Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
11 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
บทสวดพาหุงมหากา - อรรถาธิบาย บทที่ ๒

อรรถาธิบายของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ว่าถึงเรื่องคาถาพาหุง นี้สอดแทรกความหมายที่ผ่านการวิเคราะห์ผ่านมุมมองผู้มีความรู้ ช่วยให้ชาวพุทธรุ่นใหม่ได้เปิดใจทำความเข้าใจบทสวดมนตร์บาลีได้ชัดเจน จากที่คิดว่าน่าเบื่อ ไม่มีความหมายกับใจก็อาจสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวพุทธศาสนามากขึ้น เข้าใจบทสวดมากกว่าแค่พร่ำพรรณนา

นอกจากการวิเคราะห์อย่างมีชั้นเชิงคิดแล้ว ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ก็เขียนโยงเข้ากับเหตุการณ์ทันสมัยใกล้ตัวทางการบ้านการเมือง ซึ่ง จขบ. ขอไม่นำมาลงทั้งหมด

~-~-~-~-~-~



คาถาพาหุง บทที่ ๒

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ


อาฬวกยักษ์ผู้กระด้าง ปราศจาก
ความอดทน ดุร้าย สู้รบกับพระพุทธเจ้าอย่าง
ทรหดยิ่งกว่ามารตลอดราตรี พระจอมมุนีทรง
เอาชนะได้ด้วยขันติวิธีที่ทรงฝึกฝนมาดี ด้วย
เดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน


บทที่แล้วพระพุทธองค์ทรงสู้รบกับมาร มาคราวนี้ทรงสู้รบกับยักษ์ มารอาจหมายถึงมารจริงๆ คือ เทพเกเรที่ชอบมารังแกคน หรือ อาจหมายถึงกิเลสก็ได้ฉันใด ในที่นี้ ก็อาจหมายถึงยักษ์เขี้ยวโง้ง หรือเป็นภาษาสัญลักษณ์หมายถึงคนดุร้ายเผ่าหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลก็ย่อมได้

ไม่เพียงแต่ ยักษ์และมาร นาคที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนา ก็อาจเป็นภาษาสัญลักษณ์ เช่นกัน นาคปลอมมาบวช ตำราว่าเป็นพญานาคที่มีฤทธิ์ จำแลงกายเป็นคนได้ ตราบใดที่ยังมีสติอยู่ก็จะเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเผลอสติ หรือหลับเมื่อใด ร่างนาคหรืองูใหญ่ก็จะปรากฏทันที

พระหนุ่มนาคจำแลง นอนหลับใหลในเวลากลางวันในห้อง ร่างกลายเป็นงูใหญ่ขดอยู่เต็มห้อง พระรูปหนึ่งเปิดประตูเข้าไปเห็นเข้าร้องเสียงหลงด้วยความตกใจ พระนาคจำแลงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงแปลงร่างเป็นพระหนุ่มตามเดิม เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ เธอเปิดเผยความจริงว่าเธอเป็นนาค (งูใหญ่) ปลอมมาบวชเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ตรัสว่าเพศบรรพชิตไม่เหมาะสำหรับสัตว์เดรัจฉาน จึงให้เธอลาสิกขากลับไปสู่นาคพิภพตามเดิม ตรงนี้ ตำราในเมืองไทยแต่งต่อว่า นาคกราบทูลขอว่า “ไหนๆก็ไม่มีโอกาสบวชอยู่พระศาสนาต่อไปแล้ว ขอฝากชื่อไว้ด้วย ต่อไปภายหน้า ใครจะบวชก็ขอให้เรียกคนนั้น “นาค” เถิด” ว่าอย่างนั้น แต่ตำราเดิมไม่มีพูดไว้อย่างนี้

นาค ในที่นี้ คงมิใช่งูใหญ่อะไรดอก คงหมายถึงมนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนาเผ่าหนึ่งพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช ว่ากันอย่างนั้น

อาฬวกยักษ์นี้ก็คงทำนองเดียวกัน ลองอ่านประวัติความเป็นมาก่อนค่อยตั้งข้อสังเกตภายหลัง เรื่องมีดังนี้ครับ

ในป่าลึกชายแดนเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวีไปล่าสัตว์พลัดหลงกับ ข้าราชบริพาน เข้าไปยังป่าลึกถูกพวกยักษ์จับได้ตั้งใจจะเอามาทำ สเต็กกินให้อร่อย เข้าเมืองกลัวตายจึงหาทางเอาตัวรอดโดยกล่าวว่า “ถ้าพวกยักษ์กินตนอิ่มเพียงมื้อเดียว ถ้าปล่อยตนไป ตนจะไปหาคนมาส่งให้กินทุกวัน ขอให้ปล่อยตนไปเถอะ”

“จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่เบี้ยว” ยักษ์ถาม

“ไม่เบี้ยวแน่นอนท่าน ... ข้าเป็นถึงเจ้าเมือง อาฬวีย่อมรักษาสัจจะยิ่งชีวิต” เจ้าเมืองพูดขึงขัง

โชคยังดี พวกยักษ์เชื่อ จึงปล่อยไป ท้าวเธอก็ส่งนักโทษประหารมาให้กินวันละคน จนกระทั่งนักโทษหมดคุก เมื่อหาใครไม่ได้ก็สั่งให้ดักจับเอาใครก็ได้ที่เดินอยู่คนเดียว มีคดีคนหายอย่างลึกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน จส.๑๐๐ ของยักษ์ประกาศหาไม่หยุด สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนทั้งเมือง

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณด้วย พระมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ต่อชาวเมืองอาฬวี พระองค์จึงเสด็จไปหาอาฬวกยักษ์ หัวหน้าพวกยักษ์ในป่าอาฬวี บังเอิญอาฬวกยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับ ณ ที่นั่งประจำตำแหน่งของแก

อาฬวกยักษ์กลับมา พบพระพุทธองค์ประทับที่บัลลังก์ของตนก็โกรธเขี้ยวกระดิกทีเดียวตวาดด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “สมณะโล้นมานั่งที่นั่งข้าทำไม ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้”

พระพุทธองค์ทรงลุกขึ้นอย่างว่าง่าย

ยักษ์แกได้ใจ จึงออกคำสั่งอีกว่า “นั่งลง” พระองค์ ก็นั่งลง

“ลุกขึ้น” สั่งอีก พระองค์ก็เสด็จลุกขึ้น

“นั่งลง” พระองค์นั่งลงตามคำสั่ง

ยักษ์เขี้ยวโง้งได้ใจ หัวร่อ ฮ่าๆ ที่เห็นพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโลกทำตามคำสั่งแกอย่างว่าง่าย

ถามว่า “ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงทำตามยักษ์อย่างว่าง่าย”

ตอบว่า “เป็นเทคนิควิธีสอนของพระพุทธเจ้า” พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า ยักษ์แกเป็นผู้ดุร้าย อารมณ์ร้อน ถ้าขัดใจแก แกก็จะโมโหจนลืมตัว ไม่มีช่องที่จะสอนอะไรได้ ถึงกล่าวสอนตอนนั้นแกก็คงรับไม่ได้ พระองค์จึงทรงเอาชนะความแข็งด้วยความอ่อน ดังคำพังเพยจีน (หรือเปล่าไม่รู้) “หยุ่นสยบแข็ง” หรือดังบทกวี (เก่า)บทหนึ่งว่า

“ถึงคราวอ่อน อ่อนให้จริง ยิ่งเส้นไหม
เพื่อจะได้ เอาไว้โยง เสือโคร่งเฆี่ยน
ถึงคราวแข็ง ก็ให้แกร่ง ดังวิเชียร
เอาไว้เจียน ตัดกระจก เจียระไน”


ยักษ์ถึงแกจะป่าเถื่อน ใช่ว่าแกจะไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นจำนวนมาก การที่แกสามารถสั่งให้คนยิ่งใหญ่ขนาดนั้นทำตามคำสั่งอย่างไม่ขัดขืน จึงทำให้แกภาคภูมิใจที่ปราบพระศาสดาเอกในโลกได้จิตใจจึงผ่อนคลายความดุร้ายลง สงบเยือกเย็นพอจะพูดกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง พระพุทธองค์จึงค่อยๆ สอนให้แกรู้ผิดชอบชั่วดี ยักษ์แกก็เข้าใจและรับได้อย่างเต็มใจ ในที่สุดก็รับเอาไตรสรณคมน์เป็นสรณะตลอดชีวิต

....
อาฬวกยักษ์ ในที่นี้น่าจะเป็นมนุษย์กินคนเผ่าหนึ่ง ที่มีอยู่มากในชมพูทวีปสมัยโน้น เมื่อมนุษย์กินคนถือศีล ๕ สันติสุขมิได้เกิดแก่ชาวเมืองอาฬวีเท่านั้น หากรวมถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วย

เพราะฉะนั้น ชัยชนะของพระพุทธองค์ครั้งนี้จึงเป็นชัยชนะที่นำมาซึ่งสิริมงคลอย่างแท้จริง

- คัดลอกจากหนังสือ คาถาพาหุงมหากาพร้อมคำแปล โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก






Create Date : 11 กรกฎาคม 2550
Last Update : 28 กรกฎาคม 2550 15:13:09 น. 3 comments
Counter : 1141 Pageviews.

 
ดีจัง ได้รู้มากขึ้นเกี่ยวกับ บทสวดพาหุงมหากา......ขอบคุณครับ


โดย: ตากลม4ตา วันที่: 11 กรกฎาคม 2550 เวลา:7:38:39 น.  

 
ถามว่า “ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงทำตามยักษ์อย่างว่าง่าย”

ตอบว่า “เป็นเทคนิควิธีสอนของพระพุทธเจ้า” พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า ยักษ์แกเป็นผู้ดุร้าย อารมณ์ร้อน ถ้าขัดใจแก แกก็จะโมโหจนลืมตัว ไม่มีช่องที่จะสอนอะไรได้ ถึงกล่าวสอนตอนนั้นแกก็คงรับไม่ได้ พระองค์จึงทรงเอาชนะความแข็งด้วยความอ่อน ดังคำพังเพยจีน (หรือเปล่าไม่รู้) “หยุ่นสยบแข็ง” หรือดังบทกวี (เก่า)บทหนึ่งว่า

“ถึงคราวอ่อน อ่อนให้จริง ยิ่งเส้นไหม
เพื่อจะได้ เอาไว้โยง เสือโคร่งเฆี่ยน
ถึงคราวแข็ง ก็ให้แกร่ง ดังวิเชียร
เอาไว้เจียน ตัดกระจก เจียระไน”


....ประทับใจตรงนี้ค่ะ ....
อนุโมทนาสาธุการ


โดย: ประกายดาว วันที่: 11 กรกฎาคม 2550 เวลา:8:36:05 น.  

 
พระพุทธองค์เป็นตัวอย่างของคำสอนที่ดีมาก ๆ คุณหวูดสบายดีนะคะไม่ได้เข้ามาบล็อกซะนาน


โดย: เสียงซึง วันที่: 11 กรกฎาคม 2550 เวลา:11:01:40 น.  

woodchippath
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add woodchippath's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.