ชื่อ อทิตยา มี ลูกชาย 1 ชื่อ อเล็กซานเดอร์............... มีหลานชาย ( เป็นลูกหมา ) 2 ตัวชื่อ โจอี้ กับ จูเนียร์............... เราทั้ง 4 ใช้นามสกุล เดียวกันว่า มังกร ................... มีบ้านอยู่ ใกล้คลอง เจ้าหญิง เมืองอัมสเตอร์ดัม.................. 2แม่ลูก แบกกระเป๋าเที่ยวบ่อย ทำนองว่า ทัศนศึกษา.................... เที่ยวไปมา แม่ติดลม แล้วก็มาติดบลอค บางที ก็ยกขโยงไปทั้ง4 เป็น มังกรแฟมิลี่ สัญจร ............................. รู้จักกัน พอเป็นกระสัย จะได้ ทักทายกัน พอสมควร เจ้า
เบอร์ลิน (1) … วันสิ้นกำแพง โดย : The Mouse

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2552 18:21 น.


โดย : The Mouse








ประตูบรานเดนบวร์กในวันครบรอบ 20 ปีแห่งการทลายกำแพงเบอร์ลิน มีแท่งโดมินิโนหลากสีสันระบายโดยนักเรียน วางเรียงรายตามแนวกำแพงเดิม ซึ่งมีการล้มโดมิโนในช่วงค่ำ ประหนึ่งกำแพงพังลง


ทันทีที่รู้ว่าจะได้แวะเวียนไป “เบอร์ลิน” เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยบาดแผลแห่งสงคราม สิ่งแรกที่ฉันนึกถึงคือ “กำแพง”

นั่นก็เพราะในช่วงนี้ กำลังมีวาระ “20 ปีแห่งการทลายกำแพง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2009 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 2 ทศวรรษของก้าวแรก ที่ชาวเยอรมันตะวันออกได้มีโอกาสข้ามสู่ตะวันตกอย่างเป็นทางการ

ด้วยฉันมีเวลาที่เบอร์ลินเพียงแค่ 2 วัน ดังนั้นทันทีที่เหยียบถึงเขตเบอร์ลินในช่วงบ่าย ก็หมายใจว่าจะตรงดิ่งมุ่งหน้าไปยังรอยต่อระหว่างอดีตฝั่งตะวันออก-ตะวันตก โดยที่พักเพียงคืนเดียว (และคนเดียว) ในเบอร์ลินนั้น ฉันเลือกจุดที่สะดวกที่สุด คือโฮสต์เทลหัวมุมถนนตรงข้ามสถานีรถไฟซูโอโลจิสเชอร์ การ์เท้น (Zoologischer Garten) หรือสถานีสวนสัตว์ (ที่มีเจ้าหมีคนุตเป็นดาวเด่น) ที่ประหนึ่งเป็นหัวลำโพงบวกรวมกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถไฟและรถเมล์แทบทุกสายจะต้องมาจอดผ่านที่นี่ รวมถึงแอร์พอร์ตบัสที่ตรงสู่สนามบิน




แนวกำแพงยังคงเหลือร่องรอยไว้ทั่วเบอร์ลิน ส่วนแนวนี้อยู่แถวๆ เช็คพอยต์ชาร์ลี


แต่ก่อนจะเริ่มการผจญภัยชมรอยแผลแห่งสงคราม ฉันก็แวะหาซื้อตั๋วเดินทางแบบเหมาจ่ายซะก่อน จะได้ขึ้นรถเมล์ลงรถไฟแบบกี่รอบก็ไม่รู้สึกเสียดาย เพราะแน่นอนว่าอาการ “หลงทาง” เป็นเรื่องชวน ”หลงใหล” ในการเดินทางครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้ว่าจะศึกษาเส้นทางมาก่อน แต่พอเจอแผนที่โครงข่ายทางรถไฟที่มีหลากสีหลายเส้น (เมื่อเทียบกับบ้านเราที่มีรถไฟฟ้าแค่ 2 สายบวกกับใต้ดินอีกเพียงแค่ 1 สาย) ทำให้ฉันต้องเสียเวลาพักใหญ่ ตั้งสติเพ่งภาพใยแมงมุมที่ยุ่งเหยิงอยู่ตรงหน้า

วาร์เชาเออร์ สตาร์เซอร์ (Warschauer) คือชื่อสถานีและถนนที่ฉันต้องการไปสู่ “กำแพง” ที่หมายมั่นปั้นใจไว้



ร้านขายของที่ระลึกที่อีสต์ไซด์แกลอรี รวมภาพเด่นๆ ไว้ ด้านบนซ้ายสุดคือ "จูบมรณะ" ส่วนภาพถัดมาเป็น "ทราบี้" รถยี่ห้อเดียวของเยอรมันตะวันออก ที่ขับทะลุกำแพง


ที่จริงแล้วมีรถเมล์ตรงดิ่งไปลงที่ “กำแพง” เลย แต่ฉันก็เลือกที่จะยอมเหนื่อยสักนิดเดินจากสถานีนี้ เพื่อที่จะได้เดินชมบรรยากาศยามบ่ายของชานเมือง และสะพานโอเบอร์บาม (Oberbaumbrücke) สะพานสีแดง 2 ชั้น ซึ่งแรกเริ่มสร้างเมื่อ 300 ปีก่อนเป็นสะพานไม้ (ตามคำว่า Baum ที่หมายถึงต้นไม้) ที่ใช้เปิดปิดได้ประหนึ่งประตูเมือง เมื่อกาลเวลาผ่านไปสะพานไม้ก็ถูกซ่อมแซมให้เข้มแข็งด้วยก้อนอิฐสีแดง และได้เพิ่มหอคอยคู่แบบโกธิกเข้าไป

สะพานโอเบอร์บามแห่งนี้ ใช้ชั้นบนเพื่อเดินรถไฟใต้ดินในระยะแรกเพียงแค่ข้ามแม่น้ำสปรี แต่แล้วช่วงสงครามโลกสถานีต้นทางก็ถูกทำลาย จากนั้นเมื่อแบ่งแยกเบอร์ลิน สะพานก็ถูกใช้เป็นด่านผ่านทางเฉพาะชาวเบอร์ลินตะวันตกเท่านั้น และหลังจาก 5 ปีที่เยอรมนีได้รวมประเทศ ก็มีการซ่อมแซมสะพานอีกครั้ง โดยนำเหล็กเข้ามาเสริม แต่ยังคงหน้าตาเดิมไว้ จากนั้นไม่นานรถไฟใต้ดินก็มีโอกาสข้ามสะพานเชื่อมต่อกันทั้งเมืองได้อีกครั้ง



"ยังมีกำแพงอีกมากรอให้ทำลาย" หนึ่งในมุมมองของศิลปินที่บันทึกไว้




เดินลัดเลาะชมสะพานพอเหนื่อย ฉันก็มุ่งตรงสู่ “กำแพง” ที่ระลึกถึงหนักหนา จริงๆ แล้วแนวกำแพงแห่งการแบ่งแยกนี้ ยังคงมีร่องรอยเป็นก้อนอิฐคู่ฝังอยู่บนพื้นถนน ก่อเป็นแนวยาวต่อเนื่องไปทั่วเบอร์ลิน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสังเกตได้

แต่กำแพงที่ฉันกำลังจะไปชมนี่คือ อีสต์ไซด์แกลอรี (East Side Gallery) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแถบแนวกำแพงเบอร์ลิน ที่จงใจเหลือแผ่นผนังไว้ โดยในส่วนริมแม่น้ำสปรีแห่งนี้ทิ้งไว้ 1.3 เมตร เพื่อจัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวและผลพวงแห่งสงคราม ด้วยผลงานของศิลปินนับร้อยจากหลายประเทศต่างทยอยเดินทางมาแต้มกำแพงแห่งนี้ หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายลง




ถ่ายทอดวันที่ชาวเบอร์ลินตะวันออกทะลักล้นสู่ตะวันตก บนอีสต์ไซด์แกลอรี



ภาพบนกำแพงที่โดนใจฉันก็เห็นจะเป็น “จูบมรณะ” (ซึ่งเป็นขั้นกว่าของลีลา “การกอด” เรื่องล่าสุดที่ออกฉายข้างบ้านเราเมื่อสัปดาห์ก่อน) ทว่าการจูบอันลือลั่นสนั่นกำแพงนี้ คัดลอกจากภาพถ่ายการจูบอันดูดดื่มของเลโอนิด เบรสเนฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต กับ เอริช โฮเนคเกอร์ ผู้นำเยอรมันตะวันออกในสมัยนั้น ที่แสดงความรักใคร่ พร้อมๆ กับสาบานรักว่ากำแพงเบอร์ลินจะอยู่อีกนับร้อยปี...สร้างความสะอิดสะเอียนไปทั่ว (ไม่แพ้การกอดของชายคู่นั้น)

นอกจากนี้ ยังมีภาพอีกนับร้อยๆ ที่สื่อถึงความต้องการเสรีภาพ สันติภาพ และความหวังต่อโลกในอนาคต

อีสต์ไซด์แกลอรีแห่งนี้นับเป็นศิลปะบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีสีสัน และถือว่าเป็นห้องจัดแสดงศิลปะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ยังมีแนวกำแพงอีกแห่ง คือเมาเออร์พาร์ค (Mauerpark) ซึ่งอยู่ในสวนสาธารณะ เปิดให้ผู้คนมาแสดงฝีมือพ่นสี หรือกราฟิตีกันตามความสร้างสรรค์

แม้จะมีที่ให้มือสมัครเล่นละเลงสีแล้ว แต่ก็น่าเสียดายแผ่นกำแพงตรงอีสต์ไซด์แกลอรีถูกมือบอน (ที่น่าจะมาจากทั่วโลก) ช่วยกันละเลงลวดลาย ชนิดที่อิมเพรสชันนิสต์ตัวแม่ก็ดูไม่ออก เพราะนี่มันทำลายชัดๆ ซึ่งก็มีการบูรณะไปแล้วในปี 2000 พร้อมกับฝังป้ายไว้ตรงกำแพงเชิงขอร้องว่า “อย่าทำเลยนะท่าน” แต่หาห้ามได้ ในที่สุดช่วงก่อนการฉลอง 20 ปีแห่งการทลายกำแพง ก็ต้องวาดภาพเหล่านี้กันใหม่อีกครั้ง



ด้านหลังของอีสต์ไซด์แกลอรีเป็นแม่น้ำสปรี มีสะพานโอเบอร์บามเป็นฉากหลัง


หลังดื่มด่ำกับศิลปะบนกำแพงสมใจแล้ว ก็จำต้องเร่งทำเวลา ไปที่สถานีออสบาห์นฮอฟ (Ostbahnhof) มุ่งสู่สถานีอันฮาลเตอร์ (Anhalter) ที่อดีตฝั่งตะวันออก เพื่อจะเข้าสู่ โทโปกราฟี ออฟ เทอร์เรอร์ (Topography of Terror Exhibition) นับเป็นอีกงานแสดงที่ใหญ่รองจากอีสต์ไซด์แกลอรี โดยสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของตำรวจลับเกสตาโป และหน่วยเอสเอส ผู้ร้ายตัวเอกแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคุกใต้ดินเป็นที่คุมขังและทรมานนักโทษการเมือง

ดังนั้นช่วงเบอร์ลินโดนถล่มในโค้งสุดท้ายของสงคราม อาคารสถานที่รายรอบจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ และพื้นที่บริเวณนี้ก็ได้กลายเป็นพรมแดนระหว่างอเมริกันกับโซเวียต จึงมีกำแพงก่อขึ้น เมื่อรวมชาติได้ พื้นที่เอกอุเช่นนี้จึงถูกอนุรักษ์ให้เป็นอนุสรณ์ โดยจัดแสดงภาพเหตุการณ์ต่างๆ ภายใต้การปกครองของนาซี

ฉันเดินถัดไปอีกนิดบนถนนฟรีดริช (Friedrichstrasse) เป็นที่ตั้งของด่านอันโด่งดัง “เช็คพอยต์ชาร์ลี” ที่ปรากฏเป็นฉากในหนังและนิยายอยู่หลายเรื่อง เพราะเป็นเพียงด่านเดียวที่กองกำลังสัมพันธมิตรและชาวต่างชาติสามารถผ่านสู่เบอร์ลินตะวันออกได้ ซึ่งบริเวณนี้มีแค่แผ่นไม้เปิดขึ้นลงให้รถผ่าน จึงมีผู้เสี่ยงวิ่งหนีข้ามแดน หรือขับรถฝ่าเข้ามา ซึ่งสามารถชมเรื่องราวของด่านแห่งนี้ได้ที่พิพิธภัณฑ์ด้านข้าง




แนวกำแพงในเมาเออร์พาร์ค เปิดเสรีให้เหล่ากราฟิตีพ่นกันตามสะดวก



ทีแรกฉันก็สงสัยว่าด่านนี้ “ชาร์ลี” เป็นเจ้าของหรือไง แต่จริงๆ แล้วเป็นการเรียกตามโค้ดของกองกำลังทหารสัมพันธมิตร ที่เรียกด่านทั้ง 3 ตามลำดับอักษร เอ – อัลฟา, บี – บราโว และซี-ชาร์ลี นี่เอง ขณะที่ฝ่ายรัสเซียเรียกด่านต่างๆ ตามชื่อถนน

ถ้ามีเวลามากกว่านี้ ฉันจะนั่งลงที่ร้านกาแฟแอดเลอร์ (Cafe Adler) ข้างๆ ด่าน มองไปทางฝั่งตะวันออก นึกถึงภาพประเทศที่ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และโซเวียต) และเมืองหลวงที่อยู่ในเขตโซเวียตถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง แผนที่เบอร์ลินตะวันตกเสมือนไข่แดงแห่งโลกเสรีที่ถูกล้อมกรอบด้วยคอมมิวนิสต์

ปี 1961 เบอร์ลินตะวันตกและตะวันออกถูกแบ่งโดยนามธรรม การเดินทางเข้าออกทั้ง 2 ฝั่งทำได้อย่างเสรี แต่การปกครองต่างขั้วก็เปลี่ยนชีวิตชาวเมือง 2 ฝั่งได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้คนฝั่งตะวันออกข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันตกนับล้าน จนโซเวียตต้องสร้างกำแพงจริงๆ ขึ้นในปี 1964 พัฒนาการของกำแพงมีถึง 4 รุ่น จากรั้วลวดหนามเป็นก้อนอิฐ และเป็นแผ่นคอนกรีตอย่างที่เห็นกันจนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1975

ความยาว 1,378 กิโลเมตรของกำแพงเบอร์ลินเป็นสองรองจากกำแพงเมืองจีน นับเป็น “นวัตกรรมของชนชาติ” ที่สหภาพโซเวียตภูมิใจเสียเต็มประดา ทว่าวีรกรรมที่ชาวฝั่งตะวันออกใช้หนีข้ามกำแพง ถือเป็นความสร้างสรรค์ที่กล้าหาญยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็น การใช้บอลลูน ใช้สลิงไต่ หรือ ขุดอุโมงค์




โทโปกราฟี ออฟ เทอร์เรอร์


ถึงการหนี ได้เวลาที่ฉันต้องเร่งไปยังศูนย์เอกสารและความทรงจำ (Memorial and documentation center) บนถนนแบร์เนาเออร์ (Bernauer Strasse) แหล่งข้อมูลทั้งเอกสาร ภาพ ข่าว ตลอดช่วงเวลา 28 ปีที่กำแพงก่อตัวขึ้น พร้อมทั้งขึ้นไปบนหอกระจกสูงมองลงมาดู “เส้นทางแห่งความตาย” พื้นที่โล่งว่างระหว่างแนวกำแพงชั้นในกับชั้นนอก ที่มีทั้งลวดหนาม พรมตะปู และปืนกล คอยต้อนรับผู้ท้าทาย ประหนึ่งลานประหารก็ไม่ปาน

ใกล้ค่ำแล้ว ถึงเวลาไปซึมซับบรรยากาศที่ประตูบรานเดนบวร์ก สัญญลักษณ์แห่งสันติภาพ และต่อมาหมายถึงชัยชนะ ด่านประตูชัยแห่งนี้เคยเป็นฉากประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนกล่าวสุนทรพจน์เรียกให้มิคาอิล กอบาชอฟ “พังกำแพง” ซึ่งอีก 2 ปีต่อมากำแพงที่ถูกพังลง แต่ไม่ขอยืนยันว่าเป็นผลงานการตะโกนของเรแกนในครั้งนั้น

บางตำราบอกว่าการทลายกำแพงเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เพราะช่วงนั้นมีการชุมนุมเรียกร้องรวมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้วันที่ 9 พ.ย.1989 รมต.กระทรวงพรอพากันดาของเยอรมันตะวันออกต้องกล่าวสุนทรพจน์หน้าจอ โดยให้ความหวังว่าจะมีการเปิดให้ผ่านแดนได้อย่างอิสระ แต่พอถูกนักข่าวถามว่าเมื่อใด ท่าน รมต.เหลือบไปมองโพย เห็นวันที่พิมพ์เอกสารก็นึกว่าเป็นวันที่บังคับใช้ จึงประกาศออกไปว่า “ทันที”

ทันใดนั้นบริเวณบรานเดนบวร์กเกตก็คึกคักและคราคร่ำไปด้วยผู้คนจากฝั่งตะวันออกที่หลั่งไหลเข้ามา พร้อมๆ กับชาวตะวันตกที่คอยต้อนรับเพื่อนร่วมชาติ และประตูแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่หลักสำหรับที่รำลึกวันล่มสลายของกำแพงในทุกๆ ปี

ฉันจบวันรำลึกถึงกำแพง ด้วยการซื้อเศษซากของมันมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก แม้กำแพงเบอร์ลินล่มสลายแล้ว แต่ยังมีกำแพงอีกมากมาย ที่รอให้เราทลาย...(อ่านต่อตอนหน้า)

เบอร์ลิน (2) ความทรงจำหลังสงคราม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤศจิกายน 2552 17:21 น.


โดย : The Mouse






“โบสถ์หัก” รอยแผลแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2


วันที่สองของฉันซึ่งเป็นวันสุดท้ายในเบอร์ลิน ฉันมีภารกิจใหญ่คือการเข้าไปฝังตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่

แต่ว่าช่วงเช้าตรู่ก่อนที่ที่หมายหลักจะเปิดให้บริการ ฉันยังพอมีเวลาสัก 2-3 ชั่วโมง สำหรับการท่องชมเมือง เพื่อชี้จุดเกิดเหตุต่างๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

การเดินทางคนเดียวครั้งนี้ออกจะหดหู่สักเล็กน้อย เพราะฉันพาตัวเองไปตามสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ในเมื่อมีโอกาสได้มาเยือนเมืองหลวงที่เคยเต็มไปด้วยบาดแผลแห่งนี้ ฉันก็ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงแค่ในหน้ากระดาษหนังสือที่เราได้ร่ำเรียนกันมา

แผนการท่องเบอร์ลินก็แสนง่ายดาย ด้วยรถหมายเลข 100 สายเดียวเที่ยวได้ทั่ว



“วิกตอรีคอลัมน์” เสาแห่งชัยชนะเหนือชาติอื่น


ต้นทางของฉันก็เริ่มขึ้นที่สถานีรถไฟสวนสัตว์อีกเช่นเคย แต่คราวนี้เรามารอที่ถนนด้านหน้า ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าจะรอกันนานขนาดไหน เพราะมีป้ายไฟแสดงสายรถเมล์ต่างๆ พร้อมเวลาที่กำลังจะมาถึง รถเมล์สายนี้มีเยอะพอดู ชนิดที่ยืนยังไม่ทันเมื่อย รถก็จอดเทียบท่าที่ฉันยืนรอท่า

เมื่อได้ยานพาหนะคู่ใจแล้ว ฉันค่อยๆ ไต่บันไดขึ้นไปชั้น 2 ของรถ จะได้ชมวิวสองข้างทางได้อย่างเต็มที่ ล้อรถหมุนไปได้ไม่กี่รอบ โบสถ์หัก (The Ruin Church) ก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า จริงๆ แล้วโบสถ์นี้มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ไกเซอร์ วิลเฮล์ม เกดาคชนิชเคียร์เช (Emperor Wilhelm II Memorial Church) สร้างขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ในสไตล์นีโอโรมันเนสก์ แต่ถูกโจมตีทางอากาศจนเหลือแค่หอคอยที่เว้าแหว่งนี้ในปี 1943 หลังสงครามได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นข้างๆ เป็นอาคารรูปแปดเหลี่ยม ภายในสวยงามด้วยกระจกสีน้ำเงิน ทำให้โบสถ์ดูงดงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืน




ตึกรูปหอยท้อง จัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมจากนอกยุโรป


ถัดจากโบสถ์ รถสาย 100 ก็พาผ่านทางเข้าสวนสัตว์เบอร์ลินอันเก่าแก่ในอีกด้านประตู (รูป) ช้าง ซึ่งทางเข้าแห่งนี้ก็ถูกทำลายและสร้างใหม่ให้เหมือนเดิม จากนั้นรถก็จะผ่านเทียร์การ์เท้น (Tiergarten) สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมือง

ในเทียร์การ์เท้นนี้มี ซีเกสซอยเลอ หรือ เสาแห่งชัยชนะ (Siegess?ule) ตั้งตระหง่านเป็นวงเวียนอยู่กลางสวน พร้อมรูปปั้นสำริดเคลือบทองของเทพีแห่งชัยชนะ หรือ “ไนกี้” ยืนถือคฑาศักดิ์สิทธิ์และช่อมะกอกอยู่ที่ปลายยอด ขึ้นไปบริเวณนี้จะมองได้ทั่วเมืองเบอร์ลิน

เสาชัยอายุ 145 ปีแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะที่กองทัพปรัสเซียมีเหนือเดนมาร์ก, ออสเตรีย และฝรั่งเศส โดยชัยชนะเหล่านี้มีส่วนทำให้ปรัสเซียรวมชาติเยอรมนี กลายเป็นจักรวรรดิเยอรมันในเวลาต่อมา เดิมทีเสายักษ์นี้ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าหน้ารัฐสภา แต่สมัยฮิตเลอร์ได้นำมาตั้งไว้ที่วงเวียนกลางสวน มีถนนเชื่อมต่อไปยังประตูบรานเดนบรวก อีกสัญลักษณ์แห่งความมีชัยเหนือศัตรูผู้รุกราน



รัฐสภา” อาคารด้านนอกเป็นศิลปะแบบโบราณ ขณะที่ด้านในและโดมเบื้องหลังคือความทันสมัย


สิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่ที่แสดงชัยชนะนี้ บ้างก็ว่าสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในชาติ บ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการยกย่องสงคราม

สาย 100 เลี้ยวไปข้างๆ เทียร์การ์เท้น ผ่านสถาบันศิลปะสำหรับจัดแสดงโชว์และคอนเสิร์ตต่างๆ เขาว่าอาคารนี้มีรูปร่างเหมือน “หอยนางรมท้อง” ฉันก็เพิ่งจะเคยเห็นหอยท้องก็จากตึกหลังนี้

ยังไม่ทันหายงงกับท้องหอย รถเมล์ก็พาฉันมาถึง “ไร้คชทาก” (Reichstag) หรือตึกรัฐสภานั่นเอง เห็นทางเข้าด้านหน้าเป็นแบบโรมันโบร่ำโบราณ แต่สถาปัตยกรรมด้านในเป็นโดมกระจกโค้งทันสมัยสวยงาม อีกทั้งยังเปิดให้เข้าชมฟรี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้คนถึงได้ต่อแถวกันหยาวเหยียดขนาดอยู่ตลอดเวลา แต่กว่าจะถึงปลายแถวก็ใช้เวลานับชั่วโมง ฉันจึงขอสละสิทธิ์ แค่ชมๆ ดูๆ อยู่รอบๆ แล้วกัน




มองจากประตูบรานเดนบรวกจะได้เห็นวิกตอรีคอลัมน์อยู่เบื้องหน้า แต่ถ้าเดินไปรับประกันความเหนื่อย


จากตรงนี้เราสามารถเดินทะลุสวนสู่ประตูบรานเดนบรวก ได้ไม่กี่ชั่วเหนื่อย แต่ฉันเดินเรียบแนวกำแพงเดิม ตัดประตูเลยไปสู่ “โฮโลคอส เดงมาล” หรือ “อนุสรณ์แด่ชาวยิวผู้ล่วงลับ” (Holocaust Denkmal) โดยใช้พื้นที่ใน “เส้นทางแห่งความตาย” ที่ว่างระหว่างกำแพงที่ปลิดชีพผู้คิดหนี สร้างเป็นสวนแท่งปูนขึ้น

ฉันเดินตามแนวช่องแท่นปูนสีเทาสูงๆ ต่ำๆ สลับกัน พร้อมกับรับไอเย็นจากแผ่นหิน ทำให้ขนลุกอยู่พอควร คนสร้างก็ช่างคิดได้ เพราะต้องการให้ความรู้สึกเหมือนกับชาวยิวในค่ายกักกัน

ถ้าใครมีเวลา (และจิตใจเข้มแข็ง) ก็ขอชวนมุดต่อไปใต้สถานที่แห่งนี้ มีพิพิธภัณฑ์เก็บข้าวของของชาวยิวเอาไว้มากมาย ทั้งจดหมายที่บอกลาและตามหาญาติ รวมถึงภาพถ่ายต่างๆ ในค่ายกักกัน หน้าตาที่แช่มชื่นของชีวิตในค่ายกักกันที่รู้ว่าจะได้ไป “อาบน้ำ” ซึ่งคือวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ซ้ำด้วยภาพการใช้รถแทรกเตอร์ตักขนย้ายร่างไร้วิญญาณเหล่านั้นมากองรวมกัน



ความเงียบ วังเวง และเยือกเย็น ที่ผู้สร้างต้องการระลึกถึงความรู้สึกของชาวยิวผ่านโฮโลคอส เดงมาล


ประมาณได้ว่าเฉพาะในปกครองของเยอรมัน มีชาวยิวถูกฆ่าหมู่ไป 5-6 ล้านคน ฉันร่วมระลึกความหลังจนขนลุก ก็ค่อยพาตัวเองกลับออกมารอสาย 100 คันต่อไป เพื่อมุ่งหน้าสู่ถนนสายประวัติศาสตร์อีกเส้น

“อุนเทอร์ เดน ลินเดน” (Unter den Linden) หรือแปลได้ว่า ใต้ต้นลินเดน ซึ่งฉันก็ไม่รู้ว่าบ้านเราเรียกต้นไม้นี้ว่าอย่างไร แต่ต้นลินเดนเป็นไม้ใหญ่เรียงรายอยู่ให้เราเดินใต้ต้นไม้เหล่านี้ได้ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากชื่อถนน



Mother with her Dead Son”


ส้นทางรถเมล์สาย 100 บนถนนแห่งนี้ เต็มไปด้วยอาคารสมัยศตวรรษที่ 17-18 มีสถานที่สำคัญเก่าแก่มากมาย หมู่เกาะพิพิธภัณฑ์, โบสถ์เซ็นต์แมร์รีที่เก่าแก่ที่สุดในเบอร์ลิน สร้างไว้ตั้งแต่ปี 1292 จนถึงปลายทางที่อเล็กซานเดอร์พลัตซ์กับหอคอยเสาโทรทัศน์ ที่มองจากมุมไหนของเมืองก็ต้องได้เห็น และนับเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในเยอรมนี

การขึ้นลงรถเมล์ที่นี่สบายมาก เพราะในรถมีจอไฟวิ่งบอกชื่อย่านของป้ายรถเมล์ที่จะไปถึง ไม่ต้องชะเง้อชะแง้ว่าผิดป้ายหรือไม่ ส่วนขากลับจะนั่งสายเดิม หรือเปลี่ยนบรรยากาศเป็นสาย 200 ถึงปลายทางสถานีสวนสัตว์เช่นกัน แต่มุ่งหน้าไปทาง “พอตส์ดาเมอร์พลัตซ์” (Potsdamer Platz) ย่านทันสมัย จะไปช้อปปิ้ง จิบเบียร์ดูบอลกันได้ก็แถวนั้น



ลานเผาหนังสือที่เบเบลพลัตซ์ เบื้องหลังคือโบสถ์เซ็นต์เฮดวิก และบนจตุรัสแห่งนี้ยังมีสถานที่เก่าแก่อีกมากมาย


ส่วนฉันเลือกไม่ไปสุดทางของสาย 100 ขอลงตรง “ฮุมโบลต์” มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของเบอร์ลิน เพราะ อาการสลดหดหู่จากภาพสังหารหมู่ชาวยิวยังไม่จาง ฉันเลยสาวเท้าเข้าไปซึมซับมันต่อที่ “อนุสรณ์แด่เหยื่อสงครามและทรราช” ด้านข้างๆ

อาคารที่ด้านหน้าเรียงรายไปด้วยเสาดอริกแห่งนี้ ภายในเปิดโล่งมีรูปปั้นสีดำเป็นหญิงกอดลูกชายของเธอไว้ ชื่อผลงานว่า “Mother with her Dead Son” ผนังเหนือรูปปั้นเจาะว่างเป็นวงกลม เพื่อให้โดนแสงแดด สายฝน หิมะ และความหนาวเย็น สะท้อนว่าประชาชนเจ็บปวดเพียงไรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ช่างพอดีเหลือเกินที่สายฝนกระหน่ำลงมา ช่วงที่ฉันกำลังเข้าไปที่อนุสรณ์แห่งนี้ เลยทำให้ได้เห็นภาพแม่กอดลูกท่ามกลางฝนเม็ดใหญ่ ภาพที่เห็นกันได้ในหนังสงคราม แต่รูปปั้นแห่งนี้ตอกย้ำว่ามันเป็นเรื่องจริง




สัญญลักษณ์ไฟจราจรข้ามถนนหน้าตาแบบนี้มีที่เบอร์ลินตะวันออกเท่านั้น ปัจจุบันก็ยังคงอนุรักษ์ไว้


ฉันเฝ้ามองจนแม่ลูกคู่นี้ถูกแดดอีกครั้ง ก็ข้ามถนนไปยัง “เบเบลพลัตซ์” (Bebelplatz) สถานที่ใช้เผาหนังสือ 2 หมื่นเล่ม ปัจจุบันได้เจาะพื้นติดกระจก ให้เราเห็นชั้นหนังสือที่ว่างเปล่าตรงพื้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ พร้อมประโยคเตือนใจว่า “ที่ใดเผาหนังสือ ที่นั่นได้เผาประชาชนไปในที่สุด”

ผลจากการทำลายล้างทรัพยากรมนุษย์และทรัพย์สมบัติทางปัญญาจำนวนมหาศาล จึงนำพาเบอร์ลินสู่ความวอดวายในช่วงปลายของสงคราม และแม้แต่ “ฮิตเลอร์” ผู้นำในการก่อการก็ต้องชิงสังหารตัวเอง เพราะกลัวการถูกจับเป็นเชลย

บางตำรา (อีกแล้ว) บอกว่าเขายังไม่ตาย แต่แฝงกายอยู่ที่โน่นที่นี่ รัสเซียให้ความดูแลบ้างล่ะ อังกฤษจับไปได้บ้างล่ะ ... แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วาระสุดท้ายของทรราช ถ้ายังไม่จบชีวิต ก็หาได้อยู่อย่างผาดเผย อำนาจและวาสนามาแล้วก็หมดไป สุดท้ายอยากให้ผู้คนจดจำเราแบบไหน ก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ เหมือนที่ฉันได้มาเดินย้อนรอยดูผลกรรมที่ฮิตเลอร์ทำไว้ในวันนี้

สายฝนในลมหนาวเริ่มโปรยมาอีกระลอก ประหนึ่งเตือนให้ฉันจบภารกิจที่ลานกว้างแห่งนี้ ถึงเวลาที่ฉันจะหลบความหนาวเย็น ใช้เวลาค่อนวันสุดท้ายในเบอร์ลิน กับ “หมู่เกาะพิพิธภัณฑ์” ที่เยื้องไปข้างหน้า




เสาโทรทัศน์สูง 368 เมตร จุดชมวิวที่สูงที่สุดของเมือง


เชื่อไหมว่าเมืองหลวงแห่งนี้มีพิพิธภัณฑ์น้อยใหญ่กว่า 170 แห่ง ... จะรอช้าอยู่ใย (ติดตามต่อตอหน้า)

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เมืองที่เดินทางสุดแสนง่ายดาย

เบอร์ลินนับเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในโลก ที่ถือว่าเดินทางได้สะดวกสบาย เพราะไม่ว่าคุณจะเดินทางไปมุมไหน เครือข่ายคมนาคมทุกชนิดได้เชื่อมถึงกันหมด ทั้งเอสบาห์น (S-Bahn : รถไฟเมือง), อูบาห์น (U-Bahn : รถไฟใต้ดิน), รถเมล์ และ รถราง

สำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อความประหยัดเพียงแค่หาซื้อตั๋วโดยสารเหมาจ่ายตามแต่ระยะเวลาและรูปแบบการเดินทาง แถมด้วยไกด์บุคและแผนที่เบอร์ลินขนาดเหมาะมือ พร้อมทั้งคูปองลดราคากิน-เที่ยว และช้อปปิ้งอีกปึกใหญ่ (สอบถามได้จากศูนย์ขายตั๋วตามสถานี หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยว)

การ์ดที่แนะนำคือ เบอร์ลินเวลคัมการ์ด (berlin-welcomecard.de) และ เบอร์ลินซิตีทัวร์การ์ด (citytourcard.com) จำหน่ายตามสถานีรถไฟ สนามบิน และซุ้มข้อมูลนักท่องเที่ยว หรือเข้าไปที่การขนส่งเบอร์ลิน (bvg.de) ก็มีข้อมูลการเดินทางและการ์ดให้ดูอย่างพร้อมสรรพ

เมื่อได้บัตรเหล่านี้แล้ว ให้นำไปเปิดใช้งาน (Validate) โดยบันทึกเวลาเริ่มเดินทางครั้งแรกตามตู้ขายตั๋วที่สถานีรถไฟ บนรถเมล์หรือรถราง เพราะถ้าเกิดถูกเจ้าหน้าที่ตรวจขึ้นมาจะโดนปรับถึง 40 ยูโรเลยทีเดียว




Create Date : 17 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2552 14:28:25 น. 2 comments
Counter : 1210 Pageviews.

 
ตามมาเที่ยวแต่เดี๋ยวจะกลับมาอ่านใหม่ค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:15:59:36 น.  

 
สวัสดีเจ้า ถ้าอยู่เมืองไทย จะไม่ทำอะไร นอกจาก ขับรถ ชมวิว จอดรถ ชม ภูเขา ทะเล ...........พกหนังสือ ดีๆ ซัก กอง ร่อนเร่ พเนจร หาต้นไม้ ร่มรื่น หรือ ร้านกาแฟ เก๋าๆ อ่านหนังสือ ...........ฝันได้ ไกล ยาว เพราะ ตาม คุณตุ๊ก มาทะเล นี่ แหละค่ะ..........ช่วงนี้ กำลัง พยายามจัดบ้าน ( บลอค ที่รกๆ ) ให้ ดู เป็น หมวดหมู่ แต่ พอจะ ส่งรูป ที่กองๆ ไว้ ให้ ขัดใจ กับ ข้อมูล ไม่มีเวลา เรียบเรียง เรื่องราว ให้ได้ ดังใจ อย่ากระนั้นเลย เอาข้อมูล ของ มือ อาชีพ มา สุมๆ กองๆ ไว้ แล้ว จะได้ บรรเลง ส่งแต่ รูป อย่างเดียว ............คือ แผนการ ที่วางไว้ ...........นะคะ


โดย: แม่ซานเดอร์ วันที่: 18 พฤศจิกายน 2552 เวลา:4:22:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แม่ซานเดอร์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
17 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ซานเดอร์'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.