Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (7)


พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อภิเษกสมรสมาตั้งแต่ พ.ศ.2461

แต่ก็มิได้มีพระราชโอรสธิดา ที่จริงก็ทรงรับอุปการะเจ้านายเด็ก ๆ

อยู่บางพระองค์ แต่ที่ทรงรับเป็นพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าจีรศักดิ์สุประภาต พระโอรสของพระเจ้าอา

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทูลกระหม่อมวังบูรพา

ประสูติจากหม่อมเล็ก (ยงใจยุทธ) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า

“ศักดิเดชน์-ภาณุพันธุ์” ทรงสมรสกับหม่อมมณี (บุนนาค)

เมื่อสละราชสมบัติแล้วก็ได้โดยเสด็จไปประทับที่อังกฤษด้วย

ต่อมาพระองค์เจ้าจีรศักดิ์ฯ ได้เป็นนักบินเข้าร่วมมหาสงครามโลกครั้งที่ 2

กับกองทัพอังกฤษและประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบิน

สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2485 (หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 7)

คำว่าเศรษฐกิจตกต่ำ โภคกิจเสื่อมโทรม อัตคัด

ที่พูดถึงกันในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นศัพท์แปลก ๆ

ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยในสมัยนั้น ต้องอธิบายกันสั้น ๆ

ว่า “เรายากจนลง” เพราะเก็บภาษีได้น้อยลง คนว่างงานมาก

การส่งออกทำได้น้อย การทำไร่ทำนาก็ไม่ค่อยได้ผล

การลงทุนจากต่างประเทศก็ถดถอยไปมาก ที่จะยังพอมีอยู่บ้าง

คือกิจการป่าไม้ทางภาคเหนือ และกิจการเหมืองแร่ทางภาคใต้

ส่วนธุรกิจของคนไทยที่พอเชิดหน้าชูตาในเวลานั้นคือโรงงานเบียร์

ของพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด) และกิจการรถเมล์ เรือเมล์

ร้านสรรพสินค้าของพระยาภักดีนรเศรษฐ (นายเลิศ)

แต่ก็ไม่ได้ใหญ่โตขนาดส่งเงินเข้ารัฐมากมายนัก

เศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลกระทบต่อสยามประเทศอย่างรุนแรง

เช่น งบประมาณไม่พอใช้ รัฐบาลจึงต้องเริ่มมาตรการเพิ่มรายได้

ลดรายจ่ายเป็นลำดับเพื่อลดผลกระทบต่อราษฎรพระเจ้าอยู่ หัว

โปรดฯ ให้ลดการถวายเงินทรงใช้สอย (ทั้งการส่วนพระองค์

และค่าใช้จ่ายทุกประเภทในราชสำนัก) จากปีละ 9 ล้านบาทลง

จนเหลือ 6 ล้านบาทและ 3 ล้านบาทในที่สุด และมีการตรา

กฎหมายเก็บภาษีใหม่ ๆ ที่ไม่กระทบราษฎรโดยตรงเพิ่มขึ้น

ขั้นต่อมาคือการยุบหรือควบรวมหน่วยราชการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

เพื่อมิให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่รัฐมากเกินไป เช่น ยุบหลายจังหวัด

เข้าเป็นจังหวัดเดียว ยุบหลายมณฑลเข้าด้วยกัน

ยุบหน่วยทหารบางหน่วย ยุบกรมรวมกัน ควบรวมกระทรวง

เช่น กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงกลาโหมกับกระทรวงทหารเรือ

เรื่องอย่างนี้ใครจะบอกกล่าวป่าวร้องว่าจำเป็นอย่างไร

ก็เห็นจะเข้าใจได้ยาก หรือแม้เข้าใจแต่ก็ทำใจคล้อยตามยาก

เพราะก่อให้เกิดผลกระทบอยู่มาก คนที่ไม่กระทบกระเทือน

ก็มักจะนิ่งเงียบเสีย ไม่มีเสียหรอกที่จะออกมาช่วยอธิบาย

แทนรัฐบาลให้เปลืองตัว ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบกระเทือน

ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ด่าทอสารพัด

ก็โถ! นายทหารบางคนเป็นพันเอกกำลังคั่วนายพล อ้าว!

เขายุบหน่วยนี้ไปรวมกับหน่วยโน้นเสียแล้วเลยมีนายพลได้คนเดียว

คนที่คั่วอยู่ต้องชักตะพานถ่อแหงนคอรอต่อไป พลเรือนบางคน

ถึงคราวจะได้เป็นอธิบดีหรือข้าหลวง แต่กรมนั้นหรือจังหวัดนั้น

ถูกยุบเสียฉิบ! ผมเคยมีส่วนทำเรื่องปฏิรูประบบราชการ

เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งต้องยุบบางกรม ควบรวมบางกรม

โอนกรมนี้จากกระทรวงนี้ไปอยู่กระทรวงโน้น ได้รู้รสแล้วว่างานอย่างนี้

แม้จะจำเป็นและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่ยากที่คนทำจะได้ดี

สู้ทำเรื่องประชานิยมลดแลกแจกสะบัดไม่ได้!

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่ทรงพ้นไปจาก

ความขัดเคืองคับแค้นขุ่นข้องหมองใจเหล่านี้! อภิรัฐมนตรีสภา

เองก็พลอยถูกโจมตีไปด้วยว่าอาจอยู่เบื้องหลังความคิดนี้

ส่วนคณะเสนาบดีเสียอีกที่อาจพอลอยตัวอยู่บ้างเพราะท่านเหล่านี้

เป็นเจ้ากระทรวงย่อมไม่เสนอความคิดทุบหม้อข้าว

หรือลดทอนอำนาจตนอยู่แล้ว อย่างมากแม้เห็นด้วยก็เฉย ๆ เสีย

และมีอยู่บ้างที่ออกมาเปิดเผยแก่ข้าราชการในกระทรวงของตนว่า

“ข้าทัดทานแล้ว แต่ในหลวงทรงเชื่ออภิรัฐมนตรีมากกว่า”

เรื่องอย่างนี้แม้ทุกวันนี้รัฐมนตรีบางคนในบางรัฐบาลก็ยังชอบประพฤติ

โดยเฉพาะการออกมาปล่อยข่าวกับหนังสือพิมพ์

ทำนองเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น

ทำไปจนถึงขนาดนี้แล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น

รัฐบาลจึงต้องหันมาตัดโครงการที่ไม่จำเป็นหรือลดขนาดลง

อันนี้ก็ขัดใจกับกระทรวงต่าง ๆ อีกแล้ว

กระทรวงกลาโหมขอตั้งกรมการบิน

แต่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าตั้งทั้งทีไม่ควรใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร

หากควรใช้เพื่อการพาณิชย์ขนส่งสินค้าด้วย

จึงขอให้มาขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์

ในหลวงทรงเห็นด้วย เสนาบดีกลาโหมจึงไม่พอใจ!

กระทรวงกลาโหมขอออกระเบียบการเงินและงบประมาณต่างหาก

แต่เสนาบดีกระทรวงการคลังคัดค้านว่าในยามนี้ควรมีวินัยการคลัง

ถ้าแต่ละกระทรวงแยกกันทำระเบียบเอง

ก็จะกระทบสถานะการคลังของประเทศ

เท่านี้กระทรวงการคลังก็ถูกเขม่นเอาอย่างหนัก!

รัฐบาลถูกหาว่าทอดทิ้งทหาร! ยามดีก็ใช้ยามไข้ไม่รักษา

มติคณะรัฐมนตรี เอ๊ย! ที่ประชุมเสนาบดีมีว่าบ้านเมืองกำลังอัตคัด

การให้สองขั้นแก่ข้าราชการให้ทำเท่าที่จำเป็น

เช่น เพราะเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งจึงต้องเลื่อนขั้นตาม

จะได้อัดฉีดให้โตเร็ว ไม่งั้นอธิบดีหรือนายพลเงินเดือนน้อยกว่า

หัวหน้ากองหรือนายพัน กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งขึ้นเงินเดือน

โดยไม่ถึงคราวเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง

แล้วมาขอให้คณะเสนาบดีให้สัตยาบัน ที่ประชุมเสนาบดีไม่เห็นด้วย

เท่านี้เสนาบดีกลาโหมก็เสียหน้าจนขอลาออก!

ฟางเส้นสุดท้ายคือการที่รัฐบาลตัดสินใจ “ดุลย์” ข้าราชการ

คำนี้แปลง่าย ๆ ว่าแจกซองขาวให้ข้าราชการออกจากงาน

เพราะคนชักจะล้นงานเอาจริง ๆ ที่ใช้คำว่า “ดุลย์”

เพราะเจตนาต้องการปรับรายจ่ายของประเทศให้ใกล้เคียงหรือมี

“ดุลยภาพ” กับรายรับ การดุลย์สะเทือนใจข้าราชการ

และครอบครัวเป็นอันมาก ใครเคยอ่านเรื่องสี่แผ่นดินของ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คงจำได้ว่าวันหนึ่งคุณเปรม

พระเอกของเรื่องซึ่งเป็นเจ้าคุณออกไปทำงานแป๊บเดียว

ก็กลับมานั่งหน้าซีดหน้าเซียว แม่พลอยถามว่าวันนี้ทำไมกลับเร็ว

คุณเปรมตอบอย่างละเหี่ยใจว่า “แม่พลอย ฉันถูกดุลย์เสียแล้ว!”

ข้าราชการที่ถูกดุลย์มีตั้งแต่พระยาพานทองลงมาจนถึงชั้นผู้น้อย

มีตั้งแต่นายทหารยศนายพลจนถึงพลเรือน ยิ่งมีมากเท่าไร

คนไม่พอใจรัฐบาลก็ยิ่งคูณ 10 คูณ 100 เพราะไหนจะครอบครัว

ไหนจะญาติมิตร ทั้งการดุลย์ยังทำกันหลายครั้ง ทุกคนไม่แน่ใจ

ชะตากรรมว่าวันใดจะถูกดุลย์จึงเข้าเกียร์ว่างเสียดื้อ ๆ

ทหารนั้นเวลาไม่พอใจอะไรมักจะพูดจาแรง ๆ ตรง ๆ

โบราณเรียกว่า “พุ่ง ๆ อยู่” ไม่กระซิบกระซาบ ไม่อ้อมค้อม

ทหารสมัยไหนมักจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น นักการเมืองและรัฐบาลพลเรือน

จึงควรจับอัธยาศัยทหารข้อนี้ให้ได้ ดังนั้นมีอะไรก็ควรเจรจาต้าอวยกัน

อย่าไปนึกว่าเป็นข้าราชการเหมือนกัน ต้องฟังรัฐบาลลูกเดียว!

ฟังน่ะเขาฟังอยู่ แต่บทจะแสดงปาฏิหาริย์แล้ว ทหารมีหลายวิธี

โดยที่รัฐบาลอาจเอาผิดเขาไม่ได้ ขนาดแม่ทัพนายกองพูดคนสองคน

ก็ยังจะมีคนเชื่อฟังเขาเป็นกองพันกองพล จึงละเอียดอ่อนมาก

รัชกาลที่ 7 จึงทรงเรียกประชุมนายทหารที่ศาลาว่าการกลาโหม

มีพระราชดำรัสอธิบายความจำเป็นของบ้านเมือง

พระราชดำรัสนี้มีสด ๆ ไม่ได้อ่าน ฟังแล้วก็น่าเห็นพระทัยอยู่

ตรัสว่าทรงเข้าใจความสำคัญของทหารดี แต่ขอให้เห็นใจว่าบ้านเมือง

ยามนี้โภคกิจทรุดโทรมหนัก

ถ้าเป็นยามศึกสงคราม ประเทศจะลำบากอย่างไร

เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร รัฐบาลก็ต้องทุ่มเทเพื่อการทหารจนได้

เพราะเอกราชเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ยามนี้ยังไม่ได้มีข้าศึก

ยกมาประชิดติดเวียงชัย จะไปทุ่มเทแต่กับการทหารนั้นไม่ควร

เรากำลังทำสงครามเศรษฐกิจ อะไรที่พอทน พอจะรอได้ก็ขอให้ทน

และรอไปก่อน เมื่อบ้านเมืองฟื้นแล้ว

รัฐบาลจะกลับมาดูแลทหารให้เข้มแข็งต่อไป

มีคนฟังแล้วน้ำตาซึมอยู่เหมือนกัน แต่ที่เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันว่า

ถ้ามัวแต่แก้ปัญหากันเองไม่กี่คนอย่างนี้ยังไงก็ฟื้นยากก็มีอยู่บ้าง

อย่างว่าแหละครับ คนที่ติดเครื่องและเดินเครื่อง

แล้วจะให้ดับเครื่อง “ทนและรอ” เห็นจะยาก

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพาในเวลานั้น

คือเศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำหนัก ค่าของเงินผันผวนไปทั่วโลก

อังกฤษประกาศถอนตัวจากการผูกค่าเงินปอนด์ไว้กับมาตรฐานทองคำ

หลายประเทศเดินตาม ค่าเงินบาทแกว่งไกวทุกวัน

จนเราต้องคิดว่าจะเอาอย่างไร เสนาบดีคิดเห็นกันไปคนละทาง

บางคนเสนอให้ไปกู้ต่างชาติ เอาเส้นทางรถไฟที่เปิดใหม่ไปเป็นประกัน

ฟังเหมือนจะตกเป็นเมืองขึ้นอีกแล้ว! ความคาดหมายว่าเศรษฐกิจ

จะฟื้นตัวเร็ววันคงเป็นไปได้ยาก แต่ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาล

จะล้มเลิกการพัฒนาประเทศเสียหมด ในสมัยนั้นยังมีการ

“กระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่จำเป็นอยู่เหมือนกัน เมื่อเกิดเพลิงไหม้

ที่วัดดวงแขใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง โปรดฯ ให้ตัดถนนสายใหม่

คือ เจริญเมือง จารุเมือง จรัสเมือง ตัดถนนมหาพฤฒาราม

มเหสักข์ ปราโมทย์ ประดิษฐ์ ประชาราษฎร์

โปรดฯ ให้สร้างสะพานกษัตริย์ศึกที่ยศเส และตัดถนนที่ฝั่งธนบุรี

หลายสายพระราชทานชื่อว่าถนนลาดหญ้า ตากสิน อินทรพิทักษ์ เป็นต้น

โปรดฯให้สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายแห่ง

รับสั่งว่าแม้เศรษฐกิจจะตกต่ำแต่สิ่งเหล่านี้

เป็นความจำเป็นของบ้านเมือง ถึงอย่างไรก็ต้องทำ

ในเรื่องการเมืองการปกครอง มีพระราชดำริว่าเศรษฐกิจ

อาจทำให้การดำเนินการเรื่องนี้มีปัญหา แต่ก็ยังต้องทำเท่าที่ทำได้

ดังนั้นนอกจากจะมีเรื่องการเตรียมการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ดังที่เคยเล่าแล้ว ก็ทรงหันมาเน้นเรื่องการปกครองท้องถิ่น

โดยปรับปรุงสุขาภิบาลสังกัดกรมสาธารณสุขสมัยรัชกาลที่ 5

ให้เป็นประชาภิบาล (ทรงเรียกว่า municipality)

เปิดโอกาสให้ราษฎรจัดการปกครองกันเอง

ซึ่งก็คือเทศบาลในบัดนี้นั่นเอง

ในชั้นต้นทรงตั้งนายอาร์.ดี.เครก ที่ปรึกษารัฐบาล

เป็นประธานกรรมการจัดการประชาภิบาล พระยากฤษณามรพันธ

(ต่อมาเป็นพระยาไชยยศสมบัติ) พระยาจินดารักษ์

นายบุญเชย มิตรชาติเป็นกรรมการ แต่คณะกรรมการได้ศึกษา

แล้วถวายความเห็นว่าราษฎรน่าจะยังจัดการปกครองกันเองไม่เป็น

ควรแยกประชาภิบาลออกมาจากกรมสาธารณสุขแล้วให้ไปขึ้นกับ

กระทรวงมหาดไทยและทดลองทำในบางเมืองก่อน

ไม่ควรทำพร้อมกันทั้งประเทศ มิฉะนั้นจะล้มเหลว

รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นด้วย มีพระราชดำรัสว่า

“ถ้าเรายังมี Municipal Government ไม่ได้

จะมี Parliamentary Government อย่างไรได้

ถ้าหากต่อไปภายหน้าเราจำจะต้องมี

Parliamentary Government แล้ว

เราต้องพยายามจัดให้มี Municipal Government ขึ้นให้ดีก่อน”

ว่าแล้วก็ทรงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกรมร่างกฎหมาย

ไปจัดการยกร่างกฎหมายเทศบาลตามแนวพระราชประสงค์

แต่เชื่อไหมครับว่าแปลกที่ในยามนั้นดูใครต่อใครที่เกี่ยวข้อง

จะไม่เข้าใจพระราชประสงค์และพากันพร้อมใจกัน

เข้า “เกียร์ว่าง” ไปหมด.

..................

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556


Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:55:09 น. 0 comments
Counter : 325 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.