรู้จักชีวิตและร่างกายคน อยากดูแลคน อยากรักษาคนให้หายจากเจ็บป่วย อยากเห็นคนพ้นทุกข์ แม้จะไม่เก่ง ก็สามารถฝึกให้เก่งได้ เวลาทำงานก็จะมีความสุข

หากพิจารณาดีๆ จะพบว่า ไม่ว่าจะกรณีนี้หรือกรณีอื่นๆ ในอดีต น้องๆ ไม่ได้รับการเพาะบ่มให้มีภูมิต้านทานในชีวิตอย่างเพียงพอ ทำให้เวลาออกไปทำงานเจอปัญหาต่างๆ ก็ไม่สามารถปฏิบัติตนให้ทำงานอย่างมีความสุขได้ จะตำหนิน้องก็ไม่ได้ เพราะผมเองก็เคยเป็น และเจอโน่นนี่นั่นซึ่งเป็นเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมาไม่น้อย ตัดสินใจผิดพลาดในชีวิตหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายผ่านพ้นมาได้เพราะพระคุณของครอบครัวที่ให้กำลังใจ สนับสนุน และอดทน

สิ่งที่เป็นปัญหาของกรณีนี้คือ การที่มีเมตตากรุณามากเกินไปจนทำร้ายตนเองทั้งกายและใจ การมีเมตตาและกรุณานั้นดี แต่ต้องเดินด้วยทางสายกลาง ช่วยในสิ่งที่พอทำได้และไม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจตนเองจนเกินไป

หากย้อนกลับไปได้ อยากบอกน้องหมอว่า ระบบนั้นไม่ล่มสลายง่ายๆ ขาดตัวเราไป ก็จะมีคนมาแทน แต่จะดีเท่าเราหรือเปล่านั้นไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ค่อยมีคนมาเสียใจหรือใส่ใจกับการอยู่ของเรา แต่ครอบครัวและคนที่เรารักนั้นต้องการเรามากกว่า หากเป็นอะไรไป เค้าจะเสียใจที่สุด ดังนั้นต่อให้งานเยอะแค่ไหน ก็ต้องมีลิมิต รู้ว่าเวลาไหนควรกินข้าวก็ต้องกิน ไม่ใช่ฝืนไม่กินแล้วเจ็บป่วยไม่สบาย จะกลายเป็นเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

ยามไม่สบาย เช่น แผลที่ตา เรียนมาก็รู้ว่าเป็นโรคที่ต้องรีบรักษา ต่อให้ระบบโรงพยาบาลจะมีงานเยอะแค่ไหน นี่คือสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ต้องไปรักษาตัวเองก่อน ไม่ใช่ไปรักษาคนอื่นแล้วตนเองตาบอดหรือตาเป็นแผลเป็นตลอดไป กรณีแบบนี้ "ต้องยอมทิ้งงาน" และรักตัวเองก่อน

เฉกเช่นเดียวกัน หากคนไข้เยอะเกินกว่าคนในโรงพยาบาลจะรับไหวในระยะยาว ก็ต้องตัดสินใจกำหนดกฎเกณฑ์ของการให้การดูแลรักษาที่ทำได้จริง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามทรัพยากรจริงที่มี หากฝืนทำไปแบบเตี้ยอุ้มค่อม ปัญหาความผิดพลาดก็จะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ และมีการฟ้องร้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนในสังคมจะได้รับทราบ และปรับตัว ไปรับการดูแลรักษาที่อื่นหากทำได้ หรือปฏิบัติตนในแนวทางอื่นๆ อันสมควรแก่อัตภาพ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา...

พรหมวิหาร 4 เป็นแนวธรรมปฏิบัติเพื่อปกครองและอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่

เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์

มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

ดังนั้น การใช้ชีวิตของน้องหมอในปัจจุบันและในอนาคตนั้น จำเป็นต้องระลึกถึงปัญหา ทั้งจากระบบ จากคนในสังคม และจากตัวเรา คนอื่นๆ ทั้งนักบริหาร หรือคนในสังคม เค้าไม่มาแยแสอย่างที่เราอยากให้เค้าทำหรอก เพราะเราไม่ใช่ครอบครัวหรือคนที่เค้ารักจริง เวลามีสื่อหรือใครไปบีบให้เค้าแก้ปัญหา อย่างมากก็ออกมาแก้เกี้ยวไปวันสองวัน จากนั้นก็เหมือนเดิม

สิ่งที่จะจัดการได้...มีเพียงต้องปรับเปลี่ยนตัวเราเท่านั้น ให้เราสามารถอยู่รอดได้ ทำงานไปได้อย่างมีความสุข และอยู่กับคนที่รักเราและคนที่เรารักไปนานๆ

ด้วยรัก จากพี่ธีระ

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย: หมอหมู วันที่: 13 กรกฎาคม 2560 เวลา:20:18:35 น.
  
แถม... ความเห็น จาก พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาChurdchoo Ariyasriwatana
๒๙กรกฎาคม ๒๕๖๐

สาเหตุที่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ลาออกจากการทำงานในรพ.กระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง

ถ้าดูตาม Maslow's Hierarchy of Need ของปุถุชนโดยทั่วไปจะเห็นได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถได้รับการตอบสนอง “ความต้องการของมนุษย์ปุถุชน”คนธรรมดาได้ ตั้งแต่

1. ความต้องการขั้นพื้นฐานคือทำงานมากจนไม่มีเวลาพักผ่อนนอนหลับที่พอเพียง

--ไม่มีเวลากินอาหาร กลางวันตรวจผู้ป่วยยังไม่หมด ก็ไม่รู้จะได้กินข้าวไหม ตอนเย็นอยู่เวร ไม่มีเวลาไปกินข้าว เพราะผู้ป่วยเยอะมาก

--กลางคืนอยู่เวรต้องตื่นทั้งคืน หรือหลับๆตื่นๆเพราะถูกปลุก

-- เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ต้องอยู่เวรห้องฉุกเฉิน(หมอเฝ้าห้องฉุกเฉิน งานหนักกว่าเดิม ยิ่งเป็นเทศกาล นับศพคนตาย งานยิ่งเยอะ) ถ้าโชคดีไม่มีเวร (ยังมีกรรมอยู่)ก่อนจะไปพักผ่อนกับครอบครัวได้ ต้องไปตรวจรักษาผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลอีก ฯลฯ

2. ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน (ถูกเตะก้านคอ ถูกแทง ถููกประณามหยามเหยียด ถูกร้องเรียน ถูกฟ้องร้อง)

-- ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน (ในกรณีที่ไม่ได้บรรจุและเป็นลูกจ้างชั่วคราว แบบที่พยาบาลวิชาชีพเผชิญอยู่ในปัจจุบัน)

--ไม่มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับตนเองและครอบครัว เพราะค่าตอบแทนต่ำแม้ต้องทำงานมาก

3. ผู้ที่มารับการรักษาพยาบาลก็ไม่ให้ความเข้าใจว่างานยุ่ง ด่าว่า เร่งรัด ให้ต้องเร่งรีบทำงาน

-- ผู้บังคับบัญชาก็ไม่สนใจแก้ปัญหา(ไม่รักลูกน้อง) พอผู้ป่วยมีปัญหาแล้วผู้บังคับบัญชาก็ไม่ลงมาช่วยสอบถามรายละเอียดและเหตุผลว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพื่อออกข่าวให้สังคมเข้าใจมีแต่ บอกว่าจะตั้งกรรมการสอบสวนอย่างเดียว

4. อยากไปทำงานที่ไหนก็เลือกไม่ได้ อยากเรียนอะไรก็ไม่ได้เรียน

-- ถ้าไปเรียนในสาขาที่ไม่อยากเรียน ไม่มีความถนัด ก็คงไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนในการรสร้างสรรค์ผลงานได้เต็มที่ และก็คงไม่มี “ความพึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ” (Self-fulfillment) ได้เลย

5. และยังมีสถานที่ทำงานอื่นให้เลือกได้ มีอาชีพอื่นให้ทำได้

--จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมหรือเพราะอะไร หมอจึงลาออกจากราชการกระทรวงสาธารณสุข

ถ้าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมี "กึ๋น" ก็ต้องแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่เท่าที่สังเกตมาหลายสิบปี ยังไม่เห็นใครลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้เลย

ส่วนคนที่ลาออกแล้วก็ขอให้โชคดีกับชีวิตที่เราเลือกเองได้

--ส่วนคนที่อดทนและเสียสละทำงานอยู่ในกระทรวง เพราะเมตตาธรรม คุณธรรม จริยธรรม หรือเหตุผลอื่นใด ก็ขอเอาใจช่วย ให้อยู่รอดปลอดภัย มีความั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดลใจให้ผู้บริหารประเทศมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ในไม่ช้า

https://www.facebook.com/churdchoo.ariyasriwatana/posts/10154888663745208

..............................
โดย: หมอหมู วันที่: 29 กรกฎาคม 2560 เวลา:14:19:10 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด