ตัวของเรา สไตล์ของเรา ทำไมต้องเหมือนใคร
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2563
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 กรกฏาคม 2563
 
All Blogs
 
Idol (ไอดอล) คืออะไร....ต่างกับศิลปินอย่างไร....รู้จัก Idol อย่างละเอียด

สวัสดีครับ
คนไทยเราเพิ่งมีคำว่า Idol (ในวงการบันเทิง) มาได้ไม่นานนัก โดยการรับมาจากญี่ปุ่น หลายคนก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร หลายคนก็เข้าใจไปแบบผิดๆ วันนี้เลยจะมาพูดถึงเรื่องของ Idol แบบละเอียดๆ กันเลย ซึ่งก็อย่างที่บอกครับว่าอย่างละเอียด...รายละเอียดมันเยอะครับ ทำให้สั้นไม่ได้เลย เพราะงั้นวันนี้ก็มาแบบยาวๆ เลยล่ะครับ


ช่วงสัก 2-3 ปีมานี้คนไทยเราได้รู้จักคำว่า Idol กันมากขึ้นจากการที่ไทยเรามีการซื้อลิขสิทธิ์ตั้งวง BNK48 ในฐานะวงน้องของ AKB48 ของญี่ปุ่น ซึ่งการเกิดขึ้นของ BNK48 นี้ทำให้คนไทยรู้จัก Idol มากขึ้น เกิดคำเรียกใหม่ๆ ขึ้นมาทั้ง โอตะ โอชิ และอื่นๆ มากมาย แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ดูจะยังไม่ค่อยรู้จัก Idol อย่างแท้จริง

เนื่องจากคนไทยรับเอา Idol จากญี่ปุ่นมาพร้อมกับ AKB48 ทำให้ยังมีคนอีกไม่น้อยที่คิดว่า Idol ญี่ปุ่น = AKB48 คือมีหลายคนที่คิดว่ารูปแบบ Idol ญี่ปุ่นทั้งหมดจะต้องเป็นแบบ AKB48 ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย Idol ญี่ปุ่นยังมีรูปแบบอื่นๆ หลากหลายกว่านั้น เพราะงั้นวันนี้เราจะมารู้จัก Idol แบบญี่ปุ่นจริงๆ อย่างละเอียดกันครับ


ตัวผมเองก็เป็นคนดู Idol นะครับ ดูมาตั้งแต่ก่อนยุค AKB48 ด้วย แต่ผมไม่ได้เป็นถึงขั้นโอตะ ติ่ง หรืออะไรแบบนั้น Idol สำหรับผมไม่ได้เป็นความหวังหรือแสงสว่างในชีวิตอะไรทั้งนั้นครับ ผมดู Idol เพื่อความบันเทิง ดูเอาความเฮฮา คือถ้าไม่ตลก(ในแบบของผม)ผมก็ไม่ดู (ก็มันเป็นสื่อบันเทิงนี่เนอะ) เพราะงั้นผมดูทั้ง Idol หญิงและชาย อีกส่วนหนึ่งคือผมศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในงานคาแรคเตอร์สำหรับอนิเมของตัวเองด้วย Idol จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่ดี......ตอนที่ผมเริ่มดูราวๆ 10 เทปแรกก็ดูเพื่องานล้วนๆ แหละครับ แต่พอหลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นดูเอาสนุกแล้วครับ (ได้งานด้วย สนุกด้วย) คือมันบันเทิงอย่างไม่น่าเชื่อเลย....ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมรู้จักและเข้าใจ Idol พอสมควรครับ



Idol ในสายตาของคนไทย

ถึงเราจะรับ Idol เข้ามา 2-3 ปีแล้วแต่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้จัก Idol ดีนัก ถึงแม้จะเป็นคนที่ติดตาม Idol ก็ตาม


AKB48 เพลง Koisuru Fortune Cookie

ในสายตาคนไทย AKB48 คือรูปแบบของ Idol ญี่ปุ่น บางคนมองว่า Idol คือคนบันเทิงฝีกหัดที่เข้ามาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะไปทำงานในวงการบันเทิงจริง บางคนก็มองไปว่า Idol จะต้องเป็นวงใหญ่ มีสมาชิกเยอะ เน้นขายความสดใส ขายความพยายาม ขายการพัฒนา ไม่เน้นความปึ้กความเป๊ะ และจะต้องมีการออดิชั่น มีการแบ่งทีม มีงานจับมือ มีกิจกรรมต่างๆ ให้แฟนๆ ได้มีส่วนร่วมถ้าไม่เป็นไปตามนี้หรือไม่ใช่แบบนี้คือไม่ใช่ Idol ซึ่งนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ



Idol คืออะไร

ญี่ปุ่นคือคนเริ่มใช้คำว่า Idol เพราะงั้นเราต้องไปทำความเข้าใจว่าญี่ปุ่นใช้คำนี้ในความหมายยังไง

คำว่า Idol ที่ญี่ปุ่นหยิบเอามาใช้คือความหมายประมาณว่า "ขวัญใจวัยรุ่น" หรือ "ขวัญใจมหาชน" ซึ่ง Idol มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงอย่างเดียว และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ว่าจะต้องเป็นวงใหญ่ วงที่มีสมาชิก 3 คน 5 คนก็ถือเป็น Idol ได้ คนเดียวมาเดี่ยวๆ ก็เป็น Idol ได้ จะมีการออดิชั่นเป็นรุ่นหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งการออดิชั่นมันไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่วง Idol แต่มันมีได้แม้กระทั่งกับศิลปินธรรมดาที่ไม่ใช่ Idol ด้วยครับ

บางคนอาจสงสัยว่าถ้าอย่างนี้แล้ว Idol ก็ไม่ต่างอะไรกับ Girl Group หรือ Boy Band เลยสิ (ต่อไปจะเรียกว่า GG/BB นะครับ) แล้วจุดต่างมันอยู่ที่ไหน ทำไมต้องเรียกว่า Idol


ภาพจาก VDO คอมเมนท์ของรายการ Music Station

คือ Idol เนี่ยก็เป็น GG/BB ประเภทหนึ่งครับ คือจะเป็นหมวดย่อยของ GG/BB อีกที เวลาเรียกถ้าเรียก Idol ก็จะเป็นการเจาะจงว่าหมายถึง GG/BB ในหมวดนี้โดยไม่ได้รวม GG/BB แบบอื่นเข้าไปด้วย แต่ถ้าเรียก GG/BB ก็จะเป็นการพูดถึงหมวดใหญ่ที่รวมเอา Idol เข้าไปด้วย แต่บางครั้งการเรียก GG/BB ก็จะหมายถึงส่วนที่เหลือซึ่งไม่รวม Idol ก็ได้ (เวลาคุยกันต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าเรียกรวม idol ด้วยหรือเปล่า)

จุดที่ต่างกันของ Idol กับศิลปินทั่วไป (รวมถึง GG/BB ด้วย) อยู่ที่การทำตลาด ถ้าเน้นขายงานเป็นหลักนั่นคือศิลปิน ซึ่งศิลปินอาจหน้าตาดีก็ได้ แฟนๆ อาจจะชอบตัวศิลปินด้วยก็ได้ แต่ถ้าเป็น Idol จะเน้นขายตัวคนพอๆ กับขายงานครับ คือใช้รูปร่างหน้าตาบุคลิกที่มีจุดเด่นดึงดูดแฟนๆ คนอาจเริ่มด้วยการสนใจที่รูปลักษณ์ก่อนแล้วค่อยตามผลงานหรืออาจชอบผลงานตรงๆ ตั้งแต่แรกเลยก็ได้ และ Idol จะสร้างความรู้สึกหลงไหลคลั่งไคล้ให้แฟนๆ อย่างเข้มข้นกว่าที่ศิลปินทำ คือจะมีกิจกรรมให้แฟนๆ ได้ใกล้ชิดมากกว่าศิลปิน ศิลปินก็มักจะทำงานเพลงอย่างเดียว ถ้าดังมากๆ ก็อาจมีงานโฆษณาเข้ามาด้วย แต่ Idol จะทำให้ตัวคนเป็นที่นิยมและทำให้มีการจ้างงานกว้างกว่า นอกจากการทำเพลงแล้วก็อาจมีงานนางแบบ/นายแบบ งานพรีเซนเตอร์โฆษณา งานด้านการแสดงต่างๆ งานกราเวีย(ผู้หญิง) งานรายการวิทยุ งานร่วมรายการทีวี งานพิธีกร เป็นต้น

ก็มีให้เห็นบ่อยๆ ที่ Idol จะถูกคัดตัวเข้าไปตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งมักเริ่มต้นตั้งแต่วัยม.ต้นหรือวัยทีนและทำไปได้จนอายุไม่เกิน 30 คือผมก็ยังไม่เคยเห็น Idol ที่อายุถึง 30 น่ะครับ เพราะส่วนใหญ่พออายุเริ่มเข้าช่วง 20 กลางๆ ก็ย้ายสายไปเป็นศิลปินเดี่ยวบ้าง ไปเป็นนักแสดงบ้าง ไปเป็นพิธีกรบ้าง บางคนก็เลิกตั้งแต่เรียนจบมัธยมแล้วก็ไปเข้ามหาวิทยาลัยแล้วไปทำงานปกติหรือที่เห็นหลายคนก็มาเป็นผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกร ซึ่งด้วยแบบนี้ Idol ก็มักจะเริ่มต้นงานในสายบันเทิงตั้งแต่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์แล้วค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ ทำให้บางคนก็อาจเข้าใจว่า Idol เป็นเหมือนดารานักร้องฝึกหัดที่เน้นขายการพัฒนาและความพยายาม....จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่ Idol ที่เป็นอย่างนั้น พวกดารานักแสดงหน้าใหม่ก็เป็นแบบนี้เหมือนกันคือเข้ามาใหม่ๆ ก็ดูไม่มีประสบการณ์แล้วก็ปรับปรุงตัวเองกันไป

ส่วนการออดิชั่นนั้นที่จริงแล้ว Idol อาจไม่มีการออดิชั่นคัดตัวสมาชิกใหม่เป็นรุ่นก็ได้ กลับกันค่ายเพลงหรือเอเจนซี่อาจมีการเปิดออดิชั่นเพื่อหาศิลปินใหม่ๆ ก็ได้ และยิ่งกว่านั้นในวงการอื่นๆ ก็มีการออดิชั่นได้เหมือนกัน เช่น วงการนางแบบ/นายแบบ วงการนักพากย์ วงการนักแสดง การออดิชั่นจึงไม่ได้จำกัดเป็นเพียงสำหรับ Idol เท่านั้นแต่วงการอื่นๆ ก็มีและการออดิชั่นก็ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่านั่นคือ Idol หรือเปล่าด้วย



แนวคิดของญี่ปุ่นที่ต่างจากเกาหลี

ญี่ปุ่นกับเกาหลีมีแนวคิดเกี่ยวกับงานบันเทิงที่ต่างกันทำให้การผลิตสื่อบันเทิงออกมาต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่าเกาหลีจะรับเอาแนวคิดเรื่อง Idol จากญี่ปุ่นไปแต่ก็ทำออกมาเป็นคนละรูปแบบกัน ความต่างตรงนี้เกิดจากมุมมองด้านการแสดงของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมันส่งผลต่องานครีเอทีฟและสื่อบันเทิงต่างๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะ Idol.....มันต่างกันยังไงเดี๋ยวมาดูกันครับ

ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ดูบันทิงเกาหลีเยอะเท่าญี่ปุ่นแต่ก็ผ่านตามาไม่น้อย มันไม่เท่ากับแฟนเกาหลีโดยตรงแน่ๆ แต่ผมก็กล้าพูดได้ว่าผ่านตามาไม่น้อยและมากพอที่จะจ้บรูปแบบของเกาหลีได้ ไม่ใช่แค่เปิดผ่านหรือรู้จักที่เขาฮิตกันมากๆ ในไทยแน่นอน เพียงแต่ผมอาจจะจำชื่อหนัง ชื่อคน ชื่อเพลง ชื่อวงต่างๆ ไม่ได้เท่านั้นเองเพราะผมไม่ได้ชอบหรือเป็นแฟนเกาหลี


ภาพจากรายการ Inkigayo เพลง Kill This Love

จากที่ผมสังเกตุมาเกาหลีจะมีแนวความคิดตามฝรั่งตามอเมริกาและมองการแสดง การเต้น ว่าจะต้องเป็นแบบที่มีพื้นฐานมาจากสไตล์ฮิปฮอป แนวๆ Justin Timberlake หรือถ้าผู้หญิงก็จะแนวๆ Britney Spears และค่อนข้างที่จะมีแนวความคิดไปในทางที่ตีกรอบว่าการเต้นที่ดีจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ถ้าหลุดออกจากรูปแบบนี้จะมองว่าไม่ดี ไม่เจ๋งหรืออะไรแบบนั้น ทำให้ศิลปินและ Idol เกาหลีทั้งหญิงชายมีรูปแบบการเต้นเป็นแบบนี้ทั้งนั้นและแทบจะไม่มีรูปแบบอื่นเลย รูปแบบการแสดงของเกาหลีส่วนใหญ่ก็มองว่าจะต้องเป็นแบบคอนเสิร์ตปกติที่ทุกคนจะต้องเต้นเป็นท่าเดียวกันทั้งหมด ทำให้เพลงเกาหลีในยุคก่อนหน้านี้มีแต่แบบที่ทุกคนเต้นเหมือนๆ กันทั้งหมด แต่จุดนี้ดูเหมือนว่าช่วงหลังนี่จะเริ่มเปลี่ยนแล้วนะครับ ไม่รู้ว่าเพราะไปร่วมงานกับญี่ปุ่นมากขึ้นหรือเปล่า

เรื่องตัวคนเกาหลีจะมีแนวคิดว่าที่ต้องการคนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่ค่อยพบในคนทั่วไป เราจะพบว่าศิลปินหรือ Idol เกาหลี ผู้ชายมักจะสูงราว 180+- (หรือ 17x กลางถึงปลาย) ทั้งที่ความสูงเฉลี่ยผู้ชายเกาหลีคือประมาณ 171 ซม. เท่านั้น ส่วนผู้หญิง มักจะสูงราว 170+- (หรือ 16x กลางๆ ถึงปลาย) ซึ่งผู้หญิงเกาหลีสูงเฉลี่ยแค่ราวๆ 158 ซม. เท่านั้นเอง สำหรับหน้าตาเกาหลีดูจะต้องการหน้าตาที่ดูเป็นพิมพ์นิยมซึ่งตรงนี้ทำให้คนในวงการบันเทิงเกาหลีทั้งนักแสดง ศิลปิน หรือ Idol หลายๆ คนจะมีหน้าตาแบบเดียวกันและหลายๆ ครั้งจะเป็นพิมพ์เดียวกันเลยด้วยครับ


ภาพจาก MV เพลง Nee ของวง Perfume

ส่วนญี่ปุ่นจะมีแนวคิดที่กว้างและหลากหลายกว่าโดยไม่ได้ยึดติดอยู่กับรูปแบบของอเมริกา ญี่ปุ่นมองการเต้นในแบบที่กว้างกว่าคือไม่ได้มองว่าการเต้นจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งแต่มองว่าการเต้นทุกอย่างทั้ง ฮิปฮอป, เบรคแดนซ์, แจ๊ซแดนซ์, แท็ป, บัลเล่ต์, ฮูล่า, การเต้นพื้นเมืองต่างๆ และอื่นๆ ถือเป็นการเต้นทั้งนั้น ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเอารูปแบบต่างๆ มาใช้ได้และสร้างงานครีเอทีฟที่หลากหลายได้มากกว่า การแสดงบนเวทีที่ญี่ปุ่นไม่ได้มองแค่การแสดงแบบคอนเสิร์ตอย่างเดียวแต่ยังมองว่ามันมีการแสดงแบบละครเวทีหรือมิวสิคคัลเพลย์ที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องเต้นเหมือนกันตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้มันมีความหลากหลายกว่า

สำหรับตัวคน ญี่ปุ่นจะมีแนวคิดว่าต้องการคนที่มีจุดเด่นน่าสนใจ ไม่ใช่พิมพ์นิยม เราจะเห็นได้ว่าความสูงเฉลี่ยคนญี่ปุ่นคือ ชายราวๆ 170 ซม. และหญิงราวๆ 158 ซม. และศิลปินหรือ Idol ญี่ปุ่นจะมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 165-175 สำหรับผู้ชาย และประมาณ 155-165 สำหรับผู้หญิง ซึ่งเป็นช่วงความสูงที่ตรงกับความสูงเฉลี่ยของคนทั่วไปมากกว่า ส่วนเรื่องหน้าตาเพราะไม่ได้ต้องการคนที่เป็นพิมพ์นิยมทำให้มีหลายรูปแบบไม่ได้ดูเหมือนกันอย่างเกาหลี

จากการที่เกาหลีใช้แนวทางของอเมริกาทำให้เพลงเกาหลีสามารถขายทั่วโลกได้ง่ายกว่า ส่วนญี่ปุ่นมองภาพพวกนี้กว้างกว่าทำให้สามารถสร้างงานครีเอทีฟได้มากกว่า สร้างอะไรใหม่ๆ ได้มากกว่าแต่ในความครีเอทพวกนั้นมันมีลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่นอยู่มาก ทำให้เพลงจากทางญี่ปุ่นจะขายทั่วโลกได้ยากกว่า

ในส่วนของ Idol นั้น เกาหลีจะให้มีการฝึกกันมานานจนเมื่อเปิดตัวจริงก็จะพร้อมจะเป็นมืออาชีพทันที ส่วนญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบกว่า ทั้งแบบที่ผ่านการฝึกมาหลายปีก่อนจะฟอร์มเป็นวงขึ้นมาอย่าง Johnny's Jr. และ Hello Project Kids, Hello Project Egg หรืออาจผ่านการฝึกส่วนหนึ่งแล้วค่อยปล่อยให้เรียนรู้ร่วมกับรุ่นพี่ ซึ่งมักเกิดกับสมาชิกใหม่ที่มีการออดิชั่นเข้ามาในวง หรืออาจแทบไม่ได้ฝึกอะไรเท่าไหร่เลยและปล่อยให้เรียนรู้ ปรับตัวและถูกฝึกไปพร้อมกับการทำกิจกรรมร่วมกับรุ่นพี่อย่าง AKB48



Idol ญี่ปุ่น

อย่างที่ได้พูดถึงกันไปแล้วว่า Idol มีความหมายอย่างไร ต่อไปเราจะมาดูกันครับว่า Idol ญี่ปุ่นมันเริ่มมายังไงกว่าจะมาเป็นอย่างที่หลายๆ คนคุ้นตาอย่างในปัจจุบัน

เท่าที่ผมรู้ Idol ญี่ปุ่นเริ่มต้นในช่วงยุคปี 70 ในตอนนั้น Idol ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงครับ และกลายเป็น Idol อย่างจริงๆ จังๆ เป็นเรื่องเป็นราวในยุค 80

Idol ในยุค 80 มีทั้งแบบเดี่ยวๆ มาคนเดียว และแบบเป้นวงประมาณ 4-5 คน ซึ่งตอนนั้น Idol ก็เป็นแค่นักร้องขวัญใจวัยรุ่นที่ไม่ได้มีอะไรมากมายอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้เลย ไม่ได้เป็นวงใหญ่ ไม่มีการออดิชั่นคัดตัวสมาชิกเพิ่ม ไม่มีงานจับมือ ซึ่ง Idol ในยุคนั้นก็มีอย่างเช่น Shonentai, Musuko Club, Hikaru GENJI, Cha-Cha, Koizumi Kyoko, Nakamori Akina, Oginome Yoko เป็นต้นครับ


Oginome Yoko

ในช่วงกลางยุค 80 ก็เริ่มมี Idol แบบวงใหญ่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนจะถูกพัฒนาต่อยอดมาเป้นอย่างที่เห็นในยุคปัจจุบันอย่างที่เราเห็นกันครับ ต่อมาในยุค 90 ญี่ปุ่นเริ่มมีการจ้างครูฝึกด้านการเต้นจากต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกาเข้าไปฝึกสอนศิลปินนักร้องและรวมถึง Idol บางวงด้วย จากนั้น Idol ญี่ปุ่นก็ค่อยๆ พัฒนารูปแบบขึ้นมาเรื่อยๆ จนเข้ายุคปี 2000 ที่วงการเพลงมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่ Idol ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากเดิมที่ Idol อาจไม่ได้เน้นด้านการเต้นหรือแสดงประกอบเพลงอะไรมากมายก็เปลี่ยนมามีการเต้นประกอบเพลงมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และยังมีการสร้างวง Idol ขึ้นมามากมาย บางวงก็เน้นไปที่การแสดงบนเวที บางวงเน้นทั้งร้องทั้งเต้น โดยที่การแสดงของแต่ละวงก็มีรูปแบบหรือสไตล์ของตัวเองที่ต่างกันออกไป



Idol วงใหญ่

Idol แบบวงใหญ่อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้จริงๆ แล้วมันไม่ได้ใหม่ขนาดนั้นนะครับ มันเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงกลางยุค 80 แล้ว ก่อนจะพัฒนามาเป็นอย่างที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน


Onyanko Club แสดงเพลง Sailor-fuku wo Nugasanaide

จุดเริ่มต้นของ Idol วงใหญ่เริ่มขึ้นในปี 1985 จากรายการทีวีชื่อ Yuuyake Nyan Nyan วง Idol หญิงวงใหญ่วงแรกคือ Onyanko Club ได้เกิดขึ้น โดยมี Akimoto Yasushi ที่หลายๆ คนรู้จักดีเป็นโปรดิวเซอร์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก สมาชิกของวงส่วนใหญ่เป็นวัย ม.ปลายกับมหาวิทยาลัย วงมีระบบการออดิชั่นคัดตัวสมาชิกเพิ่มเป็นรุ่นด้วย อย่างไรก็ตาม Onyanko Club ก็อยู่ถึงแค่ปี 1987 แล้วก็ยุบวงไป


Hikaru Genji แสดงเพลง Paradise Ginga

ในปี 1986 ก็ได้เริ่มมีวง Idol ชายแบบสมาชิกเยอะขึ้นมาเหมือนกันครับ คือวง Musuko Club ที่มีสมาชิก 7 คน (ถือว่าเยอะแล้วสำหรับวงผู้ชาย) แต่วงก็อยู่ได้แค่ไม่ถึงปีก็ยุบวงไป ต่อมาในปี 1987 ปีเดียวกับที่ Onyanko Club ยุบวง ก็เกิดวง Idol ชายแบบสมาชิกเยอะขึ้นอีกวงคือ Hikaru GENJI ที่มีสมาชิก 7 คนจากค่าย Johnny's ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี่เองล่ะครับ อย่างไรก็ตามวง Idol ชายจะไม่มีระบบการออดิชั่นสมาชิกใหม่มาจนถึงทุกวันนี้ครับ Hikaru GENJI ถือเป็นวง Idol ชายแบบสมาชิกเยอะวงแรกที่ประสบความสำเร็จและโลดแล่นอยู่ในวงการนานถึง 8 ปีและยุบวงในปีที่ 9 คือปี 1995 ซึ่งเป็นยุค 90 ที่มีวง Idol ชื่อดังหลายวงเกิดขึ้น ทั้ง SMAP, TOKIO, V6, SPEED แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่แบบวงใหญ่


Morning Musume แสดงเพลง Koko ni Iruzee!

ในปี 1997... Tsunku นักร้องนำของวงร็อค Sharan Q ได้ผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์ ซึ่งนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของ Idol วงใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานเลยทีเดียว ด้วยการต่อยอดความสำเร็จของ Onyanko Club วง Morning Musume จากค่าย Hello Project ก็ได้เปิดตัวในปีนั้นด้วยสมาชิก 5 คน (major debut ปี 1998) และมีการออดิชั่นรับสมาชิกเพิ่มเข้ามาเป็นรุ่น จำนวนสมาชิกค่อยเพิ่มขึ้นจนเกิน 10 คนและสูงสุด 16 คนในปี 2003 ซึ่งถือว่าเยอะมากในตอนนั้น วง Morning Musume ดังและประสบความสำเร็จมาก มีอีเวนท์จับมือขอบคุณแฟนๆ ด้วย ความสำเร็จของ Morning Musume เป็นตัวจุดประกายให้เกิดวง Idol อีกหลายวงตามมาทั้งในค่ายและนอกค่าย เช่น Berryz Koubou, C-ute


Bishojo Club 21 แสดงเพลง Da Di Da Go! Go! ในรายการ Music Station

จากความสำเร็จของ Morning Musume ทำให้มีการต่อยอดแนวคิด Idol วงใหญ่เกิดขึ้นอีก ในปี 2003 ในขณะที่ Morning Musume กำลังดังเป็นพลุแตกก็ได้เกิด Idol วงใหญ่อีกวงขึ้นมาคือ Bishojo Club 21 กับสมาชิก 21 คนตามชื่อ สังกัดค่าย Oscar Promotion เอเจนซี่ชื่อดังที่มีคนบันเทิงและนักแสดงที่หลายๆ คนคุ้นหน้าอยู่ในสังกัด และเมื่อวงมีอายุครบปีก็ได้มีการเพิ่มสมาชิกเข้าไปอีก 10 คนเป็น 31 และเปลี่ยนชื่อวงเป็น Bishojo Club 31 ด้วย แต่ Bishojo Club 31 ก็ไม่สามารถจะสู้กับความแรงของ Morning Musume ได้และยุบวงไปในปี 2006


ภาพจาก MV เพลง NEVER SAY GOODBYE ของ Rev. from DVL

ในปี 2003 ปีเดียวกันกับที่ Bishojo Club 21 เกิดขึ้น ก็มีวง Rev. from DVL เกิดขึ้นด้วย เป็นวงที่มีสมาชิกประมาณ 10 คน (คนเก่าออกไปคนใหม่ก็เข้ามา) วงดังจนได้ไป Kohaku ด้วย ซึ่งสมาชิกวงก็มีงานนอกให้เราเห็นอยู่มากมาย ทั้งงานโฆษณา รายการทีวี แสดงหนัง แสดงละคร ปัจจุบัน Rev. from DVL ได้ยุบวงไปแล้วเมื่อปี 2017 และอดีตสมาขิกที่เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ทางทีวีก็คือ Hashimoto Kanna


ภาพจากรายการ Music Station แสดงเพลง Cherish.... ชุดขาวดำคือสมาชิกวง NEWS ส่วนชุดสีแดงคือเด็ก Johnny's Jr.

ในปี 2003 ปีเดียวกันกับที่ Bishojo Club 21 เกิดขึ้นก็มีวง Idol ชายแบบวงใหญ่เกิดขึ้นอีกเหมือนกันคือ NEWS จากค่าย Johnny's ซึ่งมีสมาชิก 9 คน มีหลายคนที่เราคุ้นหน้ากันดีเพราะมีงานแสดงละครและทำรายการทีวีอยู่บ่อยๆ ทั้ง Yamashita Tomohisa, Nishikido Ryo, Tegoshi Yuya, Kato Shigeaki ในปัจจุบันวง NEWS เหลือสมาชิกเพียง 3 คนเนื่องจาก Tegoshi Yuya เพิ่งออกจากวงและสิ้นสุดสัญญากับทางค่ายเนื่องจากมีคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศฉุกเฉินในช่วง Covid-19


ภาพจาก MV เพลง Aitakatta ของ AKB48

ปี 2005 Akimoto Yasushi ได้เกิดไอเดียเกี่ยวกับ Idol ที่ให้แฟนๆ สามารถไปเจอได้เมื่ออยากเจอ ไม่ต้องรออีเวนท์หรือคอนเสิร์ต จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ AKB48 ซึ่งโปรดิวเซอร์ Akimoto ก็ได้หยิบเอารูปแบบที่ Tsunku ใช้กับ Morning Musume มาใช้กับ AKB48 ด้วยแล้วก็ค่อยๆ ปรับและเพิ่มสิ่งอื่นๆ เข้าไป และในเวลาที่ AKB48 เกิดขึ้นมานั้นเป็นช่วงที่ Morning Musume กำลังจะเริ่มตกลง เพราะสมาชิกรุ่นที่ 5 และ 6 ที่มีฐานแฟนๆ เยอะกำลังเริ่มออกจากวง (รุ่นก่อนนั้นก็แฟนเยอะครับแต่ก็ทยอยออกกันเรื่อยๆ) ในขณะที่มี AKB48 เข้ามาเป็นคู่แข่งและเด็กรุ่นหลังจากนั้นไม่มีฐานแฟนๆ มากเท่ารุ่นก่อนหน้า Morning Musume จึงกลายเป็นขาลง และด้วยกระแส Akihabara เป็นที่สนใจจากทั่วโลกทำให้ AKB48 ค่อยๆ ฮิตมากขึ้นเรื่อยๆ และมาแทนที่ Morning Musume ในที่สุด


ภาพจาก MV เพลง Cheering You!!! ของวง Idoling!!!

ปี 2006 ก็มีการแข่งขันในตลาด Idol หญิงวงใหญ่อีก และ Idoling!!! คือวงที่เกิดขึ้นในตอนนั้น โดยใช้ระบบและรูปแบบที่เหมือนเป็นลูกผสมของ Morning Musume, AKB48 และ Onyanko Club คือมีการออดิชั่นเป็นรุ่น มีการแบ่งทีมย่อย มีการกำหนดหมายเลขประจำตัวแต่ละคน วง Idoling!!! มีสมาชิกทั้งหมด 6 รุ่น สมาชิกคนที่เราเห็นในรายการทีวีบ่อยๆ คือ Kikuchi Ami และได้ยุบวงไปเมื่อปี 2015 รวมระยะเวลาที่ทำกิจกรรมทั้งหมด 9 ปี


ภาพ Hey! Say! JUMP ในรายการ Domoto Kyodai เมื่อปี 2007

ปี 2007 มี Idol ชายจากค่าย Johnny's เกิดขึ้นอีกวง คือ ซึ่งมีสมาชิก 10 คน ถือว่าเป็นวงที่มีสมาชิกเยอะที่สุดของค่าย Johnny's ซึ่งเสียงตอบรับที่ดีมากๆ จากแฟนๆ ทำให้ Hey! Say! JUMP ประสบความสำเร็จด้วยเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากเปิดตัววง ปัจจุบัน Hey! Say! JUMP เหลือสมาชิก 9 คนและยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งเพลง รายการทีวีและละครทีวี


ภาพวง Nogizaka46 ในตอนที่คัดตัวรุ่นแรกเสร็จและประกาศตั้งเป็นวงครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2011....เป็นภาพจากหนังสารคดี Nogizaka46

ต่อมา ในปี 2011 ในขณะที่ AKB48 กำลังดังถึงขีดสุดและสร้างปรากฎการณ์ให้กับวง Idol โดยการคว้ารางวัล Japan Record Award ครั้งที่ 53 ที่ไม่เคยมีวง Idol เคยได้มาก่อนและลบคำสบประมาทของหลายๆ คนว่า "AKB48 ไม่มีวันได้รางวัลนี้หรอก" ในฤดูร้อนปีนั้นเองที่คลื่นลมลูกใหม่ได้ก่อตัวขึ้น โดย Sony ได้จับมือกับ Akimoto Yasushi (ก็โปรดิวเซอร์ของ AKB48 นั่นแหละครับ) สร้าง Idol วงใหม่ขึ้นมา บนแนวคิด "คู่แข่งอย่างเป็นทางการของ AKB48" แล้ว Nogizaka46 ก็ได้แจ้งเกิดในฤดูร้อนปีนั้น

Nogizaka46 ใข้รูปแบบของ AKB48 ผสมกับรูปแบบของ Morning Musume .....นับจากที่เริ่มเคลื่อนไหว Nogizaka46 ใช้เวลาราว 3 ปีในการไล่ตาม AKB48 และได้รับความนิยมสูงมากประกอบกับ AKB48 กำลังเป็นขาลงเพราะสมาชิกที่มีฐานแฟนๆ เยอะเริ่มทยอยออกจากวงทำให้ Nogizaka46 แซงหน้าขึ้นไปเป็น Idol อันดับหนึ่งแทนที่ AKB48 ในช่วงปีที่ 5

Nogizaka46 ดังและฮิตมากถึงขนาดสร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาก่อนไว้หลายอย่างจนพูดกันว่าเป็นเหมือนพายุที่พัดไปทั่วญี่ปุ่น และปัจจุบันแม้สมาชิกรุ่นแรกได้ออกจากวงไปหลายคนแล้วรวมถึงตัวท็อปของวงด้วยแต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเลย



Idol ห้ามมีแฟน

หลายคนคงจะคุ้นหูกับคำว่า Idol ห้ามมีแฟน ซึ่งก้มีทั้งคนที่โอเคและไม่โอเคกับจุดนี้ บางคนก็อ้างแนวคิดตะวันตกว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีแฟนได้ตามต้องการ การบังคับหรือห้ามเป้นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและทำให้ผู้หญิงหรือ Idol กลายเป็นวัตถุทางเพศ

ที่จริงแล้วการไม่ให้มีแฟนไม่ได้มีเฉพาะ Idol หรอกครับ คณะละครเพลงเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นซึ่งใช้ผู้หญิงล้วนอย่าง Takarazuka ก็ห้ามสมาชิกมีแฟนเหมือนกัน


ภาพการแสดง Takarazuka - Hanagumi จาก Official Youtube channel

แล้วทำไมถึงต้องห้ามมีแฟน เอาจริงๆ ก็คงไม่มีใครรู้คำตอบหรือเหตุผลจริงๆ หรอกครับ แต่ถ้าลองหาข้อมูลจากหลายๆ ด้านหลายมุมแล้วทำความเข้าใจดูก็พอจะเข้าใจได้เพราะมันมีเหตุผลจากจุดอื่นๆ ที่พอจะช่วยให้เราเห็นคำตอบได้ ซึ่งก็พบว่ามันมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้อยู่ว่าเป็นการทำเพื่อลดปัญหาต่างๆ อย่างความตั้งใจและลดปัจจัยที่ส่งผลกับงาน ผมเคยดูหนังเรื่อง Asahinagu จะมีตอนที่เก็บตัวฝึก มีแม่ชีที่เป็นครูฝึกพูดไว้ว่า "ผู้หญิงจะชอบวิ่งหนี จะใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ชายไม่ได้ ต้องเคี่ยวให้เข้มกว่า ไม่งั้นก็จะพัฒนาไม่ได้" เมื่อมันมีคำพูดแบบนี้อยู่ก็เป็นไปได้ว่าที่เขาห้ามไม่ให้มีแฟนก็เพื่อลดปัญหาเหล่านี้และให้สามารถเต็มที่กับงานหรือสิ่งที่ทำได้

สำหรับ Idol ก็น่าจะมาจากเหตุผลเดียวกันคือทำเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีแฟนที่อาจกระทบกับงานนั่นเองครับ เช่นลดปัญหาด้านอารมณ์ ลดปัญหาด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะจะออกสื่อหรือทำให้เกิดข่าวในด้านลบ ลดปัญหาการเกิดข่าวฉาว ลดปัญหาด้านการใส่ใจกับงานที่ทำ ซึ่งนี่น่าจะเป็นเหตุผลจริงๆ ที่ระบบการห้ามมีแฟนถูกเริ่มใช้ เมื่อมีระบบนี้ขึ้นมาก็ดูเหมือนว่ามันจะมีผลพลอยได้ด้านอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วย

บางคนก็ว่าการห้ามมีแฟนก็เพื่อให้อยู่ในสถานะไม่มีเจ้าของ ซึ่งก็เป็นไปได้ครับ เพราะ Idol จะต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนหมู่มากซึ่งการไม่มีเจ้าของจะทำให้ได้แฟนคลับมากลุ่มหนึ่งแน่นอน

ส่วนบางคนก็บอกว่าเพื่อขายความบริสุทธิ์ (virgin) ของผู้หญิง แต่ข้อนี้ส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่ามันจะเป็นประเด็นนี้มาตั้งแต่แรก เพราะลองพิจารณาจากคณะละคร Takarazuka ดู จะพบว่าแฟนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การจะเอาเรื่อง virgin ของผู้หญิงไปขายลูกค้าผู้หญิงมันคงไม่ใช่ ลองนึกกลับกันดูสิครับว่าการจะเอาเรื่องนี้ของวง Idol ชายไปขายผู้ชายมันคงไม่มีใครสนใจ แต่ในเมื่อมันมีการห้ามมีแฟนขึ้นมาผมก็ไม่เถียงเลยว่ามันต้องมีแฟนๆ กลุ่มหนึ่งแน่นอนที่สนใจจุดนี้


ภาพการแสดงเพลง Poison ของวง Secret ในรายการ Music Core

ส่วนที่มีคนพูดกันว่ามันเป็นการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ ผมกลับมองว่าการเอาดารานักร้องนักแสดงมาเต้นท่าสะบัดอวัยวะหรือแต่งตัวเซ็กซี่จนเกินงามแบบที่เป็นการขายเซ็กส์ในสื่อบันเทิง แบบนั้นยังดูเป็นวัตถุทางเพศมากกว่าระบบของ Idol อีกหลายเท่าครับ

เอาจริงๆ หลายครั้งก็ดูเหมือนว่าการห้ามมีแฟนจะไม่ได้ห้ามจนซีเรียสเพียงแต่อย่าให้ถูกถ่ายภาพแล้วเป็นข่าวก็พอ หรือถ้าเป็นข่าวขึ้นมาก็จะต้องชี้แจงเรื่องนั้นให้ได้ แต่ไม่ว่าข่าวจะเป็นจริงหรือไม่ถ้าเคลียร์ข่าวไม่ได้ก็ต้องมาว่ากันไปตามแต่ละกรณี

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ส่วนตัวแล้วผมมองว่า "ทุกที่มีกฏของมันเสมอ ถ้าจะก้าวเข้าไปก็ต้องยอมรับกฏกติกานั้นๆ" เหมือน่กับอีกหลายๆ ที่ที่มีข้อบังคับ อย่างการที่เราจะเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีกฏข้อบังคับต่างๆ การทำงานในบริษัทก็มีข้อบังคับ หรือหน่วยงานทางการเงินก็ห้ามคนในหน่วยเดียวกันคบหาเป็นแฟนกัน ในชาติตะวันตกเองก็มีข้อบังคับสำหรับการเข้าสถานที่ต่างๆ อย่างพิพิธภัณฑ์หรือร้านอาหารที่ต้องแต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานที่ของร้าน ไม่ใช่แค่มีตังค์แล้วจะเดินเข้าไปกินได้ โรงละครหรือโชว์ใหญ่ๆ ก็มีข้อบังคับเรื่องการแต่งตัว สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นกฏข้อบังคับอย่างหนึ่งที่ถ้าเราอยากจะเข้าไปก็ต้องยอมรับมัน ......Idol ก็เช่นกัน

แม้จะมีคนออกมาแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับจุดนี้ แต่ส่วนตัวแล้วผมเฉยๆ ครับ คือไม่ได้สนับสนุนแต่ก็ไม่ได้ค้าน ผมมองว่าทุกที่มีกฏของมันถ้ารับไม่ได้ก็อย่าเข้าไป ไม่ใช่ไปว่ากฏของเขาอย่างนั้นอย่างนี้ นอกจากว่ากฏนั้นจะไม่สามารถแสดงถึงประโยชน์หรือความสมเหตุสมผลของมันได้ แบบนั้นผมก็จะค้านครับ.....กรณีของ Idol ตัวคนที่อยากจะไปเป็น Idol เองก็น่าจะรู้เรื่องนี้อยู่ตั้งแต่ก่อนจะเข้าไปอยู่แล้ว และการเข้าไปก็เป็นการสมัครใจไม่ได้มีใครมาบังคับให้เข้าไปเป็น เพราะงั้นจึงหมายความว่าทุกคนจะต้องรู้และยอมรับกฏข้อบังคับนี้ก่อนจะเข้าไปอยู่แล้ว

ตัวผมเองรู้สึกต่อต้านเรื่องเซ็กส์ในสื่อบันเทิงมากกว่าการห้าม Idol มีแฟนซะอีกครับ อย่างที่ได้พูดถึงไว้ในเรื่อง "บันเทิงไม่ต้องเซ็กซี่ได้ไหม?" (คลิกหรือแตะที่ชื่อเรื่องเพื่อไปลิงค์ไปที่เรื่องนั้นไปเลยครับ) แบบนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าเขาเอาผู้หญิงมาเป็นวัตถุทางเพศซะมากกว่ารูปแบบของ Idol อีก



รู้จัก Idol

อย่างที่พูดถึงกันไปตั้งแต่ต้นว่า Idol ญี่ปุ่นมีมากมายหลายวงหลายคอนเซ็ปท์ แต่คนไทยอีกหลายๆ คนก็ยังไม่ได้รู้จัก จนถือเอาว่า AKB48 คือมาตรฐานของ Idol ญี่ปุ่น เพราะงั้นในส่วนสุดท้ายนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Idol ญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงทั้งหญิงและชายบางส่วนกันครับ


Onyanko Club


ภาพวง Onyanko Club แสดงเพลง Sailor-fuku wo Nugasanaide

Idol หญิงวงใหญ่วงแรกที่เกิดจากรายการทีวี Yuuyake Nyan Nyan และกลายเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายวงในยุคหลัง

Onyanko Club ตั้งวงในปี 1985 โดยมี Akimoto Yasushi เป็นโปรดิวเซอร์ สมาชิกของวงส่วนใหญ่เป็นวัย ม.ปลายกับมหาวิทยาลัย วงมีระบบการออดิชั่นคัดตัวสมาชิกเพิ่มเป็นรุ่นและมีการกำหนดหมายเลขประจำตัวให้กับสมาชิกวง มีการทำ Sub-Unit ในวง (จับเอาสมาชิกวงบางส่วนมาทำเป็นวงใหม่) มีระบบเด็กฝึกงาน (Kenshusei) มีสมาชิกรวมทั้งหมดตั้งแต่ตั้งจนถึงยุบวงราว 55 คน และราว 14 คนที่ยังทำงานในวงการบันเทิงญี่ปุ่นอยู่

สมาชิกของ Onyanko Club ที่มีความเกี่ยวข้องกับคนที่หลายคนน่าจะนึกออกคือ Kudo Shizuka ที่ปัจจุบันแต่งงานกับ Kimura Takuya (วง SMAP), Watanabe Marina พิธีกรร่วมในรายการ Gakkou e Ikou Max ร่วมกับวง V6, Yoshizawa Akie ที่แสดงเรื่อง Sukeban Deka (スケバン刑事) หรือสิงห์สาวนักสืบที่ฉายในไทยด้วย, Takai Mamiko ที่แต่งงานกับ Akimoto Yasushi โปรดิวเซอร์ของ Onyanko Club เองและของวง Idol ดังๆ ในปัจจุบันนี้ด้วย


ภาพจากคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ Onyanko Club เมื่อปี 1987

สไตล์เพลงของ Onyanko Club จะเป็นแนว Idol Pop ที่ไม่มีการเต้นประกอบเพลงอะไรมากมาย ใช้ไมค์ใส่ขาตั้งแล้วยืนร้อง อาจมีการทำท่าหรือเต้นประกอบแบบง่ายๆ เพลงที่ยังมีการพูดถึงและเอากลับมาแสดงซ้ำกันใหม่อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้สมาชิกกลับมารวมตัวกันใหม่ในรายการทีวีต่างๆ หรือเป็นการคอฟเวอร์โดยวงรุ่นใหม่ก็คือเพลง Sailor-fuku wo Nugasanaide (セーラー服を脱がさないで)

Onyanko Club ถือว่าเป็น Idol หญิงวงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมาก สามารถครองชาร์ทอันดับหนึ่งได้หลายเพลง แต่ก็อยู่ถึงแค่ปี 1987 แล้วก็ยุบวงไป



Morning Musume และวงในค่าย Hello Project


ภาพปก Blu-Ray คอนเสิร์ต 15-nin de Non Stop

Morning Musume เป็นวงที่เริ่มขึ้นในปี 1997 และมี Major Debut ในปี 1998 โดยมี Tsunku ซึ่งเป็นนักร้องนำของวงร็อค Sharan Q ผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์

มีการเริ่มต้นออดิชั่นสมาชิกรุ่นแรกผ่านรายการ ASAYAN ซึ่งเป็นรายการที่มีเรื่องเกี่ยวกับการออดิชั่นทั้งนางแบบ นายแบบ ศิลปิน Idol นักกีฬา และอื่นๆ รายการออกอากาศในปี 1995-2002 (ศิลปินที่เราคุ้นชื่ออย่าง Suzuki Ami, Chemistry ก็มาจากรายการนี้) และก็ได้สมาชิกรุ่นแรกออกมา 5 คน


ภาพจาก MV เพลง Morning Coffee, Daite - Hold on me, Love Machine

Tsunku ได้ต่อยอดความสำเร็จของ Onyanko Club โดย Morning Musume มีการใช้ระบบการออดิชั่นรับสมาชิกรุ่นใหม่เข้าวง จนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 13 คนในปี 2001 (รุ่น 5 เข้ามา) และสูงสุด 16 คนในปี 2003 (รวมรุ่น 6) ซึ่งสมาชิกใหม่ที่รับเข้ามาจะต้องถูกฝึกการร้องการเต้นก่อนจะเข้าประจำการ นอกจากนั้นยังมีอีเวนท์จับมือขอบคุณแฟนๆ และยังได้ใช้ประสบการณ์ของตัวเองที่เคยเป็นนักร้องมาก่อนเข้ามาผสมด้วย โดย Tsunku ใช้เพลงที่ร้องตามง่าย เต้นตามง่าย ทำให้ติดหูติดตาคนได้ง่ายและร้องตามเต้นตามได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กๆ ก็เอาไปเต้นตามได้ ทำให้ Morning Musume ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างมาก เรียกว่าเป็น Idol แห่งชาติเลยก็ได้ ในตอนนั้นถ้าพูดถึงวง Idol ที่งานเยอะที่สุดก็ต้องเป็น Morning Musume นี่แหละ


ภาพการฝึกของรุ่น 5, รุ่น 6 ออกอากาศทาง Musix และ Hello Morning

Akimoto Yasushi เองก็เคยพูดถึง Tsunku ไว้ว่า เป็นคนที่เก่ง ด้วยความที่เป็นนักร้องเองมาก่อนด้วยเลยรู้ว่าเมื่อต้องแสดงบนเวทีจริงมันจะเป็นยังไงและใช้มุมมองจากประสบการณ์ตรงนั้นเข้ามาประกอบ เพลงของ Morning Musume เป็นเพลงที่ฟังได้ง่ายๆ ติดหูง่าย ร้องตามง่าย ท่าเต้นในยุคแรกที่แม้จะดูเห่ยๆ ง่อยๆ แต่ก็เต้นตามได้ง่ายทำให้มันเข้าถึงคนได้ทุกวัย นั่นทำให้ Morning Musume ฮิตจนเป็นอันดับหนึ่งได้

เพลงของ Morning Musume จะมีลักษณะเป็นเพลง Pop ที่ฟังติดหูง่าย ร้องตามง่าย เต้นตามง่าย แต่เพลงในยุคหลังก็ไม่ได้ง่ายแบบยุคแรกอีกแล้ว ช่วงที่เข้ายุคปี 2000 มาเพลงของ Morning Musume ก็เริ่มมีการร้องการเต้นการแสดงที่มากขึ้น กระแทกกระทั้นมากขึ้น

จากความสำเร็จของ Morning Musume ทาง Hello Project เริ่มมีการรับเด็กตั้งแต่วัยประถมเพื่อฝึกให้พร้อมที่จะเป็นวงใหม่ได้ เด็กฝึกหัดพวกนี้ถูกคัดตัวเข้าสังกัดในฐานะของ Hello Project Kids และ Hello Project Egg ซึ่งหลังจากผ่านการฝึกอยู่หลายปีเด็กฝึกพวกนี้ก็ได้กลายเป็นสมาชิกวงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของ Morning Musume


วง Berryz Koubou, C-ute, Tsubaki Factory, Angerme

ความสำเร็จนี้ยังทำให้เกิด Idol แบบวงใหญ่ (หรืออาจไม่ใหญ่มากแต่ก็มีสมาชิกหลายคน) อีกหลายวงตามมา ทั้งในค่าย Hello Project เอง อย่าง Berryz Koubou, C-ute, Juice=Juice, ANGERME เป็นต้น และนอกค่ายก็อย่าง Bishojo Club21 (ภายหลังเปลี่ยนเป็น 31), Idoling!!! เป็นต้น แม้แต่สมาชิกวง AKB48 อย่าง Kashiwagi Yuki กับ Watanabe Mayu ก็เคยชอบ Morning Musume กับ Hello Poject มาก่อนที่จะไปออดิชั่น AKB48 เหมือนกัน


ภาพงานกีฬา Hello Project Sport Festival, ถ่ายรูปกับแฟนๆ, แฟนคลับทัวร์ที่ฮาวาย

นอกจากเกิดวงอื่นๆ แล้ว ความสำเร็จอย่างมากนี้ยังทำให้เกิดกิจกรรมใหญ่ต่างๆ อีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น Hello Project Sport Festival ที่เป็นการเอาสมาชิกในค่ายมาแข่งกีฬากันเหมือนงานกีฬาสีหรือ Morning Musume Fanclub Tour ที่เป็นการไปเที่ยวฮาวายร่วมกับวง Morning Musume แล้วได้ถ่ายรูปร่วมกับวงด้วย

ปัจจุบัน (เมื่อวันที่ผมเขียนเรื่องนี้) Morning Musume มีสมาชิกถึงรุ่น 15 รวม 14 คน วงยังอยู่ในวงการบันเทิงญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จัก เพียงแต่ไม่ใช่อันดับหนึ่งอย่างเมื่อก่อนแล้ว มีการเรียกรวมตัวสมาชิกเก่าที่ออกไปแล้วกลับมาแสดงในรายการทีวีเป็นครั้งคราว



AKB48 และวงในกลุ่ม 48


ภาพจาก MV เพลง Flying Get, แสดง studio live เพลง Labrador Retriever

Akimoto Yasushi ได้เกิดไอเดียใหม่ที่จะสร้างวง Idol ที่ให้คนไปพบได้โดยไม่ต้องรออีเวนท์ต่างๆ หรือคอนเสิร์ต ซึ่งในปี 2005 วง AKB48 ก็ได้ถูกตั้งขึ้น

โปรดิวเซอร์ Akimoto ได้ใช้แนวทางที่ Morning Musume เคยใช้ เช่นการทำเพลงให้ร้องตามง่าย เต้นตามง่าย เพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย สังเกตุได้ว่าท่าเต้นและการแสดงของ AKB48 จะไม่ยากมากนัก และผสมกับระบบเดิมของ Onyanko Club มีการออดิชั่นรับสมาชิกเพิ่มเป็นรุ่น แล้วเพิ่มเรื่องการให้ไปพบได้จึงต้องมีเธียเตอร์ไว้ให้แสดง เพราะเปิดแสดงเกือบทุกวันเลยต้องมีการแบ่งทีมเพื่อให้สมาชิกสลับกันมาแสดงได้ เพิ่มระบบ Senbatsu เข้ามาสำหรับการทำเพลงในแต่ละเพลง และเมื่อวงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นก็มีอีเวนท์จับมือที่ยกระดับกลายเป็นงานจับมือ กิจกรรมถ่ายรูปกับแฟนๆ ก็กลายมาเป็นงาน 2 shot ภายหลังเมื่อมีแฟนๆ เสนอแนวทางต่างๆ ขึ้นมาก็เลยเกิดงาน Senbatsu Sosenkyo หรือที่รู้จักกันในชื่องานเลือกตั้ง งานเป่ายิงฉุบหรือ Janken Taikai รวมถึงงานกีฬาสีที่ Hello Project เคยทำก็ถูกเอามาใช้กับ AKB48 ด้วย


ภาพจาก studio live เพลง Kimi ha Melody

สิ่งที่ AKB48 แตกต่างไปจาก Morning Musume และวงของ Hello Project คือสมาชิกวงของ AKB48 ดูเหมือนว่าจะแทบไม่ได้ผ่านการฝึกมาก่อนเลย คือออดิชั่นมาเสร็จก็ส่งเข้าประจำการทั้งอย่างนั้นแล้วให้เรียนรู้เอาจากรุ่นพี่และการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จริงผมคิดว่าคงจะมีการฝึกปรับพืนฐานมาด้วยแหละครับเพียงแต่อาจไม่ได้เข้มข้นเท่าวงตัวท็อปอื่นๆ

AKB48 ใช้อิมเมจของ Akihabara เพราะเธียเตอร์ตั้งอยู่ที่นั่น คอนเซ็ปท์เป็นแบบขายความสดใส ความพยายามและการพัฒนา เน้นที่รอยยิ้ม คือดูเป็น Idol แบบสุดๆ แถมยังมีแฟนเซอร์วิสด้วย รูปแบบเพลงเป็น Idol Pop เต็มรูปแบบเน้นการร้องตามง่าย เต้นตามง่าย ซึ่งก็ทำให้ AKB48 ได้รับความนิยมอย่างมาก และขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแทนที่ Morning Musume ไปในที่สุด


วงในกลุ่ม 48 ....SKE48, NMB48, HKT48, NGT48

ในช่วงที่ AKB48 กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีการตั้งวงใหม่ในเครือของวงกลุ่ม 48 ขึ้นมา ตามเมืองต่างๆ เช่น SKE48 NMB48 HKT48 เป็นต้น ซึ่งรู้จักในชื่อเรียกว่าวงน้องสาวหรือ Shimai Group ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแส Local Idol ขึ้นมา ทุกจังหวัดในญี่ปุ่นมี Idol ประจำจังหวัดครบทั้ง 47 จังหวัด เพียงแต่ยังไม่ใช่ Major Idol ทั้งหมด

ความดังของ AKB48 ทำให้มีหนังสารคดีเกี่ยวกับวงออกมาหลายชุด และยังทำให้ถูกเอาไปสร้างเป็นอนิเมเรื่อง AKB0048 และเกม AKB1/48: Idol to Koishitara อีกด้วย

ปี 2011 วง AKB48 สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวง Idol หญิงวงใหญ่ด้วยการคว้ารางวัล Japan Record Award ครั้งที่ 53 จากเพลง Flying Get ซึ่งเป็นรางวัลที่ Morning Musume ที่เคยดังสุดขีดก็ไม่เคยได้ ทำให้ AKB48 ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปมากขึ้น จนกลายเป็น Idol แห่งชาติไป และจากการที่มีการจัดคอนเสิร์ตที่มีผู้ชมมากถึง 70,000 คน จึงถือว่า AKB48 ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกวงหนึ่ง


วงในกลุ่ม 48 ที่ตั้งขึ้นนอกประเทศญี่ปุ่น...BNK48, JKT48, MNL48, SGO48

จากความสำเร็จนี้ของ AKB48 ทำให้เกิดวงในกลุ่ม 48 ขึ้นมาอีกหลายวงในต่างประเทศ เช่น JKT48 MNL48 SGO48 และที่คนไทยรู้จักดีที่สุดคือ BNK48 ของไทยเรานี่เอง ซึ่งวงในกลุ่ม 48 ทั้งในและนอกประเทศจะได้เข้าร่วมงานใหญ่ๆ ของวงในกลุ่ม 48 ด้วย เช่น World Senbatsu Election (หรือ Sekai Senbatsu Sosenkyo)

ปัจจุบัน (เมื่อวันที่ผมเขียนเรื่องนี้) AKB48 มีสมาชิกวงกว่า 100 คน และหยุดการเปิดออดิชั่นรับสมาชิกใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็มีการดึงตัวสมาชิกจากวงอื่นๆ ในเครือ 48 ด้วยกันมาร่วมงานในลักษณะการทำงาน 2 วง รวมถึงในกลุ่มวง 48 ก็มีการส่งคนไปร่วมงานกับทางเกาหลีด้วยคือ IZ*ONE



Nogizaka46 และวงในกลุ่ม 46


ภาพการแสดง studio live เพลง Influencer และ MV เพลง Synchronicity

ความสำเร็จของ AKB48 ไม่ได้ทำให้เกิดแค่วงอื่นๆ ในเครือของกลุ่ม 48 เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดวงฝั่งตรงข้ามที่เรียกว่าเป็น "คู่แข่งอย่างเป็นทางการ" ขึ้นมาอีกด้วย เมื่อ Sony จับมือกับโปรดิวเซอร์อย่าง Akimoto Yasushi จึงเป็นที่มาของ Nogizaka46

ปี 2011 ในขณะที่ AKB48 ได้รับรางวัล Japan Record Award ตอนปลายปี ฤดูร้อนปีนั้นเองที่ Nogizaka46 ได้ตั้งวงขึ้นมา การออดิชั่นทั่วประเทศมีคนสมัคร 38,934 คน และได้ Nogizaka46 รุ่นแรกมา 36 คน หลังประกาศผลก็มีคนขอถอนตัวออกไป 2 คนเหลือ 34 คน ชื่อของ Nogizaka46 มาจากสถานที่ออดิชั่นรอบสุดท้ายที่ตึก SME Nogizaka ส่วนเลข 46 ถูกเลือกใช้เพื่อบอกว่าจะใช้คนน้อยกว่าแต่จะไม่แพ้ AKB48

Nogizaka46 เริ่มมีความเคลื่อนไหวทำกิจกรรมใน 2 เดือนหลังจากออดิชั่นเสร็จ และปล่อยเพลงแรกออกมาในปี 2012 แนวเพลงในช่วงแรกจะมีความเป็น Idol Pop สูงมาก เรียกว่าแนวคล้ายๆ AKB48 แต่ตั้งแต่ซิงเกิ้ลที่ 4 ก็เริ่มเปลี่ยนแนวเป็นรูปแบบของตัวเอง คือแทบจะเรียกว่าตรงข้ามกับ AKB48 ทั้งหมด เพลงมีความเป็น Idol Pop น้อยลง ค่อนข้างจะเหมือนเพลง Pop ปกติมากว่า มีการเล่นเสียงที่ซับซ้อนกว่า ไม่ได้ร้องตามได้ง่ายและท่าเต้นไม่ได้เต้นตามได้ง่ายอย่าง AKB48 รวมถึงเนื้อหาเพลงที่ดูจะหลากหลายกว่า เพราะแต่งขึ้นมาตามลักษณะของเซ็นเตอร์แต่ละคน ทำให้มีหลายเพลงที่จะแสดงโดยไม่ยิ้ม


ภาพจาก MV เพลงซิงเกิ้ลที่ 4 ...Seifuku no Mannequin

ในฐานะที่เป็นคู่แข่งอย่างเป็นทางการ Nogizaka46 ใช้พื้นฐานของ AKB48 ที่เป็นรูปแบบใหม่ผสมเข้ากับรูปแบบดั้งเดิมอย่าง Morning Musume โดยมีการออดิชั่นคัดตัวสมาชิกใหม่เป็นรุ่น มีการใช้ระบบ Senbatsu มีงานจับมือใหญ่ มีการสร้าง Sub-Unit ภายในวง แต่ไม่มีเธียเตอร์ ไม่มีการแบ่งทีม และไม่มีอีเวนท์อื่นๆ อย่าง AKB48 เลย เป็น Idol ที่ไปเจอไม่ได้

Nogizaka46 จะมีงานใหญ่ๆ อยู่ 2 งานต่อปี คือ Birthday Live ที่จะจัดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และ Summer Tour ทั่วประเทศที่จะเดินสายแสดง 5 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศคือ Aichi Fukuoka Osaka Miyagi และ Tokyo

อิมเมจของ Nogizaka46 ก็จะเป็นแบบ รูปร่าง หน้าตาดี บุคลิกนิ่งๆ ดูเรียบร้อย ดูออกแนวเรียบหรูอยู่สักหน่อย ในขณะที่ AKB48 ขายความพยายาม ขายการพัฒนา ขายรอยยิ้ม แต่ Nogizaka46 เรียกได้ว่าอยู่คนละขั้วกันเลยคือ ทาง Nogizaka46 จะใช้คนแบบ Introvert มากกว่า เรียกว่าฉีกกฏ Idol ของทุกสำนัก สมาชิกส่วนใหญ่จะมีจริตของ Idol น้อยกว่า บุคลิกนิ่งกว่า พูดค่อยๆ ไม่โหวกเหวกโวยวายเท่า AKB48 แต่ยังมีความเป็นธรรมชาติไม่ได้นิ่งแบบมารยาทอย่างเป็นทางการ ในการแสดงจะมีหลายเพลงที่ยิ้มน้อยกว่า หน้าจะนิ่งมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ยิ้มเลย ชุดของวงก็ใช้กระโปรงยาวราวปลายนิ้วมือ ประมาณเข่า และคลุมเข่า ไม่ได้ใช้สั้นอย่าง AKB48 ภาพลักษณ์ต่างๆ ของ Nogizaka46 ที่เป็นแบบนี้ทำให้มีแฟนๆ บางกลุ่มบอกว่า Nogizaka46 เหมือนเด็กโรงเรียนเอกชน ส่วน AKB48 เหมือนเด็กโรงเรียนรัฐบาล


ภาพการแสดง studio live เพลง Seifuku no Mannequin

Nogizaka46 ผสมรูปแบบของ AKB48 กับแบบของ Morning Musume เข้าด้วยกัน โดยเอาข้อดีของ 2 แบบมาผสมกันและลดข้อด้อยของทั้ง 2 รูปแบบ ทำให้ Nogizaka46 มี Under เป็นตัวสำรองสำหรับกรณีที่ต้องมีคนแทนกัน แต่การเลือก Senbatsu ทีมงานจะเป็นคนกำหนดโดยพิจารณาความเหมาะสมจากหลายๆ อย่าง ไม่ได้ใช้การโหวตคะแนนนิยมทำให้การแข่งขันภายในน้อยกว่าฝั่ง 48 สมาชิกใหม่ที่เข้าวงไปจะถูกฝึกทั้งการร้องและการเต้นจนสามารถแสดงร่วมกับรุ่นพี่ได้ก่อนถึงจะปล่อยเข้าประจำการ และสมาชิกรุ่นใหม่ที่เข้าวงจะต้องถูกสอนท่าเต้นของเพลงเก่าๆ ทั้งหมดด้วยทำให้เมื่อสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาแทนคนเก่าที่ออกไปก็จะยังแสดงเพลงเดิมได้อยู่ ซึ่งจุดนี้ Morning Musume เคยเจอปัญหาเด็กรุ่นหลังเต้นเพลงเก่าบางเพลงไม่ได้จนต้องตัดการเต้นออกไปมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีการดันสมาชิกเด็กรุ่นใหม่อยู่ด้วยเสมอตั้งแต่สมาชิกเดิมยังอยู่เพื่อให้มีฐานแฟนๆ ก่อนที่ตัวท็อปรุ่นพี่จะออกจากวงไป ทำให้มีเด็กรุ่นใหม่ที่มีฐานแฟนๆ ขึ้นมาแทนที่สมาชิกที่ออกไปได้ ซึ่งก็เป็นการลดปัญหาแฟนๆ หายตามสมาชิกที่ออกจากวงไป


ภาพการฝึกการร้องการเต้นจากหนังสารคดี Nogizaka46

ที่ต่างไปจาก AKB48 คือ สมาชิกของ Nogizaka46 รุ่นแรกจะถูกฝึกพื้นฐานต่างๆ ทั้งการร้องการเต้นอย่างเข้มข้นมาก่อนที่จะเริ่ม debut ซึ่งกินเวลาราว 5 เดือน และให้เรียนรู้ส่วนที่เหลือในระหว่างทำกิจกรรมในช่วงปีแรก (ประมาณ 3 ซิงเกิ้ลแรก) ส่วนในรุุ่นต่อมาสมาชิกที่รับเข้ามาใหม่จะถูกฝึกการร้องการเต้นจนสามารถแสดงร่วมกับรุ่นพี่ได้ก่อนจึงจะบรรจุเข้าประจำการเป็นรุ่นที่ 2 3 4 เต็มตัว ซึ่งแต่ละคนก็ใช้เวลาไม่เท่ากันบางคนใช้เวลา 6 เดือน บางคนกินเวลาถึงราว 2 ปี

สมาชิก Nogizaka46 หลายคนก็ชอบ Idol วงอื่นมาก่อน ทั้งกลุ่ม 48 และ Hello Project บางคนเคยออดิชั่นกับทาง 48 มาก่อนด้วยแต่ไม่ได้ (คงเพราะเป็นคนแบบ Introvert) แต่กลับมาได้ที่ Nogizaka46


ภาพจาก MV เพลง Inochi ha Utsukushii (2015) และ Sayonara no Imi (2016)

เสียงตอบรับอย่างดีจากแฟนๆ ทำให้ Nogizaka46 ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไล่จี้ท้าย AKB48 ในช่วงปี 2014 และแซงหน้า AKB48 จนขึ้นเป็น Idol อันดับ 1 ได้ในช่วงปี 2016 ซึ่งก็เรียกว่าได้กลายเป็น Idol แห่งชาติไปแล้ว

นอกจากงานเพลงแล้ว Nogizaka46 ยังมีงานในสายละครเวทีซึ่งมักไม่ค่อยมี Idol ได้รับเลือก งานในสายนางแบบแฟชั่นซึ่งทำให้มีแฟนๆ ตามมาจากทางนั้นอีกด้วย

Nogizaka46 ฮิตมากดังมากและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นหลายอย่างจนถูกพูดถึงว่าเป็นพายุที่พัดไปทั่วญี่ปุ่น ทั้งการคว้ารางวัล Japan Record Award ครั้งที่ 59 และ 60 แบบ 2 ปีซ้อน จากเพลง Influencer และ Synchronicity ทั้งคอนเสิร์ตที่ Tokyo Dome ในปี 2017 บัตร 50,000 ที่นั่ง 2 วันขายหมดใน 2 นาที แล้วในปี 2018 คอนเสิร์ต Summer Tour ที่โตเกียว จัดที่สนามกีฬา Meiji Jingu และ Chichibunomiya พร้อมกัน 2 สนาม ทั้งยอดขาย Photobook ของสมาชิกวงที่มีการพิมพ์ซ้ำถึง 18 ครั้ง ทำลายสถิติในรอบ 108 ปีของทางสำนักพิมพ์ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังถดถอย Photobook ของสมาชิก Nogizaka46 กวาดอันดับในชาร์ทไปถึง 6 ใน 10 อันดับ แน่นอนว่าอันดับ 1 ก็ด้วย


ภาพมุมสูงการแสดง Birthday Live ปีที่ 6 ที่สนามกีฬา Meiji Jingu กับ Chichibunomiya พร้อมกัน 2 สนาม

ความแรงของ Nogizaka46 ยังเห็นได้จากการจัดอันดับต่างๆ เช่น วง Idol ที่มีคนหน้าตาดีเยอะที่สุด, คนที่สาวๆ อยากมีหน้าตาเหมือนแบบนั้นมากที่สุด, ยอดขาย Photobook, Idol ยอดนิยม ที่ Nogizaka46 เข้าไปยึดครองอันดับ 1 อยู่ทั้งหมด

ความสำเร็จของ Nogizaka46 ยังทำให้มีหนังสารคดีเกี่ยวกับวงออกมาแล้ว 2 ชุด และยังถูกสร้างเป็นเกม Nogi Koi ด้วย

แม้แต่สมาชิกของ AKB48 เองก็มีหลายคนที่เป็นแฟน Nogizaka46 มีหลายคนที่เปิดดู MV ฟังเพลง ร้องตาม เต้นตามเพลงของ Nogizaka46 ในห้องพัก


ภาพการแสดง Under Live จาก MV เพลง Under

Under ของ Nogizaka46 จากที่เคยเป็นเหมือนตัวสำรอง แต่ด้วยความดังอย่างรุนแรงของวง ทำให้ Under กลายเป็นเหมือนวงชุดเล็กมากกว่าตัวสำรอง ใน Under Live (คอนเสิร์ตที่มีแต่สมาชิก Under ล้วนๆ และเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงรองหรือไม่ก็เพลงของ Under มีเพลงหลักบ้างแต่ก็ไม่มาก) มีผู้ชมสูงสุดรอบละ 15,000 คนทีเดียว และมีทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศด้วย


ภาพวง Keyakizaka46 จากการแสดง studio live เพลง Ambivalent กับ MV เพลง Kaze ni Fukarete mo และ Hinatazaka46 จากการแสดง studio live เพลง Doremisolatido กับ MV เพลง Kyun

จากความสำเร็จอย่างมากของ Nogizaka46 ทำให้เกิดวงในกลุ่ม 46 วงอื่นตามออกมาอย่าง Keyakizaka46 ซึ่งสมาชิกถูกฝึกมาในรูปแบบพื้นฐานเดียวกันกับวงรุ่นพี่ แต่มีความกระแทกมากกว่า อิมเมจจะดูดุๆ มากกว่า และในปี 2019 Under ของ Keyakizaka46 ที่เรียกกันว่า Hiragana Keyaki (ชื่อ Keyakizaka46 ที่เขียนด้วยตัวฮิรางานะ ในขณะที่วงจริงจะเขียนด้วยคันจิ) ได้ประกาศแยกตัวออกจากวงหลัก และกลายเป็นวง Hinatazaka46 ซึ่งมีอิมเมจที่ดูสดใสเป็น Idol มากที่สุดในกลุ่ม 46 อย่างไรก็ตาม Hinatazaka46 ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Keyakizaka46 มาก่อนพื้นฐานต่างๆ จึงเป็นแบบเดียวกัน วงในกลุ่ม 46 นี้เรียกอีกอย่างว่า Sakamichi Series ซึ่งเด็กๆ ที่มาออดิชั่นวง Keyakizaka46 ก็เป็นแฟน Nogizaka46 มาก่อน

ปัจจุบัน (ตอนที่เขียน) Nogizaka46 มีสมาชิก 4 รุ่นรวมทั้งหมด 46 คนตามชื่อวงพอดี ถือได้ว่าเป็นวง Idol ที่งานเยอะที่สุด ทำเงินสูงสุดและเป็นตัวแทนของ Idol ยุคเรวะร่วมกับ AKB48 และยังได้มีการไปแสดงในต่างประเทศอย่าง ใต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงค์โปร์มาแล้ว แต่ไม่มีการตั้งวงน้องในต่างประเทศอย่างทางฝั่ง 48



นอกจากนี้ยังมีวงจาก Hello Project ที่ยังไม่ได้พูดถึงไปอย่าง Tsubaki Factory, BEYOOOOONDS และค่ายอื่นๆ เช่น Momoiro Clover Z, Shiritsu Ebisu Chugaku, Sakura Gakuin, Baby Metal เป็นต้น ซึ่งก็ยังมีที่นอกเหนือไปจากนี้อีกมากมายครับ ลองศึกษาแล้วเปิดดูครับ มันมีอะไรอีกมาก ผมก็ไม่ใช่ขาประจำ Idol ขนาดนั้นเลยไม่ได้รู้มากขนาดนั้น

ทีนี้เรารู้จัก Idol หญิงกันไปแล้ว มารู้จัก Idol ชายกันบ้างครับ ฝั่งผู้ชายจะมาจากค่าย Johnny's ซะราว 80% ได้เลยล่ะครับ โดยเฉพาะวงที่ดังก็มักจะเป็นของ Johnny's เป็นส่วนใหญ่ ก็สำหรับ Idol ชายมีหลายวงที่คิดว่าไม่พูดถึงคงไม่ได้ ประกอบกับวงผู้ชายมีรายละเอียดไม่มาก ไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อนเท่าวงผู้หญิงเพราะงั้นจะเล่าแบบสั้นหน่อยละกันนะครับ


Hikaru GENJI



เมื่อพูดถึงวงฝ่ายหญิงอย่าง Onyanko Club ไปแล้วก็คงจะไม่พูดถึงวงฝ่ายชายอย่าง Hikaru GENJI ก็คงจะไม่ได้ เพราะเป็นวง Idol ชายที่มีสมาชิกเยอะเกิน 5 คนที่ประสบความสำเร็จเป็นวงแรกเหมือนกัน และยังต้องเรียกว่าเป็นสุดยอด Idol ชายที่เป็นตำนานเลยด้วย

Hikaru GENJI ตั้งวงในปี 1987 ปีเดียวกับที่ Onyanko Club ยุบวงพอดี ซึ่งตอนแรกเป็นวง GENJI มีสมาชิก 5 คน เป็นวงในสังกัดค่าย Johnny's ภายหลังมีการรวมเข้ากับวง Hikaru ที่มีสามชิก 2 คนจึงกลายเป็น 7 คนและใช้ชื่อ Hikaru GENJI

Hikaru GENJI สร้างความโดดเด่นแปลกใหม่ด้วยการออกมาแสดงโดยใส่รองเท้าสเก็ต มีการแสดงตีลังกาหลังและผาดโผนอื่นๆ ซึงทำให้วงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกลายเป็นวงที่ดังระเบิด สิ่งนี้ยังกลายเป็นมาตรฐานให้กับเด็กของ Johnny's รุ่นหลังอีกด้วย เห็นได้จากเด็กๆ Johnny's Jr. จะมีการแสดงแบบเดียวกันนี้ในคอนเสิร์ต



ในปี 1988 วง Hikaru GENJI ได้รับรางวัล Japan Record Award ครั้งที่ 30 จากเพลง Paradise Ginga และในปีนั้นเพลงของ Hikaru GENJI ก็ติดชาร์ทในอันดับ Top 3 ตลอด ยอดขายอัลบั้มก็ติด Top 10 ด้วย

Hikaru GENJI ยุบวงไปในปี 1995 แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นยังได้รับการยอมรับจากเด็กรุ่นหลังที่รู้จักอยู่ และยังมีเพลงที่ถูกเอากลับมาร้องอยู่ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหูคือเพลง Yuuki 100% (勇気100%) ที่ใช้ประกอบอนิเมเรื่อง "นินจารันทาโร่" เพลงนี้ได้ถูกทำเป็นเวอร์ชั่นใหม่โดยวงรุ่นหลังของ Johnny's เองอีกด้วย

ปัจจุบันสมาชิกของ Hikaru GENJI บางคนยังทำงานอยู่กับค่าย Johnny's และอีกหลายคนก็แยกย้ายกันไปอยู่สังกัดอื่นๆ ซึ่งก็ยังอยู่ในวงการบันเทิงกัน



SMAP


ภาพตอนที่ร้องเพลง Sekai ni Hitotsudake no Hana จากรายการ SMAPxSMAP ตอนสุดท้าย

เป็นอีกวงหนึ่งที่ดูจะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ วง SMAP ที่เชื่อว่าหลายๆ คนต้องรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อมาบ้าง

SMAP ตั้งวงเมื่อปี 1988 โดยคัดเอาสมาชิก 6 คน จากเด็กที่ใส่สเก็ตและเต้นประกอบให้กับ Hikaru GENJI มาฟอร์มทีมเป็นวงใหม่นี้ขึ้นมา แล้วก็ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาต่อมา แต่ก็มีสมาชิกคนหนึ่งออกจากวงไป ทำให้เหลือแค่ 5 คนอย่างที่หลายๆ คนคุ้นตากัน โดยเราจะพบเห็นสมาชิกของ SMAP ได้ทั้งเป็นพิธีกรตามรายการทีวีและงานแสดงละคร และยังมีรายการทีวีของตัวเองอีกด้วยคือ SMAPxSMAP

เพลง Sekai ni Hitotsudake no Hana (世界に一つだけの花 ) เป็นเพลงดังของ SMAP ที่ดังมากจนคนญี่ปุ่นทั่วไปรู้จักและยังมีการเอากลับมาร้องกันอยู่

สมาชิกของ SMAP อีกคนที่หลายคนน่าจะคุ้นชื่อคือ Kimura Takuya (คนที่แต่งงานกับ Kudo Shizuka สมาชิกวง Onyanko Club)

วง SMAP ได้ยุบวงไปเมื่อปี 2016 และรายการทีวี SMAPxSMAP ก็ได้เลิกไปด้วยในปีเดียวกัน หลังยุบวงสมาชิกของ SMAP ได้ทำงานเดี่ยวต่อไป

ปัจจุบัน (ที่ผมเขียนเรื่องนี้) อดีตสมาชิกวง SMAP อย่าง Inagaki, Kusanagi, Katori ได้ย้ายออกจากค่าย Johnny's ไปแล้ว และ Nakai ก็ได้ตั้งบริษัทเอเจนซี่ของตัวเอง



V6


ภาพจากการแสดงเพลง Good Day ในรายการ Music Station

V6 เป็นวง Idol ชายที่ได้รับความนิยมสูงมากอีกวงหนึ่ง ตั้งวงเมื่อปี 1995 มีสมาชิก 6 คนเป็นอดีตเด็ก Johnny's Jr. ชื่อของ V6 คือ V จากคำว่า Victory และ 6 คือสมาชิก 6 คน

ลักษณะเพลงของ V6 ช่วงแรกจะเป็นแนว Euro beat แต่ระยะหลังก็เปลี่ยนเป็น Pop ธรรมดามากขึ้น เพลงของ V6 ที่น่าจะคุ้นหูหลายๆ คนก็คือ Change the world ที่ใช้ประกอบอนิเมเรื่อง "อินุยาฉะ"

วงได้รับความนิยมมากจนในปี 1997 ก็ได้มีรายการทีวีของตัวเองซึ่งคิดว่าหลายคนน่าจะรู้จักคือ Gakkou e Ikou! และเปลี่ยนเป็น Gakkou e ikou! MAX ในภายหลัง ซึ่งรายการนี้เลิกไปในปี 2008 รวมเวลาที่ทำรายการทั้งหมด 11 ปี

V6 ยังปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ มากมายทั้งหนัง ละคร หนังสือต่างๆ ปัจจุบันวง V6 ยังมีกิจกรรมต่างๆ อย่างรายการทีวี งานเพลงและงานแสดงอยู่ แม้ว่าอาจไม่ได้รับความนิยมมากเท่าเมื่อก่อน



Arashi


ภาพจาก MV เพลง Happiness ของวง Arashi

วง Arashi เป็นวง Idol ชาย 5 คน จากค่าย Johnny's ตั้งวงเมื่อปี 1999 โดยสมาชิกทั้ง 5 คนก็เป็นอดีตเด็ก Johnny's Jr.

ความสำเร็จของวง Arashi เป็นเหมือนพายุที่พัดไปทั่วญี่ปุ่น เหมือนกับชื่อวงที่แปลว่า "พายุ" วง Arashi มีผลงานมากมายทั้งงานเพลง งานแสดงหนัง แสดงละคร รายการทีวีอย่าง Arashi ni Shiyagare, VS Arashi เป็นต้น และยังตีตลาดเอเซียได้จนได้ไปแสดงต่างประเทศในเอเซียหลายครั้ง ได้รับรางวัล Gold Disc Award อีกหลายครั้ง

ปัจจุบัน (ในตอนที่ผมเขียน) วง Arashi ได้ประกาศยุบวงแล้วและจะทำกิจกรรมในฐานะวง Arashi ไปจนถึงสิ้นปี 2020



Hey! Say! JUMP


ภาพจากการแสดงเพลง Lucky-Unlucky ในรายการ CDTV

อีกหนึ่งวง Idol ชายจากค่าย Johnny's ที่ตั้งวงในปี 2007 มีสมาชิก 10 คนโดยสมาชิกทั้งหมดเกิดในยุคเฮเซ (ยุคเฮเซเริ่มตั้งแต่ปี 1989 จนถึง 2018) ทั้งหมด ถือเป็นวงที่มีสมาชิกเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ค่าย Johnny's

สมาชิกวง Hey! Say! JUMP ลดเหลือ 9 คนในภายหลังเนื่องจาก Morimoto Ryutaro ถูกถอดออกจากวงด้วยคดีสูบบุหรี่ทั้งที่อายุไม่ถึง

Hey! Say! JUMP ประสบความสำเร็จอย่างมากตั้งแต่ต้น ยอดขายเพลงเปิดตัวติดอันดับ 1 Oricon ชาร์ท และ 2 เดือนหลังเปิดตัวก็ได้ไปแสดงที่ Tokyo Dome ซึ่งเป็นวงผู้ชายที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้ไปแสดงที่ Tokyo Dome โดยสมาชิกวงตอนนั้นมีอายุเฉลี่ย 15 ปี


ภาพจากข่าวบันเทิงตอนที่แสดงที่ Tokyo Dome เมื่อปี 2009

ปี 2017 วง Hey! Say! JUMP ได้ไปแสดงที่ Tokyo Dome อีก และเป็นการแสดง 2 รอบใน 1 วันที่ Tokyo Dome เป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน Hey! Say! JUMP ยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง สมาชิกวงมีผลงานแสดงหนังและละครมากมาย เช่น Yamada Ryosuke ที่แสดงเรื่อง Kindaichi Shonen no Jikenbo, Momikeshite Fuyu และ Chinen Yuri ที่แสดงเรื่อง Atama ni Kitemo Aho to Tatakauna! เป็นต้น และยังมีรายการทีวีอย่าง Itadaki High Jump และ School Kakumei (มีแค่ Yamada Ryosuke, Chinen Yuri, Yaotome Hikaru ที่ประจำรายการนี้)



King & Prince


ภาพจาก MV เพลง Cinderella Girl

วงน้องใหม่จากค่าย Johnny's ตั้งวงเมื่อปี 2015 เป็น Idol ชายวงสุดท้ายที่ Johnny Kitagawa เป็นคนสร้างขึ้น มีสมาชิก 6 คนซึ่งมาจาก Johnny's Jr.

King & Prince เป็นอีกวงที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ ผลงานเพลงสามารถขึ้นอันดับ 1 Oricon ชาร์ทได้และได้เข้าร่วมงาน Kohaku Utagassen ในปี 2018, 2019

ปัจจุบัน (ตอนที่ผมเขียนเรื่องนี้) 1 ในสมาชิกของวง Iwahashi Genki ได้หยุดพักงานไปเนื่องจากปัญหาสุขภาพทำให้มีสมาชิกที่ยังทำกิจกรรมอยู่ 5 คน แต่ก็ยังมีผลงานออกมาให้ได้เห็นกันอยู่



นอกจากนี้ยังมีวงอื่นๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึงไปอย่าง Sexy Zone, Kis-My-Ft2, KAT-TUN, Johnny's WEST เป็นต้น และจากค่ายอื่นๆ อย่างเช่น Stamen Kids, SOLIDEMO, 10-Jin ACTOR (Ten Jin ACTOR), D☆DATE เป็นต้น ซึ่งก็ยังมีที่นอกเหนือไปจากนี้อีกมากมาย แต่ที่ดังๆ ก็ของ Johnny's แหละครับ อย่างที่บอกไปว่าผมก็ไม่ใช่ขาประจำ Idol ขนาดนั้นเลยไม่ได้รู้มากขนาดนั้น

นอกจากที่ได้พูดถึงไปทั้งหมดนี้แล้ว Idol ยังมีวงอื่นๆ อีกมากมายครับ ถ้าใครสนใจก็ลองค้นๆ ดู แล้วจะเข้าใจได้ว่า Idol ญี่ปุ่นมีหลายแนวมาก

อย่างที่ผมพยามอธิบายไว้ตั้งแต่แรกว่า Idol คืออะไร.....Idol ไม่ใช่ศิลปินหรือดาราฝึกหัด และมันไม่ใช่ว่าจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างถึงจะเป็น Idol แต่มันอยู่ที่การทำตลาดว่าเขาจะขายอะไร ถ้าเน้นผลงานเป็นหลักก็คือศิลปิน ถ้า Idol ก็จะเน้นทั้งคนและผลงานพอๆ กัน ทำให้ Idol มีงานสายต่างๆ มากกว่าศิลปิน


ต้องขอขอบคุณสำหรับคนที่อ่านจนจบ และก็หวังว่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจและรู้จัก Idol มากขึ้นนะครับ




โดย นาย nyo


ภาพประกอบเนื้อหา อาจบอกที่มาได้ไม่หมดต้องขออภัยในส่วนนี้ด้วยครับ


Create Date : 16 กรกฎาคม 2563
Last Update : 23 กรกฎาคม 2563 8:56:14 น. 0 comments
Counter : 2745 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nyo
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สงวนลิขสิทธิ์ ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ 2539 ห้ามผู้ใดทำการคัดลอก ส่วนใดส่วนหนึ่งของบล๊อกนี้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อค


ติดต่อผมได้ที่
naai.nyo@gmail.com

____________________

บล๊อกนี้ผมเขียนขึ้นมาจากสิ่งที่ผมไปรู้ไปเห็นมาก็เลยเอามาเล่าต่อเพื่อเป็นการแชร์ความรู้กัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อยครับ


กรูณาใช้ภาษาให้เหมาะสมในการแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ
Friends' blogs
[Add nyo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.