|
บทสวดพาหุงมหากา - คำนำ
นำมาจากหนังสือ คาถาพาหุงมหากาพร้อมคำแปล - เสฐียรพงษ์ วรรณปก
(เพื่อเป็นธรรมทาน)
* * *
คำนำสำนักพิมพ์
ปัจจุบันมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในโลกทำให้ประชาชนต่างเกิดความวิตกกังวล และกลัวภยันตรายจะมาถึงตัวเอง ทำให้เสียขวัญและหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต
การสวดมนต์ ถือเป็นทางออกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย และเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวพุทธเพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และบำเพ็ญสมาธิไปพร้อมกัน ดังข้อความที่ปรากฏใน วิมุตตายนสูตร ว่า
บางคนหมั่นสวดมนต์หรือสาธยายข้อธรรมที่ได้เรียนมา และขณะที่สวดมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธินั้น เขาน้อมข้อธรรมมาปฏิบัติจนบรรลุถึงความพ้นทุกข์ได้ อง. ปญ์จก. ๒๒/๒๖/๒๒
คาถาพาหุงเล่มนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัญฑิต ได้กรุณาค้นคว้า รวบรวม เขียนแปล และ ประพันธ์ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เพื่อสะดวกแก่ผู้ต้องการมีไว้สวดมนต์ประจำบ้าน ประจำรถ และเป็นสมบัติประจำห้องสมุดต่างๆ รวมถึงชาวต่างประเทศที่สนใจในยามวิกฤตนี้
สำนักพิมพ์ศยาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาของหนังสือ ชื่อเสียงของผู้เขียน และวิธีการผลิตของทีมงานจะมีส่วนสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างมากแก่ผู้อ่าน ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาทุกชนิดได้อย่างมหัศจรรย์ และเพิ่มศรัทธาในพระพุทธเจ้ามากขึ้น สมชาย สมานวงศ์
ความนำ
ในคราวประชุมอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งกำหนดใน วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการเสนอให้สวดมนต์ถวายพระพร ทางฝ่ายสงฆ์กำหนดจะ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมีงานทำบุญอายุของผู้ใหญ่ฝ่ายคฤหัสถ์จะระดม (คำนี้น่าจะเหมาะกว่ารณรงค์) ให้มีการทำวัตรสวดมนต์ บทสวดบทหนึ่งที่คิดว่าควรสวดต่อท้ายทำวัตรเช้า เย็น ก็คือ พาหุง ว่ากันอย่างนั้น พาหุง คือ บทสวดว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงผจญกับผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ แต่พระองค์ ก็ทรงเอาชนะได้อย่างราบคาบ วิธีการชนะของพระพุทะองค์เป็นชัยชนะที่ถูกต้องชอบธรรม ทรงใช้ ธรรมาวุธ มิใช่ศาสตราวุธ
บางท่านปรารภว่า บทสวดมนต์น่าจะสวดเป็นภาษาไทย จะได้ฟังรู้เรื่อง หลายท่านก็ว่า สวดเป็นบาลีน่ะดีแล้วจะได้ ขลัง ถ้าอยากรู้ว่าที่สวดๆ นั้นหมายความอย่างไร ก็ให้ไปหาอ่านเอาเอง จะดีกว่า
ถามว่า จะหาอ่านที่ไหนล่ะ นั่นสิครับ
ความจริง มีหนังสือสวดมนต์แปลฉบับหลวงเล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้พิมพ์แพร่หลาย และ สำนวนแปลก็ต้อง แปลไทยเป็นไทย อีกที จึงพออ่านรู้เรื่องสำหรับชาวบ้านทั่วไป
เรื่องทำนองนี้ มิใช่เพิ่งจะมาคิดกันหลายต่อหลายท่านคิดกันมาแล้ว ขณะที่พวกเรากำลังนั่งฟังพระเจริญพระพุทะมนต์อยู่นั้น คุณขรรค์ชัย บุนปาน หันมากระซิบกับผมว่า หลวงพี่น่าจะแปลบทสวดเหล่านี้ให้คนอ่านนะ จะได้รู้ว่าพระท่านสวดว่าอย่างไรบ้าง เอาตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบเลย ผมก็พยักหน้าตอบว่า ก็ดีเหมือนกัน ว่างๆ จะขยับเสียที
จนป่านนี้ ผม ก็ ยังไม่มีโอกาสขยับ เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น วันนี้ขอแปลคาถาพาหุงและให้อรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านไปพลางก่อน
เรื่องคาถาพาหุงนี้ ผมเคยแปลรวมพิมพ์เป็นเล่มมาก่อนแล้ว คราวนี้ขอแก้ไขดัดแปลงให้เป็นเรื่องเป็นราวกว่าเดิม เรียกว่าเป็น version ใหม่ก็แล้วกัน
คาถาพาหุง เรียกเป็นทางการว่า ชยมังคลอัฏฐกคาถา อ่านว่า ชะยะมังคะละอัตถะกะคาถา แปลว่า คาถาว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการ อันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า ที่เรียกกันติดปากว่า คาถาพาหุง เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า พาหุง
ความเป็นมาของคาถาพาหุงค่อนข้างสับสน บางท่านว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ศรีลังกา เพราะพระลังกาสวดกันได้ทุกรูป บทสวดมนต์บางบทที่สวดกันแพร่หลายในเมืองไทยเช่น นโมการอัฏฐกคาถา หรือนโมแปดบท พระลังกาสวดไม่ได้ เพราะแต่งที่เมืองไทย ใช้สวดเฉพาะพระไทย (ไม่สากล) เมื่อคาถาพาหุงค่อนข้างจะ สากล จึงน่าจะแต่งโดยพระลังกา ว่ากันอย่างนั้น
เหตุผลนี้ฟังดู หลวม คือไม่จำเป็นต้องสรุปว่าแต่งที่ลังกาก็ได้ แต่งที่เมืองไทยนี่เองเมื่อแต่งดีและแต่งได้ไพเราะ พระลังกามาคัดลอกไปสวดย่อมเป็นไปได้ ทีอะไรๆ ก็มักจะอ้างลังกา อ้างพม่า ก็ เพราะไม่เชื่อว่า ปราชญ์ไทยจะมีปัญญาแต่งฉันท์ที่ไพเราะอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ศาสนาหลายเล่มจึงมอบให้เป็นผลงานของพระลังกาและพระพม่าไป
มังคลัตถทีปนี ที่ พระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่แต่ง ก็ยังว่า เป็นฝีมือของพระพม่าเลยครับ คือกล่าวว่า พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระพม่ามาอยู่ที่ล้านนา อะไรทำนองนี้
บางท่านบอกว่า คาถาพาหุง แต่งที่เมืองไทย และแต่งมานานแล้วด้วย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โน่นแน่ะ ท่านผู้นั้นขยายความว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะพระมหาอุปราชา แห่งพม่าแล้วพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ประพันธ์คาถาพาหุงนี้ถวายพระเกียรติ ในชัยชนะอันยิ่งใหญ่คราวนั้นว่าอย่างนั้น
ครั้นถามว่า มีหลักฐานอะไรไหม ท่านบอกว่า เห็นในนิมิตตอนนั่งสมาธิ เมื่อท่านว่าอย่างนี้ เราทำได้ก็แค่ ฟัง ไว้เท่านั้น จะเถียงว่าไม่จริง หรือรับว่าจริงก็คงไม่ได้ มีคำพูดฮิตอยู่ในปัจจุบันคือ ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ วางท่าทีอย่างนี้ น่าจะเหมาะกว่ากระมังครับ
ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเข้าร่วมกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงได้ส่งทหารไปสู่สงครามเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑นั้นพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นวสันตดิลก(ฉันท์)เพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย และฝ่ายพันธมิตร
ท่านอาจารย์กล่าวต่อไปว่า สถานที่ที่ทรงประกอบพระราชพิธีจะเป็นท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) หรือไม่ ไม่แน่ใจ กำลังหาหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ ท่านว่าอย่างนั้น
ฉันท์พระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงนำเอา ชยมังคลอัฏฐกคาถา บทแรก (คือบทพาหุง) มาลงไว้ดัดแปลงตอนท้ายจากเดิม ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง ข้อความมีดังนี้ครับ
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะวิธินาชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง
ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท ธะวิสุทธะศาสดา ตรัสรู้อนุตตะระสะมา ธิ ณ โพธิบัลลังก์
ขุนมารสหัสสะพหุพา หุวิชาวิชิตขลัง ขี่คีริเมขละประทัง คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์ กละคิดจะรอนราน ขุนมารผจญพยุหะปาน พระสมุททะนองมา
หวังเพื่อผจญวระมุนิน ทะสุชิน(ะ)ราชา พระปราบพหลพยุหะมา ระเมลืองมลายสูญ
ด้วยเดชะองค์พระทศพล สุวิมล(ะ)ไพบูลย์ ทานาทิธัมมะวิธิกูล ชนะน้อมมโนตาม
ด้วยเดชะสัจจะวจนา และนะมามิองค์สาม ขอจงนิกรพละสยาม ชยะสิทธิทุกวาร
ถึงแม้จะมีอริวิเศษ พละเดช(ะ)เทียมมาร ขอไทยผจญพิชิตผลาญ อริแม้นมุนินทร.ฯ
คราวหน้าจะนำ คำแปลพาหุง พร้อมอรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านจนจบครับ
Create Date : 06 กรกฎาคม 2550 |
|
5 comments |
Last Update : 28 กรกฎาคม 2550 15:12:12 น. |
Counter : 1623 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: vintage 6 กรกฎาคม 2550 11:45:10 น. |
|
|
|
| |
โดย: สุกรนารี IP: 222.123.8.84 6 กรกฎาคม 2550 14:39:59 น. |
|
|
|
|
|
|
|
สาธุครับ
ขอให้เจริญในธรรมนะครับ