บอมบ์แก่งคอย ความทรงจำผู้พันทหารม้าไทย
คัดลอกจากบทความของเพจ Wartime Asia   https://www.facebook.com/WartimeAsia/posts/1388290441373443/ 

๒ เมษายนนี้ เป็นวันครบรอบ ๗๕ ปี การทิ้งระเบิดในท้องที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีเมื่อปี ๒๔๘๘ (1945) ปีสุดท้ายของสงครามมหาเอเชียบูรพา นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวแก่งคอยอย่างมิรู้ลืม

ถึงกับมีสร้างพิพิธภัณฑ์รำลึกเหตุการณ์นี้ที่เทศบาลเมืองแก่งคอย การสร้างอนุสาวรีย์ผู้ประสบภัยทางอากาศและการทำบุญประจำปีที่วัดแก่งคอย และมีการจัดกิจกรรมงานแสดงแสงสีเสียงเป็นประจำทุกปี

ในโอกาสนี้ทางเพจ Wartime Asia เอเชียยามสงครามจึงขอนำเสนอเหตุการณ์ทิ้งระเบิดที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านบันทึกความทรงจำของพลเอก กฤช ปุณณกันต์ นายทหารม้าอาวุโสผู้ล่วงลับ เป็นเรื่องราวที่ พล อ.กฤชได้ประสบด้วยตนเอง เมื่อครั้งมียศพันโท

โดยพล อ.กฤชได้เขียนเป็นบทความชื่อ “ข้าพเจ้าเคยเห็นกรุงแตก” ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “อนุสรณ์ ๕๐ ปี สุวรรณสมโภช ๒๔๗๗ - ๒๕๒๗” ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกนักเรียนนายร้อยรุ่น ๒๔๗๗ โดยทางเพจจะได้เล่าเนื้อหาของบันทึกโดยสังเขปต่อไปนี้  

กองพันทหารม้า​ที่แก่งคอย 

ปี ๒๔๘๘ (1945) พันโท กฤช ปุณฃณกันต์ (ยศขณะนั้น) ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ฯ (ม.พัน ๑ รอ.) ซึ่งในเวลานั้นมาตั้งหน่วยสนามอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นกองพันขึ้นตรงต่อกองทัพที่ ๒ (ท.๒) อันเป็นกองทัพที่ตั้งขึ้นใหม่สังกัดกองทัพบกสนาม มีพลโท หลวงชาตินักรบ (ศุข ชาตินักรบ) เป็นแม่ทัพ  

อำเภอแก่งคอยตั้งอยู่พื้นที่เทือกเขาดงพญาเย็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ – พังเหย มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน มีทางรถไฟสายอีสานผ่านอำเภอนี้ มีโรงจักรซ่อมรถไฟตั้งอยู่ที่นี่ และเป็นจุดที่รถไฟสายอีสานกับสายภาคกลางต้องพักคอยกัน ก่อนข้ามเทือกเขาดงพญาเย็น อันเป็นประตูเชื่อมเข้าสู่ภาคอีสาน มีเส้นทางเกวียนเชื่อมต่อกับตัวจังหวัดสระบุรี (ปัจจุบันคือถนนมิตรภาพ) และเชื่อมกับอำเภอบ้านนาและอำเภอนครนายก สภาพแวดล้อมโดยรวมเป็นป่าดงอันกว้างขวางทั้งบนเทือกเขาและพื้นราบ  

ผู้คนทำไร่ข้าวหาของป่าในพื้นที่ปลาในลำแควป่าสัก มีการล่องเรือค้าขายจากแม่น้ำป่าสักไปจนถึงแม่น้ำแม่กลองแถบบางช้าง มีกองนายฮ้อยต้อนวัวจากอีสานข้ามเทือกเขาดงพญาเย็น เมื่อว่างจากงานผู้คนทั่วไปนิยมเล่นรำโทน และมีนักเลงโจรผู้ร้ายอยู่ทั่วไป ม.พัน ๑ รอ. จึงจัดทหารตรวจจับอาวุธชายฉกรรจ์ชาวบ้านร่วมด้วย และการที่กองทหาร ม.พัน ๑ รอ. มาตั้งที่อำเภอแก่งคอยก็ได้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และประชาชนโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตามภารกิจหลักของ ม. พัน ๑ รอ. คือการป้องกันปีกของกองทัพที่ ๒ ทางด้านรอยต่อภาคกลางและภาคอีสาน การตัดเส้นทางคมนาคมคือชุมทางรถไฟบริเวณแก่งคอย-ปากช่องเพื่อแบ่งแยกกองทัพญี่ปุ่นในภาคกลางและภาคอีสานของประเทศไทย และการโจมตีโฉบฉวยต่อกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น ที่เขาชะโงก อำเภอนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และค่ายเชลยศึกที่เขาพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี โดยอาศัยภูมิประเทศอันเป็นป่าเขาซึ่งช่วยให้กองทหารม้าฝ่ายไทยได้เปรียบ  

รวมทั้งตัว พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ได้ลักลอบส่งข่าวและนัดแผนการกับเชลยศึกสัมพันธมิตรที่ค่ายเชลยเขาพระพุทธฉาย เพื่อให้ร่วมกับทหารไทยทำการลุกฮือปล้นค่ายเชลยของญี่ปุ่นที่นั่น

วันมฤตยู  

เมื่อถึงวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๘ (1945) วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ผู้คนจะพากันเข้ามาแก่งคอยเพื่อเดินเกี่ยวตลาดกลาง แต่ในเวลา ๑๖.๐๐ น. พ.ท.กฤช ปุณกันต์ได้ยินเสียงเครื่องบินสี่เครื่องยนต์ ไม่นานนักก็ได้เห็นเป็นเครื่องบิน B – 24 บินมาเป็นหลายฝูงในระยะที่ต่ำมาก จนเห็นเครื่องบินได้อย่างชัดเจน สามารถเห็นท้องเครื่องบินเปิดช่องมีลูกระเบิดทยอยถูกปล่อยจากในท้องเครื่องบิน เห็นจังหวะที่ลูกระเบิดกระทบหลังคาบ้าน เห็นวัสดุต่าง ๆ ลอยฟุ้งในอากาศ ทั้งหลังคาบ้าน เสาเรือน ถังสองร้อยลิตร  

ทุกคนต้องช่วยหลบภัยกันเองไม่มีใครช่วยใครได้ ปีนกลหนักประจำกองพันถูกห้ามไม่ให้ตอบโต้ เพราะระยะปืนต่อต้านเครื่องบินไม่ถึง จะกลายเป็นการชี้เป้าภาคพื้นดินอย่างไร้ประโยชน์ ตัว พ.ท.กฤชยืนพิงต้นมะขามใหญ่หลบภัยทางอากาศที่นั่น  

ที่ต้นมะขามใหญ่ พ.ท.กฤชนับจำนวนเครื่องบินได้ ๔๒ เที่ยว แต่ไม่อาจจะนับจำนวนเครื่องบินได้ แต่ละเที่ยวนับลูกระเบิดได้ ๑๒ ลูก มีเพียงเที่ยวที่ ๔๒ ที่ขนระเบิดมา ๘ ลูก จึงเท่ากับว่าการทิ้งระเบิดที่แก่งคอยซึ่งมีพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตรทั้งหมดนี้ใช้ระเบิดถึง ๕๐๐ ลูก ด้านไปเสียสามลูก (ทราบเพราะขุดขึ้นมาได้ในภายหลัง) น้ำหนักลูกละ ๒๕๐ ปอนด์ (ลูกละ ๑๑๓.๓๙ กิโลกรัม)  

พ.ท.กฤชระบุว่าการทิ้งระเบิดที่แก่งคอยมีความรุนแรงกว่าที่กรุงเทพฯ อย่างมากมาย เพราะแม้ที่กรุงเทพฯ จะมีการทิ้งระเบิดบ่อยครั้งกว่าที่แก่งคอย แต่พื้นที่กรุงเทพฯ กว้างขวางกว่าที่แก่งคอย ความเสียหายจึงไม่กระจุกตัวเท่ากับที่แก่งคอย  

นอกจากนี้ที่กรุงเทพฯ ยังมีปืนต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) จึงทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดต้องบินขึ้นสูง ผิดกับที่แก่งคอยซึ่งไม่มี ปตอ. เครื่องบินจึงบินในระยะต่ำ  

เมื่อตกเย็น ๑๘.๐๐ น. การทิ้งระเบิด ๔๒ เที่ยวบินสิ้นสุดลง พ.ท.กฤชได้ขี่จักรยานเข้าตัวอำเภอแก่งคอย ได้เห็นความพังพินาศของแก่งคอย บ้านเรือน ร้านตลาด สถานีรถไฟเป็นเหยื่อพระเพลิง ท้องฟ้าสว่างราวกลางวันเพราะไฟที่ลุกไหม้  

อากาศในเมืองแก่งคอยจึงร้อนจนแสบเนื้อแสบตัว ผู้คนอยู่ในสภาพน่าสังเวช ที่รอดชีวิตก็ถามหาสมาชิกครอบครัว ญาติมิตร บางรายมีเลือดเต็มตัว ขาแหว่ง หน้าฉีก เสียงผู้บาดเจ็บครวญครางดังระงมทั่วเมือง  

ที่อัศจรรย์คือ ม.พัน ๑ รอ. กลับปลอดภัยไม่ถูกระเบิด พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ ผบ.ม.พัน ๑ รอ. จึงใช้กองทหารหุงหาอาหารแจกชาวบ้าน ใช้พื้นที่ทหารเป็นที่พักพิงผู้บาดเจ็บ ขอรถบรรทุกทางจังหวัดและกองทัพที่ ๒ พาผู้บาดเจ็บสาหัสไปโรงพยาบาลอานันทมหิดล ลพบุรี สร้างที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ประชาชน จัดกำลังทหารรักษาความปลอดภัยเมืองแก่งคอย ไม่ให้มีโจรผู้ร้ายมาปล้นเมืองซ้ำเติมที่ถูกทิ้งระเบิดได้  

ที่สำคัญที่สุดทหารได้กลายเป็น “สัปเหร่อชั่วคราว” ฝังศพผู้เสียชีวิตนับ ๘๐ คน (ไม่นับผู้ที่เสียชีวิตกลางทาง) ก่อนที่จะฌาปนกิจในเวลาต่อมา ศพที่ฝังนั้นกองพะเนินเทินทึกชวนสยดสยอง ต้องให้ทหารผู้ฝังศพหาเหล้าเถื่อนมากินย้อมใจก่อนสำเร็จหน้าที่  

สรุปได้ว่า ม.พัน ๑ รอ. ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งตำรวจ ประชาสงเคราะห์ มหาดไทย และสัปเหร่อในห้วงวิกฤตินี้  

ต่อมา พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดสัมพันธมิตรจึงมาทิ้งระเบิดแก่งคอย แล้วทำไมที่ตั้ง ม.พัน ๑ รอ. ที่วัดตาลเดี่ยวจึงพ้นภัยทางอากาศมาได้ นึกทบทวนได้ว่าก่อนนั้นสองวันมีรถไฟบรรทุกกองทหารญี่ปุ่น ๕๐๐ นายแวะพักที่สถานีแก่งคอย​ ก่อนจะเดินทางไปที่อื่นต่อก่อนการโจมตีทางอากาศที่แก่งคอย  

เข้าใจว่ามีการรายงานของหน่วยใต้ดินต่อสัมพันธมิตร จนได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดรถไฟ แต่เว้นไว้ไม่ทำลายค่ายทหารไทย เพื่อใช้เป็นกำลังต่อสู้ญี่ปุ่นต่อไป  




Create Date : 12 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2564 18:18:30 น.
Counter : 664 Pageviews.

1 comments
  
อ่านแล้วเศร้าเลยครับ
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา:20:47:28 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ป้าทุยบ้านทุ่ง
Location :
สระบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]



บ้านฉันอยู่กลางทุ่งนา มีปู่ มีย่า มีหมา มีควาย เอิงเงย
New Comments
พฤศจิกายน 2564

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
  •  Bloggang.com