|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
สะพายกล้องท่องฝั่งธนฯ
สะพายกล้องท่องฝั่งธนฯ
เพราะกรุงเทพมหานครไม่ได้มีเพียงแต่ตึกสูงระฟ้า รถราจอดติดขัดเต็มถนน และผู้คนเดินเบียดเสียดในห้างสรรพสินค้า หากแต่ในความเป็นสังคมเมืองหลวงใหญ่โตแห่งนี้ยังมีสังคมท้องถิ่นอีกมากมายที่ก่อร่างสร้างตัวโดยสั่งสมความรู้ ภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นผ่านกาลเวลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนับร้อยปี
น่าเสียดายที่คนกรุงเทพฯ มักจะไม่ค่อยสนใจเรียนรู้ความสำคัญดังกล่าว เปรียบเหมือนขนตาที่อยู่ใกล้เสียจนเราไม่เห็นคุณค่าของดีที่มีอยู่ แต่นับจากนี้ไปในแต่ละพื้นที่เขตทั่วกรุงเทพฯ ก็จะมีศูนย์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ตรงด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในท้องถิ่น เมื่อกรุงเทพมหานครดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้เป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวและนักเรียนนักศึกษาได้ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมและของดีประจำเขต ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้เริ่มเปิดบริการไปแล้วหลายเขต
โดยเฉพาะเรื่องราวของพื้นที่ฝั่งธนบุรีนั้นมีเสน่ห์และน่าสนใจมาก เพราะยังคงมีภาพวิถีชีวิตชาวสวนให้เห็นอยู่บ้าง แม้ว่าจะลดน้อยลงไปมากก็ตาม เริ่มจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตจอมทอง ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดยายร่ม แขวงบางมด ถนนพระรามที่ 2 ของดีที่เคยขึ้นชื่อลือชาก็คือ ส้มบางมดและตลาดน้ำวัดไทร บริเวณทางเข้าเราพบกับ "ลุงบุญรอด แดงแสงส่ง" อดีตกำนันและประธานสภาวัฒนธรรมเขตจอมทอง ยืนต้อนรับคณะผู้เข้าชมและเป็นผู้บรรยายรายละเอียดเรื่องราวของเขตนี้ทุกแง่ทุกมุมได้เป็นอย่างดี
ลุงบุญรอดเล่าความหลังว่า ในอดีตตลาดน้ำวัดไทรริมคลองสนามชัยเคยเป็นศูนย์กลางการค้า ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยเรือและเรือนแพขายสินค้ามากมาย รู้สึกเสียดายที่ความสำคัญของเรือหมดไปเมื่อมีการตัดถนนเข้ามา แม้ว่า กทม.จะมีการฟื้นฟูตลาดน้ำวัดไทรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ประสบความสำเร็จ มุมเด่นภายในพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กับคลองด่าน วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดวัดนอกอย่างคือการคิดสร้างออกนอกแบบอย่างดั้งเดิม รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยริเริ่มการนำศิลปะจีนผสมไทยอย่างกลมกลืน
ต่อที่เขตราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส เขตนี้ในอดีตถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร มีโรงสีและโกดังสินค้าตั้งเรียงรายริมฝั่งเจ้าพระยา จุดเด่นในพิพิธภัณฑ์อยู่ตรงทางเข้าเป็นเทวรูปพระวิษณุแกะสลักหินทรายสมัยลพบุรี ศิลปะเขมรแบบปาปวน และวิถีชีวิตชาวสวนหมาก ซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญที่ส่งออกขายในประเทศตะวันออกกลาง หากสนใจเจ้าของสวนยินดีเปิดให้เข้าชม
แวะพักรับประทานอาหารกลางวันแล้วก็ลุยกันต่อที่พิพิธภัณฑ์เขตบางกอกใหญ่ อยู่ในพื้นที่โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน ความสำคัญคือเป็นศูนย์กลางการปกครองของกรุงธนบุรีและที่ตั้งของพระราชวังเดิมและโบราณสถานสำคัญ ส่วนวิถีชีวิตจะเป็นแบบชาวสวนหรือที่เรียกกันว่า "สวนในบางกอก" มีพิธีเจ้าเซ็นของแขกเปอร์เซียที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และยังเป็นถิ่นฐานของเหล่าขุนนาง ข้าราชบริพาร จนถูกขนานนามให้เป็นถิ่นฐานย่านผู้ดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ถัดมาเป็นพิพิธภัณฑ์เขตธนบุรี ตั้งอยู่บนชั้น 3 วัดประยุรวงศาวาส ภายในจัดแสดงแหล่งรวมของกลุ่มชนที่ผสมผสานกัน เช่น จีน โปรตุเกส แขก มอญ ลาว และขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งจะทำให้เราได้รู้ถึงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพและประเพณีต่างๆ ที่อยู่ร่วมกัน สถานที่สำคัญคือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศิลปวัฒนธรรมที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกันแล้วเป็นดนตรีไทย ตระกูลพาทยโกศล ตระกูลสุนทรวาทิน และตระกูลคงลายทอง ของดีประจำเขตคือ ขนมฝรั่งกุฎีจีน ขลุ่ยบ้านลาว ปลาทูนึ่งวัดจันทร์ อาชีพดั้งเดิมเป็นการทำสวนพลู ซึ่งเป็นที่มาของธุรกิจการค้าพลูในย่านตลาดพลูที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ถึงวันนี้
ปิดท้ายที่พิพิธภัณฑ์เขตคลองสาน ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารหอสมุดประชาชน วัดอนงคาราม ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ภายในจัดแสดงชุดนิทรรศการความสำคัญของเขตในด้านต่างๆ จุดเด่นคือ มีของเก่าแก่ที่แสดงถึงแหล่งรวมศูนย์กลางด้านการค้าและย่านธุรกิจ เช่น ใบเสร็จรับเงินที่มีหมายเลขโทรศัพท์เพียง 5 ตัว ถังดับเพลิงรูปทรงกลวย ป้ายร้านค้าที่เขียนในยุคชาตินิยมสมัยจอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเห็นว่าไม่ถูกต้องกับภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ประตูแขกจำลอง 1913 RBMCO อาณาจักรแห่งความรุ่งเรืองของพ่อค้าอินเดีย และข้าวของเครื่องใช้ที่โรงงานเก่ามอบให้กับ กทม.ที่สำคัญคลองสานยังมีประวัติความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับองค์สมเด็จย่าของชาวไทยมาเนิ่นนาน
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละเขตเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในอดีตและปัจจุบัน แต่การเดินเข้าออกตามตรอกซอกซอยก็จะทำให้เราได้สัมผัสถึงภาพชีวิตและตัวตนอีกแง่มุมหนึ่งของชาวกรุงเทพฯ อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น
Create Date : 29 เมษายน 2551 |
Last Update : 5 พฤษภาคม 2551 18:20:00 น. |
|
1 comments
|
Counter : 817 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
มีความสนใจ แลกลิงค์ กัน หากโอเคช่วย comment ที่หัวข้อเที่ยว จตุจักร
ด้วยครับ ไปที่ //my.opera.com/sundirect/blog/