ใกล้จะสงกรานต์แล้ว วันนี้เลยนำเรื่องนี้มาให้ท่านได้ชมกัน
พระแก้ว ไพฑูรย์องค์นี้
เป็นสมบัติของ วัดหลวง และของเจ้านายเมืองอุบลราชธานี
มาแต่โบราณโดยแท้ พระแก้วไพฑูรย์ เป็นหนึ่งใน แก้ว อันเป็น รัตนชาติ คือ
“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาลมุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์ “หากยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดลงมาจากฟ้า
อันเป็นนิมิตหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์
ฝนตกตามฤดูกาลเป็นพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองของ เมืองอุบลราชธานี
ในกาลนี้ เราได้รับเมตตาจากท่าน พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาส วัดหลวง องค์ปัจจุบัน
ซึ่งเราเรียกท่านว่า ปู่สอน เนื่องจากท่านชื่อ บัวสอน จึงขานนามท่านว่า ปู่สอน
ท่านเมตตายกองค์พระแก้วไพฑูรย์ มาวางให้กราบ
ที่อยู่เบื้องหน้านี้ เอง
(องค์จริงสวยงามกว่าภาพถ่ายเยอะมาก)
งดงามจนลืมที่จะเก็บภาพซ้ายขวาหน้าหลังกันเลยทีเดียว
หากบุญพาวาสนาถึงคงต้องกลับไปขอเมตตาท่านเก็บให้ครบทุกองศา
ขอกล่าวถึงประวัติกันบ้าง
ในจังหวัดอุบลมีพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองอยู่ 5 องค์
แต่กาลนี้ เราขอเอ่ยถึง 2 องค์ที่ได้รับข้อมูลการบอกเล่า
คือ พระแก้วไพฑูรย์ และ พระแก้วบุษราคัม
ประวัติ
พระคู่บ้านคู่เมือง ใน วัดหลวง นั่นคือ พระแก้วไพฑูรย์
แห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชนี้
ซึ่งเป็นพระที่เกิดจากหินธรรมชาติ มีอายุนับหลายร้อยปี
ตามคำบอกกล่าวสืบทอดกันมาจากวจีท่านเจ้าอาวาสสืบต่อรุ่นสู่รุ่น
ของเจ้านายเมืองอุบลฯ
ส่วนผู้ใดที่เป็นผู้แกะหินให้เป็นพระพุทธรูปนั้นมิเป็นที่ปรากฎ
แต่เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานานแต่บรรพบุรุษ
พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)
ได้ถวายเป็นสมบัติของ วัดหลวง คู่กับ พระแก้วบุษราคัม
พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)
มีเหตุการณ์หนึ่ง
เจ้านายทางกรุงเทพมหานครมาปกครองเมืองอุบล ในสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้านายฝ่ายเมืองอุบลราชธานีเกรงว่าเจ้านายทางกรุงเทพ
จะบังคับเอา พระแก้วทั้งสององค์ไปเป็นสมบัติของส่วนตัว
จึงได้นำพระแก้วทั้งสององค์ออกไปซ่อนไว้
โดยไม่แพร่งพรายให้ผู้ใดได้รับรู้
ในกาลต่อมาเมื่อมีการสร้าง วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)
โดยเจ้าอุปฮาชโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล)
จึงได้ไปเชิญพระแก้วทั้งสองออกมาจากที่ซ่อน
สำหรับพระแก้วบุษราคัมนั้น ได้ถวายแด่พระเดชพระคุณพระเทวธัมมี (ม้าว)
ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน)
อันเนื่องด้วยเป็นลัทธิวิหาริกของ
"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 4
มาจากกรุงเทพ คงจะมีความเกรงใจไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วทั้ง 2 องค์นี้
ไปจากเมือง อุบลราชธานี
ส่วน พระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายาท ของเจ้านายเมืองอุบลราชธานีเอาไปเก็บรักษาไว้
เพราะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ
ต่อมาภายหลังจึงได้นำมาถวาย
พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาส วัดหลวง ให้เป็นสมบัติของ วัดหลวง ตามเดิม
พระแก้วไพฑูรย์ จึงได้กลับมาประดิษฐานวัดหลวงตามเดิมดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้
และในทุกๆปีช่วง วันสงกรานต์ จะมีการอัญเชิญองค์พระแก้วของแต่ละวัด
มาให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำและกราบสักการะ
รวมถึง องค์พระแก้วไพฑูรย์ นี้ก็เช่นกัน
วัดหลวง อ.เมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ทางเข้า เข้าได้ 2 ทางหนึ่ง ติดถนนพรหมเทพ อีกทางหนึ่งติดริมฝั่งแม่น้ำมูล
เรียกกันว่า ท่าตลาดใหญ่ หรือ ท่าวัดหลวงก็มิผิด