นกกะรางหัวขวาน
นกกะรางหัวขวาน Upupa epops (Common Hoopoe) ไม่ใช่นกหัวขวาน และไม่สามารถใช้ปากเล็กๆโค้งยาวบอบบางที่มีเจาะไม้ได้แน่ๆ นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว30เซ็นติเมตร รูปร่างเพรียว หัวเล็ก ปากเล็กยาวโค้งลงเล็กน้อยสีค่อนข้างดำ มีหงอนบนหัวที่สามารถกางแผ่ออกได้เหมือนพัด สีสันโดยรวมทั้งตัวรวมทั้งขนหงอนเป็นสีน้ำตาล ปลายขนหงอนมีแต้มสีดำ ปีกสีดำสลับขาว ขนหางสีดำมีแถบคาดสีขาวไล่ระดับกันลงมาในแต่ละเส้น ลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







เราสามารถพบนกชนิดนี้หากินตัวเดียว เป็นคู่ เป็นครอบครัวและเป็นฝูง นกจะเดินหากินไปเรื่อยๆตามพื้นดิน นกจะออกหากินแต่เช้าโดยใช้ปากแหย่ลงไปในดินนิ่มๆเพื่อพิสูจน์หาอาหาร เมื่อจิ้มปากไปเจออาหารนกจะงับทันที โดยอาหารของนกกะรางหัวขวานคือแมลงต่างๆ ลูกกบและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เนื่องจากมีลิ้นเล็กมากไม่สามารถตวัดเหยื่อได้ เวลากินนกจึงต้องโยนเหยื่อขึ้นแล้วอ้าปากรับ ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่และแข็งอย่างพวกแมลงต่างๆก็ต้องฟาดให้ส่วนที่แข็งหลุดออกแล้วกินเนื้อนิ่มๆ เมื่อกินอิ่มแล้วก็จะบินไปเกาะพักบนกิ่งไม้


นกกะรางหัวขวานอาศัยและหากินตามที่โล่ง พื้นที่เกษตรกรรม ป่าละเมาะ ชายป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่สูง1500เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกที่ค่อนข้างจะพบง่ายใกล้ชิดกับคน เช่นพบตามสนามหญ้าในรีสอร์ตที่ชะอำ ใกล้ชายหาดที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม







ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่นกกะรางหัวขวานจับคู่ผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ โดยนกตัวผู้จะส่งเสียงร้อง “ฮูฟ ฮูฟ ฮูฟ” ประกาศอาณาเขตและเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย และนกจะพองขนรอบคอออกและก้มหัวลงด้วย ถ้านกตัวเมียสนใจก็จะบินไปหา เมื่อเป็นเช่นนั้นนกตัวผู้ก็จะย่ำเท้าถี่ๆเข้าไปหาและพยักหน้าเรื่อยๆ ทำปีกพอง สั่นและแผ่หางออกด้วย เมื่อผสมพันธุ์แล้วนกก็จะเลือกหาทำเลสำหรับเป็นที่วางไข่ โดยอาจเลือกโพรงไม้ธรรมชาติ โพรงรังเก่าของนกอื่น ซอกหรือรูแตกของกำแพง ซอกหินริมตลิ่ง ซอกในจอมปลวก โพรงโคนต้นมะพร้าว หรือแม้กระทั่งในรถไถเก่าอย่างในภาพ


ในโพรงรังอาจมีวัสดุรองรังหรือไม่ก็ได้ จากนั้นแม่นกก็จะวางไข่ครั้งละราว4-5ฟองหรืออาจมากกว่า โดยนกเริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ลูกนกจึงออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ใช้เวลา14-16วันไข่ก็จะฟักเป็นตัว โดยในระหว่างฟักไข่ ตัวผู้จะหาอาหารมาป้อนตัวเมีย จนกระทั่งลูกนกออกจากไข่มาได้ระยะหนึ่ง แม่นกก็จะออกมาหาอาหารเองและหาอาหารมาป้อนลูกนกบ้าง เมื่อลูกนกอายุ 27-28วันก็สามารถออกมาหาอาหารและหัดบินได้







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางครอบคลุมทวีปยุโรป อาฟริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทยพบได้ทั่วประเทศยกเว้นทางภาคใต้พบได้น้อย โดยในจำนวนนกกะรางหัวขวาน 10 ชนิดย่อยทั่วโลก จะพบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อยคือชนิดย่อย U.e.longirostrisซึ่งเป็นชนิดย่อยประจำถิ่น และชนิดย่อย U.e.satueata ซึ่งพบน้อยกว่าและเป็นชนิดย่อยที่อพยพเข้ามาหากิน ชนิดย่อยนี้สังเกตได้จากปลายหงอนซึ่งมีแต้มดำจะมีจุดขาวด้วย


ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเมื่อเดือนมีนาคม 2551ที่ผ่านมา พ่อนกหาอาหารมาให้แม่นกป้อนลูกในโพรงรังซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของรถไถเก่านั่นเอง






ข้อมูลและอ่านเพิ่มที่ :

//www.bird-home.com




Create Date : 12 กรกฎาคม 2551
Last Update : 13 กรกฎาคม 2551 21:32:46 น.
Counter : 5736 Pageviews.

5 comments
  
สุดยอด นกนี้ไวนะครับ
โดย: c (chaiwatmsu ) วันที่: 12 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:54:22 น.
  
สวยครับ สวยๆๆๆ
โดย: เขาพนม วันที่: 12 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:13:32 น.
  
ถึงจะเป็นนกที่พบเห็นได้ไม่ยาก แต่ก็เป็นนกที่รู้สึกว่าอยากจะเจออยู่บ่อย ๆ เพราะชื่นชอบกับความสวยงามในแบบฉบับของเค้าน่ะค่ะ
โดย: กระจิบหญ้าสีเรียบ วันที่: 12 กรกฎาคม 2551 เวลา:22:24:49 น.
  
สวยจังเลยค่ะ..

ภาพแรกสวยมากค่ะ..

ขอบคุณที่ให้ความรู้เรื่องนกด้วยค่ะ
โดย: ว่าน วันที่: 15 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:19:26 น.
  
เคยเห็นตัวจริงๆครับ สวยงามมากๆ
โดย: bigwores วันที่: 6 กันยายน 2551 เวลา:11:42:11 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Channoi.BlogGang.com

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]

บทความทั้งหมด