บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2561
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
5 มีนาคม 2561
 
All Blogs
 

ตอน 13 - ฺBye, Khan al-Khalili, Muizz street, @Islamic Cairo



บล๊อคนี้เป็นบล๊อคสุดท้ายที่เราอยู่กันที่กรุงไคโร- อียิปต์ แล้วค่ะ  จะไปสัมผัสอิสลามิกไคโรให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวบรวมจากที่เดินไปเดินมาอยู่หลายวัน

Islamic Cairo

Islamic Cairo เป็นส่วนหนึ่งของ Central Cairo มีอาณาบริเวณรอบ ๆ กำแพงเมืองเก่า และป้อมซิทาเดล .. อิสลามิกไคโรแห่งนี้ เป็นที่รวมสถานที่สำคัญนับร้อยที่เป็นสถาปัตยกรรมอิสลามไว้ มรดกทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของไคโรสมัยกลางส่วนใหญ่ มีอายุย้อนไปสมัย Mamluk (ค.ศ. 1250 - 1517) สุลต่านแห่ง Mamluk และกลุ่มคนชั้นสูง ล้วนเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาและการศึกษา  โดยทั่ว ๆ ไปก็จะสร้างอาคารทางศาสนา หรือสุสาน ซึ่งรวบรวมบทบาทหน้าที่หลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน เช่น เป็นมัสยิด โรงเรียน ศูนย์กระจายน้ำ สุสาน สำหรับตนเองและครอบครัว รวมทั้ง madrasas (สถาบันการศึกษาทุกประเภท) คฤหาสน์ ที่พักกองคาราวาน (caravanserais) ป้อมปราการ ไปจนถึงตลาดร้านค้า 


ประตูเหนือ Bab al Fatuh - เขตเริ่มต้นของอิสลามิกไคโร

อิสลามิกไคโรเป็นไคโรยุคกลาง หรือ ฟาติมิดไคโร สร้างขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Fustat ในปี 969 โดยกองทัพฟาติมิดเพื่อเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ และที่พำนักของกาหลิบแห่งฟาติมิดโดยอยู่ในพื้นที่ที่ปิดล้อม  ในขณะที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการบริหารอยู่ที่ Fustat ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอียิปต์ภายใต้การปกครองของมุสลิม ปลายศต. ที่ 11 มีสร้างกำแพงใหม่ด้วยหิน สิ่งที่ยังคงเหลือมาถึงทุกวันนี้คือ ประตูเหนือ (Bab al-Futuh และ Bab al-Nasr) และประตูใต้ (Bab Zuweila)


Al-Hakim Mosque

ไม่ไกลจาก Bab al-Futuh ทางใต้ และ Mu'zz street ทางตะวันออก คือ  Al-Hakim Mosque ซึ่งเราจะข้ามไปเลย เพราะมีรายละเอียดอยู่ในตอน 2 แล้วค่ะ


ถนน Mu'izz (al-Mu'izz street)

จากการศึกษาขององค์การสหประชาติ พบว่าถนน al-Mu'izz มีสมบัติที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคกลางมากที่สุดในโลกมุสลิม 

 เขตของอิสลามิกไคโรทอดยาวไปตามแกนหลักของเมืองจากเหนือถึงใต้ มีถนน al-Mu'izz (al-Mu'izz street) ตั้งต้นที่ Bab Al-Futuh ทางด้านเหนือ ถึง Bab Zuweyla ทางใต้  เป็นเส้นทางสัญจรหลักที่ผ่านไปยังอิสลามิกไคโร  ถนนนี้ได้ชื่อตามกาหลิบองค์ทีี่สี่แห่งราชวงศ์ฟาติมิด คือ Al-Mu'zz li-Din Allah เป็นหนึ่งในถนนที่เก่าแก่ที่สุดในไคโร มีระยะทางราว 1 กม. 











ถนน Mu'zz ช่วงเช้า ขณะกำลังเดินเอ้อระเหย ก็ได้ยินภาษาไทยว่า "สวัสดีครับ"  ปรากฏว่าเป็นนักศึกษาไทยที่มาเรียนที่ไคโร "คุณลุง - คุณป้า (แก่มาก ๆ)  มากันเองหรือ มาได้ไงนี้" .. .. .. "มาได้ไง ยังไงก็จะกลับแล้วจ้า"

ถนน Mu'zz เป็นส่วนหนึ่งของ Qasaba (หรือ souq - ย่านการค้าและตลาด)  ที่เต็มไปด้วยร้านค้า ขายสินค้านานาชนิด แออัดไปด้วยผู้คนทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว

 ปี 1997 ทางรัฐบาลได้ดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่ ทั้งอาคารทางประวัติศาสตร์ อาคารสมัยใหม่ ทางเดิน ทางระบายน้ำ ให้ถนนสายนี้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง (open-air museum)  ต่อมาในเดือนเมษายน 2008 ได้จัดให้ถนนนี้เป็นถนนคนเดิน ระหว่าง 8.00-11.00 น. การขนส่งสินค้าได้รับอนุญาตินอกเวลานี้

Midan Hussein (จตุรัสฮุสเซน) อยู่ไม่ไกลจากถนน Mu'zz เป็นจตุรัสหลักแห่งหนึ่งของสมัยกลาง จตุรัสฮุสเซนตั้งอยู่ระหว่างกลางของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่ง คือ มัสยิด Al Azhar และ Sayyidna Al Hussein



ด้านหลังของ Mosque of al-Azhar

Mosque of al-Azhar (รายละเอียดอยู่ในวันแรกที่มาถึงไคโรแล้วค่ะ)  เป็นสถาบันที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งที่ตั้งขึ้นสมัยฟาติมิด สร้างในปี 970 เป็นทั้งมัสยิดและมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัย al-Azhar เป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของอิสลามศึกษาของโลก และเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของอียิปต์ ที่มีวิทยาเขตทั่วประเทศ 


ลานจตุรัสฮุสเซน



Mosque of Sayydina al-Hussein ที่ด้านหนึ่งของลานจตุรัสฮุสเซน

Mosque of Sayydina al-Hussein เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในอียิปต์ ภายในมัสยิดมีแท่นบูชาที่ฝังพระเศียรของ Al-Hussein หลานของพระศาสดามูฮัมหมัด พระเศียรนี้มีผู้นำกลับมายังไคโรในปี 1153 (เกือบ 500 ปีหลังการสิ้นพระชนม์)  จากเงื้อมมือของพวกครูเสด ที่กำลังโจมตีสถานที่สำคัญทางศาสนาในประเทศปาเลสไตน์ 

มัสยิดเดิมสร้างบนสุสานของกาหลิบแห่งฟาติมิด ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดทราบ จนมีการขุดค้นทางโบราณคดีภายหลัง มัสยิดปัจจุบันสร้างขึ้นใน ศต. ที่ 19 ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค เป็นที่เก็บรักษาเอกสารศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมหลายรายการ เช่น ต้นฉบับคัมภีร์อัลกุรอานที่สมบูรณ์ที่สุด




ปัจจุบัน พื้นที่กว้างของจตุรัสฮุสเซนแห่งนี้ ยังคงเป็นสถานที่สำคัญยิ่งของชาวไคโร เพราะในเทศกาลเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นในเทศกาลรอมฎอน และช่วง moulids (ภาษาอารบิค หมายถึงวันเกิดของบุคคลสำคัญ) ของพระศาสนาโมฮัมหมัด และสุลต่านฮุสเซน จัดขึ้นที่ลานจตุรัสแห่งนี้  .. นอกจากนั้นชาวไคโรมักใช้เป็นที่พบปะ ทำกิจกรรมต่าง ๆ   ทางด้านตะวันตกมีร้านอาหาร ด้านที่เป็นทางเข้าไป Khan al-Khalili

ต้น ศต. ที่ 16 สุลต่าน al-Ghouri (1501-1516)  สุลต่านองค์สุดท้ายสมัย Mumluk เรืองอำนาจ ได้แก้ไขผังเมืองโดยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเก่า และสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ สร้างศูนย์รวมศาสนาและสุสานของพระองค์เอง และเนื่องจากความรุ่งเรืองของไคโคทางการค้าและการพาณิชย์ในสมัยนั้น ก็ได้สร้างสร้าง wikalas หรือ caravanserais เพี่อเป็นที่พักเหล่าพ่อค้าและเป็นที่เก็บสินค้า  ที่พักกองคาราวานที่ยืนยงมาถึงปัจจุบันคือ Wikala of Al-Ghouri 



Wikala of Al-Ghouri 

นอกจากที่พักกองคาราวานแล้ว ยังได้รื้อถอน khan ที่สร้างโดย al-Khalili และสร้างใหม่ในปี 1511 เป็นศูนย์กลางการค้าที่รวมเอาที่พักไว้ด้วย มีประตูใหญ่และถนนตัดกันเป็นตาราง ซึ่งลักษณะแบบนี้ก็คล้ายคลึงกับเมืองอื่น ๆ ที่ เรียกว่า qaysariyya (หรือ bedestan ในภาษาตุรกี)  คือตลาดกลาง ซึ่งค้าขายสินค้าที่มีค่า มักมีหลังคาและมีประตูที่ล๊อคได้ตอนกลางคืน


Khan al-Khalili

Khan al-Khalili ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ มัสยิด al-Azhar เป็นบริเวณใจกลางของเขตเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของไคโร




ร้านอาหารทางตะวันตกของจตุรัสฮุสเซน ที่เป็นทางเข้าไป Khan al-Khalili

Khan al-Khalili สร้างโดยสุลต่าน al-Ghouri ปี 1511 เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งสุสาน turbat az-za'faraan (Saffron Tomb) ที่เป็นที่ฝังพระศพของกาหลิบแห่งฟาติมิด สุสานเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง Fatimid Great Eastern สร้างในปี 970 โดย Gawhar al-Siquili นายพลผู้นำชัยชนะมาสู่ราชวงศ์ฟาติมิด ผู้ซึ่งทั้งสร้างพระราชวังและก่อตั้งไคโรในปีเดียวกัน





Khan al-Khalili

 ในช่วงปลาย ศต. ที่ 14 แม้อียิปต์จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการทำลายล้างของ Black Death (โรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ในยุโรป เอเซีย และตะวันออกกลาง ที่ผู้คนล้มตายไปหลายร้อยล้านคน)  แต่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญยังคงอยู่ที่ Khan al-Khalili

 ราชวงศ์ Mamluk ที่เข้าปกครองอียิปต์ต่อ ๆ มา ได้สร้างอาคารพาณิชย์และศาสนาขึ้นอีกหลายแห่ง  ซึ่งรวมทั้งที่พักกองคาราวาน Sultan Qaytbay's wikala ทางด้านใต้ของ มัสยิด A-Azhar ..ทีี่พักกองคาราวาน Sultan al-Ghouri Wikala  และทำลายสุสานของราชวงศ์ฟาติมิดด้วย





เขตเศรษฐกิจและการค้านี้ ตั้งตามแกนหลักของเมือง จากเหนือถึงใต้ คือ จาก qasaba (ปัจจุบันคือ ถนน Muizz)  มีอนุสรณ์สถานทางศาสนามากมาย ที่สร้างขึ้นตลอดช่วงเวลาของ Mamluk และผู้ปกครองอื่น ๆ  เมื่อถึงปลาย ศต. ที่ 15 อาณาบริเวณรอบ ๆ Khan al-Khalili ก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าต่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงการค้าทาสและอัญมณี

ประตู Wikala al-Qutn ทางด้านเหนือของ Khan al-Khalili 

ในจำนวนสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดย สุลต่าน al-Ghouri คือ Wikala al-Qutn ('of cotton - ผ้าฝ้าย) มีบางส่วนที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน เราจะเห็นทั้งประตูที่หรูหรา และอาคารชั้นบนที่เป็นที่พักของพ่อค้า มีหน้าต่างกั้นด้วยเหล็กดัดเป็นตาราง ... หลังจากสมัยสุลต่าน al-Ghouri ต่อ ๆ มา พื้นที่เขตนี้ที่ได้รองรับพ่อค้าจากที่ต่าง รวมทั้งพ่อค้าจากตุรกี ดังนั้น เมื่อถึงในสมัยออตโตมัน ก็ได้กลายเป็นศูนย์การชาวเตอร์กิชในไคโรอีกด้วย

ปัจจุบัน Khan al-Khalili เป็น souq ในอิสลามิกไคโร ที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว รวมทั้งชาวอียิปต์เองมากที่สุด 


ประตูใต้ (Bab Zuweila)

จาก Khan al-Khalili แล้วก็มาถึงประตูใต้ Bab Zuweila ที่มี 2 หอคอยค่ะ ประตูนี้เป็น 1 ใน 3 ของประตูที่ยังคงอยู่ในเมืองเก่าไคโรแห่งนี้ สร้างในปีเดียวกับประตูเหนือ คือ ปี 1087 ถือเป็นหมุดหมายของเมือง และเป็นประตูใต้สุดของกำแพงเมืองสมัยฟาติมิดไคโร ช่วงระหว่าง ศต. ที่ 11 - 12 คำว่า Bab หมายถึง "ประตู" และ Zuweila (Zuwayla) เป็นชื่อเผ่าของนักรบ Berber จากทะเลทรายทางตะวันตก 



ถนนช่างทำเต้นท์ (Street of the Tentmakers)  เงียบ ๆ  เหงา ๆ 




เลยจาก Bab Zuweila ไปทางใต้ คือ ตลาดในร่ม ... มีถนนสายหลัก Darb al-Ahmar ที่นำไปสู่ Qasaba (หรือ souq - ย่านการค้า และตลาดในร่ม covered market) สร้างปี 1650 โดย Radwan Bey ผู้บังคับการที่รับผิดชอบการไปแสวงบุญที่เมกกะ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Qasaba ได้พัฒนาและแบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยแต่ละแห่งจะเรียกชื่อตามตลาด หรืองานฝีมือที่เป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ 



งานภาพประดับผนังเย็บด้วยมือที่ถนนช่างทำเต้นท์



ตลาดในร่มที่เราผ่านระหว่างทางที่ไปป้อมซิทาเดลนี้ เป็นตลาดในร่มสมัยกลางเพียงแห่งเดียวที่ยังมีอยู่ในไคโร มีชื่อ ถนนช่างทำเต้นท์ (Street of theTentmakers)  ปัจจุบันเป็นเป็นตลาดขายเต้นท์สำหรับพิธีการ เช่น งานศพ งานแต่ง งานฉลอง รวมทั้งยังเป็นแหล่งงานผ้าประดับผนัง และผ้านวมที่เย็บด้วยมือ 

 เลยจากตลาดในร่ม ซึ่งอยู่ในตำบล Darb al Ahmar ตำบลที่มีชื่อเดียวกับถนนหลัก แล้วก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า 'Red Road'  เป็นศูนย์กลางของ ศต. ที่ 14 และ 15 นอกกำแพงเมือง.. ในขณะนั้น กรุงไคโรมีประชากรราว 250,000 คน และมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่นอกกำแพงเมือง อยู่รวมกันอยู่อย่างหนาแน่นไปตามถนนแคบ ๆ และคดเคี้ยวไปมาในตำบล Darb al Ahmar นี้  

ดังนั้น ในฐานะเป็นเมืองรองนอกกำแพงเมือง จึงจำเป็นต้องสร้างมัสยิดใหม่ ๆ เพิ่ม รวมทั้งพระราชวัง และสถาบันทางศาสนา ขึ้นอีกหลายแห่ง สถาปัตยกรรมอิสลามต่าง ๆ เหล่านี้ มีอายุย้อนไปถึงช่วงการปกครองของ Mamluk 



Mosque of Qijimas al-Ishaqi

Mosque of Qijimas al-Ishaqi Qijimas เป็นผู้นำกองกำลังม้าของสุลต่าน ผู้รับผิดชอบการไปแสวงบุญประจำปีที่เมืองเมกกะ มัสยิดนี้สร้างเสร็จในปี 1481 เป็นตัวอย่างที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมสมัยปลายราชวงศ์ Mamluk ภายในประดับด้วยหน้าต่างกระจกสี พื้นหินอ่อน กำแพงไม้ฉาบปูน



Mosque of Al-Maridani

Mosque of Al-Maridani สร้างในปี 1339 เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในย่านนี้  สถาปัตยกรรมหลากหลาย เสาหินแกรนิต 8 ต้น นำมาจากอนุสาวรีย์ของฟาโรห์ ทางเดินภายในค้ำด้วยเสาโค้งที่ผสมผสานศิลปโรมัน คริสเตียน และอิสลาม และสุลต่านออตโตมันยังได้เพิ่มน้ำพุและอาคารไม้เข้าไปอีกด้วย 




ตำบล Darb al Ahmar เป็นเหมือนแค็ตตาล็อคประวัติศาสตร์สมัยกลาง ที่รวบรวมสถาปัตยกรรมอิสลามเอาไว้ด้วยกัน คงไว้ซึ่งบรรยากาศ และกลิ่นไอของอดีตที่ผ่านมากว่า 700 ปี  .. 

ถนนสายหลักนี้เลยไปจนถึงป้อมซิทาเดล .. หลังจากมึนกับมัสยิดทั้งหลายมาพอควร  ระหว่างทางที่ 2 สว. เดินไปซิทาเดล ในบล๊อคที่แล้ว ก็ได้ภาพน่ารัก ๆ ของหนุ่มและสาวน้อยอียิปต์มาฝากด้วยค่ะ 




กำลังนั่งเล่นอยู่ตรงหน้าต่างพอดี สาวน้อยเสื้อแดงกับหน้าต่างสีเขึยว



สามหนุ่มนี้ไม่ยอมน้อยหน้า






กำลังเดินกลับบ้านค่ะ


ถ้าไม่ได้ภาพอินทผาลัมมาฝาก สงสัยยังไปไม่ถึงอียิปต์แน่ ๆ  กิโลกรัมละ 4 LE ค่ะ


ปี 1979 องค์การ Unesco ได้ประกาศให้เมืองประวัติศาสตร์ของไคโร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในฐานะ "เมืองอิสลามที่เก่แก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก" ที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดใน ศต. ที่ 14 ... ปัจจุบันยังเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของโลกอิสลามอีกด้วย

อียิปต์เป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์ โบราณสถาน สถาปัตยกรรมที่งดงาม และผู้คนที่มีอัธยาศัยดี .. เราจากมาด้วยความประทับใจ  ...ขอบคุณที่มอบความรู้สึกดี ๆ ทั้งหมดทั้งมวลแก่ สว. ที่มาเยือน

 รุ่งขึ้นแต่เช้าก็ต้องออกเดินทางไปจอร์แดนแล้วค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

หนังสือ "Lonely Planet" ฉบับ "Cairo" 2nd edition, February 2002

https://ipfs.io/ipfs/QmXoypizjW3WknFiJnKLwHCnL72vedxjQkDDP1mXWo6uco/wiki/Muizz_Street.htm
https://www.muslimheritage.com/article/al-hakim-mosque-cairo-990-1012
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/0c/Al-Muizz_LI-Din_Allah_Al_Fatemy_Street_-_Panoramic_View_02.jpg/1200px-Al-Muizz_LI-Din_Allah_Al_Fatemy_Street_-_Panoramic_View_02.jpg
https://www.wmf.org/project/al-darb-al-ahmar-district-mosques




 

Create Date : 05 มีนาคม 2561
0 comments
Last Update : 19 มีนาคม 2561 16:44:33 น.
Counter : 945 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.