Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (1)


หมายเหตุ : Blog ART19

................................


ผมรู้สึกมานานแล้วว่า บทเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย

สำหรับนักเรียนนั้น ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง.

การปกครอง เมื่อ ปี 2475 นัก หรือหากจะกล่าวถึงก็จะกล่าวเพียงสังเขปเท่านั้น

ทั้ง ๆ ที่...นี่คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ครับ ปี 2475 เป็นยุคที่มีทั้งความขัดแย้ง ความสลับซับซ้อน

และเป็นยุคที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากกระแสโลกอย่างรุนแรงที่สุด

อันที่จริง หนังสือที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็มีมากพอสมควร

แต่ที่จะเจาะลงลึกถึงความขัดแย้งแต่ละฝ่าย

และกล่าวถึงพระราชดำริของรัชกาลที่ 7 ที่มีต่อเหตุการณ์ในขณะนั้น

กลับมีไม่มากนัก หนึ่งในบทความที่เขียนถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น

ได้ค่อนข้างละเอียด คงต้องนับเอาบทความของอ.วิษณุด้วย

ผมอ่านแล้วชอบมาก จึงอยากนำมาแบ่งปันให้กับท่านอื่นด้วย

ขอกราบขอบคุณอ.วิษณุ ผู้เขียนด้วยครับ

.............................

ปกเกล้าปกกระหม่อม(1)

วันนี้เป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่สากล

ตามปฏิทินนานา ชาติ ไม่เลือกชาติ ศาสนา หรือประเพณีนิยมอันใด

พ้นจากวันนี้แล้วชาติใดศาสนาใดจะฉลองวันเปลี่ยนศักราชใหม่

ตามคตินิยมเฉพาะตนก็แยกกันทำไปตามประเพณี

ไทยเราก็เพิ่งใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่มาราว 70 ปี

ในสมัยรัชกาลที่ 8 นี้เอง ก่อนหน้านั้นเคยใช้วันสงกรานต์บ้าง

วันที่ 1 เมษายนบ้าง ส่วน พ.ศ. หรือพุทธศักราชนั้น

ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนหน้านั้นเราเคยใช้ ร.ศ.

หรือรัตนโกสินทร์ศก และ จ.ศ. หรือจุลศักราช

ปี 2556 นี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชสมภพครบ 120 ปี หมายความว่า

ถ้าแม้นดำรงพระชนมพรรษาอยู่จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

ก็จะมีพระชนมพรรษา 120 พรรษาเท่าพระอนิรุทธพุทธสาวกสมัยพุทธกาล

ผู้มีชนมายุยืนนานที่สุด นับตามรอบนักษัตรชวดหนูฉลูวัว

ก็ต้องว่า 10 รอบพระนักษัตร

แต่ทุกวันนี้หาใครอายุยืนยาวเท่านั้นยากเต็มที

รัชกาลที่ 7 เองก็เสด็จสวรรคตมาถึง 71 ปีแล้ว

แต่การครบ 120 ปีแห่งพระบรมราชสมภพดูจะมีความหมายอยู่

เพราะเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่ควรแก่การระลึกถึง ดังที่ยูเนสโก

หรือองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ก็ยังประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของแต่ละประเทศให้เป็นบุคคลสำคัญ

ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกเมื่อครบ 100 ปี 150 ปี หรือ 200 ปีแห่งชาตกาล



รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นบุคคลสำคัญของชาติ แม้อยู่ในราชสมบัติเพียง 9 ปี

แต่ก็ทรงริเริ่ม ดำริ และต่อยอดขยายผลอะไรต่ออะไรไว้หลายอย่าง

จะว่าทรงวางพระองค์ใฝ่สันติ ภาพอย่างที่สมัยนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่

น่ายกย่องผิดกับสมัยก่อนที่คนเก่งคนดีหรือมหาราชต้องบู๊

ประเภทปะ ฉะ ดะก็ได้ มีหลายเหตุการณ์ที่หากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้

ไม่ทรง “ยอม” แต่ถ้าทรง “ฮึด” ขึ้นมาเป็นไงเป็นกัน

ประเทศชาติบ้านเมืองและคนไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปก็เหลือที่จะเดา

คิดว่าน่าจะแหลกลาญตายยับตายเยินลงข้างหนึ่ง หาก

แต่กลับทรงเลือกใช้ “ขัตติยมานะ” ในยามที่จำเป็น

และทรงเลือกใช้ “ขัตติยดุษณียภาพ” ในบางโอกาส เหตุร้ายจึงผ่านพ้นมาได้

เมื่อถึงวาระที่สุดของที่สุด “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นอันหมดหนทาง

ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว”

ก็ได้ทรง “สละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์

แต่บัดนี้เป็นต้นไป”

พระราชกรณียกิจนี้จะว่าเป็นความดี ความเสียสละก็ได้

แต่ก็ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้อาภัพพระองค์หนึ่ง

ที่ต้องสละราชสมบัติไปสวรรคตต่างแดน ความอาภัพนั้นยิ่งทวีคูณ

เมื่อเรื่องราวของพระองค์จางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์พักหนึ่ง

เหมือนไม่มีใครอยากพูดถึงหรือกลัวภัยอะไรสักอย่าง

ในวาระนี้จึงขอนำเรื่องของพระเจ้า อยู่หัวพระองค์นี้ซึ่งฝรั่งเรียกว่า

the last absolute King of Siam

ทำท่าจะเป็นเหมือนหนังเรื่อง The Last Emperor

หรือ จักรพรรดิโลกไม่ลืม มาเล่าสู่กันฟังตามสไตล์ของผม

และคิดว่าคงจะยาวไปสัก 9 ตอน 10 ตอนจบ

แต่กรุณาอย่าถือเป็นตำราหรือวิทยานิพนธ์ใด ๆ ใครอยากรู้ละเอียดลออ

และต้องการหนังสืออ้างอิงกรุณาไปหาอ่านเอาจากตำรับตำรา

ที่ทุกวันนี้มีผู้เขียนไว้เป็นเรื่องเป็นราวกว่าคอลัมน์นี้เถิดครับ

ผมขึ้นต้นเรื่องไว้ว่า วันนี้ตรงกับวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชโอรส ธิดาถึง 77 พระองค์

ในจำนวนนี้มีที่ประสูติในวันที่ 1 มกราคมอยู่เพียง 2 พระองค์

คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ ที่ต่อไปจะได้เป็นรัชกาลที่ 6

ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423

และสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช

ที่ต่อไปจะได้เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434

แต่ในขณะนั้นวันที่ 1 มกราคมยังไม่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่

ส่วนรัชกาลที่ 7 นั้น ประสูติในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436

ตรงกับวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เพราะประสูติวันพุธนี่เอง

สีประจำพระชนมวารจึงเป็นสีเขียว และเพราะประสูติในปีมะเส็งงูเล็กนี่เอง

ต่อไปจึงมีอะไรจะเล่าให้ฟัง พูดถึงวันประสูติแล้ว

ใครมีความรู้ทางโหราศาสตร์น่าจะผูกดวงพระบรมราชสมภพดูว่า

เหตุใดพระชะตาจึงได้พลิกแพลงผกผันถึงปานนั้น

รัชกาลที่ 7 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 76

ในจำนวนพระราชโอรสธิดา 77 พระองค์ จากทุกพระครรภ์

หรือจากพระมเหสีเทวีและเจ้าจอมมารดาทั้งหลายของรัชกาลที่ 5

ที่จริงยังทรงมีพระน้องนางเธอคนละแม่อีกพระองค์ ประสูติจาก

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง

หลังจากที่รัชกาลที่ 7 ประสูติ แต่ดำรงพระชนม์อยู่เพียง 3 วัน

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์นั้นก็สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 7

จึงอยู่ในฐานะพระราชกุมารพระองค์สุดท้องมาตั้งแต่แรก เรียกว่า

ไม่มีพระราชอนุชาและพระขนิษฐาอีกเลย ความข้อนี้สำคัญอยู่

เพราะเมื่อทรงรับราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 7 ทรงมีแต่พี่คนละแม่

(ถ้ามีพระเชษฐาร่วมพระราชชนนี พระเชษฐาก็จะได้รับ

ราชสมบัติไปก่อนแล้ว) และมีแต่อาหรือน้า

จะหาเจ้านายที่อ่อนเยาว์พรรษากว่ามาให้ทรงใช้สอยไม่ได้เลย

ถ้าว่าถึงแม่ของพระองค์ท่าน คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี

หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีพระพันปีหลวงแล้ว

สมเด็จพระองค์นี้มีพระราชโอรสธิดากับรัชกาลที่ 5 ถึง 9 พระองค์

เป็นหญิง 2 ชาย 7 รัชกาลที่ 7 เป็นพระราชกุมารพระองค์ที่ 9

สรุปคือทรงเป็นพระองค์สุดท้องของพระครรภ์นี้และพระองค์สุดท้าย

ของทุกพระครรภ์รวมกัน หลังจากประสูติใน พ.ศ. 2436

แม้สมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ซึ่งในปี 2436

มีพระชนมพรรษาเพียง 40 พรรษาจะดำรงพระชนมพรรษา

ต่อมาอีกถึง 17 ปี จึงสวรรคต แต่ก็ไม่มีพระราชโอรสธิดาอื่นใดอีกเลย

ไม่ว่ากับพระภรรยาคนใด

รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชสมภพที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์

ในหมู่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร หลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารลง

ครั้นถึงรัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเติมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ขยายไปทางด้านหลังเป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่และพระราชทานชื่อ

ตามชื่อครั้งโบราณว่า “พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร” อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อรัชกาลที่ 7 ประสูตินั้นพระเชษฐาของพระองค์

เคยมีพระนามลำลองเรียกกันในวังมาก่อนแล้วว่า “ทูลกระหม่อมเอียด”

ซึ่งแปลว่า “เยาว์วัย” ครั้นประสูติพระราชกุมารพระองค์ใหม่แล้วดูจะ

“อ่อนวัย” ลงไปอีก ชาววังจึงออกพระนามพระราชกุมาร

พระองค์สุดท้องนี้ว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย”

แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีไม่โปรดจึงพากันออกพระนามลำลองว่า

“ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” พระสุขภาพของพระองค์ไม่ดีมาแต่แรก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสูติก่อนกำหนด

และเรื่องนี้กระทบกระเทือนต่อพระอนามัยสืบมาอีกหลายปี

พูดถึงตอนนี้ต้องเล่าแทรกว่าผู้ชายไทยสมัยก่อน

อย่าว่าแต่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเลย แม้แต่ชาวบ้านทั่วไป

จนถึงผู้มีอันจะกินและขุนน้ำขุนนางทั้งหลายมักมีเมียหลายคน

เมียเหล่านี้ถูกกฎหมายทั้งสิ้น ยิ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินยิ่งมีเมียมาก

เพราะเจ้าเมืองประเทศราช ขุนนาง เศรษฐีทั้งหลาย

ต่างนิยมถวายลูกสาว หลานสาวเรียกว่าเป็น

“บริจา ริกา” ธรรมเนียมแขกจัดประเภท

เป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาฝ่ายหน้าฝ่ายหลังอีรุงตุงนังไปหมด

ลองไปอ่านดูจากเรื่องอิเหนาสิครับ บางคนลูกไม่มียังไปขวนขวาย

ยกน้องเมีย หลานเมียถวาย เผื่อปะเหมาะมีพระราชโอรสธิดา

กับพระเจ้าแผ่นดิน ตัวก็จะได้เป็น “ขรัวตา” “ขรัวยาย” พลอยมีหน้ามีตาไปด้วย

อีกประการหนึ่งการที่ผู้ชายจะมีเมียเป็นพี่เป็นน้องพ่อเดียวกันนั้น

แม้สมัยนี้ถือสาและต้องห้าม ฝรั่งเรียกว่า “incest”

เพราะจะทำให้เป็นโรคเป็นกรรมพันธุ์ได้ง่าย แต่สมัยโบราณ

ไม่ถือสาและไม่ห้าม จะห้ามก็แต่การแต่งงานกับพี่หรือน้อง

ที่เกิดจากแม่เดียวกัน บางทีไม่ใช่พี่น้องแม่เดียวกัน

แต่เคยดื่มนมร่วมเต้ากันมาก็ถือว่าต้องห้ามเพราะร่วมสายเลือดอุทรเดียวกัน

การมีพ่อเดียวกันแต่คนละแม่แต่งงานกันเองเสียอีกที่ไม่ถือ

พระเจ้าแผ่นดินในหลายประเทศมีธรรมเนียมที่จะแต่งงาน

กับน้องคนละแม่หรือวงศาคณาญาติเพื่อจะได้ร่วมวงศ์ตระกูลเจ้าด้วยกัน

ถือว่าลูกที่เกิดมา “บริสุทธิ์” ไม่มีเชื้อสายอื่นมาเจือปน

ตามธรรมเนียมแขกเรียกลูกที่เกิดมาเช่นนี้ว่า “อุภโตสุชาติอสัมภินพงศ์”

คำนี้มักจะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของพระนามเจ้านาย

ที่มีพระบรมชนกนาถเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระชนนีเป็นเจ้า

รัชกาลที่ 7 เองก็มีสร้อยพระนามตั้งแต่แรกว่า “อสัมภินชาติพิสุทธิ์”

ดังนั้นรัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระภรรยาหลายประเภท

ประเภทแรกเรียกว่าพระมเหสีซึ่งมีได้หลายองค์และมีการจัดลำดับ

ฐานะเป็นพระบรมราชินี พระบรมราชเทวี พระอัครราชเทวี

พระอัครราชชายา พระราชเทวี พระราชชายา ประเภทที่ 2

คือเจ้าจอมซึ่งเป็นสตรีสามัญชน ถ้าเจ้าจอมคนใดมีพระราชโอรสธิดา

ก็จะได้เป็นเจ้าจอมมารดา ถ้าไม่มีลูกก็เป็นเจ้าจอมธรรมดา ไม่เป็นมารดาใคร

เจ้าจอมบางคนได้รับพระราชทานเครื่องยศพิเศษเป็นพระสนมเอก

พระสนมโท ลูกที่ประสูติจากพระมเหสีจะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า

แต่ถ้าประสูติจากเจ้าจอมมารดา

จะเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเท่านั้น

รัชกาลที่ 7 ประสูติจากพระมเหสี ที่สำคัญคือพระมเหสี

ชั้นสมเด็จพระบรมราชินี นาถ พระองค์นี้เป็นพระราชธิดา

ของรัชกาลที่ 4 เสียด้วย จึงเป็นพระน้องนางของรัชกาลที่ 5

แต่คนละแม่กัน ดังนั้นรัชกาลที่ 7 จึงทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชาย

มาตั้งแต่ประสูติวกไปวนมาจนจบตอนที่ 1 แล้ว

ผมยังไม่ได้บอกเลยครับว่ารัชกาลที่ 7

เมื่อแรกประสูติเป็นสมเด็จเจ้าฟ้านั้นทรงพระนามว่ากระไร.

..................

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 1 มกราคม 2556




Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:51:09 น. 0 comments
Counter : 839 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.