“การคลั่งไคล้เคป๊อปนั้นไม่ได้ไร้สาระ ... แต่มันเป็นพฤติกรรมที่ซุกซ่อนนัยการเมือง สังคม และวัฒนธรรมได้อย่างสำคัญ"

<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
28 มกราคม 2553
 

K-pop (& J-pop) … ผู้ชายแอ๊บแบ๊ว …และพื้นที่ในการแสดงออกของผู้หญิง


from - //kpopletter.wordpress.com/

ถึงคุณน้องตระกูลคิมที่รัก

สืบเนื่องจากพวกเรา ก็ได้ตกลงจะเปิดบล็อก เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความเพ้อเจ้อต่อวงการเคป๊อปมาได้สัก 3- 4 เดือนแล้ว แต่พวกเรายังไม่ได้เคลื่อนไหว ออกแรงมือ หรือบริหารสมอง (ที่มีอยู่น้อยนิด) มาเขียนถึงสักที จนย่างเข้าปีใหม่มาได้เกือบค่อนเดือน คุณพี่สบโอกาสนอกใจ ได้ไปดูคอนเสิร์ตวงพังก์ร็อกอายุยืนนาน อย่าง กรีนเดย์ (Greenday) ที่อิมแพ็คอารีน่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา แล้วได้พานพบประสบพักตร์กับผู้ชายมากหน้าหลายตา … เปล่าค่ะ คุณพี่ไม่ได้หมายถึง พี่ Billie Joe Armstrong, Mike Dirnt, และ Tré Cool ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของวง “วันเขียว” แต่อย่างใด แต่คุณพี่หมายถึง “ผู้ชาย” “ผู้ชาย” และ “ผู้ชาย” คนเดินถนน นั่งรถเมล์ เบียดเสียดบนรถไฟฟ้า หรือขับรถโตโยต้าวิออส ธรรมดาทั่วไปนี่แหละค่ะ คุณพี่ได้เจอกับผู้ชายเหล่านี้เต็มเกลื่อนกล่นคอนเสิร์ตไปหมดเลยค่ะ ซึ่งคุณน้องคงพอเดาได้ว่า สำหรับชีวิตสาวโสดอดอยากปากแห้งผู้ชายไม่ตกถึงท้องมาหลายแรมสิบปีเช่นคุณพี่ นี้ (แต่คุณพี่สวยนะคะ ขอย้ำ) การได้พบปะกับผู้ชายจำนวนมากขนาดนี้ อัดแน่นรวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน นั่นย่อมทำให้คุณพี่รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ความตื่นเต้นพุ่งสูงปรี๊ดพอๆ อุณหภูมิของโลกแน่ๆ … แต่สารภาพว่าอาการตื่นตาที่ว่านั้น เกิดสืบเนื่องมาจากคุณพี่ไม่ได้พบเจอผู้ชายมารวมตัวในคอนเสิร์ตที่คุณพี่ ควักตังค์ซื้อตั๋วมานานแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ “คุณพี่ไม่พบผู้ชายเหล่านี้ในคอนเสิร์ต ดงบังชินกิ หรือ ซูเปอร์จูเนียร์” ที่คุณพี่เสียเงินเกือบหมื่นบาทเพื่อไปดูแต่อย่างใด … ในคอนเสิร์ตของวงบอยแบนด์ชั้นนำจากเกาหลีใต้ทั้งสองวงนั้น คุณพี่ประสบพบเจอและถูกล้อมรอบด้วยชะนี ชะนี ชะนี และชะนี! เพียงเท่านั้น (อาจมีผู้ชายหลุดโผมาบ้าง แต่ผู้ชายเหล่านั้นก็มักจะมาพร้อมป้ายเชียร์ “I Go Gay For Jaejoong” หรือ “ผมยอมเป็นเกย์เพื่อแจจุง” ไปเสียนี่) ดังนั้นการพบเจอผู้ชายเดินเกลื่อนกล่นเต็มไปหมด กำลังดิ้น โยกตัว ตะโกน โห่ร้อง และกรี๊ด (จริงๆ ค่ะ เพราะพวกเค้า scream ตามบัญชาของพี่บิลลี่โจ และ scream ก็แปลเป็นไทยว่า “กรี๊ด” ไม่ใช่เหรอคะ?) อยู่ตรงหน้าจนทำให้ฮอลล์ “อิมแพ็คอารีน่า” สั่นสะเทือนนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณพี่ตื่นตามาก แถมยังตื่นไปถึงหัวใจ จนก่อเกิดความสงสัยบางอย่างเชื่อมโยงมาถึงวงการเคป๊อปในที่สุด

อย่างที่คุณน้องน่าจะรู้ดี คุณพี่นั้น (แอบ) เป็นศิษย์เอกของ “พี่แขก คำ ผกา” นักเขียนหญิงปากจัดของเมืองไทย ผู้ทำให้คุณพี่ซึมซับลัทธิ “เฟมินิสต์” (ไม่กล้าแปลเป็นไทย คุณพี่ไม่ค่อยชอบชื่อ “สตรีนิยม” นัก เพราะคุณพี่ไม่ได้นิยมทั้ง “สตรี” หรือ “ชะนี”) มาหน่อยๆ ประกอบกับความเพ้อเจ้อส่วนตัวในกมลสันดานของคุณพี่เอง คุณพี่ก็มักจะดัดแปลงแนวคิดของพี่คำ ผกา มาใช้กับวงการเคป๊อปเสมอ … และจากเหตุการณ์ที่พี่ไปพบเจอผู้ชายมากหน้าหลายตา “สาวกกรีนเดย์” ที่รวมตัวในคอนเสิร์ตนั้น คุณพี่ก็ได้เกิดความสงสัยบางอย่างว่า ทำไมผู้ชายเหล่านี้จึงมารวมตัวในคอนเสิร์ตของวงพังก์ร็อกในตำนานวงนี้ และถ้าเราตัดความแตกต่างเรื่องสรีระหรือความอ่อนหวานของเสียงจากคอหอยออกไป เราจะพบว่า สิ่งที่สาวกชายๆ ของกรีนเดย์ กำลังทำในคอนเสิร์ต Greenday Live in Bangkok เมื่อคืนวานนั้น (ดิ้น โยกตัว ตะโกน โห่ร้อง และกรี๊ด – เอ่อ มีวิ่งไล่ตามขอจับมือด้วยค่ะ) ก็ไม่แตกต่างกับสิ่งที่บรรดาแฟนคลับเคป๊อป (หรือที่คนไทยชอบเรียกเหมารวมกันว่า สาวกเกาหลี) กระทำเวลาดูคอนเสิร์ตบอยแบนด์จากแดมกิมจิเลยแม้แต่น้อย … มันคือการแสดงออกถึง “ลูกบ้า” มันคือการปลดปล่อยสัญชาตญาณดิบในตัวมนุษย์… ในพื้นที่ของแต่ละฝ่ายเท่านั้น

สาวกกรีนเดย์ ชายแมนเข้มเต็มร้อย (ความแซ๊บบบบ และความห่ามฟุ้งกระจายเต็มคอนเสิร์ต) ไปรวมตัวในคอนเสิร์ตเมื่อวาน ก็เพราะพวกเขาไปปลดปล่อยสัญชาติญาณดิบพื้นฐานบางอย่าง ในพื้นที่ที่อนุญาตให้พวกเขาทำแบบนั้นได้ ก็แหม… คอนเสิร์ตหรือมหรสพบันเทิงน่ะ ถูกสร้างมาเพื่อเป็น “พื้นที่” ให้มนุษย์ได้ปลดหรือปล่อยอะไรออกมาไม่ใช่เหรอคะ จะให้อยู่ๆ นั่งบนรถไฟฟ้าแล้วกรี๊ดเสียสติขึ้นมาก็ใช่ที่ คนจะได้หาว่าบ้า แต่ถ้าไปกรี๊ดที่หน้าคอนเสิร์ตโมเดิร์นด็อก, กรีนเดย์, ริชแมนทอย คงไม่ค่อยมีใครว่าสักเท่าไหร่ เพราะเราได้ถูกวัฒนธรรมกล่อมเกลากลายๆ ให้เชื่อแล้วว่า “การกรี๊ดที่คอนเสิร์ตนั้น” ไม่นับว่า “บ้า” หรือ “ถูกเจ้าเข้า” แต่อย่างใด

และถ้า คอนเสิร์ตกรีนเดย์ จะเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของผู้ชายแล้ว (คุณพี่ขอละประเด็นเรื่อง ผู้ชายบางส่วน ไปแสดงออกในคอนเสิร์ตชะนีน้อย SNSD หรือ Wonder Girls ไว้ก่อนนะคะ ไว้จะมาต่อวันหลัง) คุณพี่ก็ขอเหมารวม รวบรัดตัดประเด็นง่ายๆ ได้หรือไม่ว่า “คอนเสิร์ตบอยแบนด์เกาหลี (ใต้)” ก็ถือเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของผู้หญิง เช่นเดียวกัน

จากการเข้ามาสู่วงการเคป๊อปในระยะเวลา 2 ปี ผ่านคอนเสิร์ตเคป๊อปหลักๆ มา 4 คอนเสิร์ต รวมถึงยังเคยไปนั่งเฝ้ารอศิลปินตามงานแถลงข่าวอยู่หลายครา (นับไปนับมายังไม่ถึงสิบ ถือว่าคุณพี่ยังครองสติแบบผู้ใหญ่ “ตามจารีตไทย” ได้อยู่ใช่ไหมคะ?) คุณพี่ค้นพบว่า บางครั้ง การที่เราไปนั่งกลางแดดเป็นเวลาสิบชั่วโมง เพื่อรอเจอหน้า”ผู้ชาย” (คำที่เราไว้ใช้เรียก ศิลปินเคป๊อป) เพียงแค่ไม่กี่นาทีนั้น มันเป็นเพราะว่า เรา “คลั่งเกาหลี” อย่างที่ผู้ใหญ่ตามจารีตไทยบางคนพูดไว้ (อาทิเช่น คนในกระทรวงที่คุณน้องก็รู้ๆ อยู่) แค่นั้นจริงหรือ? หรือเพราะมันมีนัยยะอื่นปะปนมา นัยยะที่ว่า เพราะในประเทศนี้ก็มีพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มี “พื้นที่แสดงออก” ซึ่งสัญชาตญาณดิบน้อยเหลือเกิน หรือเปล่า?

คุณพี่ก็คิดเพ้อเจ้อไปตามประสาคุณพี่น่ะ นะคะ อย่างที่คุณน้องรู้มาว่า นับตั้งแต่วันที่คุณพี่นั้น อ่านบทสัมภาษณ์ในการก่อตั้งบริษัท SM Entertainment ของท่าน “อีซูมาร” (คุณพี่ไม่ได้หยาบคายนะคะ ที่เกาหลี “อี” เป็นนามสกุลทั่วไปค่ะ) ว่าเกิดจากการทำการศึกษาตลาดของเอเชียอย่างดี ว่าคนเอเชียต้องการศิลปินแบบไหน และทางท่าน “อีซูมาร” ก็เลยสร้างสรรค์ศิลปินตามนั้น โดยมีโจทย์ที่ใหญ่กว่าก็คือว่า “จะปั้นให้ศิลปินเกาหลี (ใต้) โด่งดังไปทั่วโลก และถ้าคนทั่วโลกหัดร้องเพลงภาษาอังกฤษได้ (เช่นคุณพี่หัดร้องเพลงของกรีนเดย์) แล้วทำไม ท่านซูมารถึงจะทำให้คนหันมาร้องเพลงเกาหลีไม่ได้” (ฟังดูน่าหมั่นไส้เล็กๆ แต่ก็ดีค่ะ คุณพี่ก็สงสัยมานานแล้วเรื่องภาษาอังกฤษครองโลกนี่) นับตั้งแต่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของการก่อตั้งบริษัทของท่านซูมาร คุณพี่ก็อาศัยความสังเกต และเพ้อเจ้อ จับประเด็น “คาแรกเตอร์” ของวงในสังกัดของทางบริษัท SM Entertainment ของท่าน อันเป็น (อดีต) ค่ายของดงบังชินกิ, ซูเปอร์จูเนียร์, หรือชายนี่ (คุณพี่ละชื่อ ชินห์วา กับ H.O.T ไว้ก่อนนะคะ พอดีไม่ค่อยสนิทสนมกันนัก) ได้ว่า ศิลปินของค่ายนี้ ไม่ว่าจะมีใบสั่งให้มี “อิมเมจ” แบบไหน แต่ทุกวงล้วนมี “ความแอ๊บแบ๊ว” ปะปนอยู่ในคาแรกเตอร์ในปริมาณที่สูง บางวงอาจไม่แบ๊วในเอ็มวี แต่นอกจอ ให้มันทำท่า “แบ๊ว” มันก็ทำกันได้แบบไม่เคอะเขิน และพอคุณพี่สำรวจไปสำรวจมา คุณพี่ก็ดันพบว่า ไอ้คาแรกเตอร์ “แอ๊บแบ๊ว” แอบแฝงนี่ มันไม่ได้มีอยู่เฉพาะในค่าย SM Entertainment เท่านั้น แต่มันดันแฝงฝัง หรือมีอยู่อย่างเปิดเผยในคาแรกเตอร์ของศิลปินวงอื่นๆ ในค่ายอื่นๆ ของเกาหลีใต้ด้วย ไม่ว่าวงนั้นจะดู “แมน” เหมือน 2 PM ที่มีภาพลักษณ์เป็น Beast Idol (ไอดอลภาพลักษณ์โหดๆ ดูดุ ขรึมขลัง และกล้ามโตหน่อยๆ) หรือ “แนว” เช่น Epik High (วงฮิปฮอปชื่อดังและได้รับการยอมรับในวงการดนตรีเกาหลีใต้อย่างสูง) ก็ตาม โดยมากวงเหล่านี้จะมีความ “แอ๊บแบ๊ว” อยู่ในที อาจไปแอ๊บเวลาไปร่วมรายการวาไรตี้โชว์, ตอนถ่ายนิตยสาร, ตอนสัมภาษณ์วิทยุ หรืออะไรก็แล้วแต่เหอะ แต่ศิลปินจากประเทศนี้ ดูจะมาคู่กับความ “แอ๊บแบ๊ว” จริงๆ (อันนี้คุณพี่พูดถึงผู้ชายก่อนนะคะ ยังไม่ได้พูดลงรายละเอียดไปถึงความแบ๊วของชะนีในวงการเคป๊อปแต่อย่างใด :) )

ทั้งไม่เพียงเกาหลีใต้เท่านั้น จากการแวะเวียนไปทำความรู้จักกับวงบอยแบนด์ของญี่ปุ่นบางวง เช่น อาราชิ หรือคัตตุน ก็ทำให้คุณพี่ได้ค้นพบว่า ศิลปินจากฝั่งเจป๊อปนั้น ก็แอ๊บแบ๊วพอกัน แต่อาจแตกต่างด้านปริมาณและท่าที โดยมี “ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม” เป็นตัวกำกับ

ทีนี้ก็อย่างที่คุณพี่เคยได้พร่ำบ่นให้ คุณน้องฟังไปหลายๆ ครั้งแล้วว่า แม้ว่า “บอยแบนด์” (ชนชาติไหนก็ตาม) นั้น จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณ (อะไรบางอย่าง) ของเพศหญิง แต่ด้วยความที่เมื่อเราพิจารณาในระดับลงลึก บอยแบนด์จากฝั่งตะวันตกนั้น มักจะมีความ “แมนแบบ masculine” อยู่ในภาพที่ฉายโชว์ มากกว่าบอยแบนด์จากฝั่งตะวันออก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ บอยแบนด์จากฝั่งตะวันตกนั้น ไม่ค่อย “แอ๊บแบ๊ว” หรือเค้าอาจจะไปแอ๊บมาแล้ว แต่เราไม่ทันสังเกตรู้ก็เป็นได้ ทว่านั่นแหละ แม้เราจะกรี๊ดบอยแบนด์จากทั้งสองฝั่งเหมือนกัน แต่ทว่า เมื่อผู้หญิงหลายคนในสังคม “ชายเป็นใหญ่” (เช่นสังคมเอเชีย) ประสบพบเจอกับผู้ชาย “แอ๊บแบ๊ว” นั้น คาแรกเตอร์แบบแบ๊วๆ ที่ผู้ชายไทยหลายคนอาจเข้าใจว่าผู้หญิงคงขยาด กลับทำให้ผู้หญิงไทย (และเอเชีย) บางส่วน “หลงรัก” “ชอบพอ” หรือพัฒนาไปถึงขั้น “คลั่งไคล้” เอาได้

นั่นเพราะ ลักษณะของผู้ชาย “แอ๊บแบ๊ว” นั้น ได้ไปกระตุ้นต่อมเพศ “แม่” ที่ต้องการดูแลปกป้อง ทะนุถนอม ไปจนถึงขั้น “มีอำนาจ” ในการสั่งการหรือชี้ขาด (ในจินตนาการ) ให้กับผู้ชายแอ๊บแบ๊ว (ซึ่งจริงๆ อาจจะแมนมากกว่าผู้ชายไม่แอ๊บแบ๊วเสียอีก) ได้ และนั่นคือจุดเชื่อมจุดหนึ่ง นอกจากการตลาดอันชาญฉลาดของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ที่ทำให้ “กระแสเกาหลี” ที่กำลังแรงอยู่แล้วในเอเชีย ได้รับการตอบสนองให้แรงและฝังรากลึกขึ้นอีกหน่อย เพราะนอกจากพวกเขาจะผลิตวัฒนธรรมออกขายแล้ว พวกเขายังผลิต “ผู้ชายแอ๊บแบ๊ว” อันเป็นสินค้าในจินตนาการของผู้หญิง (บางส่วนในสังคมที่ชายเป็นใหญ่) ออกมาขายอีกด้วย

และเมื่อผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเอเชียที่ชายเป็นใหญ่ ได้ประสบพบเจอกับศิลปิน “ผู้ชายแอ๊บแบ๊ว” จากเกาหลีใต้ (และญี่ปุ่น) อันเป็นสินค้าที่มาตอบโจทย์ความต้องการแสดงอำนาจ” (ในจินตนาการ) ของพวกเธอได้เป็นอย่างดี มันก็เหมือนกับพวกเธอได้พบ “พื้นที่ในการแสดงออก” อันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เธอได้ปลดปล่อยความ “อยากเป็นใหญ่” ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าการปลดปล่อยนั้นจะแสดงออกผ่านการกรี๊ด, ผ่านการเขียนแฟนฟิคชั่น “วาย” (แฟนฟิคชั่นอันว่าด้วย “ศิลปินชายรักศิลปินชาย” – แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงเขียน อันจะขอขยายความในคราวต่อไปนะคะคุณน้อง), ผ่านการพร่ำเพ้อพรรณา ไปจนถึงการสร้างสรรค์ภาษาเฉพาะตัวของ “สาวกสาวๆ” ขึ้นมาใช้ โดยเป็นภาษาที่ได้ “กีดกัน” ผู้ชายแมนๆ ทั่วไปออกไปทางอ้อมในระดับหนึ่งนั่นเอง

รวมทั้งมันยังเป็น “พื้นที่” ที่ทำให้พวกเธอรู้สึกปลอดภัย จากโลกที่ชายเป็นใหญ่อีกด้วย ^^

คุณพี่นั้นเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า คนทุกคนล้วนต้องการพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าขอบข่ายหรือนัยยะของคำว่า “พื้นที่” นั้นจะลงลึกไปถึงระดับใดก็ตาม (จริงๆ แล้ว “รัฐชาติ” หรือ “ศาสนา” ก็นับเป็น “พื้นที่” อย่างหนึ่งนะคะ) คุณพี่ก็ขอใช้สิทธิเสียงหนึ่งของสาวกวงการเคป๊อปตรงนี้ ขอความชอบธรรมให้กับ สาวกคนอื่นๆ ด้วยแล้วกันว่า ในเมื่อพวกเราได้ค้นพบ “พื้นที่ในการแสดงออก” ของพวกเรา อันเป็นพื้นที่ที่พวกเรารู้สึกปลอดภัยแล้ว ก็กรุณาเลิกกล่าวหาว่าพวกเรา “คลั่งเกาหลี” อย่างไม่ลืมหูลืมตาเสียทีเถอะ (คุณพี่ไม่รู้ว่าคนอื่นนั้นเป็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวของคุณพี่นั้น คุณพี่ “คลั่งผู้ชายแอ๊บแบ๊ว” นะคะ ไม่ใช่ “คลั่งเกาหลี”) เพราะในเมื่อโลกนี้ ผู้ชายพังก์ร็อกยังมี “คอนเสิร์ตกรีนเดย์” เป็นพื้นที่ในการแสดงออก, ผู้ชายนักเที่ยวยังมี “ทองหล่อ” เป็นพื้นที่ประจำการหลัก, ขาช้อปปิ้งมีพื้นที่ห้างพารากอนและสยามสแควร์เป็น “ศาสนสถาน” , หรือคุณป้าลัดดา (แห่งกระทรวงที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Culture) ยังมี “วัฒนธรรมไดโนเสาร์” อันมีผ้าไหมนำเป็นพื้นที่ที่ทำให้คุณป้าเค้ารู้สึกปลอดภัยแล้ว (คุณพี่ยกตัวอย่างผ้าไหมขึ้นมาให้เห็นภาพคุณป้าลัดดาเท่านั้นนะคะ ไม่ได้จะกล่าวหาว่า “ผ้าไหม” ไม่ดีแต่อย่างใดไม่) หรือแม้กระทั่งที่คุณแม่ของคุณพี่ ซึ่งเป็นครูประชาบาล ยังมีพื้นที่ของสมาคมครูชาวบ้านไว้เม้าท์มอยให้ชุ่มชื่นหัวใจแล้ว ดังนั้น หากสาวกเคป๊อปฝ่ายหญิงในไทย จะขอพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ไว้รวมตัว ไว้กรีดร้องบ้าง (มันคงไม่ถึงกับทำให้ใครหูหนวกจริงๆ แต่อย่างใดหรอก) ไว้ให้พวกเราได้ระบายและแสดง “อำนาจ” ที่พวกเราไม่มีวันได้แสดงออกบนโลกจริงๆ บ้าง นั่นคงไม่หนักหนาอะไรใช่ไหมคะ?
เพราะถ้าลองนับวันในรอบปีๆ นึงดู มันก็มีไม่กี่วันหรอกนะ ที่พวกเราจะได้แสดงออกอย่างนั้นกันจริงๆ (ยกเว้นในโลกอินเตอร์เน็ต)
พวกเราขอมี “อำนาจ” ในบางวัน บนพื้นที่ของพวกเรา บนชุมชนที่พวกเราสร้างขึ้น โดยมีผู้ชายแอ๊บแบ๊วเป็นทาส ในชุมชน “จินตกรรม” นั้น คงไม่ผิดมากใช่ไหม?

หรือคุณน้องว่าอย่างไร?

ด้วยรักและคิดถึงคุณน้องค่ะ
คุณพี่ตระกูลปาร์ค



Create Date : 28 มกราคม 2553
Last Update : 28 มกราคม 2553 1:03:30 น. 2 comments
Counter : 925 Pageviews.  
 
 
 
 
 
 

โดย: ผมชอบกินข้าวมันไก่ วันที่: 28 มกราคม 2553 เวลา:1:33:17 น.  

 
 
 
พื้นที่แสดงออก......หุหุ
เป็นอย่างนี้นี่เอง
เข้าใจแล้ว 5555
 
 

โดย: myfahsan วันที่: 28 มกราคม 2553 เวลา:11:29:41 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

tiktokthailand
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add tiktokthailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com