สบตา : นักวิทยาศาสตร์กับเด็กหญิงนก
นักวิทยาศาสตร์- โครงสร้างดวงตาของคนเราแบ่งออกเป็นสามชั้น
ชั้นนอกสุดประกอบด้วยกระจกตา ซึ่งมีลักษณะโปร่งใส สิ่งต่างที่ที่เรามองเห็นจะผ่านกระจกตามาเป็นอันดับแรก ส่วนที่เหลือคือตาขาว ทั้งสองส่วนรวมกันเรียกว่าสเคลอรา
ชั้นกลางประกอบด้วยม่านตา ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถขยายหรือหดขนาดของรูม่านตา เพื่อควบคุมปริมาณของแสงที่ผ่านเข้ามาให้เหมาะสม ม่านตาของคนสามารถมีสีต่างๆได้ เช่น สีดำ สีฟ้า สีเขียว สีน้ำตาล ม่านตาและรูม่านตารวมกันเรียกว่าคอรอยด์
ชั้นในสุดประกอบด้วยเลนส์ตา มีลักษณะเป็นเลนส์นูน โดยมีกล้ามเนื้อเล็กๆที่เรียกว่ากล้ามเนื้อยึดเลนส์ทำหน้าที่ยืดหดตัว ควบคุมให้เลนส์ตาสามารถปรับความหนาบางเพื่อที่จะหักเหแสงให้ตกกระทบลงบนเรตินาพอดี เรตินาคือส่วนที่เป็นผนังชั้นในสุดทำหน้าที่เป็นฉากรับแสง จากนั้นเซลล์ประสาทรับแสงจะส่งกระแสข้อมูลไปยังสมองเพื่อแปลความหมายให้เป็นภาพต่างๆต่อไป
เด็กหญิงนก- คุณพ่อเคยบอกว่าดวงตาของหนูเหมือนคุณแม่ ตากลมใสมีแววซุกซนวิ่งเล่นอยู่ในดวงตาตลอดเวลา แต่คุณแม่กลับบอกว่า ดวงตาหนูเหมือนคุณพ่อ แม่บอกคุณพ่อตาเจ้าชู้..
นักวิทยาศาสตร์- คนเราสามารถรับรู้สีของวัตถุได้โดยการที่มีแสงตกกระทบลงบนวัตถุนั้นแล้วสะท้อนเข้าสู่ดวงตา
แสงจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประกอบด้วยคลื่นที่มีความถี่ต่างๆกัน เมื่อแสงขาวจากดวงอาทิตย์ผ่านแท่งปริซึม จะเห็นแถบสีเรียงกันตามลำดับความถี่ของแต่ละแสงสีนั้น แสงสีที่ดวงตาของเรามองเห็นได้สามารถเรียงตามลำดับความถี่จากน้อยไปมาก ดังนี้ แดง(405-480 THz) ส้ม(480-510 THz) เหลือง(510-530 THz) เขียว(530-600 THz) น้ำเงิน(600-620 THz) คราม(620-680 THz) ม่วง(680-790 THz) นอกเหนือจากช่วงความถี่ดังกล่าว เราไม่สามารถมองเห็นแสงสีได้
เมื่อแสงตกกระทบกับวัตถุ วัตถุจะดูดกลืนบางความถี่คลื่นแสงสีอื่นไว้และสะท้อนเฉพาะคลื่นความถี่แสงที่มีอยู่ในตัวเองออกมา คลื่นดังกล่าวผ่านเข้าสู่ดวงตาทางกระจกตา จากนั้นเลนส์ตาจะหักเหแสงให้เข้ามาตกกระทบลงบนเรตินาที่อยู่ทางด้านหลัง เซลล์ประสาทรูปกรวยบนเรติน่าจะทำหน้าที่แบ่งแยกสีออกตามแต่ละความถี่ของแถบสี โดยมีเซลล์ที่ไวต่อแสงสีต่างกันมากที่สุดสามสี คือ แดง เขียวและน้ำเงิน ซึ่งจะแสดงผลของสีไปยังสมองตามอัตราส่วนของแสงสีที่เข้ามากระทบ
เด็กหญิงนก- ในวิชาวาดเขียน หนูวาดรูปทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน ด้านหลังเป็นท้องฟ้าสีชมพู มีรุ้งกินน้ำเป็นเส้นโค้งเรียงกันทั้งหมดสิบสองสี แดง เขียว ม่วง เหลือง ชมพู ฟ้า ส้ม ดำ น้ำเงิน คราม ขาว น้ำตาล คุณครูบอกว่าหนูวาดรูปไม่สวย..
นักวิทยาศาสตร์- คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีความเร็วจำกัดที่ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที (เท่ากับความเร็วของแสง) ดังนั้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลนั้นต้องใช้เวลาในการเดินทาง เราจึงเห็นภาพในอดีตของดวงดาวบนท้องฟ้า
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากดาวซิริอุสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ที่เราเห็นนั้น คืออดีตของมันเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เนื่องจากดาวซิริอุสอยู่ห่างจากโลกของเราเป็นระยะทางประมาณ 8 ปีแสง
กาแลกซี่แอนโดรเมดาอยู่ห่างออกไป 2.9 ล้านปีแสง หากเราสามารถมองเห็นกลุ่มดาวบางกลุ่มในนั้นได้ สิ่งที่เราเห็น ณ ปัจจุบัน ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นเมื่อสองล้านเก้าแสนปีที่แล้ว
เด็กหญิงนก- คืนนี้ฟ้าสวยจัง มีดวงดาวระยิบระยับเต็มไปหมด หากมีใครอยู่บนนั้น เขาจะมองเห็นหนูไหมนะ? แต่ถ้ามีจริงๆและกำลังมองมาที่นี่แล้วล่ะก็ เขาจะต้องเห็นหนูยิ้มให้อย่างแน่นอน..
นักวิทยาศาสตร์- ความรักและความรู้สึกผูกพันเป็นปรากฏการณ์ทางอารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ สารบางอย่างในสมอง เอ่อ.. อาจเป็นกระแสไฟฟ้าเคมี อืม..
หรือ..อาจเป็นกลไกอันซับซ้อนของสมองที่ได้รับการกระตุ้นจากประสาทสัมผัสทางกายภาพ ที่มากระทบกับสมองส่วนที่เรียกว่านีโอคอร์เท็กซ์ ซึ่ง.. อาจจะเป็นการทำงานอย่างผสมผสานกันระหว่าง.. เอ่อ..
หากมองในแง่ของวิทยาศาสตร์แล้ว ความรักคือ.. อ้ะ..ไม่ใช่..
ขอเวลาไปค้นค้วาข้อมูลและทำการทดลองเพิ่มเติมอีกสักหน่อย..
เด็กหญิงนก- หนูรักคุณพ่อ รักคุณแม่ รวมทั้งคุณครูและเพื่อนๆที่โรงเรียนด้วยค่ะ แล้วก็เจ้าพุดดิ้ง หมาสีขาวของหนูด้วย..
แล้ววันหนึ่ง เด็กหญิงนกก็เติบโตขึ้น.. เป็นนักวิทยาศาสตร์..
...เห็นเงาในตาฉันไหม เห็นเธออยู่ในนั้นไหม รู้ใจกันบ้างไหม ว่าฉันนั้นคิดอะไร...
เพลง สบตา อยู่ในอัลบัม Andrea
Create Date : 05 กันยายน 2549 |
Last Update : 22 กันยายน 2549 19:36:20 น. |
|
0 comments
|
Counter : 520 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|