Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
11 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 

ภาพยนตร์:รักแห่งสยาม ‘เจ็บก่อนแล้วค่อยโต’

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 6 ธันวาคม 2550 18:28 น.

อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
jiengjy@yahoo.com

ลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังในสไตล์ Road Movie กับ COMING-OF-AGE ค่อนข้างคล้ายคลึงกันก็คือ การที่หนังมักจะหยิบยื่นสถานการณ์ยุ่งยากบางอย่างให้ตัวละครต้องเผชิญและผ่านพ้นไปให้ได้ เพื่อก้าวไปสู่ “การเรียนรู้” (Enlightenment) บทเรียนใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและความคิดของตัวละครไปตลอดกาล

มองไปก็ไม่ต่างจากชีวิตจริง ที่บางครั้ง คนเรานั้น ถ้าไม่พานพบประสบการณ์อันเลวร้ายและเจ็บปวดเสียบ้าง ก็ยากที่จะ “เติบโต” และ “เข้าใจ” อะไรๆ หลายอย่าง

ภาษาธรรมะอาจจะบอกว่า ไม่มีอะไรที่ “สั่งสอน” มนุษย์ได้ดีเท่ากับความทุกข์

ขณะที่ภาษาของคนดูหนังจำนวนหนึ่งจะชอบเรียกคนประเภทนี้ว่าเป็นพวก hurt to understand หรือ “ปวดร้าวเพื่อเข้าใจ”

เหมือนคนคนหนึ่งที่ลึกซึ้งในความรักเพิ่มมากขึ้นจากการ “อกหัก” (และเรียนรู้ว่า รักครั้งต่อไป ต้องรักแบบไหนถึงจะไม่เจ็บตัวและหัวใจ...)

เรื่องราวในหนัง “รักแห่งสยาม” ก็เดินตามแนวทางที่ว่านี้อย่างชัดเจน เพราะหลังจากที่ตัวละครแต่ละตัวนัวเนียล้มลุกคลุกคลานอยู่กับปัญหาของตนเอง และ “แบ่งปันความเจ็บปวด” ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันไปแล้ว ในที่สุด สิ่งที่ทุกคนได้รับกลับมาคล้ายๆ กันก็คือ “สายตาในการมองโลก” ที่เปลี่ยนไป

และอย่าได้เชื่อเป็นอันขาดนะครับ ถ้าใครมาบอกว่านี่เป็นหนัง Y (รักร่วมเพศ) หรือหนังรักกุ๊กกิ๊กเบาสมองของเด็กวัยรุ่น เพราะเนื้อหาที่ “รักแห่งสยาม” กำลังสื่อสารกับคนดูจริงๆ เป็นแง่มุมความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติที่นำมาทั้งความรู้สึกอ่อนหวานและร้าวรานให้ตัวละครแต่ละคนได้เรียนรู้ ก้าวผ่าน และเติบโตไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งคนแรกที่ผมคิดว่าน่าสนใจและน่าพูดถึงก่อนใคร (ซึ่งคงขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ที่อาจจะคิดถึงโต้งกับมิวก่อน) ก็คือ “กร” พ่อของโต้งที่จ่อมจมตัวเองอยู่กับความเจ็บปวดในวันวานจากการที่ลูกสาวคนโต (แตง) หายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งนับแต่นั้น วันๆ ก็เอาแต่ดื่มเหล้า และเฝ้าฝันว่าลูกสาวจะกลับมา จนคืนวันผันผ่านเนิ่นนานไป ทำให้เขากลับกลายเป็น “คนอีกคน” ที่ปล่อยวางภาระหน้าที่หัวหน้าครอบครัวอย่างสิ้นเชิง

เขาโหยหาแต่ “คนที่จากไป” แต่กลับทอดทิ้ง “คนที่ยังอยู่” อย่างไม่สนใจไยดี

อันที่จริง คนแบบกรนี้ก็เข้าทำนอง “ชักดาบฟันสายน้ำ น้ำยิ่งเชี่ยว ดื่มเหล้าหวังดับทุกข์ ทุกข์ยิ่งเพิ่มพูน” เพราะจริงๆ แล้ว สุราไม่ใช่ยาดับทุกข์ แม้ว่าฤทธิ์เดชของมันจะทำให้มนุษย์หลงลืมความปวดร้าวไปบ้างในบางขณะ แต่นั่นก็ทำให้มนุษย์ต้องพึ่งมันตลอดเวลา เพราะ (กลัวว่า) ถ้าสร่างเมาเมื่อไหร่ ความปวดร้าวเดิมๆ จะตามมาหลอกหลอนเหมือนเคย...

อย่างไรก็ตาม หลังจากหมกมุ่นอยู่กับความเจ็บปวดของตัวเองแบบไร้สติไปหลายปีจนลูกเริ่มโตเป็นหนุ่ม ความกลัดกลุ้มของกรก็มาถึงจุดเปลี่ยนพร้อมกับการปรากฏตัวของ “จูน” หญิงสาวที่หน้าตาคล้าย “แตง” มากจนกระทั่งหลายคนสงสัยว่าใช่คนเดียวกันหรือเปล่า? (และหนังก็เก็บเป็นความลับจนจบเรื่อง)

แต่มันไม่สำคัญหรอกว่า จูนกับแตงจะเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่เป็น เพราะประเด็นจริงๆ นั้นอยู่ที่ “การมา” ของจูนมีความหมายในแง่ที่มันได้ช่วยพยุง “คนขี้แพ้” (และขี้เหล้า) ที่กำลังหมดแรงคนหนึ่งให้ลุกขึ้นมา “สบตากับความจริง” แบบตรงไปตรงมาอีกครั้งหนึ่ง

ฉากที่สะท้อนแง่มุมนี้ได้ค่อนข้างชัดก็คือ ฉากที่ผึ้งน้อยตัวหนึ่งตกลงไปในแก้วน้ำหวานสีแดงและพยายามช่วยชีวิตตัวเองอย่างทุลักทุเลด้วยการค่อยๆ ไต่ขึ้นมาตามความยาวของหลอดพลาสติกที่เสียบอยู่ในแก้วใบนั้น

ซึ่งหากมองในเชิงสัญลักษณ์ น้ำหวานสีแดงก็อาจแทน “ภาวะเศร้าโศก” (หรืออาจจะเป็นเหล้า) ที่ผึ้งน้อยอย่าง “กร” จมปลักอยู่ในนั้นนานหลายปี ส่วน “จูน” ก็เหมือน “หลอดพลาสติก” ที่ทำหน้าที่เสมือน “สะพาน” ให้กรได้ “ก้าวผ่าน” จาก “สายน้ำแห่งความเจ็บปวด” นั้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อหลุดรอดจากการจมน้ำ (หวาน) ตาย “ผึ้งน้อย” ตัวนั้นจะบินไปต่อหรือไม่ คนที่ตอบได้ดีที่สุดก็คือ “กร”...

อย่างไรก็ตาม ขณะที่พ่อของโต้งเอาแต่นั่งก๊งเหล้าเหมือนคนเมาไม่รู้สร่างทั้งวันทั้งคืนนั้น ภาระทั้งหมดก็ตกไปอยู่กับแม่บ้านอย่าง “สุนีย์” ที่ต้องดูแลจัดการทุกอย่าง ทั้งในบ้านและนอกบ้าน (ทำงานหาเงิน, ดูแลผัวขี้เมา เลี้ยงลูก ฯลฯ)

และอาจเป็นเพราะภาระความรับผิดชอบที่ล้นบ่านี่เองที่ทำให้สุนีย์ต้องมี “กฎระเบียบ” และ “ความเคร่งครัด” ในตัวเองค่อนข้างสูง เพราะเปรียบไปก็คล้ายกับ “นายท้ายเรือ” ที่ต้องคอยบังคับให้เรือล่องไปในทิศทางที่ถูกต้อง ถ้านายท้ายไม่เข้มแข็งเด็ดขาด โอกาสที่เรือจะกระแทกเข้ากับโขดหินหรือโดนคลื่นซัดล่มก็มีสูงเช่นกัน

การเป็นคนเจ้าระเบียบไม่ใช่เรื่องน่าเสียหาย ตราบใดที่มันอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอควร แต่ถ้ามีมากเกินไปเมื่อไหร่ มันก็พร้อมจะทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ “ฟังแต่เสียงความคิดของตัวเอง” จน “ไม่ได้ยินเสียงหัวใจของผู้อื่น”

เช่นเดียวกับสุนีย์ที่พอเธอรู้ว่าลูกชายของตัวเอง (โต้ง) แอบมีสัมพันธ์ขั้นลึกซึ้งกับเพื่อนชาย (มิว) เธอก็เป็นเดือดเป็นแค้นและพยายามทุกวิถีทางเพื่อโค่น “ต้นรัก” ของลูกที่กำลังงอกงาม เพราะเธอรับไม่ได้ที่จะเห็นลูกชายเป็นพวก “รักร่วมเพศ”

ความคิดของสุนีย์ แท้ที่จริงก็คือความคิดของคนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ที่แอนตี้เกย์ เกลียดทอม ดูถูกกะเทย และเชื่อว่า ความรักต้องเป็นแบบ “ชายกับหญิง” เท่านั้น พ้นจากนี้ไปถือว่า “ผิดปกติ”

ทั้งที่ความจริง ความรักหลากหลายกว่านั้นมาก และไม่ว่าจะรักแบบไหน ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ถ้ารักนั้นเป็นรักแท้แน่จริง ก็งดงามได้ไม่ต่างกัน
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือว่า คนรอบข้างจะมี “ท่าที” อย่างไรถ้าคนใกล้ตัวมีความรักที่ต่างไปจาก “สูตรสำเร็จ” เดิมๆ ซึ่งในหนังเรื่องนี้ กว่าที่สุนีย์จะ “คิดได้” และมี “ท่าที” ที่ถูกต้องต่อลูกชาย เธอก็เผลอทำร้ายเขา (และคนรักของเขา) ไปพอสมควรแล้ว...

ครับ, เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด คงไม่ใช่แค่คนสูงวัยอย่างกรกับสุนีย์เท่านั้นที่ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นอีกขั้นจากความผิดพลาดและบาดแผลของตัวเอง เพราะนอกจากนี้ยังมีตัวละครรุ่นกระเตาะอีกหลายๆ คน โดยเฉพาะโต้งกับมิวซึ่งเป็นไฮไลต์ของหนังนั้น ผมเชื่อแน่ว่า

หลังจากเหตุการณ์ (ร้ายๆ) ทั้งหมดผ่านพ้นไปแล้ว พวกเขาคงจะไม่ได้ “เติบใหญ่” ขึ้นเพียงแค่วันวัยและกายภาพเท่านั้น แต่ความคิดความอ่านของพวกเขาก็น่าจะ “เติบโต” ขึ้นตามไปด้วย หลังจาก “ได้แผล” กันไปแล้วคนละแผลสองแผล

แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า ถ้า “เจ็บ” ขนาดนี้แล้วยังไม่ “โต” ก็อาจต้อง “เจ็บ” อีกรอบหนึ่ง...





 

Create Date : 11 มีนาคม 2551
1 comments
Last Update : 16 เมษายน 2551 17:35:58 น.
Counter : 436 Pageviews.

 

ชอบ
ชอบ
ชอบ

 

โดย: ท้องฟ้า IP: 61.19.153.110 7 สิงหาคม 2551 22:06:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แดดออก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แดดออก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.