Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
22 กรกฏาคม 2556
 
All Blogs
 
กิจกรรมกลุ่มควบคุมคุณภาพ (Quality Control Circle: QCC)


 คือ กลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งที่ดำเนินงานปรับปรุงคุณภาพในสถานที่ทำงานโดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินงานเป็นทีม ใช้วิธีการและขั้นตอนการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ 
นอกจากนี้ QCC ยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดการเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันในสถานที่ทำงาน สร้างบรรยากาศในการทำงานให้มีชีวิตชีวา ให้พนักงานได้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถอย่างไม่มีขีดจำกัด สร้างความเป็นผู้นำ พัฒนาพนักงานให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น ให้พนักงานมีส่วนร่วมกับผู้บริหารในการแก้ปัญหาและปรับปรุงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงาน ตลอดจนลดความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ

หลักการกิจกรรม QCC

 พัฒนาคน
-   ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
-   ให้การยอมรับและเคารพในความเป็นสมาชิกขององค์กร
-   ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความสามารถของตนเอง
-   ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน และยินดีร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น

พัฒนางาน
-   ใช้วงจรคุณภาพ PDCA
-   ใช้เทคนิคการระดมสมองให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
-   ใช้เทคนิคการประชุมร่วมกัน
-   ใช้เทคนิคการทำงานเป็นทีม

พัฒนาทีมงาน
-   การรวมกลุ่มที่มีเป้าหมายคุณภาพ
-   เป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน พบปัญหา และมีแนวทางความสำเร็จร่วมกัน
-   มีความสมัครใจ และร่วมใจทำงานอย่างต่อเนื่อง
-   มีระบบการสื่อสารระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ
-   มีการจัดวางหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน
-   ใช้เทคนิคการพัฒนางานทั้ง 4 วิธี
-   ดำเนินกิจกรรม QCC  

หน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ในการบริหาร QCC

กรรมการผู้จัดการ
มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายเรื่อง QCC พร้อมทั้งให้ให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินและเวลา เพื่อให้เกิด QCC ทั่วทั้งองค์กร โดยมีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการบริหาร QCC                                              
.
คณะกรรมการบริหาร QCC
มีบทบาทในการกำหนดนโยบายหลักและแผนระยะยาวในการบริหารงาน QCC การกำหนดแผนการฝึกอบรม กำหนดแผนการส่งเสริม QCC กำหนดแผนการนำเสนอผลงาน ตลอดจนรายงานผลการดำเนินการ อุปสรรค และปัญหาต่อกรรมการผู้จัดการ
.
คณะทำงาน QCC
มีบทบาทในการกำหนดแผนระยะกลางและระยะสั้นในการบริหารงาน QCC ให้สอดคล้องกับแผนระยะยาวของคณะกรรมการบริหาร QCC จัดทำแผนฝึกอบรม รวมถึงหลักสูตรต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกอบรมให้แก่ที่ปรึกษากลุ่ม QCC, กลุ่ม QCC กำหนดวิธีการในการส่งเสริม QCC เช่น การแสดงนิทรรศการ, การถ่ายทำวีดีโอผลงานของ QCC, การมอบรางวัล, การตรวจประเมินผลงาน ฯลฯ จัดให้มีการนำเสนอผลงาน และประสานงาน ควบคุมติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริหาร QCC
.
ที่ปรึกษากลุ่ม QCC
มีบทบาทในการดูแลและผลักดันให้กลุ่มดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมประชุมกับกลุ่ม QCC  ช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับกลุ่ม QCC
.
กลุ่มย่อย QCC
มีบทบาทในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่กลุ่มเกี่ยวข้อง และดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินงานของกลุ่ม QCC

กิจกรรม QCC ใช้ข้อเท็จจริงในการแก้ปัญหา ต้องมีข้อมูลสาเหตุของปัญหาที่ชัดเจนและมีหลักฐานเชื่อถือได้ จึงทำให้การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาได้รับการยอมรับ เช่น สถิติจำนวนตัวอย่างสินค้าประเมินค่าคุณสมบัติของสินค้าต่ำกว่าหรือสูงกว่ามาตรฐานเท่าใด การประเมินใช้สถิติแสดงผลการเปรียบเทียบกับตัวเลขมาตรฐานที่มีอยู่ ดังนั้นขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม QCC ที่สำคัญคือ การเก็บสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างละเอียด


.
การบริหารแบบมีส่วนร่วม (Participative Management)
กิจกรรม QCC เป็นกิจกรรมกลุ่มที่เริ่มจากปรัชญา "พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาองค์กร" ดังนั้นการวางระบบบริหารงานขององค์กรก็ต้องเป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วม การร่วมบริหารองค์กรของพนักงานระดับล่าง เป็นการนำเสนอข้อมูลและแนวทางปรับปรุงงานให้บรรลุเป้าหมายคุณภาพขององค์กร เพื่อให้ฝ่ายบริหารพิจารณาและอำนวยการให้แนวทางการปรับปรุงงานบังเกิดผลตามที่พนักงานเสนอ

การบริหารแบบมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานคุณภาพ แต่ความร่วมมือภายในองค์กรหรือหน่วยงานไม่ได้เกิดขึ้นเอง ความร่วมมือขององค์กรเกิดจากระบบการบริหารที่ประกอบด้วย

-   นโยบายการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
-   การเข้าร่วมกิจกรรมของพนักงานเป็นไปด้วยความสมัครใจ และมีอิสระอย่างแท้จริง ฝ่ายบริหารจูงใจการเข้าร่วมกิจกรรมของพนักงานด้วยนโยบายคุณภาพที่จะบังเกิดผลโดยตรงต่อพนักงาน
-   ใช้การฝึกอบรม ประชุม และสัมมนา ให้พนักงานเข้านโยบายและกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ
-  ให้การสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มคุณภาพโดยเปิดโอกาสให้แสดงผลงานกิจกรรมกลุ่มคุณภาพทุกกลุ่ม และสนับสนุนให้การดำเนินงานกิจกรรมกลุ่มคุณภาพประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
-   กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
-   ให้รางวัลตอบแทนกลุ่มที่มีผลงานยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับขององค์กร


กิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)

กิจกรรม QCC จะทำให้พบปัญหาหลายด้านที่เกี่ยวข้องกันหรือต่อเนื่องกัน แต่การปรับปรุงงานแก้ไขจะต้องทำส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เสร็จแล้วจึงพิจารณาแก้ไขด้านอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ

.
ขั้นตอนและวิธีการดำเนินกิจกรรม QCC

1. การจัดตั้งกลุ่มกิจกรรม QCC ประกอบด้วย
1.1 พนักงานรวมตัวกัน 3 -10 คน การรวมตัวเป็นกลุ่มกิจกรรม QCC มีเป้าหมายสำคัญคือ คุณภาพการทำงาน ดังนั้นพนักงานจึงควรเป็นพนักงานที่มีการทำงานร่วมกันและมีเป้าหมายเดียวกัน
1.2 ตั้งชื่อกลุ่มและจดทะเบียนกลุ่มกับองค์กร เพื่อให้องค์กรยอมรับ และสนับสนุนกิจกรรม QCC ของกลุ่ม
1.3 แม้ว่าสมาชิกของกลุ่มจะเท่าเทียมกันทุกคน แต่ก็ควรจัดตำแหน่งหน้าที่ที่จำเป็นในการทำงาน เช่น
      - ประธานกลุ่ม      เพื่อเป็นผู้นำ
      - รองประธาน      เพื่อเป็นผู้ช่วยผู้นำ
      - เลขานุการ      เพื่อบันทึกการประชุมและเตรียมเอกสาร
      - เหรัญญิก      เพื่อดูแลการใช้จ่ายเงิน
      - ปฏิคม         เพื่อเป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มอื่น ๆ ฯลฯ
1.4 กำหนดสัญลักษณ์และคำขวัญประจำกลุ่ม
1.5 จัดการประชุมกลุ่ม

2. ค้นหาปัญหา
กิจกรรม QCC เป็นกิจกรรมที่มุ่งสู่คุณภาพตามข้อกำหนด หรือมาตรฐาน ดังนั้นกลุ่มกิจกรรม QCC จึงต้องค้นหาปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างคุณภาพ แต่การมองปัญหาหรือเห็นความสำคัญของปัญหาของพนักงานมักจะแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา (Problem Solving Oriented) ได้แก่
2.1 การเสนอประเด็นปัญหาว่าจะดำเนินการในส่วนใดก่อน เช่น วิธีการทำงาน ผลงาน ความปลอดภัย เครื่องจักร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
2.2 เลือกประเด็นปัญหาที่จะดำเนินการปรับปรุง ตัวอย่างเช่น ด้านความปลอดภัยก็นำหัวข้อความปลอดภัยมาวิเคราะห์ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง
2.3 ทำการวิเคราะห์ลำดับความสำคัญของปัญหาด้วยตาราง ดังต่อไปนี้
2.4 เลือกปัญหาที่มีคะแนนรวมสูงที่สุด 1 ปัญหา

3. รวบรวมข้อมูล
ในการเสนอปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา สมาชิกทุกคนจะต้องดำเนินการโดย
3.1 รวบรวมข้อมูลจากความเป็นจริง สถานการณ์จริง ถูกต้อง เชื่อถือได้
3.2 บันทึกข้อมูลด้วยแผ่นข้อมูล (Data Sheet)
3.3 นำเสนอข้อมูลด้วยพาลาโตไดอะแกรม (Palato Diagram)

4. ใช้แผนภูมิก้างปลาในการวิเคราะห์และแก้ปัญหา (Cause-Effect Diagrams)
ผังแสดงเหตุและผล (Cause and Effect Diagram) ผังก้างปลา (Fish Diagram) หรือผังอิชิกาวา สามารถนำมาใช้เพื่อหาสาเหตุของปัญหาอันก่อให้เกิดผล โดยปกติจะใช้เป็นเครื่องมือในการประชุมระดมความคิดจากระดับหัวหน้างานและคนงาน ผังก้างปลามีลักษณะคล้ายก้างปลา กล่าวคือ ที่ปลายด้านหนึ่งจะเป็นผลที่กำลังประสบอยู่ และในส่วนของก้างที่แตกกิ่งออกไปจะแทนปัจจัยหรือสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลอันนั้นขึ้น 

เมื่อนำปัญหาที่วิเคราะห์ได้จากตาราง จะเห็นว่าควรแก้ไขเร่งด่วนที่สุดมาวิเคราะห์หาสาเหตุบนแผนภูมิก้างปลา ซึ่งสาเหตุแห่งปัญหามักจะเกิดจากพนักงานเอง เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ หรือวิธีการทำงาน เขียนสาเหตุลงในก้างปลาย่อย เมื่อเราเขียนสาเหตุแต่ละสาเหตุลงในก้างปลาย่อยจะทำให้เราเห็นต้นเหตุของปัญหาอย่างชัดเจน

เมื่อระดมความคิดค้นหาสาเหตุแห่งปัญหาได้แล้ว ก็ช่วยกันระดมความคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไปเลย โดยพิจารณาในแต่ละก้าง หาวิธีแก้ และเขียนวิธีแก้ลงไปในก้างปลาตัวใหม่ จะได้แผนภูมิก้างปลา 2 ตัว ตัวแรกแสดงสาเหตุของปัญหา ตัวที่สองแสดงวิธีการแก้ปัญหา สำหรับแผนภูมิ เป็นแผนภูมิตัวอย่าง สาเหตุอาจจะเป็นลักษณะอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของกลุ่ม QCCเรื่องที่กลุ่ม QCC เลือกมาดำเนินการ ต้องไม่ขัดต่อนโยบายของบริษัท/หน่วยงานสามารถทำได้เองและต้องทำเป็นกลุ่ม โดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการทำกลุ่ม QCC ให้มีประสิทธิผล โดยเน้นการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative Thinking) คือการเชื่อมโยงความคิด และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ เพื่อสังเคราะห์ เป็นความคิดใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหา ปรับปรุง ในลักษณะเฉพาะหน้า โดยการเปิดใจกว้างที่จะรับรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว เหตุการณ์ต่างๆ

ฝึกคิดในเรื่องเดียวกันให้ได้ในหลายๆ แง่มุม สร้างทัศนคติในเชิงสร้างสรรค์และค้นหาสิ่งใหม่ๆอย่างไม่ลดละ ฝึกเป็นคนช่างสังเกต จดจำสิ่งที่พบเห็นรวบรวมมาใช้ประโยชน์  เป็นคนชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ขี้สงสัยในส่วนที่ยังสงสัย ชอบคิดหาความแปลกใหม่  ชอบหาเหตุผลมาอธิบาย ตอบคำถาม ต้องรู้จักคิดแปลงความคิดเป็นการกระทำ และการระดมสมอง (Brain Storming) คือความพยายามในการกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่ม หรือแสดงความคิดอย่างเสรีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยพยายามรวบรวมความคิดให้มากที่สุด อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง โดยต้องไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของคนอื่นๆ                

การปล่อยความคิดอย่างเป็นอิสระและเป็นกันเอง  มุ่งเน้นปริมาณความคิดเป็นสำคัญ และกระตุ้นให้ทุกคนพยายามเสริมต่อความคิดของผู้อื่น จึงจะทำให้การทำกิจกรรมกลุ่ม QCC ประสบผลสำเร็จ

กิจกรรมกลุ่มควบคุมคุณภาพ (Quality Control Circle:QCC) ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกระบวนการของ PDCA ได้เหมือนกับ KAIZEN  จากความสัมพันธ์ระหว่าง QCC และ PDCA จะพบว่า ประกอบด้วย 

การวางแผน (Plan) 
กิจกรรมกลุ่มควบคุมคุณภาพ (Quality Control Circle:QCC) จะมีการดำเนินการในเรื่ององการเลือกงาน ตั้งเป้าหมายกิจกรรม การรวบรวมข้อมูล และมีการมองปัญหาให้ตรงกับความต้องการขององค์กรที่ต้องการแก้ไข และวางแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การวางแผน (Plan) นั้นประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 : การกำหนดเป้าหมาย 
ต้องระบุเป้าหมายของการควบคุมคุณภาพอย่างชัดเจน โดยระบุให้ได้ว่า "จะทำอะไร" เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมหรือเป็นตัวเลข กำหนดการที่จะให้บรรลุเป้าหมายนั้น 

ขั้นตอนที่ 2 : การจัดทำแผน 
จัดทำแผนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แผนที่จัดทำจะต้องสอดคล้องกับสภาวะที่เป็นอยู่และสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งหมายถึง จะต้องมีข้อมูลรองรับที่ชัดเจนนั่นเอง 

ขั้นตอนที่ 3 : ตรวจสอบ 5W1H 
ถ้าแผนขาดสาระที่จำเป็นก็จะเป็นแผนที่ไร้ประโยชน์ และเนื่องจากผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามแผนไม่ใช่คนเพียงคนเดียว แต่ประกอบด้วยผู้คนที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก แผนที่จัดทำขึ้นจึงต้องมีความชัดเจน รัดกุม ใครอ่านแล้วก็สามารถเข้าใจได้ทันที การตรวจสอบด้วย 5W1H จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น 

การปฏิบัติตามแผนที่จัดทำไว้ (DO)
การปฏิบัติตามแผนที่จัดทำไว้ จะต้องทำความเข้าใจแผน เนื่องจากผู้ที่ต้องดำเนินการตามแผน คือ ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีการอธิบายแผนให้เป็นที่เข้าใจตรงกันและทั่วถึงกัน และมีการติดตามการปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงาน คือ ผู้ที่ดำเนินการตามแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้บริหารหรือผู้จัดการจึงมีหน้าที่ต้องคอยสอดส่อง และติดตามการปฏิบัติงานของทุกคน และคอยให้คำปรึกษาเมื่อจำเป็น 

การตรวจสอบ (CHECK)
ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยตรวจสอบสภาพของดำเนินงาน เป็นการตรวจสอบว่า การดำเนินงานได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ การตรวจสอบนี้จะมัวแต่รอให้ผู้ปฏิบัติงานมารายงานไม่ได้ ผู้บริหารจะต้องลงไปตรวจสอบด้วยตนเอง และตรวจสอบคุณภาพของงาน เป็นการตรวจสอบคุณภาพของการดำเนินงาน (คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือคุณภาพของงานที่ได้) จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้นการตรวจสอบคุณภาพของ "ผลงาน" ด้วยตนเอง และการสอบถามผู้ปฏิบัติงานว่าประสบปัญหาอะไรหรือไม่ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

การดำเนินการ (Action) 
กรณีที่พบว่ามีปัญหา เมื่อตรวจพบว่าเกิดปัญหาขึ้นในการดำเนินงาน จะต้องตรวจหาสาเหตุของปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเดียวกันเกิดซ้ำอีก และจะต้องทำรายงานสรุปในเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันการดำเนินการแก้ไขแล้ว 

กรณีที่ปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมาย จะต้องมีการทบทวนว่า "เหตุใดจึงปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ" เพื่อสะสมเป็นประสบการณ์หรือองค์ความรู้ในองค์กร และในการปฏิบัติงานครั้งต่อไป ก็ให้ใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้เหล่านี้ให้เป็น ประโยชน์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้นต่อไป โดยทั่วไป "Action" ในกรณีที่บรรลุเป้าหมาย มักจะถูกมองข้ามเสมอ ซึ่งทำให้องค์กรขาดการสะสมองค์ความรู้ แสดงจากภาพความสัมพันธ์ระหว่าง QCC และ PDCA



Create Date : 22 กรกฎาคม 2556
Last Update : 22 กันยายน 2556 18:33:47 น. 3 comments
Counter : 42934 Pageviews.

 
อยากจะถามครับการจัดตั้งเป้าหมาย เราสามาถนำค่าต่ำสุดของปัญหาที่เกิดขึ้นมาต้งเป็นเป้าหมายได้ไหมครับ


โดย: daew IP: 49.48.1.103 วันที่: 8 ธันวาคม 2556 เวลา:14:30:04 น.  

 
สำหรับการเริ่มต้นเราอาจจะเอาค่าต่ำสุดมาตั้งเป็นเป้าหมายก็ได้ครับ เพื่อเป็นการปรับตัวของพนักงาน เพราะการปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดอาจจะทำให้เกิดความท้อแท้ในการปฏิบัติตามเป้าหมายที่วางไว้สูงเกินไป เมื่อพนักงานปฏิบัติจนได้ผลที่น่าพอใจแล้ว จากนั้นจึงค่อยๆเพิ่มระดับของเป้าหมายขึ้นเรื่อยๆตามผลการประเมินผลงานที่ได้ทำไปแล้ว เพื่อเป็นการพัฒนาให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆครับ


โดย: yaovarit วันที่: 8 ธันวาคม 2556 เวลา:18:05:28 น.  

 
เยี่ยม


โดย: Modiflyyy IP: 223.205.157.2 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2559 เวลา:0:25:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yaovarit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add yaovarit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.