Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
21 กันยายน 2554
 
All Blogs
 

ความรู้เรื่องขี้เทาในน้ำคร่ำ

พอดีว่าเพิ่งเจอกระทู้เกี่ยวกับเบบี๋สำลักน้ำคร่ำไปเมื่อวันก่อน อ่านแล้วแอบตกใจอะเพราะว่าไม่รู้เรื่องเลยว่าเค้ามีเรื่องแบบนี้ด้วย อ่านเสร็จแล้วรีบ search อากู๋โดยด่วน ด้วยความอยากรู้ว่ามีคนเป็นแบบนี้เยอะมั้ย กลัว่าตอนเราคลอดจะมีโอกาสเป็นแบบนี้รึเปล่า ตามธรรมชาติของคนขี้นอยด์ แหะๆๆๆ

แล้วยิ่งที่อ่านมา เค้าบอกว่า ถ้าสำลักน้ำคร่ำธรรมดาก็ไม่อันตรายอะไรมากมาย แต่ถ้าสำลักน้ำคร่ำที่มีขี้เทาปนอยู่ จะทำให้ปอดอักเสบ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเบบี๋เลยทีเดียว อ่านแล้วนอยด์ขึ้นมาอีก 3 เลเวล -*-

ด้วยความอยากรู้ว่า แล้วมันเพราะอะไรที่ทำให้เกิดขี้เทาในน้ำคร่ำได้ แล้วเราจะมีวิธีรู้ได้ยังไง ก้อยเลยไป search ข้อมูลมา เอามาแปะไว้ในบลอคเผื่อจะเป็นประโยชน์นะคะ



ข้อมูลจากเวป //thaifittips.com/health/?p=240 นะคะ

ภาวะสำลักน้ำคร่ำเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตได้ครับ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 5-10% โดยเฉพาะเมื่อทารกได้รับออกซิเจนระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่พอ หรือเมื่อเด็กในครรภ์มีอายุเกินกำหนดคลอด

เมื่อทารกได้รับออกซิเจนระหว่างที่อยู่ในครรภ์ไม่พอ จะทำให้ทารกถ่ายขี้เทาออกมา ซึ่งการถ่ายขี้เทาออกมาเป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนักมีการคลายออก ร่วมกับมีการหายใจเข้าครับ และการหายใจเข้าระหว่างที่อยู่ในครรภ์ (ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำคร่ำ) จะทำให้ทารกหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าสู่ปอด แล้วอุดกั้นทางเดินหายใจ

ความเสี่ยงได้แก่

- การได้รับออกซิเจนระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่เพียงพอ
- มารดาเป็นโรคเบาหวาน
- มารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงระหว่างอยู่ในครรภ์

อาการ

- เด็กทารกเขียว
- เด็กทารกหายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือหยุดหายใจ
- น้ำคร่ำมีสีเขียวปนเหลือง ซึ่งมาจากการที่ทารกถ่ายน้ำคร่ำออก
- น้ำหนักน้อย
- ผิวหนังลอก

การตรวจและการวินิจฉัย

ก่อนเกิด ทารกในครรภ์อาจจะได้รับการตรวจพบว่าหัวใจเต้นช้าลงครับ และเมื่อเด็กเกิดออกมาอาจพบว่ามีขี้เทาปนอยู่ในน้ำคร่ำ เมื่อเด็กคลอดออกมาจะฟังเสียงหายใจของเด็กทารก และถ้าได้ยินเสียงผิดปกติร่วม การเอกซเรย์ปอดก็จะช่วยในเรื่องของการวินิจฉัยครับ

การรักษา

แพทย์จะดูดเอาน้ำคร่ำจากหลอดลมทันทีที่เด็กเกิดออกมาครับ หลังจากนั้นแพทย์อาจใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ดูดน้ำคร่ำออกมาได้ง่ายมากขึ้น

การรักษาอื่นๆ

- ยาปฎิชีวนะ แพทย์อาจสั่งยาปฎิชีวนะครับ เพราะอาการหอบเหนื่อยในเด็กแรกเกิดอาจมีสาเหตุมาจากปอดอักเสบได้ครับ
- การใช้เครื่องช่วยหายใจ
- การนำทารกเข้าเลี้ยงไว้ในตู้อบเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย

ถ้าเด็กมีการสำลักน้ำคร่ำมากและจำเป็นที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ภาวะขาดออกซิเจนอาจทำให้สมองได้รับความเสียหาย ผลลัพธ์ของการรักษาขึ้นกับสมองได้รับความเสียหายมากหรือน้อยเพียงใด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

- ปอดอักเสบ
- สมองได้รับความเสียหายจากภาวะขาดออกซิเจน
- หายใจลำบาก
- ความดันในปอดสูง

การป้องกัน

ที่ทำได้คือการป้องกันความเสี่ยงครับ ถ้ามารดาถุงน้ำคร่ำแตกที่บ้านให้รีบไปพบแพทย์ครับ ไม่ว่าน้ำคร่ำจะเป็นสีใส หรือมีสีเหลืองปนเขียวก็ตาม

แพทย์จะตรวจครรภ์ครับว่าเด็กทารกในครรภ์มีภาวะขาดออกซิเจนหรือไม่ ถ้ามีอาจจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมการรักษาให้ทันท่วงทีครับ






อันนี้จากอีกเวปนึงค่ะ อธิบายได้ดีเหมือนกัน ขออนุญาติลงไว้นะคะ
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=68


เรื่องของภาวะสูดสำลักขี้เทา เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด จากการที่มีการสูดสำลักเอาขี้เทาของตนเองเข้าไปตั้งแต่ที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ตามปกติเด็กก็ควรจะถ่ายขี้เทาประมาณ 18-24 ชั่วโมง หลังคลอดซึ่งถือว่าปกติ

ขี้เทาเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและมีลักษณะอย่างไร

จริง ๆ ขี้เทานี้ ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือ อุจจาระของเด็กทารกแรกเกิดอยู่แล้ว ซึ่งโดยปกติเด็กจะสร้างเองได้ตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ตั้งแต่ประมาณช่วงเดือนที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ เด็กก็จะเริ่มสร้างขี้เทาออกมาในลำไส้ใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะอยู่ในนั้น ไม่ได้สร้างเรื่องอะไรให้เกิดปัญหาตามมาจนกว่าจะมีภาวะบางอย่างที่เกิดปัญหาขึ้น

ภาวะการสูดสำลักขี้เทาพบมากน้อยเพียงใด

จริง ๆ แล้วในประเทศไทยเท่าที่ทราบยังไม่มีใครรวบรวมสถิติจริง ๆ จัง ๆ ต้องใช้สถิติของต่างประเทศมาอ้างอิงอุบัติการณ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะการสูดสำลักขี้เทา ทารกจะมีอุจจาระออกมาอยู่ในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่แรก และลักษณะอุจจาระนี้ที่เรียกว่าขี้เทา ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ทำให้มีลักษณะ มันเหนียวเขียวจนเกือบจะดำ เราจึงเรียกว่าเป็นขี้เทา ซึ่งจะมีตั้งแต่ไขของตัวเด็กเอง หรือเป็นขนอ่อน ๆ ของตัวเด็กเอง น้ำคร่ำ หรืออะไรที่ปนอยู่ด้วยกัน ถ้าเด็กอยู่ในครรภ์มารดาแล้วไม่มีปัญหาอะไรระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีการถ่ายขี้เทาตัวนี้ออก หรือว่าเด็กบางคนหรือการตั้งครรภ์ของคนที่มีปัญหา ก็อาจจะทำให้เด็กถ่ายอุจจาระนี้ออกมาปะปนอยู่ในน้ำคร่ำ อุบัติการณ์ของน้ำคร่ำของคุณแม่มีขี้เทาปน พบได้ประมาณร้อยละ12-13 ในสถิติของต่างประเทศ และจากเด็กที่มีน้ำคร่ำนี้อยู่ในขณะที่ตั้งครรภ์พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ที่อาจจะมีภาวะสูดสำลักขี้เทานี้เข้าไป เพราะฉะนั้นอุบัติการณ์จริง ๆ มันคงดูไม่เยอะมาก เพียงแต่ว่าเราเปรียบเทียบกันว่าเรารู้ว่ามีการถ่ายขี้เทาออกมาในน้ำคร่ำ

สาเหตุของการเกิดภาวะสูดสำลักขี้เทาเกิดขึ้นได้อย่างไร

การที่เด็กทารกที่อยู่ในครรภ์ถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนด ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีการขาดเลือดไปเลี้ยงทารก อาจจะเกิดจากสาเหตุของโรคประจำตัวของคุณแม่ หรือสาเหตุของตัวทารกเองหรือสาเหตุจากอะไรก็ตามที่ไปทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกผ่านสายสะดือแม่น้อยลงแล้วก็จะมีปฏิกิริยาทางระบบประสาทกระตุ้นทำให้เด็กมีการถ่ายขี้เทาออกมา ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีหลายสาเหตุ เช่น ในคุณแม่ที่อาจจะพบปัญหาจากการเจ็บป่วยบางอย่างที่มีผลกระทบไปยังการไหลเวียนของเลือดที่ไปที่ลูกก็จะไปกระตุ้นให้มีภาวะนี้เกิดขึ้นได้

อันตรายจากภาวะนี้มากน้อยเพียงใด

ปัญหาของคุณแม่ก็จะเป็นเรื่องการเจ็บป่วยของตัวเองมากกว่า แต่ว่าปัญหาของทารกที่มีการถ่ายขี้เทาออกมาแล้วส่วนใหญ่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวลูก จริง ๆ แล้วภาวะนี้พบได้น้อยในเด็กที่คลอดใกล้ครบกำหนดหรือเกินกำหนด เพราะฉะนั้น ผลที่กระทบส่วนหนึ่งที่เราทราบก็คือ เมื่อเด็กทารกมีอายุครรภ์มากขึ้น สภาพเลือด หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหรือแม้กระทั่งสภาพของรกของตัวแม่เองจะเสื่อมสภาพไปด้วย ซึ่งหมายถึงการเกินเวลา ตรงนี้เองที่จะเป็นปัญหาค่อนข้างมาก อันตรายที่เกิดกับทารกเองจริง ๆ จึงมากกว่า นั้นก็คือ มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนเลือด เด็กจะมีอาการหายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก คือจะมีลักษณะเหมือนปอดอักเสบ เพราะว่าตัวขี้เทานี้มีลักษณะเหนียวมาก ถ้าเด็กสูดสำลักเข้าไปแล้ว โอกาสที่จะไปอุดตันทางเดินหายใจ ถุงลมเล็ก ๆ หรือระดับที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ ในปอด ก็ค่อนข้างจะอันตราย ซึ่งถ้าอุดเต็มที่อากาศไม่ผ่านเลย ปอดส่วนนั้นก็จะมีปัญหาการแลกเปลี่ยนก๊าซ แต่ในบางส่วนที่อาจจะอุดไม่เต็ม 100% คือ อากาศจะผ่านเข้าได้ แต่มักจะออกไม่ได้ ก็เหมือนกับว่าทำให้มีปอดโป่งพองออก เช่น ปอดบางส่วนอาจมีส่วนแฟบบ้าง บางส่วนโป่งพองบ้าง หลังจากนั้นก็จะมีการอักเสบของเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งมีผลทำให้เด็กหายใจหอบหลังคลอด ถ้าเป็นมาก ๆ บางครั้งก็จะทำให้เด็กขาดออกซิเจน แล้วก็จะไปกระทบต่อการไหลเวียนเลือดไปอีกต่อหนึ่ง

แพทย์สามารถที่จะวินิจฉัยล่วงหน้าได้หรือไม่

จริง ๆ ถ้าจะตรวจสอบว่ามีขี้เทาปนอยู่ในน้ำคร่ำหรือไม่คงยาก เพราะส่วนใหญ่คุณแม่ที่จะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องว่า คุณแม่มีน้ำเดินก่อนคลอด แล้วพอแพทย์ตรวจก็จะพบว่า น้ำคร่ำที่มีลักษณะเหมือนขี้เทาปน การที่แพทย์จะไปเจาะน้ำคร่ำ เพื่อเป็นการตรวจว่ามีขี้เทาปนหรือไม่ จะต้องมีข้อบ่งชี้ที่สำคัญ เพราะการที่จะไปเจาะถุงน้ำ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคลอดอย่างหนึ่ง ถ้าเวลาไม่เหมาะสม ก็คือว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถเจาะถุงน้ำคร่ำได้ ก็คงไม่มีโอกาสทราบว่ามีน้ำคร่ำที่ปนขี้เทาหรือไม่ เพียงแต่ว่าในรายที่มีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปแพทย์จะประเมินสภาพเด็กในครรภ์ เพราะว่าภาวะในการที่เด็กทารกมีการถ่ายขี้เทาออกมา มักจะมีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างทีทำให้มีการขาดเลือดไปเลี้ยงทารก บางครั้งเราได้ทราบสาเหตุแต่เด็กบางรายอาจจะแสดงอาการก่อนคลอด เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ เต้นช้าลง เต้นเร็วขึ้น ในช่วงที่มีการเข้าสู่ระยะของการคลอด อันนี้จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าเด็กจะมีอะไรที่เตือนให้เราทราบว่าตอนนี้เด็กมีปัญหา แพทย์ก็จะต้องมีการประเมินเป็นระยะ มีการวางแผนว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อดูแลให้เด็กดีขึ้น

มีวิธีการรักษาอย่างไร

เริ่มตั้งแต่เราทราบว่าทารกคนนี้มีการถ่ายขี้เทาออกมา เช่น มีน้ำเดินและทราบตำแหน่ง หรือทราบในระหว่างที่ทำการคลอด สูติแพทย์จะมีการช่วยเหลือให้สภาพของคุณแม่ดีขึ้น ตั้งแต่ระยะที่การคลอด เริ่มให้ออกซิเจนเมื่อเด็กจะคลอดออกมาโดยสมบูรณ์ทั้งตัวแพทย์จะทำการดูดน้ำคร่ำที่ปนเปื้อนขี้เทา ที่อาจจะค้างอยู่ในช่องปากของเด็กหรือลำคอของเด็กออกมาด้วยลูกยางหรือสายยาง ก่อนที่เด็กคลอดตัวออกมาชัดเจน เพื่อ
ไม่ให้เด็กสูดสำลักมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ภาวะนี้รุนแรงขึ้น เมื่อเด็กคลอดออกมาชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กสูดสำลักเข้ามามากขึ้น เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว แพทย์จะประเมินสภาพเด็กว่า มีอาการของภาวะสูดสำลักขี้เทาหรือไม่ เช่น เด็กอาจจะมีอาการหายใจผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ก็จะถ่ายภาพเอกซ์เรย์หรือถ่ายภาพรังสีปอดเพื่อให้การรักษาต่อไป

ระยะเวลาในการรักษามากน้อยเพียงใด

หากอาการไม่รุนแรง คือมีอาการหายใจลำบากแต่อาการดีขึ้นเมื่อเราให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น โดยที่เด็กอาจจะไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็ประมาณ 7-10 วัน เพราะบางครั้งแพทย์อาจจะต้องมีการประเมินว่าทำไมจึงมีอาการสูดสำลัก เพราะอาจจะมีอาการติดเชื้อแอบแฝงอยู่ ควรจะต้องให้ยาปฏิชีวนะด้วย แต่ในอีกกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่รุนแรงมากขึ้น ในกลุ่มนี้เมื่อภาวะตัวขี้เทาไปอุดกั้นทำอันตรายมากขึ้น เด็กก็อาจจะไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้เพียงพอ ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมักจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเรียกว่า ต้องอยู่ในหออภิบาลของทารกแรกเกิด เพื่อมีการดูแลอย่างใกล้ชิดมาก ๆ ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา หรือถ้าเกิดมีภาวะแทรกซ้อนของระบบไหลเวียนเลือดค่อนข้างมาก บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลานานในการรักษา ซึ่งอาจจะเกินสัปดาห์ขึ้นไป

จะมีผลแทรกซ้อนที่จะตามมาภายหลังบ้างหรือไม่

ผลแทรกซ้อนต่าง ๆ จะอยู่กับสาเหตุว่าทำไมเด็กมีอาการถ่ายขี้เทา ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ไม่ทราบอะไรเลยว่าทำไมเด็กต้องถ่ายขี้เทาออกมา เราอาจจะประเมินคร่าว ๆ จากสภาพเด็กที่ออกมาในครั้งแรกว่าเด็กขาดออกซิเจนมากน้อยเพียงใด ถ้าขาดออกซิเจนมาก แพทย์จำเป็นต้องบอกให้คุณพ่อ คุณแม่ว่าโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ก็คงมีบ้าง เช่น สติปัญญา คงต้องติดตามเป็นระยะ ๆ ในรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจค่อนข้างสูง ก็อาจจะมีผลแทรกซ้อนต่อระบบการทำงานของการหายใจ คือสมรรถภาพของปอดที่ต่อเนื่องมาได้เหมือนกัน

ภาวะสำลักขี้เทาสามารถป้องกันได้หรือไม่

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะแนะนำก็คือ คุณแม่ควรมาตรวจครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สูติแพทย์ได้ดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ถ้ามีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ จะได้มีการวางแผนล่วงหน้าและอาจจะมีการช่วยเหลือเพื่อลดความรุนแรงให้น้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การฝากครรภ์และมาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
ถ้าคุณแม่มีการฝากครรภ์และมีการดูแลสุขภาพครรภ์ที่ดี ถ้าสมมุติว่าเด็กมีปัญหาอะไร สูติแพทย์และกุมารแพทย์ก็จะช่วยดูแลอย่างเต็มความสามารถ เพื่อจะป้องกันทารกที่เกิดออกมามีปัญหาเรื่องผลแทรกซ้อนตามมาได้





ทีนี้ เท่าที่ก้อยอ่านละเนี่ย ยังไม่สามารถไขปัญหาที่ก้อยคิดไว้เองได้ ปัญหาที่คิดไว้แบบโง่ๆนะคะ คิดเองค่ะ ว่าการได้รับออกซิเจนระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่เพียงพอเนี่ย มันต้องขาดออกซิเจนระดับไหนถึงจะทำให้เกิดปัญหาขี้เทาในน้ำคร่ำได้

สมมุติเช่น การที่เรามีการกลั้นหายใจเวลาเดินผ่านคนสูบบุหรี่, เผาขยะ (กลั้นหายใจนานๆ) หรือมีการกลั้นหายใจตอนออกกำลังกาย เช่นกลั้นหายใจดำน้ำเล่นๆ หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (คนนอนกรน)อะไรแบบนี้อะค่ะ มันทำให้ถึงขนาดที่ทำให้เบบี๋ขาดออกซิเจนได้รึเปล่า เพราะส่วนตัวก็ชอบกลั้นหายใจเวลามีคนสูบบุหรี่ เหม็นขยะ บลาๆๆๆ อะไรอย่างงี้บ่อยๆ ทีนี้ก็กลัวสิคะ เลยไปตั้งกระทู้ถาม

//www.pantip.com/cafe/family/topic/N11096185/N11096185.html

คุณฟ้าหมาดฝนทราบว่าเป็นคุณหมอสูติ มาตอบไว้ว่า ...

แหล่งให้ออกซิเจนแก่เด็กคือรกและสายสะดือค่ะ
เด็กจะขาดออกซิเจนก็ต่อเมื่อรกหรือสายสะดือมีปัญหา
เช่น รกเสื่อม รกลอก(เหมือนอีกกระทู้แนะนำทู้นึงนะคะ)
สายสะดือตีบ สายสะดือพับงอ (เช่นสายสะดือเกาะขอบรก)
ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาอะไรตอนอยู่ในครรภ์ตามปกติ
แต่ถ้าเกิดการเจ็บครรภ์ มีการบีบตัวของมดลูกถี่ๆ
จะกดให้ออกซิเจนต่ำ จนเด็กทนไม่ไหว และเสียงหัวใจเต้นช้าลง
ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนให้แพทย์ทราบว่าเด็กมีปัญหาค่ะ

สรุปว่าการกลั้นหายใจในแม่ ไม่มีผลอะไรค่ะ
แต่ถ้าแม่เป็นโรคหัวใจ/ปอด แบบรุนแรงเลย จนออกซิเจนในเลือดต่ำ ก็มีผลค่ะ



เฮ้อ... อ่านแล้วก็สบายใจค่ะ เพราะว่าแอบกลัวเหมือนกัน ยังไงบลอคหน้านี้น่าจะพอมีประโยชน์อยู่บ้างน๊าาา สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่แอบนอยด์เรื่องภาวะขี้เทาในน้ำคร่ำเหมือนก้อย อิอิ




 

Create Date : 21 กันยายน 2554
0 comments
Last Update : 21 กันยายน 2554 22:07:59 น.
Counter : 13355 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ka-ka
Location :
ระยอง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Kaka Koi

Create Your Badge

Web Page Visitor Counters
Send Fresh Flowers

Friends' blogs
[Add ka-ka's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.