เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
12 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 

สถานะธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

ความผันผวนหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะในระบบการเงิน ซึ่งถือเป็นท่อหล่อเลี้ยงที่สำคัญส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น หากมีความผันผวนเกิดขึ้นในระบบแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินต้องเข้าไปกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพ เพื่อให้สภาวะในระบบ เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและผู้ที่กู้ยืมเงินตราต่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากรายได้หรือรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศนั้น มีค่าลดลงเมื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท ทำให้รายรับที่ควรจะได้นั้น ลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำเป็นต้องดูแลไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินกว่าที่ภาคประชาชนครัวเรือน และภาคธุรกิจจะรับมือไหว

ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ด้านเสถียรภาพในประเทศยังถูกกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ ยังผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมดัชนีราคาพลังงานและอาหารสดที่แปรผันตามปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งจากปัจจัยทางด้านฤดูกาลและปัจจัยภายนอก มีแนวโน้มที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ยังผลกระทบให้เกิดแก่ประชาชนโดยทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรที่จะได้รับการดูแลเพื่อไม่ให้ความผันผวนดังกล่าว มีมากจนเกินที่ภาคเศรษฐกิจต่างๆจะรับได้


การรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายใต้การเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอันเนื่องมาจากการส่งออกของไทยที่ขยายตัวมากเป็นประวัติการณ์ กอปรกับการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในประเทศไทย และการอ่อนค่าลงของค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้กระแสเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐได้ไหลเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และการที่เงินตราเหล่านั้นจะสามารถใช้ได้ในประเทศไทยตามความมุ่งหมายของผู้นำเงินตราเข้ามานั้น ต้องแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินบาทเสียก่อน ดังนั้น เมื่อเงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสงค์เงินบาทในตลาดสูงขึ้น ยังผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกัน เงินบาทที่ไหลเวียนอยู่ในระบบของประเทศไทยก็จะมีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

การที่มีเงินบาทไหลเวียนอยู่ในระบบมาก จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อในลักษณะ Demand Pull Inflation ได้ ดังนั้น เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินโดยการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย อันจะช่วยรักษาดุลยภาพให้แก่ระบบการเงินได้ โดยผ่านกลไกและขั้นตอนคือ ในกรณีที่เงินเฟ้อสูงดังปัจจุบัน การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าสู่ระบบการเงิน จะสามารถช่วยดูดซับเงินบาทอยู่ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ และทำให้เงินเฟ้อภายในประเทศชะลอตัวลง ในอีกทางหนึ่งก็ช่วยให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศแข็งค่าขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้แนวนโยบายดังกล่าวในการควบคุมเงินเฟ้อในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่า นับแต่ช่วงกลางปี 2548 ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขณะนั้นได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ยังผลให้ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น



เมื่อพิจารณาข้อมูลสถานะของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว จะพบว่า ยอดเงินสำรองระหว่างประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้น จากการรับแลกเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน พันธบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาเพื่อดูดซับเงินบาทที่มีอยู่ในระบบเป็นจำนวนมากนั้น ก็มีจำนวนสูงตามด้วยเช่นเดียวกัน แนวโน้มดังกล่าว ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นในระดับสูง ขณะเดียวกันยอดคงค้างพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอันนับเป็นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน




แนวโน้มของพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อพิจารณารายละเอียดของประเภทพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วจะพบว่า ในอดีตพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีอายุ 1 ปีเป็นหลัก ขณะที่พันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอนอื่นๆจะมีออกมาไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นพันธบัตรระยะยาว อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 เป็นครั้งแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกพันธบัตรสั้นน้อยกว่า 14 วันออกมา โดยพันธบัตรดังกล่าวมีอายุไถ่ถอนเพียง 7 วัน และนับจากวันนั้นก็มีพันธบัตรระยะสั้นทยอยออกมา โดยมีมูลค่ารวมถึง 284,611 ล้านบาท ภายในช่วงระยะเวลา 2 เดือน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 27.59 ของยอดคงค้างพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งปี 2549 และพันธบัตรระยะสั้นได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นเป็นร้อยละ 76.89 ของยอดพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการประมูลในปี 2550 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 ยอดพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยระยะสั้นมีสูงถึง 358,313 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 83.66 ของยอดพันธบัตรคงค้างในปัจจุบัน



จากโครงสร้างพันธบัตรดังกล่าว เมื่อพิจารณากำหนดไถ่ถอนของพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 พันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนมีมูลค่าสูงถึง 258,313 ล้านบาท หรือกล่าวได้ว่า ปริมาณเงินจำนวนดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีกำหนดการออกพันธบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 260,000 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน โดยประเภทของพันธบัตรที่จะออกนั้น เป็นพันธบัตรระยะสั้นมูลค่า 170,000 ล้านบาท





การที่ปริมาณเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในระบบการเงินของไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุการเกินดุลการค้าระหว่างประเทศของไทย การลงทุนจากต่างประเทศในไทย หรือแม้แต่การที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามาเก็งกำไรก็ตาม ประกอบกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ยังส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาภายในประเทศไม่ให้สูงเกินกว่ากรอบนโยบายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ ทำให้พฤติกรรมการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการใช้พันธบัตรระยะยาวเป็นเครื่องมือแต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีต้นทุนในการออกพันธบัตรค่อนข้างสูง โดยเฉพาะภาระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งในปัจจุบัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงอยู่ในช่วงขาลง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ต้นทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในระดับสูง อีกทั้งพันธบัตรระยะยาวยังทำให้ช่องทางในการดำเนินนโยบายการเงินลดลงไป ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ หากธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท โดยมุ่งหวังให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงินในระบบนั้น ทางหนึ่งมาจากการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการออกพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลงน้อยกว่าการออกพันธบัตรระยะยาว อีกทั้งยังมีสภาพคล่องสูงกว่า โดยสามารถใช้ดำเนินนโยบายการเงินในกรณีจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเหตุการณ์ที่ภาวะทางการเงินในตลาดโลกมีความผันผวนดังเช่นในปัจจุบัน

การรักษาเสถียรภาพทั้งภายในภายนอกพร้อมกันดังกล่าว แม้จะทำให้ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ในอีกทางหนึ่งก็ทำให้ภาระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ภาระหนี้ดังกล่าวย่อมส่งผลต่องบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเงินบาทที่จะเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องไถ่ถอนในอนาคตไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น นอกเหนือจากความผันผวนและความเสี่ยงจากภายนอกดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับความเสี่ยงของตนเองในการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศมากนัก




 

Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2551
0 comments
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2551 12:14:50 น.
Counter : 5335 Pageviews.


TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.