เขาตราหน้า ว่าหมอฆ่าคน : หนังสือ ชนะเลิศรางวัลชมนาด "The Best Of Non-Fiction" ครั้งที่ ๔



หนังสือเรื่อง"เขาตราหน้า ว่าหมอฆ่าคน" ชนะเลิศรางวัลชมนาด "The Best Of Non-Fiction" ครั้งที่ ๔

เขียนโดย แพทย์หญิง "สุดานี บูรณเบญจเสถียร" หรือเจ้าของปลายปากกา"อู๋ฮุ่ยเซียง"

ซึ่งเธอนั้นใช้เวลาในการรังสรรค์ผลงานนานถึง 2 ปีเต็ม โดยหยิบยกเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงในชีวิตมาถ่ายทอดผ่านปลายปากกาหลังจากที่เธอนั้นเคยถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นฆาตกร และถูกฟ้องร้องคดีอาญาโดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้คนไข้ถึงแก่ความตายแต่เธอยังคงทำหน้าที่ต่อไปภายใต้แรงกดดันจากคดีความดังกล่าวงานนี้เธอจึงต้องการให้สังคมได้รับรู้ถึงจรรยาบรรณในการทำงานของแพทย์อย่างแท้จริงและอยากให้ผู้ป่วยรวมถึงญาติพี่น้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้หันมาเข้าใจกันและกันมากขึ้น

//www.thairath.co.th/clip/23394

//wholesale.se-ed.com/Quotation/Products/Detail.aspx?No=9786165106078

.....................


จากเรื่องฟ้องร้องออกมาเป็นหนังสือเล่มอย่างไร ?

พญ.สุดานีบูรณเบญจเสถียร หรือ หมอเซียง

เหตุการณ์จริงที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องคืออะไร ?

เมษายน ปี 2550ผู้ตายมาคลอดลูกด้วยภาวะปกติ ระหว่างคลอดเกิดน้ำคร่ำหลุดในกระแสเลือดและปกติภาวะน้ำคร่ำหลุดในกระแสเลือด เป็นภาวะที่อันตรายที่ไม่เลือกว่าจะเกิดกับใคร บอกไม่ได้จะเกิดกับใคร ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงโดยส่วนใหญ่จะเกิดที่อัตรา 1 ต่อ 80,000 คนและจะเกิดเมื่อผ่านกระบวนการการคลอดและน้ำคร่ำหลุด ไม่ว่าจะผ่าคลอด คลอดปกติหรือขูดมดลูกก็สามารถเป็นได้หมดสรุปคือถ้าเป็นผู้หญิงที่ตั้งท้องก็เป็นได้ทุกคน

ในเวลานั้นเราอยู่ในเหตุการณ์ที่ช่วยเหลืออย่างเต็มที่สามีเขาก็เห็น และเนื่องจากว่า ผู้ตายมาด้วยภาวะปกติทำให้ญาติและชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก ก่อนหน้าฟ้องร้อง เราได้ช่วยเหลือเยียวยาพยายามเจรจา ช่วยค่าปลงศพ และทุกๆ อย่าง แต่สุดท้ายเขาก็ฟ้องเรา นอกจากโดนฟ้องแล้วชาวบ้านก็มาที่โรงพยาบาล ขึ้นคัตเอาท์ว่า "หมอฆ่าคน"บางทีตามมาที่บ้านหรือไปโรงเรียนลูก สุดท้ายลูกต้องย้ายโรงเรียนขณะที่พยายามต่อสู้คดีอย่างมาก

ตอนนั้นทีมกฎหมายและแพทย์คนอื่นๆมีความคิด 2 ทาง สำหรับคดีเรา คือสนับสนุนให้การเจรจายอมความให้ยอมจ่ายเท่าที่เขาเรียกร้อง เรื่องจะได้จบๆ แต่อีกฝ่ายบอกว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าหมอรักษาคนไข้แล้วไม่หายก็หมายความว่าต้องกลายเป็นฆาตกร ระหว่างนั้น เราไปที่ไหนก็มีแต่คนเรียกว่า"หมอฆาตกร" เจ็บมาก

คิดว่าทำไมเรื่องนี้ลุกลามใหญ่โตมากไปทั้งอำเภอ ?

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความไม่เข้าใจของชาวบ้านและถ้าหมอมองถอดประสบการณ์ก็คงมองได้2แบบคือ คนที่เสียชีวิตก็มีคนรักเหมือนๆ กับเรา และเมื่อเสียชีวิตก็อาลัยส่วนอีกแบบคือ หลายๆ คนก็คงอยากแสดงความรู้สึกต่างๆ แสดงตัวตนว่ามีส่วนร่วมในสังคมซึ่งคนที่ต้องการสร้างบรรทัดฐานเหล่านี้ บางครั้งก็พูดออกไปโดยที่ไม่ยั้งคิดก่อนบางครั้งคนเหล่านี้เป็นผู้มีอิทธิพลในสังคม

คนที่ไม่พอใจต่อเรื่องนี้ไปที่โรงเรียนลูกของหมอ เขาไปทำไม ?

ขอเรียกเขาว่ากลุ่มคนหวังดีทางฝั่งโน้น เขาอยากไปเพราะอยากรู้ว่าหมอคนนี้คือใครตอนนั้นจะมีคนแบบนี้เยอะมาก มาหาเราแล้ว...คนนี้คือหมอสุดานีเหรอ? คนนี้หมอเซียงเหรอ? คนนี้ฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตายเหรอ? คนที่ไปโรงเรียนลูกเราก็คือเขาเป็นหนึ่งในผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียนนั้นและในชุมชนแม่จันที่เป็นชุมชนเล็กๆ ใครๆ ก็รู้จักว่าเราเป็นหมอ เขารู้ว่าเรามีลูกเขาอยากไปดูหน้าลูกเรา แล้วเขาก็บอกว่า "อุ้ย เด็กนี่น่ารักเนอะแต่เสียดายแม่ฆ่าคน" หมอเอาลูกออกจากโรงเรียนเลย รู้สึกอันตรายแล้ว ตอนแรกลูกอยู่โรงเรียนเอกชนก็ต้องย้ายไปโรงเรียนรัฐบาล ส่วนตอนที่มีคนไปที่บ้านเพราะในชุมชนเขาเข้าใจว่าหมอรวย เขาก็อยากรู้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน พอไปดูเขาก็บอกว่า"อุ๊ย รวยมากเลย อย่างนี้ต้องเอาสิบล้าน" เป็นอารมณ์ที่อยากรู้น่ะสิบล้าน เราไม่มีเงินหรอกมากขนาดนั้นหรอก

ระหว่างต่อสู้คดีครอบครัวได้รับผลกระทบยังไงบ้าง ?

ลูกกลัวตลอดเวลาว่าแม่จะถูกจับตัวไปเข้าคุกเพราะฉะนั้นมันกระทบทางจิตใจมาก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสามี ก็เริ่มเห็นว่าเจตนคติแต่ละคนในเรื่องนี้มีความแตกต่างกัน แต่สำหรับเหตุการณ์นี้เราก็เห็นว่าเราเป็นต้นเหตุของการทำให้ครอบครัวเป็นทุกข์ บางเรื่องเราก็เก็บๆ ไว้ ไม่เล่าให้สามีฟังแต่เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มขัดแย้งกันในครอบครัวเรื่อยๆสุดท้ายก็จบด้วยการแยกทางกัน

การแยกทางกันเป็นเพราะมาจากการสู้คดีนี้ ?

บางคนบอกว่านี่มันคนละเรื่องกัน การฟ้องร้องกับขอหย่า แต่ความจริงมันเป็นประเด็นสำคัญเลยเพราะระหว่างถูกฟ้องร้อง มีช่วงที่เราทำกระบวนการขอประกันตัวไม่ทันด้วยความไม่รู้กฎหมาย เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขังใต้ศาล สามีมาเห็นก็บอกว่าอย่าไปเป็นหมอเลย เพราะเป็นหมอแล้วยังต้องมาเข้าคุกอีก ที่จริงเขาก็ปราถนาดีแต่คนเรามีวิธีการแก้ปัญหา หรือมุมมองเรื่องนี่ที่แตกต่างกัน เรื่องการสู้คดีสามีอยากให้เราสู้ด้วยการฟ้องกลับ แต่สำหรับเราคิดว่าฟ้องกันไปมาไม่มีประโยชน์ต้องดีลกับเรื่องพวกนี้ไปอีกเรื่อยๆ พอเรามีเรื่องอะไรก็ไม่ค่อยอยากบอกเขาจนมาถึงจุดแตกหัก เขาบอกว่า ไม่ไหวแล้ว การอยู่กับหมอนี่ทำให้เขาลำบากเหลือเกินเขาก็ขอหย่า

เราไม่เตรียมตัวที่จะหย่าเลยนะไม่คิดเลย แต่เขาคงไม่ไหวของเขาจริงๆ ตอนหย่าวุ่นวานมาก ย้ายออกมาจากบ้านของเขาและเอาลูกสองคนไปอยู่กับบ้านพี่สาวสองคนที่เรานับถือระหว่างนั้นเราก็สร้างบ้านใหม่ของตัวเอง หลังจากมีบ้านเป็นของตัวเองและเริ่มนิ่งถึงได้มาเริ่มเขียนหนังสือ

หมอมองเรื่องกฎหมายไทยในเรื่องการต่อสู้คนไข้กับหมอเป็นยังไง ?

ความจริงกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ดีทำให้หมอกับคนไข้สามารถคุยและชี้แจงต่อกันได้แต่ช่องโหว่มันมีอีกเพราะการรักษาคนไม่เหมือนกันมันไม่มีคำว่า 100% ใน medicine (การแพทย์)นะ กว่าจะแปลงภาษาหมอให้เป็นภาษาธรรมดาก็ยากมาก แล้วถ้าเกิดเรื่องสุดวิสัยขึ้นมาหมอก็ไม่รู้จะแปลความที่ไม่ 100% นี้ให้ประชาชนเข้าใจได้ยังไง สำหรับหมอคนอื่นมีทั้งโกรธกับเรื่องแบบนี้และการมีอัตตาของหมอแต่ละคนด้วยก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนไข้ได้ ส่วนคนไข้ก็จะมีความรู้สึกโกรธและมีความคาดหวังต่อกรณีแบบนี้ ณตอนนี้การทำงานของหมอไม่ได้สู้กับโรคภัยไข้เจ็บหรอกเราสู้กับความคาดหวังของแพทย์เองกับความคาดหวังกับประชาชนแล้วก็ต้องสู้กับความกลัวของแพทย์เองและความกลัวของประชาชน ไม่ไว้ใจกันและกันหมอเขียนหนังสือไว้ว่า มันเป็นสัมพันธภาพที่แห้งแล้ง

ระหว่างการต่อสู้คดีเพื่อนๆ หมอคนอื่นว่ายังไงบ้าง ?

เขาก็โกรธแทน เพราะเขารู้ว่าเรามีลักษณะอย่างนึงคือเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสคือต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และเขารู้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ใครๆ ก็รู้ว่าเหตุการณ์อย่างนี้รักษาไม่ได้ มันยากมาก ถ้าเกิดเหตุนี้ขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็จะเสียชีวิตและถ้ารอดอาจเป็นเจ้าหญิงนิทรา เพื่อนๆหมอจึงโกรธแทน หมอในโรงพยาบาลก็เริ่มรู้สึกไม่ดีกับคนไข้คือกลัวเพราะเราเอาความกลัวเข้ามาแล้ว แทนที่จะทำงานตรวจคนไข้ รักษาเพื่อให้หาย แต่อีกด้านถ้าเรารักษาแล้วไม่หายและเสียชีวิต เขาจะกลับมาฟ้องเราที่จริงระหว่างการสู้คดีของเรา ก็มีเหตุการณ์อย่างนี้อีกที่โรงพยาบาลมีหมออีกคนถูกฟ้องคดีแพ่งและเขาก็แพ้คดี ระหว่างนั้นโรงพยาบาลดราม่าทั้งโรงพยาบาลพยาบาลก็ไม่กล้าทำงาน หมอสั่งให้ฉีดยาให้คนไข้ พยาบาลก็กลัว ส่วนกรณีหมอรักษาคนไข้ในวาระสุดท้ายก็มีความระแวงสูง การตรวจคนไข้ของหมอช่วงปีที่สองที่สู้คดีก็ต้องทำอย่างช้ามากเพื่อให้มั่นใจ ส่วนหมอที่ประสบปัญหาที่ระแวงในการรักษากลุ่มหนึ่งในที่สุดก็ไปจากโรงพยาบาลแม่จัน

ในระหว่างที่เราแย่มากๆนี้เรามีเพื่อนที่ดี มีแพทยสภาที่เซ็นหนังสือค้ำประกันให้เรากลับมาเป็นหมอต่อ ส่วนวงการกฎหมายที่ช่วยคือ ท่านอัยการสุนทรทองสุก ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ตอนที่เราสู้คดี ท่านสอนเราว่าในระหว่างกระบวนการชั้นศาลต้องปรับตัวยังไงบ้าง และสอนเรื่องชีวิตเสมอว่า เราเป็นคนแบบเป๊ะๆมากไป ต้องรู้จักฟังคนอื่นบ้าง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

สุดท้ายคดีนี้จบยังไง ?

สุดท้ายคดีจบที่เขายอมถอนฟ้อง เขาเข้าใจและเราก็กลายเป็นเพื่อนกัน มีหลายคนก็แปลกใจว่าทำไมยังเป็นเพื่อนกันได้เนี่ย แต่เรารู้สึกว่าทำไมจะเป็นไม่ได้เพราะคนที่เป็นเพื่อนกันก็คือคนที่ได้ผ่านประสบการณ์ได้เรียนรู้เหมือนๆ กันมา อีกอย่างเราก็เป็นเพื่อนมนุษย์กันเกิดแก่เจ็บตายเหมือนๆ กัน แล้วเราจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้เลยเหรอ

มีทัศนคติต่อวิชาชีพหมอก่อนและหลังถูกฟ้องคดีนี้ยังไงเปลี่ยนไปมั้ย ?

ตอนแรกก็โกรธ ยิ่งช่วงที่คิดว่าจะฟ้องกลับดีมั้ยจะสู้หรือไม่สู้ เราก็โกรธ แต่คนที่มาเปลี่ยนทัศนคติคือลูกชายซึ่งตอนนั้นเขาอายุ 11 ปี เขาบอกเราว่าความจริงที่คนต้องมาฟ้องแม่ เป็นเพราะเขามีคนที่รักและเมื่อเขาต้องสูญเสียไปเขาก็ต้องเสียใจ และในความเสียใจนั้นแม่ต้องสงสารเขา ในเมื่อแม่ตั้งใจทำดีที่สุดและไม่อยากให้ใครเสียชีวิต แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ นะ ในตอนคนเขาโกรธอยู่ แม่จะอธิบายยังไง เขาก็ไม่อยากฟังหรอกระยะเวลาที่ผ่านไปจะช่วยให้เขาเข้าใจเอง แม่ยังมีคนส่วนหนึ่งบอกว่าแม่ทำความดีแล้วถ้าแม่ทำความดีแม่จะหยุดเหรอ นี่คือที่ลูกบอกหมอ

ถ้าอย่างที่หมอบอกว่าต้องทำงานบนความระแวงกับคนไข้ที่จริงแล้วเรายังเป็นหมอไปเพื่ออะไร ?

ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจต้องการจะทำดี คนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย พวกนี้เป็นความทุกข์ ไหนๆจะทุกข์แล้ว หมอก็อยากให้มันทุกข์น้อยๆ หน่อย คนไข้ในชนบทคนไม่มีเงินนี่ทุกข์มากนะ หมอก็มีหน้าที่ช่วย ประสบการณ์สอนเราว่า เราช่วยไปเถอะไม่ต้องหวังอะไรมาก เดี๋ยวจะมีเรื่องดีๆ ตอบแทนมา

ชาวบ้านมีท่าทีเปลี่ยนไปมั้ย ?

ก็ดีขึ้นเยอะนะกลุ่มที่เป็นคู่กรณีก็กลับมารักษาที่โรงพยาบาล มีทีท่าดีขึ้น เป็นมิตรขึ้นเราก็ดีกลับไปให้เขาด้วย


จากเรื่องฟ้องร้องออกมาเป็นหนังสือเล่มได้ยังไง ?

เรื่องของเราเป็นเรื่องจริงแต่เขียนเชิงนวนิยายให้อ่านแล้วน่าติดตามพอเรื่องนี้ต้องไปสู่สาธารณชนก็ต้องสนุกและเราก็ตัดเรื่องที่อาจทำให้สังคมร้าวฉานเราก็พยายาม search หาสำนักพิมพ์อะไรบ้าง พยายามจะนำไปเสนอเหมือนกัน แต่หนึ่ง หมอไม่มีทักษะในการเขียน สอง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเราไม่ใช่คนเด่นดัง เขาก็ไม่เอาเรื่องเรา น้องสาวแนะนำว่าอย่างนั้นเราต้องเอาไปประกวด ก็มาส่งรางวัลชมนาดเพราะว่ารางวัลชมนาดเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนผู้หญิง ถ่ายทอดมุมมองสังคมของผู้หญิงแล้วเรื่องของเรามันเป็นเรื่องจริงด้วย ก็เลยเอาไปประกวด

การเขียนช่วยเยียวยาตัวเองมั้ย ?

จริงการเขียนมันทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ในบางครั้งบางคราว หมอเลยไม่แปลกใจว่าทำไมคนอื่นถึงมองหมอแบบนั้น เราก็ผิดเหมือนกันนะ คนเราไม่มีใครถูกไปทั้งหมดอีกอย่างหนึ่งคือ ได้เห็นซึ่งการดำเนินต่อไปในชีวิตของเรา ว่าจะเดินทางในเส้นไหนดีและถ้าเราเดินทางในเส้นนี้ เราจะเดินทางด้วยความหวาดระแวงหรือว่าเราจะเดินด้วยความสุขใจที่ได้เดิน

อยากสื่อสารอะไรกับสังคมเมื่อมาเขียนหนังสือ ?

อยากจะรู้ว่าคนจะคิดอย่างไรกับวงการแพทย์ และวงการแพทย์จะปรับตัวอย่างไร อยากให้สัมพันธภาพที่ดีของแพทย์กับคนไข้กลับมาไม่อยากให้มันแห้งแล้ง ระแวดระวัง และไม่สร้างสรรค์และถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างเหตุการณ์ เราก็ควรต้องนั่งลงคุยกันดีๆแบบถอดหัวโขนออก แพทย์ก็อย่าไปคิดว่า ฉันอุตส่าห์ทำดีแล้วทำไมเธอมาทำอย่างนี้กับฉัน คนไข้ก็บอกว่า ก็เพราะเธอนั่นแหละ แบบนี้ไม่สนุกปัญหาแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด คงไม่มีหมอคนไหนก้าวขาออกจากบ้านแล้วคิดว่าวันนี้ฉันจะฆ่าใครสักคน ไม่มีหรอก เราปราถนาดีกันทั้งนั้นเราต้องหาทางออกในเชิงสร้างสรรค์

โดยปกติสนใจวรรณกรรมมั้ย ?

ชีวิตหมอบ้านนอกเวลาส่วนตัวไม่มีเลยเวลากินข้าวแทบไม่มี อ่านหนังสือบ้าง นิดๆ หน่อยๆ นวนิยายก็แทบไม่ได้อ่านเลยหนังสือที่อ่านเป็นหนังสือแนวเชิงคิดวิเคราะห์ หลังๆ เริ่มอ่านธรรมะเริ่มสงสัยว่าตัวเองแก่แล้ว (หัวเราะ)

คิดว่าจะมีงานเขียนอีกมั้ย ?

มีคนถามเหมือนกันจริงๆ เราก็มีคำถามเหมือนกันว่าลูกทั้งสองของเรายังเป็นเด็กดีระหว่างที่เจอเหตุการณ์ครอบครัวอย่างนี้เรามีช่วงไม่มีบ้านจะอยู่ ต้องกระเตงกันไปมา ทำไมลูกเรายังมีความคิดดีๆอย่างนี้อยู่ เราก็คิดว่า ในฐานะของความเป็นแม่หม้ายกับเด็กบ้านแตกเราช่วยกันประคับประคองชีวิตยังไงให้เรามาอยู่จุดนี้ได้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องนี้ล่ะ คิดว่าภาคสองก็คงเป็นเรื่องระหว่างการถูกขอหย่า




.........................

หมายเหตุ ...

ข่าว
แจงเหตุแม่คลอดลูกตายที่เชียงรายเผยน้ำคร่ำอุดตันเส้นเลือด โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 เมษายน 2550

//www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9500000040818

สธ.แจงเหตุแม่คลอดเสียชีวิตที่เชียงรายผลการผ่าศพชันสูตรพบเกิดจากน้ำคร่ำอุดตันเส้นเลือด พบได้ 1 ใน 80,000โอกาสรอดชีวิตน้อยมาก สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสร้างความเป็นธรรมชี้แจงญาติให้เข้าใจ ขณะที่ สสจ.เชียงรายเตรียมพิจารณาค่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบรรเทาความเดือดร้อน

จากกรณีที่มีข่าวทางสื่อมวลชนว่าหญิงตั้งครรภ์ชื่อนางอนงค์ คงปารีย์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27/1 หมู่ 5บ้านห้วยน้ำราก อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงรายเมื่อคืนวันที่ 5 เมษายน 2550 แต่ต่อมาเสียชีวิตโดยสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าวญาติคิดว่าเกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ นั้น

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ความคืบหน้ากรณีนี้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง1 ชุด เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายโดยหลังจากนางอนงค์เสียชีวิตได้ส่งศพไปตรวจชันสูตรเพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากน้ำคร่ำอุดตันเส้นเลือด (Amniotic Fluid Embolism)

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่าภาวะน้ำคร่ำอุดตันในเส้นเลือด จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการคลอด พบได้ 1 ใน 80,000ของการคลอด เป็นอาการแทรกซ้อนที่มีอันตรายรุนแรงมาก มีโอกาสรอดชีวิตน้อยมากโดยเกิดจากถุงน้ำคร่ำที่หุ้มตัวทารกขณะที่อยู่ในครรภ์เกิดแตกออกในช่วงที่มารดาเริ่มเจ็บท้องหรือช่วงคลอดทำให้น้ำคร่ำรวมทั้งชิ้นส่วนของทารกเกิดหลุดเข้าไปตามรูแตกบนเส้นเลือดที่ตัวมดลูกไปอุดอยู่ตามเส้นเลือดเล็กๆ ของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย และที่สำคัญที่สุด คือปอด ทำให้เกิดการอุดตันและหดเกร็งของเส้นเลือดในปอด ร่างกายจึงขาดอากาศ และทำให้หัวใจล้มเหลวตามมาเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปุบปับ คาดไม่ถึง และเสียชีวิตในที่สุดส่วนทารกจะเสียชีวิตตามมารดาเพราะขาดออกซิเจน

“ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่แน่นอนที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้แต่ผู้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าคนท้องทั่วไป คือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก มีบุตรหลายคน อ้วน มีบุตรตัวโตถึงแม้ว่าภาวะแทรกซ้อนหลายๆ อย่าง ที่อาจเกิดขึ้นในคนท้องซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้แม่เสียชีวิตได้นั้น อาจจะป้องกันไม่ได้ก็ตามแต่การฝากท้องแต่เนิ่นๆ และฝากอย่างสม่ำเสมอที่สถานบริการสาธารณสุขก็ยังเป็นสิ่งที่คนท้องควรปฏิบัติ เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างมากช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาที่จะเกิดจากโรคบางอย่างที่แม่มีอยู่และแพทย์จะได้มีโอกาสคัดกรองโรคบางอย่าง หรือจะได้ป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นเช่น ซีด เพื่อที่แม่และลูกจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง” นพ.สุพรรณกล่าว

ทางด้านนพ.เทพนฤมิตร เมธนาวินนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขเชียงรายได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาตรวจสอบข้อเท็จจริง 1 ชุด เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2ฝ่าย โดยจะชี้แจงทำความเข้าใจสาเหตุการเสียชีวิตกับญาติขณะเดียวกันจะนำผลการตรวจสอบดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบรรเทาความเดือดร้อนกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพโดยเร็ว


......................



ศิลป์สโมสร : "เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน" รางวัลจากฝันร้าย (11 ส.ค. 58)



เจาะข่าวเด่น วันที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นหมอฆาตกร (17 ส.ค. 58)



เจาะข่าวเด่น วันที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นหมอฆาตกร ตอน2 (19 ส.ค. 58)






Create Date : 16 สิงหาคม 2558
Last Update : 2 กรกฎาคม 2560 20:53:44 น.
Counter : 1588 Pageviews.

2 comments
  
ลิงค์บทความที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องทางสูตินรีเวช ..
เขาตราหน้า ว่าหมอฆ่าคน : หนังสือ ชนะเลิศรางวัลชมนาด "The Best Of Non-Fiction" ครั้งที่ ๔ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-08-2015&group=7&gblog=192

ครรภ์เป็นพิษ ..... พญ. ชัญวลี ศรีสุโข https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-06-2013&group=4&gblog=100

โชคดีที่ไม่เรียนวิชาสูติศาสตร์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=7&gblog=14

มดลูกเกือบแตก https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=07-02-2009&group=7&gblog=15

มดลูกแตก ..... ( ความรู้ ประกอบการติดตามข่าว ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=4&gblog=68

โรคน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด .... ( ความรู้ ประกอบ การติดตามข่าว ) https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-02-2009&group=4&gblog=69

โดย: หมอหมู วันที่: 20 สิงหาคม 2558 เวลา:21:45:29 น.
  
" เมื่อมาเขียนหนังสือ อยากจะรู้ว่าคนจะคิดอย่างไรกับวงการแพทย์ และวงการแพทย์จะปรับตัวอย่างไร อยากให้สัมพันธภาพที่ดีของแพทย์กับคนไข้กลับมา ไม่อยากให้มันแห้งแล้ง ระแวดระวัง และไม่สร้างสรรค์ และถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างเหตุการณ์นี้ เราก็ควรต้องนั่งลงคุยกันดีๆ แบบถอดหัวโขนออก แพทย์ก็อย่าไปคิดว่า ฉันอุตส่าห์ทำดีแล้ว ทำไมเธอมาทำอย่างนี้กับฉัน คนไข้ก็บอกว่า ก็เพราะเธอนั่นแหละ แบบนี้ไม่สนุก

ปัญหาแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด คงไม่มีหมอคนไหนก้าวขาออกจากบ้านแล้วคิดว่า วันนี้ฉันจะฆ่าใครสักคน ไม่มีหรอก เราปราถนาดีกันทั้งนั้น เราต้องหาทางออกในเชิงสร้างสรรค์ "

//www.hfocus.org/content/2015/08/10737

โดย: หมอหมู วันที่: 30 สิงหาคม 2558 เวลา:13:54:41 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด