มิถุนายน 2560

 
 
 
 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
มิลินทปัญหา - บทที่ ๙ ธุตังคปัญหา


มิลินทปัญหา - บทที่ ๙ ธุตังคปัญหา

     พระราชาทอดพระเนตรเห็นภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าตามลำพังห่างไกลจากผู้คน บำเพ็ญเพียรรักษาธุดงควัตรเคร่งครัด แล้วก็ทรงทอดพระเนตรเห็นผู้ครองเรือนที่ดำรงอยู่ในอริยผลด้วย เมื่อเห็นทั้งสองฝ่ายเช่นนั้น จึงเกิดความสงสัยยิ่ง "ถ้าผู้ครองเรือนรู้แจ้งในธรรมได้ การสมาทานธุดงค์ย่อมไร้ผล เอาเถอะ เราจะถามครูผู้เก่งที่สุดองค์นั้น ผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎก และมีวาทะอันอาจแก้วาทะของปรวาทีได้ ท่านย่อมแก้ความสงสัยของเราได้"
     พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสนเถระ ทรงกราบและประทับนั่ง ณ ที่อันควรแล้วถามว่า "พระคุณเจ้านาคเสน มีฆราวาสบรรลุมรรคผลนิพพานบ้างหรือไม่"
     "ไม่ได้มีเพียงร้อยหรือพัน แต่มีเป็นพัน ๆล้าน ที่ได้บรรลุมรรคผลกระทำนิพพานให้แจ้ง"
     "พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าฆราวาสผู้อยู่บ้าน เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ยังอาจบรรลุมรรคผลนิพพาน จะมีประโยชน์อันใดกับการปฏิบัติธุดงค์ ถ้าหากว่าสามารถจะปราบศัตรูได้ด้วยกำปั้น จะมีประโยชน์อะไรที่จะต้องเสาะหาอาวุธ ถ้าหากว่าอาจขึ้นต้นไม้ได้ด้วยการป่ายปี พะองจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากว่านอนบนดินแข็ง ๆก็สบายดี ที่นอนจะมีประโยชน์อะไร ฉันใดก็ฉันนั้น ฆราวาสอาจบรรลุนิพพานเมื่ออยุ่เรือน จะมีประโยชน์อะไรกับการสมาทานธุดงค์"
     "ขอถวายพระพร มีคุณแห่งธุดงค์อยุ่ ๒๘ ประการ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงสรรเสริญธุดงควัตร การรักษาธุดงค์ทำให้เลี้ยงชีพบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข หาโทษมิได้ ไม่ทำให้ผู้อื่นลำบาก หาภัยมิได้ หาสิ่งจะเบียดเบียนมิได้ ทำให้ผู้สมาทานเจริญขึ้นอย่างเดียว หากความเสื่อมมิได้ หาความประพฤติหลอกลวงมิได้ เป็นเครื่องป้องกันรักษา เป็นคุณที่คนทั้งหลายปรารถนา เป็นเครื่องฝึกตน เกื้อกูลแก่ความสำรวม เป็นกิจที่ควรปฏิบัติของสมณะ ทำให้สงบเป็นอิสระ เป็นเหตุสิ้นราคะ เป็นเหตุสิ้นโทสะ เห็นเหตุสิ้นโมหะ เป็นเครื่องละมานะ เป็นเครื่องตัดความคิดฟุ้งซ่าน และทำให้จิตตั้งมั่น เป็นเครื่องข้ามความสงสัย เป็นเครื่องกำจัดความ    เกียจคร้าน เป็นเครื่องละความไม่ยินดี เป็นเครื่องอดกลั้น เป็นคุณที่หาสิ่งอื่นเสมอมิได้ เป็นคุณที่มิอาจประมาณได้ และเป็นเหตุให้ถึงธรรมที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง
     "ผู้รักษาธุดงค์เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณ ๑๘ ประการ คือ มีอาจาระหมดจด มีปฏิปทาบริบูรณื รักษาการกระทำทางกายทางวาจาได้ด้วยดี มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์ ประคองวิริยะไว้ด้วยดี ระงับความกลัวได้ ขจัดอัตตานุทิฏฐิได้ ระงับความอาฆาตและตั้งอยู่ในเมตตา พิจารณาเห็นอาหารตามความเป็นจริงทุกครั้งที่บริโภค เป็นผู้ที่สัตว์ทั้งปวงเคารพ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ และย่อมอยู่ในที่ที่ผาสุกสำหรับตน เป็นผู้เกลียดบาป เป็นผู้มีความยินดีในวิเวก แลเป็นผู้ไม่ปรามาทเป็นนิจ"
      "บุคคลผู้ควรแก่การสมาทานธุดงค์มี ๑๐ จำพวก คือ ผู้มีศรัทธา ผู้มีหิริ ผู้มีปัญญา ผู้ไม่ล่อลวง ผู้หวังพึ่งตนเอง ผู้ไม่มีความโลเล ผู้รักการศึกษา ผู้สมาทานมั่นคง ผู้มีปกติใคร่ครวญ และผู้อยู่ในเมตตาพรหมวิหาร"
     "ฆราวาสทั้งหลายที่ทำพระนิพพานให้แจ้งได้เพราะได้เคยฝึกธุดงค์มาแต่ชาติก่อน ๆ ไม่มีใครที่อาจจะบรรลุถึงอรหัตตผลได้ในชาตินี้โดยที่ไม่เคยสมาทานธุดงค์มาก่อน ด้วยการปกิบัติอย่างแน่แน่เท่านั้นจึงจะบรรลุถึงธรรมเป็นอรหันต์ได้ ดังนั้น การปฏิบัติธุดงค์จึงเปี่ยมด้วยคุณและอานุภาพ"
     "ขอถวายพระพร บุคคลใดที่ปรารถนาสิ่งชั่ว สมาทานธุดงค์ด้วยหวังลาภจะรับโทษฑัณฑ์ ๒ เท่า จะเป็นที่ดูหมิ่น เยาะเย้ยในโลกนี้ และเมื่อตายไปจะหมกไหม้อยู่ในนรก"
     "ขอถวายพระพร บุคคลใดที่ประพฤติสมควรแก่ความเป็นสมณะ มีความมักน้อยและสันโดษ ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ มีความเพียร ไม่เสแสร้งและบวชมิใช่ด้วยหวังลาภหรือชื่อเสียง แต่ด้วยศรัทธาในพระธรรม ใคร่พ้นจากชราและมรณะ เป็นผู้สมควรแก่การบูชาเป็น ๒ เท่า เพราะผู้นั้นเป็นที่รักแก่เทวดาและมนุษย์ และจะบรรลุถึงพระอริยผล๔ ปฏิสัมภิทา๔ วิชชา๓ และอภิญญา๖ ได้เร็ว"
      "ธุดงค์ ๑๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ธุดงค์ ๑๓ อย่างได้แก่ ทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ทรงผ้า ๓ ผืนเป็นปกติ เที่ยวบิณฑบาติเป็นปกติ เที่ยวไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ ฉันมื้อเดียวเป็นปกติ ฉันแต่ในบาตรเป็นปกติ ไม่ฉันภัตมาภายหลังเป็นปกติ ถือการอยู่ป่าเป็นปกติ ถือการอยู่โคนไม้เป็นปกติ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นปกติ ถือเอาเสนาสนะ ตามที่เขาจัดแจงให้เป็นปกติ และถือการไม่หลับในอิริยาบถนอนเป็นปกติ"
      "โดยการรักษาธุดงค์เหล่านี้ ท่านพระอุปเสนเถระได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคขณะที่ทรงหลีกเร้นอยู่ในที่อันสงัด และด้วยการรักษาธุดงค์เช่นเดียวกันนี้ ท่านพระสารีบุตรได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง และเป็นผู้ที่เป็นรองก็แต่พระผู้มีพระภาคเท่านั้น ในด้านการแสดงธรรม"
     "ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธวจนะก็ดี การได้บรรลุโลกุตรธรรมก็ดี และการประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในโลกก็ดี ทุกอย่างนั้นรวมลงในธุดงค์ ๑๓ นี้"


ที่มา: หนังสือมิลินทปัญหา - กษัตริย์กรีกถาม พระเถระตอบ โดย นวพร เรืองสกุลถอดความเป็นภาษาไทย



Create Date : 16 มิถุนายน 2560
Last Update : 16 มิถุนายน 2560 11:24:47 น.
Counter : 827 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ineverdie
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments