Keep Memories Alive in my Diary
[Life&Travel #01] . . . . . "รอยยิ้มปนคราบน้ำตา บนท้องนาแห่งชีวิต ". . . . .

.....
ขอวางแผง นิตยสาร Life & Travel ฉบับปฐมฤกษ์อย่างเป็นทางการครับ
ครบทุกรสชาติทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เที่ยวแบบตามใจฉัน รวมทั้ง
รีวิวที่พักทุกรูปแบบทั้งระดับหรูหราและแบบคุ้มราคา มีอะไรติชมมาได้ทั้งทางหลังบ้านและอีเมลล์ครับ [suwicharn_leo@hotmail.com]




......

แด่ทุกหยาดเหงื่อและจิตวิญญาณของชาวนาไทยทุกคน...

......





......


วันนี้แดดดีไม่น้อย แม้อากาศจะยังไม่หนาวมากนัก
แต่ก็พอให้คนกรุงอย่างผมได้รู้สึกดีบ้างที่ไม่เสียแรงที่แบกตัวเองมาไกลหลายร้อยกิโล

มีมุมหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่เงียบสงบ
หากคุณได้ลองขับรถผ่านไปทางแม่ริม ผ่านแม่มาลัย ก็จะพบกับ อ.แม่แตง จุดหมายปลายทางของผมในวันนี้นี่เอง...

เป็นครั้งแรกของผมกับการมาเยือนแม่แตง อำเภอเล็กๆ ที่ยังสงบและมีกลิ่นอายของท้องทุ่งให้ได้สัมผัส




......


เลี้ยวเข้าไปทางเขื่อนแม่.งัด ผ่านเทศบาลเมืองแกนไปอีกราว 10 กิโลเมตร
ถ้ามาในช่วงปลายฝนต้นหนาว สองข้างทางจะอุดมไปด้วยทุ่งนาที่ทอแสงสีทองอร่ามสวยงามเป็นยิ่งนัก

ถามว่าผมทราบได้อย่างไร ก็เนื่องจากตาเหลือบไปเห็นป้ายโฆษณาการท่องเที่ยวของ เทศบาลเมืองแกนนี่แหละ

โชคไม่ค่อยดีเท่าไหร่....
ผมมาในช่วงที่เค้ากำลังเกี่ยวข้าวกันไปแล้วเกือบ 70-80%



ไม่มีความสวยงามของทุ่งนา แต่พบความสวยงามของวิถีชีวิตแทน...




......

คนที่นี่ส่วนใหญ่ยังคงมีวิถีชีวิตเป็นเกษตรกรจริงๆ คือทำไร่ไถนา ไปตามฤดูกาล
เป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก็สัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกนึงจริงๆ ....

ใช้เวลาไม่นานจากสามแยกเทศบาลเมืองแกน
ผมมายืนอยู่ในบ้านแม่โจ้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่กำลังพึ่งพาตัวเอง เป็นเกษตรกรที่กำลังพัฒนาตัวเองให้โตอย่างเข้มแข็งด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ที่หลายคน หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ

พลันสายตาเหลือบไปเห็นชาวนากลุ่มนึงกำลังรวมกลุ่มกันทำบางสิ่งบางอย่างอยู่ไกลๆ

ผมไม่รอช้าที่จะถีบตัวเองให้เข้าไปใกล้ขึ้น
ทีละก้าว ทีละก้าว อย่างช้า โดยไม่รบกวนชาวนากลุ่มนี้


ระยะเวลาเพียงสั้นในมุมเล็กๆ ….
ที่ทำให้ผมมองชาวนาอย่างที่ไม่เคยมอง


และพาลให้สมองต้องย้อนไปนึกถึงบทกวีบทหนึ่งลอยขึ้นมาทันใด...



......


"เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว

จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ

เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน

น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน"



......


“เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกินจึงก่อนเกิดมาเป็นผล....”

บทกวีโดย จิตร ภูมิศักดิ์ บทกวีที่สะท้อนภาพของสังคมซึ่งจะว่าไปออกจะเสียดสีมากกว่าด้วยกระมัง

จากบทกวีกลายมาเป็นตำนานเสียงเพลงแห่งชีวิต...จนเป็นหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ปลุกระดมในการต่อสู้ทางการเมือง ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นเนื้อหาในบทเรียนวิชาภาษาไทยในยุคหนึ่ง

ยุคที่บทกวีคลาสสิคนี้ทำให้ผมต้องน้ำตาจะไหลตอนท่องหน้าชั้นเพื่อเก็บคะแนนในวิชาภาษาไทย เป็นน้ำตาแห่งความปีติ ที่ท่องได้จนจบบท หลังจากขลุกอยู่กับบทกวีนี้มาทั้งอาทิตย์ สมัยเด็กๆ นี่ชีวิตเด็กไทย ต้องท่องบทอะไรพวกนี้เยอะจริงๆ ครับ ....


เชื่อว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกับผมต้องเคยได้มีสักครั้งต้องท่องบทกลอนนี้
รู้สึกว่าตำราในยุคปัจจุบันจะเลือนหายไปแล้ว ด้วยมั้ง

บางทีก็แอบสงสัยเหมือนกันว่าเด็กสมัยนี้เรียนอะไรกัน
ทำไมไม่ปลูกฝังในเด็กรุ่นใหม่ๆ รักในพื้นดินและสายน้ำบ้างหนอ





......

บทกวี "เปิบข้าวทุกคราวคำ" นี้ ดูเผินๆ...ไม่พิจารณาถึงความไพเราะ จะพบอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่และมองได้หลายมุมมาก


สะท้อนเรื่องจริง ?
เสียดสี ?
ลำเลิกบุญคุณ ?


จะด้วยเหตุผลกลใด จะด้วยแรงบัลดาลใจในสิ่งที่ได้พบหรือเจตนาแอบแฝงใดๆก็ตามของ จิตร ผู้ประพันธ์


กว่า 50 ปีผ่านไป …คิดแบบอคติน้อยที่สุด
ผมว่า...บทกวีนี้ก็ยังใช้ได้อยู่


ใช้ได้ตรงที่ให้เราได้ “ฉุกคิด”



มองในมุมหนึ่งกวีบทนี้ต้องการกระตุ้นเตือนจิตสำนึก
ให้คนอ่านเห็นคุณค่าของ "ข้าว" และ "ชาวนา"


อาชีพที่ค่านิยมของสังคมในยุคทุนนิยม
และไหลไปกับกระแสบริโภคนิยมแบบคนเมืองกันมากๆ

มองว่า “ต่ำต้อย”



......

สำหรับชาวนาในพื้นที่เล็กๆ ห่างไกลเมืองแบบนี้
คนหนุ่มผิวสะอาดสะอ้านดูจะเป็นคนแปลกหน้าต่างถิ่นอย่างไม่ต้องสงสัย


ผมยิ้มให้อย่างบริสุทธิ์ใจ
พลางขออนุญาต ชมการตีข้าวกันแบบสดๆ



แน่นอน ได้รับการเชื้อเชิญอย่างดี
เหมือนเป็นคนในครอบครัว

"ความเอื้อาทรและไมตรีจิต" ยังเต็มทุกพื้นที่ท้องนาจริงๆ



......


ผมหันไปถามคุณป้าท่านหนึ่งว่าเริ่มดำนากันตอนไหน ?
แกบอกว่าก็ราวๆ เดือนสิงหานั่นแหละ แล้วก็เกี่ยวกันตอนต้นๆ เดือนธันวาคม

พลันมีเสียงจากคุณลุงอีกคนเสริมเข้ามาให้ผมเห็นภาพได้ง่ายกว่านั้น


“ก็ปลูกมันวันแม่นะแหละ แล้วเกี่ยววันพ่อน่ะ”

พูดจบ เสียงหัวเราะที่เต็มไปด้วยความสุขของชาวนาก็ดังลั่นท้องทุ่ง




ผมได้ยินแล้วตื้นตันจริงๆ ...ประโยคสั้นๆเปี่ยมความหมาย
ที่สะท้อนถึงความรู้สึกในหัวใจของชาวนากลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้

ผมมีความสุขจังเลย
และเชื่อว่าถ้าคุณได้ยืนอยู่ตรงนั้นเหมือนกับผม ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน


....

ถ้าคุณเคยเห็นภาพการดำนา ที่เห็นชาวนาปักพันธุ์ข้าวทีละต้น
หรือจะเป็นการหว่านเมล็ดข้าว ตามแต่ช่วงที่ปลูกและพื้นที่

เห็นต้นเล็กๆ แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่เดือนจะพบความอัศจรรย์เมื่อมันโตขึ้นจะกลายเป็นรวงข้าวที่ผลิเมล็ดข้าวให้เราได้กินกันมากมาย


ข้าวกอใดเมื่อโตแล้วมีขนาดใหญ่
มีรวงข้าวที่ยาวก็มีโอกาสจะได้เมล็ดข้าวเยอะด้วย

รวงข้าวจะประกอบด้วย "ระแง้" ซึ่งเป็นก้านเล็กๆที่แตกแขนง
ซึ่งเมล็ดข้าวทั้งหลายก็จจะจับตัวกัน ตามระแง้นี้แหละครับ

ยิ่งจับตัวกันถี่มากท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ชาวนายิ้มได้
เพราะหมายถึงผลผลิตต่อไร่ก็จะยิ่งทวีมากขึ้น





......


ใครหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าปัจจุบัน พื้นที่ท้องนาของไทยเรามีพันธุ์ข้าวหลักที่ปลูก รวมกันเกินกว่า หนึ่งร้อยสายพันธุ์เลยละครับ

ยังไม่นับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกนับหมื่น ซึ่งเยอะมาก
ทั้งพันธุ์ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ยกมาเล่าสักนิด เช่น พันธุ์ดังๆ ข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมปลูกมาก ในจ.พัทลุง เมืองหลวงของนาข้าวในภาคใต้

ซึ่งเป็นข้าวที่มีกากใยสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ช่วยในระบบขับถ่าย มีโปรตีน มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และแร่ธาตุอื่นๆ สูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น รวมทั้งมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์อยู่ด้วย


หลายครอบครัวในสมัยนี้จึงเริ่มหันมาสนใจกับคุณค่าที่ได้จริงๆจากการกินข้าว การกินข้าวกล้อง ข้าวหอมพันธุ์ดีๆ

เริ่มเป็นที่กว้างขวางแม้จะมีราคาสูงกว่าข้าวเกรดถูกๆ
ที่เห็นจนชินตาบนจานข้าวที่เสิร์ฟตามร้านข้าวทั่วไป
ถ้าจำไม่ผิดตอนนี้มีบางไฟล์ทบนสายการบินบางกอกแอร์เวย์
เสิร์ฟข้าวกล้องสุโขทัย นั่นก็มาจากนาอินทรีย์





......

พูดถึงการเกี่ยวข้าว ...ก็ยังพอมีรายละเอียดให้ต้องกล่าวไว้อีกนิด
การจะเกี่ยวไม่ใช่ว่านึกจะเกี่ยวตรงไหน ก็เกี่ยวได้ตามใจชอบน่ะ

ชาวนาพันธุ์แท้เค้าจะเกี่ยวกันตรงปล้องสุดท้ายของรวงข้าวที่มาจากต้นครับ
เค้าจะเรียกว่า “ปล้องนาง” แต่จะให้บอกเป๊ะๆ ว่าปล้องที่เท่าไหร่ หรือยาวเท่าไหร่
ก็ไม่สามารถเจาะจงได้เพาะข้าวแต่ละพันธุ์ก็มีขนาด ยาวสั้นต่างกันอีก


และผมก็เชื่อว่าชาวนาส่วนใหญ่ เกี่ยวด้วยความรู้สึกและความชำนาญ
หลายรีสอร์ท หลายโฮมสเตย์ก็หยิบเอากิจกรรมเกี่ยวข้าวเข้าไปใส่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

มีโอกาสก็น่าลองทำด้วยตัวเองสักครั้งน่ะ




......


ปัจจุบันพื้นที่ทำนาของไทยจะอยู่ที่ภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ครับ เกินกว่า 60-70 %
ได้เลย โดยเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิเป็นส่วนมากซึ่งก็คิดเป็นกว่า 80% ของนาข้าวหอมมะลิทั้งประเทศ ปีนึงไทยส่งออกข้าวเป็นล้านตันเลยน่ะครับ เยอะมาก ไม่แน่ใจตอนนี้เป็นอันดับเท่าไหร่ของโลก

ชาวนาในปัจจุบันมีทั้งที่ยังเป็นชาวนาแบบแท้ๆ ดั้งเดิม ซึ่งผมขอหมายถึงชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อดำรงชีพโดยตัวเอง ถ้าผลผลิตเยอะก็ส่งขาย กับชาวนายุคใหญ่ที่ขอนิยามเองว่า
เป็น นักทำนา คือ ทำนาเพื่อการขายข้าวอย่างจริงๆจัง พื้นที่การทำนาจะกว้างขวางกว่าแบบแรกมาก และก็ไม่น้อยมักจะเป็นการรับจ้างทำนาบนพื้นที่คนอื่น แล้วแบ่งผลผลิตกันกับเจ้าของที่ครับ



ทำไมต้องเช่าทำนา ....ทั้งๆที่ สมัยก่อนพื้นที่ทำนา ก็ถือเป็นสมบัติของประตระกูลที่
สืบสานส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

นั่นคือปัญหาที่ชาวนาไม่น้อยกำลังเผชิญครับ การหมุนอยู่ในวงจรอุบาจว์
เมื่อทำนาเจอปัญหาทั้งสภาพลมฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า ราคาข้าวต่อเกวียนโหดร้าย การขาดทุนจึงเกิดขึ้น ท้ายสุดจำต้องขายที่นาให้กับนายทุนแปลงสภาพตัวเองจากผู้มีกรรมสิทธิ์บนผืนนาเป็นเพียงผู้รับจ้างทำนา

แม้จริงแล้วต้นทุนการดำรงชีพของเกษตรกรในชนบทจะไม่สูงมาก แต่การลงทุนทำนาในแต่ละครั้งก็ไม่ใช่น้อยๆ พ่อค้าปุ๋ย พ่อค้ายาฆ่าแมลง พ่อค้าคนกลาง โรงสี ตัวละครทั้งหมดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ทุกหยาดเหงื่อของชาวนาดูจะไม่สามารถทำให้รอยยิ้มเบ่งบานบนใบหน้าได้ในยามที่ขายข้าวออกไป





......

ผมชอบกลิ่นท้องทุ่ง ชอบกลิ่นนา โตมากับเมืองน่ะ
แต่ไม่รู้ทำไมถึงชอบ ตอนเริ่มดำนาก็จะเห็นทุ่งนาแบบมีน้ำเอ่อๆหน่อย

สะท้อนเป็นภาพสวยงาม พอต้นข้าวรวมโตก็จะเป็นสีเขียว
เห็นคราใดก็รู้สึกสดชื่นมากๆ ยิ่งเป็นนาขั้นบันไดตามแถบภาคเหนือ
ความสวยงาม ความเขียวขจี โดยเฉพาะอากาศสดชื่นยามเช้าๆ
ที่มีละอองน้ำค้าง เล่นเอาหลายคนต้องมนต์สะกดไปเลย

จากนาทีแรกที่เริ่มหว่าน หรือดำนาในหน้าฝน ผ่านวันแล้ววันเล่าชาวนาก็ต้องสังเกตการณ์เติบโต สังเกตความเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการเกิดโรคหรือแมลงต่าง

จนสุดท้ายก็จะได้นาข้าวสีทองอร่ามเป็นรางวัลแห่งความตั้งใจ หมั่นเพียร ตลอดหลายเดือน


ยิ่งไปกว่านั้น ...มันคือความภาคภูมิใจ






......


ชาวนามักจะเกี่ยวข้าวกันในตอนเช้า
ขนาดของผืนนาที่กว้างใหญ่ แรงงานไม่กี่คนอาจจะต้องกินเวลาเยอะ
วัฒนธรรมการลงแขกเกี่ยวข้าว หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ยังคงใช้ได้ดี ... และช่วยสมานความสัมพันธ์คนคนในหมู่บ้านเอาไว้

ข้าวที่เกี่ยวมาแล้วจะถูกกองเป็นแนวสวยงามตากแดดเอาไว้อีกหลายชั่วโมง
เพื่อให้แห้งพอเหมาะเตรียมสำหรับการ "ตีข้าว" ในช่วงบ่าย....





......

การตีข้าว หรือนวดข้าว เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้น
หลังจากเริ่มการเกี่ยวข้าวในตอนเช้าหรือตอนสาย

วันนี้ทั้งวัน ทุกคนในครอบครัวจะช่วยกันตีข้าว หรือนวดข้าว
ท่ามกลางแสงอาทิตย์อันแผดร้อน ท่ามกลางขุนเขาห่างไกลตึกระฟ้า
ที่นี่กำลังขะมักเขม้นกับการแยกข้าวเปลือกออกจากรวงข้าว



ห้องครัวที่เลี้ยงผู้คนอีกมากมายกำลังเริ่มทำงานอีกครั้ง...





......

การตีข้าวใน อ.แม่แตงนี้ นาข้าวบางไร่ยังคงเป็นประเพณีแบบดั้งเดิมเอาไว้แทนการใช้เครื่องจักร คือเค้าจะใช้ไม้สองอันประกบกันแล้วใช้เชือกมัดเอาไว้ครับ คล้ายๆเป็นตะเกียบขนาดใหญ่ หลังจากนั้นก็จะหนีบเอา มัดรวงข้าวที่เกี่ยวรอเอาไว้แล้ว

หลังจากนั้นก็ฟาดลงกับไม้กระดานที่ตั้งทำมุมรอเอาไว้เพื่อให้กระแทกเมล็ดข้าวหลุดออกมาทั้งหมด


ตอนที่ผมขอไปนั่งชมนั่นคาดว่าตีข้าวมาได้เยอะระดับนึง
ตอนนี้เลยเป็นการตีใส่กองเมล็ดข้าวที่พื้นตรงๆไปเลยแทน


......

การที่นักท่องเที่ยวอย่างผม เดินดุ่มๆเข้าไปในกลางวงที่ชาวนากำลังตีข้าวอย่างเหน็ดเหนื่อย เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้การตีข้าวมีชีวิตชีวาและสนุกมากขึ้นครับ

ชาวนาคงมีความสุขเล็กๆ ที่กิจกรรมอันแสนน่าเบื่อ เปลืองแรงเช่นนี้
กลับเป็นที่น่าสนอก สนใจจากคนเมืองอย่างผม

ผมรู้สึกได้จริงๆน่ะ....
เมื่อใดที่เรามองเห็นคุณค่า มองเห็นตัวตนและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
มิตรภาพมันเกิดขึ้นง่ายมาก สังคมมันน่าอยู่ขึ้นเยอะ





นั่งดูอยู่พักนึง ผมเริ่มแซว...

“คุณลุงครับ ฟาดไม่แรงเลย” วัยรุ่นอย่างชั้นหกผิดหวังนะเนี่ย (ประโยคหลังนี้ เติมเอาเองน่ะ 555+)

คุณลุงยิ้มอวดฟันขาวแล้วตอบกลับ...
“หนุ่ม รอก่อนน่ะ”





พูดแล้ว คุณลุงที่ผมคุยด้วยก็หันไปหยิบรวงข้าวฟ่อนใหญ่
ฟาดใหม่อีกครั้ง


ในระยะ 2 ฟุต จากตัวผม.....พลางหันมายิ้มอีกครั้งแล้วถามว่า

“เป็นไงละหนุ่ม รูปสวยมั้ย? ”



โอวววว ... อยากจะกระโดดหอมแก้มลุงสักฟอด
สุโคร่ยยยยยย ค้าบบบบ ลุงงงงงงง


.....

เค้าคงเห็นรอยยิ้มผม
เห็นผมมีความสุขกับการได้เห็นการตีข้าวในระยะประชิดประหนึ่งนั่งริงไซด์แบบนี้
ตอนแรกเห็นว่ากำลังจะพักกันหลังจากตีข้าวมาได้กองใหญ่ๆ

คราวนี้เลยรวมพลังตีข้าวแข่งกันใหญ่เลยครับ
เห็นแล้วเหนื่อยแทน ลองจับไม้ที่หนีบก็หนักไม่น้อย ไหนจะต้องออกแรงตีข้าว ไหนจะต้องยืนกลางแดดเช่นนี้


เหนื่อยกาย แต่สุขใจกระมัง





......

แดดก็ร้อนมากเลย
แต่สนุกไม่น้อยเลยครับ

แค่ได้เห็นแบบใกล้ชิดก็เหมือนได้เติมพลังชีวิตอย่างบอกไม่ถูก



......

ในการต่อสู้ทางการเมือง เรามักจะได้ยินเสียงปลุกระดมเอาชาวนามาเป็นตัวละคร
คู่ไปกับความไม่เท่าเทียมกันของชนชั้นยกเอามาเป็นข้ออ้างที่แสนคลาสสิค

แปลกดีที่เมื่อสงครามสงบ บนเวทีผู้แทนอันทรงเกียติ
กลับไม่มีการพูดถึงความลำบากของชาวนา หรือการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างจริงๆ

ครั้งหนึ่งเราอาจจะกินข้าวกันแบบไม่ได้สนใจ กินเหลือทิ้งเหลือขว้างบ้าง แต่ชาวนาที่ปลูกมากับมือเค้ารู้คุณค่า
ครั้งหนึ่งเรานั่งกินข้าวหอมมะลิร้อนๆอย่างเอร็ดอร่อย แต่ชาวนาต้องโดนโรงสีกดราคาข้าวเปลือกจนสุดท้ายก็เป็นหนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แล้วครั้งไหนละ จะถึงเวลาที่ชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปากกับเค้าบ้าง

......

จริงอยู่ที่การปลูกข้าวในปัจจุบันเหมือนจะง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน ลำบากน้อยกว่า
มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยทำงานได้ง่ายขึ้น ระบบชลประทานดีขึ้นบ้าง


ท้ายสุดแล้วชาวนาอาจจะไม่ต้องการอะไรมากแค่ ขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรมจริงๆ




......

จุดมุ่งหมายอีกอย่างของบทความนี้คืออยากให้เราๆท่านๆ
ในฐานะผู้บริโภคได้ลองตั้งคำถาม

ตั้งคำถามดูว่า

สิ่งต่างๆที่กำลังจะกินอยู่บนโต๊ะ มันมีที่มาที่ไปยังไง





......

ลองขยับทัศนคติอีกนิด…

บางทีคุณอาจจะมองเห็นที่มาที่ไปในสิ่งข้างหน้าได้ชัดขึ้น



คนกินข้าวในแต่ละวัน โดยลืมนึกไปถึงแหล่งกำเนิดของมัน
ไม่เพียงแต่ข้าว ... เราหมายถึงผลิตผลทางการเกษตรที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวัน

เรากินกันได้ไม่ได้เคยหันกลับไปมองถึง กระบวนการผลิต ว่าเป็นมายังไง
เราได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าและคุณภาพของสิ่งที่เราบริโภคเพียงพอรึยัง



ผู้ผลิต กับผู้บริโภค
ยังคงเป็นเส้นขนานที่ต้องหากันต่อไป.....อย่างนั้นหรือ?




......

ผมจะมีความสุขมากเลย
ถ้าวันข้างหน้าจะได้เห็นใครหลายคน ลองหยุดรถเวลาไปต่างจังหวัด

ลงไปทักทายพูดคุยกับชาวนาดูบ้าง ไม่ต้องมีอะไรติดสอยห้อยมือก็ได้
ลองเข้าไปสัมผัสชีวิตของชาวนาเพียง 15 นาที สั้นๆ

เชื่อว่าคุณจะได้บางสิ่งบางอย่าง ได้อิ่มเอมกับพลังชีวิตที่ได้รับ
และอาจจะได้มองเห็นอะไรหลายๆอย่างผ่านรอยยิ้มของพวกเขา


ผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการพบกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต
ที่ความเอื้ออาทรจะค่อยๆ ถูกส่งผ่านไปหากันทั้งสองฝ่าย


เหมือนที่ผมได้ลองทำด้วยตัวเองมาแล้ว
จนอยากจะเก็บรอยยิ้มของชาวนาเหล่านี้ไว้ให้นานที่สุด



......

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาชมครับ







Create Date : 30 มกราคม 2554
Last Update : 17 พฤษภาคม 2554 17:17:23 น. 17 comments
Counter : 9595 Pageviews.

 
กว่าจะได้เม็ดข้าวมาแต่ละเม็ด ชาวนาลำบากมากเลยนะคะ
สัญญากับตัวเองว่าจะกินข้าวให้เกลี้ยงหมดครึ่งจานที่เหลือจากแบ่งให้เพื่อนไปเรียบร้อยแล้วครึ่งนึงค่า


โดย: สาวหน้าใส วันที่: 31 มกราคม 2554 เวลา:1:41:52 น.  

 
เราเองอยู่ ตจว. ได้เห็นเค้าทำนา
เก็บเกี่ยวแบบนี้บ่อยๆค่ะ แต่ว่าพอมาเห็นภาพ
ก็ทำให้เห็นอีกบรรยากาศหนึ่งเหมือนกัน
เพลินๆ เลยค่ะ แต่ก็รู้ว่าลำบากน๊อ
สำหรับการปลูก หว่าน ไถ .. เรียกว่า
ข้าวแต่ละเม็ด แต่ละรวง ... คือ "ทอง"
ของแท้ค่ะ


โดย: JewNid วันที่: 31 มกราคม 2554 เวลา:9:05:20 น.  

 
มาชม วิถี ลูกทุ่ง ครับ


โดย: Kavanich96 วันที่: 31 มกราคม 2554 เวลา:10:23:59 น.  

 
ภาพถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกไดดีเยี่ยามเลยคะ
//thaitravelclub00.blogspot.com/


โดย: ASDK_MK วันที่: 31 มกราคม 2554 เวลา:10:32:29 น.  

 
ภาพ.. สื่อไ้ด้สวยงามจริงๆ ค่ะ ^^


โดย: maesnake วันที่: 31 มกราคม 2554 เวลา:10:37:43 น.  

 
ภาพสวยมาก ๆ เลยค่ะ

เข้ามาชื่นชมแล้วก็ประทับใจกับทุกภาพ
แต่ละภาพ บอกเล่าเรื่องราวได้มากมายหลากหลายเกินกว่าจะบรรยายจริง ๆ ค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักนะค่ะ

สองพี


โดย: SongPee วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:20:50:39 น.  

 
สวยทุกภาพเลยค่ะ ได้บรรยากาศมากๆ
จะมาติดตามนะคะ


โดย: T_Nuch IP: 183.89.54.61 วันที่: 10 มีนาคม 2554 เวลา:23:25:02 น.  

 
ภาพเซทนี้สวยมากเลยค่ะ องค์ประกอบภาพสวย แต่ละภาพเล่าเหตุการณ์ได้เหมือนกับเราเข้าไปมีส่วนร่วมในภาพนั้นจริงๆ สวยค่ะ ชอบๆๆ


โดย: Kate IP: 118.174.41.2 วันที่: 9 กันยายน 2554 เวลา:16:26:45 น.  

 
ภาพสวยมากๆ ถ่ายเก่งมากเลย ขออนุญาตินำรูปไปพรีเซนต์ประเทศไทยที่ต่างประเทศนะครับ


โดย: นุ IP: 78.69.70.54 วันที่: 28 ตุลาคม 2554 เวลา:1:24:18 น.  

 
สวยทุกภาพเลยครับ สุดยอด


โดย: วี IP: 10.6.12.94, 115.31.173.132 วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:10:02:30 น.  

 
รับสมัคร นักเรียน นักศึกษา หรือพนักงานประจำ

ที่ต้องการหารายได้เสริม

แบบPast-time รายได้ 5000-10000 บ/ด
แบบFull-time รายได้ 10000-20000 บ/ด

คุณสมบัติของผู้ที่สนใจ !!
- ชาย/หญิง ที่มีเวลาและสนใจในการทำงาน
- สามารถใช้คอมพิวเตอร์ Internet พื้นฐานได้
- อายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป
- ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์
FULL-TIME 20,000 บาทขึ้นไป / เดือน

คิดรายได้ให้เราทุกวันและโอนเงินผ่าน ATM ทุกวันพฤหัส 1 เดือนโอน 4 ครั้ง ดูรายละเอียดก่อนได้นะคะ
อยากเป็นวัยรุ่นที่ First Class มีเงินใช้สอยอย่างไม่ขาดสาย

สามารถตอบโจทย์ชิวิตของคุณได้

คุณเองก็สามารถประสบความสำเร็จอย่างเราได้
โอกาสที่ดีมาถึงคุณแล้ว สนใจกรอกข้อมูลเพื่อรับรายละเอียด(รับจำนวนจำกัด)
//www.thefirst-one.com/clients/join/031885


โดย: กัญญารัตน์ IP: 124.120.76.80 วันที่: 16 ธันวาคม 2554 เวลา:3:00:14 น.  

 
ขออนุญาตนำลิงค์ไปแนะนำให้เพื่อน ๆ เข้ามาอ่านนะคะ ^^


โดย: Adija วันที่: 1 มีนาคม 2555 เวลา:1:02:40 น.  

 
กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด


โดย: ไม้ IP: 125.26.161.141 วันที่: 1 มีนาคม 2555 เวลา:20:35:41 น.  

 
ภาพสวยมากเลยครับ อย่างนี้ซิของจริง ขอนำไปประกอบเพลงลง youtube หน่อยน่ะครับ


โดย: อาด IP: 125.27.93.108 วันที่: 21 มีนาคม 2555 เวลา:12:41:10 น.  

 
ขอชื่นชมครับ


โดย: yai IP: 49.49.107.9 วันที่: 29 พฤษภาคม 2555 เวลา:22:50:18 น.  

 
ชื่นชอบชาวนาจริง ๆ เป็นอาชีพที่มีคุณค่ามาก


โดย: Touch IP: 172.31.225.196, 203.130.145.101 วันที่: 23 มิถุนายน 2555 เวลา:12:52:50 น.  

 
ถ่ายภาพเล่าเป็นเรื่องราวได้น่าสนใจจังค่ะ ^^


โดย: หนิง IP: 58.8.184.17 วันที่: 28 มิถุนายน 2555 เวลา:14:42:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

the Sixth Floor
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 47 คน [?]




ยินดีต้อนรับสู่ theSixthfloor Studio ครับ

บทความและภาพถ่ายทั้งหมดในบล็อคนี้
สงวนลิขสิทธิ์หากถ้าต้องการนำไปใช้หรือ
เผยแพร่เพื่อการศึกษาหรือการกุศล
ก็ยินดีครับแต่ก็ขอความกรุณาติดต่อผม
เพื่อให้ทราบรายละเอียด

สำหรับท่านที่ต้องการติดต่อเรื่องบริการ
ด้านการถ่ายภาพสามารถติดต่อโดยตรง
ได้ด้วยเช่นกันครับ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านแวะมาเยี่ยมชม
บล็อคของผมครับ
q( ^o^ )p
Click to





count web site traffic
Visitor


■ L&T 01 .. รอยยิ้มปนคราบน้ำตา บนท้องนาแห่งชีวิต ..
■ L&T 02 .."เชียงคาน" เวลายังคงเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือความสุข ..
■ L&T 03 .. ผืนน้ำจรดขอบฟ้า ตะวันลับตาที่ Hilton Pattaya Hotel ..
■ L&T 04 .. นอนฟังเสียงสายน้ำคลอเคลียที่ Bamboo Hut Resort@ทองผาภูมิ ..
■ L&T 06 .. สโลโมชั่นชีวิตในวันที่เร่งรีบ ณ Anantara Bangkok Sathorn ..
■ L&T 07 .. ความสุขในมุมเล็กๆที่ Mimosa Resort & Spa @ Koh Samui ..
■ L&T 08 .. ออกไปลอยคอกลางทะเล ที่ มก.สุรินทร์ และ เกาะตาชัย ..
■ L&T 09 .. ความอบอุ่นถักทอบนความทรงจำสีจางที่ Villa Nalinnadda เกาะสมุย ..
■ L&T 10 .. บรรยากาศสบายๆที่ the Baths Medi Cottage Resort @ Cha-Am ..
■ L&T 11 .. สูดหายใจพร้อมรับ"ดับเบิ้ล"ประสบการณ์ที่ W Retreat @ Koh Samui . .
■ L&T 12 .. เหยียบไปบนพื้นทรายคลอเสียงคลื่นที่ Rasananda Resort เกาะพะงัน ..
■ L&T 13 ..ปัดฝุ่นความทรงจำที่ Cape Panwa Hotel ภูเก็ต#Day 1 ..
■ L&T 14 .. เก็บรอยยิ้มจากเกาะปันหยี เติมเต็มความสุขที่ Le Meridien เขาหลัก ..
■ L&T 15 .. สะกดทุกสายตา เวลาหมุนช้าที่ Villa Maroc @ Pranburi ..
■ L&T 16 .. จินตนาการแห่งที่สุดของการสร้างสรรค์ ณ Casa de La Flora Resort ..
■ L&T 17 .. ลำปาง ปลายทางแห่งความสุข ..
■ L&T 18 .. สัมผัสมะลิงามที่เบ่งบานในวันหยุด Malisa Villa Suite @ Phuket ..
■ L&T 19 .. " เชียงใหม่ " . . . พอดีคำ กำลังดี . . . . .
■ L&T 20 .. มิอาจคลาดสายตาจากความงามของ the Baray Villa @ Phuket ..
■ L&T 21 .. Siam Kempinski Hotel เพชรเม็ดงามใจกลางมหานคร ..
■ L&T 23 .. เกาะตาชัย . . . จะไปด้วยกันรึเปล่า ?..
■ L&T 24 .. Ramada Resort Khaolak กับวันสบายริมหาดเขาหลัก ...
■ L&T 28 .. สงขลา ... เวลาใหม่ในขวดโหลใบเดิม ...
■ L&T 29 ... เนปาล Endless Journey ตอนจบ
■ L&T 31 ... ซีอาน กองทัพทหารดินเผาแห่งจิ๋นซีฮ่องเต้
■ L&T 32 ... เดินเล่นใน "สุโขทัย" เนิบช้าและทรงคุณค่า
■ L&T 33 ... ยุโรปครั้งแรก "เนเธอร์แลนด์ และอัมสเตอร์ดัม
Group Blog
 
 
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add the Sixth Floor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.