|
บทสวดพาหุงมหากา - อรรถาธิบาย บทที่ ๘, ๙ สรุป
คาถาพาหุง บทที่ ๘, ๙
บทที่ ๘ นี้เป็นบทสุดท้ายของพระคาถาพาหุง ส่วนบทที่๙ เป็นคำสรุปตบท้าย ความว่า
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ
พรหมชื่อพกะ (ถือตัวว่า) มีความ บริสุทธิ์ รุ่งเรืองและมีฤทธิ์ ยึดมั่นในความเห็นผิด ดุจมีมือถูกอสรพิษขบเอา พระจอมมุนี ทรงเอาชนะได้ ด้วยใช้ยาวิเศษ คือญาณรักษา ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ
คนมีปัญญาสวดพุทธชัยมงคล คาถาทั้ง ๘ นี้เป็นประจำ โดยไม่เกียจคร้าน พึงขจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายได้ บรรลุถึงซึ่ง พระนิพพานอันเป็นสุข
คำแปลอาจฟังยากไปนิด ความหมายเป็นการเปรียบเทียบ คือ เปรียบเทียบความเห็นผิดเหมือนอสรพิษร้าย พกะพรหมแกยึดมั่นในความเห็นผิด เรียกว่าเป็นคนอยู่ในภาวะอันตราย ดุจจับงูพิษ แล้วถูกมันขบเอาไม่ตายก็คางเหลืองอะไรทำนองนั้น
พระพุทธองค์ทรงรักษาพิษงู (ความเห็นผิด) ด้วยใช้ยาวิเศษ คือญาณ (ความหยั่งรู้ความจริง) แล้วในที่สุดพกะพรหม แกก็รอดตาย แปลให้ฟังง่ายๆ ดังนี้ก็แล้วกัน ภาษาพระมันยากอย่างนี้แหละ ท่านสารวัตร อีกอย่างหนึ่งท่านประพันธ์เป็นบทกวีด้วย ก็ต้องถอดความกันหลายชั้นหน่อย
ดุจดังบทกวีว่า สามวันจากนารีเป็นอื่น ไม่รู้ว่านารีเป็นอื่น หรือชายเป็นอื่น เที่ยวโทษกันให้วุ่น
เรื่องมีอยู่ว่า พรหมชื่อ พกะ อยู่ในพรหมโลกเป็นเวลานาน นานเสียจนแกเกิดความเข้าใจผิดว่า สรรพสิ่งเที่ยงแท้ไม่แปรผัน เป็นมาอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นชั่วนิรันดรที่แกคิดเช่นนี้เพราะแกก็อยู่มานานมาก ไม่เห็นเป็นอย่างอื่นเลย ความเข้าในผิดอย่างนี้เรียกว่า สัสตทิฐิ (เห็นว่าสรรพสิ่งเป็นนิรันดร)...
...พระคาถาจึงเปรียบเทียบ พกะพรหมผู้มีมิจฉาทิฐิชนิดนี้ เหมือนคนถูกงูพิษกัดที่มือไม่รีบรักษาอาจถึงแก่ชีวิตทันที
พระพุทธเจ้า เสด็จไปเทศน์ โปรดพกะพรหม ให้คลายความเห็นผิดนี้เสีย แต่กว่าจะเอาแกอยู่ก็ต้องออกกำลังพอสมควร พกะพรหมท้าพระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์หายตัว พระพุทธองค์ทรงรับคำท้า และแล้วการประลองฤทธิ์ก็เกิดขึ้น (แน่ะ พูดยังกับหนังกำลังภายใน)
ไม่ว่า พกะพรหมจะหายไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ก็ทรงตามพบทุกแห่ง พอพระพุทธองค์ทรงหายพระองค์บ้าง พกะพรหมก็หมดปัญญาค้นหา ท้ายสุดเมื่อแกยอมแพ้ พระพุทธองค์ก็เสด็จออกมาจากมวยผมแก
เรื่องก็จบแค่นี้ แต่ ก็ยังไม่จบก็คือผู้อ่านอาจตีความตามตัวอักษรก็ได้ พรหมก็พรหมจริงๆ อยู่โน่น บนพรหมโลกโน่น เชื่ออย่างนี้ไม่ผิดดอก เพราะมีหลักฐานยืนยันในพระคัมภีร์ว่า พรหมมีจริง ใครไม่เชื่อ ก็ฟังเอาไว้อย่าลบหลู่ (วลีนี้กำลังฮิตในปัจจุบัน)
แต่ถ้าจะตีความตามภาษาธรรมก็ได้ พกะพรหมเป็นสัญลักษณ์ของคนโง่ คนที่มีความเห็นผิดไม่เข้าใจหลักไตรลักษณ์ คนที่โง่แล้วยังหยิ่งน่าหยิกอีกต่างหาก คนประเภทนี้ยากจะสอนให้สละความเห็นผิดได้ และการสามารถสอนคนโง่แกมหยิ่งให้คลายความเห็นผิดนั้น มิใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องใหญ่ พอๆ กับเอาชนะ พรหม ซึ่งชาวโลกสมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่
การหายตัวแล้วยังหาพบอยู่ (แบบพกะพรหม) แสดงว่า ตราบใดที่ยังละตัณหา มานะ ทิฐิ ไม่หมด ละได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังไม่เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ ส่วนการหายตัวแล้วหาอย่างไรก็ไม่พบ (แบบพระพุทธเจ้า) นั่นแหละคือการถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยสิ้นเชิง
และการที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาจากมวยผมพรหม เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า พระองค์ทรงเอาชนะได้ในทางปัญญาทรงสอนให้คนโง่แกมหยิ่งหัดใช้ สมอง คิดให้เข้าใจธรรมดาของสังขารทั้งหลายเสียบ้างแล้วจะเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด
แล้วแต่ท่านจะตีความเอาเถอะครับอย่างไรก็ได้ ขอเพียงอย่าให้ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นใช้ได้
คาถาสรุปนั้นท่านย้ำว่าใครก็ตามที่สวดคาถาพาหุงเป็นประจำ จะพ้นจากภยันตรายทั้งปวง และบรรลุพระนิพพานได้ (นี่ย่อมหมายถึงสวดแล้วดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระศาสดา ในเรื่องการเอาชนะความชั่วร้ายทั้งปวงด้วย)
ท้ายนี้ขอเล่าเกร็ดเกี่ยวกับคาถาพาหุงสักเรื่อง ท่านศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี สมัยยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ ท่านได้รับเชิญ จากรัฐบาลนัสเซอร์ แห่งอียิปต์ ทำอย่างไรไม่ทราบท่านทำหนังสือเดินทางหาย ท่านนั่งสวดคาถาพาหุงกลับไปกลับมาไม่ทราบกี่เที่ยว จนเครื่องบินลงสนามบินประเทศอียิปต์ ท่านรอให้คนอื่นเดินออกไปก่อน ตนเองยืนอยู่ท้ายเขา พลางสวดคาถาและภาวนาขอให้เข้าเมืองได้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ประทับตราคนนั้นคนนี้จนเหนื่อย พอมาถึงท่านท่านร้องดังๆ ว่า ฉันเป็นแขกนัสเซอร์ เขาตอบว่า แขกท่านนัสเซอร์เรอะ เชิญเลย ตกลงไม่ต้องดูพาสปอร์ตกันเลย ท่านว่านี้คือความมหัศจรรย์ของคาถาพาหุง ความข้างต้นนี้ผมได้รับฟังมาจากท่านอาจารย์เสฐียรฯ โดยตรงเลยนำมาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่เพื่อเชื่อ แต่เพื่อฟังไว้เป็นข้อพิจารณา
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เขาเตือนกันอย่างนี้มิใช่หรือครับ
-คาถาพาหุงมหากาพร้อมคำแปล, เสฐียรพงษ์ วรรณปก
Create Date : 25 กรกฎาคม 2550 |
|
3 comments |
Last Update : 28 กรกฎาคม 2550 15:14:44 น. |
Counter : 991 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: ชรันจ์ 27 กรกฎาคม 2550 13:10:25 น. |
|
|
|
|
|
|
|
พระท่านเมตตาช่วยเสมอ ถ้าตัวเราเองก็ทำเองด้วย ขยันด้วยช่วยเสริมแรง