Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (5)


แม้จะกล่าวหลายครั้งว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์

โดยมิได้เตรียมพระองค์เท่าไรนัก แต่คิดอีกที

ถึงแม้นว่าเป็นใครอื่น และต่อให้มีเวลาเตรียมพระองค์

นานเพียงใดก็ใช่ว่าจะทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยไปได้

เพราะการเตรียมศิลปวิทยา รัฐประศาสโนบาย

และยุทธวิธีนั้นอย่างหนึ่ง แต่การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ขนานใหญ่อันเป็นกระแสรุนแรงของโลกเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ครั้งรัชกาลที่ 4-5 กระแสความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ได้เคยเข้ามาเยือนแล้ว นั่นคือการที่ต่างประเทศออกล่า

อาณานิคมหาเมืองขึ้น รัชกาลที่ 4 และ 5 ทรงรู้เท่าทัน

จึงเร่งเปลี่ยนแปลงประเทศรับมือเสียก่อน เพื่อจะได้

เป็นที่ประจักษ์ว่าเราไม่ได้หูป่าตาเถื่อนถึงได้ข่มเหงเอา ๆ

ขณะเดียวกันอะไรที่เราพอผ่อนปรนได้แม้หยิกเล็บจะเจ็บเนื้อ

แม้เจ็บปวดดุจเสียอวัยวะแต่ก็ขอถนอมร่างและชีวิตไว้

เราจึงใช้ทั้งการทูต การทหาร และการเมืองเข้ารับมือ

จนพอเอาตัวรอดได้ท่ามกลางการสูญเสียเอกราชของประเทศรอบข้าง

และบ้านใกล้เมืองไกลที่แข็งกร้าวเกินฐานะ

แต่กระแสที่กำลังมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นกระแส

จากภายในประเทศเองที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง

การเตรียมรับมือจึงดูจะมีแค่ 3 ทางเท่านั้น คือ

1.ปราบหรือกำราบ

2.โอนอ่อนผ่อนตาม

3.อยู่เฉย ๆ เพื่อดูกระแสและวัดกำลังกัน

รัชกาลที่ 7 ทรงเลือกใช้ทางใหม่คือไม่ปราบ ไม่โอนอ่อน

แต่ก็ไม่อยู่เฉย หากแต่ทรงเร่งรัดพัฒนา แก้ไข

ปรับปรุงกิจบ้านการเมืองหลายอย่างเพื่อว่าหากจะต้องเข้าสู่

สภาวะแห่งความเปลี่ยนแปลงก็จะได้ราบรื่น ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

และมีความพร้อม แต่ก็นั่นแหละ พระบรมราโชบายนี้

กลายเป็นถูกบดบังเสียอีกด้วยเหตุ 3 ประการคือ


1. คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากำลังทรงคิดอะไร

ดำเนินการอย่างไร ดังนั้นฝ่ายที่เรียกร้องจึงยังคงซุบซิบ

มั่วสุมประชุมกันหรือเรียกร้องต่อไป


2. การดำเนินการตามพระบรมราโชบายเป็นเรื่องที่ต้องใช้

ขั้นตอนมากและล่าช้า บางเรื่องต้องออกกฎหมายใหม่

หรือแก้กฎหมายเก่า บางเรื่องต้องทดลอง บางเรื่องต้องรอจังหวะเวลา

ดังนั้นแม้ในหมู่คนที่รู้พระบรมราโชบาย

ก็ใช่ว่าจะพอใจหรืออดทนรอคอยได้ไปเสียหมด


ข้อสำคัญคือ 3. สภาพเศรษฐกิจที่กำลังทรุดโทรมลงอย่างหนัก

ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “โภคกิจอัตคัด” ทำให้รัฐบาลเองเวลาจะเข้าใจ

เข้าถึง พัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุงอะไรก็ดูจะขัดข้องไปหมด

เงินทองก็ขาดมือ คนเราพอ “บ่จี๊” เสียแล้วย่อมมีแต่จะทำสวนทางกัน

เช่น ต้องขึ้นภาษี ประหยัดตัดงบประมาณ ยุบโครงการงาน

ตำแหน่ง เอาข้าราชการออก เป็นต้น

ซึ่งล้วนทำให้ผู้คนเดือดร้อนหนักลงไปอีก


ในปีแรกที่ครองราชสมบัติ ดร.ฟรานซิส บี. แซยร์

ชาวอเมริกันซึ่งเคยเข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 6

ช่วยเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สยามได้เอกราชทางการศาล

กลับคืนมาจากหนักกลายเป็นเบาไปเป็นอันมาก

และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี

ต่อมาได้ลาออกกลับไปอยู่อเมริกา ได้เป็นศาสตราจารย์สอนกฎหมาย

ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะนั้นรัฐบาลได้ให้

ดร.ฟรานซิส บี. แซยร์ ซึ่งบุญมาวาสนาส่งพ่อตาท่านได้

เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกไปเป็นผู้ว่าการปกครองฟิลิปปินส์

ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา ระหว่างทางไปฟิลิปปินส์

ท่านจึงขอแวะเยี่ยมคนเก่าคนแก่ที่เคยรู้จักมักคุ้นกันในกรุงเทพฯ

ดร.แซยร์มีอายุยืนยาวต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9

จำได้ว่าตอนผมเด็ก ๆ เรียนอยู่ที่หาดใหญ่ ท่านได้เดินทาง

มาเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้งและได้ลงไปที่จังหวัดสงขลา

ครูเกณฑ์นักเรียนไปยืนโบกธงต้อนรับผู้ปกครองเด็กบ่นว่า

กะอีแค่รับฝรั่งทำไมต้องเกณฑ์เด็ก ๆ ไปตากแดดตากลมรับด้วย โธ่!

ก็ท่านออกจะเคยมีบุญคุณต่อไทย เวลานี้ใครจะมีบุญคุณหรือไม่ไม่รู้

แต่พอเป็นดาราหน้าเกาหลีมา ผมเห็นแห่กันไปกรี๊ดรับเต็มสนามบินอยู่ดี

จำได้ว่ารูปร่าง ดร.แซยร์ผอมสูง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส

ท่านได้ขอเข้าไปดูชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำด้วย

เพราะสมัยที่ท่านเข้ามารับราชการในไทยได้มีส่วนอย่างมาก

ในการเรียกร้องให้ปรับปรุงสุขลักษณะของนักโทษ

และสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ

เมื่อพระยากัลยาณไมตรีหรือ ดร.แซยร์เข้ามาเมืองไทย

ครั้งต้นรัชกาลที่ 7 ได้พักอยู่ที่โฮเต็ลพญาไท

ซึ่งเดิมคือพระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6

เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง

แม่ของรัชกาลที่ 7 ต่อมาทางการได้ดัดแปลงเป็น

โฮเต็ลที่หรูหราที่สุดในประเทศไทย หลังจากนั้นได้ใช้เป็นสถานีวิทยุ

และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน

รัชกาลที่ 7 ทรงคุ้นเคยกับ ดร.แซยร์อยู่ก่อน

จึงได้ทรงขอให้นักกฎหมายใหญ่ผู้นี้สนองพระบรมราโชบาย

รับมือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาด้วยการ

ยกร่างรัฐธรรมนูญถวายในระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทย

เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการปกครองประเทศให้เป็น

แบบราชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งท่านก็ใช้เวลาไม่กี่วันร่างเสร็จ

สามารถนำขึ้นถวายได้

ผมเดาว่าท่านน่าจะเคยกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 7

ในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว ไม่งั้นจะทรงใช้สอยได้อย่างไรและจู่ ๆ

พระยากัลยาณไมตรีจะร่างอะไรได้ไวปานนั้น!

คำว่า “ราชาธิปไตยสมัยใหม่” หรือ “ราชาธิปไตยภายใต้พระธรรมนูญ”

เป็นศัพท์ที่พูดกันเกร่อในเวลานั้น ความหมายคือเป็นการปกครอง

ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยังทรงมีพระราชอำนาจมาก

แต่ได้ทรงแบ่งปันอำนาจบางส่วนให้ผู้อื่นรับไปจัดการกันเอง

โดยเฉพาะในด้านการออกกฎหมาย การบริหารปกครองบ้านเมือง

การตัดสินคดี ที่สำคัญคือมีกฎหมายเรียกว่าพระธรรมนูญ

กำหนดขอบเขตในการใช้พระราชอำนาจว่าอะไรที่ทรงทำได้

อะไรที่อยู่นอกพระราชอำนาจเพื่อมิให้พระราชอำนาจล้นพ้นมากไป

ตัวอย่างสำคัญที่ปัญญาชนในเวลานั้นมักอ้างอิงถึงคือ

การปกครองในญี่ปุ่นซึ่งจักรพรรดิเมจิ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย)

โปรดฯ ให้ทำพระธรรมนูญเช่นนี้ไว้เป็นแบบอย่างแล้ว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.ฟรานซิส บี. แซยร์ จะถูกส่งไปที่ไหน

ให้ใครอื่นพิจารณาอีกบ้างไม่ปรากฏ แต่ก็มีเสียงโทษ “อีกนั่นแหละ”

ว่าคณะอภิรัฐมนตรีคงยับยั้งไว้ว่ายังไม่เหมาะสม ยังไม่ถึงเวลากระมัง!

ความจริงความคิดเรื่องการร่างกฎหมายเตรียมรับการปกครอง

ราชาธิปไตยแบบใหม่มิได้เกิดในหนนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5

เจ้านายและขุนนางจำนวนหนึ่งเคยทำหนังสือกราบบังคมทูล

ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินและจัดทำ

“คอนสติตูชั่น” ขึ้น รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทาน

พระบรมราชาธิบายตอบในทำนองว่าถ้าจะมีการจัดทำกฎหมาย

กำหนดอำนาจเจ้าแผ่นดินให้ชัดเจนก็มิได้ทรงขัดข้องประการใด

แต่ควรให้พร้อมเสียก่อนทุกอย่างจึงจะดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย

พระราชหัตถเลขาฉบับนี้น่าอ่านมากโดยเฉพาะเมื่อคิดว่า

พระองค์ไม่ได้จบจากฮาร์วาร์ด ออกซฟอร์ด

ขณะนั้นยังไม่ได้เสด็จประพาสยุโรปด้วยซ้ำ

เป็นที่เข้าใจในเวลานั้นว่าคำว่าความพร้อมดังกล่าวน่าจะหมายถึง

การศึกษาของราษฎร การเปลี่ยนธรรมเนียมการปกครองที่ล้าสมัย

การที่ข้าราชการรู้จักฝึกหัดปฏิบัติราชการจนเรียกว่า “เข้าใจ”

และ “ทำเป็น” และการจัดประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย

จากศัตรูภายนอกที่กำลังจ้องคุกคามด้วยการล่าเมืองขึ้น

ได้ตรัสด้วยว่า ถ้าการปฏิรูปงานภาครัฐหรือระบบราชการ

หรือกอเวอนเมนต์ รีฟอร์มยังทำไม่สำเร็จ

ก็อย่าหวังว่าจะรีฟอร์มอย่างอื่นได้

ความมาปรากฏภายหลังด้วยว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเอง

สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

ก็เคยทรงยกร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการปกครองสยามขึ้นฉบับหนึ่ง

ใครอ่านดูก็รู้ว่าคือรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยแบบใหม่

ดังที่พูดถึงกันอยู่นั่นเอง

แต่ไม่ปรากฏว่าทรงร่างเองหรือผู้ใดมอบหมาย ร่างแล้วเอาไปไหน

เพราะไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือประกาศใช้

คงจะมีผู้คัดค้านกระมัง

กลับมาถึงตอนปลายรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน

ในหลวงรัชกาลที่ 7 เคยรับสั่งให้พระยาศรีวิสารวาจา

(เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)

ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอน บี. สตีเวนส์

ที่ปรึกษาราชการชาวอเมริการ่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญถวายอีกหนหนึ่ง

ฉบับนี้ร่างละเอียดเรียบร้อยมาก ขนาดให้มีการเลือกตั้งได้

และกำหนดว่าราษฎรกี่คนเลือก ส.ส.ได้ 1 คน

แต่ทั้งสองท่านก็ได้กราบบังคมทูลว่า

“ยังไม่น่าจะถึงเวลาประกาศใช้ เพราะยังต้องปรับพื้นฐานประเทศ

ด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การปกครอง และอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง

ให้ผู้คนคุ้นเคยมากกว่านี้เสียก่อน”

ทุกอย่างจึงรั้งรอต่อไป มีคนค่อนขอดเหมือนกันว่าเพราะมัวแต่ใจเย็น

รอไปรอมานี่เอง กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้

เพราะเวลาและวารีไม่รอใครฉันใด

ประชาธิปไตยก็รอไม่ได้ฉันนั้น ขี้จะแตก ฝนจะตก ลูกจะออก พระจะสึก

การปกครองจะต้องเปลี่ยน มันก็เกิดจนได้แหละ

ในขณะเดียวกันรัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงหันมาปรับปรุงหลายอย่างควบคู่กัน

จะว่านี่คือการปรับพื้นฐานประเทศตามแนวพระราชดำริไปพลางก็ได้

ในปี 2470 โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชบัญญัติองคมนตรี

และปรับปรุงสภาองคมนตรีที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

เรียกว่าปรีวี เคาน์ซิล ให้เป็นหลักเป็นฐานขึ้น นัยว่านี่คือการฝึกหัด

วิถีทางการทำงานของรัฐสภา

เพราะสภานี้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

มีข้อบังคับการประชุมสภา มีกฎเกณฑ์กติกาการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน

ดูไปแล้วเหมือนสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่มีการเลือกตั้ง

สภาองคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 7 มีสมาชิก 40 คน มีวาระ 3 ปี

เปิดประชุมครั้งแรกที่ศาลาสหทัยในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2470 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์หรือ น.ม.ส.

เป็นสภานายกหรือประธาน

อภิรัฐมนตรีสภาและสภาองค มนตรีเปรียบเหมือนแขนซ้ายขวา

ด้านการเมืองของพระเจ้าอยู่หัว อภิรัฐมนตรีสภาทำงานบริหาร

เหนือคณะเสนาบดีอีกชั้น ด้านสภาองคมนตรีทำงานนิติบัญญัติ

เหนือคณะเสนาบดีอีกชั้นเป็นการกลั่นกรองก่อนที่

งานทุกอย่างจะมาถึงพระเจ้าอยู่หัว

และมีการประชุมกันเอาจริงเอาจังหนักแน่นมาก

จุดอ่อนของคณะอภิรัฐมนตรีอาจอยู่ที่ว่าทุกท่านเป็นเจ้าทั้งนั้น

แต่สมาชิกสภาองคมนตรี

เป็นขุนนางเก่าขุนนางใหม่สามัญชนเป็นส่วนใหญ่

นักเรียนนอกก็มาก พวกหัวทันสมัยก็หลายคน บางคนเกษียณไปนานแล้ว

แต่มีประสบการณ์สูงด้านกฎหมาย การทหาร การปกครอง

การต่างประเทศก็ยังทรงแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาองคมนตรี

และพวกนี้ “พูดจาเฉียบขาด” ไม่ค่อยเกรงใจใคร

หลายท่านทำท่าเป็นฝ่ายค้านเอาเลยเชียวล่ะ

ข้อที่ว่าต้องมีการปรับพื้นฐานประเทศก่อนคงเป็นความในพระราชหฤทัย

ที่สำคัญ เพราะยังโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการสุขาภิบาลที่เคยมี

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นมาใหม่และให้เป็นจริงจังยิ่งขึ้นด้วย

พระราชดำริว่าต้องให้ราษฎรเข้าใจการปกครองท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ตัวที่สุด

เสียก่อนจึงจะขยับไปพูดถึงเรื่องการปกครองระดับประเทศชาติบ้านเมือง

พระบรมราโชบายนี้คนที่เข้าใจก็ชื่นชมว่าถูกต้อง

เพราะเป็นการสร้างบ้านจากฐานล่างขึ้นไป แต่คนที่ไม่เข้าใจ

ก็ยังคงติฉินว่าเป็นการซื้อเวลา เหมือนขายผ้าเอาหน้ารอด

เสียงชื่นชมและติฉินนั้นใช่ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 จะไม่ทรงทราบ

เพราะเคยทรงระบายความในพระราชหฤทัย

ให้ผู้คนรับรู้อยู่เหมือนกันว่าทรงรู้สึกอย่างไร

การปกครองคนนี่ยากนะครับ เพราะต้องให้ถูกต้องตามนิติธรรม

และยังต้องให้ถูกใจคนทั่วไป วันนี้ใครเป็นรัฐบาล

รับเอาพระราชภาระมาปฏิบัติย่อมเข้าใจข้อนี้ได้ดี

แต่ก็เห็นยังอยากมีอำนาจปกครองผู้คนกันทั้งนั้น

จะถูก ๆ ผิด ๆ บ้างก็ช่างปะไร.

..................

วิษณุ เครืองาม


อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 29 มกราคม 2556



Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:53:55 น. 0 comments
Counter : 349 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.