Group Blog
 
 
กันยายน 2557
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
29 กันยายน 2557
 
All Blogs
 
ฉบับ 1093 10/5/56 : Checker ฟันเฟืองสำคัญของ “หนังไทย”

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวคำ“สวัสดี” ท่านผู้อ่าน “เนชั่นสุดสัปดาห์” ผมขอรายงานตัวในฐานะคอลัมนิสต์น้องใหม่แต่หน้าเก่าเพราะเคยมีประสบการณ์เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับหนังไทยในเวบไซต์ pantip.com และที่นิตยสาร VOTE

การกระโดดสู่สนามใหญ่อย่าง“เนชั่นสุดสัปดาห์” เป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาครับ ผมจะตั้งใจและทุ่มเทให้กับคอลัมน์“ม็อคค่า ปาท่องโก๋” นี้อย่างดีที่สุด ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ!

ในช่วงที่ผ่านมาปรากฏการณ์ “พี่มาก...พระโขนง” ที่กวาดรายได้ไปกว่า 500 ล้านบาท สร้างให้เกิดกระแสความสนใจในหนังไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย

โดยเฉพาะในด้านสถิติและรายได้

ซึ่งโดยปกติรายได้ของหนังไทยที่มีการรายงานตามเวบไซต์ต่างๆ นั้น จะมีการระบุไว้ว่า เป็นรายได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล และเชียงใหม่...

จึงเป็นคำถามที่คาใจหลายๆคนว่า แล้วรายได้หนังรวมทั้งประเทศ ทำไมถึงไม่มีการรายงาน? หรือมีการปิดบังข้อมูล?และทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่ารายได้หนังรวมจริงๆ แล้วเป็นเท่าไหร่กันแน่?

ผมเชื่อว่าผู้ซื้อตั๋วดูหนังย่อมอยากทราบเป็นธรรมดาว่า เงินแต่ละบาทที่ต้องควักกระเป๋าออกไป มีส่วนอยู่ในรายได้หลายๆล้านของหนังที่รายงานกันหรือไม่...

บังเอิญผมเป็นคนรักหนังไทยและคลุกคลีอยู่ในแวดวงพอสมควรทำให้มีข้อมูลอยู่จำนวนหนึ่ง จึงขออนุญาตเล่าให้ฟังเล็กๆน้อยๆ ครับ

สำหรับในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล และเชียงใหม่ รายได้จากค่าตั๋วหนัง ทางโรงหนังกับทางค่ายหนังจะแบ่งรายได้กันตามอัตราส่วนที่ได้ตกลงกันไว้(ประมาณ 50 : 50) โดยจะนำรายได้จากค่าตั๋วหนังหลักจากการหัก“ค่าดำเนินการ” บางประเภทมาแบ่ง

ค่าดำเนินการก็มีเช่น ค่าจองผ่านอินเตอร์เน็ต ค่าบริการเพิ่มเติมที่นั่งแบบพิเศษ ค่าบริการการซื้อบัตรจากเครื่องอัตโนมัติ หรืออื่นๆ แต่อัตราส่วนนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่การตกลงกันระหว่างค่ายหนังกับโรงหนัง

ดังนั้นตัวเลขที่เราเห็นเช่น “พี่มาก...พระโขนง” สมมุติว่าได้ 500 ล้านทางค่ายหนังและโรงหนังก็จะแบ่งกันโดยประมาณ คนละ 250 ล้านบาท

ส่วนทางค่ายหนังจะเช็คอย่างไรว่ามีการซื้อตั๋วไปเป็นจำนวนเท่าไหร่และราคาเท่าไหร่บ้าง?

ตรงนี้ทางค่ายหนังจะมีทีมงานที่เรียกว่า Checker คอยนับจำนวนผู้ชมเอามาเทียบกับข้อมูลการขายตั๋วของทางโรงหนัง บางค่ายก็มี Checker ของตัวเอง บางค่ายก็การใช้ Checker ร่วมกัน

แน่นอนการลงทุนจ้าง Checkerก็เป็นต้นทุนของค่ายหนังเช่นกัน ที่จริงแล้วต้นทุนของทางค่ายหนัง ยังมีอีกหลายอย่าง อาทิ ต้นทุนการสร้างหนัง ต้นทุนการผลิตสื่อที่ใช้ในการฉาย(ฟิล์มหรือไฟล์ดิจิทัล) ค่าจัดส่งสื่อไปฉายที่โรง ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังผ่านสื่อต่างๆเช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ Social Mediaหรือสื่ออื่นๆ รวมทั้งโปสเตอร์ แบนเนอร์ ที่หน้าโรงหนัง

คราวนี้ก็มาถึงเหตุผลที่ว่าทำไมการรายงานรายได้ของหนัง จึงมีการรายงานเพียงแค่รายได้ของหนังในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและเชียงใหม่?

ก็เพราะในต่างจังหวัด“ระบบการจัดฉาย” ของหนังในเขตต่างจังหวัด จะเป็นการขายผ่าน “สายหนัง”

แล้ว“สายหนัง” คือใคร?

“สายหนัง”ก็คือผู้ที่จัดซื้อหนังเพื่อไปจัดฉายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปกติจะแบ่งเป็น “ภาค”

คือภาคเหนือ (ไม่รวมเชียงใหม่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ซึ่งระบบการซื้อจะเป็นการซื้อแบบ “ขายขาด” ซึ่งสายหนังก็จะประเมินจำนวน Copy (จำนวน “ม้วนฟิล์ม” ในระบบฟิล์ม หรือจำนวน “ไฟล์”ในระบบดิจิทัล) ที่จะต้องนำไปฉาย (ทั้งในระบบดิจิทัลและระบบฟิล์ม)แล้วเจรจาต่อรองการซื้อขายกับทางค่ายหนัง...

เมื่อซื้อขายตามจำนวนCopyที่ตกลงกันได้ “สิทธิ์การจัดฉาย” ใน “ภาค” นั้นๆ ก็จะตกเป็นของ “สายหนัง”โดยสมบูรณ์

ทางค่ายก็จะได้เงินไปเท่ากับจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน ไม่ว่ารายได้จากการฉายจริงจะเป็นเท่าไหร่ ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไร เช่น ซื้อ 1 ล้าน ฉายแล้วเก็บเงินได้1 แสน หรือ 3 แสน หรือ 1 ล้าน หรือ 10 ล้านทางค่ายก็ไม่สิทธิ์ในรายได้ส่วนนี้!

นอกจากนั้น ในบางกรณี มีการตกลงกันในรูปแบบอื่น เช่นตกลงซื้อกันในราคาขั้นต่ำ และถ้ารายได้ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ เกินเท่าไหร่ (ตามที่ตกลง)สายหนังก็จะจ่ายส่วนแบ่งเพิ่มให้ ซึ่งเป็นเรื่องของการเจรจา...

ทีนี้การแบ่งรายได้ระหว่าง “สายหนัง” กับ “โรงหนังต่างจังหวัด” ก็จะเป็นเช่นเดียวกับอัตราส่วนการแบ่งรายได้ของค่ายหนังกับโรงหนังในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล และเชียงใหม่ โดยสายหนังก็เป็นผู้ลงทุนจ้าง Checker ไปนับจำนวนผู้ชมตามโรงหนังในภาคของตนเอง

ดังนั้นการนับรวมรายได้ในต่างจังหวัดของหนังเรื่องใดๆหากอยากทราบรายได้ทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องได้ข้อมูลจาก “สายหนัง” ของแต่ละภาคแล้วจึงสามารถนำมารวมเพื่อเป็นรายได้ทั่วประเทศ

ดังนั้นการรวบรวมรายได้ทั่วประเทศจึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องในเวลาอันรวดเร็วจึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีการรายงานรายได้ในส่วนนี้เป็นรายวันเหมือนกับการรายงานรายได้ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล และเชียงใหม่ นั่นเอง...

ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องมี “สายหนัง” ด้วย ทาง “ค่ายหนัง” จัดจำหน่ายเองไม่ได้หรือ?

ต้องบอกว่า“ระบบสายหนัง” นี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ...

ข้อเสียก็อย่างที่ทราบคือ ทำให้ไม่มีการรายงานรายได้ทั่วประเทศ ถ้าหนังได้เงินค่ายหนังก็ไม่ได้เงินเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น ยิ่งหนังรายได้สูง ค่ายหนังยิ่ง “ขาดทุนกำไร”ที่ควรจะได้

แต่ในด้านข้อดีต้องบอกว่า สำหรับค่ายหนังแล้ว การมีผู้เข้ามารับความเสี่ยงในการจัดฉายแทนค่ายนั้นเป็นเรื่องดี เพราะถ้าหนังเจ๊ง “สายหนัง” ก็อ่วมฝ่ายเดียวค่ายหนังไม่ต้องเสี่ยงด้วย เหมือนเป็นการกระจายความเสี่ยง

และการที่มี“สายหนัง” ทำให้มีโอกาสที่หนังเล็กๆ จะได้ไปฉายตามต่างจังหวัดเพราะบางครั้งค่ายหนังก็อาจขายพ่วงเป็นแพคเกจซื้อเรื่องนี้ เอาหนังเรื่องนี้ไปด้วย

หากไม่มี“สายหนัง” โรงหนังย่อมต้องเอาหนังที่ทำเงินไปฉายก่อน โอกาสของหนังเล็กๆจะยิ่งน้อยลง และสุดท้าย หากไม่มี “สายหนัง” โรงหนังที่เป็นเครือขนาดใหญ่ก็จะมีอำนาจต่อรองกับค่ายหนังอย่างเต็มที่ สามารถควบคุมจำนวนโรงฉายได้อย่างอิสระซึ่งจะไปมีผลในด้านการต่อรองเรื่องอัตราส่วนรายได้อีกที

ที่สำคัญที่สุดหากปล่อยให้ระบบการฉายหนัง ไปใช้ระบบ Demand / Supply ซื้อเยอะได้ราคาถูกกว่าโรงหนังเล็กๆ ก็จะไม่มีที่ยืน!

เพราะจะไม่มีเงินไปสู้กับรายใหญ่ๆนั่นเอง

และตลาดโรงหนังในประเทศไทยก็จะกลายเป็นตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย เหมือนกับระบบโทรศัพท์มือถือ!

ซึ่งหากมีการรวมหัวกันขึ้นราคาผู้บริโภคก็จะไม่มีทางเลือก...

ยิ่งวงการภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีหน่วยงานมาควบคุมด้านราคาเหมือนกับระบบโทรศัพท์มือถือยิ่งอันตราย ลองพิจารณาจากราคาป๊อปคอร์น ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มที่ขายหน้าโรงหนังในปัจจุบันดูสิครับ!

และที่ชัดๆ เลยก็คือ “ราคาตั๋วหนัง”

ผมเห็นพ่อแก่แม่เฒ่าที่แห่ตามลูกหลานออกมาดู“พี่มาก...พระโขนง” ขยี้ตาด้วยไม่เชื่อว่าค่าตั๋วดู “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ.นี้ปาเข้าไป 160 บาท!

ธุรกิจภาพยนตร์ไทยที่จริงยังมีความเสี่ยงมากมาย หากใครได้ไปดูหนังในช่วงก่อนที่ “พี่มาก...พระโขนง”จะเข้าฉาย จะพบว่า โรงหนังเงียบเหงาอย่างน่าใจหาย

เชื่อว่าในช่วงดังกล่าวโรงหนังแบกภาระขาดทุนมาพอสมควร

ด้วยเหตุนี้ธุรกิจภาพยนตร์ ก็ยังคงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา โดยทั้งหมด ขึ้นกับความนิยมในหนังซึ่งขึ้นกับผู้ชมภาพยนตร์ชาวไทยเป็นสำคัญครับ.




Create Date : 29 กันยายน 2557
Last Update : 29 กันยายน 2557 16:53:28 น. 1 comments
Counter : 736 Pageviews.

 


โดย: teawpretty วันที่: 29 กันยายน 2557 เวลา:19:21:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr. Coffee
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




สวัสดีครับทุกๆท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ
Friends' blogs
[Add Mr. Coffee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.