เทศบาลเมืองแก่งคอยมีขนาดพื้นที่ 4.05 ตร.กม.ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดสระบุรีไปทางทิศตะวันออกระยะทาง 12 กม. ในพื้นที่มีสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบราง (เทศบาลเมืองแก่งคอย, 2565) จากการสำรวจข้อมูลจากเวบไซต์แนะนำแหล่งท่องเที่ยว พบว่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนทำให้มีการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมและประเพณีแบบจีนตามเทศกาลอยู่ เทศกาลสำคัญของเมืองแก่งคอยได้แก่ ประเพณีห่มผ้าพระมหาธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก ประเพณีการทำบุญและงานย้อนรอยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี งานแห่เจ้าพ่อปุ่นเถ่ากงม่า งานแห่ท้าวมหาพรหม และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่เทศบาลเมืองแก่งคอย (เรื่อยเปื่อย, 2564)
การเดินทางมาแก่งคอย สามารถเดินทางได้โดยรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถตรวจสอบกำหนดเวลาเดินรถได้จากลิ้งของ รฟท. https://www.railway.co.th/Station/StationList ภายในตัวเมืองแก่งคอยมีขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถเดินเที่ยวชมได้
1. วัดแก่งคอย เดิมชื่อ
วัดจมูสโมสรตามประวัติของวัดบันทึกว่าตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2330 ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสักด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของแก่งหินใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อตำบล บริเวณวัดมีสถาปัตยกรรมและศาสนสถานสำคัญ
วิหารหลวงพ่อลา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่เคารพนับถือของชาวแก่งคอย นอกจากนี้ในวัดยังมีศาสนสถานสำหรับชาวพุทธได้สักการะบูชา อาทิเช่น
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก วิหารพระนอน เจดีย์อินทร์ประทาน และถ้ำนาคา 
2. อนุสรณ์ผู้ประสบภัยทางอากาศ เป็นอนุสาวรีย์รูปลูกระเบิด สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ประสบภัยทางอากาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 2 เมษายน 2488

3. อนุสาวรีย์ชาวนาญี่ปุ่น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงชาวนาญี่ปุ่นที่อพยพมาทำงานในประเทศไทยและเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2439

4. ศาลเจ้าพ่อปึงเถ่ากงม่า ตามประวัติที่บันทึก เป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ที่ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแก่งคอยได้นำมาจากศาลเจ้าที่บ้านเกิด มีความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ช่วยคุ้มครองชาวตลาดแก่งคอย ทำให้เป็นที่เคารพของชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวแก่งคอย
5. วิหารท้าวมหาพรหม พระพุทธรูปหลวงปู่พรหม ท้าวมหาพรหม พระพิฆเณศวร และท้าวธรรมวิมล สถาปัตยกรรมเป็นแบบศาลเจ้าจีน ด้านหลังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำป่าสัก
6. สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอยและอาคารโรงรถจักรแก่งคอย สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอยเป็นชุมทางขนาดใหญ่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ บริเวณย่านด้านเหนือเป็นที่ตั้งอาคารซ่อมโรงรถจักรโครงสร้างไม้ของการรถไฟที่มีความสวยงามจนได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
7. ศาลเจ้าพ่อกกกระเชาและท่าน้ำโรงสูบ ในอดีตเมื่อเดินเรือผ่านบริเวณท่าน้ำโรงสูบ ชาวเรือจะมองเห็นต้นกระเชาสูงใหญ่ตรงกลางต้นเป็นโพรงไม้ด้านในมีรูปทรงคล้ายเทวดา ชาวเรือให้ความเคารพ นอกจากนี้บริเวณท่าน้ำแห่งนี้ยังเป็นจุดที่ตั้งของชุมชนตลาดแก่งคอยแห่งแรก เป็นจุดพักแพซุงที่ล่องมาจากเพชรบูรณ์ บริเวณท่าน้ำมีแก่งหินตาโม่เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ด้านเหนือเป็นแก่งหินมีความยาวกว่า 1 กม. เรือแพที่เดินทางมาถึงบริเวณนี้ในหน้าแล้งจะต้องจอดเรือรอคอยเพื่อนำเรือผ่านร่องน้ำแก่งคอย
8. โรงสีกาแฟ ร้านอาหารร่วมสมัยตั้งอยู่ในโรงสีเก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่แห่งเดียวของแก่งคอย เป็นอาชีพที่สำคัญของคนแก่งคอยในอดีต นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้าวเปลือก ข้าวโพด ของป่า ที่ส่งมาจากบริเวณโดยรอบส่งไปยังกรุงเทพมหานคร แก่งคอยจึงมีโรงสี ยุ้งเก็บข้าวโพดและข้าวเปลือก กระจัดกระจายอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก

9. พิพิธภัณฑ์เมืองแก่งคอย จัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาอำเภอแก่งคอยที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเสด็จประพาสและตรวจงานการก่อสร้างทางรถไฟ ณ ผาเสด็จพัก ภาพจำลองภาพนูนต่ำสมัยทวาราวดีที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ ต.ทับกวาง และจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีบ้านน้ำริน ต.หินซ้อน และจ้ดเก็บเครื่องใช้พื้นบ้าน สำหรับการเข้าชมกรุณาติดต่อล่วงหน้าได้ที่เทศบาลเมืองแก่งคอย

10.เส้นทางชมสตรีทอาร์ตแก่งคอย กลุ่มหอการค้าแก่งคอยนำศิลปินวาดภาพศิลปะแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์สและวิถีชีวิตของคนแก่งคอย จำนวน 13 ภาพ รอบพื้นที่ย่านเศรษฐกิจของเมือง
