ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 ธันวาคม 2550
 

การไปรษณีย์และเทคโนโลยีโทรเลข

เทคโนโลยีการสื่อสาร
(COMMUNICATION TECHNOLOGY)

มนุษย์ได้พยายามใช้ความสามารถเพื่อการสื่อสารในสังคม โดยการใช้เครื่องมือการสื่อสารอย่างง่าย ๆ จนถึงสลับซับซ้อน เพื่อสนองปัจเจกชน (Individuals) กลุ่มชน (Groups) และมวลชน (Mass) สิ่งเอื้ออำนวยในการสื่อสารได้พัฒนาจนมีระบบที่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทั้งด้านวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการแสวงหา รวบรวม ผลิตสาร ส่งสาร รับสาร เก็บข้อมูล และการสื่อสารกลับเพื่อให้แต่ละคนและสมาชิกภายในองค์กรได้ใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารต่อไป การใช้อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการสื่อสารนี้ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลปะเพื่อให้เครื่องมือนั้นได้ทำงานด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้แลกเปลี่ยนสารกันได้โดยสะดวก รวดเร็ว และเกิดผลตามที่ต้องการ
เครื่องมือสื่อสารดังกล่าวนี้ เรียกว่า สื่อ หรือช่องทางการสื่อสาร
คำว่า “สื่อ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 หมายถึง ทำการติดต่อให้ถึงกัน ชักนำให้รู้จักกัน
ในกระบวนการสื่อสารมวลชน คำว่า “สื่อ” (Channel or Medium) คือ พาหนะนำข่าวสาร (Message Vehicles) หรือพาหนะของสารหรือสิ่งที่ขนส่งสาร (Carrier of Messages) จากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ผู้ส่งสารไปได้ก็ต้องอาศัยสื่อที่จะถ่ายทอดข่าวสารออกไปและข่าวสารจะไปถึงผู้รับได้ก็ต้องอาศัยสื่อพาไป เช่น คลื่นวิทยุในอากาศนำเสียงพูดไปให้ผู้ฟัง กระดาษนำตัวอักษรและภาพที่ปรากฏไปให้ผู้รับสารได้อ่าน เป็นต้น ทางด้านผู้รับสารก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยสื่อในการรับสารนั้น ๆ เช่น ผู้รับสารจะต้องมีเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างอาศัยสื่อเพื่อการติดต่อให้ถึงกัน มนุษย์ได้คิดค้นประดิษฐ์สร้างขึ้น เสาะหาวิธีการหาช่องทางในรูปแบบต่าง ๆ กัน ตามสภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง และพัฒนาวิธีการ กระบวนการ และเครื่องมืออุปกรณ์ให้ก้าวหน้า เพิ่มพูนสมรรถนะ คุณภาพและประสิทธิภาพในการแสวงหาสาร การเก็บสาร การส่งสาร การรับสาร และการสื่อสารกลับ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารของมนุษย์ต่อไป
การพิจารณาถึงเรื่องสื่อนั้นมีปัจจัย 3 ประการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) วัสดุที่รองรับ (2) สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นอย่างมีความหมายเป็นสาร (3) พาหนะที่จะนำวัสดุที่มีสารไปให้ถึงผู้รับสาร
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการหาวิธีการ หาช่องทางของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ในการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นของคนแตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย เช่น ใช้ “สื่อบุคคล” หรือ “คน” เพื่อการสื่อสารด้วยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารที่ต่างกัน โดยคนได้คิดท่าทาง อากัปกิริยาเป็นสารให้คนอื่น ๆ เข้าใจความหมายใช้สื่อบุคคลในลักษณะเป็นพาหนะที่มีสารโดยเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร สาธารณสุขออกไปพบปะพูดคุยกับประชาชน การใช้ศิลปินสื่อพื้นบ้านเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติการทำหมัน และการวางแผนครอบครัว การใช้บุรุษไปรษณีย์เพื่อนำจดหมายไปบริการประชาชน นอกจากนั้น สื่อบุคคลยังพยายามหาวัสดุเพื่อรองรับสาร เป็นช่องทางในการเผยแพร่ เช่น ใช้ฝาผนัง ผนังถ้ำ ดินเหนียว หนังสัตว์ ไม้ไผ่ กระดาษสา แผ่นใส และแม้แต่งานศิลปหัตถกรรม การปั้น แกะสลัก ก็ได้ใช้เป็นช่องทางในการถ่ายทอดสารให้คนอื่นได้รับสารบางอย่างอยู่ด้วย


การแบ่งประเภทของสื่อ
การแบ่งประเภทของสื่อ นักวิชาการได้แบ่งไว้หลายรูปแบบ ได้แก่
1. แบ่งประเภทของสื่อออกเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
1.1 สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ภาพถ่าย
1.2 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Media) ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เว็บไซต์ มัลติมีเดียต่างๆ
2. แบ่งประเภทของสื่อออกเป็นสื่อที่รับรู้โดยการฟังหรือสื่อโสต การเห็นหรือสื่อทัศน์ และทั้งการฟังและการมองเห็นหรือสื่อโสตทัศน์ ดังนี้
2.1สื่อโสต (Audio Media ) ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง เทป
2.2 สื่อทัศน์ ( Visual Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ภาพถ่าย
3. แบ่งประเภทของสื่อเป็นสื่อร้อนและสื่อเย็น ดังนี้
3.1 สื่อร้อน (Hot Media) สื่อที่นำสารส่งไปยังผู้รับสาร และผ฿้รับสารไม่ได้มีส่วนร่วมในการส่งสารเลย ผู้รับสารไม่ต้องใช้ความพยายามใด เพื่อให้ได้สารที่สมบูรณ์ เพราะมีคนจัดคอยดูแลให้ เช่น ภาพยนตร์ มีช่างเทคนิคของโรงภาพยนตร์ได้จัดการฉายให้ชม เป็นต้น
3.2 สื่อเย็น (Cool Media) คือ สื่อที่นำข่าวสารไปยังผู้รับ โดยบางครั้ง ผู้รับสารจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการพยายามให้ได้ข่าวสารที่สมบูรณ์ เช่น วิทยุโทรทัศน์ภาพล้ม ผู้ชมต้องปรับภาพ เป็นต้น
4. การแบ่งประเภทของสื่อโดยธรรมชาติในการนำสาร ดังนี้
4.1 สื่อวัจนะ ได้แก่ สื่อที่นำสารในลักษณะที่เป็นภาษาพูด ภาษาเขียน เช่น การพูด การเขียน ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นต้น
4.2 สื่ออวัจนะ ได้แก่สื่อที่นำสารซึ่งไม่เป็นภาษาพูด แต่เป็นสัญลักษณ์ เครื่องหมาย (Signs) และอากัปกิริยา การเคลื่อนไหวของร่างกาย ริมฝีปาก การแสดงออกบนใบหน้า นัยน์ตา การขมวดคิ้ว การใช้สัญญาณมือ การสัมผัส การใช้สัญญาณไฟ การตีเกราะ กลอง การยิงพลุเพื่อขอความช่วยเหลือของผู้ที่รอดชีวิตจากเครื่องบินตก หรือเรืออับปราง สัญญาณจราจร ป้ายทางเข้าออก ทางไปห้องน้ำชาย – หญิง ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีสื่อวัฒนธรรมหรือสื่อพื้นบ้าน เช่น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ดนตรี การแต่งกาย และสื่อทัศนศิลป์
5. การแบ่งประเภทของสื่อ ตามรูปแบบและสถานการณ์การสื่อสาร สามารถแบ่งสื่อได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
5.1 สื่อภายในบุคคล ( Intrapersonal Communication) เป็นการสื่อสารกับตนเอง หรือการส่งสารของบุคคลคนเดียว แต่ละบุคคลมีการสื่อสารภายในตนเองทุกคน เนื้อหาสาระในการสื่อสารมาจากประสบการณ์ ข่าวสาร และข้อมูลที่แต่ละคนได้รับ ตัวบุคคลจึงนับได้ว่าเป็นสื่อหรือช่องทางในการสื่อสารกับตนเอง หรือการสื่อสารภายในบุคคล
5.2 สื่อระหว่างบุคคล ( Interpersonal Communication) การสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นรูปแบบของการสื่อสารตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สื่อที่ใช้ในการสื่อสารประเภทนี้ คือ สื่อบุคคล บุคคลได้มีการพูดกันอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ได้ติดต่อสื่อสารกันทางจดหมาน โทรเลข โทรศัพท์ โทรพิมพ์ เทเลคอมเฟอเร็นซ์ การสื่อสารระหว่างบุคคลนั้น ผู้ส่งสารรู้แน่ชัดว่าเป็นกลุ่มใด ผลสะท้อนกลับจากผู้รับสารก็มีได้ง่ายกว่า สื่อหรือช่องทางการสื่อสารสามารถใช้นำสารได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
5.3 การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) เป็นการแบ่งประเภทสื่อโดยอาศัยการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสเป็นหลัก คือ
1. สื่อที่รับได้ด้วยการมองเห็น หรือสื่อทัศน์ (Visual Media) ได้แก่ หนังสือพิมพ์ (Newspaper) ภาพถ่าย( Photography)
2. สื่อที่รับได้ด้วยการฟัง (Audio Media) หรือสื่อโสต ได้แก่ วิทยุกระจายเสียง
3. สื่อไที่รับได้ด้วยการฟังและการมองเห็น หรือสื่อโสตทัศน์ (Audio-Visual Media) ผู้รับสารรับสารโดยการมองเห็นและการได้ยินพร้อม ๆ กัน ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ (Video) วีดิโอดิส ( Videodise) การแสดงบนเวที ( Theatre) เช่น ละคร ดนตรี อุปรากร การฟ้อนรำ เป็นต้น
6. การแบ่งประเภทของสื่อเป็นสื่อสนับสนุน ( Supporting Channels) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
6.1 สื่อสนับสนุนในการบันทึกข่าวสาร คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพิมพ์ การบันทึกเสียง การบันทึกภาพ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องพิมพ์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง กล้องถ่ายรูป และวัสดุรองรับสาร ได้แก่ กระดาษ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ฟิล์ม แผ่นเสียง เป็นต้น
6.2 สื่อสนับสนุนในการขนส่งข่าวสาร คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับระบบการคมนาคม (Transportation) และบริการไปรษณีย์ ( Postal Services) ได้แก่ เครือข่ายของเส้นทางคมนาคมทางบก ทางอากาศ ทางเรือ ยานพาหนะ บริการส่งจดหมาย และไปรษณีย์ภัณฑ์ อื่น ๆ
6.3 สื่อสนับสนุนในการถ่ายทอดข่าวสาร เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้การถ่ายทอดข่าวสาร ( Transmission of messages) จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบสาย ระบบวิทยุ ระบบแสง และระบบสื่อสารดาวเทียม ซึ่งอาจเรียกรวมกันว่า “การสื่อสารโทรคมนาคม” (Telecommunication) หรือสื่อส่งสัญญาณ (Transmission Media) ได้แก่ โทรเลข โทรศัพท์ โทรพิมพ์ โทรภาพ โทรสาร โทรทัศน์ตามสาย วิทยุคมนาคม เป็นต้น
ในที่นี้ จะพิจารณาเรื่องสื่อ ตามเหตุการณ์ท่างการสื่อสารตามลำดับ ( Chronology of Communication Events)


กิจการไปรษณีย์
การส่งข่าวสารในสมัยแรก
กิจการไปรษณีย์ เป็นการสื่อสารโดยการบันทึกข้อความเป็นลายลักษณ์อักษร จะเป็นลายมือเขียนข้อความพิมพ์การบันทึกภาพ หรือรหัสเครื่องหมายอย่างใดก็ตามบนกระดาษ จากนั้นจัดรับส่งเอกสารดังกล่าวที่เรียกกันติดปากว่าจดหมาย โทรเลข หนังสือ พัสดุภัณฑ์ เป็นต้น โดยใช้คนทำหน้าที่เป็นผู้นำสารและมักจะเรียกกันว่า “ บุรุษไปรษณีย์” ในการจัดส่งข่าวสารนี้จะทำเป็นรูปซองหรือหีบห่อ และชำระค่าธรรมเนียมเป็นค่าบริการในรูปที่รู้จักกันแพร่หลายว่า “แสตมป์ไปรษณียากร” การดำเนินกิจการไปรษณีย์นั้น อาจจะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว รัฐเป็นผู้ดำเนินการโดยถือว่าเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นระบบการสื่อสารแบบแรกและเก่าแก่ที่สุด ซึ่งสังคมมนุษย์ได้คิดค้นขึ้นใช้ ระบบการไปรษณีย์ที่ทันสมัยได้รับการพัฒนาจากเดิมโดยการนำเอาอุปกรณ์ประทับตราไปรษณียากร การคัดเลือกเอกสาร การรวมห่อ และการขนส่งโดยเครื่องมือที่ทันสมัย การบริหารงานด้านนี้จึงมีส่วนสัมพันธ์กับงานสื่อสารโทรคมนาคมบางแขนงอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรเลข
การส่งข่าวสารระหว่างกันเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชนั้นใช้ การจำและบอกกันเป็นทอด ๆ ไป ( Memorized Messages) สำหรับเจ้าผู้ครองนครรัฐมักจะมีคนเดินหนังสือ (Foot messenger หรือ Mail Runner) เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ต่อมาเมื่อมีการใช้ตัวอักษรจารึก หรือเขียนข่าวสารติดต่อกันจึงมีการจัดระบบส่งข่าวสาร โดยจ้างคนเดินหนังสือ เช่น ในสมัยราชวงศ์จู ( Chou Dynasty) ของจีน ประมาณก่อน ค.ศ. 112-222
ประมาณ 550-529 ปีก่อนคริสตกาลในสมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช เมื่อทรงตั้งจักรวรรดิเปอร์เชียขึ้น ได้นำม้าใช้ (Mounted Messenger) เพื่อส่งข่าวสาร และทรงสร้างสถานีที่พักพร้อมม้าและคนเพื่อสับเปลี่ยนตลอดระยะทาง เฮโร โดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์โลกชาวกรีก ได้กล่าวว่า “ในกระบวนการมนุษย์ชาติด้วยกันแล้ว ไม่มีใครจะเร็วกว่าม้าใช้ของเปอร์เซีย ความยากลำบากจะมีสักปานใด ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเขาให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็วที่สุดได้”
ในสมัยราชวงศ์ปโทเลมี (Ptolemies) ของอียิปต์ มีการค้นพบหลักฐานเป็นเอกสารบันทึกเกี่ยวกับการนำจ่าย การคัดเลือกคนเดินหนังสือ เส้นทาง ยานพาหนะ และชื่อผู้รับบนกระดาษปาปิรุส ที่เมืองฮิเบ(Hibeh) มีอายุประมาณ 255 ปี ก่อนคริสตกาล ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์นครเบอร์ลินแสดงให้ทราบว่าได้มีการเดินข่าวสารทางราชการทำนองเดียวกับการไปรษณีย์
ในสมัยจักรวรรดิโรมันยุครุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่ง รัชสมัยพระจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus) ระหว่างปี 63 ก่อนถึง ค.ศ. 14 ทรงจัดรับบการส่งข่าวสารหรือระบบการติดต่อทางไปรษณีย์ของทางการ (State Post) ขึ้น ทรงจัดตั้งสถานีที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่สื่อสารและม้า เรียกว่า “Positus” แปลว่า ตั้งไว้ หรือกำหนดไว้ บางตำราเชื่อว่า เป็นที่มาของคำว่า “Post” หรือ “การไปรษณีย์” ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่สื่อสารของโรมันเดินทางได้วันละ 44 ไมล์ ถ้าใช้ม้าจะเดินทางได้วันละ 125 ไมล์ นอกจากนี้ในประเทศจีนก็มีการนำรถม้ามาใช้สมัยราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) ระหว่างปี ค.ศ. 618-805 ( พ.ศ. 1161-1348) สามารถเดินทางได้ 90 ไมล์ต่อวัน และหากมีพระราชสาส์นด่วนหรือสำคัญจะมีการสับเปลี่ยนม้าตามจุดต่าง ๆ ทำให้สามารถเดินทางได้ถึง 150 ไมล์ต่อวัน เรียกกันว่า “ไปรษณีย์เหาะ” (Flying Post)

การส่งข่าวสารในยุคกลาง ( Middle Ages)
ยุคกลางหรือยุคฟื้นฟูอารยธรรมกรีกและโรมัน (Renaissance) เป็นยุคที่ได้เพิ่มเติมใช้นกพิราบสื่อสาร ( Pigeon Post) ในการส่งข่าวสารกรณีพิเศษต่าง ๆ เช่น ในปี ค.ศ. 1204 ( พ.ศ. 1747) นครเวนิชถูกปิดล้อม เจ้าผู้ครองนครรัฐได้ใช้นกพิราบสื่อสารในการส่งข่าวสารติดต่อกับภายนอก ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็วและปลอดภัยกว่าวิธีการอื่น ๆ
สมัยราชวงศ์ซุง ( Sung Dynasty) ของจีน ประมาณ ค.ศ. 960-1276 (พ.ศ. 1503-1819 ) เริ่มมีการบริการไปรษณีย์สำหรับประชาชน มีการจ้างคนเดินหนังสือ ( Paid Runner) 3 ประเภท คือ คนเร็ว คนขี่ม้า และคนเดินข่าวด่วนพิเศษ
คริสต์ศตวรรษที่ 13-14 มาร์โคโปโล ได้บันทึกไว้ในหมายเหตุการเดินทางของเขาในสมัยกุบไลข่านว่า มีถนนจากกรุงแคนบาลูน (นครปักกิ่งในปัจจุบัน) ติดต่อกับมณฑลต่าง ๆ และมีสถานที่พักทุกระยะ 25 ถึง 30 ไมล์ และมีม้าสำหรับสับเปลี่ยน
ในศตวรรษที่ 12 เมื่อการค้าเจริญและขยายตัวขึ้น และโบสถ์วิหารมีความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน พวกพระและคนทางศาสนาได้ทำหน้าที่เป็นคนเดินหนังสือ ทั้งของราชการและประชาชนโดยเขียนลงไว้บนแผ่นหนังม้วนด้วยท่อนไม้เล็ก ๆ ส่วนในวงการค้าและธุรกิจต่าง ๆ ก็ได้จัดคนเดินหนังสือของตนเองและของประชาชนขึ้นด้วย ทำให้มีการติดต่อส่งข่าวสารระหว่างกันทั่วไปในเยอรมันและประเทศทางยุโรปอื่น ๆ ในศตวรรษที่ 13-16 ในอิตาลี่ สเปนและเยอรมันนีมีการจัดตั้งบริศัทรับส่งข่าวสาร และการส่งข่าวสารระหว่างเมืองได้เจริญอย่างมาก เนื่องมาจากการค้าขายและการติดต่อของประชาชน การจัดตั้งสถานที่แน่นอนขึ้นตามถนนหลวง มีกิจการไปรษณีย์ทางแท็กซี่ สำหรับเมืองที่ไม่มีบริการไปรษณีย์ของแท็กซี่ผ่าน พวกข้าราชการ นักธุรกิจและประชาชนได้อาศัยฝากจดหมายและสิ่งของไปมากับพ่อค้าเนื้อ จนในที่สุดเมืองและสมาคมธุรกิจต่าง ๆ ได้ทำสัญญารับส่งจดหมายและสินค้ากับพ่อค้าขายเนื้อต่าง ๆ พ่อค้าขายเนื้อจะใช้เขาสัตว์เป่าแจ้งการมาถึง และการออกเดินทาง กล่าวกันว่า เขาสัตว์ของพ่อค้าขายเนื้อนี่ เป็นที่มาของ สัญลักษณ์ “แตรงอน” ของการไปรษณีย์ ประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อกิจการไปรษณีย์เจริญขึ้นกิจการรับฝากส่งจดหมายและสิ่งของของพ่อค้าขายเนื้อก็ล้มเลิกไป
ในศตวรรษ ที่ 17 มีไปรษณีย์เกิดขึ้นทั่วไปในแทบทุกประเทศ การขนส่งไปรษณีย์ส่วนใหญ่ใช้ทางบก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ต่อมา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ได้จัดเรือไปรษณีย์ภายในประเทศ และต่างประเทศ

การไปรษณีย์สมัยใหม่
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นับได้ว่าเป็นการไปรษณีย์สมัยใหม่ มีการพัฒนาการระบไปรษณีย์ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และยานพาหนะต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1807 (พ.ศ. 2350) นายโรเบิร์ต ฟุลตัน (Robert Fulton) ชาวอเมริกันได้ประดิษฐ์เรือกลไฟขึ้น และได้มีการใช้เรือกลไฟขนส่งไปรษณียภัณฑ์ และในปี ค.ศ. 1825 (พ.ศ. 2368) นายสตีเฟนสัน ( George Stephenson) ได้ประดิษฐ์รถไฟขึ้นในอังกฤษ และได้มีการใช้รถไฟในการขนส่งถุงไปรษณีย์กันจนต่อมามีที่ทำการไปรษณีย์สถานีรถไฟ ( Railway Post Office) เพื่อทำหน้าที่รับส่งมอบถุงไปรษณีย์กับขบวนรถไฟ
ค.ศ. 1836 (พ.ศ. 2379) นายโรว์แลนด์ ฮิลล์ (Rowland Hill) แห่งอังกฤษ ได้เสนอวิธีการคิดค่าธรรมเนียม โดยถือน้ำหนักเป็นเกณฑ์และให้มีอัตราขั้นต่ำเป็นมาตรฐานอัตราเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็ได้คิดแบบตราไปรษณีย์ยากร (Postage Stamp) เพื่อแสดงว่าได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว โดยติดไว้บนมุมขวาของจ่าหน้า จึงเรียกว่า “ Penny Post” ต่อมา วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1840 รัฐบาลอังกฤษได้พิมพ์ตราไปรษณียากรชุดแรกขึ้นจำหน่าย เรียกว่า “penny Black” พร้อมซองที่ระลึกชุดแรกของโลก
ในสหรัฐอเมริกา การขนส่งไปรษณียภัณฑ์ได้ใช้ม้าด่วน ( Pony Express) และมีสถานีสับเปลี่ยนม้าและนักขี่ม้า ในปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) ระหว่างเมืองเซนต์โจเซฟถึงซาคราเมนโตในแคลิฟอร์เนีย
เมื่อ ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) พี่น้องตระกูลไรท์ (Wright) ชาวอเมริกันได้ประดิษฐ์เครื่องบินและทดลองบิน และต่อมามีการใช้เครื่องบินในการขนส่งถุงไปรษณีย์เป็นการขนส่งถุงเมล์ทางอากาศเป็นประจำ
นับแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา วิทยาการได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลมาใช้ผ่อนแรงและทำงานแทนมนุษย์ การปฏิบัติการทางไปรษณีย์ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและให้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศ มีการจัดตั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ ( Universal Postal Union) ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) ซึ่งถือเป็นวันสหภาพสากลไปรษณีย์ (UPU Day) มาจนถึงทุกวันนี้

การไปรษณีย์ไทย
การติดต่อส่งข่าวสารไปมาถึงกันของคนไทยในสมัยโบราณ มักจัดให้คนถือไปหรือฝากพ่อค้าคนเดินทางผ่านไปทางนั้น ทางราชการได้มีการเดินหนังสือ หรือ “ท้องตรา” บอกไปยังเมืองต่าง ๆ โดยเป็นหน้าที่ของกรมการเมือง ตามรายทางนั้น ๆ ที่จะเชิญท้องตรานั้นส่งต่อไปจนถึงที่ หากเป็นราชการเร่งด่วนก็มักจะแต่งข้าหลวงให้เชิญท้องตราไป กรมการเมืองตามรายทางจะต้องจัดหายานพาหนะส่งข้าหลวงต่อๆ ไปจนถึงทีหมายปลายทาง ในกรณีที่ทางฝ่ายหัวเมืองมีหนังสือแจ้งข้อราชการที่เรียกกันว่า “ใบบอก” หรือ “บอก” เข้ามายังเมืองหลวง กรมการเมืองนั้น ๆ จะจัดให้คนนำใบบอกนั้นไปวางยังกรมที่มีบอกเข้ามาถึง การเดินหนังสือราชการดังกล่าวนี้ไม่ได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน
ในสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1800-1893 ได้มีการสร้างถนนและเส้นทางคมนาคม ทางบก ทางน้ำ มีการติดต่อข่าวสารภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ขอม จีน พม่า ชวา มลายู เป็นต้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1890-2310 ได้มีการขุดคลองเป็นคูเมืองและใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเป็นส่วนใหย่ พ่อค้าได้มีส่วนอย่างสำคัญในการติดต่อข่าวสาร แม้แต่การส่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทางยุโรป ก็ได้อาศัยร่วมเดินทางไปกับเรือค้าขาย หรือเรือรบ เช่น ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ถึง 4 ครั้ง การเดินทางของคณะทูตไทย ชุดที่ 3 ในปลายปี พ.ศ. 2228 ซึ่งมีพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงศรีวิสารวาจาเป็นอุปทูต และขุนกัลยาณราชไมตรีเป็นทูต นั้นได้อาศัยเรือฝรั่งเศส ชื่อ “ลัวโซ” ( L Oiseau) และ ลามาลิน ( La Maline)
นอกจากนั้นยังมี “ม้าเร็ว” หรือ “ม้าใช้” เป็นคนเร็วสำหรับส่งข่าวสารในยามสงคราม และยามสงบ โดยใช้ม้าเป็นพาหนะ
การติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายไม่ค่อยแพร่หลาย มีสาเหตุมาจากการศึกษาของประชาชนเพราะในสมัยก่อนไม่มีโรงเรียน เริ่มมีการศึกษาในวัง และในวัด ดังเช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระโหราธิบดีจัดทำแบบเรียนภาษาไทยขึ้น เรียกว่า “จินดามณี” ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรกของไทย การตื่นตัวในการศึกษาเล่าเรียนมีมากขึ้น มีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับบุตรหลานเจ้านายขึ้นโดยเฉพาะ เช่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนหลวงสำหรับประชาชนทั่วไปแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394-2411) ทรงมีนโยบายต้อนรับชาวต่างประเทศเพื่อให้ไทยได้เรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ จากประเทศทางยุโรป จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ทำสนธิสัญญาทางการค้า และให้ประเทศนั้น ๆ เข้ามาตั้งสถานกงสุลของตนขึ้นในประเทศไทย เพื่อควบคุมดูแลคนและกิจการค้าของตน สถานกงสุลของประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้นำเอาระบบการเดินหนังสือที่เรียกว่า “การไปรษณีย์” มาใช้ โดยส่งทางเรือ
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2410 กงสุลอังกฤษได้นำเอาระบบการส่งหนังสือทางไปรษณีย์มาใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ โดยใช้ดวงตราไปรษณียากร (Stamp) ที่นำมาจากสิงคโปร์ พิมพ์อักษร “ B”ซึ่งใช้แทน”Bangkok” ทับลงไปผนึกจดหมายที่รับฝากไว้ นอกจากสถานกงสุลอังกฤษจะบริการข่าวสารฝากส่งไปทางเรือสิงคโปร์ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศปลายทางแล้ว มีหลักฐานปรากฏว่า บางคราวบริษัทต่างประเทศที่มีสาขาในกรุงเทพฯได้ส่งจดหมายโดยประทับตราของบริษัทตน และฝากส่งลงเรือไปยังประเทศสิงคโปร์ มลายู
ในปี พ.ศ. 2418 ต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ 11 พระองค์ นำโดย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวัน มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Court” โดยออกฉบับแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2418 และเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น โปรดให้มีบุรุษเดินหนังสือส่งให้แก่สมาชิก เรียกว่า “Postman” ทรงจัดพิมพ์ตั๋วแสตมป์ เป็นพระรูปเหมือน มีคำภาษาอังกฤษว่า “Rising” ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า “ภาณุรังษี” ถ้าส่งถึงผู้ที่อยู่เขตคูพระนครชั้นในให้ปิดแสตมป์ 1 ดวง ราคา 1 อัฐ ผู้รับที่อยู่นอกคูพระนครชั้นในออกไปให้ผนึก 2 ดวง เป็นราคา 2 อัฐ แสตมป์นี้จะซื้อได้ที่หอนิเพทพิทยาคมในพระบรมมหาราชวังริมประตูศรีสุนทร เพียงแห่งเดียวทุกวัน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งพิมพ์แสตมป์มาจากประเทศอังกฤษ นับเป็นการเริ่มต้นกิจการไปรษณีย์อย่างไม่เป็นทางการในไทย และต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้นำในการจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้น โดยร่วมมือกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช หรือพระยาไชยสุรินทร์ และมีประกาศเปิดกิจการไปรษณีย์แห่งแรกตรงกับวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ที่ปากคลองโอ่งอ่าง เปิดเดินหนังสือในกรุงเทพฯ ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีถือเป็นวันสื่อสารแห่งชาติ
กิจการไปรษณีย์ได้ขยายงานบริการทางเรือ ทางรถไฟ ทางเครื่องบิน ทั้งภายในและต่างประเทศ มีพระราชบัญญัติกรมไปรษณีย์สยาม จุลศักราช 1247 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2428 เป็นกฏหมายฉบับแรก และในปัจจุบันกิจการไปรษณีย์ได้อยู่ในการดำเนินงานของ “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2519 นับเป็นกฏหมายฉบับล่าสุด


เทคโนโลยีโทรเลข
การโทรเลข (Telegraphy) เป็นวิธีหนึ่งของการโทรคมนาคม ซึ่งเปลี่ยนตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ของรหัส (Code) เป็นสัญญาณไฟฟ้าและส่งไปยังจุดที่อยู่ห่างไกลออกไป ผ่านทางสายส่งสัญญาณที่จุดปลายทางสัญญาณเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนกลับรูปเดิมและบันทึกไว้ดังรูปแสดงหลักการทั่วไปของการโทรเลข ดังนี้
ด้านส่ง สายส่งสัญญาณ ด้านรับ

ตัวอักษร การจัดรหัส ส่ง รับ การถอดรหัส ตัวอักษร

ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ อ่าน เปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า การส่งสัญญษณ แปล ข้อมูลบันทึกไว้

รูปที่ 7.1 หลักการทั่วไปของการโทรเลข
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีเทคนิคในการเคาะสวิตซ์ส่งสัญญาณ (Sending Key) หรือการพิมพ์เครื่องพิมพ์ดีดเพื่อเปลี่ยนตัวอักษรให้เป็นรหัส และแปลหรือถอดรหัสนั้นเป็นตัวอักษร ซึ่งจะบันทึกเป็นข้อความข่าวสาร (Information) จัดเป็นบริการเพื่อส่งตามที่อยู่ของผู้รับได้

ประวัติของการโทรเลข
เชื่อกันว่า เมื่อ พ.ศ. 2337 (ค.ศ.1794) ชาวฝรั่งเศสชื่อ ชับ (Chappe) ได้ประดิษฐ์เครื่องส่งข่าวไปยังจุดไกล ๆ ให้แก่กองทัพฝรั่งเศส และเรียกกรรมวิธีส่งข่าวนี้ว่า “Telegraphe”
พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) ซามูเอล เอฟ.บี.มอร์ส ( Samuel F.B. Morse) ได้ประดิษฐ์รหัสมอส( Morse Code) ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย การรวมจุด (Dot) และขีด (Dash) ที่ได้จากการทำงานและการหยุดทำงานของกระแสไฟฟ้าเข้าด้วยกัน เครื่องมือทางด้านรับประกอบด้วย เครื่องขีดหมึกมอร์ส(Morse ink-writer) ซึ่งมีดินสอ หรือปากกาสำหรับขีดเส้นสัญญาณ การสื่อสารด้วยรหัสมอร์สได้ก้าวหน้าเมื่อมีเครื่องมืออัตโนมัติสำหรับการส่งและการรับโค้ต ด้วยการใช้เครื่องเจาะรหัส (Keyboard perforator) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องพิมพ์ดีด และเทปเจาะรหัส (Perforated tape) เครื่องโทรเลขจึงช่วยส่ข้อความไปยังที่ทำการปลายทาง จากนั้น พนักงานส่งโทรเลขจะนำโทรเลข (Telegram) ไปส่งถึงที่พักของผู้รับ
ลักษณะการบริการโทรเลขที่ทันสมัย อาจแยกออกได้ ดังนี้
1. การบริการโทรเลขทั่วไป ( General Telegraph Service)
2. การบริการโทรเลขส่วนบุคคล (Private Telegraph Service) จัดไว้สำหรับผู้ที่ใช้บริการมาก ๆ อุปกรณ์ปลายทางติดตั้งไว้ในสถานที่ส่วนตัว และเช่าสายส่งสัญญาณ
3. การบริการเทเล็กซ์ ( Telex Service) การบริการเทเล็กซ์ เริ่มต้นด้วยการหมุนหมายเลขหน้าปัดของผู้เช่า (ในลักษณะเดียวกันกับการใช้โทรศัพท์) การหมุนหมายเลขทำให้อุปกรณ์สวิตซ์ต่อไปยังฝ่ายที่ต้องการได้ จากนั้นอุปกรณ์โทรพิมพ์ (Printing Telegraphy apparatus) หรือเครื่องโทรพิมพ์ (Teleprinter) ก็จะติดต่อกันได้โดยตรง
4. โทรสาร ( Facsimile Telegraphy) เป็นการโทรเลขลักษณะหนึ่งที่ใช้สำหรับส่งอักษรขาวดำ ไดอะแกรม และข้อมูลอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน เป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อส่งผ่านสายส่งสัญญาณแล้วทางด้านรับจะเปลี่ยนกลับเป็นข้อมูลเดิมอีกครั้งหนึ่ง
5. ดทรภาพ (Phototelegraphy) ใช้สำหรับงานที่ต้องการสร้างภาพที่มีระดับสีขาวขดำ เหมือนเดิม ข้อมูลภาพจะถูกเปลี่ยนกลับเป็นแสงและระดับของความขาวดำของภาพข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง
เทคโนโลยีโทรเลข ได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนปริมาณการสื่อสาร เพื่อการประหยัดและเพื่อการส่งสัญญาณโทรเลขระยะทางไกล เพราะความต้องการความก้าวหน้าของการสร้างหลอดสุญญากาศ ทรานซิสเตอร์ เครื่องกรองคลื่นไฟฟ้า ฯลฯ

เทคโนโลยีโทรศัพท์
การโทรศัพท์ ( Telephone) เป็นวิธีหนึ่งของการโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยระบบเสียงพูด (Speech System) และระบบการให้สัญญาณ (Signalling System) ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องโทรศัพท์ คือ เครื่องส่ง เครื่องรับ กระดิ่งแม่เหล็ก ขดลวดเหนี่ยวนำ (Induction coil) หน้าปัดสำหรับหมุนหมายเลข (Dial)
เครื่องส่ง เป็นอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนคลื่นเสียงของการพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้า
เครื่องรับ เป็นอุปกรณ์ที่ทำคลื่นเสียงด้วยแผ่นไดอะเฟรมสั่น ซึ่งทำงานตามกระแสเสียงพูดที่ส่งมาจากเครื่องส่งของฝ่ายเรียก
ประวัติโทรศัพท์
พ.ศ. 2419 (ค.ศ. 1876) Alexander Graham Bell ประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นมาใช้ครั้งแรก เป็นโทรศัพท์แบบง่าย โดยเข็มที่หมุนในกรดกำมะถันเจือจาง จะเปลี่ยนเสียงให้เป็นกระแสไฟฟ้าขึ้น ๆ ลง ๆ และเปลี่ยนกลับเป็นเสียงอีครั้งหนึ่งโดยแม่เหล็กไฟฟ้าทางปลายสายด้านนรับ
พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) Thomas Alva Edison ได้ประดิษฐ์ เครื่องส่งโทรศัพท์ใช้ถ่าน ( Carbon Transmitter) ได้เพิ่มความดังของสัญญาณโทรศัพท์ขึ้น ซึ่งต่อมาได้เชื่อมโยงเครื่องโทรศัพท์กันขึ้น( Interconnection) จึงเกิดชุมสายโทรศัพท์ และประเทศไทยได้มีการนำโทรศัพท์เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) โดยเป็นชุมสายระบบที่ใช้พนักงานต่อและใช้ไฟจากโทรศัพท์กลาง (central Battery Manual System) ติดตั้งตำบลวัดเลียบ กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2432 (ค.ศ.1889) Almon B.Strowger ได้พัฒนาชุมสายโทรศัพท์จากระบบที่ใช้พนักงานต่อมาเป็นระบบอัตโนมัติ (Automatic Telephone Switching) เป็นคนแรก เราเรียกชุมสายระบบนี้ว่า Step-by-step-switching หรือ Strowger System ตามชื่อผู้ประดิษฐ์ชุมสายระบบนี้ ประเทศไทยนำเข้ามาใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)
พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) Guglielmo Marconi ได้ประดิษฐ์วิทยุโทรเลข ( wireless telegraphy) ขึ้น
พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) Lee De Forest ได้ประดิษฐ์หลอดสุญญากาศ ไดรโอด ( Vacuum Triode) ทำให้สามารถขยายสัญญาณเสียงขึ้น นำไปสู่ความเป็นไปได้ในการใช้โทรศัพท์ในการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) Palmgren และ Betulander ได้พัฒนาชุมสายโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติเป็นระบบ Crossbar Switching System โดยใช้อุปกรณ์และสัญญาณจากกระแสไฟฟ้า ( Electromechanic) ซึ่งเป็นระบบที่ยังคงใช้อยู่อย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) ได้ขยายการวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (Submarine Cable) ในทะเล มหาสมุทรโดยใช้สายแบบแกนร่วม ( Coaxial Cable) เพื่อเพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ และลดค่าใช้จ่าย การใช้ระบบเคเบิลใต้น้ำได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายโดยหลักแห่งความเสมอภาค กล่าวคือแต่ละประเทศเป็นเจ้าของเคเบิลใต้น้ำคนละครึ่ง และแต่ละประเทศต้องอนุญาตให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิใช้เคเบิลโดยเปลี่ยนแปลงไม่ได้
พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ได้มีแนวความคิดใช้การส่งคลื่น Microwave เพื่อติดต่อกันให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย
พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) ได้มีการนำ Semiconductor เข้ามาใช้ในชุมสายโทรศัพท์ จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2513 เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ได้เจริญขึ้นจึงมีการพัฒนาชุมสายโทรศัพท์ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยซอฟแวร์ เรียกว่า ระบบ SPC (Stored Program Control Switching System) ซึ่งใช้วงจรขนาดเล็กที่เรียกว่า IC ( Integrated Circuits) ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่การติดตั้ง สามารถให้บริการจำนวนเลขหมายแก่บริการต่างๆ แก่ประชาชนได้มากขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้แก่
บริการเลขหมายย่อ (Abbriviated Dialing) ซึ่งชุมสายกำหนดเลขหมายย่อเพียง 3 หรือ 4 ตัว เพื่อให้ผู้เช่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ เครื่องก็จะต่อเลขหมายให้โดยอัตโนมัติ
บริการเลขหมายด่วน (Hot Line) ซึ่งอาจใช้กับการแจ้งเหตุร้าย แจ้งเหตุเพลิงไหม้
บริการเรียกซ้ำ (Automatic Call Repetition) ซึ่งผู้เช่าสามารถกดปุ่มหน้าปัด ส่งให้ชุมสายต่อเลขหมายที่ผู้เช่าได้ติดต่อครั้งหลังสุดได้ทุกครั้งเมื่อวางหูแล้ว พอยกหูขึ้นใหม่กดเพียงปุ่มเดียวก็สามารถติดต่อเลขหมายที่เพิ่งวางไปได้อีกทันที
บริการเปลี่ยนเลขหมายว่าง ( Call Transfer) ผู้เช่าโทรศัพท์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ที่มีโทรศัพท์หลาย ๆ เลขหมาย สามารถกดปุ่มหน้าปัดสั่งให้ชุมสายเปลี่ยนเลขหมายติดต่อให้ได้ ในขณะที่เครื่องโทรศัพท์กำลังใช้อยู่ไม่ว่าง ถ้ามีใครเรียกเข้ามาก็เปลี่ยนอัตโนมัติ ไปยังเลขหมายอื่นตามที่ได้กดปุ่มสั่งไว้
บริการประชุมทางโทรศัพท์ (Conference Call) ผู้เช่าโทรศัพท์ ซึ่งใช้เลขหมายระบบ SPC ไม่เกิน 3 คน อยู่คนละเลขหมาย สามารถกดปุ่มหน้าปัดให้เลขหมายทั้ง 3 เชื่อมโยงเข้าหากัน เพื่อใช้ในการประชุมทางโทรศัพท์ได้ และอาจขยายจำนวนมากขึ้นโดยเพิ่มระบบการเชื่อมโยงมากขึ้น โดยทุกคนมีโอกาสพูดจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้
บริการรอสายว่าง ( Call Waiting) สัญญาณพิเศษจะถูกส่งให้กับผู้เช่าในขณะที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ให้รู้ว่า มีผู้อื่นกำลังต้องการพูดกับท่านเช่นกัน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เช่าว่าจะคุยกับคู่สนทนาต่อไป หรือจะรับโทรศัพท์ที่เรียกเข้ามาใหม่
บริการแจ้งค่าพูดโทรศัพท์ทางไกลทันที ( Immediate Charge Information Service) โดยสอบถามพนักงานสลับสาย เมื่อผู้เช่าได้ขอใช้บริการนี้ล่วงหน้า
บริการตรวจสอบเลขหมายต้นทาง ( Malicious Call Tracing) ผู้ขอใช้บริการนี้จะสามารถทราบได้ว่า โทรศัพท์ที่เรียกเข้ามานั้น โทรมาจากเลขหมายโทรศัพท์ใด
พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) ได้ใช้ดาวเทียม (Satellite) เพื่อการสื่อสารด้วยระบบไมโครเวฟผ่านดาวเทียม โดยมีสถานีรับ-ส่งสัญญาณภาคพื้นดิน (Earth Station) แบบถาวร และแบบเคลื่อนที่ ( Mobile Earth Station) โดยปล่อยดาวเทียมสื่อสารค้างฟ้าาเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์ ดวงแรกคือ Early Bird หรือ Intelsat-1 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2508
พ.ศ. 2509 George Hockham และ Charles Kao ได้เสนอเคเบิลใยแก้ว (Optical Fiber Cable) นับเป็นการสื่อสารด้วยการใช้แสงส่งสัญญาณผ่านใยแก้ว ซึ่งเป็นเส้นใยที่ทำจากสารจำพวกแก้ว ( Silicon Dioxide) เป็นสารที่หาง่าย เบา ไม่เป็นตัวนำสามารถส่งสัญญาณสื่อสารที่มีแถบความถี่กว้างมากกว่า IGH ส่งสัญญาณได้ระยะไกล โดยมีค่าความสูญหายของการส่งสื่อสัญญาณต่ำ ทนทานต่อสารเคมีและความร้อนได้ถึง 1,000 องศาเซลเซียส และบำรุงรักษาง่าย ปัจจุบันอังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ได้นำเอาระบบใยแก้วไปใช้ประโยชน์ทางโทรศัพท์ทางไกล เชื่อมโยง และใช้แพร่หลายในงานระบบดาวเทียมบนสถานีภาคพื้นดิน คอมพิวเตอร์ การสื่อสารทางทหาร ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบแจ้งเหตุ และระบบควบคุมการจราจร การแพทย์
การสื่อสารดาวเทียม
การสื่อสารดาวเทียม (Communication Satellite)( เป็นพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีด้วยการใช้ดาวเทียม เพื่อเป็นข่ายวงจรสื่อสารร่วมกับระบบเคเบิลแกนร่วมใต้ทะเล ( Submarine coaxial cable system) และระบบการสื่อสารบนพื้นดิน เช่น ระบบถ่ายทอดไมโครเวฟ (Microwave relay system) ระบบส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ ระบบส่งสัญญาณโทรศัพท์ ฯลฯ
ได้มีการพยายามที่จะนำดาวเทียมไปใช้บริการการสื่อสารรูปอื่นอีกจำนวนมากหลายด้าน ทั้งบริการสื่อสารภาคพื้นดิน และบริการสื่อสารอวกาศ มีการบริการดาวเทียมอยู่กับที่ ( Fixed Satellite Service) บริการดาวเทียมสำหรับอุตุนิยมศาสตร์ (Meteorological Satellite Service) บริการดาวเทียมสมัครเล่น บริการการวิจัยอวกาศ (Space Operation Service) บริการดาวเทียมสำหรับกระจายเสียง บริการดาวเทียมเคลื่อนที่ในอากาศ ในทะเล และเคลื่อนที่บนบก
แนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารดาวเทียม ได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) วิศวกรชาวอังกฤษ และนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ ชื่อ อาร์เธอร์ ซี คลาก (Arthur C.Clarke) ว่า ต่อไปดาวเทียมที่จะใช้สื่อสารทั่วโลกนั้น จะใช้ดาวเทียมเพียง 3 ดวง ทำมุมกัน 120 องศา ดาวเทียมนั้นจะโคจรรอบโลกด้วยความเร็วเท่ากับการหมุนรอบแกนของโลก ซึ่งทำให้ดาวเทียมทั้ง 3 ดวงนี้เสมือนอยู่กับที่มีสภาพเท่ากับดาวเทียมค้างฟ้า อาจใช้ดาวเทียมทั้ง 3 ดวงนี้เป็นสถานีถ่ายทอดที่จะสามารถรับส่งสัญญาณไปยังจุดต่าง ๆ ทั่วโลกได้
ประเทศรัสเซีย ได้ส่งดาวเทียมดวงแรก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ชื่อ สปุตนิค I (Sputnik) เพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศ
ในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของดาวเทียม คือองค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา( National Aeronautics and Space Administration = NASA)
ได้ส่งดาวเทียม Echo I เป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกที่สามารถสะท้อนสัญญาณ (ไม่สามารถขยายสัญญาณได็) กลับมายังพื้นโลกได้ ในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) บริษัท Bell Lab ได้ส่งดาวเทียม Telstar I และแสดงให้เห็นว่า สามารถรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ วิทยุโทรทัศน์ โทรพิมพ์ และโทรภาพระหว่างทวีป และประเทศในหมู่เกาะได้
จากการทดลองจำนวนมากเกี่ยวกับการสื่อสารดาวเทียม ในที่สุด สามารถจัดข่ายวงจรโทรคมนาคมระหว่างประเทศด้วยดาวเทียมเป็นระบบเดียวกันได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) การประชุมระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ ที่กรุงวอชิงตัน ได้จัดตั้ง องค์การดาวเทียมโทรคมนาคมระหว่างประเทศขึ้น ( International Telecommunication Satellite Consortium เรียกย่อว่า INTELSAT) โดยให้ประเทศต่าง ๆ มีหุ้นส่วนร่วมกัน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการวางแผน การพัฒนา การสร้างและการดำเนินงานของดาวเทียมสื่อสารพาณิชย์ โดยส่ง Intelsat I หรือ Early Bird ได้สำเร็จ โดยส่งขึ้นเหนือเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแอตแลนติก นับเป็นดาวเทียมชนิดอยู่กับที่
“อินเทลแซต” ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรตามจุดต่าง ๆ ในอวกาศเหนือพื้นโลก 3 จุดคือ
1. เหนือมหาสมุทรอินเดีย เพื่อการติดต่อระหว่างยุโรปกับเอเชีย
2. เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อการติดต่อระหว่างเอเชียกับอเมริกา
3. เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อการติดต่อระหว่างอเมริกากับยุโรป
ดาวเทียมเหล่านี้จะลอยอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร สูงจากผิวโลก 35,800 กม. ซึ่งความสูงขนาดนี้จะทำให้ดาวเทียมมีความเร็วเท่ากับ ความเร็วของโลกที่หมุนรอบแกนพอดี ทำให้ดูเหมือนลอยค้างฟ้า และที่จุดนี้จะสามารถส่งสัญญาณติดต่อครอบคลุมได้ 1/3 ของโลก เพื่อทำการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมทั้ง 3 ดวง ก็จะสามารถทำให้การติดต่อทั่วโลกได้เป็นไปได้อย่างทั่วถึง
สำหรับสหรัฐอเมริกาเองนั้น ได้สร้างดาวเทียมคอมเซต(Comsat) ขึ้นตามกฏหมายของการสื่อสารดาวเทียมที่เรียกว่า Kennedy Bill เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2505 และอินเทลแซตได้มอบหมายให้บริษัทคอมแซต (Communication Satellite Corporation=COMSAT) แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดการธุรกิจต่าง ๆ ตามนโยบายของอินเทลแซต ได้แก่ การจ้างออกแบบสร้างดาวเทียม การปล่อยดาวเทียม การกำหนดมาตรฐานสถานีคมนาคมภาคพื้นดิน ได้แก่ การจ้างออกแบบสร้างดาวเทียม การปล่อยดาวเทียม ฯลฯ
ประเทศไทย โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้เข้าร่วมโครงการ “อินเทลแซต” นี้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2509 โดยถือหุ้นร้อยละ 0.1 เป็นมูลค่าสองแสนเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4 ล้านบาท นับเป็นประเทศที่ 49 ที่ร่วมโครงการนี้ และได้สร้างสถานีภาคพื้นดินที่ตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ดาวเทียมสื่อสารทางธุรกิจ ได้ทยอยส่งขึ้นไปอีกตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2510 ส่งดาวเทียมอินเทลแซตที่ 2 หรือ Ranibird จำนวน 2 ดวงขึ้นเหนือเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิก และเหนือเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแอตแลนติก
พ.ศ. 2511 ส่งดาวเทียมอินเทลแซตที่ 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเหนือมหาสมุทรอินเดีย เพื่อสร้างระบบดางเทียมระหว่างประเทศคลุมไปได้ทั่วโลก (Global System) หรือระบบพื้นฐาน (Basic System)
พ.ศ. 2514 ได้ส่งดาวเทียม อินเทลแซต ที่ 4 ซึ่งมีขนาดใหญ่และความสามารถสูงยิ่งขึ้นไปอีกไปอยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก
พ.ศ. 2515 ได้ส่งดาวเทียม อินเทลแซตที่ 4 อีก 2 ดวงให้อยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตามลำดับ
ดาวเทียมอินเทลแซตที่ 4 เป็นดาวเทียมขนาดยักษ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร มีแถบความถี่ 500 MHz ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นช่องความถี่ 12 ช่อง ที่มีความกว้าง 36 MHz แต่ละช่องความถี่มีเครื่องทวนสัญญาณ (Repeater) ที่ติดตั้งสายอากาศลำคลื่นคลุมโลก ( Global Beam) ขนาดเล็ก ซึ่งมีความจุของการสื่อสารถึง 6,000 ช่องความถี่
การบริการที่แพร่สะพัดทางรับบดาวเทียมสื่อสารหรือดาวเทียมโทรคมนาคมได้มีการใช้มากในประเทศที่พัฒนาไปมากแล้ว คิดตามจำนวนเวลาแล้ว โดยทั่วไปมักจะเป็นจากแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาไปเปอร์โตริโก และฮาวาย สหรัฐอเมริกาไปลาตินอเมริกา และยุโรปไปสหรัฐอเมริกา
ในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก มักเป็นการแพร่สะพัดจากฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ไปสู่ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็จะมีการแพร่สะพัดจากฝั่งตะวันออกจากฮ่องกง ญี่ปุ่นไปสหรัฐอเมริกา แต่สถานีภาคพื้นดินในย่นมหาสมุทรอินเดียมีจำนวนการส่งรายการน้อยมาก
ประเทศไทยมีสถานีภาคพื้นดินเพื่อรับสัญญาณทั่วโลกรวม 24 สถานี เพื่อให้บริการโทรศัพท์ โทรเลขและถ่ายทอดรายการวิทยุโทรทัศน์จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยใช้ดาวเทียมสำหรับบริการถ่ายทอดวิทยุโทรทัศน์ 2 ดวง คือ ปาลาปา บี และ อินเทลแซต 5 ดวง 60 อาศาตะวันออก ความมุ่งหมายในการใช้เพื่อเป็นการเชื่อมโยงสัญญาณจากรุงเทพฯ ไปยังสถานีในต่งจังหวัดทั่วประเทศ มิใช่ส่งให้ประชาชนรับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตรง ประชาชนยังคงรับสัญญาณจากสถานีท้องถิ่นของเครือข่ายซึ่งจะรับสัญญาณจากดาวเทียมด้วยจาน และเครื่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน เปลี่ยนสัญญาณให้เป็นสัญญาณภาพและเสียงด้วยอิเล็กทรอนิกส์อันสลับซับซ้อน แล้วส่งเข้าเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์ ขยายสัญญาณให้มีกำลังส่งออกอากาศไปเข้าเครื่องรับโทรทัศน์ตามบ้านประชาชน
ประเทศไทยไม่มีดาวเทียมของตนเอง และไม่มีดาวเทียมประเภทที่รับตรงจากดาวเทียม (DBS หรือ Direct Broadcasting Satellite) ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นราย ๆ ไป
ข่าวสารที่รับส่งกันทางด้านสื่อสารโทรคมนาคม หรือการติดต่อสื่อสารระยะไกลนั้น ยกได้เป็น 3 ประเภท คือ ข่าวสารประเภทเสียง (เช่น โทรศัพท์) ข่าวสารประเภทอักขระ (เช่น โทรสาร เทเล็กซ์) และข่าวสารประเภทภาพ (โทรภาพ วิดิโอเท็กซ์)
วิวัฒนาการที่สำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารที่กำลังจะมีบทบาทอย่สางยิ่งสำคัญยิ่งในวงการสื่อสารต่อไป ได้แก่ การพัฒนา “ข่ายโทรคมนาคมร่วมแบบดิจิตอล” (Integrated Services Digital Network หรือ ISDN) คือเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมระบบดิจิตอลที่สามารถให้บริการโทรคมนาคมได้หลายบริการพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ประหยัดและมีความยืดหยุ่นในการจัดให้บริการสื่อสารหลายประเภท ข่าวสารทั้งหมดจะถูกส่งไปในรูปสัญญาณดิจิตอลผ่านชุมสายหรือวงจรสื่อสารแบบดิจิตอลทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการสื่อสารที่ซับซ้อนและหลากหลาย เป็นการกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคม อำนวยความสะดวกให้แก่วิถีชีวิตของมนุษย์ และการเพิ่มพูนความสุข ในขณะเดียวกัน ISDN จะมีผลกระทบต่อสังคมและมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน

















Create Date : 15 ธันวาคม 2550
Last Update : 15 ธันวาคม 2550 9:02:32 น. 0 comments
Counter : 1992 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Naysor
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




[Add Naysor's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com