ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
พระองคุลีมาลเถระ (บุพกรรม ๑)

มหาสุตโสมชาดก
พระเจ้าสุตโสมเว้นบาปเพราะฟังธรรมของกาฬหัตถี


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภเรื่องพระอังคุลิมาลเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ดังนี้.

ตั้งแต่พระอังคุลิมาลเถระนั้น ได้กระทำความสวัสดีแก่หญิงผู้มีครรภ์หลงด้วยทำความสัตย์แล้ว จำเดิมแต่นั้นมาก็ได้อาหารสะดวกขึ้น ได้ปฏิบัติธรรมโดยการเจริญวิเวกอยู่แต่ผู้เดียว ต่อมาไม่นานท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์มีชื่อปรากฏนับเข้าในภายในพระอสีติมหาเถระ ๘๐ องค์ ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทรมานพระองคุลิมาล ผู้เป็นมหาโจรมีฝ่ามืออันชุ่มด้วยเลือด ร้ายกาจเห็นปานนั้น โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะหรือศัสตรา ทำให้หมดพยศได้ ทรงกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยากอย่างน่าอัศจรรย์

พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพโสต ก็ทรงพระดำริว่าพระธรรมเทศนาที่เราจักแสดงวันนี้จะมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงดังนี้ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จไปยังธรรมสภา ประทับนั่งบนอาสนะที่พวกภิกษุจัดไว้ถวายแล้วตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราผู้ได้ทรมานพระองคุลิมานได้ในบัดนี้ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้เมื่อครั้งในอดีตเราก็ทรมานพระองคุลิมาลนี้ได้ ตรัสดังนี้แล้วทรงนิ่งอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานแสดงดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า โกรัพยะ เสวยราชสมบัติโดยธรรม ในพระนครอินทปัต แคว้นกุรุ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าโกรัพยะนั้น พระราชกุมารนั้นมีพระพักตร์ดังดวงจันทร์ และมีนิสัยชอบในการศึกษา ชนทั้งหลายจึงพากันเรียกเธอว่า สุตโสม พระราชาทรงเห็นพระกุมารนั้นเจริญวัยแล้ว จึงพระราชทานทองลิ่มชนิดเนื้อดี ราคาพันหนึ่ง ส่งไปยังเมืองตักกศิลาเพื่อให้ศึกษาศิลปศาสตร์ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เจ้าชายสุตโสมรับทรัพย์ค่าบูชาอาจารย์ แล้วออกเดินทางไป
ในขณะเดียวกัน พรหมทัตกุมาร พระโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ในพระนครพาราณสี พระบิดาก็ส่งไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักกศิลาเช่นเดียวกัน จึงได้ออกเดินทางไปยังเมืองดังกล่าว
ลำดับนั้น สุตโสมกุมารเดินทางไปถึงศาลาใกล้ประตูเมืองตักกศิลาแล้ว จึงนั่งพักผ่อนอยู่ที่นั้น ก็ได้พบกับ พรหมทัตกุมารซึ่งก็นั่งอยู่ในศาลานั้นเช่นกัน สุตโสมกุมาร เห็นเจ้าชายพรหมทัต จึงกระทำปราศรัยเพื่อทำความรู้จักโดยถามพรหมทัตกุมารนั้นว่า ก็ทราบว่า ชายหนุ่มนั้นชื่อพรหมทัตกุมาร มาจากเมืองพาราณสี.เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี เดินทางมาเพื่อเรียนศิลปศาสตร์ แล้วพรหมทัตกุมาร ก็ถามสุตโสมกุมารเช่นเดียวกัน สุตโสมก็บอกแก่พรหมทัตกุมารทุกประการราชกุมารทั้งสองนั้นจึงกล่าวแก่กันว่า เราทั้งสองเป็นกษัตริย์ จงไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักท่านอาจารย์คนเดียวกันเถิด ตกลงกันดังนั้นแล้ว จึงเข้าไปในพระนคร ไปเสาะหาอาจารย์ เมื่อพบแล้วจึงไหว้อาจารย์แล้วแจ้งชาติกำเนิดของตน แจ้งความที่ตนทั้งสองมาเพื่อจะศึกษาศิลปะ อาจารย์จึงรับสองราชกุมารเป็นศิษย์ ราชกุมารทั้งสองมอบทองเป็นค่าบูชาครู แล้วเริ่มเรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์นั้น.
ในขณะนั้นไม่ใช่มีเพียงแต่สองราชกุมารเท่านั้น แม้พระราชบุตรของพระราชาอื่น ๆ ในชมพูทวีปประมาณ ๑๐๑ พระองค์ ก็เรียนศิลปะอยู่ในสำนักของอาจารย์นั้นด้วยเช่นกัน สุตโสมกุมารได้เป็นศิษย์ผู้เจริญที่สุดกว่าราชบุตรเหล่านั้น เล่าเรียนศิลปศาสตร์อยู่อย่างขะมักเขม้น ไม่นานเท่าไรนักก็ถึงความสำเร็จ
โดยปกติ สุตโสมกุมารมิได้ไปคลุกคลีกับราชกุมารเหล่าอื่น ไปหาแต่พรหมทัตกุมารผู้เดียว ด้วยคิดว่า พรหมทัตกุมารนี้เป็นสหายของเรา นอกจากนั้นสุตโสมกุมารยังเป็นครูผู้ช่วยแนะนำและสอนให้พรหมทัตกุมารและราชกุมารอื่น ๆ นั้นสำเร็จการศึกษาได้โดยรวดเร็ว เป็นลำดับกันมา
เมื่อเรียนจบกันทั้งหมดแล้ว พวกราชกุมารเหล่านั้นให้เครื่องคำนับไหว้อาจารย์แล้ว ออกเดินทางไปกลับไปยังบ้านเมืองของตนพร้อมสุตโสมกุมาร ครั้นเมื่อถึงทางแยกที่จะไปยังเมืองต่าง ๆ ของตน สุตโสมกุมารจึงได้ให้โอวาทแก่เหล่าราชกุมารทั้งนั้น เมื่อท่านทั้งหลายกลับไปถึงบ้านเมืองแล้ว ก็คงได้ราชสมบัติปกครองเมืองแทนพระราชบิดา เมื่ออยู่ในราชสมบัติแล้ว จงทำตามโอวาทของเรา โดยรักษาอุโบสถทุกวันครึ่งเดือน อย่าได้กระทำการเบียดเบียน ราชบุตรเหล่านั้นก็รับคำเป็นอันดี สุตโสมกุมารทรงทราบล่วงหน้าด้วยศาสตร์ที่ได้เรียนมาแล้วว่า มหาภัยจักเกิดขึ้นในพระนครพาราณสี เพราะพรหมทัตกุมารนี้เอง ดังนี้จึงได้ให้โอวาทแก่พวกราชกุมารเหล่านั้นแล้วส่งไป
ราชบุตรเหล่านั้นทุก ๆ พระองค์ ไปถึงชนบทของตน ๆ แล้วแสดงศิลปะที่ได้ร่ำเรียนมาแก่พระราชมารดาบิดาของตนแล้ว ครั้นเมื่อได้รับมอบราชสมบัติแล้วต่างก็ส่งราชสาส์นพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าสุตโสม เพื่อให้ทราบความที่ตนได้ราชสมบัตินั้นแล้วและประพฤติอยู่ในโอวาทด้วย พระเจ้าสุตโสมได้ทรงทราบข่าวสาส์นนั้นแล้วทรงตอบพระราชสาส์นไปว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด
ในบรรดาพระราชาเหล่านั้น พระเจ้าพรหมทัต แห่งกรุงพาราณสี นั้นทรงติดอยู่ในรสของเนื้อสัตว์ ถ้าไม่มีเนื้อปรุงมาเป็นพระกระยาหารเสียแล้วท่านเสวยอาหารไม่ได้ แม้ในวันพระ ซึ่งปกติจะไม่มีการฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมารับประทาน พวกห้องเครื่องต้นก็ต้องเก็บเนื้อไว้ถวายท้าวเธอ
อยู่มาวันหนึ่งเนื้อที่ชาวเครื่องเก็บไว้สำหรับปรุงพระกระยาหารถวายนั้น ถูกสุนัขในพระราชวังกินเสียหมด เพราะความเลินเล่อของคนทำเครื่องต้น คนทำเครื่องต้นครั้นไม่เห็นเนื้อที่เก็บเอาไว้ จึงเที่ยวหาซื้อเนื้อในเมือง เที่ยวหาไปก็หาไม่ได้ด้วยเป็นวันอุโบสถ จึงดำริว่า ถ้าหากเราจักตั้งเครื่องเสวยโดยไม่มีเนื้อ เราก็จะไม่มีชีวิตรอด จักทำอย่างไรดีหนอ ครั้งนึกอุบายขึ้นมาได้ พอตกค่ำจึงไปสู่ป่าช้า ตัดเอาเนื้อตรงขาของบุรุษที่เพิ่งตายใหม่ ๆ นั้นนำมาปรุงเป็นพระกระยาหาร หุงข้าวจัดแจงตั้งเครื่องเสวย พอพระราชาวางชิ้นเนื้อมนุษย์นั้นลง ณ ปลายพระชิวหา รสเนื้อมนุษย์นั้น ก็แผ่ไปสู่เส้นประสาทที่รับรสทั้ง ๗ พัน ซาบซ่านไปทั่วพระสรีระ โดยที่เป็นดังนี้เพราะเหตุว่า เพราะเคยเสวยเนื้อมนุษย์มาก่อนแล้วในอดีตชาติ.
ในชาติที่แล้ว ท้าวเธอเกิดเป็นยักษ์ กินเนื้อมนุษย์เสียเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น เนื้อมนุษย์จึงได้เป็นสิ่งที่โปรดปรานของพระองค์ พระเจ้าพรหมทัตทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักนิ่งเสียแล้วบริโภคต่อไปตามปกติ คนทำเครื่องนี้ก็จักไม่บอกว่าเป็นเนื้ออะไร จึงทรงแกล้งถ่มชิ้นเนื้อนั้นลงบนพื้น เมื่อคนทำเครื่องต้นเห็นดังนั้นจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ เนื้อนี้หาโทษมิได้ เชิญพระองค์เสวยเถิด พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงรับสั่งให้มหาดเล็กอื่นๆ ออกไปเสียแล้ว ตรัสถามคนทำเครื่องต้นว่า เราเองก็ทราบว่าเนื้อนี้หาโทษมิได้ แต่เนื้อนี้คือเนื้ออะไร คนทำเครื่องต้น กราบทูลว่าขอเดชะ ก็เป็นเนื้อที่พระองค์เคยเสวยในวันก่อน ๆ ท้าวเธอได้ยินดังนั้นก็ทรงทราบว่า คนทำเครื่องต้นไม่ยอมบอก จึงรับสั่งต่อไปว่า เจ้าจงบอกมาตามความจริงเถิด ถ้าเจ้าไม่บอก เจ้าจะไม่มีชีวิต คนทำเครื่องต้นจึงทูลขอพระราชทานอภัยแล้ว ก็กราบทูลตามความเป็นจริง พระราชารับสั่งว่า ต่อไปเจ้าจงนำแต่เนื้อมนุษย์มาเป็นอาหารให้แก่เราเพียงอย่างเดียว คนทำเครื่องต้นทูลถามว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์จักได้เนื้อมนุษย์มาจากไหนเล่า.พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งแนะให้ว่า ก็คนในเรือนจำมีอยู่มากมายมิใช่หรือ.
แต่นั้นมา เขาก็ได้กระทำตามพระราชบัญชาทุกประการ ครั้นต่อมาเมื่อพวกนักโทษในเรือนจำหมด คนทำเครื่องต้นจึงกราบทูลว่า บัดนี้ข้าพระองค์จักกระทำอย่างไรต่อไป พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งว่า เจ้าจงทิ้งถุงทรัพย์พันหนึ่งไว้ที่ระหว่างทาง คนใดหยิบเอาถุงทรัพย์นั้น จงจับคนนั้นโดยตั้งข้อหาว่าเป็นโจรแล้วฆ่าทิ้งเสีย คนทำเครื่องต้นได้กระทำตามพระราชบัญชานั้นแล้ว นานเข้าก็ไม่พบคนที่กล้าแม้แต่จะมองดูถุงทรัพย์พันหนึ่งนั้น เพราะความกลัว จึงทูลถามพระเจ้าพรหมทัตว่า ขอเดชะบัดนี้ข้าพระองค์จักกระทำอย่างไรต่อไป ทรงแนะให้อีกว่า ในเวลาตีกลองยามเที่ยงคืน พระนครย่อมเกิดความอลหม่าน เวลานั้นเจ้าจงยืนดักอยู่ที่ตรอกบ้านหรือถนนหรือหนทางสี่แพร่งแห่งหนึ่ง จงฆ่ามนุษย์เอาเนื้อมา
แต่นั้นมา เขาก็ได้ทำอย่างที่พระเจ้าพรหมทัตทรงแนะนำนั้น ซากศพปรากฏอยู่ในพระนครที่นั้นบ้าง ที่โน้นบ้าง ทั่วทั้งเมืองพาราณสีก็เต็มไปด้วยซากศพ เสียงประชาชนคร่ำครวญว่า มารดาของเราหายไป บิดาของเราหายไป พี่ชาย น้องชายของเราหายไป พี่สาว น้องสาวของเราหายไป.ได้ยินไปทั่วพระนคร
ชาวนครทั้งกลัว ทั้งหวาดเสียว จึงปรึกษากันว่า คนเหล่านี้ถูกราชสีห์กิน หรือถูกเสือกิน หรือถูกยักษ์กินกันแน่หนอ ครั้นเมื่อตรวจดูที่ซากศพ ก็เห็นบาดแผลที่ซากศพเป็นรอยการตัดเนื้อไป จึงสันนิษฐานกันว่า เห็นจะเป็นโจรมนุษย์คนหนึ่งกินคนเหล่านี้เป็นแน่ มหาชนจึงประชุมกันร้องทุกข์ที่พระลานหลวง พระราชาตรัสถามชาวพระนครกราบทูลว่า ในพระนครนี้เกิดโจรกินคนขึ้นแล้ว ขอพระองค์จงรับสั่งให้จับโจรกินคนนั้นเสียเถิด พระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า เราจักรู้ได้อย่างไรเล่า จะให้เราเป็นคนรักษาพระนคร เที่ยวไปตรวจดูหรือ มหาชนเห็นดังนั้นปรึกษากันว่า พระราชาไม่ทรงเอาเรื่องนี้เป็นธุระเสียแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเราจักพากันไปแจ้งแก่ท่านกาฬหัตถีเสนาบดีเถิด จึงพากันไปบอกเนื้อความแก่ท่านเสนาบดี กราบเรียนว่า ควรจะสืบจับตัวผู้ร้ายให้ได้ ท่านเสนาบดีมีบัญชาว่า พวกท่านจงรออยู่สัก ๗ วันก่อน เราจะสืบจับตัวผู้ร้ายเอามาให้พวกท่านดูจงได้ มหาชนก็พากันกลับไป.
ท่านเสนาบดีสั่งการพวกราชบุรุษว่า เกิดเหตุโจรกินคนขึ้นในพระนคร พวกเจ้าจงไปซุ่มจับเอาตัวมันมาให้ได้ พวกราชบุรุษเหล่านั้นรับคำสั่งแล้ว ก็คอยสอดแนมอยู่ทั่วพระนคร ครั้นเมื่อคนทำเครื่องต้นลอบแอบอยู่ที่ตรอกบ้านแห่งหนึ่ง และได้ฆ่าหญิงคนหนึ่งแล้ว ก็แล่เอาเนื้อหญิงนั้นบรรจุลงในกระเช้า ทันใดนั้นพวกราชบุรุษเหล่านั้น จึงจับคนทำเครื่องต้นนั้นโบยแล้วมัดมือไพล่หลัง ร้องประกาศดัง ๆ ว่า พวกเราจับโจรกินคนได้แล้ว ประชาชนพากันห้อมล้อมคนทำเครื่องต้นนั้น ราชบุรุษทั้งหลายมัดคนทำเครื่องต้นไว้อย่างแน่นหนา แล้วผูกกระเช้าเนื้อไว้ที่คอเอาตัวไปมอบแก่ท่านเสนาบดี ครั้นท่านเสนาบดี พอได้เห็นคนทำเครื่องต้นนั้นแล้ว จึงคิดว่า เจ้าคนผู้นี้กินเนื้อนี้เอง หรือเอาไปปนกับเนื้ออื่นแล้วจำหน่าย หรือว่าฆ่าตามพระราชบัญชา จึงสอบสวนและถามคนทำเครื่องต้นดังเช่นที่คิดไว้นั้น
คนทำเครื่องต้นจึงกล่าวแก่ท่านเสนาบดีนั้นว่า เป็นด้วยพระเจ้าพรหมทัต พระองค์เสวยเนื้อนี้
ลำดับนั้น ท่านเสนาบดีจึงกล่าวกะคนทำเครื่องต้นนั้นว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงแถลงเหตุนั้นแก่เรา ต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวในเช้าวันพรุ่งนี้เถิด
ต่อจากนั้น ท่านเสนาบดีจึงสั่งให้มัดจำคนทำเครื่องต้นไว้ให้มั่งคง ครั้นรุ่งเช้าแล้วจึงปรึกษากับพวกอำมาตย์และชาวเมือง เมื่อเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดแล้ว จึงวางกำลังไว้ในที่ทุกแห่ง ผูกกระเช้าเนื้อไว้ที่คอคนทำเครื่องต้น นำตัวเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ พร้อมกับฝูงชน ที่ได้โห่ร้อง เกิดเสียงเซ็งแซ่ขึ้นทั่วพระนคร
วันวานนี้ พระราชาเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ยังมิได้เนื้อในเวลาเย็น จึงประทับนั่งรอคนทำเครื่องต้นเมื่อได้เนื้อมนุษย์มาแล้วก็จะประกอบพระกระยาหารถวาย ทรงประทับรออยู่จนตลอดคืนยังรุ่ง คนทำเครื่องต้นก็ยังไม่มา ครั้งทรงได้สดับเสียงเซ่งแซ่ของชาวเมือง จึงทรงทอดพระเนตรออกไปตามช่องพระแกล ก็ได้ทรงเห็นคนทำเครื่องต้น ถูกมัดมาพร้อมกระเช้าเนื้อห้อยที่คอ ทรงคาดเดาได้ว่า มหาชนได้รู้ความจริงแล้วแล้ว จึงทรงตั้งพระสติมั่งคง ประทับนั่งบนบัลลังก์คอยอยู่ เมื่อกาฬหัตถีเสนาบดี เข้าไปเฝ้าพระองค์ แล้วทูลไต่สวนข้อความ พระองค์จึงทรงแถลงแก่เสนาบดีนั้น.
พระราชาตรัสเมื่อถูกเสนาบดีไต่สวน ไม่อาจจะทรงให้การเท็จได้ จึงตรัสว่า เป็นความจริง คนทำเครื่องต้นนั้น เราได้ใช้มันไปเอง เมื่อมันทำกิจของเรา ท่านกาฬหัตถี โจรอื่นท่านไม่จับ ให้จับคนของเราทำไมกัน.
เสนาบดีได้สดับคำนั้นดำริว่า พระราชาทรงรับสารภาพด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เอง เธอร้ายกาจน่าสยดสยอง เธอกินเนื้อมนุษย์มาตลอดกาลถึงเพียงนี้ เราจักลองทูลห้ามเธอดู ดังนี้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำอย่างนี้อีกต่อไปเลย อย่าเสวยเนื้อมนุษย์เลย พระราชาตรัสว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถี ท่านพูดอะไร เราไม่อาจจะอดเนื้อมนุษย์ได้ เสนาบดีทูลตอบว่า ขอเดชะ ถ้าพระองค์อดไม่ได้ พระองค์เองจะทำพระองค์และบ้านเมืองให้พินาศ พระเจ้าพรหมทัตตรัสตอบว่า ถึงแม้เราจะต้องพินาศไปอย่างนั้น เราก็ไม่อาจที่จะอดเนื้อมนุษย์นั้นได้ เสนาบดีนั้นเมื่อประสงค์จะให้ท้าวเธอรู้สึกพระองค์ จึงนำเอาเรื่องมาเล่าถวายดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล มหาสมุทรแห่งหนึ่งมีปลาใหญ่อยู่ ๖ ตัว ชื่ออานนท์ตัวหนึ่ง ชื่ออุปนันทะตัวหนึ่ง ชื่ออัชโฌหารตัวหนึ่ง ปลาใหญ่ทั้ง ๓ ตัวนี้ยาวถึง ๕๐๐ โยชน์ ชื่อติมิงคละตัวหนึ่ง ชื่อติมิรมิงคละตัวหนึ่ง ชื่อมหาติมิรมิงคละตัวหนึ่ง ปลาใหญ่ ๓ ตัวนี้ยาว ๑,๐๐๐ โยชน์ ปลาใหญ่ทั้ง ๖ ตัวนั้นแม้ทั้งหมดมีหินและสาหร่ายเป็นภักษาหาร บรรดาปลาทั้ง ๖ ตัวนั้น ปลาอานนท์อยู่ในส่วนข้างหนึ่งแห่งมหาสมุทร ฝูงปลาเป็นอันมากพากันเข้าไปหาปลาอานนท์นั้น
วันหนึ่ง ปลาเหล่านั้นคิดกันว่า ในหมู่สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้าทั้งหมด ย่อมมีพระราชา แต่พระราชาของพวกเรายังไม่มี พวกเราจักยกย่องปลาตัวหนึ่งให้เป็นพระราชา ปลาทั้งหมดได้รวมกันเป็นเอกฉันท์ ยกปลาอานนท์ขึ้นเป็นพระราชา นับแต่นั้นมา ปลาเหล่านั้นก็ไปเข้าเฝ้าปลาอานนท์นั้นทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า.
อยู่มาวันหนึ่ง ปลาอานนท์กินหินและ สาหร่ายอยู่ ณ ภูเขาแห่งหนึ่ง กินปลาตัวหนึ่งโดยไม่รู้สึกว่าเป็นปลา สำคัญว่าเป็นสาหร่าย เนื้อปลานั้นแผ่ไปทั่วสรีระของมัน มันคิดว่า นี้อะไรหนอช่างอร่อยเหลือเกินจึงคายออกมาดูเห็นเป็นเนื้อปลา คิดว่า เราไม่รู้จักกินมานานถึงเพียงนี้ และก็คิดต่อไปว่า พวกปลาที่มาเฝ้าเราทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น เวลากลับไป เราจะกินมันตัวหนึ่งหรือสองตัว แต่เมื่อจะกินมันโดยเปิดเผย ปลาตัวอื่น ๆ ก็จะไม่เข้าใกล้เรา จะพากันหนีไปเสียหมด เราจำต้องทำอย่างแนบเนียน เราจะจับตัวที่อยู่หลังที่สุดกิน ดังนี้แล้วได้กระทำตามที่ตนดำริไว้ทุกประการ ฝูงปลาเหล่านั้นก็ลดจำนวนลงโดยลำดับ จึงคิดกันว่า ภัยเกิดขึ้นแก่พวกญาติของเราด้วยเหตุใดหนอ
ในฝูงปลานั้น มีปลาฉลาดตัวหนึ่งคิดว่า กิริยาของปลาอานนท์ผิดสังเกต จึงคอยจับกิริยาของปลาอานนท์ เมื่อฝูงปลาไปเข้าเฝ้าแล้ว ได้แฝงตัวอยู่ในหูของปลาอานนท์ ปลาอานนท์ส่งฝูงปลากลับไปแล้ว ก็กินตัวที่ไปทีหลังสุดเสีย ปลาฉลาดตัวนั้นเห็นการกระทำอย่างนั้นจึงไปบอกแก่พวกของตน ปลาเหล่านั้นตกใจกลัวพากันหนีไปจนหมด
นับแต่วันนั้นมา ปลาอานนท์มิได้กินอาหารอย่างอื่นเลย เพราะติดรสในเนื้อปลา มันถูกความหิวบีบคั้นมากขึ้น คิดว่า ปลาเหล่านี้ไปแอบซ่อนอยู่ที่ไหนหนอ เมื่อเที่ยวหาปลาพวกนั้น เห็นภูเขาลูกหนึ่ง คิดว่าชะรอยมันจะอาศัยภูเขาลูกนี้อยู่เพราะกลัวเรา เพราะฉะนั้น เราจะลองโอบภูเขาตรวจดู จึงเอาหางและหัวโอบภูเขาไว้โดยรอบทั้งสองข้าง โดยคิดว่า ปลาคงอยู่ในที่นี้ทั้งหมด จะหนีไปทางไหนได้ แล้วโอบภูเขาเข้าไว้ ครั้นเมื่อมองเห็นหางของตนเองเข้า ก็โกรธด้วยคิดว่า ปลาตัวนี้มันลวงเรา อาศัยภูเขาแอบอยู่ จึงฮุบหางของตนเองประมาณ ๕๐ โยชน์ไว้ ด้วยคิดว่าเป็นปลาอื่น แล้วเคี้ยวกินเสียอย่างเอร็ดอร่อย จนเกิดทุกขเวทนาขึ้น ปลาอานนท์ไม่อาจกลับตัวได้เพราะตัวใหญ่ ก็สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง กระดูกกองกันเป็นเหมือนภูเขาใหญ่ ดาบสและปริพาชกผู้เที่ยวทางอากาศได้มาเล่าให้พวกมนุษย์ฟัง พวกมนุษย์ในชมพูทวีปจึงรู้กันทั้งหมด.
กาฬหัตถีเสนาบดีเมื่อเล่าเรื่องนี้ถวายต่อพระราชาแล้วได้ว่า
ถ้าพระองค์ยังไม่ยอมเลิกเสวยเนื้อมนุษย์ พระองค์ก็จำจะต้องทิ้งพระโอรสพระชายาพระประยูรญาติ และพระสหาย เมื่อไม่ได้อาหารอย่างอื่น ถูกความหิวบีบคั้นดิ้นกระเสือกกระสนอยู่ทั่วพระนคร ครั้นไม่ได้เนื้อมนุษย์ก็จะกินตนเอง ก็จะเหมือนอย่างปลาใหญ่มีชื่อว่า อานนท์ฉะนั้น
พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถีผู้เจริญ ท่านนั้นรู้เรื่องเปรียบเทียบ เพียงผู้เดียวหรือ คิดว่าตัวเราก็คงไม่รู้บ้างละซินะ โดยที่พระเจ้าพรหมทัตทรงติดอยู่ในรสเนื้อมนุษย์ จึงนำเรื่องมาแสดงดังนี้

เรื่องมีว่า ในอดีตกาล เศรษฐีชื่อว่าสุชาต ในพระนครพาราณสี เห็นฤๅษี ๕๐๐ ตนมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อต้องการจะได้ฉันรสเค็มและเปรี้ยว เขานิมนต์ฤๅษีเหล่านั้นให้อยู่ในสวนของตน ทำการอุปัฏฐากทะนุบำรุงอย่างดี ในเรือนของเศรษฐีนั้นได้จัดภิกษา ๕๐๐ ไว้เป็นนิตย์ แต่ดาบสเหล่านั้น บางคราวก็ไปเที่ยวหาอาหารในป่าหิมพานต์ นำชิ้นชมพู่ใหญ่ในป่านั้นมาฉันเสียบ้าง เวลาที่ดาบสเหล่านั้นหายไปเพื่อนำชิ้นชมพู่มาฉัน สุชาตคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่มา ๓-๔ วันเข้าวันนี้ ท่านไปไหนหนอ
เขาให้บุตรจับนิ้วมือของตน จูงไปในสำนักของดาบสเหล่านั้นในเวลาที่ท่านกำลังฉัน เวลานั้นดาบสที่อาวุโสน้อยที่สุดให้น้ำบ้วนปากแก่ดาบสผู้ใหญ่ทั้งหลายแล้วฉันชิ้นชมพู่อยู่ สุชาตไหว้พวกดาบสแล้วนั่งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าฉันอะไร พวกดาบสตอบว่า เราฉันชิ้นชมพู่ใหญ่ กุมารได้ยินดังนั้นเกิดความอยากขึ้น มา ท่านเจ้าคณะจึงสั่งให้ชิ้นชมพู่ใหญ่นั้นแก่กุมารนั้นหน่อยหนึ่ง กุมารนั้นกินชิ้นชมพู่นั้นแล้วติดอยู่ในรสของชมพู่ใหญ่ จึงได้รบเร้าขออยู่บ่อย ๆ ว่า พ่อขอชิ้นชมพู่อีก พ่อขอชิ้นชมพู่อีก เศรษฐีกำลังฟังฤๅษีแสดงธรรมอยู่ จึงพูดลวงบุตรว่า อย่าร้องไปเลยลูก เจ้ากลับบ้านแล้วจะได้กิน โดยเกรงว่า พระฤๅษีทั้งหลายจักรำคาญ เพราะเสียงบุตรของเขานั้น เศรษฐีสาละวนอยู่กับการปลอบบุตรอยู่ ไม่ทันบอกลาพวกฤาษี แล้วกลับไปบ้าน
ตั้งแต่ไปถึงบ้านแล้ว บุตรของเขาก็รบเร้าว่า พ่อจงให้ชิ้นชมพู่แก่ฉัน
ฝ่ายเหล่าพวกฤๅษีเห็นว่า พวกตนอยู่ในที่นี้มานานแล้ว จึงพากันกลับไปยังป่าหิมพานต์ ครั้นเศรษฐีกลับไปหาฤๅษีเพื่อขอชิ้นชมพู่ใหญ่ ก็ไม่พบในอาราม จึงได้นำผลไม้มีมะม่วง ชมพู่ ขนุนและกล้วย เป็นต้น คลุกด้วยน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดแก่บุตร แต่ชิ้นผลไม้เหล่านั้นพอถูกปลายลิ้นของเขาก็เป็นเหมือนยาพิษที่ร้ายแรง เขาอดอาหารอยู่ ๗ วันก็สิ้นชีวิตแล้ว
พระราชาเมื่อทรงเล่าเรื่องนี้แล้ว จึงได้กล่าวว่า ท่านกาฬะ เราถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์เห็นจะต้องตายเหมือนอย่างบุตรของสุชาตนั้นแล
กาฬหัตถีเสนาบดีคิดว่า พระราชานี้ติดอยู่ในรสเนื้อมนุษย์เสียเหลือเกิน เราจะนำอุทาหรณ์อื่น ๆ มาแสดงแก่พระองค์อีก แล้วทูลว่าข้าแต่มหาราชเจ้า ของพระองค์จงงดเนื้อมนุษย์เสียเถิด พระราชาตรัสว่า เราไม่อาจจะงดเว้นเนื้อมนุษย์ได้ เสนาบดีกล่าวว่า ขอเดชะ ถ้าพระองค์ไม่งด พระองค์จะต้องเสื่อมจากพระญาติวงศ์และสิริราชสมบัติ แล้วเล่าเรื่องถวายดังต่อไปนี้.

ข้าแต่มหาราชเจ้า ในอดีตกาล ในเมืองพาราณสีนี้มีสกุลเศรษฐีรักษาศีล ๕ อยู่สกุลหนึ่ง สกุลนั้นมีบุตรคนหนึ่ง เป็นที่รักใคร่ชอบใจของมารดาบิดา เป็นคนฉลาดเรียนจบไตรเพท
มาณพนั้นได้ไปเที่ยวกับพวกเพื่อนที่หนุ่ม ๆ มีวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเพื่อนเหล่านั้นกินปลาและเนื้อเป็นต้น ดื่มสุรากันทั้งนั้น แต่มาณพไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา พวกเพื่อนเหล่านั้นจึงคิดว่า มาณพนี้ไม่ดื่มสุรา คงไม่ออกค่าสุราให้แก่พวกเรา พวกเราต้องหาอุบายให้เขาดื่มสุราให้จงได้ พวกเพื่อนเหล่านั้นจึงรวมกันพูดกะเขาว่า เพื่อน พวกเราจักเล่นมหรสพในสวน มาณพหนุ่มพูดว่า พวกท่านดื่มสุรา เราไม่ดื่มพวกท่านจงไปกันเถิด เหล่าเพื่อนก็พูดว่า พวกเราจะเอาน้ำนมไปให้ท่านดื่มด้วย มาณพนั้นจึงรับว่าจะไปด้วย
พวกนักเลงสุราไปถึงสวนแล้วห่อสุราอย่างแรงวางไว้หลายห่อ ครั้นถึงเวลาที่พวกเขาจะดื่มสุรา เขาจึงส่งน้ำนมใหม่มาณพ นักเลงคนหนึ่งพูดขึ้นว่า เพื่อน ท่านจงเอาน้ำผึ้งใบบัวมาให้เรา พวกเพื่อนนำห่อสุรานั้นมาแล้ว จับห่อใบบัวเจาะให้เป็นช่องในข้างใต้ เอานิ้วมืออุดที่ปากช่องแล้วยกมาดื่ม พวกเพื่อนคนอื่น ๆ ก็ดื่มลักษณะเดียวกัน มาณพถามว่า นั่นห่ออะไร เพื่อนนักเลงตอบว่านี้เรียกว่า โบกขรมธุ น้ำผึ้งใบบัว มาณพเกิดความสนใจจึงบอกว่า ขอให้ฉันลองดูหน่อยเถิด พวกนักเลงเหล่านั้นพูดว่า ให้แกลองดูหน่อย แล้วส่งให้.มาณพนั้นดื่มสุราด้วยความสำคัญว่า น้ำผึ้งใบบัว พวกเพื่อนก็ได้ให้เนื้อปิ้งแก่เขา มาณพก็กินเนื้อปิ้งนั้นกับน้ำที่เข้าใจว่าเป็นน้ำผึ้งใบบัว เมื่อมาณพนั้นดื่มอย่างนี้บ่อย ๆเข้าก็เมา ในเวลาที่เขาเมาแล้ว พวกเพื่อน ๆ จึงบอกว่า นั่นไม่ใช่น้ำผึ้งใบบัวนั่นแหละสุราละ
มาณพนั้นจึงกล่าวว่า เราไม่รู้จักรสอร่อยอย่างนี้มาเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ ท่านจงนำสุรามาให้อีก พวกนักเลงเหล่านั้นก็ได้ให้สุราอีก มาณพนั้นก็ขอดื่มไปเรื่อย ๆ ครั้นขอเขาบ่อย ๆ เพื่อนก็ตอบว่าหมดแล้ว มาณพนั้นจึงส่งแหวนให้ แล้วกล่าวว่า จงไปแลกเอาสุรามาเถิดเพื่อน เขาดื่มกับพวกเพื่อนตลอดวันยังค่ำ เมาจนตาแดง ตัวสั่นพูดอ้อแอ้ กลับไปถึงบ้านแล้วก็นอน
บิดาของเขาทราบว่า ลูกชายดื่มสุรา เมื่อลูกสร่างเมาแล้วจึงพูดว่า ลูกเอ๋ย เจ้าเกิดมาในตระกูลเศรษฐี ทำอย่างนี้ไม่เหมาะนะ เจ้าอย่าประพฤติอย่างนี้อีกเลย เขาย้อนถามว่า คุณพ่อครับ ผมมีความผิดอย่างไร.พ่อตอบว่า เจ้ามีความผิดเพราะเจ้าดื่มสุรา ลูกย้อนว่า คุณพ่อพูดอะไร รสอร่อยเช่นนี้ ผมไม่เคยได้ดื่มมาเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ พราหมณ์ผู้บิดาจึงต้องขอร้องอยู่บ่อย ๆ แม้กระนั้น มาณพนั้น ก็คงกล่าวยืนคำเดิมอยู่ว่า ผมไม่อาจจะงดการดื่มลงได้ ลำดับนั้น พราหมณ์จึงคิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ วงศ์สกุลของเราคงจักขาดสูญเป็นแน่ อีกทั้งทรัพย์ก็จักพลอยพินาศไปด้วย แล้วกล่าวว่า
ดูก่อนมาณพเอ๋ย เจ้าเป็นผู้มีรูปร่างงาม เจ้าเกิดมาในตระกูลพราหมณ์ เจ้าไม่ควรกินสิ่งที่ไม่ควรกินนะลูก.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว บิดาจึงกล่าวต่อไปว่า งดเสียเถิดพ่อ ถ้าเจ้าไม่งด เจ้าต้องออกจากสมบัติและเรือนนี้ ข้าจักเนรเทศเจ้าออกจากแคว้น มาณพกล่าวว่า แม้คุณพ่อจักลงโทษถึงอย่างนี้ ผมก็จักออกไป ผมไม่อาจจะละสุราได้ดังนี้ แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ข้าแต่คุณพ่อ บรรดารสทั้งหลาย ปานะนี้ก็นับว่าเป็นรสอย่างหนึ่ง ทำไมคุณพ่อจึงต้องห้ามผม ผมจักไปในสถานที่ที่ผมได้รสเช่นนี้ ผมเป็นลูกที่คุณพ่อไม่อยากจะเห็นหน้า ผมจักออกจากบ้านไป จักไม่อยู่ในสำนักของคุณพ่อ.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพจึงกล่าวต่อไปว่า ผมจักไม่งดจากการดื่มสุรา คุณพ่อจะกระทำอย่างใดก็จงกระทำตามความพอใจของคุณพ่อเถิด พราหมณ์กล่าวว่า เมื่อเจ้าทิ้งข้าได้ แม้ข้าก็จักทิ้งเจ้าได้เหมือนกันแหละ
จากนั้น พราหมณ์ผู้บิดาจึงนำตัวมาณพนั้นไปยังศาล ตัดขาดจากการเป็นพ่อลูกกัน ไล่ออกจากบ้านไป มาณพนั้น ต่อมาก็กลายเป็นคนกำพร้า หาที่พึ่งมิได้ นุ่งผ้าขี้ริ้ว ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน อาศัยฝาเรือนแห่งใดแห่งหนึ่ง จนตายไป


Create Date : 29 สิงหาคม 2554
Last Update : 2 กันยายน 2554 12:53:13 น. 1 comments
Counter : 512 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 22 ธันวาคม 2563 เวลา:13:51:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.