<<
ตุลาคม 2558
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
15 ตุลาคม 2558
 

วิจักขณ์ พานิช กับพุทธศาสนาแบบฆราวาส/สุรพศ ทวีศักดิ์

ที่มา:มติชนรายวัน 15 ต.ค.2558)
ขอขอบคุณมติชนรายวัน และขอนำเนื้อหานี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

วิจักขณ์ พานิช กับพุทธศาสนาแบบฆราวาส


โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา




ผมได้รับหนังสือ "รัฐ-ธรรม-นัว" ของวิจักขณ์ พานิช โดยเจ้าตัวมีน้ำใจส่งให้ผมพร้อมกับข้อความที่ชวนให้เกิดความรู้สึกที่ดีว่า "แด่ อ.สุรพศ กัลยาณมิตร บนเส้นทางแห่งพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่" อันที่จริงคำว่า "บนเส้นทางแห่งพุทธธรรม" ทำให้ผมรู้สึกเขินอยู่ไม่น้อย แม้ผมจะบวชเณร 7 ปี ต่อด้วยเป็นพระอีก 4 ปี แต่นั่นเป็นเพียงการเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการศึกษาแล้วสึกออกมามีงานทำ การขีดๆ เขียนๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาของผมก็เน้นประเด็นทางสังคมมากกว่า ไม่กล้าพูดถึงมิติทางจิตวิญญาณ เพราะผมไม่ได้ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝนทางด้านนี้อย่างจริงจังพอจะบอกตัวเองว่ากำลังเดินบนเส้นทางพุทธธรรมเลยด้วยซ้ำ

ต่างจากวิจักขณ์ที่สนใจมิติทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาตั้งแต่อายุยังน้อย เคยไปบวชอยู่สวนโมกข์หนึ่งปี ศึกษางานท่านพุทธทาสและงานด้านสังคมศาสตร์อื่นๆ สึกมาก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นการเรียนด้านพุทธศาสนานิกายวัชรยานที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบตะวันตกซึ่งเปิดกว้างต่อเสรีภาพในการศึกษาตีความ และมีการเชื่อมโยงความรู้กับการฝึกฝนด้านจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ลักษณะแบบนี้ตรงข้ามกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทยที่ผมเคยเรียนมา

เมื่ออ่านความคิดผ่านงานเขียน งานแปล และมองบทบาทการเป็น "ครูสอนภาวนา" ของวิจักขณ์ สิ่งที่ผมพบคือความมีชีวิตชีวาของ "พุทธศาสนาแบบฆราวาส" ที่เชื่อมโยงมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมเข้าด้วยกันอย่างเป็นเนื้อเดียว และเป็นพุทธศาสนาในแบบที่เปิดกว้างต่อคุณค่าสมัยใหม่

อันที่จริงหากมองตามคัมภีร์ พุทธศานาแบบพระกับแบบฆราวาสก็เชื่อมโยงเข้าด้วยกันในรูปชุมชนทางศาสนาที่เรียกว่า "พุทธบริษัทสี่" แต่ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเถรวาท ดูเหมือนจะเป็น "พุทธศาสนาแบบพระ" คือเป็นพุทธศาสนาที่พระ (ผู้ชาย) กุมอำนาจนำในการศึกษาตีความและการเผยแผ่มาโดยตลอด การปฏิรูปพุทธศาสนาสมัยรัชกาลที่ 4 มีการแยก "ทางโลก" ออกจาก "ทางธรรม" โดยสงวนมิติทางจิตวิญญาณไว้สำหรับพระที่มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นเท่านั้น สำหรับฆราวาสเรียนรู้ศีลธรรมพื้นๆ เพื่อการดำเนินชีวิตทางโลกก็พอ

ต่อมาท่านพุทธทาสได้นำมิติทางจิตวิญญาณกลับมาสู่ฆราวาสอีกครั้ง โดยเสนอว่าฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมสู่ความหลุดพ้นได้ ปฏิบัติธรรมขณะทำงาน หรืออยู่ที่ไหนก็ได้ "บวชอยู่ที่บ้าน" ก็ได้ อิสรภาพทางจิตวิญญาณควรเป็นเป้าหมายชีวิตของทุกคน เราควรเปิดกว้างต่อการเรียนรู้พุทธศาสนาต่างนิกาย และเคารพศาสนาอื่นๆ เท่าเทียมกับศาสนาของเรา

จะว่าไปท่านพุทธทาสคือผู้ที่ฟื้นฟูมิติจิตวิญญาณของพุทธศาสนาแบบฆราวาส ในขณะที่พุทธแบบจารีตถือว่าการศึกษาปฏิบัติธรรมต้องเดินตามครูอาจารย์ที่เป็นพระ แต่ท่านพุทธทาสพยายามเสนอความคิดและอ้างเหตุผล หลักฐานประกอบจำนวนมาก เพื่อยืนยันว่าฆราวาสก็สามารถศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณด้วยตนเองได้ แม้พระไตรปิฎกก็อาจฉีกส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งเสียสัก 70 เปอร์เซ็นต์ก็ยังได้

ส่วนวิจักขณ์ก้าวไปถึงขั้นว่าการใช้ชีวิตเรียนรู้แบบพุทธไม่จำเป็นต้องอ่านพระไตรปิฎกเลยก็ได้ เขาเคยบอกว่า "ผมไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก" และว่า หากจะอ่านพระไตรปิฎกเขาก็จะอ่านเหมือน "อ่านนิยาย" ทั่วๆ ไป และสำหรับเขาแม้จะเรียนมาทั้งเถรวาทและวัชรยาน แต่ไม่จำเป็นที่จะนิยามตัวเองว่าเป็นชาวพุทธนิกายไหน เพราะพุทธทุกนิกาย ศาสนาอื่นๆ และคุณค่าแบบโลกย์ๆ ในมิติต่างๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เราควรเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ถึงที่สุดแล้วเมื่อเข้าถึงเนื้อในของศาสนาจริงๆ มันก็ไม่มี "ความเป็นศาสนา" อีกต่อไป มีเพียงความเข้าใจและเปิดกว้างต่อการเคารพความเป็นมนุษย์ในมิติที่หลากหลายเท่านั้น

นี่คือมุมมองที่แตกต่างจากพุทธศาสนาแบบพระ ซึ่งเป็นพุทธศาสนากระแสหลักในสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง การนำเสนอพุทธศาสนาแบบฆราวาสที่เชื่อมโยงมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมเข้าด้วยกันในสังคมไทย ซึ่งถูกครอบด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบพระแทบทุกอณู จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ด้วยเหตุนี้งานของวิจักขณ์ส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการตั้งคำถาม วิพากษ์ ถอดรื้อ "มายาคติ" ของพุทธศาสนาแบบพระที่ครอบงำสังคมไทย หนังสือ "รัฐ-ธรรม-นัว" เล่มนี้คือส่วนหนึ่งของงานทำนองนี้ ซึ่งเป็นงานรวมเล่มจากบทความในคอลัมน์ "ธรรมนัว" ของมติชนรายวัน

จุดเด่นหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การเปิดเปลือยให้เห็นอำนาจทางศีลธรรมของพุทธศาสนาแบบพระที่ครอบงำทางความคิดของปัจเจกบุคคล ไปจนถึงความเชื่อมโยงสนับสนุนกันระหว่างอำนาจทางศีลธรรมกับอำนาจนำทางการเมืองที่เป็นจริง ซึ่งส่งผลเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยยะสำคัญ



ความจริงแล้ววิจักขณ์มักพูดถึงพุทธศาสนาที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยว่า "พุทธศาสนาแบบทางการ" แต่ผมใช้คำว่า "พุทธศาสนาแบบพระ" ในความหมายเดียวกัน ซึ่งผมได้ความคิดนี้จากหนังสือ "สัญญาประชาคม" ของรุสโซ (Jean-Jaques Rousseau) ที่พูดตอนหนึ่งว่า "ศาสนาแบบพระเมื่อมาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ทำให้รัฐบัญญัติกฎหมายสองประเภทที่ขัดแย้งในตัวเองให้ประชาชนปฏิบัติ ผลก็คือทำให้ประชาชนขัดแย้งในตัวเอง"

ทำให้ผมนึกถึงรัฐไทยที่บัญญัติกฎหมายสองประเภทขัดแย้งกัน คือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รับรอง "เสรีภาพทางศาสนา" ขณะเดียวกันก็บัญญัติกฎหมายสงฆ์สถาปนาสถานะ อำนาจของพุทธศาสนาแบบทางการหรือพุทธศาสนาแบบพระที่ขัดกับเสรีภาพทางศาสนาเสียเอง ผลก็คือประชาชนฝ่ายหนึ่งอ้างเสรีภาพทางศาสนาในการศึกษาตีความคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา และเรียกร้องสิทธิการบวชภิกษุณี ฯลฯ แต่คณะสงฆ์และประชาชนอีกฝ่ายก็อ้างอำนาจตามกฎหมายสงฆ์เพื่อจำกัด ลดทอน และ/หรือละเมิดเสรีภาพทางศาสนา เท่ากับว่ารัฐได้บัญญัติกฎหมายที่ขัดกันในทางหลักการพื้นฐานขึ้นมาให้ประชาชนขัดแย้งกันเอง และเป็น "ความขัดแย้งกันเอง" บนสภาวะของรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

นอกจากระบบความสัมพันธ์ของรัฐกับศาสนาแบบปัจจุบันได้สถาปนาสถานะ อำนาจของพุทธศาสนาแบบพระที่ขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา และเป็นรากฐานให้รัฐบัญญัติกฎหมายสองประเภทที่ขัดกัน ทำให้ประชาชนขัดแย้งกันเองแล้ว พุทธศาสนาแบบพระยังเป็นที่มาของการผลิตความคิดในเชิงลบต่อเสรีภาพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอีกด้วย โดยพระและผู้รู้ทางพุทธศาสนามักอ้างกันว่าเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่ออยู่ใต้การกำกับของ "ศีลธรรม" เท่านั้น แต่ปรากฏการณ์ของการอ้างศีลธรรมมาเกี่ยวข้องกับการเมือง มักเป็นปรากฏการณ์ของการอ้างศีลธรรมเหนือหลักการประชาธิปไตยและอ้างสนับสนุนอำนาจเผด็จการตลอดมาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ข้อโต้แย้งตรงไปตรงมาและอย่างถึงรากในงานของวิจักขณ์ก็คือ เมื่อมองใน "มิติทางสังคมการเมือง" เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนต่างหากเล่าที่สำคัญกว่าศีลธรรมแบบศาสนา หลักคำสอนหรือศีลธรรมแบบศาสนาจะมีความหมายต่อวิถีชีวิตและสังคมสมัยใหม่ ก็ต่อเมื่อถูกตีความสนับสนุนเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งนี้ และขอเสริมว่า แม้แต่ความขัดแย้งระหว่างศาสนาเอง ก็ไม่สามารถแก้ไขด้วยลำพังหลักการหรือคำสอนของพระศาสดาเรื่องความรัก ความไม่โกรธ การให้อภัย ฯลฯ เท่านั้น ตราบที่ศาสนาต่างๆ ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมใจเปิดกว้าง การเคารพเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนขึ้นมาได้ ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างศาสนาต่างๆ เองก็ไม่มีทางแก้ไขได้/จบ

 

......................................................................................................




Create Date : 15 ตุลาคม 2558
Last Update : 15 ตุลาคม 2558 19:53:34 น. 0 comments
Counter : 1293 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com