Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (13) อวสาน



การที่พระมหากษัตริย์จะทรงสละราชสมบัติหรือที่ฝรั่งเรียกว่า abdication

เป็นสิ่งที่เคยมีมาแล้ว ทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ

ไม่ว่าจะโดยสมัครพระทัย ถูกบังคับ หรือถูกเหตุการณ์ชักนำก็ตาม

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเคยสละราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราชา

สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ก็เคยสละราชสมบัติ

ขุนนางจึงยกราชสมบัติให้เจ้าพระยากลาโหมขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรสละราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

ครั้งรัชกาลที่ 4 ก็เคยมีพระราชดำริว่าถ้าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงเจริญพระชนมายุสมควรแล้ว

จะทรง “เวน” ราชสมบัติให้แล้วเสด็จไปประทับเงียบๆ เป็น “พระเจ้าหลวง”

ให้คำแนะนำปรึกษาต่างๆ ทรงเตรียมการถึงขนาดสร้างวังสราญรมย์ไว้เป็นที่ประทับ

และสร้างวัดราชประดิษฐ์ไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม แต่ก็สวรรคตเสียก่อน

การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ.2477 (ถ้านับตามปัจจุบันก็เป็น พ.ศ.2478)

จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายและไม่ได้เป็นวิกฤติร้ายแรง เพราะได้มีพระราชปรารภ

ผ่านทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาล่วงหน้าก่อนแล้วราว 5 เดือน

และขณะนั้นก็เสด็จไปประทับในต่างประเทศ เรียกว่า “ห่างหาย”

จากแวดวงการเมืองไปแล้วร่วมปี คนที่เสียดายและอาลัยอาวรณ์

แต่ทำใจได้ว่าได้ทรงพยายามและทำดีอย่างที่สุดแล้ว “ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา”

ปล่อยให้พระองค์ประทับอย่างสงบ สันติ เพื่อรักษาพระสุขภาพเถิด

ก็มีอยู่ไม่น้อย แม้แต่ในหลวงเองก็เชื่อว่าเคยทรงคาดคิดว่า

วันหนึ่งเหตุการณ์อาจบีบรัดเข้ามาจนต้องตัดสินพระทัยอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ที่เป็นวิกฤติร้ายแรงในเวลานั้นคือ ปัญหาว่าผู้ใดจะมีสิทธิและกล้ารับราชสมบัติเป็นรัชกาลต่อไป

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนหลากพวกหลายความคิด

หรือว่าสยามถึงทีจะต้องเปลี่ยนไปมีผู้นำแบบอื่นเสียแล้ว

ดังที่มีกระแสมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 และมารุนแรงขึ้น

ในระยะก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า

มีผู้คิดเปลี่ยนไปเป็นแบบรีพับลิคหรือสาธารณรัฐอยู่เหมือนกัน

ซึ่งหมายความว่าจะมีประมุขเป็นแบบประธานาธิบดี

คณะราษฎร รัฐบาล หรือแม้แต่ปัญญาชนในขณะนั้นทราบดีว่าทางออกมี 2 ทาง คือ


1.มีประมุขเป็นแบบพระมหากษัตริย์ต่อไป

ซึ่งก็เป็นความคิดของคณะราษฎรมาแต่ต้นอยู่แล้ว

และเชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชนด้วย หรือ


2.เปลี่ยนไปมีประมุขแบบประธานาธิบดีไม่ว่าจะใช้วิธีเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม

ความเสี่ยงมีอยู่ว่าประชาชนอาจต่อต้านแนวทางนี้

และจะเข้าล็อกที่ถูกมองว่าเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คือคณะราษฎรอยากเปลี่ยนประเทศเป็นรีพับลิคและคนในคณะราษฎร

อยากขึ้นมามีอำนาจเป็นใหญ่เสียเอง

จนบางคนประชดว่าอาจมี “นโปเลียน” เกิดขึ้น

ทางออกนี้จึงไม่มีใครคิดจะนำมาใช้ในขณะนั้น เว้นแต่จะเข้าทางตัน


เมื่อเลือกแนวทางแรก ก็เป็นที่ทราบเช่นกันว่ามี 2 หนทางที่จะปฏิบัติ คือ

1.ดำเนินการตามลำดับผู้มีสิทธิในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้ทรงตราขึ้นก่อนแล้วร่วม 10 ปี

และรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็กำหนดว่า การสืบราชสมบัติจะต้องดำเนินการ

โดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลฯ “และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

ถึงอย่างไร สภาก็ยังพอมีอำนาจเพราะอาจไม่ให้ความเห็นชอบ

พระนามพระองค์ใดที่มีสิทธิในลำดับต้น

แต่มีข้อขัดแย้งกับรัฐบาลเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนไปพิจารณาลำดับต่อไปก็ได้ หรือ


2.สภาอาจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎมณเฑียรบาลฯ เสียก่อน

จนเป็นเหตุให้สามารถเลือกเจ้านายพระองค์ใด

ที่ไม่อยู่ในลำดับที่จัดไว้ขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ก็ได้

ถ้ายังประสงค์จะมีประมุขเป็นเชื้อสายพระบรมราชวงศ์

สำหรับกรณีแรกนั้นกระทรวงวังเคยจัดทำบัญชีรายพระนามผู้มีสิทธิตามกฎมณเฑียรบาล

ไว้ตามลำดับก่อนแล้ว อยู่ที่ว่าคณะราษฎร รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรจะรับได้หรือไม่


ส่วนกรณีที่ 2 อาจเป็นทางเลือกถ้าคณะราษฎร รัฐบาลและสภาอยากได้เจ้านายที่

“ไม่มีสิทธิ” หรืออยู่ในลำดับ “ห่างไกล” มาก

แต่คิดว่าน่าจะทำงานกับรัฐบาลได้ราบรื่นมาเป็นพระมหากษัตริย์แทน

ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วเวลานั้นก็ “เล็งๆ” อยู่บางองค์

ความจริงปัญหานี้ควรคลี่คลายไปก่อนได้หากรัชกาลที่ 7 มีพระราชอนุชา พระราชโอรส

หรือทรงแต่งตั้งรัชทายาท แต่ก็ไม่มีและไม่ได้ทรงทำ

ส่วนหนึ่งอาจเพราะทรงหวังว่ายังอาจจะมีพระราชโอรส

อีกข้อหนึ่งอาจเพราะยังมีเจ้านายที่อยู่ในลำดับจะครองราชย์ได้

ตามกฎหมายและด้วยความเหมาะสมอยู่

คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศในเวลานั้น)

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ

และสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

ข้อสุดท้ายคืออาจทรงเกรงพระทัยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ

ผู้ยิ่งด้วยพระบารมีก็ได้จึงไม่ควรกระทำการใด

เรื่องนี้ถ้าเล่าแล้วจะยาว กลายเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่ “ปกเกล้าปกกระหม่อม”

เอาเป็นอันว่ารัฐบาลตัดสินใจ เสนอพระนามผู้มีสิทธิลำดับแรกตามกฎหมาย คือ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชนมายุ 9 พรรษา

พระโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์และหม่อมสังวาลย์ต่อสภา

ที่จริงถ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ ยังไม่สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2472

ก็จะทรงได้ราชสมบัติโดยไม่ต้องสงสัยในพระคุณสมบัติและความเหมาะสมใด ๆ

วิกฤติเกิดขึ้นอีกครั้งในตอนนั้นว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์

หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลต้องออกจากลอนดอน

เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์

ถ้าหม่อมสังวาลย์และพระโอรสทั้ง 2 พระองค์

(พระองค์เจ้าอานันทมหิดลและพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช) ไม่ทรงรับวิกฤติจะรุนแรงทวีคูณ

เพราะผู้มีสิทธิลำดับต่อไปคือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

และถัดไปคือพระโอรสของท่าน ซึ่งคณะราษฎร “กลัว” นักหนาและ “ไม่ชอบ” ท่านด้วย

จนได้ทูลเชิญออกไปอยู่นอกประเทศตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ แล้ว

การที่จะไปทูลเชิญท่านเสด็จกลับมาใหม่ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกเกล้าปกกระหม่อม

อยู่กับคณะราษฎรเห็นจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดได้ง่าย ๆ

วิกฤตินี้ยุติลงด้วยความโล่งอกของทุกฝ่ายเมื่อหม่อมสังวาลย์

ตอบรับดังที่สมเด็จพระพันวัสสาประทานแนวทางแก่รัฐบาล

ไปจากกรุงเทพฯ ก่อนแล้วว่า “แล้วแต่แม่เขาเถิด”

การเสนอพระนามพระองค์เจ้าอานันทมหิดลโดยที่รัฐบาลไม่เลือกใช้แนวทางอื่น

นอกจากจะเป็นเพราะทรงมีสิทธิในลำดับที่ 1 แล้ว

การที่ยังทรงพระเยาว์และประทับต่อไปในต่างประเทศ

น่าจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลด้วย ที่สำคัญคือรัฐบาลตระหนักดีว่า

“ครอบครัวมหิดลนับแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลาฯ เป็นต้นมา

เป็นครอบครัวประชาธิปไตย พระทัยกว้าง รักความเป็นธรรม

เสียสละเพื่อคนยากคนจน ไม่ดูถูกเหยียดหยามผู้ใด”

และแม้แต่รัชกาลที่ 7 ผู้เป็น “ทูลกระหม่อมอา” เองก็เคยแสดงพระราชประสงค์ว่า


“พระองค์อานันทมหิดล ซึ่งอ้างได้ว่าเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลฯ

ทางนี้มีผลดีอยู่มาก คือเป็นไปทางที่ตรงตาม legality”


รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียังคงประทับต่อไป

ในประเทศอังกฤษอย่างเงียบ ๆ และไม่ทรงเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์บ้านเมือง

แม้รัฐบาลอังกฤษจะถวายพระเกียรติยศในฐานะ “เอกซ์ คิง”

ตามสมควร แต่ก็ไม่มีพระราชประสงค์จะให้รัฐบาลไทยอึดอัดใจ

ข้าราชการ นักเรียนไทย และคนไทยที่อยู่ในอังกฤษขณะนั้น

ถ้าไม่ใช่พระประยูรญาติสนิท มักเกรงรัฐบาลเพ่งเล็งจนไม่กล้าไปเฝ้าฯ

ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับการรักษาพระสุขภาพ

ทำสวน ทรงอ่านหนังสือ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง

“สมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์สุดท้ายของสยาม”

เป็นภาษาอังกฤษ เข้าใจว่าทรงเริ่มไปแล้วส่วนหนึ่งแต่ยังไม่จบ

เหตุการณ์ทางสยามยังคงรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

จากพระยาพหลฯ มาเป็นรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม

มีการดำเนินการกับฝ่ายเจ้า ฝ่ายตรงข้าม หรือผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก

ถึงกับปลดเจ้านายและข้าราชการออกราว 600 คน

บางคนถูกจับไปปล่อยเกาะตะรุเตา ข้อหา “โอษฐภัย”

คือภัยจากปากดูจะเป็นที่เกรงกลัวทั่วไป ลิเกเจ้าหนึ่ง ดาราออกมารำป้อว่า

“พระยาพหลเป็นต้นเหตุ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นต้นเรื่อง ขับเจ้าเข้าป่า แล้วเอา...ขึ้นนั่งเมือง”

เท่านี้ก็โดนจับข้อหาโอษฐภัยปากพาจน

ในหลวงอานันท์รัชกาลที่ 8 ยังคงประทับและศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ต่อไป

ตามเงื่อนไขที่พระราชชนนีทรงตั้งไว้ก่อนจะทรงตอบรับ

ทางสยามจึงต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แทนสมเด็จกรมพระนริศฯ ที่ไม่ทรงรับเป็นต่อ

จะเป็นว่าการเมืองกดดันหนักหรือเพราะเหตุใดก็ตาม

กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์องค์ใหม่ได้ปลงพระชนม์พระองค์เอง

การเมืองขณะนั้นเล่นกันแรงมากจนมีผู้เรียกช่วงเวลานั้นว่ายุคทมิฬ

ไม่เพียงแต่เจ้านายที่ได้รับผลกระทบ นักคิด ปัญญาชน สื่อมวลชนก็ไม่เว้น

ทุกอย่างอยู่ในยุคแห่งความกลัว



พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ

ทรงเขียนจดหมายถึงคนในกรุงเทพฯ ให้ส่ง “ก๋วยเตี๋ยว” ไปให้

เพราะทางชวาไม่มี ทางการดักจดหมายได้

นำไปลือว่าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงสั่งให้ส่ง “ปืนกล” ไป


ปี 2482 กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสรัชกาลที่ 5

ถูกศาลพิเศษพิพากษาว่าเป็นขบถให้ประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต


หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถูกจับส่งเกาะตะรุเตา


มีการติดตามยึดทรัพย์เจ้านาย มีการฟ้องรัชกาลที่ 7

เพื่อยึดทรัพย์สินในเมืองสยามและในต่างประเทศ

หาว่าตอนเสด็จต่างประเทศได้ทรงนำทรัพย์ของแผ่นดินออกไปด้วย

แต่พระองค์สวรรคตก่อน ไม่ทันได้ทรงฟังคำพิพากษาที่ให้ทรงแพ้คดี

จนถูกยึดวังศุโขทัย วังไกลกังวลมาเป็นของหลวง


( หมายเหตุ Blog ART19 :

ภายหลัง รัฐบาลได้จัดตั้ง "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"

เพื่อดูแลทรัพย์สินบางรายที่ถูกยึด

ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

จึงไม่ถือเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ นับแต่นั้นมา )


คณะกรรมการศาลพิเศษได้ตัดสินในคดีหนึ่งว่ารัชกาลที่ 7

ทรงสมรู้ร่วมคิดกับแกนนำบางคนในคณะราษฎรและเจ้านายบางองค์ ก่อขบถบวรเดช

แม้แต่การสละราชสมบัติก็หาว่าเป็นเพียงอุบายหวังจะทรงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

ซึ่งเป็นการล่วงเกินอดีตพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างรุนแรงยากที่ผู้มีใจเป็นธรรมจะทนได้



ขณะนั้นยุโรปเริ่มเข้าสู่สงครามแล้วฮิตเล่อร์เริ่มขยายแนวรบ

สยามเองก็เกิดกรณีสงครามเอเชียบูรพา

จีนกับญี่ปุ่นก็มีปัญหารบพุ่งกัน เศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้นกลับทรุดหนักลงอีกครั้ง

เราคนไทยที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้ไม่รู้หรอกว่าคนไทยสมัยนั้นขวัญหนีดีฝ่อ

ทุกข์ยากทั้งกายและใจสาหัสขนาดไหน

ปี 2481 ในหลวงอานันท์เสด็จกลับมาเยี่ยมสยามครั้งแรก เหมือนน้ำค้างชโลมหัวใจให้แช่มชื่น

แต่แล้วก็ต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ สงครามในยุโรปรุนแรงขึ้น

จนเป็นมหาสงครามโลก ทุกอย่างขาดการติดต่อ

นักเรียนไทยติดค้างในต่างประเทศเป็นอันมาก

เกิดข้าวยากหมากแพงและไม่มีที่ไหนในโลกที่เป็นที่ปลอดภัย

ในหลวงอานันท์และครอบครัวมหิดลต้องรับบัตรปันส่วนอาหารเช่นเดียวกับชาวสวิส

รัชกาลที่ 7 เองก็ต้องทรงรับความทุกข์ยากร่วมกับชาวอังกฤษ

เพื่อความปลอดภัยและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

รัชกาลที่ 7 ต้องทรงย้ายที่ประทับถึง 4 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อเสด็จไปถึงได้ประทับที่ตำหนักโนล (ปัจจุบันเป็นสถานพยาบาล)

และทรงสละราชสมบัติจากที่นี่

ต่อมา ทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักคอมป์ตันเฮาส์ ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์

แล้วทรงย้ายไปอยู่ไกลออกไปที่เมืองเคนท์ พอเกิดสงครามมีข่าวว่า

เยอรมันอาจบุกเข้ายึดเมืองเคนท์ จึงย้ายกลับไปประทับที่ตำหนักคอมป์ตันเฮาส์

ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ใกล้กรุงลอนดอนประมาณ 20 ไมล์

ครั้นถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ทรงตื่นบรรทมแต่เช้า

สมเด็จพระบรมราชินีกราบทูลว่าวันนี้อากาศดี จะขอเข้าไปดูที่ประทับเก่า

ภาพสุดท้ายที่สมเด็จฯ ทรงเห็นคือในหลวงทรงเสื้อสีขาว กางแกงแพร

ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ ยังรับสั่งกับสมเด็จฯ ว่าถ้ามีดอกไม้ (ทิวลิป) ในสวนให้เก็บมาด้วย

รถยนต์สมเด็จพระบรมราชินีไปถึงกลางทาง ตำรวจสกัดไว้ได้ตามหมายเลขทะเบียนที่มีผู้แจ้งมา

ขอให้รีบกลับ เมื่อสมเด็จฯ เสด็จกลับถึงที่ประทับ

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 สวรรคตแล้วด้วยโรคพระหทัยพิการ

ในพระอิริยาบถที่สมเด็จฯ ทรงเห็นก่อนจากไป

หนังสือพิมพ์ยังตกอยู่ข้างพระองค์ พระชนมพรรษา 48 พรรษา

อยู่ในราชสมบัติปกเกล้าปกกระหม่อม 9 ปี

สละราชสมบัติแล้ว 7 ปี เจ้าพระคุณเอ๋ย พระชนมพรรษายังน้อยนัก!

ลอนดอนขณะนั้นไม่มีวัดไทย ไม่มีพระสงฆ์ไทย

การเก็บพระบรมศพในหน้าสงครามทำได้เพียง 3 วัน

และต้องจัดการถวายพระเพลิงด้วยหีบไม้ในสุสานเล็กๆ

ที่โกลเดนกรีน ไร้พระบรมโกศ ไม่มีการประโคม

ไม่มีพระพิธีธรรม มีผู้มาร่วมพิธีไม่มากนัก

มิสเตอร์เครกที่เคยเข้ามาร่างกฎหมายเทศบาลในสมัยรัชกาลที่ 7

เป็นผู้กล่าวถวายสดุดี ฝรั่งคนหนึ่งเห็นงานเงียบเหงานัก

จึงอาสาสีไวโอลินให้ข้าง ๆ หีบพระบรมศพ

เมื่อสงครามรุนแรงมากขึ้น คนไทยรักชาติได้ตั้งขบวนการเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย

ทรงทำหน้าที่ดูแลด้านการรักษาพยาบาล


สงครามสงบแล้ว รัชกาลที่ 8 สวรรคต รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์

การเมืองเปลี่ยนขั้ว ในปี 2492

รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ กราบบังคมทูลขอให้สมเด็จพระบรมราชินี

ทรงเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับประเทศไทย

รัฐบาลอังกฤษจัดเรือถวาย เรือรบหลวงแม่กลองรับพระบรมอัฐิอีกทอดมาขึ้นบกที่ท่าราชวรดิฐ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดริ้วกระบวนยิ่งใหญ่เต็มตามพระบรมราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์

เชิญพระบรมอัฐิจากท่าราชวรดิฐไปไว้ในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับสมเด็จพระบูรพกษัตริย์

ประชาชนไปถวายบังคมพระบรมอัฐิกันล้นหลามเป็นการส่งเสด็จครั้งที่สุดที่จะทำได้ในชีวิตนี้

ส่วนพระบรมราชสรีรางคารแยกไปบรรจุไว้ใต้ฐานพระประธานวัดราชบพิธ


ปีนี้ครบ 120 ปีแห่งพระบรมราชสมภพ (พ.ศ.2436-2556) วงการต่าง ๆ เกือบ 30 แห่ง

ตั้งแต่ ก.พ. ราชบัณฑิตยสถาน จุฬาฯ กรมชลประทาน

กรมสรรพสามิต เทศบาล สถาบันพระปกเกล้า

และอื่น ๆ ต่างนึกถึงสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำไว้ให้

แต่ที่ทุกวงการและแม้แต่นอกวงการควรรำลึกถึงร่วมกัน

เป็นเอกจิตสโมสรคือทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้รักประชาธิปไตย

รักสงบ รักสันติ รักความเป็นธรรม ทรงอดทน

อดกลั้นทุกประการต่อคำเย้ยหยัน ถากถาง จ้วงจาบหยาบช้าด้วยขัตติยมานะ

คำว่า “แก้แค้น” “เอาคืน” “จัดการ” ไม่เคยออกมาจากพระโอษฐ์

แม้จะทรงเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใดที่มีผู้ทำต่อพระเกียรติยศ ทรัพย์สิน และพระประยูรญาติ

ใครจะว่าทรงพ่ายแพ้ในการเมืองก็ตาม แต่ไม่ทรงปรารถนาจะชนะ

บนความสูญเสียล้มตายของราษฎร

เหตุฉะนี้จึงทรงชนะใจราษฎรและสถิตอยู่ในใจชาวไทยเสมอมา.

..........

วิษณุ เครืองาม


อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2556




Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 4 เมษายน 2556 8:11:04 น. 0 comments
Counter : 1384 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.