Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
27 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
พักยก...ด้วยหนังสือ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (The Name of The Rose)

สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ เป็นหนังสือที่หนาถึง 728 หน้า (รวมเชิงอรรถ) แต่จขบ.ก็หยิบมาอ่านโดยไม่ลังเลใจ เรียกว่าแล่นปรู๊ดมาแซงคิวหนังสือที่จขบ.ก่ายๆ เรียงเอาไว้ให้รออ่านอย่างไม่ยุติธรรม

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้จขบ.รู้แต่เพียงเสียงร่ำลือว่า หนังสือเรื่อง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ หรือ The Name of The Rose นี้ เป็นหนังสือที่ถูกจัดว่า ‘ขึ้นชั้นเทพ’ ว่าด้วยปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์และการเมือง จขบ.เป็นผู้อ่อนด้อยในเชิงวิชาการและยังมีความคิดฝังหัวว่า หนังสือหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญา นั้นคงหนักกบาล (ขออภัย) และเกินสติปัญญาแบกรับเอาไว้ไม่ได้เป็นแน่แท้ อีกทั้งยังมีเสียงร่ำลือว่าสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ เป็นหนังสือที่เคี้ยวยาก และต้องปีนบันไดอ่าน

จะไหวหรือ?


แต่สุดท้ายก็ต้องหยิบขึ้นมาอ่านจนได้ และผลปรากฏว่า...โค-ตะ-ระสนุกเลย (ขออภัยอีกครั้ง)

ส่วนเรื่องอ่านแล้วเข้าใจหรือไม่ โยนทิ้งไปได้ (เพราะไม่มีทางเข้าใจได้หมดแน่) เพราะจขบ.นั้นเป็นประเภท ‘สามัญชน’ ดังที่ภราดาวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ ตัวละครเอกในเรื่องนี้ได้ว่าเอาไว้

ส่วนเหตุใดจขบ.อยู่ๆ ถึงฮิตหยิบหนังสือหนามากเล่มนี้ขึ้นมาอ่านก็เพราะผลกระทบมาจากควันหลงของ Angels & Demons นั่นแล เกี่ยวข้องอย่างไรหรือ? ข้อนี้จขบ. ยังไม่บอกด้วยติดนิสัยเสียของภราดาวิลเลียมอย่างปัจจุบันทันด่วนมาเสียแล้ว

สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ฉบับสำนวนแปลโดยคุณ ภัควดี วีระภาสพงษ์ จากหนังสือเรื่อง The Name of The Rose ของ Umberto Eco นักประพันธ์ชาวอิตาลี พิมพ์ในปี 1980, เล่าเรื่องโดยผ่านมุมมองของบาทหลวงแอตโซแห่งเมลค์ โดยอ้างถึงเรื่องราวเมื่อเขายังเป็นเพียงนวกะหนุ่ม ครั้นได้เคยติดตามอาจารย์ชาวอังกฤษผู้เปรื่องปราดนาม วิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์ เดินทางไปยังวิหารแห่งหนึ่งซึ่งแอตโซไม่ยอมเปิดเผยจนจบท้ายเรื่องว่าอยู่ที่ใด (ผู้เขียนฉลาดและแยบยลมาก) เพื่อไปไขคดีฆาตกรรมปริศนาที่เกิดขึ้นในหมู่นักบวช และได้มีส่วนเป็นพยานรู้เห็นในเหตุการณ์ระทึกขวัญมากมายที่เกิดขึ้นติดตามมา

กว่าเจ็ดร้อยหน้ากระดาษของสมัญญาแห่งดอกกุหลาบเกิดขึ้นทั้งหมดเพียงเจ็ดวัน โดยฉากที่ใช้เล่าเรื่องนั้นไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อไร แต่สามารถกำหนดปีคร่าวๆ ได้ว่าอยู่ในศตวรรษที่ 14 เดือนพฤศจิกายน ราวปีค.ศ.1327

ช่วงแรกของหนังสือโดยเฉพาะวันแรกผ่านไปได้อย่างยากเย็นเพราะจขบ.เป็นนักอ่านใจร้อนพอๆ กับการเป็นนักอ่านประเภทเก็บทุกรายละเอียด (เห็นความประหลาดของจขบ.ไหม?) ดังนั้นการอ่านสองร้อยหน้าแรก (ขอย้ำนะคะว่าสองร้อยหน้าแรกจริงๆ) จึงผ่านไปอย่างแสนเข็ญ แต่เมื่อผ่านมาแล้ว ทีนี้ล่ะ...หยุดไม่ได้เลย สนุกและตื่นระทึกมากๆ เรียกว่ายิ่งวันหลังๆ นั้นแทบวางไม่ลงเลยทีเดียว

แม้บางบทจะเกินสติปัญญาของจขบ.จนต้องอ่านซ้ำประโยคแบบคิ้วขมวดก็ตาม อีกทั้งยังมิได้มีพื้นความรู้เกี่ยวกับข้อขัดแย้งและประวัติศาสตร์ของศาสนาคริตส์ในยุคกลางมาก่อน นอกจากอ่านจาก งานลือลั่นของแดน บราวน์เท่านั้น (รวยหูอื้อไปแล้ว)

ช่วงแรกและช่วงกลางของหนังสือร่ายยาวไปถึงตัวละครสารพันที่เกี่ยวข้องทั้งแบบที่มีชีวิตจริงโลดแล่นในประวัติศาสตร์และตัวละครสมมุติ การพาดพิงถึงสถานการณ์ยุ่งขิง (ขออนุญาตใช้สำนวนที่ปรากฏในหนังสือ) ระหว่างฝ่ายศาสนจักรกับฝ่ายจักรวรรดิ์ ซึ่งกำลังงัดข้อ และจ้องแต่จะทำลายกันและกันเมื่ออีกฝ่ายพลาดท่าเสียที ช่วงนี้แหละที่ทำให้หนังสืออ่านยาก และชวนให้เบื่อได้ง่ายๆ แต่นี่คือสถานการณ์ที่คนเขียนพยายามปูพื้นว่าบรรยากาศในอิตาลีในช่วงนั้นสาหัสและ 'ยุ่งขิง' เพียงไหน


ไม่สปอย์นะคะ >>>เรื่องมีอยู่ว่า... (เอาง่ายๆ นะ หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัย เนื่องจากความรีบร้อนของจขบ.ที่เพิ่งอ่านจบไปหมาดๆ เลย)

การเมืองในอิตาลีในช่วงนั้นแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งคือฝ่ายจักรวรรดิ์โดยมีจักรพรรดิ์เป็นผู้นำ ส่วนอีกขั้วหนึ่งคือ ฝ่ายคริสตจักร ซึ่งควรจะมีเขตพำนักอยู่ในโรม แต่ทว่าเหตุการณ์ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า พระสันตปะปามิได้ประทับอยู่ในวาติกันและไม่ได้เป็นชาวอิตาลี แต่เป็นชาวฝรั่งเศสประทับอยู่ในนครอวีนญอง โดยการหนุนหลังของพระเจ้าหลุยซ์ (หลุยซ์ไหนก็ไม่รู้) ฝ่ายคริสตจักรต้องการให้ฝ่ายจักรวรรดิ์ต้องอยู่ใต้อาณัติของตนเอง จึงพยายามทุกทางเพื่อกำจัดอำนาจของฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งประกาศว่าจักรพรรดิ์เป็น อันตคริสต์ (Antichrist) ฝ่ายจักรวรรดิ์ก็แก้ลำโดยการโจมตีกลับทันทีว่า พระสันตปะปาต่างหากคือ อันตคริสต์ เอาเข้าไป...(ดูคุ้นๆ เนอะเหมือนขั้วการเมืองของประเทศแถวๆ นี้เลย)

ระหว่างที่เกิดข้อพิพาทดังนี้เกิดนิกายใหม่ และนิกายซ้อนนิกายขึ้นมากมาย นิกายหนึ่งที่มีความสำคัญในท้องเรื่องมากๆ คือนิกายฟรานซิสกัน ซึ่งจะเน้นหลักคำสอนในเรื่อง ความยากไร้ ของนักบวช ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งผู้ที่เป็นนักบวชทั้งหลายต้องไม่พึงปรารถนาในลาภยศ เงินตราและอำนาจ! เอาล่ะสิ...แล้วใครเดือดร้อนเล่า ย่อมเป็นฝ่ายศาสนจักร ซึ่งต้องเป็นฝ่ายโต้ตอบและกีดกันไม่ให้นิกายใหม่นี้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเพราะหากพูดด้วยคำสมัยใหม่คือ มันขัดผลประโยชน์อย่างรุนแรง

แล้วใครได้เปรียบ? ย่อมเป็นฝ่ายจักรวรรดิ์ ดังนั้นนักบวชของนักบุญฟรานซิสที่พากันหนีภัยจากอัยการศาสนาต้องไปพึ่งฝ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งฝ่ายนั้นก็ไม่ทำให้ผิดหวัง จักรพรรดิ์หนุนหลังนักบวชฟรานซิสกันอย่างเต็มที่ จนทำให้ในพระสันตปะปาต้องประกาศยอมรับคำสอนของคณะฟราซิสกันในที่สุด

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้นเนื่องจากยังมีนักบวชฝ่ายฟรานซิสกันที่นอกคอก ตีความคำสอนดั้งเดิมผิดประหลาดเพี้ยนไปต่างๆ นานา จนลุกลามทำให้เกิดสงครามย่อยๆ เช่น ฟรา ดอลซิโอ ซึ่งก็โดนจับเผาไปเรียบร้อยตามลำดับ เอาล่ะสิ...ใครได้ผลประโยชน์? ฝ่ายพระสันตปะปารีบใช้ช่องว่างนี้ใช้โจมตีนักบวชนิกายฟรานซิสกันว่าเป็นพวกนอกรีตในทันที ในตอนนั้นไมเคิล แห่งเชเซนา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะนักบวชฝ่ายฟรานซิสกันต้องเป็นฝ่ายออกหน้า พระสันตปะปาซึ่งอาจจะอ่านสามก๊กมาหรือไม่ก็ไม่รู้ เรียกร้องให้ฝ่ายนักบวชฟราสซิสกันมาประชุมที่อวีนญอง เพื่อหารือข้อถกเถียงและโต้แย้งกันเถิด หากซ่อนความนัยว่าแท้จริงแล้วอยากกำจัดไมเคิลไปให้พ้นทางต่างหาก เพราะยึดถือว่านิกายฟรานซิสคือเบี้ยของฝ่ายศัตรู

ในตอนนี้แหละที่เกิดเรื่อง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ หรือเจ็ดวันอวสานขึ้น (เรามั่วเอง อย่าจำนะ) โดยพ่อวิลเลียมแสนฉลาด ตัวละครเอกของเราต้องตกอยู่ในสองสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก คือ หนึ่งในหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของวิลเลียมที่ต้องตามหาฆาตกรที่ยังลอยนวลอยู่ในวิหาร สังหารนักบวชแบบวันต่อวันชนิดไม่เกรงอกเกรงใจวิลเลียม และการแก้ไขปมปริศนาหอสมุดลึกลับ

อีกหนึ่งนั้นคือการดำรงตำแหน่งคนกลางระหว่างสองคณะทูตจากฝ่ายศาสนจักรซึ่งนำมาโดย เบอร์นาร์ด กุย อัยการศาสนาผู้แสนโหดร้าย อีกทั้งยังจงเกลียดจงชังวิลเลียมอย่างมากมายเพราะเหตุใด? จขบ.เดาเอาว่าน่าจะเกิดจากการที่วิลเลียมอยู่ๆ ก็ล้างมือจากอัยการศาสนาเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีทารุณของเบอร์นาร์ด กุยนั่นเอง

ส่วนฝ่ายจักรวรรดิ์ ซึ่งคือท่านเจ้าคณะไมเคิล แห่งเชเซนาซึ่งตามท้องเรื่องนั้น วิลเลียมเองเป็นผู้เสนอให้คณะทูตของทั้งสองฝ่ายมาประชุมที่วิหารที่เกิดการฆาตกรรมนี้ แทนที่จะจัดในนครอวีนญองที่ไมเคิลผู้น่าสงสารอาจเสียเปรียบทุกประตู สถานการณ์บังคับแบบตกบันไดพลอยโจนเช่นนี้ทำให้วิลเลียมไม่สามารถทุ่มเทกำลังกายใจ และความสามารถสืบหาคนร้ายได้อย่างเต็มที่ แต่กระนั้นความสรุปอันชาญฉลาดของวิลเลียมที่กล่าวในที่ประชุมหลังการปะทะคารมกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนระหว่างสองเจ้าคณะ จนคิดว่า นี่คือวาจามธุรสของผู้ทรงศีลแน่หรือ? ทำได้อย่างกินใจและลึกซึ้งมาก จนต้องปรบมือดังๆ ให้กับผู้ประพันธ์และผู้แปลค่ะ

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เหมือนคนเขียนจะโยนมาให้นักอ่านสดับเพื่อเป็นความรู้ แต่ไม่ใช่เลยค่ะ! ทุกตัวละครในทุกตัวในสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ล้วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตุงนังและขื่มขมที่สุดในช่วงใกล้ถึงจุดแตกหัก

แม้เรื่องนี้จะมีปมตามขนบหนังสือสืบสวนว่า “ใครฆ่าใคร?” แต่จขบ.คิดว่าสารและบทสนทนาอันชาญฉลาดและสัญลักษณ์เชิงปรัชญามากมายที่แฝงอยู่ในวิวาทะต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเล่มต่างหากที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เหินลอยไปอยู่ในชั้นเทพ (อย่างน้อยก็ในหิ้งหนังสือของจขบ.)

ไม่ว่าจะเป็นการวิวาทะระหว่างหมู่นักบวชนิกายเบเนนิคทีนด้วยกันเอง หรือส่วนที่วิลเลียมจงใจวิวาทะแสดงลูกล่อลูกชนกับนักบวชหัวเก่าในต้นเรื่อง การวิวาทะกับเจ้าอาวาส ที่ทำตัวได้น่าสงสัยมากๆ หรือแม้กระทั่งการบรรยายซุ้มประตูเพียงอย่างเดียวก็ปาเข้าไปสามสี่หน้าแล้ว! แต่ฉากที่จขบ.ติดใจที่สุดคือส่วนวิวาทะระหว่างนักบวชสองนิกายตอนกลางเรื่องที่จขบ.กล่าวไปแล้วนั้นมันส์มากๆ ยิ่งกว่าดูหนังแอ็คชั่นบางเรื่องเสียอีก อีกฉากหนึ่งคือฉากนิมิตในความฝัน (หรือลางบอกเหตุ?) ของแอตโซตอนท้าย ก่อนที่เรื่องจะดำเนินไปถึงจุดไคล์แมกซ์ สุดยอดมากๆ...ใครว่า ดาวินชีโค้ด กับ เทวากับซาตาน จาบจ้วงศาสนาคริตส์

ลองอ่าน สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ สิจะรู้ว่าแดน บราวน์ แค่น้ำจิ้มเท่านั้น (ในความคิดของเรานะ) เพราะเอโกใช้ถ้อยบรรยายอย่างไม่เกรงใจ ไม่ลดราวาศอก ไม่บันยะบันยัง แต่กระทำอย่างชาญฉลาดด้วยความอุปมาอุปไมยเชิงสัญลักษณ์ หลักปรัชญา การใช้ฉากจริง และฉากนิมิต จนจขบ.ต้องพักไปดื่มน้ำ ระงับอารมณ์เพราะตื่นเต้นและตกใจสุดขีด

อีกอย่างหนึ่งของสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ที่จขบ.ชอบมากในฐานะที่จขบ.มีลิขิต ‘ภาค’ หนึ่งอยู่ในวงการก่อสร้าง (แต่เป็นไฉนไม่รวยสักทีแบบใครเขาน้อ? สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจทุกคราไป) จึงอดไม่ได้ที่จะอ้าปากค้างของปริศนาวงกตแห่งหนังสือว่า คิดได้อย่างไรเนี่ย? ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่ อุมแบร์โต เอโก ผู้ประพันธ์อีกครั้งค่ะ

รวมทั้งการเฉลยปมปริศนา ‘Antichrist’ คงไม่อาจสรรหาถ้อยคำใดมาบรรยายว่ามันเพริศแพร้วเพียงไหนคงต้องให้คนอ่านไปหาอ่านเอาเองนะคะ

สุดท้ายอดใจไม่ได้เลยไปถามอากู๋ (google) ว่าเรื่องนี้มีใครเคยหัวใสเอาไปทำเป็นภาพยนตร์บ้าง ปรากฏว่า มีจริงๆ ด้วยแฮะ จขบ.อยากรู้ว่าใครได้แสดงเป็นสองตัวเอกคือ ภราดาวิลเลียมกับ นวกะหนุ่มแอตโซ และก็ไม่ผิดหวังค่ะ ผู้รับบทวิลเลียมแห่งบาสเกอร์วิลล์คือ ป๋าฌอน คอนเนอรี <<< เหมือนมากเลย (ตามรูป)



ส่วนผู้รับบทแอตโซ คือ คริสเตียน สเลเตอร์ ซึ่งตอนนั้นน่าจะเริ่มดัง (หนังฉายปี 1986) ตอนนี้คงหาดูยากแล้ว เฮ้อ...อยากดูจัง แม้คำวิจารณ์ที่จขบ.แกะอ่านจากในเน็ตจะออกมาดูไม่ดีเท่าไหร่เมื่อเทียบกับความตระการของหนังสือ แต่ก็เป็นตรรกะอย่างหนึ่งสำหรับภาพยนตร์ ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือกระมัง และยิ่งเป็นหนังสือ ขั้นเทพ คงไม่พ้นกฏนี้ล่ะนะ

คนชอบแนวตีความเชิงสัญลักษณ์แบบ เทวากับซาตาน หรือ ดาวินชี โค้ด หากยังไม่เบื่อกับรหัสคดีเล่มหนาๆ บรรยายมากๆ ถึงขั้นพรรณาโวหาร บทสนทนาฉลาดๆ ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์และจับใจล่ะก็ ต้องอ่านค่ะ ร้านหนังสือทั่วไปคงหายาก แต่ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ น่าจะมีขายอยู่ จขบ.ก็ซื้อเรื่องนี้จากที่นี่ค่ะ

ให้อ่านเมื่อคิดว่าพร้อมค่ะ เพราะหากเราอ่านเรื่องนี้สักสี่ห้าปีที่แล้ว คงไม่บ้าเท่านี้หรอก จริงๆ นะ




Create Date : 27 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 17:58:58 น. 17 comments
Counter : 6480 Pageviews.

 

น่าสนใจจริงๆ เลยเน๊าะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:3:43:29 น.  

 
ตอนอ่านเทวาฯ ก็เคยได้ยินคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้เหมือนกันค่ะ แล้วก็คิดว่าต้องหามาอ่านให้ได้

พออ่านจบก็ยิ่งอยากหามาอ่านใหญ่ จนเพิ่งได้มาไม่นานนี้เอง แต่ยังอยู่ในกองดอง

เพราะงั้นขอยังไม่อ่านนะคะ ถ้าได้อ่านแล้วจะมาคุยด้วยค่ะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:01:57 น.  

 
หนาขนาดนี้...เป็นหนังสือคั่นเวลาได้หรือนี่

มีคนเล่าถึงเล่มนี้หลายคนแล้ว.....งานหนังสือครั้งหน้า ต้องหามาบ่มไว้บ้างแล้วล่ะ


โดย: นัทธ์ วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:17:43:49 น.  

 
หนังสู้หนังสือไม่ได้ค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นปู่ฌอนเล่นก็เถอะ เพราะว่ามันไม่สามารถแสดงความซับซ้อนขนาดหนังสือไม่ได้ ก็เลยเหลือแต่ตัวเนื้อเรื่อง ซึ่งถูกดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมฮอลลีวู้ดด้วย

ว่าไปแล้ว หลังจากอ่านเรื่องนี้ก็ตกหลุมรักลุงเอโกที่รัก (ตู่เอาเป็นที่รักดื้อ ๆ) ไปเลย พยายามจะอ่านเล่มอื่น ๆ ของลุงแกด้วย แต่ว่าเล่มอื่น ๆ นอกจากนี้ยากกว่าสมัญญาฯ ทั้งหมด คือว่าลุงแกฉลาดมาก บางทีก็ตามทัน บางทีก็ตามไม่ทัน

เมื่อก่อนมีคนบอกว่า Foucault's Pendulum ของเอโก เป็น learned man's Da Vinci Code (คนเรียกก็ช่าง snob - -') เลยลองหามาอ่านดู ปรากฏว่ามันยากมาก ๆ ชนิดที่ช่วงหลังอ่านไม่เข้าใจเลย แต่ว่ามันก็ไปถึงจุดที่น่าสนใจ คือทุกอย่างล้วนแต่เป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดทั้งหมด แม้แต่สิ่งที่คนพยายามยึดถือว่าเป็นแก่นสารด้วย อย่างตอนที่ตัวละครพูดถึงการเขียนไบเบิ้ล อ่านแล้วเจ็บเลย

เคยคิดจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ด้วยค่ะ แต่ดูแล้วคงไม่ไหว มีคนบอกว่าหนังสือเรื่องนี้กับฟูโกต์เพนดูลั่มน่ะ แต่ละเล่มพอให้เีขียนวิเคราะห์เต็มห้องสมุดได้เลยนะ ซึ่งดู ๆ แล้วอาจจะเป็นความจริง

แต่ถึงจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขนาดนั้น มันก็ยังอ่านสนุกอยู่ดีอะค่ะ มันน่าทึ่งตรงนี้เองเนอะ


โดย: เคียว IP: 222.123.23.93 วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:18:54:45 น.  

 
^
^
ชะ...อึ๋ย...โอ้โห...ไหงมีแต่แขก VIP อย่างนี้เล่า?

สงสัยเราจะคิดผิดที่หุนหันเอาเรื่องชั้นเทพอย่างนี้ลงบล็อค แบบไม่เจียม...(สายเสียแล้วอีหนูเอ๋ย! เพิ่งคิดได้เรอะ)

ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนเลยนะคะ (โดยเฉพาะคุณเคียวค่ะ <<< ตื่นเต้นสุดๆ ง่ะ)

คุณ อุ้มสี : มาเจิมเป็นท่านแรกขอบคุณค่ะ เนอะ...น่าอ่านเนอะ จขบ.น่ะรู้จักเล่มนี้มาตั้งแต่เมื่อห้าหกปีที่แล้ว เพื่อนที่เป็นหนอนหนังสือก็แนะนำให้อ่าน แต่ตอนนั้นจขบ. ยังไม่ตื่นค่ะ ยังไม่มีความคิดอยากเขียนหนังสือ (ถึงตอนนี้ก็คิดว่ายังไม่ตื่น)เพียงแค่รู้ว่าเป็นหนังสือที่อ่านยากกกก ก็เลยไม่กล้าแตะหลังจากนั้น

คุณสาวไกด์ใจซื่อ : ยินดีมากๆ ที่แวะมานะคะ, อ่านจบแล้วมาสปอยด์กันก็ได้ <<< นิสัยไม่ดี...ฮา

คุณ นัทธ์ : สนับสนุนค่ะ, หนังสือดีๆ อย่างนี้ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ต้องขึ้นกับรสนิยมแต่ละท่านด้วยนะคะ

คุณเคียววววว : ขออนุญาตกรี๊ดแตกก่อนค่ะ (วิ่งไปหล้งบ้านแป็บนะ เดี่ยวมา)

ว่าแล้วสมเป็นคุณเคียวจริงๆ...เราไม่รุ้จักลุงเอโก มาก่อนเลย (เฉยสะบัด) พออ่านแล้วก็นะ...คุณลุงอัจฉริยะจริงๆ ด้วย ที่หยิบขึ้นมาอ่านเพราะ Angels & Demons แท้ๆ เลยเชียวค่ะ เรามีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชอบอ่านงานปรัชญาหนักๆ เคยบอกให้อ่านเรื่องนั้น เรื่องนี้ เราไม่สนใจ เพราะกลัวไม่รู้เรื่อง (จริงๆ นะ) สงสัยต้องไปค้นดูว่า ตอนนั้น มันแนะให้อ่านเรื่องไหนบ้าง เพราะเราเป็นประเภทความรู้สึกช้าค่ะ

แต่ก็นะ...ถ้าเราอ่านตั้งแต่ตอนนั้นอาจจะไม่ชอบเท่านี้ก็ได้...เพราะเราใจร้อน (ธาตุไฟแทรกบ่อย<<< พยายามมัดมันอยู่) ชอบอ่านเรื่องที่ดำเนินเรื่องเร็วๆ ค่ะ

ถึงคุณเคียวจะบอกว่าภาพยนตร์สู้หนังไม่ได้ ก็อยากดูอยู่ดีค่ะ (ว่าแล้วต้องไปเยือนร้านที่คุณก็รู้ว่าใครอีกแย้ว) เห็นแว้บๆ ใน you tube แล้วจะลงแดงตาย

เรื่อง Foucault's Pendulum ท่าทางน่ากลัวจัง, เราแพ้ภาษาอังกฤษน่ะ (แต่ก็ต้องทำงานกับมันทุกวันเลย...แง...) แต่มาล่ออย่างนี้ทำให้อยากอ่านอีกแล้ว

เห็นด้วยว่าค่ะ สมัญญาฯ เต็มไปด้วยประเด็นให้ขบคิดมากมายมหาศาล, จะตีความแตกแขนงไปอีกร้อยแปดพันหน้า

มันเลยทำให้อ่านเมื่อไหร่ก็สนุก เก็บไว้มาอ่านอีกสิบปีข้างหน้า อาจพบเห็นอะไรที่ไม่เคยพบมาก่อนก็ได้นุ




โดย: run saya วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:23:05:18 น.  

 
สวัสดีอีกรอบค่ะ

ว้ายๆๆ คุณเคียวมาตอบด้วย กรี๊ดด้วยคน 555+

ได้เลยค่า เดี๋ยวอ่านจบแล้วจะมาคุยด้วยนะคะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 28 พฤษภาคม 2552 เวลา:8:53:30 น.  

 
^ ^ ได้เลยค่ะ คุณสาวไกด์ฯ

แล้วจะรอนะคะ (ป่าวกดดันนะเออ)...


โดย: run saya วันที่: 28 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:14:03 น.  

 
เเวะมาโผล่หน้าอะตะเอง... สำหรับหนังสือข้างบนข้าน้อยมิมีไอเดีย คิคิ


โดย: อมิธีสท์ วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:2:55:02 น.  

 
สมัยที่เล่มนี้เพิ่งออกแปลไทย ยังไม่มีเงินซื้อ
พอมาถึงตอนนี้ก็เลยลืมไปเลยค่ะ
จขบ.ยืนยันว่าอ่านไม่ยากแบบนี้ ทำให้ลำดับความอยากอ่านเลื่อนขึ้นมา
(เดิมนึกว่าต้องรออีกสักสิบปี -_-")

ปล.เห็นด้วยมากๆ ว่าควรหยิบหนังสือ(ใดๆ)มาอ่านเมื่อเกิดอารมณ์ เอ๊ย เมื่อพร้อม จะเพิ่มความบ้า


โดย: โปรดทำให้ฉันหยุดหัวเราะ วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:23:48:05 น.  

 
เย้...มีเหยื่อเพิ่มมาอีกหนึ่ง...

สหายอมิธิสท์ : อืมม์...มันคนละแนวกับที่เจ้าอ่านน่ะนะ

คุณโปรดทำให้ฉันหยุดหัวเราะ : คุณโปรดฯ ชื่อยาวมากเลยค่ะ (อ้าว...มีแซว มีแซว), อ่านเลยค่ะอย่ารอเลย ยกมือสนับสนุน แล้วมายกลุงเอโกเป็นที่รักตามคุณเคียวกันดีกว่า

คุยต่อนะคะ

จขบ.ได้ดูหนังทั้งเรื่องแล้ว จากเว็บที่คุณก็รู้ว่าใคร ^ ^ " ตอนแรกว่าจะไม่โหลดแล้วเชียวนา...อืมม์..สำหรับแฟนหนังสือน่าผิดหวังนะคะเพราะเล่าเรื่องง๊ายง่าย แต่ถ้าถามเรา เราก็โอเคในระดับหนึ่ง เปลี่ยนแปลงเรื่องราวในช่วงหลังๆ เล็กน้อยเพื่อรองรับกับตลาดในวงกว้าง ก็ไม่ว่ากันค่ะ เพราะตอนเราอ่านหนังสือก็คาดไว้อยู่แล้วว่า หากเรื่องนี้มีคนหัวเสนำไปสร้างเป็นหนัง มันก็คงต้องต่อเรื่องแบบนี้แหละ (ในขณะที่หนังสือทิ้งปมไว้ให้คิดต่ออีกมากมาย)

แต่ก็แอบผิดหวังเล็กน้อยกับฉากปริศนาเขาวงกต มันดูไม่อลังฯ เหมือนที่หนังสือบรรยายเลยง่ะ...(หรือเราบ้าไปเอง?) แต่ก็แอบชอบตรงดีไซน์ฉากบันไดนะ เหมือนงานภาพบันไดของ Escher เลย (สะกดอย่างนี้ถูกป่าวว้า?)

ป๋า (หรือปู่?) ฌอน เราว่าแสดงเรื่องนี้ได้มากๆ เลยนา ชอบแกรองลงมาจากเรื่อง Finding Forrester เลย ส่วนคริสเตียน สเลเตอร์ ก็สอบผ่านนะสำหรับบทนวกะแบ็วๆ

แต่แอบผิดหวังกับมาลาคี เล็กน้อย เพราะคิดไปเองว่าบรรณารักษ์ห้องสมุดตัวแสบ ไม่น่าดูแก่ขนาดนี้อะ


โดย: run saya วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:18:04:10 น.  

 
เเวะมาขอบคุณตะเองที่ร่วมด้วยช่วยคลิกเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสมาตลอดจนถึงวันสุดท้ายในวันนี้ ขอให้กุศลผลบุญจากเมตตาจิตนี้ จงส่งผลให้ตะเองเเละครอบครัว ประสบเเต่ความสุขตลอดไปนะจ๊ะ







โดย: อมิธีสท์ วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:0:45:58 น.  

 
อ๋อย...ตารางงานที่ผ่านมาแน่นเปรียะ!

เฮ้อ...เหนื่อยจัง แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีงานนี่เนอะ



โดย: จขบ.ค่ะ IP: 125.25.239.123 วันที่: 13 มิถุนายน 2552 เวลา:16:27:48 น.  

 
ตะเองมีงานมากเกินอยู่ตลอดอยู่เเล้วนิ... นึกว่าชินเเล้วเสียอีก อิอิ เเซว ๆ ๆ ๆ


โดย: อมิธีสท์ วันที่: 13 มิถุนายน 2552 เวลา:20:38:07 น.  

 
เหอะ..เหอะ...ตารางชีวิตในช่วงชีวิตที่ผ่านมา น่ากลัวมาก...
จะแจงให้ฟัง ดังนี้นุ (อ่านแล้วสงสารตัวเองจังเว้ย)

วันจันทร์ที่แล้ว กลับเที่ยงคืน
วันอังคาร ห้าทุ่ม
วันพุธ ดีหน่อย...สองทุ่ม
วันพฤหัส...ตี...สี่...กรี๊ดดดดดดด
วันศุกร์ ตีสามกว่าๆ (ตอนนี้เหลือแค่วิญญาณล่องลอย)

ไม่พอนะ...วันเสาร์ ทำต่ออีก...ว้ากกกก สมองไม่สั่งการแล้ววุ้ย
ทำแบบได้แค่หนึ่งแผ่น ป๊อก...กลับบ้านดีกว่า...ล่อไปอีกทุ่มหนึ่ง

งานยังกองเป็นพะเนิน ต้องกัดฟันทำต่อวันอาทิตย์
แว้ก...คราวนี้นรกมีจริง...ล่อไปถึงเช้าวันจันทร์เลย (คือเช้าเมื่อวานนี้)

กลับมานอนตอนเช้า มาทำงานต่อตอนบ่าย ทำต่อไปอีกถึง....ตีห้า...วันนี้
ไม่โม้...นะคะ...ห้ามเลียนแบบเป็นอย่างยิ่ง (โอย...เมื่อไหร่จะถึงวันสิ้นโลก จะได้หยุดทำงานเสียที)

ไหน?...ครายบ่นว่างานเยอะ เจ้านายโหด...ลูกค้าเรื่องมาก?

มาเป็นเราบ้างไหมอะ?

ปล. บ่น ค่ะ บ่น อย่าคิดมาก ดีกว่าไม่มีงานทำ


โดย: run saya วันที่: 23 มิถุนายน 2552 เวลา:22:40:18 น.  

 
^
^
^

สงสารเพื่อนมากมาย.....


โดย: อมิธีสท์ วันที่: 23 มิถุนายน 2552 เวลา:23:53:22 น.  

 
โอ้! โลกไซเบอร์มันแคบอย่างนี้นี่เอง ท่องไซเบอร์มากว่าสามปี เพิ่งจะเจอคนที่ชอบเรื่องนี้มากๆ อยากบอกว่าผมเองก็ชอบนะครับ เคยเอาแรงบันดาลใจที่ได้จากเรื่องนี้ไปแต่งเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งเผอิญเป็นหนังสือที่ติดหนึ่งในสามเล่มรางวัลสภาว์ เทวกุล
ที่เพิ่งจัดไป ตอนนี้ไม่มีใครสนใจตีพิมพ์ แฮ่ๆ ถ้าคุณรันสยา (ขอโทษถ้าอ่านชื่อผิด) เสิร์จคำว่า "เสียงเพรียก" และ นิธิ นิธิวีรกุล ก็จะตอบคำุถามที่คุณถามไว้ที่บล๊อกผมได้

ขอบคุณอีกครั้งที่แวะไปนะครับ

ยินดีที่ได้เจอคนที่ชื่นชอบอีตาอุมแบร์โต เอโก


โดย: nithiveragul วันที่: 16 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:21:44 น.  

 
^
^
แว้ก!! เจอตอเข้าแล้วจริงๆ ด้วยฉัน,

อืมม์..ว่าแล้วเชียว ว่าคุณต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ ส่วนเรื่องของคุณลุงเอโกนั้นตอนนี้กำลังลุ้นว่าจะมีใคร (กล้า) แปล Foucault's Pendulum หรือไม่ อยากอ่านจังเยยยย


โดย: run saya วันที่: 18 กรกฎาคม 2552 เวลา:1:43:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

run saya
Location :
Hong Kong Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




บอกเล่าเก้าสิบ:)

เราย้ายกลับมาทำงานที่ออฟฟิคในกรุงเทพฯ แล้วค่ะ ช่วงนี้งานการยังยุ่งตามระเบียบ แต่ถึงอย่างไรจะพยายามหาเวลามาเขียนหนังสือและจบต้นฉบับ (ร่าง) ของเล่มสามให้ได้ภายในปีนี้ค่ะ (หวังว่า)

ขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่กรุณาเข้ามาสอบถามความคืบหน้านะคะ
Friends' blogs
[Add run saya's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.