ปวดกระบอกตาเกิดจากสาเหตุอะไร ![]() อาการปวดกระบอกตานั้นพบว่ามีผู้ที่เกิดอาการนี้ได้เป็นจำนวนมาก บางรายรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่หาย ยังคงเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ และเป็นอาการที่สร้างความรำคาญหรือความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นประจำ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันหรือเกิดจากโรคร้ายแรงก็ได้ กระบอกตาคืออะไร ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า กระบอกตาคือกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ ดวงตา บริเวณนี้มักจะมีปัญหาการปวดเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ซึ่งอาจเกิดจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อต้นคอหรือมีการปวดร้าวไปทั่วบริเวณขมับและหน้าผาก ปวดกระบอกตาเกิดจากสาเหตุอะไร การปวดกระบอกตาจะมีอาการปวดร้าวหรือรู้สึกตึงจากบริเวณด้านหลังของดวงตา โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งโรคที่เกี่ยวกับศีรษะหรือดวงตาดังนี้ - กล้ามเนื้อตาล้า เกิดจากการใช้สายตาอย่างหนัก โดยใช้สายตาเพ่งกับสิ่งที่ละเอียดใกล้ๆ เป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด และการจ้องมองจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น สายตาสั้น ยาว เอียง ทำให้ขณะมองวัตถุต่างๆ จำเป็นต้องเพ่งเพื่อให้การมองชัดขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยๆ ในผู้ที่มีอายุมาก - โรคต้อหิน โรคนี้จะทำให้ความดันในลูกตาสูง จนส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะและลามมาที่กระบอกตาได้ - โรคไซนัสอักเสบ จมูกมีอาการคัดแน่นหายใจไม่ออก ปวดโพรงจมูก มีไข้ และรู้สึกอ่อนเพลีย อีกทั้งยังทำให้ปวดบริเวณโพรงจมูกจนถึงรอบดวงตา - โรคไมเกรน โรคนี้หากเกิดการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด ร้อนจัด ความเครียด หรือนอนไม่พอ ก็จะทำให้ปวดศีรษะจนรู้สึกปวดร้าวมาที่กระบอกตานั่นเอง - โรคเกรฟส์ สาเหตุเป็นเพราะร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาทำลายตนเอง อีกทั้งยังปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อตาโปนและปวดด้านหลังดวงตาหรือกระบอกตา การรักษาอาการปวดกระบอกตา การรักษาอาการปวดกระบอกตาจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่ามีสาเหตุมาจากโรคอะไร เมื่อพบสาเหตุแล้วก็จะใช้วิธีการรักษาไปตามโรคนั้น อาการปวดกระบอกตาจึงจะบรรเทาลง - กล้ามเนื้อตาล้า เป็นเพราะใช้กล้ามเนื้อตาในท่าซ้ำๆ มากไป สามารถรักษาได้จากการนวดตาด้วยนิ้วมือ กระพริบตาบ่อยๆ หลังจากนั้นให้พักสายตาและกลอกตาเป็นวงกลม ซ้ายไปขวา รวมทั้งบนลงล่างจนกว่าจะหายปวด หากมีอาการตาแห้งก็ให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดร่วมด้วยก็ได้ - โรคต้อหิน ใช้ยาหยอดตาที่ทำให้ม่านตาแคบลงเพื่อลดความดันตา และเมื่อความดันตาลดลงก็อาจจะต้องระบายของน้ำในลูกตาออก อีกทั้งยังรักษาด้วยการทำเลเซอร์เพื่อทำให้การไหลเวียนของน้ำในลูกตาเป็นไปอย่างปกติ - โรคไซนัสอักเสบ รักษาได้จากการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและรับประทานยาแก้ปวด หรือหากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อร่วมด้วย ถ้าเป็นมากอาจจะต้องรับการผ่าตัด อาการปวดกระบอกตาจึงจะหายไป - โรคไมเกรน รักษาด้วยการใช้ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน และอาจใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ - โรคเกรฟส์ แพทย์จะให้ยาที่ช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมกับการให้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน หรือการผ่าตัดแล้วรับประทานยาทดแทนฮอร์โมน การป้องกันและการดูแลตัวเอง อาการปวดกระบอกตาเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากโรคบางโรคและหลายสาเหตุ ดังนั้นการใช้ยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือสมุนไพรก็ไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือรับประทานโดยปราศจากการหาสาเหตุของอาการปวดนี้ได้ วิธีการป้องกันจึงยังไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอนและชัดเจน เราจึงควรดูแลสุขภาพเบื้องต้นตามหลักสุขอนามัยทั่วไป เพื่อช่วยไม่ให้เกิดโรคที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดกระบอกตา อาการปวดกระบอกตาสามารถรักษาได้ด้วยการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของดวงตาให้หาย ถ้าปวดไม่มากก็ให้รับประทานยาแก้ปวดได้ แต่หากพบว่ามีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นหรือปวดบ่อยๆ ร่วมกับมีไข้สูง จะต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างเหมาะสมต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : honestdocs.co ดูบทความดีๆได้ที่ : //www.thaihomeonline.com หรือ LINE@ : @thaihomeonline ครบเครื่องเรื่องบ้าน คอนโด การลงทุน คลิกเลย : https://www.thaihomeonline.com |
บทความทั้งหมด
|