เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 มีนาคม 2550
 
All Blogs
 
ทิศทางตลาดเงินไทยกลางปี 2550

แม้ว่าธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งนับจากต้นปี 2550 จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.50 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจหลายคน ยังคงเรียกร้องให้ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของธปท.จะพบว่าเดือนมกราคม 2550 ดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มชะลอตัว โดยขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าร้อยละ 0.99 และ -0.67 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อตามดูรายละเอียดแล้วพบว่าเป็นการชะลอตัวในระยะยาวทั้งการบริโภคและการลงภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการบริโภคสินค้าคงทน (สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้บริโภคในอนาคต) หรือแนวโน้มการผลิตในอนาคต

เมื่อพิจารณาข้อมูลดัชนีการลงทุนประกอบกับข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมแล้ว พบว่า มีความขัดแย้งกัน จากข้อมูลเดือนมกราคม 2550 พบว่าการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ระดับร้อยละ 74.27 ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อธุรกิจมีอัตราการใช้กำลังการผลิตใกล้เต็มประสิทธิภาพการผลิต (Full Capacity) ธุรกิจนั้นจะเริ่มการลงทุนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งของตนเองหรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่หากอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูง แต่หน่วยธุรกิจดังกล่าวกลับไม่มีการลงทุนใหม่ใดๆเพิ่มเติม แสดงว่าความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจขณะนั้นเริ่มแย่ลง




ภาวะตลาดเงินในปัจจุบัน
ภายหลังจากทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตราคาพลังงาน จากระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาเรลล์ในช่วงปี 2548-2549 ส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมดัชนีราคากลุ่มพลังงานและอาหารสด) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 3 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ธปท.กำลังควบคุมไม่ให้เกินระดับร้อยละ 3.5 (Inflation Targeting) ด้วยหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในของประเทศ ธปท.จึงจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้ระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศสูงจนเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากปัญหาเงินเฟ้อในช่วงปี 2548-2549 แล้ว ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 2549 โดยการเกินดุลบัญชีการชำระเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปี 2548 ทั้งจากกำไรที่ได้จากการค้าสินค้าและบริการ และเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกของประเทศ ธปท.จึงจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงมากเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ส่งออกของไทย

การแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธปท.ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา หรือเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.ใช้วิธีการซื้อขายพันธบัตรเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงดังกล่าว ในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งเกินไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ธปท.จะทำการแทรกแซงโดยนำเงินบาทออกซื้อดอลลาร์สหรัฐในตลาดเงิน ผลก็คือปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดลดลง ขณะที่ปริมาณเงินบาทในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น ตามหลักอุปสงค์อุปทานแล้ว ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผลที่ตามมาในขั้นแรกคือ ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถือโดยธปท.จะเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การแทรกแซงดังกล่าว อยู่ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เมื่อปริมาณเงินบาทอยู่ในระบบมากเกินไป จึงมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ธปท.จึงจำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเงินบาทที่มากเกินไปในระบบออกมา ผลในขั้นนี้คือ หนี้พันธบัตรของธปท.จึงเพิ่มสูงขึ้น




ยอดตราสารหนี้คงค้าง (ล้านบาท)


ภายใต้เงื่อนไขของภาวะตลาดเงินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินตราสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ภาระหนี้คงค้างของธปท.ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงประมาณ 4.0-5.0 รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการนำเข้าสินค้าบริโภคและสินค้าทุนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ดุลการค้าเกินดุลได้ไม่ยาก แม้ธปท.จะออกมาตราการกันสำรองเงินตราระหว่างประเทศร้อยละ 30 แล้ว ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นแรงกดดันสำคัญที่ตลาดมองว่า ธปท.จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย ร้อยละ 0.5-1.0


แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2550
จากเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาในช่วงก่อนหน้า ทำให้นักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะลดลงได้อีก การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. 2 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2550 จึงดูเหมือนว่าจะไม่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนขึ้นเลย เนื่องจากเครื่องชี้วัดภาวะการลงทุนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถสรุปประเด็นปัญหาที่ควรรีบเร่งแก้ไขได้ 2 ประการ

1. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยเกินไป จนนักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มลดลงต่อในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากนักลงทุนมองว่าการรอให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง คุ้มค่ากับค่าเสียโอกาสที่จะรอ จะทำให้นักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนต่อไป อย่างไรก็ดี ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง ยังเป็นโอกาสที่ดีที่ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากเกินไป

2. การปรับอัตราดอกเบี้ยที่ช้าเกินไป อาจทำให้สภาพเศรษฐกิจอาจกลับไปเหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดต่ำมาก แต่ไม่มีนักลงทุนคนไหนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจพอที่จะลงทุนใหม่เลย อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ก็ไม่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากพอที่จะกล้าให้เงินกู้โดยไม่กลัวหนี้เสีย (NPL) ดังนั้น ธปท.ควรกระตุ้นการลงทุนก่อนความเชื่อมั่นนักลงทุนจะหมดไป และธนาคารพาณิชย์ยังมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่

นอกเหนือจากประเด็นสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ 2 ประการแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงอีกจุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภาคต่างประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงการที่มาตรการที่ออกโดยธปท.ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากมาตรการที่ออกโดยธปท. โดยเฉพาะมาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 เป็นมาตรการที่ควบคุมเงินตราไหลเข้า จึงไม่มีผลต่อเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ การออกมาตรการดังกล่าวจึงไม่เพียงไม่ส่งผลให้เงินตราไหลออก แต่ยังสร้างแรงจูงใจไม่ให้คนเอาเงินตราออกนอกประเทศด้วย เพราะเมื่อเอาเงินตราออกไปแล้ว การที่จะเอากลับเข้ามานั้นยากกว่าเดิม ในกรณีของนักลงทุนต่างประเทศที่ถือเงินบาทอยู่ในประเทศไทย สามารถนำไปทำธุรกรรมทางการเงินได้ใน 3 แหล่งใหญ่ๆคือ ตลาดตราสารทุน (ตลาดหลักทรัพย์) ตลาดตราสารหนี้ และเงินฝากธนาคาร (Non-resident) ในช่วงต้นปี เราจึงได้เห็นเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์มาก ภายหลังจากที่ธปท.ยกเลิกการผ่อนปรน ทำให้ต่างชาติมีเงินฝากธนาคาร (Non-resident) ได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับนักลงทุนไทย อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงก่อให้เกิดแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง จะส่งผลให้ราคาพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น คนที่มองว่าธปท.มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตก็จะเข้าไปซื้อพันธบัตร และเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงจริง ก็จะทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น และก็จะขายเมื่อเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ลดไปมากกว่านี้อีกแล้ว


การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันค่อนข้างลำบากสำหรับผู้ดำเนินนโยบายในปัจจุบัน เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยเกินไป จะไม่สร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุน และยังสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติที่มีเงินอยู่ในไทยเก็งกำไรในตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับลดที่มากเกินไปก็อาจทำให้เงินตราต่างประเทศไหลออกเร็วเกินไป จนทำให้เกินความผันผวนต่อระบบการเงินของประเทศ

การปรับอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ อาจดำเนินการได้โดยปรับอัตราดอกเบี้ยในปริมาณที่ทำให้เกิดความลังเลที่จะทยอยนำเงินตราต่างประเทศออก เพื่อให้บางคนนำเงินตราออกในทันที ให้บางคนเกิดความลังเลที่จะนำเงินตราออกและนำเงินออกช้ากว่าคนกลุ่มแรก เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินมากนัก ทั้งนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.50-0.75 เนื่องจากหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยเกินไป นักลงทุนไทยก็ยังคงไม่เริ่มลงทุน และนักลงทุนต่างประเทศก็ยังคงเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ แต่หากปรับลดมากเกินไปถึงร้อยละ 1 อาจทำให้เงินทุนไหลออกมากเกินไปจนเกิดความผันผวนในตลาดเงินได้



ปล.การเรียนเศรษฐศาสตร์ สอนให้คนเรียนรู้จักการเปลี่ยนแปลงจากดุลยภาพสู่ดุลยภาพ แต่ไม่ได้สอนถึงการส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดุลยภาพ

เช่นเดียวกัน ตามทฤษฎีแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ และทำให้เงินตราไหลออกจากผลตอบแทนของเงินที่ได้รับลดลง แต่สภาพการณ์ในปัจจุบันก็กลับไม่เป็นเช่นนั้น

และในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ที่เป็นศาสตร์เท่านั้น แต่จำเป็นต้องใช้ความเป็นศิลป์ในการดำเนินนโยบายด้วย ว่าเมื่อใดควรทำอะไร และเมื่อใด ไม่ควรทำอะไร ควรทำมากน้อยเพียงใด และว่องไวเพียงใด


Create Date : 19 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 23:23:47 น. 0 comments
Counter : 3163 Pageviews.

TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.