"I'm like cat here, a no-name slob. We belong to nobody, and nobody belongs to us. We don't even belong to each other."
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
11 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
The Hunger Games

(เขียนขึ้นในฐานะคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือมาก่อน)



           ดูท่าว่า เจนนิเฟอร์ ล้อเล่น จะถูกโฉลกกับการเข้าป่าเสียจริง เพราะตั้งแต่ผลงานเรื่องก่อนหน้าอย่าง Winter's Bone ที่ต้องบุกป่าฝ่าดงไปตามหาพ่อจนสุดท้ายได้ชิงออสก้าร์ มาถึงผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง Hunger Games เธอก็ต้องเข้าป่าไปล่าคนอีกครั้ง (สงสัยชาติที่แล้วเป็นพวกคอมมิวนิตส์ในสมัย 14 ตุลา แน่ๆ) ยังไม่รวมกับหนังสยองเรื่องใหม่ House At The End Of The Street ที่โลเกชั่นหลักของเรื่องคือบ้านในซอยท้ายป่าอีก.... อาจจะด้วยใบหน้าที่สวยแบ๊ว แต่แฝงแววตาที่นิ่งและแน่วแน่อยู่ในตัว รวมถึงความสูง 175 ซม. ทำให้เธอเป็นตัวเลือกแรกๆที่สตูดิโอมองหาสำหรับบทเด็กสาวที่ต้องแบกรับความทารุณเอาไว้มากมาย.... (เธอเอาชนะบทนี้ได้จาก เอมิลี่ บราวน์นิ่ง / เอ็มม่า โรเบิร์ท / อมานด้า แซฟไฟรด์ (เลือกอีนี้มา ไม่ถึง 5 นาที คงโดนคนจับหักคอตายแน่ๆ)


       ในขณะที่ The Hunger Games ทำเงินเป็นกอบเป็นกำอยู่ทั่วโลกนั้น ก็เป็นโอกาสอันดีเช่นกันที่ภาพยนตร์เรื่อง Battle Royale ถือโอกาสนี้โปรโมตแผ่นบลูเรย์ของตัวเอง ที่พึ่งจัดจำหน่ายในเวลาไล่เลี่ยกัน (แถมมีเก๋ คอนเวิร์ทเป็นระบบ 3D ด้วยนะ)


           คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ให้คนส่วนใหญ่เปรียบเทียบหนังสองเรื่องเข้าด้วยกัน เพราะมันยืนอยู่บนพล๊อตเดียวกัน การจับเด็กวัยรุ่นมาฆ่ากันเพื่อหาผู้อยู่รอดเพียงหนึ่งเดียว แต่วิธีการก็ไม่สำคัญเท่าอุดมการณ์ เพราะหนังทั้งสองเรื่องต่างก็มีแนวคิดในการห่ำหั่นที่แตกต่างกันออกไป ใน แบทเทิ่ล รอยัน เป็นโลกของเผด็จการ หลักเกณฑ์ในการเลือกประชากรมากำจัดทิ้ง คือการเลือกประชากรที่ปราศจากคุณภาพทางสังคม นั้นคือการเลือกชั้นเรียนที่กักขฬะ กเฬวราก มากำจัดทิ้ง เพราะเมื่อคุณไม่มีคุณภาพ ก็ถือว่าเป็นแรงงาน หรือพลเมืองที่ไร้ประโยชน์สำหรับรัฐ และรัฐไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลา ทรัพยากร ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาแก่กลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเราเข้าใจเอาเองว่าบางส่วนของเนื้อเรื่องก็พยายามจะจิกกัดนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของเยาวชนเพื่ออนาคตของชาติอะไรเช่นนี้ด้วย (ระบบการแข่งขันการสอบในประเทศญี่ปุ่น ก็มักได้รับการวิจารณ์ว่าสาหัสสากรรจ์มากเกินไป ปลูกฝั่งค่านิยมการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายเหยียบหัวส่งกันขึ้นไป)

        แต่ทีนี้ Hunger Games ต่างออกไปยังไง โลกของหนังเป็นโลกเผด็จการทุนนิยม และนั้นอาจจะใช้อธิบายชื่อเรื่องได้ว่า ทำไมมันถึง Hunger เพราะมันคือสังคมที่ต้องแก่งแย่ง และสร้างความเลื่อมล้ำทางชนชั้นให้ชัดมากขึ้น คือพวกที่รวยก็จะรวยไปเลย พวกจนก็จะจนต่อไป อัตราจ้างแลกกับแรงงาน ชนชั้นแรงงานมีหน้าที่ผลิตสินค้าเพื่อให้ชนชั้นปกครอง (ในหนังแต่ละเขต จะแบ่งชัดเจนว่าเขตไหนเน้นทรัพยากรด้านไหน) ความอุดมสมบูรณ์ไปกระจุกอยู่แต่ในตัวเมือง ส่วนชานเมือง หรือปริมณฑลรอบนอกก็จะมีสภาพความเป็นอยู่เรียกว่าห่างไกลความเจริญ (และศูนย์กลางความเจริญในหนังก็ใช้ชื่อว่า Capital)

- ฉากนึงที่แสดงให้เห็นถึงความอนาถาของชีวิตที่เราชอบ คือฉากที่นางเอกได้ขนมปังจากเกล แล้วเธอก็ดมเหมือนกับไม่เคยได้พบเห็นมันมานาน ซึ่งจริงๆขนมปังควรจะเป็นอาหารพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่มีกิน แต่ถ้าขนาดขนมปังยังเป็นของหายากแบบนี้ แทบไม่ต้องคิดเลยว่าอาหารที่ผู้คนกินกันทุกวันนี้จะชั้นเลวแค่ไหน



     ทีนี้ในหนังก็จะมีการแข่งขันนึงที่เรียกว่า The Hunger Games ซึ่งก็คงไม่ต้องอธิบายรูปแบบการเล่นให้ฟังหรอกนะว่ามันเป็นยังไง แต่ทีนี้ความน่าสนใจของเกมส์นี้ อยู่ตรงที่การตบแต่งอำพรางความรุนแรงให้ออกเป็นมหรสพบันเทิง ซึ่งมาพร้อมกับหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องรับใช้รัฐ... สิ่งเหล่านี้แสดงออกได้ตั้งแต่
     - การเมค โอเวอร์ และเทรนนิ่งผู้เข้าแข่งขัน ...การจะเข้าร่วมเล่นเกมส์ ไม่ใช่ว่าจะจับสลากชื่อแล้วส่งเข้าไปฆ่ากันในทันที ต้องเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากคนไปเป็นสินค้า ซึ่งนั้นหมายถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง มูลค่าที่ได้มาเกิดจากความน่าสนใจของผู้เข้าแข่งขัน บุคลิก และการสร้างความประทับใจในช่วงการเทรนนิ่ง และออกแถลงการณ์ในวันเปิดพิธี และมูลค่าเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การแปรเป็นทรัพย์สินในขั้นตอนที่เหล่าสปอนเซอร์ หรือพวกนายทุนจะออกเงินให้แก่ผู้เล่น ซึ่งผลประโยชน์ต่างๆเหล่านี้สุดท้ายก็ไม่ได้ตกไปที่ใครเลยนอกจากรัฐ capital (ตรงนี้ก็อาจเหมือนรายการประกวดร้องเพลง ที่สุดท้ายยิ่งโหวตเท่าไร ผู้บริหารก็ยิ่งรวยเท่านั้น ส่วนผู้เข้าแข่งขันก็แค่ตัวดูดเงินคนดูทางบ้าน โดยมีเรื่องของความสำเร็จและอุดมการณ์เป็นตัวยึดผู้เข้าแข่งขันไว้ให้อยู่ในเกมส์ - - และอุดมการณ์กับความหวังคืออะไร เกี่ยวอะไรกับหนัง มีต่อ)



      - การเลือกใช้คำว่า Tribute กับผู้เข้าร่วมเกมส์ ...ในปัจจุบันเรามักจะเห็นคำนี้บ่อยๆในเวทีประกาศรางวัล หรืองานพิธีต่างที่มีการร้องเพลง เมื่อมีศิลปินรุ่นหลังออกมาร้องเพลงให้แก่ศิลปินอาวุโส ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพ และเชิดชูให้แก่ผู้อาวุโสที่มีศักดิ์เหนือกว่า จริงๆคำว่า tribute เป็นศัพท์ในการฑูต หรือการเมืองซึ่งใช้กันตั้งแต่ยุคกรีก หมายถึงการที่หัวเมืองประเทศราชจะต้องส่งทรัพย์สิน หรือสิ่งของมีค่ามากำนัลให้แก่เมืองหลวงเป็นการแสดงความเคารพ นอบน้อม ทั้งนี้ก็เพื่อรักษามิตรภาพไมตรีระหว่างกัน แต่ในขณะเดียวกันระบบนี้ก็กลายเป็นการสร้างความแตกต่างให้ชนชั้น ระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่า และผู้น้อยให้เกิดขึ้น ประหนึ่งว่าหากคุณไม่แสดงความเคารพ เมืองหลวงอาจส่งทัพไปรุกรานเมืองเล็กๆได้
     เมื่อใช้คำนี้ถูกใช้ในหนัง มันจึงสร้างสถานะให้ผู้ที่ถูกเรียก (คนเล่นเกมส์) กลายเป็นผู้น้อย ผู้ถูกกระทำทันที เพราะนั้นหมายถึงคุณเป็นหนี้บุญคุณของรัฐ ต้องเข้ามารับใช้รัฐเพื่อตอบแทนบุญคุณ สิ่งนี้แสดงออกอีกรูปแบบนึงในการจับสลากผู้ถูกเลือก ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีชื่อลงหีบกันคนละ 1 ใบ แต่จำนวนของชื่อนอกจากจะเพิ่มขึ้นตามปีแล้ว มันยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ในกรณีที่คุณขอความช่วยเหลือจากรัฐเรื่องปากท้อง ยิ่งคุณขอเยอะ คุณก็มีสิทธิที่จะต้องไปรับใช้รัฐเยอะ ซึ่งในความเป็นจริงเราก็รู้กันอยู่ว่านี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะการช่วยเหลือประชาชนเรื่องปากท้องเป็นหน้าที่พึงกระทำของรัฐอยู่แล้ว และการ tribute ในหนัง จริงๆก็มีสภาพเหมือนการ Sacrifice (สังเวย) เสียมากกว่า แถมเป็นการสังเวยแบบไม่เต็มใจด้วยนะ



      แล้วเกมส์การแข่งขันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หนังก็จะเล่าให้เราฟังแบบคร่าวๆ (ซึ่งเราว่ามันเล่าตรงส่วนนี้น้อยไปมากๆ อันเป็นผลต่อเนื่องตามมาให้เราไม่เชื่อมต่อกับรอยบาดหมางระหว่างนางเอกกับแม่ หรือความฝันของนางเอกต่อพ่อ) ในอดีต มีเขตการปกครองทั้งหมด 13 เขต และเกิดการปฏิวัติโดยเขต 13 ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ ส่งผลให้รัฐใช้ความรุนแรงเข้ากวาดล้างเขต 13 จนกลายเป็นอดีต และตั้งแต่นั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเหิมเกริม และสำนึกในอำนาจของรัฐ จึงได้มีการจัดการแข่งขัน Hunger Games ขึ้นมานั้นเอง แต่สิ่งที่รัฐได้ปลูกถ่ายความคิดให้แก่พลเมือง ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาด้วยการสำแดงอิทธิฤทธิ์ความหวาดหวั่น (ด้วยการฉาบความบันเทิงเข้าไปให้ดูหฤหรรษ์) แต่ทำให้เราต้องสำนึกว่าชีวิตที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะรัฐให้โอกาสเรา.... จากที่นายกเทศมนตรี (มันคือตำแหน่งนี้รึเปล่า ไม่แน่ใจ)กล่าวไว้ว่า "ความหวังคือสิ่งที่ทรงอานุภาพมากกว่าความกล้ว" นั้นหมายถึงหากเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวังแล้ว เราจะมีพละกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไป เช่น เรามีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกว่ารัฐให้การบริการกับเราดี เราจึงอยากเป็นพลเมืองที่ว่านอนสอนง่ายให้กับรัฐ หรือ เรารู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐก็พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วย นั้นทำให้เราเข้มแข็งและมุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตต่อไป การกระทำของ capital ในเรื่องจึงเป็นขั้นกว่าของการใช้อำนาจแบบบีบบังคับโดยตรง เพราะมันไม่ใช่ความกลัวทำให้เราจำนน แต่เป็นเพราะความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีทำให้เราสยบยอมด้วยตัวเราเอง....
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหมือนภาพลวงตาของความสำเร็จในการมีชีวิตอยู่ นั้นคือการเป็นผู้ชนะของเกมส์ คุณได้ทั้งชื่อเสียง ได้รางวัล ได้คำสรรเสริญ ประหนึ่งได้รับการโอบอุ้มจากรัฐ เป็นขวัญใจของคนทั้งแผ่นดิน แต่ที่สุดแล้วคุณไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากภาพลวงของคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ และการเป็นเครื่องมือในการคุกคามประชาชนแบบเอาฮาเข้าว่า...



     กับการดำเนินเรื่องของหนัง เราอาจจะสะดุดๆกับความเป็นมาของเกมส์ และความสัมพันธ์ในครอบครัวนางเอก และอีกนิดที่เราว่าหนังให้รายละเอียดน้อยไปก็คือ เหตุผลที่ทำให้ชะนีบ่างริวสนใจในตัวนางเอกมากนัก เราไม่แน่ใจว่าหนังสือให้เหตุผลของเธอไว้แค่ไหน หรืออาจจะสรุปง่ายๆว่าก็นางเอกมันเป็นดาวเด่น มันเท่ ชะนีบ่างอย่างน้องนางเลยสนอกสนใจเป็นธรรมดา... แต่นอกจากนั้นวิธีการลำดับขั้นทางอารมณ์ ความตื่นเต้น หนังทำออกมาได้เป็นธรรมชาติและน่าเอาใจช่วย และที่สำคัญคือด้วยมุมกล้องแบบเหวี่ยงๆวีนๆ ก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสับสน ความดิบด้านของสัญชาตญาณมนุษย์ ซึ่งในขณะเดียวกันมุมกล้องแบบนี้ก็เป็นผลดีกับการจัดเรตหนังในการหลบเลี่ยงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ให้เราได้เห็นจะจะ (หากหนังได้เรตอาร์ นั้นหมายถึงอายุของผู้ชมจะถูกบีบให้แคบลง ซึ่งแฟนหนังสือส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาดูหนัง ส่วนนึงก็มีเด็กวัยรุ่นตอนต้นที่อายุยังไม่ถึง 18 ด้วย)

       แต่หนังก็มีฉากนึงที่เรารู้สึกไม่เข้าท่า นั้นคือฉากการตายของบ่างริว... การตายอันน่าสะเทือนใจของเธอ ทำให้พลเมืองของเขตนั้น เกิดความรู้สึกเสียใจระคนโกรธาจนนำไปสู่การลุกฮืออาละวาดล้างผลาญ.... ถ้าฟังดูก็เหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จที่น่าพึงพอใจ ในการใช้ความตายของผู้บริสุทธิ์ (ตัวละคร ริว เป็นเด็กน้อย และเป็นเด็กผิวสี รวมถึงลักษณะการปรากฎตัวของเธอที่ชอบโผล่บนต้นไม้ และเสียงผิวปากเฉกเช่นนกในไพรสน ทำให้เธอมีลักษณะความเป็นจิต NAïve / Primitive วิญญาณของธรรมชาติและความบริสุทธิ์ไปในทันที ) เป็นตัวปลุกการจองจำ การกดขี่ให้ตื่นออกมา ระดมพละกำลังเข้าต้านอำนาจอยุติธรรม.... แต่เราก็รู้สึกว่าฉากนี้เฟคอยู่ดี เพราะลืมไปรึเปล่าว่าเกมส์นี้มาแข่งก็ต้องตายเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามึงยอมรับการตายที่ผ่านมาได้ การตายในครั้งนี้ก็ต้องถือเป็นเรื่องสามัญที่จำยอม จะมาทำเป็นเกมส์กีฬาสีอนุบาลหนองกระโถก แล้วเห็นลูกตัวเองถูกสีอื่นเอาปืนมายิงตอนวิ่งเข้าเส้นชัยอะไรแบบนี้มันไม่ใช่อ่ะ หรือจะอ้างว่านังริวถูกฆ่าแบบโหดเหี้ยมจนทำใจไม่ได้ก็ฟังไม่ขึ้น ทำยังกะว่าคนอื่นๆเข้ายกมือไหว้ก่อนฆ่ากันยังงั้น เพราะฉะนั้นฉากนี้จึงไม่ทำให้เรารู้สึกถึงการตื่นตัวอะไรเลยแม้แต่น้อย



      ในส่วนเรื่องของความรัก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง และนำไปสู่บทสรุปของหนัง ก็ถือได้ว่ามีความน่าสนใจ คือหนังทำให้เรารู้สึกคลุมเครือว่านางเอกรักพีต้าร์จริงหรือไม่ หรือสุดท้ายมันเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบกับการที่คนสองคนร่วมทุกย์ร่วมสุขด้วยกัน จนเกิดความเข้าอกเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ทว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืน หรือนางเอกอาจจะไม่ได้รักพีต้าร์เลย แต่เธอจำใจต้องทำเพราะมันคือกลยุทธ์ในการเอาตัวรอด นั้นคือรักโปรโมต
มาถึงตรงนี้หลายคนคงมองเห็นภาพสะท้อนของ เรียลริตี้ ทีวี หรือข่าวบันเทิงในชีวิตประจำวัน.... กับการที่เซเลบคบกัน หรือช่วยกันสร้างกระแสเพื่อการอยู่รอดของตัวเองในธุรกิจบันเทิง.... ก็อย่างที่พูดว่า the hunger games ถูกฉาบให้เป็นมหรสพ และผู้เข้าแข่งขันก็ถูกชำระล้างเพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นซูเปอร์สตาร์ หนึ่งในหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ก็คือการสร้างความนิยมให้กับตัวเอง เพราะเมื่อผู้คนรักคุณ คุณก็จะมีมูลค่าเพิ่มในการต่อรองอำนาจกับผู้บริหาร
บางทีนี้อาจจะเป็นบทสรุปแบบชั่ววูบของการอยู่รอดในสังคมทุนนิยมที่ว่า คุณอาจจะไม่ต้องเป็นคนที่รวยที่สุด มีอำนาจมากสุด แต่คุณจะต้องมีพวกห้องหรือหุ้นส่วนที่ไว้ใจให้ได้เยอะที่สุด (ในที่นี้คือ กระแสรักโปรโมตบนความรู้สึกของคนดูทางบ้าน)

      แต่ถึงแบบนั้นเราก็ต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้ง แม้แคนนิสจะรู้วิธีโปรโมตตัวเองจนเป็นผู้ชนะได้ แต่เธอเอาชนะรัฐได้จริงเหรอ การที่รัฐปล่อยให้เธอชนะเป็นเพราะเค้าถูกบีบบังคับ หรือเพราะสุดท้ายนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง"ความหวัง"ในการจะใช้แคนดิสเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่มากับสโลแกน สาวน้อยธรรมดาผู้มากับไฟ และมีหัวใจรักอันแกร่งกล้า ในการหลอกล่อประชาชนให้ตกเป็นเหยื่อของเกมส์นี้ปีต่อไป เพราะอย่างน้อยคนเราก็เคยถูกปลอบประโลมด้วยความรัก ความลวงในจอกันไปแล้วครั้งนึง






Create Date : 11 เมษายน 2555
Last Update : 11 เมษายน 2555 2:40:26 น. 0 comments
Counter : 3407 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

AguileraAnimato
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




They told me: "Girl, to get you're way, you've got to be a bitch!"
They say that: "A guy won't get the girl, if he's not filthy rich!"
New Comments
Friends' blogs
[Add AguileraAnimato's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.