Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (3)


คอลัมน์นี้กำลังเล่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ปกเกล้าปกกระหม่อม”

คำว่า “ปกเกล้า” มาจากส่วนหนึ่งของพระปรมาภิไธย

เดิมทีทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ

เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ ประสูติเมื่อ

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 ปีนี้จึงครบ 120 ปี

แห่งพระบรมราชสมภพ ทรงเป็น “ลูก” พระองค์ที่ 76 ของรัชกาลที่ 5

แต่เป็นพระองค์ที่ 9 (สุดท้อง) จากพระครรภ์ของสมเด็จพระนางเจ้า

เสาวภาผ่องศรี (ต่อมาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง) เมื่อ “พระเจ้าน้องนางเธอ”

คนละแม่ พระชนมายุ 3 วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ

ก็เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้องและพระเจ้าน้องยาเธอ

พระองค์สุดท้ายตลอดมา

คำว่า “ยา” ใช้เติมเพื่อแสดงความเป็นพระราชวงศ์เพศชาย

ใช้ประกอบคำว่าพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าพี่ยาเธอ

พระเจ้าน้องยาเธอ ถ้าไม่มีคำนี้จะแสดงว่าเป็นหญิง

ก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 ย้อนขึ้นไป เราไม่เคยแบ่งแยกจำแนกเพศเจ้านาย

ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงจะไม่เติมคำว่า “ยา”

ต้องมาเดากันเองว่าเป็นชายหรือหญิง ภายหลังตอนปลายรัชกาลที่ 3

เข้าใจว่าเจ้านายมีจำนวนมากขึ้น จึงต้องหาคำมาทำให้บอก

ได้หมายรู้ว่าเป็นชายหรือหญิง

เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา ได้รับพระราชทานเฉลิมพระนามเ

ป็นเจ้าต่างกรมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ

เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา” ครั้นโสกันต์

(โกนจุก) แล้วได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมอีตัน

ในประเทศอังกฤษ

โรงเรียนอีตันเป็นโรงเรียนเก่าแก่มีชื่อเสียงมาก

ตั้งอยู่หน้าพระราชวังวินเซอร์นอกกรุงลอนดอน

บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์อังกฤษและนักการเมืองคนสำคัญ

เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้เป็นส่วนใหญ่

คนไทยรุ่นหลังที่จบจากอีตันพอออกนามได้ก็คือ

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไงล่ะ!

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากอีตันแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ

ได้ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยรอแยลอคาเดมี

เมืองวูลิช แผนกวิชาการทหารปืนใหญ่

ว่ากันว่าการที่ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารเพราะแพทย์ถวายคำแนะนำว่า

น่าจะเป็นการดีต่อพระสุขภาพ เนื่องจากจะได้ทรงออกพระกำลัง

พระวรกายที่แบบบางจะได้แข็งแรงขึ้น พระปัปผาสะ (ปอด)

จะได้ขยายใหญ่ขึ้น ขณะนั้นรัชกาลที่ 5 เพิ่งสวรรคต

สมเด็จพระบรมเชษฐาร่วมพระบรมราชชนนี

ได้ทรงรับราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 6 แล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ ทรงใช้เวลาราว 3 ปี

ก็สำเร็จการศึกษา ได้ทรงทำราชการ ณ กรมทหารปืนใหญ่อังกฤษ

ดำรงพระยศเป็นนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพบกอังกฤษ

เป็นเหตุให้ทรงรู้จักมักคุ้นกับนายทหารอังกฤษรุ่นราวคราวเดียวกัน

หลายคน ซึ่งต่อมาต่างก็เจริญก้าวหน้า

ได้เป็นแม่ทัพนายกองสำคัญในกองทัพอังกฤษ

ปี พ.ศ. 2458 ได้เสด็จกลับมารับราชการในประเทศสยาม

ได้ทรงเป็นนายทหารคนสนิทพิเศษ (ทส.)

ยศนายร้อยเอกของจอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ

เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้หรือ “ทูลกระหม่อมเล็ก”

เป็นพระราชอนุชาร่วมพระบรมราชชนนีกับรัชกาลที่ 6

จึงเป็นพระเชษฐาร่วมพระบรมราชชนนี

กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ ด้วย

ในขณะนั้น นายร้อยเอก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

ทรงเป็นเจ้านายหนุ่มเนื้อหอมมาก

เพราะเป็นทั้งสมเด็จพระราชอนุชาพระองค์เล็กสุดของพระบาทสมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัว และเป็นนักเรียนนอกนายทหารหนุ่มโสด

เพิ่งจบจากอังกฤษ แม้จะมีข่าวว่าอาจทรงพอพระทัยหม่อมเจ้าหญิง

พระองค์โน้นพระองค์นี้ แต่ในที่สุดผู้ที่ทรงสนิทเสน่หา

จนจะทรงเสกสมรสด้วยในไม่ช้าคือ

หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ หรือท่านหญิงนาหรือเต่านา

พระญาติสนิททางฝ่ายพระบรมราชชนนี

ที่ว่าหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นพระญาติสนิทนั้น

เพราะสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี

พระบรมราชชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ

ซึ่งเป็นพระราชธิดาของรัชกาลที่ 4 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยม

(ในสายสกุลสุจริตกุล ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนา “ขรัวยาย”

ท่านนี้เป็นสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) นั้น

ทรงมีน้องชายแม่เดียวกันพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์

กรมพระสวัสดิ์ฯ จึงทรงเป็น “น้า” แท้ ๆ หรือน้องแม่ของรัชกาลที่ 6

และ 7 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็น “ลูก” ของกรมพระสวัสดิ์ฯ

ประสูติจากหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณีจึงทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องเรียงกัน

หม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี (ต่อมาเป็นพระองค์เจ้าหญิง)

พระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงเป็นพระธิดาของ

กรมหลวงพิชิตปรีชากร เมื่อประสูติจัดว่าทรงเป็นเจ้าหญิงที่งามมาก

พระองค์หนึ่ง ครั้งที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชธิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธา

ทิพยรัตน์ฯ ทรงพระสิริโฉมมากจนรัชกาลที่ 5

ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่าคราวนี้ล่ะข้าไม่แพ้กรมพิชิตแล้ว

พระบรรพบุรุษของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นนักกฎหมายใหญ่

ทั้งฝ่ายพระชนกและพระมารดา พระชนกคือสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ

เคยไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษ ได้เป็นอธิบดีศาลฎีกาอยู่ระยะหนึ่ง

คำพิพากษาฝีพระหัตถ์เฉียบขาดน่าอ่านมาก

มีผู้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มแล้วชื่อ “โวหารกรมสวัสดิ์”

ส่วนเสด็จตาหรือกรมหลวงพิชิต ปรีชากร พระบิดาของ

พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณีซึ่งเป็นพระมารดานั้นเล่า

ก็เป็นนักกฎหมายรุ่นเก่าที่ได้ชื่อว่าปราดเปรื่องที่สุดของสยาม

ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างกฎหมายเลิกทาส

สนองพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ

ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ตามธรรมเนียมเจ้านายที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 4

เมื่อจะทรงลาผนวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระอุปัชฌาย์และอธิบดีสงฆ์วัดบวรนิเวศได้ปรารภว่า

น่าจะผนวชต่อไปไม่น่าจะสึก เพราะมีสมเด็จพระเชษฐาหลายพระองค์

จะเอาดีทางราชการก็คงไปได้ไม่เท่าไร

หากผนวชต่อไปอาจได้ดีทางพระศาสนาจนถึงขั้นเป็นสังฆปริณายกก็ได้

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ กราบทูลว่า

เห็นจะเอาไม่อยู่เพราะทรงสนิทเสน่หาผู้หญิงไว้ก่อนแล้ว

จึงขอทูลลาผนวชออกไปเสกสมรส

ลาผนวชแล้วก็ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี

ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน


รัชกาลที่ 7 กับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี



ได้ประทับที่วังสุโขทัยซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีสร้างพระราชทาน

เป็นเรือนหอและได้ทรงรับราชการทหารต่อไป

จนดำรงพระยศเป็นนายพันตรี ตำแหน่งราชองครักษ์

และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐม

อีก 3 ปีต่อมาเริ่มทรงมีปัญหาด้านพระสุขภาพอีก

แพทย์ถวายคำแนะนำให้ไปรักษาพระองค์และประทับในที่มีอากาศเย็น

จะได้ไม่ทรงเหนื่อยมาก จึงเสด็จไปประทับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ทรงเข้าประจำกองบัญชาการกองทัพน้อยทหารบกฝรั่งเศส

และทรงศึกษาวิชานายทหารหลักสูตรเสนาธิการที่โรงเรียนนายทหาร

ฝ่ายเสนาธิการจนจบหลักสูตรจึงได้เสด็จกลับ

โดยเสด็จผ่านทางประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ซึ่งสื่อมวลชนต่างเสนอข่าวเกี่ยวกับพระองค์และพระชายาอย่างครึกโครม

ว่า “อยู่ในลำดับการสืบราชสมบัติกรุงสยามด้วย

แต่ยังมีพระเชษฐาคั่นอีกหลายพระองค์”

เมื่อเสด็จกลับจากต่างประเทศหนนี้ได้ทรงดำรงตำแหน่ง

ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก และเลื่อนพระยศเป็นนายพันเอก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ก็ได้เป็นนายพลตรี

ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2

และเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ในคราวเดียวกัน

จาก พ.ศ.2460 ซึ่งเป็นปีที่ทรงลาผนวช ทรงเสกสมรส

แล้วเสด็จกลับไปศึกษาวิชาเสนาธิการที่ประเทศฝรั่งเศส

จนถึงเวลาที่เสด็จกลับมาทรงรับราชการทหารต่อไป

จนดำรงพระยศนายพลตรี ผู้บัญชาการกองพลนั้น

ข้อที่เคยคิดว่าทรงอยู่ในลำดับการสืบราชสมบัติแต่ยังห่างอีกมาก

เห็นจะไม่ใช่เรื่องห่างไกลจนเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

นับแต่เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ

พี่ชายของพระองค์และเป็นพระราชอนุชาในลำดับถัดจากรัชกาลที่ 6

และทรงโปรดปรานมากถึงกับออกพระโอษฐ์แนะนำแก่ทูตานุทูตว่า

“ดิส อิส มาย คราวน์ ปรินซ์” “นี่คือรัชทายาทของข้าพเจ้า” สิ้นพระชนม์

ลงขณะเสด็จไปราชการที่สิงคโปร์ใน พ.ศ.2463

ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

พระเชษฐาถัดจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ

สิ้นพระชนม์ไปอีกพระองค์ใน พ.ศ.2466

ด้วยความที่สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ฯ และเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ

ทรงเป็นพระราชอนุชาที่เหลืออีกเพียง 2 พระองค์ของรัชกาลที่ 6

และรัชกาลที่ 6 เองก็ยังไม่ทรงมีพระราชโอรสธิดาจึงโปรดเกล้าฯ

ให้สมเด็จพระราชอนุชาทั้ง 2 พระองค์หันมาศึกษาหลักราชการ

ธรรมเนียมการปกครองฝ่ายพลเรือน และกฎหมายต่าง ๆ

อันจำเป็นแก่การเป็นผู้ปกครองเตรียมพระองค์ไว้ดังที่โปรดเกล้าฯ

ให้เจ้าพระยามหิธรนำเอกสารราชการที่สำคัญมาถวายหลายฉบับ

ยิ่งใน พ.ศ.2467 สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนคร

ราชสีมา พระราชอนุชา 1 ใน 2 พระองค์ของรัชกาลที่ 6 ที่เหลืออยู่

สิ้นพระชนม์ลงเสียอีก เป็นอันว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ

ทรงเลื่อนจากผู้เคยอยู่ห่างไกลสุดสายการสืบราชสันตติวงศ์

มาอยู่ในฐานะรัชทายาทลำดับที่ 1 “จ่อคิว” เสียแล้ว

จึงยิ่งต้องทรงศึกษากฎเกณฑ์การปกครองต่าง ๆ เข้มข้น

และเอาจริงเอาจังยิ่งขึ้น นับเป็นการเตรียมพระองค์อย่างกะทันหัน

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะก้าวเข้าสู่

การปฏิบัติภารกิจที่สำคัญยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต

ความจริงความรู้ในส่วนของการเมืองการปกครองนานาประเทศ

และพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยนั้นได้เคยทรงศึกษามาก่อนแล้ว

ทั้งที่โรงเรียนอีตัน โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่อังกฤษ

และโรงเรียนเสนาธิการทหารที่ฝรั่งเศส

พระองค์เองก็ใฝ่พระทัยในทางประวัติศาสตร์

อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนายทหารเสนาธิการ

หนังสือทรงโปรดในห้องพระอักษรส่วนพระองค์จะมีทั้งที่เป็นวรรณคดี

ประวัติศาสตร์ การทหาร กฎหมาย และการเมืองการปกครอง

ของประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

เดือนตุลาคม พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 เริ่มประชวรพระนาภี (ปวดท้อง)

และพระอันตะ (ลำไส้) ซึ่งเป็นพระโรคเดิมจากที่เคยทรงผ่าตัด

ที่ประเทศอังกฤษเมื่อหลายสิบปีก่อนได้กลับอักเสบเป็นแผลขึ้นอีก

จนพระอาการทรุดลงเป็นลำดับ ในต้นเดือนพฤศจิกายนปีนั้น

ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ

เป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

ประหนึ่งเพื่อจะเตรียมรับเหตุการณ์ใหญ่ในอนาคตอันใกล้

เหตุการณ์ใหญ่นั้นคือขณะนั้นพระนางเจ้าสุวัทนา

พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 กำลังจะมีพระประสูติการ

ถ้าประสูติเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชาย และรัชกาลที่ 6

ซึ่งกำลังประชวรหนักลงมีเหตุอันไม่อาจดำรงพระชนม์ต่อไปได้

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาก็จะได้เป็น

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปยาวนานจนกว่าพระราชกุมาร

จะทรงรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์เองได้

แต่ถ้าประสูติเป็นหญิง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

ก็จะต้องรับราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เสียเองในทันที

โดยไม่มีข้อสงสัย

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 พระนางเจ้าสุวัทนา

พระวรราชเทวี ประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง บัดนั้นพระสถานภาพ

ของกรมหลวงสุโขทัยฯ ว่าจะทรงเป็นอะไรชัดเจนแล้ว

ส่วนที่ว่าจะเป็นเมื่อใดขึ้นอยู่กับพระอาการของรัชกาลที่ 6 เท่านั้น

ซึ่งไม่ได้เป็นที่เคลือบคลุมอยู่นานเลย เพราะหลังเที่ยงคืน

วันที่ 25 พฤศจิกายน รัชกาลที่ 6 ก็เสด็จสวรรคต

พระชนมพรรษา 46 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 15 ปีเศษ

วาระนั้นแผ่นดินรัชกาลที่ 7 ก็เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางปัญหาสารพัด

ที่รุมล้อมประเทศชาติและนับวันจะทวีความยุ่งยากมากขึ้นทุกที

ผู้ที่จะคุมสถานการณ์นี้ไว้ได้ต้องอาศัยความรอบรู้

ความฉลาดสามารถ ความใจกว้าง ความอดทน

ความรักสันติประนีประนอมและความมีโชคอย่างมาก

คนทั้งประเทศใน พ.ศ.2468 ต่างจับตาดูว่าเจ้าชายหนุ่ม

พระชนมายุ 32 พรรษาพระองค์นี้จะทรงทำได้หรือไม่

และยาวนานไปได้สักเท่าใด.

..................

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 15 มกราคม 2556



Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:52:44 น. 0 comments
Counter : 530 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.