ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
พระอานนท์เถระ (๒)

พระอานนท์เถระ (๒)
พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคในการเป็นพหูสูตมีสติมีคติมีธิติ
นอกจากท่านพระอานนท์จะขยันในการอุปัฏฐากแล้ว ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ยังกล่าวไว้ว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้ขยันในการศึกษาเล่าเรียนขยันในการท่อง ขยันในการจำ ขยันในการทรงไว้อีกด้วย
ในเรื่องการทรงจำนั้น ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้นเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็นจำนวนตั้ง ๖๐,๐๐๐ บาท ๑๕,๐๐๐ คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น
ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียกจากพระพุทธองค์ ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา ๘ เท่า คือคนเราพูด ๑ คำ ท่านพูดได้ ๘ คำ
ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้พรรณนาคุณของท่านพระอานนท์ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง ๔ นิยมไปหาท่านกันมาก ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ คือ ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความยินดี แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม แล้วทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายถึง ๕ อย่าง คือ ๑. เป็นผู้มีพหูสูต ๒. เป็นผู้มีสติ ๓. เป็นผู้มีคติ ๔. เป็นผู้มีความเพียร ๕. เป็นอัคคุปัฏฐาก
เกียรติคุณอีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ คือ มีฝีมือทางช่าง สาเหตุที่ทรงชมเชย มีว่าครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จจากนครราชคฤห์ไปสู่ทักษิณาคิรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้น ๆ คั่นในระหว่าง แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า จะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม? ท่านทูลรับว่า เย็บได้ และต่อมาท่านเย็บจีวรให้พระหลายรูปแล้วนำไปถวายให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วตรัสชมเชยในท่ามกลางสงฆ์ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำ ที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้"
นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า
งานรับสั่ง เช่นพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาของท่าน รับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน รับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ รับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น
งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตรแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตรประจำในที่แห่งเดียว เพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำบุญกับพระพุทธเจ้า จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น จึงทูลขอพระภิกษุ ๑ รูปให้ไปรับนิตยภัตรของพระองค์ พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตรถวายไปบ้าง แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ
อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสองพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระหนี้ และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้
โดยส่วนตัวแล้ว ท่านพระอานนท์ รักพระพุทธองค์มาก แม้ชีวิตของท่านก็ยอมสละเพื่อพระพุทธองค์ได้ ดังมีเรื่องเล่าว่า
ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตต์ ปล่อยช้างนาราคิรี เพื่อให้ปลงพระชนม์พระพุทธองค์ พอช้างวิ่งมาใกล้พระพุทธองค์ ท่านได้เดินออกหน้าเพื่อให้ช้างแทงท่านแทน แต่พระองค์ทรงห้ามไว้
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร ท่านคิดว่าหากพระพุทธองค์ได้เสวยยาคู ก็คงจะหายดังเช่นครั้งก่อน ๆ ท่านจึงขอเครื่องปรุงยาคู มาปรุงเอง แล้วนำไปถวายให้เสวย พระพุทธองค์ทรงทราบว่าท่านปรุงเอง จึงติเตียนว่า ท่านทำการไม่ควรไม่เหมาะสม มิใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ทำไมจึงพอใจมักมากเช่นนั้น อามิส ที่เก็บไว้ภายในที่อยู่เป็นอกัปปิยะ แม้หุงต้มในที่อยู่ก็เป็นอกัปปิยะ
ครั้งหนึ่ง พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมนด้วยสิ่งที่เป็นโทษพระผู้มีพระภาคจึงตรัสบอกเรื่องนี้แก่ท่าน แล้วตรัสว่าทรงประสงค์จะเสวยยาระบาย ท่านจึงเข้าไปหาหมอ ชีวกโกมารภัจ บอกพระอาการดังกล่าวให้ฟัง แล้วขอให้ปรุงยาระบายถวาย หมอชีวกแนะนำให้ทำพระกายของพระพุทธองค์ให้ชุ่มชื่นสัก ๒๓ วัน ท่านก็ได้ปฏิบัติตามนั้นแล้วไปแจ้งให้หมอชีวกทราบอีก หมอชีวกจึงได้ปรุงยาระบายพิเศษ อบด้วยก้านอุบล ๓ ก้าน ใช้ดมไม่ใช่ใช้กินอย่างยาระบายอื่น ๆ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสูดดมทั้ง ๓ ก้าน ก็ทรงระบายถึง ๓๐ ครั้ง
ในคราวที่พระผู้มีพระภาคประชวรหนักที่นครเวสาลี และทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้นไปได้ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลเล่าความในใจของท่านถวายพระพุทธองค์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์เห็นความสำราญของพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพระองค์เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่า เพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่า ข้าพระองค์ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน จนกว่าจะได้ทรงปรารภสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง "
ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิโครธารามใกล้นครกบิลพัสดุ์ พระองค์เพิ่งทรงฟื้นจากไข้หนักได้ไม่นาน พระเจ้ามหานามะได้เสด็จเข้าไปทูลถามปัญหาว่า ญาณเกิดก่อนสมาธิ หรือว่าสมาธิเกิดก่อนญาณ? ท่านพระอานนท์เห็นว่าปัญหานี้หนักมากจะเป็นการลำบากมากแก่พระพุทธองค์ เพราะเพิ่งฟื้นจากประชวรไข้ จึงได้จับพระหัตถ์พระเจ้ามหานามะนำเสด็จออกไปข้างนอก แล้วท่านอธิบายปัญหาธรรมข้อนั้นเสียเอง
เมื่อทราบว่า พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพานแน่แล้ว ท่านก็ได้ทูลขอให้ทรงอยู่ต่อไปถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่าได้ทรงรับนิมนต์ของมารไว้เสียแล้ว พร้อมกันนี้ ได้ทรงเล่าถึงนิมิตโอภาส ๑๖ ตำบล ที่พระองค์ทรงแสดง เพื่อให้ท่านนิมนต์ (ให้ทรงอยู่ต่อไป) แต่ท่านพระอานนท์ไม่นิมนต์ แล้วตรัสว่า นี้เป็นความผิดของท่านพระอานนท์เอง
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปสู่ป่าไม้สาละ ใกล้นคร กุสินารา พอเสด็จไปถึง ก็ตรัสใช้ให้ท่านช่วยตั้งเตียงให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เมื่อท่านจัดการตั้งเตียงตามรับสั่งแล้วพระพุทธองค์ทรงประทับสีหไสยาโดยพระปรัศ์วเบื้องขวา ท่านทราบแน่ว่าพระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานที่นี่แล้ว จึงหลีกออกจากที่เฝ้าเข้าไปสู่วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้คันทวยร้องไห้อยู่ ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบก็ตรัสให้เรียกท่านไปเฝ้าแล้วตรัสปลอบโยนให้หายเศร้าโศก ท่านทูลให้เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองจัมปา เมือราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี ไม่ควรมาปรินิพพานที่เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองอย่างนั้นเลย พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องความเป็นมาแห่งเมืองกุสินาราให้ฟังโดยละเอียด (ความปรากฏในมหาสุทัสสนสูตร)
ตามปรกติ ท่านให้ความสะดวกแก่ผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเสมอ แต่ถ้าหากเห็นว่า จะเป็นการลำบากพระพุทธองค์แล้ว ท่านจะห้ามไว้ เช่นในคราวสุภัททะ ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหา ท่านเห็นว่าเวลานั้นพระพุทธองค์ กำลังจะเสด็จปรินิพพานอยู่แล้ว สุภัททะนี้จะเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ จึงได้ห้ามไว้ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า แต่พระพุทธองค์รับสั่งให้เข้าไปได้
และในตอนที่พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านได้เล่าไว้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงเสด็จปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นได้เกิดความอัศจรรย์น่าสะพึงกลัว และเกิดอาการขนพองสยองเกล้า
สนทนาธรรมกับพระสาวกอื่นและเทศน์โปรดพุทธบริษัทพราหมณ์และปริพาชก
เนื่องจากท่านเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคารก ท่านจึงได้เป็นที่ปรึกษาของเพื่อนภิกษุ อุบาสกและอุบาสิกา ตลอดจนพวกพราหมณ์ ปริพาชกนักบวชนอกพระศาสนา ดังจะได้ยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
เทศนาดับราคะที่เกิดกับพระวังคีสะ
ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ในตอนเช้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี อันมีท่านพระวังคีสะเป็นปัจฉาสมณะท่านพระวังคีสะเห็นสตรีรูปงาม แต่งตัวสวย เกิดความกระสันรัญจวนจิตขึ้น จึงกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ท่านมีความเร่าร้อนเพราะกามราคะขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยระงับราคะให้ท่านพระอานนท์จึงแนะนำว่า จิตของพระวังคีสะรุ่มร้อนเพราะสัญญาวิปลาส ให้พระวังคีสะละเว้นนิมิตอันงามเสีย จงเห็นสิ่งทั้งหลายโดยความเป็นของแปรปรวน โดยความเป็นทุกข์ และอย่าเห็นโดยความเป็นตน จงดับราคะอันแรงกล้า จงอย่าให้ราคะเผาผลาญบ่อย ๆ จงเจริญสุภกัมมัฏฐาน ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวจงเจริญกายคตาสติ จงเป็นผู้มากด้วยความหน่าย จงเจริญความไม่มีนิมิต จงถอนมานานุสัยเสีย เพราะการรู้เท่าถึงมานะ ก็จะเป็นผู้สงบระงับได้
เทศน์โปรดพระกามภู
ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์ ได้พักอาศัยอยู่ที่โฆสิตารามใกล้นครโกสัมพี กับท่านพระกามภู ในตอนเย็นวันหนึ่ง ท่านพระกามภูออกจากที่พักผ่อนไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามท่านว่าจักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหรือ? ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหรือ? ท่านพระอานนท์ตอบว่า จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป แต่รูปหาใช่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุไม่ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้นสัมผัสกัน ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์แต่ธรรมารมณ์หาใช่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจไม่ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้นสัมผัสกัน เปรียบเหมือนโคดำและโคขาวที่เขาผูกติดกันด้วยเชือกเส้นเดียวกัน หากบุคคลใดจะกล่าวว่าโคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำ บุคคลนั้นกล่าวชอบไหม? ท่านพระกามภูตอบว่า บุคคลนั้นกล่าวไม่ชอบ เพราะโคดำไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับโคขาว เป็นแต่เกี่ยวเนื่องกันด้วยเชือกที่เขาผูกติดกันเท่านั้นท่านพระอานนท์จึงกล่าวสรุปความว่า ข้อนี้ฉันใด จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป แต่รูปไม่ได้เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุฉันนั้น
เทศน์โปรดพระอุทายี
ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์พักอาศัยที่โฆสิตารามใกล้นครโกสัมพี กับท่านพระอุทายี วันหนึ่งท่านพระอุทายีได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามถึงคำกล่าวของ ปัญจาลจัณฑเทพบุตรที่ว่า พระพุทธองค์ทรงรู้แล้วซึ่งโอกาสอันไปแล้วในที่แคบนั้น คำว่าที่แคบนี้หมายความว่ากระไร? ท่านตอบว่าที่แคบได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระอุทายีได้เรียนถามท่านพระอานนท์ถึงเรื่องอนัตตาว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่ากายนี้เป็นอนัตตา แต่ว่าวิญญาณนั้นจะเป็นอนัตตาด้วยหรือ? ท่านพระอานนท์ตอบเป็นอนัตตาด้วย ท่านอธิบายว่า เพราะวิญญาณเกิดขึ้นด้วยอาศัยอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก เมื่ออายตนะภายใน หรืออายตนะภายนอกดับไป วิญญาณก็ย่อมดับไปด้วย ท่านยกอุปมาว่า เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือขวานอันคมเข้าไปในป่าพบต้นกล้วยใหญ่ลำต้นตรงใหม่ ไม่รุงรัง ในป่านั้น พึงตัดที่โคนต้นแล้วตัดที่ปลาย แล้วลอกกาบออก เขาจะไม่พบแม้แต่กระพี้ของมัน แล้วเขาจะพบแก่นของมันได้อย่างไรเล่า ข้อนี้ฉันใด ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ฉันนั้น เหมือนกัน
เทศน์โปรดพระฉันนะ
ครั้งหนึ่ง ท่านพระฉันนะ ได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ขณะพักอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพี กล่าวใจความถวายว่าสมัยหนึ่ง ท่านอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี ท่านได้เข้าหาพระเถระหลายรูป ขอร้องให้พระเถระเหล่านั้นช่วยกล่าวสอน พร่ำสอนท่าน พระเถระทั้งหลายได้สอนท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านบอกว่า ท่านไม่เลื่อมใส ใจไม่หลุดพ้นจากกิเลส จึงมาคิดคำนึงว่า ใครหนอจะแสดงธรรมแก่ท่าน ทำให้ท่านได้เห็นธรรม ก็คิดได้ว่า ท่านพระอานนท์นี่แหละจะแสดงธรรมแก่ท่านได้เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญว่าสามารถแสดงธรรมแก่เพื่อนพรหมจารย์ได้ ทั้งท่านพระอานนท์ก็มีความคุ้นเคยกับท่านด้วยดี ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมาหาท่านพระอานนท์ขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยแสดงธรรมแก่ท่าน ตามที่ท่านพระอานนท์ได้กล่าวสอนเรื่องที่ท่านได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่าพระพุทธองคต์ได้ตรัสกับภิกษุ กัจจายนโคตรว่าโลกนี้โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่างคือ ความมี และความไม่มี เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแหงโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มีเมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น มีควาวมยึดมั่นด้วยความตั้งใจไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเราย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นี่แหละเมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลยด้วยเหตุเพียงเท่านี้จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ ส่วนสุดที่ ๑ ว่า สิ่งที่ปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี พระตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้สายสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลเหล่านี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ และเพราะอวิชชานั้นแหละดับ สังขารจึงดับ ฯลฯความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวจบ ท่านพระฉันนะได้กล่าวชมเชยท่านพระอานนท์ว่า ท่านเหล่าใดกล่าวสอนธรรมอย่างนี้ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อนุเคราะห์มุ่งประโยชน์ กล่าวสอน และพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย และท่านรับท่านได้เข้าใจธรรมเทศนาอย่างแจ่มแจ้ง
เทศน์โปรดพระภัททะ
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์กับท่านพระภัททะ อาศัยอยู่ที่กุกกุฏารามใกล้เมืองปาฏลีบุตร เย็นวันหนึ่ง ท่านพระภัททะออกจากที่พักผ่อน เข้าไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามท่านว่าพระพุทธเจ้าตรัสศีลที่เป็นกุศลไว้เพื่อประสงค์อะไร? ท่านพระอานนท์กล่าวชมเชยท่านพระภัททะว่าเป็นคนช่างคิด ช่างถาม และได้ตอบว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔
พระภัททชิเทศน์โปรดพระอานนท์
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพีท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก ท่านได้ถามท่านพระภัททชิว่า บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทังหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลายภพชนิดไหนเป็นยอด ท่านพระภัททชิตอบว่า เห็นพระพรหมชื่อว่าเป็นยอดของการเห็น ได้ยินเสียงของเหล่าเทพอาภัสสระ ชื่อว่าเป็นยอดของการได้ยิน ความสุขของเหล่าเทพสุภกิณหะ เป็นยอดของความสุข การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ เป็นยอดของสัญญาการเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เป็นยอดของภพ
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า คำตอบของท่านพระภัททชินี้ สมกับคำของชนส่วนมากเขากล่าวกัน ท่านพระภัททชิจึงขอให้ท่านพระอานนท์อธิบายให้ฟัง ท่านจึงกล่าวว่า การเห็นตามเป็นจริง เป็นยอดของการเห็นได้ยินตามเป็นจริง เป็นยอดของการได้ยิน ได้สุขตามเป็นจริง เป็นยอดของสุข สัญญาตามเป็นจริง เป็นยอดของสัญญา เป็นอยู่ตามเป็นจริงเป็นยอดของภพ
ได้รับการสรรเสริญพระพุทธองค์ว่าสามารถแสดงธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยย่อให้พิสดารได้
ครั้งหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังธรรมกถาย่อ ๆ จากสำนักพระผู้มีพระภาค ไม่เข้าใจเกิดความลังเลสงสัย จึงพร้อมใจกันไปหาท่านพระอานนท์ เล่าความถวายท่านว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่าบุคคลควรทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้วจึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหารเสีย พวกท่านจึงได้พร้อมใจกันมาขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยจำแนกให้ฟังว่า อะไรคือสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และอะไรคือสิ่งที่เป็นธรรม
ท่านพระอานนท์กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลายเหมือนผู้ต้องการไม้แก่น เที่ยวหาไม้แก่นอยู่ แต่เมื่อพบแล้วก็ไม่ตัดเอารากและลำต้นมัน ไปสำคัญใบและกิ่งว่าเป็นแก่นไม้ที่ตนต้องประสงค์ แล้วจะพบแก่นไม้ได้อย่างไร? ข้อนี้เหมือนกับภิกษุทั้งหลายเมื่อพบพระพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว แต่ไม่ทูลถาม มาถามท่านซึ่งเป็นเสมือนใบและกิ่งของไม้
พระภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถึงอย่างนั้นก็จริง แต่ว่า ท่านพระอานนท์ได้รับคำสรรเสริญยกย่องจากพระพุทธองค์ และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายว่าเป็นผู้สามารถจำแนกแจกอรรถแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อไว้ให้พิสดารได้
ท่านพระอานนท์จึงได้จำแนกอรรถแห่งธรรมนั้นโดยพิสดารถวายพระภิกษุทั้งหลาย คือท่านกล่าวว่า อริยมรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น คือสิ่งที่เป็นธรรม ที่ตรงกันข้ามกับอริยมรรค ๘ คือสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ในตอนท้าย ท่านสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าพบพระพุทธเจ้า และทูลถามอรรถธรรมนั้นอีก พระภิกษุทั้งหลายชื่นชมธรรมภาษิตของท่านมากลุกจากอาสนะแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลเล่าความที่พระอานนท์ขยายพุทธพจน์โดยย่อถวายให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระอานนท์ ณที่นั้นว่า เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ตรัสว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายมาทูลถามพระองค์ถึงอรรถนั้น พระองค์ก็จะทรงอธิบายอย่างที่พระอานนท์อธิบายนั่นแหละ
เทศน์โปรดคฤหบดีพราหมณ์และปริพาชก
นอกจากเป็นที่ปรึกษาของพุทธบริษัทแล้ว ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของพวกพราหมณ์ปริพาชกด้วย เช่น
เทศน์โปรดคฤหบดี
สมัยหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพีโฆสิต คฤหบดีได้เข้าไปหาท่าน แล้วเรียนถามท่านเกี่ยวกับความแตกต่างแห่งธาตุที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง? ท่านพระอานนท์ตอบว่าจักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
เทศน์โปรดอุณณาภพราหมณ์
อีกสมัยหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่โฆสิตารามใกล้นคร โกสัมพี พราหมณ์คนหนึ่งชื่ออุณณาภะ ได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก แล้วเรียนถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไร? ท่านตอบว่า เพื่อละฉันทะ อุณณาภ พราหมณ์ถามต่อไปว่า ข้อปฏิบัติให้ละฉันทะมีด้วยหรือ? ท่านตอบว่า "มี" และอธิบายว่าวิธีละฉันทะนั้นต้องเจริญอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทสมาธิและปธานสังวร วิริยสมาธิและปธานสังวร จิตตสมาธิและปธานสังวร วิมังสาสมาธิและปธานสังวร
อุณณาภ พราหมณ์แย้งว่า จะเอาฉันทะไปละฉันทะได้อย่างไร?ท่านอธิบายว่า เหมือนกับอุณณาภะนี่แหละ เมื่อก่อนจะมาสู่อารามก็มีความพอใจ มีความเพียร มีความคิด มีความตรึกตรอง ว่าเราจะไปอาราม ครั้นไปถึงอารามแล้วความพอใจก็ระงับไปความเพียรก็ระงับไปความคิดก็ระงับไป ความตรึกตรองก็ระงับไป ข้อนี้เปรียบเหมือนกับภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ในเบื้องต้นก็มีความพอใจ ความเพียร ความคิด ความตรึกตรองเพื่อให้บรรลุอรหันต์ ครั้นบรรลุอรหันต์แล้ว ความพอใจ ความเพียร ความคิด ความตรึกตรองก็ระงับไป
พอท่านกล่าวจบ ท่านอุณณาภ พราหมณ์มีความพอใจมากกล่าวคำชมเชย และขอแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
เทศน์โปรดฉันนปริพาชก
ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารใกล้นครสาวัตถี ฉันนปริพาชก ได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก และได้เรียนถามท่านว่า พวกพระภิกษุพุทธสาวกนี้ ได้บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะหรือ? ท่านตอบว่าได้บัญญัติฉันนปริพาชก เรียนถามต่อไปว่า เห็นโทษในราคะ โทสะ โมหะ อย่างไร จึงได้บัญญัติการละไว้? ท่านตอบว่าเพราะบุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำรัดรึงจิตไว้ บุคคลผู้ดุร้ายถูกความดุร้ายครอบงำรัดรึงจิตไว้ บุคคลผู้หวงถูกความหวงครอบงำรัดรึงจิตไว้ ย่อมคิดแต่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่น เสวยทุกข์โทมนัสทางจิตย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมไม่รู้แม้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ตามความเป็นจริง ราคะ โทสะ โมหะ ทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้ไม่รู้อะไร ทำให้ปัญญาดับ เป็นไปในฝ่ายคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน แต่เมื่อละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น เสวยแต่สุขโสมนสประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต ย่อมรู้จักประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นตามเป็นจริง
เมื่อฉันนปริพาชกเรียนถามว่า วิธีปฏิบัติเพื่อละ ราคะ โทสะโมหะ มีหรือ เป็นอย่างไร? ท่านตอบว่ามี คือ อริยมรรค ๘ แล้วอธิบายโดยพิสดาร
เทศน์โปรดสาวกของอาชีวก
ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพีสาวกของอาชีวกคนหนึ่งเข้าไปหาท่าน ไหว้แล้วถามท่านว่า คนพวกไหนได้กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว คนพวกไหนได้ปฏิบัติธรรมดีแล้ว คนพวกไหนดำเนินไปดีแล้วในโลก ท่านตอบว่า คนพวกใดก็ตามแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ คนพวกนั้น ชื่อว่า กล่าวธรรมไว้ดีแล้ว คนพวกใดปฏิบัติธรรมเพื่อละ ราคา โทสะ โมหะ คนพวกนั้นชื่อว่าปฏิบัติธรรมดีแล้ว คนพวกใดละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน คนพวกนั้นชื่อว่าดำเนินไปดีแล้วในโลก
ท่านสาวกอาชีวกคนนั้นพอใจธรรมนี้มาก ได้กล่าวว่าท่านพระอานนท์ กล่าวธรรมไม่ยกธรรมของตน ไม่รุกรานธรรมของผู้อื่นเป็นการเทศนาเฉพาะเหตุผล ไม่ได้นำตนเข้าไป กล่าวแต่เนื้อ
เทศน์โปรดเจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี
ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้นครเวสาลี เจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้พากันไปท่าน กราบเรียนว่า ท่านนิครนถนาฏบุตรได้บัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไปเพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุได้เพราะทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือการล่วงทุกข์ย่อมมีได้โดยความหมดจด แล้วท่านถามว่าในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร? ท่านพระอานนท์ตอบว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสความหมดจดไว้ ๓ ขั้น คือหมดจดด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา
ตอนจบธรรมกถา เจ้าบัณฑิตกุมาร ถามเจ้าอภัยว่า อภัยเพื่อนรักทำไมท่านไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความจริงด้วยคำสุภาษิต เจ้าอภัยตอบว่า ไฉนไม่ชื่นชมอนุโมทนาเล่า ใครไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำของท่านพระอานนท์ความคิดของผู้นั้นเสื่อมทรามทีเดียว


Create Date : 29 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 สิงหาคม 2554 13:45:38 น. 1 comments
Counter : 363 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 15 ธันวาคม 2563 เวลา:11:40:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.