Dissertation Topic-1st
ตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises : A Study of Construction Accessories Co., Ltd.
โดย
นาย ดนัย เทียนพุฒ รหัสนักศึกษา d47907903026 หลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจรุ่นที่ 2 กลุ่ม 2 ปีการศึกษา 2547 บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
Create Date : 10 มกราคม 2549 |
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2549 21:52:53 น. |
|
5 comments
|
Counter : 1406 Pageviews. |
 |
|
|
เศรษฐกิจแห่งความรู้ (Knowledge Based Economy) เป็นเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้ (Knowledge) และเทคโนโลยี (Technology) เป็นพลังขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีพลังอำนาจมากกว่าทรัพยากรใดๆ ในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความได้เปรียบจากความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) (Stewart, 1997) ขณะเดียวกัน ทอลแมนและคณะ (Tallman and Others, 2004) ได้สรุปถึงมุมมองของความได้เปรียบในการแข่งขันที่เน้นทรัพยากรความรู้ว่า การสร้างคุณค่าทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Value Creation) จะมีหัวใจหลักที่กำหนดระดับผลลัพธ์ของธุรกิจ เช่น การยอมรับในความสำคัญของความซับซ้อน (Recognition of the Importance of Complex) การมุ่งมั่นของธุรกิจ (Firm Commitment) ความรู้โดยปริยายและทรัพยากรความรู้ที่เฉพาะของธุรกิจ (Embeded Tacit and Firm Specific Knowledge Resources) สมรรถภาพและความสามารถ (Capabilities and Competencies) ที่จะทำให้เป็นความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (World Competitiveness)
ปัจจุบันสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) หรือทุนทางปัญญา (Edvinsson and Malone, 1997) เป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Teece, 2000) ซึ่งจะเห็นว่าทุนทางปัญญาหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มีมูลค่าต่อธุรกิจสูงมาก หากพิจารณาเปรียบเทียบโดยดูได้จากมูลค่าตลาด (Market Value)
สวีบาย (1997) ได้วิเคราะห์และสรุปผลสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้กับมูลค่าตลาด ของบริษัทในปี 1995 ไว้ว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High Technologies) เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล จีเนนเทค และธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดต่ำ ขณะที่ธุรกิจสื่อ เช่น รอยเตอร์ ธุรกิจจัดการความสูญเสีย เช่น เคนโทกิล ธุรกิจด้านคอนซูเมอร์ เช่น โคคา-โคลา, ยูนิลีเวอร์ ฮิวโก-บอสส์, อาร์นอทส์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาดสูง ส่วนธุรกิจเวชภัณฑ์ยา เช่น แอสตรา แกล็คโซสมิทช์ไคน์ มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้สูงมากกว่าธุรกิจด้านบริการ เช่น วอลมาร์ท แมคโดนัลด์ ธนาคารและบริการทางการเงิน เช่น ซิตี้คอร์ป เอเม็ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ทรัพยากรพลังงาน มีมูลค่าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ใกล้กับมูลค่าตลาด และโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนที่ต่ำในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ต่อมูลค่าตลาด
ในการกำหนดองค์ประกอบของทุนทางปัญญาโดยเฉพาะที่ เอ็ดวินส์สิน (1997) บุกเบิกขึ้นให้ กับสแกนเดีย เอเอฟเอส (Skandia AFS) ในปี 2537 ซึ่งเรียกว่า สแกนเดีย เนวิเกเตอร์ (Skandia Navigator) ถือเป็นตัวแบบทั่วไป (General Model) ซึ่งเป็นตัวแบบที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกและมักจะนิยมอ้างถึงโดยประกอบด้วยองค์ประกอบของ ขอบเขตลูกค้า (Client Scope) ขอบเขตการเงิน (Financial Scope) ขอบเขตด้านคน (Human Scope) ขอบเขตกระบวนการ (Process Scope) และขอบเขตการปรับใหม่ (Renewal Scope) ส่วนตัวแบบที่พัฒนาต่อมาเป็น ตัวแบบเชิงสัมพันธ์ (Related Model) เป็นลักษณะทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ตัวแบบของบริษัทดาวเคมีคอล (Dow Chemical Model, 1994) จะมีองค์ประกอบของทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนองค์กร (Organizational Capital) และทุนลูกค้า (Client Capital)
ซัลลิแวน (1995) สจ๊วต (1997) รูส์ (1998) และอีกหลายๆ ท่านสรุปว่า มีการอธิบายและการนำไปใช้ของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกันในองค์ประกอบของทุนทางปัญญา พาบลอส (2004) มีการศึกษาในช่วงปี 2537-2546 จาก 20 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน อินเดีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร พบว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจในการพัฒนาบรรทัดฐานที่จะให้ได้สารสนเทศที่เป็นแนวทางในการจัดการ และการวัดทุนทางปัญญา โดยสารสนเทศนี้ต้องมีความเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous) และเปรียบเทียบกันได้ (Comparable)
แต่ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมแบบไทย ไพบูลย์ ช่างเรียน (2532) อธิบายวัฒนธรรมกับการบริหารของไทยว่ามีลักษณะเฉพาะได้แก่ การยึดถือตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นการรวมกันอยู่โดยไม่มีผลประโยชน์ที่กำหนดไว้แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การบริหารได้ขยายตัวสลับซับซ้อนมากขึ้น แต่การรวมกลุ่มกันในรูปแบบเป็นการเฉพาะบุคคล แบบระบบวงศาคณาญาติ หรือตามลักษณะโครงสร้างของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบเดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่
โครงสร้างการบริหารของไทยจึงมีลักษณะของการยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ในขณะเดียว
กันก็มีลักษณะของการรวมอำนาจเข้าหาตัวบุคคลอีกด้วย ดังนั้นเทคนิคหรือหลักเกณฑ์การบริหารต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมกับอีกสังคมหนึ่งก็ได้ หรือเมื่อนำหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ มาใช้แล้ว ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ทั่วไปในสังคม
ตัวแบบทุนทางปัญญาที่ผู้วิจัยได้ศึกษาทั้งตัวแบบทั่วไปและตัวแบบเชิงสัมพันธ์ รวม-ถึงการวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่ามีองค์ประกอบอยู่หลายๆ องค์ประกอบ และยังรวมถึงองค์ประกอบ เช่น การวิจัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา ทุนมนุษย์ โครงสร้างองค์กร วิธีการทำงาน การตลาด แบรนด์ ลูกค้า และเครือข่ายซัพพลายเออร์ รวมทั้งซอฟท์แวร์ (Stewart, 2001; Sullivan, 2000; Edvinsson, 2002; Bontis, 1996) จึงทำให้มีความสับสน ยุ่งยากในการนิยาม การจัดการ และการเก็บสารสนเทศที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การวัดมูลค่าซึ่งเป็นการคำนวณทางการเงินหรือทางบัญชี การรายงานจึงผิดพลาดและไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ
ตัวแบบทุนทางปัญญาของนักคิดทางตะวันตก เมื่อจะนำมาปรับใช้ในบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีความเฉพาะของวัฒนธรรมการบริหารแบบองค์กรธุรกิจไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ขององค์ประกอบทุนทางปัญญาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมบริหารของธุรกิจไทย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นไปได้ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาโดยศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นลักษณะศึกษาเชิงประจักษ์เพื่อวิจัยปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่เป็นบริบทของสภาพธุรกิจที่แท้จริง (Yin, 1994)