space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
6 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้ จากหลักฐาน และเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไป พระเจ้าอโศ เทียบก
 
เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้ จากหลักฐาน และเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไป พระเจ้าอโศ
เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้


     จากหลักฐาน และเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไป พระเจ้าอโศกทรงสอนธรรม แบบไม่ออกชื่อของหลักธรรมหรือของหัวข้อธรรม  (ถ้าทรงเรียกชื่อหัวข้อธรรมออกมา ราษฎรที่อยู่กระจายห่างกันไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เรื่องหรือสื่อกันยาก) 

     พระองค์ตรัสออกชื่อธรรมเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อจะเน้นออกมาเฉพาะที่เป็นคําที่รู้ๆ กัน หรือง่ายๆ แต่ที่ทรงสอนเอาจริงเอาจังและตรัสอยู่เสมอ ก็คือธรรมที่เป็นการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนในหมู่ชน ทํานองเดียวกับพระสูตรในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนคฤหัสถ์

     กลายเป็นว่า พระเจ้าอโศกนั่นแหละทรงแม่นยําว่า ในฐานะพุทธมามกะ เมื่อเป็นราชาปกครองบ้านเมือง จะสอนธรรมส่วนไหนอย่างไร และคนที่ไม่เข้าใจเพราะจับจุดจับหลักไม่ได้ ก็คือท่านผู้รู้ทั้งชาวอินเดีย และฝรั่งนั่นเอง

     คงต้องพูดว่า พระเจ้าอโศกมิใช่จะทรงริเริ่มจัดตั้งหลักธรรมสากล หรือศาสนาสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า universal religion แต่อย่างใด  ที่แท้นั้น  พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ในความเป็น universal ruler หรือ universal monarch ตามคติจักกวัตติ/จักรวรรติราชา (Cakkavatti/Cakravartin)  ดังที่ได้ทรงประกาศหลักธรรมวิชัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นจักรพรรดิราชตามความในพระสูตรทั้งหลายนั้น

     ความจริง  พระพุทธศาสนาถือว่าธรรมเป็นสากลในตัวของมันเองอยู่แล้ว  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น  ตถาคตเพียงมาค้นพบธรรมนั้น  แล้วนํามาบอกเล่าประกาศให้รู้กัน  จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องมาพูดในเรื่องนี้

     เวลามีคนมาซักถามพระพุทธเจ้า บางทีเขาทูลว่า อาจารย์คนโน้น เก่งอย่างนั้น  คนนั้นเก่งอย่างนี้  คนนี้สอนว่าอย่างนั้น  คนนั้นสอนว่าอย่างนี้  เขาเถียงกันนัก แล้วพระองค์ว่าใครผิดใครถูก พระพุทธเจ้าจะตรัสทำนองนี้ว่า   “เอาละ  ท่านพราหมณ์  เรื่องที่คน  ๒ ฝ่ายนี้พูดอ้างความรู้กัน มีวาทะขัดแย้งกัน  ใครจริง  ใครเท็จนั้น  พักไว้เถิด  เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน” (องฺ.นวก.๒๓/๒๔๒)  แล้วตรัสไปตามหลักตามสภาวะให้เขาพิจารณาเอาเอง

     ทีนี้ก็มาถึงคําถามว่า ทําไมในพระสูตรที่แสดงแก่คฤหัสถ์ทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมหรือชื่อหัวข้อธรรมสำคัญๆ เช่น อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

     แล้วก็เช่นเดียวกัน  ทําไมพระจักรพรรดิธรรมราชา  เมื่อทรงสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมสําคัญเหล่านั้น

     คำถามนี้ส่วนหนึ่งได้ตอบไปแล้ว ในแง่ที่ว่าชื่อนั้นเขาใช้สื่อกับคนที่รู้อยู่บ้างแล้ว เป็นต้น ตอนนี้จะตอบเน้นในแง่การทําหน้าที่ของพระจักรพรรดิราช  พระราชาทรงปกครองคนทั้งแผ่นดิน คนเหล่านั้นมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน  แต่คนส่วนใหญ่ต้องถือว่าเป็นระดับพื้นฐานคนเหล่านั้นยังไม่ได้คิดมุ่งคิดหมายที่จะเดินหน้าไปในธรรม  (คือในการที่จะศึกษา พัฒนาตนหรือแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปแก่ชีวิต)  มิใช่เป็นอย่างคนที่จะมาบวช  ซึ่งมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเดินหน้ามาแล้ว

     งานของผู้ปกครองที่มองอย่างครอบคลุมก่อน ก็คือจะทําให้คนทั่วไปที่เป็นมวลรวมนี้ อยู่กันดีมีสุขสงบเรียบร้อยในความหมายเพียงระดับพื้นฐาน ที่จะไม่เบียดเบียนกัน หรือเขวออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เป็นความพร้อมขั้นต้นของสังคม  แล้วพร้อมกันนั้น  ท่านผู้ปกครองก็จัดสรรสภาพและระบบการต่างๆ ที่จะเอื้ออํานวยบริการ เป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของคนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป

     ถึงขั้นตอนนี้แหละ อย่างในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช  วิหารคือวัดมากมาย พระองค์ก็ได้สร้างไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งหลาย  แถมยังทรงเกื้อหนุนไปถึงนักบวชในลัทธิอื่นๆ ด้วย วัดและพระสงฆ์ เป็นต้น นี้ มองในแง่นี้ ก็เหมือนเป็นบริการของระบบแห่งสังคมที่ดี ที่จะมากระตุ้นและมาสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดับที่ประณีตสูงต่อๆ กันตามลําดับไป

     พูดง่ายๆ ว่า รัฐจัดสภาพเอื้อพื้นฐานไว้ให้แล้ว วัดก็มาพบมาดู และรับปรึกษาสิ ว่าใครจะรับธรรมขั้นไหนอย่างใดได้  ตอนนี้ก็พระนี่แหละ ที่จะดูในแต่ละกรณีหรือสถานการณ์ว่าจะพูดจะเอ่ยถึงธรรมชื่อใดๆ ตามที่เขาต้องการ หรือที่จะเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่เขาเหมือนกับแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทํางานกันระหว่างรัฐกับวัด

     ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในพุทธกาล ถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ตามปกติจะไม่ได้สอนข้อธรรมลึกๆ แก่คฤหัสถ์ทั่วไป เหมือนอย่างที่สอนแก่พระสงฆ์ที่มุ่งเข้ามาศึกษาโดยตรง แต่ในหมู่มหาชนนอกภิกขุสังฆะนั้น  ก็มีบางคนบางส่วนที่สนใจและก้าวไปมากในการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มที่จะแสวงหา

     ดังที่บางท่าน  อย่างจิตรคฤหบดีผู้เป็นอนาคามีก็มีภูมิธรรมสูง  ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นอุบาสกธรรมกถึก  สามารถอธิบายช่วยแก้ความติดขัดในธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแม้แต่ที่เป็นเถระได้ (องฺ.เอก. ๒๐/๑๕๑; สํ.สฬ.๑๘/๕๓๙–๕๔๐) หรืออย่างอุบาสิกาขุชชุตตรา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นพหูสูต (องฺ.เอก.๒๐/๑๕๒)


     แต่เมื่อพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป ในสังคมคฤหัสถ์โดยรวม ธรรมที่สอนตามปกติก็เป็นดังที่พูดมาแล้ว

     หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนมาก ไม่ต้องหาที่ไหนไกล ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้อุปถัมภ์พระศาสนา กล่าวได้ว่ามากที่สุด และเป็นโสดาบัน กว่าจะได้ฟังธรรมหลักใหญ่อย่างที่ออกชื่อกันมานั้น  ก็ตอนเจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงจวนจะสิ้นชีพ

     เรื่องมีว่า คราวนั้น พระสารบีุตร พร้อมด้วยพระอานนท์ติดตาม (เรียกว่าเป็นปัจฉาสมณะ) ได้ไปเยี่ยมอนาถบิณฑิกเศรษฐี และได้ให้โอวาทแก่ท่านเศรษฐี โดยมีสาระสําคัญว่าไม่ควรเอาอุปาทานไปยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย  ดังคําสรุปท้ายโอวาทว่า (ม.อุ.๑๔/๗๒๐–๗๔๐)

       ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ  ได้แสวงหา   ได้คุ้นใจ   เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา  ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้เถิด

     อนาถบิณฑิกเศรษฐี  ฟังโอวาทจบแล้วถึงกับร่ำไห้และได้กล่าวว่า

        … กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอย่างนี้เลย

     พระอานนท์ตอบชี้แจงว่า

       ดูกรคฤหบดี   ธรรมีกถาอย่างนี้ ไม่สําแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ จะสําแดงแต่แก่บรรพชิต

     อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบอย่างนั้นแล้ว  ได้กล่าวขอร้องว่า

       ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ  ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาอย่างนี้  จงสําแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์บ้างเถิด  เพราะว่า  กุลบุตรจําพวกมีกิเลสธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ (แต่) เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้เข้าใจธรรม จักมี  (ม.อุ.14/720-740)

     หลังจากพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับออกมาไม่นาน  ท่านเศรษฐกีถ็งแก่กรรม และเขาถึงดุสิตภพ

     หันกลับมาพูดถึงบทบาทของรัฐกับบทบาทของวัด ในการสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชน  อย่างที่ว่าแล้ว  รัฐจะเน้นการทําหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การพัฒนาชีวิตของตน  พร้อมทั้งจัดสรรโอกาสและจัดการให้คนเข้าถึงโอกาสนั้น ด้วยการประสานเสรีภาพ เข้ากับระบบแห่งบริการ

     ในสังคมชมพูทวีปแต่ยุคโบราณมา   เท่าที่พอทราบกัน  คนถึงจะนับถือต่างกัน  แต่การเป็นอยู่ก็ไม่ค่อยได้แบ่งแยกกัน  มีประเพณีทางปัญญา ที่จะรับฟังคําสอนของลัทธิศาสนาต่างๆ นับได้ว่าเสรี

    ในศิลาจารึกอโศกก็เน้นเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังความในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๒ ว่า

       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี  ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ

     แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็นทาน หรือการบูชาอันใด ที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย  สิ่งนี้คืออะไร ? สิ่งนั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงาม แห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง

     ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้  มีอยู่มากมายหลายประการ  แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสํารวมระวังวาจา (วจีคุปติ์) ระวังอย่างไร?  คือ ไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตําหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร…

     การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั่นแล เป็นสิ่งดีงามแท้  จะทำอย่างไร ? คือจะต้องรับฟัง และยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน จริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความปรารถนาว่า เหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง พึงเป็นผู้มีความรอบรู้  (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม)

     ชนเหล่าใดก็ตาม ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กันชนเหล่านั้นพึงกล่าว (ให้รู้กันทั่วไป) ว่าพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่าทานหรือการบูชาอัน ใดจะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร ? สิ่งนี้ได้แก่การที่ จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนา ทั้งปวงและ (ความเจริญงอกงามนี้) พึงมีเป็นอันมากด้วย

     นี้คือเสรีภาพทางศาสนาที่แท้จริง ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาจิตปัญญาอย่างสูง ซึ่งมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ว่ามีอารยธรรมกันนัก และพูดกันนักถึง tolerance แต่ก็ยังขึ้นไม่ค่อยจะถึง

     เมื่อว่าให้ถูกตามนี้  ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นเป็นอารยะจริง  ศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างที่ฝรั่งติดตันกลืนไม่เข้าแล้วคายออกมาได้แค่นั้น   แต่เป็นเรื่องที่ควรเอามาพูดจาศึกษาเอื้อปัญญาแก่กัน  ศาสนาจะเป็นเรื่องส่วนตัว  ก็เฉพาะในขั้นที่ว่าใครก้าวไปถึงไหน  ก็เป็นส่วนของคนนั้น
 
 
 
 



Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2567 7:40:08 น. 0 comments
Counter : 23 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space