Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
28 เมษายน 2550
 
All Blogs
 

ทำไมเด็กต้องพูดว่า "ทำไม?" อย่างไม่หยุดไม่หย่อน?

ปกติลูกชายเป็นเด็กที่ชอบถาม ส่วนแม่ก็ชอบตอบ
บางทีก็ชอบถามลูกกลับ เพราะฟังที่ลูกตอบแล้วมันน่ารักดี ฟังแล้วจิตใจมันเบิกบาน

บางทีนั่งมองลูกเล่นอะไรๆ อยู่คนเดียว สังเกตพฤติกรรม
ถ้าเป็นที่สวนก็ชอบมองว่า เขาทำอะไร จะทำอะไร เล่นกับใคร มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร
บางทีก็ลอบฟังว่า เขาคุยอะไรกัน ด้วยเหตุผลว่า อยากรู้เฉยๆ มันน่ารักดี

จนเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน พี่คนไทยให้หนังสือมา 3 ถุงใหญ่ ก็เป็นหนังสือหลากหลายเลย ทั้งไทยและฝรั่ง
ด้วยว่าดิฉันชอบเปิดดูรูปเฉยๆ ไม่ชอบอ่านเนื้อหา เพราะส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องผู้หญิงๆ แต่งตัวบ้าง อะไรเทือกนี้
ก็แค่ดูรูปพอ จึ่งบอกพี่เขาว่า ถ้าจะทิ้งหนังสือ อย่าเพิ่งทิ้ง เดี๋ยวดิฉันเอามาดูรูปก่อน แล้วจะทิ้งให้
บางทีก็ส่งต่อให้รุ่นน้องคนไทยต่อไป

แบบว่า ดิฉันไม่เคยซื้อหนังสือไทยที่นี่เลยค่ะ ขี้เหนียวจริงๆ เนอะ นิตยสารฝรั่งก็ไม่ซื้อค่ะ ไม่มีเวลาจะเสพ
ยิ่งได้หนังสือและนิตนสารมาฟรีๆ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ คือ แล้วจะไปซื้อทำไม แค่นี้ก็เลือกเรื่องที่อยากอ่านได้แล้ว ถ้าอยากอ่าน

เกริ่นยาวมาก 2 เรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน กว่าจะเข้าเรื่องสักที

เรื่องที่จะเขียนตามหัวข้อที่ว่า "ทำไม?" เป็น หัวข้อของบทความขนาด 2 หน้ากระดาษ ที่พอเห็นแว่บแรกแบบเปิดผ่านๆ กะดูรูป
กลับทำให้ดิฉันต้องหยุดนิ้วไว้ที่หน้าคู่นี้ แล้วตั้งใจอ่านทุก ตัวอักษร และพบว่าเป็นบทความที่น่าสนใจมากๆ
เกี่ยวกับเด็กในช่วงอายุ 3-7 ขวบ ที่มีคำถามต่างๆ มากมาย และบางครั้งทำเอาพ่อแม่ปวดหัว
พ่อแม่บางคนถึงกับบ่นว่า ทำไมมันพูดไม่หยุด ทำไมมันต้องถามตลอดเวลา และทำไม? ทำไม?
คือ ลูกก็ถาม "ทำไม?" พ่อแม่ก็ถามเหมือนกันว่า "ทำไม?" แต่ในคนละความรู้สึก

จะแปลและเรียบเรียงให้อ่านกัน อ่านแล้วจะทำให้รู้สึกว่า อยากจะพูดคุย สนทนากับลูกหรือผู้ใหญ่ตัวน้อยขอบพวกเราคนนี้มากขึ้น

-----------------------------------------------------------------
ทำไมพวกเขาต้องพูดว่า "ทำไม?" อย่างไม่หยุดไม่หย่อน?

แปลและเรียบเรียง มาจากบทความโดย Anne Lamy
นิตยสาร version Femina


เด็กๆ เป็นแชมเปี้ยนในการตั้งคำถาม และถามเราที่เป็นพ่อแม่ ที่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ๆ จะต้องตอบ...

สำหรับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "เด็ก" ที่มีขนาดความสูงประมาณไม่เกิน หรือเกิน 1 เมตร มานิดหน่อยนี้ โลกใบนี้และความลึกลับของโลกเป็นสิ่งที่น่าค้นหามากมาย
เด็กๆ จึงมักจะตั้งคำถามกับตัวเอง และถามพวกเรา ด้วยคำถามมากมายก่ายกอง
คำถามเหล่านี้มีทั้งน่าประหลาดใจ น่าตกใจ บางทีเป็นคำถามที่สวยงาม บางทีช่างเป็นคำถามที่เกินจริง
แล้วแต่ว่า คำถามนั้นๆ จะถูกตั้งขึ้นมาในโอกาสหรือวาระใด...

และด้วยความมากมายนี้ ทำให้บางครั้งเรานึกอยากมีหนังสือสักเล่ม ที่เป็นคู่มือการใช้เพื่อตอบคำถาม "ทุกๆ" คำถาม

แต่พวกเราอย่าลืมว่า ด้วยรูปแบบของการใช้ "คำถาม" ซึ่งทำให้เราต้องตอบนี้
แท้จริง เป็นรูปแบบหนึ่งที่เด็กใช้ เพื่อที่จะเชิญชวนให้เรา เข้าร่วมการสนทนากับพวกเขา
หาใช่ว่า เป็นคำถามเพียงเพื่อให้เรา ได้แสดงความสามารถ หรือความรู้ในการตอบคำถามนั้นๆ
หากแต่อาจเป็นคำถามเพื่อที่จะทำให้เขาเข้าใจถึง "รูปแบบ" ที่เป็นส่วนตัวของผู้ตอบในการเข้าใจ "โลก"

ตัวอย่างของคำถามต่างๆ มากมาย เช่น

คำถามแบบฟุ่มเฟือย ถามไปอย่างนั้นแหละ ถามไปหมดทุกอย่าง
(บางทีดูเหมือนมีเหตุผล แต่จริงๆ ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมีเหตุผลในขณะนั้น)

"ทำไมต้องกินนมตอนเช้าด้วย?"
"และทำไมผมจึงไปโรงเรียนในชุดนอนไม่ได้?"
"ทำไมต้องแปรงฟันด้วย และถ้าไม่แปรงแล้ว ทำไมฟันจะต้องผุด้วย?"

คุณอาจจะนั่งถอนใจว่า "แต่ว่าทำไมเด็กคนนี้จึงไม่เงียบสัก 5 นาทีนะ?" แล้วก็พยายามที่จะตอบคำถามไปเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่
ทำไมต้องกินอาหารเช้า? - เพราะว่าเป็นการเติมพลังเหมือนเติมน้ำมันเต็มถัง เพื่อจะได้ใช้พลังงานแบบทั้งวันได้เต็มที่
แล้วทำไมต้องมีพลังงาน? - ก็เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เราจะเหนื่อยน่ะซี
และคำถามดำเนินสลับไปเรื่อยๆ กับการตอบ

โดยตัวของคำถามเอง หาใช่คำถามที่ถามขึ้นมาเล่นๆ
และคุณก็จะเห็นด้วยตัวเองว่า ลูกได้บันทึกคำตอบที่มีค่าของคุณนั้น เหล่านั้นทุกๆ คำตอบเลยทีเดียว

แต่ว่าเมื่อต้องโต้ตอบไปเรื่อยๆ แบบเป็นลูกโซ่อย่างนี้ มันทำให้ลงท้ายด้วยการหมดแรง

นี่ลูกจะถามไปหาอะไรหรือ?
โทมัส เด็ก 5 ขวบ ตอบว่า "ก็จะได้รู้ให้หมดทุกอย่าง ก่อนจะเข้า ป. 1 ไง"

นักจิตวิทยาคลินิก คุณ Colette Pericchi* ระบุว่า
ด้วยคำถามแบบยิงกระหน่ำของเด็กๆ นี่เอง เป็นวิธีการที่เด็กใช้เพื่อที่จะเรียกความสนใจจากเรา ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่
นอกจากนี้ เด็กใช้การตั้งคำถาม เพื่อวัดขอบเขต หรือลิมิต ของเราด้วย
ดังนั้นหากเราคิดว่าเราจนมุม และไม่ต้องการจะตอบแล้ว เพียงแต่บอกเขาไปด้วยความนุ่มนวลว่า
"ทุกสิ่งทุกอย่างไม่จำเป็นต้องอธิบายได้ทั้งหมด และเพราะมันเป็นอย่างนั้น มันจึงเป็นอย่างนั้น"

ด้วยคำตอบลักษณะนี้ คุณไม่ได้ทำให้ลูกๆ ต้องหยุดหรือลดความอยากรู้อยากเห็น
แต่ว่า มันจะทำให้ ลูกได้เรียนรู้สิ่งสำคัญพื้นฐาน คือ คุณไม่ได้รู้หมดทุกอย่าง
ดังนั้นการที่คุณบอกว่า คุณไม่รู้ (โดยที่คุณอาจรู้ หรือไม่รู้จริงๆ) คำตอบนี้
จะทำให้ตัวคุณเอง ลงมาจากฐานหรือแท่นที่ถูกมองจากลูกว่า คุณรู้หมดทุกอย่างในโลก
และขณะเดียวกัน ในเมื่อเขาไม่ได้คำตอบจากคุณ เขาจำเป็นจะต้องไปหาคำตอบด้วยตัวของเขาเอง

ดังนั้นเราสามารถที่จะอ้างสิทธิในการที่ "เราไม่รู้หมดทุกอย่าง" นี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทำไมสีของน้ำนมจึงเป็นสีขาว? หรือเตาอบมีความร้อนได้อย่างไร?

บางทีการตอบว่า เราไม่รู้ และเขาตอบคำถามเหล่านี้แทนคุณ ด้วยคำตอบของเขา
คุณจะได้เห็นว่า คุณกำลังสร้างบทสนทนากับผู้ใหญ่ตัวน้อยคนนี้ ที่น่าสนใจ
มากกว่าการจะให้คำตอบกับเขา โดยการที่เราไปเปิดหนังสือ encyclopedia เพื่อจะอธิบายคำตอบที่คุณเองก็ไม่รู้ในทันที

* ผู้แต่ง "Pourquoi des pourquoi" ed. Marabout หรือ "ทำไมของคำถามทำไม"
(ตรงนี้เผื่อแม่บ้านฝรั่งเศสจะไปขอยืมห้องสมุด หรือไปซื้อมาอ่าน)


คำถามที่มีลักษณะลึกลับ อภิปรัชญา หรือยากแก่การที่จะอธิบายให้เข้าใจ
"ทำไมทุกๆ คนต้องตาย?"
"คนที่เกิดมาเป็นคนแรกของโลกมีสะดือไหม?"
"ทำไมคุณแม่ของลิซ่าจึงไม่สบาย?"
"ทำไมจึงมีคนไม่ดี?"

สำหรับผู้ที่จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ ไม่ต้องถึงกับเตรียมยาแก้ปวดหัว
แต่ก็เป็นคำถามที่ทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นนักปรัชญาในเด็กทุกๆ คน

น่าแปลกเมื่อเราเติบโตขึ้นมา ความเป็นปรัชญาเหล่านี้ในตัวเรา กลับลดลงหรือหายไป
เราหยุดที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง หรือกับผู้อื่น
หรือด้วยประสบการณ์ที่ผ่าน ทำให้สิ่งที่เคยเป็นคำถามหลายๆ คำถาม เราได้คำตอบแล้ว
ส่วนคำถามที่ตอบไม่ได้ เราอาจไม่ใส่ใจที่อยากจะตอบ จนบางครั้ง เราลืมที่จะตั้งคำถาม
หรือบางคำถามกลายมาเป็นคำถามต้องห้าม ที่ไม่อยากตอบ และไม่อยากพูดถึง
(แต่คำถามอภิปรัชญาเหล่านี้ไม่ใช่หรือ ที่เป็นคำถามพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าได้พยายามที่จะตอบ ในช่วงของการค้นหาความจริงแห่งชีวิต)

Christine คุณครูประจำชั้นของนักเรียนอนุบาลปีที่ 3 เล่าว่า
"ทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเปลี่ยนชั้นไป เป็นเด็กกลุ่มใหม่ขึ้นมา แต่คำถามเหล่านี้จะวนเวียนมาเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเกิด การตาย ความเจ็บป่วย และการแยกทางกัน"

คำถามเหล่านี้ที่อาจะทำให้ผู้ใหญ่ฟังแล้วสะดุด และหยุดคิด
แต่สำหรับเด็กๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่น่าค้นหา และอยากรู้คำตอบ

Christine เล่าต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีเด็กในชั้นของเธอคนหนึ่งต้องสูญเสียคุณแม่ เด็กๆ บางคนในห้องจะบอกว่า คุณแม่ของเพื่อนได้ไปสวรรค์
แต่ว่าเด็กบางคนบอกว่า "ไม่ใช่ คนตายก็ต้องอยู่ในดิน"

แต่ไม่ว่าตายแล้วจะไปอยู่บนสวรรค์หรืออยู่ในดิน สิ่งที่เด็กๆ พูดถึง
หากคุณแม่ของตัวเองต้องตายคือ คุณแม่จะต้องคิดถึงเขาตลอดอย่างแน่นอน

ในแต่ละคำถามที่เป็นอภิปรัชญาเหล่านี้ คำตอบที่ได้จากเด็ก จะมีลักษณะคาบเกี่ยวกัน
ของความมีเหตุมีผล ของความสวยงามของคำอธิบายของเขา และความน่าพิศวง

ความเจ็บป่วยหรือ? แน่นอน มันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับชีวิต และไม่น่าจะเกิดขึ้น ในความคิดของเด็กๆ
แต่ Sarah อายุ 5 ขวบ เตือนว่า "พวกเราเจ็บป่วย เพราะว่าเราเดินถอดรองเท้า"
คำตอบของ Celine คือ "และเพราะว่าเราไม่กินอย่างที่ควรจะต้องกิน"

และคนไม่ดีล่ะ ทำไมพวกเขาจะต้องมาอยู่บนโลกนี้กับพวกเราด้วย?
โทมัส 5 ขวบ ตอบเป็นคนแรก "เพราะพวกเขาไม่ฟังที่ครูสอนที่โรงเรียน"

และความตายล่ะ?
"พวกเราตาย คือเราหยุดที่จะมีชีวิต เราหยุดหายใจ แล้วเราก็ร่วงจากเก้าอี้ เป็นลมไป" Lucas สรุปให้ทุกๆ คนฟัง

เด็กๆ มีความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากความกังวลใดๆ เหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มี
พวกเขาจะมีความสามารถที่จะพูดถึงเรื่องการตายได้ เหมือนกับการคุยเรื่องเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศประจำวัน
หรือเหมือนกับเมนูอาหารกลางวันที่โรงเรียน

พวกเขายังไม่มีสิ่งที่ผู้ใหญ่มักเรียกว่า "เรื่องต้องห้าม"

ช่วงอายุ 3-7 ขวบ เป็นช่วงอายุของ "วัยแห่งอภิปรัชญา" อย่างแท้จริง
พวกเขายังไม่ได้รับการ formatted ไปด้วย "ความรู้" ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถที่จะตั้งคำถามต่างๆ อย่างมากมายได้
และเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ

บทบาทของผู้เป็นพ่อแม่จึงมีอิทธิพลอย่างมาก
แน่นอนว่าพวกเราสามารถทำหน้าที่ในการตอบคำถามของเขา
และช่วยให้เขาสามารถสร้างรูปแบบการคิด การมองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุและผลที่เรา (หรือผู้ใหญ่คนอื่น) พยายามป้อนให้

แต่ในขณะเดียวกัน พวกเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าบ่อยครั้งที่ "การตั้งคำถาม" สำคัญกว่า "การตอบคำถาม"
จากการที่เราตั้งคำถามกลับ ทำให้เด็กได้คิดด้วยตนเอง และสร้างความเป็นตัวของตัวเอง
นอกจากนั้น จากการคิดเพื่อที่จะตอบคำถามหนึ่งๆ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า
สามารถตอบได้ด้วยหลายคำตอบที่เป็นไปได้ และบางครั้งนำไปสู่คำถามอื่นต่อ

เพราะว่า "การคิด เปรียบเสมือน ถนนที่ไม่มีจุดจบ" นักปรัชญา Oscar Brenifier อธิบายเอาไว้
(ผู้นี้เป็นผู้แต่งหนังสือ เรื่อง Philozenfants อ่านว่า ฟิโลซองฟอง เล่นคำล้อ ฟิโลโซเฟอร์
Philosophy - ปรัชญา + enfant - เด็กๆ น่าจะได้ว่า นักปรัชญารุ่นจิ๋วในกรณีนี้)

คำถามต่างๆ เหล่านี้ที่เด็กจะหาคำตอบ หลายคำถามอาจไม่มีคำตอบ
และนั่นยิ่งเป็นการดี เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องตอบทุกๆ คำถามให้ได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อเรารัก เรารักเพราะรัก เพราะเป็นคนๆ นั้น
อาจเป็นเพราะคนๆ นั้นมีความสวยงาม หรืออาจเป็นเพราะคนๆ นั้น ช่างสร้างปัญหาให้มากมาย
แต่เมื่อเรารัก เราก็รัก มันไมม่มีคำอธิบายว่าทำไม

เช่นเดียวกัน คำถามเกี่ยวกับ ชีวิต ความรัก ความงามแห่งสรรพสิ่ง และความดีงามต่างๆ
สามารถเป็นคำถามที่ไม่ต้องมีคำตอบใดๆ คงความน่าพิศวงเอาไว้อย่างนั้น

นักปรัชญา Brenifier สรุปเอาไว้สั้นๆ ว่า
การเติบโต ก็คือการเรียนรู้ที่จะเก็บความสุขของวัยเยาว์ในเรื่องความน่าพิศวง ของคำถามที่ตอบไม่ได้ เอาไว้เช่นนั้นตลอดกาล
โดยไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามตอบคำถามทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างให้ได้

และเราจะเห็นว่า "ความอยากรู้อยากเห็น" ด้วยการตั้งคำถาม จัดเป็นคุณสมบัติที่ดี ของเด็กคนหนึ่งจนกระทั่งเขาโตเป็นผู้ใหญ่
หาใช่ การที่จะมีคำตอบให้กับทุกๆ คำถาม เพราะเมื่อนั้น เราจะหยุดถาม และหมดซึ่งความอยากรู้อยากเห็น

ความลึกลับทางวิทยาศาสตร์
"ทำไมน้ำในอ่างจึงหายไป?"
"ทำไมดอกไม้จึงเหี่ยวเฉา?"
"โลกใบนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไร?"

แน่นอนว่า เราจำเป็นที่จะต้องให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่จะเข้าใจ
หนังสือต่างๆ มากมายสามารถช่วยคุณในการอธิบายนี้ได้

แต่เชื่อไหม? เมื่อเด็กคนหนึ่งตั้งคำถาม ส่วนใหญ่เขามักมีคำตอบของเขาเอาไว้อยู่แล้ว!
ไม่ว่าคำตอบของเขาจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง หรือว่าเป็นเพียงคำตอบที่คิดจินตนาการไปก็แล้วแต่
จึงน่าสนใจที่คุณจะถามเขากลับ ด้วยคำถามที่เขาถาม เพื่อให้เขาได้อธิบาย
และจากคำตอบของเขา จะทำให้คุณรู้ว่าเขามีวิสัยทัศน์ต่อโลก ต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร

เลโอ 5 ขวบ ตอบว่า "ดอกไม้เหี่ยวเฉา เพราะว่ามันเบื่อและเหงาที่จะอยู่ในแจกันของแม่น่ะซี"

จากคำตอบนี้เลโอพูดต่อถึงเรื่องคุณตาที่ตอนนี้ไปอยู่บ้านพักคนชรา
และนำไปสู่คำถามในระดับที่สอง ที่นอกเหนือไปจากความเป็นจริงที่ว่าคุณปู่คุณย่า และคุณตาคุณยาย เริ่มแก่เฒ่า
เลโอถามเกี่ยวกับเรื่องชีวิตและความตาย ที่เขาเริ่มสงสัยต่อ เมื่อเขาตอบคำถามเรื่องดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา

ดังนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเต็มไปด้วยสิ่งประเทืองการคิด ที่จะปล่อยให้เด็กได้มีอิสระในการคิดและตอบคำถามด้วยตัวเอง
แทนที่การปิดคำถามด้วยการตอบด้วยคำตอบทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

แน่นอนว่า คุณอาจช่วยลูกๆ ในการค้นหาคำตอบต่างๆ เหล่านี้ จากหนังสือ หรือจากแหล่งข้อมูลใดๆ
แต่เราก็ต้องไม่ลืม คำตอบที่มองไม่เห็นด้วย นั่นคือคำตอบของการจินตนาการ
ด้วยคำถามเดียวกัน คำตอบที่เราเชื่อว่าเป็นความจริง บ่อยครั้งไม่ใช่คำตอบที่มาจากสิ่งที่เด็กคิดหรือจินตนาการ

"ทำไมน้ำจากอ่างจึงหายไป?"
คุณอาจจะอธิบายด้วยเรื่องของระบบท่อน้ำ การระบาย ฯลฯ ด้วยเหตุและผล
แล้วทำไมจึงไม่เติมอีกนิดว่า "แต่ว่าสิ่งที่หายไปจากการมองเห็น อาจจะไม่ได้หายไปจริงๆ ก็ได้"

""โลกใบนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไร?"
แทนที่จะตอบคำถาม ทำไมไม่ถามกลับ และเฝ้าฟังคำตอบของเขา
และในเมื่อหากเราไม่ใช่ผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ ทำไมจึงไม่ใช้วิธีการกระตุ้นให้ลูกเป็นผู้ตอบคำถามให้เรา
และร่วมในการอภิปรายร่วมกัน ถึงแม้ไม่ได้คำตอบแบบแท้จริงถูกต้องก็ตาม




 

Create Date : 28 เมษายน 2550
2 comments
Last Update : 28 เมษายน 2550 23:09:26 น.
Counter : 3267 Pageviews.

 

เป็นบทความที่ดีจังค่ะ

เราก็มักจะหัวฟูกับการตอบไปซะทุกคำถามของลูกเหมือนกัน เห็นที่จะต้องขอยืมไปใช้บ้างซะแล้ว

ขอบคุณนะคะ ที่เอามาแบ่งปัน

 

โดย: พจมารร้าย 29 เมษายน 2550 8:31:42 น.  

 

ขอบคุณค่ะที่เอาเอาให้อ่าน มีประโยชน์มาก ๆ เพราะต้องเตรียมตัวไว้เหมือนกัน ตอนนี้ลูกมักถามว่าอะไร อะไร แต่อีกไม่นานคงมีทำไมแล้วล่ะคะ

 

โดย: แม่น้องสองพี 1 พฤษภาคม 2550 16:43:28 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


พธูไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




บล็อกนี้เปิดไว้เพื่อเก็บสิ่งที่เขียนจากที่ต่างๆ เอามารวมๆ กัน
ไม่ได้เข้าบล็อคบ่อยๆ มาดูเฉพาะตอนที่จะเขียนอะไร
ดังนั้นถ้าใครมาเยี่ยมชมหรือเขียนถามอะไรเอาไว้ จะไม่เคยตอบ
เพราะกว่าจะตอบมันนานมาก และผู้ถามคงจะลืมไปแล้วว่าถามอะไร
Friends' blogs
[Add พธูไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.