<<
เมษายน 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
12 เมษายน 2558
 

อ่าน"วัตถุนิยมทางศาสนา" โดย วิจักขณ์ พานิช กันคะ

                                     วัตถุนิยมทางศาสนา
                                                                              เตือนใจ เจริญพงษ์
       หากพุทธศาสนิกชนในบ้านเราจะได้พิจาณาหลักของศาสนาพุทธ 
และเข้าใจแก่นของหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ไว้ คงได้ช่วยให้การดำรงชีวิต
กันอย่างมีสติ สังคมโดยรวมจะสงบสุขมากกว่านี้ แต่ปรากฎว่าชาวพุทธยังหลงใหล 
ยึดติดในปาฎิหารย์ วัตถุมงคล และอื่นๆมากมาย ประกอบกับตัวช่วยที่จะคอยสอน 
ชี้แนวทางที่ถูกต้อง ได้แก่ พระสงฆ์ ครู อาจารย์ ยังเข้าไม่ถึงแก่นของสัจจธรรมแม้แต่น้อยนิด 
เด็ก เยาวชน และผู้คนในสังคมไทยยังคิดเป็นวิทยาสาสตร์พื้นฐานไม่ได้ คงหลงติดวัตถุมงคล 
กราบไหว้กล้วยวิเศษ อะไรต่อมิอะไรตามที่ค่ายสื่อมวลขนมอมเมาและนำเสนออย่างมิขาดสาย

วันนี้ได้อ่าน เรื่อง "วัตถุนิยมทางศาสนา ของคุณวิจักขณ์ พานิช "เห็นว่ามีประโยชน์มาก 
ความรู้เหล่านี้ควรให้เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา อ่าน และเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง 
ฝากกระทรวงศึกษาธิการ.... ว่าให้เร่งปรับหลักสูตร 
                               .....แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาพุทธศาสนาเสียใหม่ 
แม้กระทั่ง.....พระสงฆ์ องค์เจ้า ก็ควรได้ศึกษาเช่นกัน 
                    .....จะได้เข้าใจ และเข้าถึงแก่นของศาสนา
                    .....ที่สำคัญควรปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้แก่ศาสนิกชน
                         ที่เข้าวัดได้ฟังกันในช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา และโอกาสต่างๆ
                    .....ควร..ลด... ละ...บอกบุญเรี่ยไรสาระพัดเรื่องให้ลดลงบ้างเถอะพระคุณเจ้า
                    .....อีกทั้ง ควรตั้งมั่นอุทิศตนเผยแพร่พระธรรมตามกิจของสงฆ์
             ...และเร่งทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในไทยให้มีบทบาทในการพัฒนาคน.. สังคม
ตามครรลองที่ถูกต้องของพระพุทธองค์ที่ทรงวางหลักไว้

บทความดังกล่าวนี้ได้เผยแพร่ทาง มติชน วันที่ 12 เมษายน 2558 ดังนี้


" การสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนาของพุทธศาสนาเถรวาท

ที่เป็นทางการของไทย ไม่ได้มีอิทธิพลในแง่สังคม วัฒนธรรม 

และการเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการบิดเบือนคุณค่าพุทธธรรม

โดยพื้นฐานอีกด้วย

//www.matichon.co.th/online/2015/04/14288104051428810418l.jpg

คำว่า "บิดเบือน" ในที่นี้ ไม่ใช่การพยายามจะตัดสินว่าอะไรคือพุทธแท้
หรือพุทธเทียม คำสอนใดถูกหรือคำสอนใดผิด ตรงตามพุทธวจนะ
หรือพระไตรปิฎกหรือไม่ แต่การบิดเบือนพื้นฐาน 
คือการที่คำสอนพุทธศาสนาถูกนำใช้ไปในทาง เสริมสร้างตัวตน มากกว่า 
ขัดเกลาตัวตน อัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นความเป็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 
ความเป็นไทย ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ประเพณีอันดีงาม ฯลฯ 
หากหล่อหลอมให้เชื่อกันอย่างเป็นทางการโดยปราศจากการตั้งคำถาม 
การเชิดชูอัตลักษณ์ดังกล่าวก็สามารถนำไปสู่การสร้าง "อัตตาร่วม" 
(หรืออวิชชาร่วม) อันทรงพลัง เมื่อเชื่ออย่างยึดมั่นถือมั่นว่าชาติ
มีร่างกายเดียวกัน ศูนย์รวมใจเดียวกัน และความคิดแบบเดียวกัน (เท่านั้น) 
พลเมืองของรัฐจึงถูกปลูกฝังในความเชื่อที่ว่า "อัตตาที่เข้มแข็งสั่นคลอน
ไม่ได้เป็นสิ่งดีต่อรัฐ (และศาสนา)" สัมพันธ์อยู่อย่างแนบแน่นกับการสมาทานอุดมการณ์สูงสุด เพื่อการรับใช้อำนาจสูงสุด 
ซึ่งไม่เคยเท่ากับอำนาจของประชาชน

หากศาสนาสอนเรื่องทำความดี ก็ไม่ใช่การทำเพื่อทำ 
หรือความดีที่ดีแก่ผู้กระทำเอง แต่เป็นการทำดีเพื่อความดีที่สูงกว่า 
ไม่ว่าจะเป็นทำเพื่อพ่อแม่ ทำเพื่อวงศ์ตระกูล หรือทำเพื่อหวังผลที่ดีกว่า

หากทำเพื่อคนอื่นก็ไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของมนุษย์คนอื่นที่มีเลือดเนื้อ 
แต่เป็นการทำเพื่อรับใช้อำนาจที่สูงกว่า รวมถึงการรับใช้ชาติ
หรือรับใช้พระศาสนา การทำความดีจึงกลายเป็นการเสริมสร้างอัตตา 
เพื่อที่ว่าเมื่อทำดีแล้วจะได้ชื่อว่าเป็นคนดี ไม่ใช่ทำความดีเพื่อการให้
หรือเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น เพื่อเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
อย่างที่ควรจะเป็นธรรมะที่ถูกสอนกันในสังคมที่ยึดถือศาสนาพุทธ
เป็นอัตลักษณ์ทางสังคมอย่างสังคมไทย ไม่ใช่ธรรมะที่ส่งเสริมให้คนรู้จักตัวเอง 
เชื่อมั่นในตัวเอง และปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ 
อย่างที่เราจะไม่เคยได้ยินว่าพุทธศาสนาไทยสอนให้คนเป็นตัวของตัวเอง 
(แต่สอนให้คนเป็นคนดี) ธรรมะเต็มไปด้วยหลักการที่ "อธิบาย" มนุษย์ 
แต่ไม่ได้สะท้อนประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ 
ธรรมะไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการเสริมสร้างและปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ 
แต่มนุษย์ต่างหากที่มีหน้าที่รับใช้ "ธรรมะ" ซึ่งหมายถึงการรับใช้อำนาจ

ยิ่งยึดมั่นในศาสนามาก ยิ่งคับแคบและเห็นแก่ตัว ยิ่งมีธรรมะมาก 
ยิ่งถือตัวในสถานะและอำนาจ แปลกแต่จริงที่สังคมพุทธอาจไม่ได้
หมายถึงสังคมที่ตื่น และสังคมที่มีธรรมะอาจไม่ใช่สังคมที่มี
ความเป็นธรรมก็ได้

เชอเกียม ตรุงปะ ธรรมาจารย์ชาวทิเบต เรียกการบิดเบือนพื้นฐานนี้ว่า
"วัตถุนิยมทางศาสนา" วัตถุนิยมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อโลกวัตถุนิยมหรือทุนนิยมแบบตะวันตกอย่างที่ชาวพุทธไทยฝังหัว 
แต่วัตถุนิยมทางศาสนาคือการใช้เทคนิคหรือคำสอนทางศาสนา
เพื่อเสริมสร้างอัตตาตัวตน เป็นแนวโน้มของการมองศาสนธรรม
ราวกับเป็นวัตถุ เรารับธรรมะเข้ามา สวมใส่ธรรมะ เสพธรรมะ 
ซื้อธรรมะ คาดหวังว่าตัวเองจะกลายเป็นคนดีขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น 
เราหวังจะ "ได้" อะไรจากการทำบุญ ฟังเทศน์ หรือปฏิบัติธรรม 
ราวกับเป็นการลงทุนแสวงหากำไรทางธุรกิจ เราหวังว่าธรรมะจะเข้ามา
เปลี่ยนแปลงตัวเรา ทำให้เรากลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม ชีวิตเราจะสมหวัง 
ราบรื่นไร้ปัญหา และปราศจากความทุกข์เมื่อเรามีธรรมะ 
การได้บริโภคคำสอนหรือฝึกฝนเทคนิคปฏิบัติทางศาสนาทำให้เราคิดไปเองว่า ตนเองกำลังมีพัฒนาการทางจิตใจอันสูงส่ง การมีศาสนา 
(โดยเฉพาะพุทธศาสนา) ทำให้ตนดีพิเศษกว่าคนอื่น 
หารู้ไม่ว่านั่นเป็นแค่การหลอกตัวเอง ใช้ศาสนาในการเสริมสร้างตัวตน
ให้มีสถานะและอำนาจมากขึ้นเท่านั้น เราสามารถแสดงธรรมเทศนา
ได้ยาวนานเป็นชั่วโมงๆ แต่กลับไม่มีความเปิดกว้างของจิตใจในการรับฟังผู้อื่น
ได้มากนัก การอ้างพุทธวจนะจึงเป็นเพียงเครื่องมือยืนยันในความบริสุทธิ์
ถูกต้องของคำพูดตัวเอง ไม่ใช่การแสดงให้เห็นถึงการทำในสิ่งที่พูด เราพร้อมออกมาปกป้องพระศาสนาออกจากกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี โดยไม่รู้ตัวว่าความรุนแรงทางกาย วาจา ใจ ที่แสดงออกมาเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพุทธธรรมคำสอน เป็นต้น

หากมองไปยังปรากฏการณ์ "วัตถุนิยมทางศาสนา" ในสังคมไทย 
คำพูดของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่า "ศาสนาคือยาฝิ่น" ก็ดูจะไม่ผิดไป
จากความเป็นจริงมากนัก

จากคำอธิบายของเชอเกียม ตรุงปะ การบิดเบือนพื้นฐานของอัตตา 
แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน

วัตถุนิยมแห่งรูป คือ การกระทำของอัตตาในการเสาะหาความสะดวก
สบายทางกาย ความมั่นคงปลอดภัย หรือความสุข แทนที่จะมุ่งไปยัง
กระบวนการเผชิญความทุกข์ ความเปลี่ยนแปลง หรือความไม่มีตัวตน 
เรากลับใช้ศาสนธรรมเพื่อ "หลีกเลี่ยง" ที่จะเผชิญสัจธรรมพื้นฐานเหล่านั้น 
เราหวังว่าศาสนาจะช่วยให้เราไม่ต้องพบเจอกับความไม่สะดวกสบายทั้งหลาย 
ศาสนธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมจัดการผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม
รอบตัวให้เป็นอย่างที่เราต้องการ พร้อมกับยกสถานะและเสริมสร้างอำนาจ
ให้แก่ตัวเราในฐานะผู้ยึดมั่นในศาสนา

นอกจากนั้น เรายังสร้างโลกจำลองชีวิตทางศาสนาอันสะดวกสบายขึ้นมา 
เช่น นิพพานเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา การบรรลุธรรมเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ 
ยิ่งทำบุญมากยิ่งได้มาก เป็นต้น วัตถุนิยมแห่งรูปสะท้อนถึงจิตวิปลาสที่พยายามปกป้องและหลบเลี่ยงสิ่งกวนใจ แล้วบิดเบือนสร้างโลกอันสะดวกสบาย
น่าหลงใหลขึ้นมาใหม่ด้วยกลไกแห่งการจัดการควบคุมทางกายภาพ 
ราวกับการเนรมิตรังดักแด้ทางศาสนามาห่อหุ้มอัตตาอันเดิมเอาไว้

วัตถุนิยมแห่งถ้อยคำ
คือการกระทำของอัตตาในการจำแนกแยกแยะประเภท 
เพื่อเป้าหมายในการจัดการกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย 
แทนที่จะเผชิญกับประสบการณ์ชีวิตอันโกลาหลอย่างตรงไปตรงมา 
เรากลับตัดทอนมันออกเป็นส่วนๆ ด้วยหลักคิดต่างๆ เราให้คำนิยาม 
ความหมาย ตีความ ตัดสินดีชั่วถูกผิด เรารับรู้ผ่านความคิดว่าทำไมและอย่างไร
สิ่งต่างๆ จึงเกิดขึ้นในแบบนี้และแบบนั้น

วัตถุนิยมแห่งถ้อยคำ คือแนวโน้มของอัตตาในการตีความสิ่งใดก็ตาม
ที่เข้ามาคุกคามหรือสร้างความรำคาญใจ หักล้างให้กลายเป็น "กลางๆ" 
หรือแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นบวกเสีย เราใช้ถ้อยคำและหลักการต่างๆ 
เป็นม่านกรองในการปกป้องตัวเองจากการรับรู้โลกตามที่เป็นจริง 
ถ้อยคำ วิธีคิด และหลักการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดในตัวมันเอง 
แต่มันถูกนำมาใช้อย่างจริงจังเกินไป เมื่อใดที่เรามีประสบการณ์ชีวิตอันดิบ
หยาบและคาดไม่ถึง เราจะรีบหยิบหลักการขึ้นมาอธิบายมันทันที 
เราไม่ยอมให้ตัวเองรู้สึกสั่นไหวไปกับความไม่รู้หรือภาวะที่ตัวตนถูกท้าทาย
ได้นานนัก "I think, therefore I am" เมื่อโลกที่มีชื่อเรียกและคำอธิบาย
อย่างตายตัวมีอยู่ ตัวฉันจึงมีอยู่ และเมื่อตัวตนฉันมีอยู่ โลกก็ต้องเป็นไป
อย่างที่ฉันอธิบาย แนวโน้มนี้สามารถอธิบายการใช้หลักธรรมหรือคำสอน
ทางศาสนา เพื่อยืนยันการมีอยู่ของตัวตนที่มั่นคงถาวรได้ด้วยเช่นกัน

วัตถุนิยมทางจิตใจ
คือการใช้เทคนิคการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ 
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ นั่งสมาธิ ปลีกวิเวก 
หรือความสัมพันธ์ที่มีกับครูบาอาจารย์ มาเป็นหนทางในการปิดกั้นตัวเอง
ออกจากความทุกข์หรือสิ่งกวนใจ เราเชื่อว่าเมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว 
ใจจะไม่เป็นทุกข์ นั่งสมาธิแล้วจะสงบเย็น หรือฝึกฝนกับอาจารย์คนนี้แล้วชีวิตจะดีขึ้น เป็นต้น

เมื่อต้องการความสงบ ความสุข หรือสภาวะจิตที่มั่นคงแน่นอน 
เราก็สามารถใช้เทคนิคหรือคำสอนเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวะจิต
ที่ปรารถนาแล้วปิดกั้นอารมณ์ ความรู้สึก หรือสภาวะจิตอื่นๆ ออกไป

กลไกป้องกันตัวเองของวัตถุนิยมแห่งรูป ถ้อยคำ และจิตใจ 
ถูกสร้างขึ้นเพื่อธำรงรักษาความเป็นอมตะของอัตตา ลึกๆ 
เราอยากเชื่อว่าตัวเองจะดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ไม่มีวันตาย 
ชีวิตเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปร เราพยายามหลอกตัวเองทั้งๆ 
ที่รู้ดีว่าตำนานที่สร้างขึ้นนั้นไม่มีทางเป็นจริง

การบรรลุสัจธรรมของพุทธะ คือการตัดทะลวงผ่านกลไกป้องกันตัวเอง
อันซับซ้อนของวัตถุนิยมทางศาสนาเข้าไป 
การภาวนาคือการฝึกสติสัมปชัญญะให้รู้เท่าทันกลวิธีการหลอกตัวเองของอัตตา
 เพื่อที่ว่าเราจะสามารถอยู่ตรงนั้น และปล่อยให้ชีวิตเป็นไปโดยไม่มัวเสียเวลา
ขัดขืนหรือปกป้อง เราเรียนรู้ที่จะเผชิญและสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยที่เกิด
ขึ้นตามจริง ไม่หลบ ไม่เบี่ยง ไม่เลี่ยง ไม่หนี ไม่ควบคุมให้เป็นไปอย่าง
ที่เราต้องการ ไปพ้นจากกลไกการควบคุมของอัตตา 
เราค้นพบการตื่นรู้แห่งพุทธภาวะ แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับความสะดวกสบาย 
ความมั่นคงปลอดภัย หรือความสุข เราฝึกที่จะสัมพันธ์อยู่กับความเป็นจริง
อันทั้งสุขและทุกข์ของชีวิต แทนที่จะต้องรีบจัดการจำแนกทุกอย่างเข้าไป
อยู่ในหลักคิดอันแน่นอนตายตัว เราสามารถปล่อยให้สิ่งต่างๆ 
เป็นอย่างที่มันเป็นและเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับมันได้ ตรงกันข้ามกับความวิปลาส
แห่งการปกป้องตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราค้นพบความเป็นปกติและเปิดกว้าง
ของจิตใจ ที่ซึ่งชีวิตอันหลากหลายอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม 
การภาวนาคือการฝึกสัมพันธ์กับวัตถุดิบของจิตใจอย่างตรงไปตรงมา 
กระทั่งเกิดเป็นความสบาย ความมั่นคง และความสุขจากภายใน 
บนพื้นฐานของการเคารพทุกประสบการณ์ตามที่เป็น ในสังคมพุทธที่
ซึ่งอัตลักษณ์ทางศาสนาถูกปลูกฝังส่งเสริมโดยรัฐอย่างไม่ถูกตั้งคำถาม 
นับวันจะยิ่งพบเห็นแนวโน้มของวัตถุนิยมทางศาสนามากขึ้นทุกที 
พุทธศาสนาไทยกำลังถูกนำมาใช้สร้างเสริมอัตตาและเป็นเครื่องมือของ
รัฐเผด็จการในการพิทักษ์ปกป้องสถานะความศักดิ์สิทธิ์อันลบหลู่ดูหมิ่นไม่ได้ 
ศาสนาแบบพึ่งพิงอำนาจนำไปสู่คุณค่าศาสนธรรมแบบพึ่งพิงอำนาจ

และตราบใดที่ศรัทธาแห่งรัฐยังมุ่งสร้างความมั่นคงด้วยการปกป้อง
และปิดกั้นตัวเองจากความหลากหลาย อำนาจรัฐก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึง 
"ความบิดเบือนพื้นฐานของอัตตา" อันส่งผลต่อความวิปลาสทางการเมือง
อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

ขอขอบคุณเจ้าของแนวคิดนี้เป็นอย่างยิ่ง 
.....................................................................................................
ที่มา : มติชนรายวัน บับวันที12 เมษายน 2558





Create Date : 12 เมษายน 2558
Last Update : 19 กันยายน 2558 4:00:11 น. 0 comments
Counter : 1241 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com