ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
อสีติมหาสาวก ๓

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๓

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2548

การมีบริวารตามเสด็จนั้นถือว่าเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าสง่างาม สุมังคลวิลาสินี กล่าวถึงความสง่างามของพระพุทธเจ้าที่เกิดจากการมีพระอสีติมหาสาวกแวดล้อมขณะเดินทางไกล ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทาในคราวหนึ่งว่า
“ก็วันนั้นแล พระอสีติมหาสาวกส่วนใหญ่นุ่งห่มผ้าบังสุกุลมีสีดังเมฆเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ถือไม้เท้าราวกะช้างตระกูลคันธวงศ์ที่ถูกฝึกหัดมาอย่างดี ปราศจากโทษแล้ว คายโทษแล้ว ทำลายกิเลสแล้ว สางเครื่องรุงรังแล้ว ตัดเครื่องผูกพันได้ขาดแล้ว พากันห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์เองทรงปราศจากราคะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว พระองค์เองทรงปราศจากโทสะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากโทสะแล้ว พระองค์เองผู้ปราศจากโมหะแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากโมหะแล้ว พระองค์เองทรงปราศจากตัณหาแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ปราศจากตัณหาแล้ว พระองค์เองทรงหมดกิเลสแล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้หมดกิเลสแล้ว พระองค์เองตรัสรู้แล้ว แวดล้อมไปด้วยภิกษุผู้ตรัสรู้ตาม ราวกะว่าไกรสรราชสีห์แวดล้อมไปด้วยมฤคชาติ ราวกะว่าดอกกรรณิการ์แวดล้อมไปด้วยเกสร ราวกะว่าพญาช้างฉัททันต์แวดล้อม ไปด้วยช้าง ๘,๐๐๐ เชือก ราวกะว่าพญาหงส์ธตรฐแวดล้อมไปด้วยหงส์ ๙๐,๐๐๐ ตัว ราวกะว่าพระเจ้าจักรพรรดิแวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกร ราวกะว่าท้าวสักกเทวราช แวดล้อมไปด้วยหมู่เทวดา ราวกะว่าท้าวหาริตมหาพรหมแวดล้อมไปด้วยหมู่พรหม เสด็จดำเนินไปด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ ที่ใครๆ คิดไม่ถึง ซึ่งบังเกิดด้วยผลบุญที่ทรงสั่งสมมาตลอดเวลาอันหาประมาณมิได้ สง่างามคล้ายดวงจันทร์โคจรตลอดพื้นทิฆัมพร ฉะนั้น”
โดยเหตุที่พระอสีติมหาสาวกมีความสามารถดังกล่าว จึงมีผลออกมาเป็นการให้สังคมยอมรับ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระและฆราวาสเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว มักจะถือโอกาสไปนมัสการพระอสีติมหาสาวกด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า
“ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองโกสัมพี มีลาภเกิดขึ้นแก่พระองค์และพระสาวกมากมาย มีผู้คนถือเครื่องสักการะ อาทิ ผ้าและยาไปวัดแล้วเที่ยวหาดูว่า พระศาสดาประทับนั่งอยู่ที่ ไหน พระสารีบุตรนั่งอยู่ที่ไหน พร้อมทั้งเที่ยวหาดูที่นั่งของพระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ด้วย”
ในทำนองเดียวกัน พระสาวกทั่วไปเมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็จะไปไหว้พระอสีติมหาสาวกด้วย
อรรถกถาธรรมบทเล่าว่า
“พระเถระผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูป หนึ่งส่งศิษย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับสั่งว่า เธอทั้งหลายจงไปถวายบังคมพระศาสดาตามที่ฉันบอกแล้ว และจงไปไหว้พระอสีติมหาสาวกด้วย”
และว่า
“ต่อมาพระเถระรูปนั้นมาเฝ้าพระศาสดาเอง เก็บบาตรและจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้เป็นสหายแล้ว จากนั้นจึงไปถวายบังคมพระศาสดาและไหว้พระมหาเถระ ครั้นแล้วจึงกลับมายังที่อยู่ของพระเถระผู้เป็นสหาย”
นอกจากนี้ พระอสีติมหาสาวกด้วยกัน หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็จะถือโอกาสไปมาหาสู่กัน ดังปรากฏในปรมัตถทีปนีว่า
“หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระขทิรวนิยเรวตะได้ไปยังที่บำรุงของพระศาสดา และของพระมหาเถระมีพระธรรม เสนาบดี เป็นต้น ตามเวลาอันเหมาะสม”
ข. ผลงาน พระอสีติมหาสาวกได้แสดง ผลงานออกมา ด้วยการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายนั้น ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแต่แรกแล้วนั่นคือ หลังจากได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาตามลำพังพระองค์เดียวอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งได้พระสาวก ๖๐ รูป ต่อมาทรงเห็นว่าพระสาวกเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญ ของพระองค์ได้ จึงทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ วันที่ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขเกษมแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายอย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ให้งามในท่ามกลาง และให้งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ให้พรั่งพร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมจักพากันเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”
ครั้นแล้วพระสาวกเหล่านั้นก็แยกย้าย กันไปประกาศพระพุทธศาสนา และปรากฏว่าในบรรดาพระสาวก ๖๐ รูป มีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง พระอสีติมหาสาวกรูปที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญไว้ในพระพุทธศาสนา คือ พระอัสสชิโดยท่านได้แสดงธรรมโปรดปริพาชกอุปติสสะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วปริพาชกอุปติสสะนั้นเองก็ได้แสดงธรรมที่บรรลุแก่ปริพาชกโกลิตะผู้สหายให้ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ต่อมาปริพาชกทั้ง ๒ ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็น พระอัครสาวก ปริพาชกอุปติสสะเป็นที่รู้ จักกันในนามว่า ‘พระสารีบุตร’ ส่วนปริพาชกโกลิตะเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระมหาโมคคัลลานะ’ ทั้ง ๒ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา
นอกจากพระอัครสาวกทั้ง ๒ นี้แล้ว พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ก็มีผลงานอยู่ เหมือนกัน พระไตรปิฎกกล่าวถึง พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระมหาสาวกรูปอื่นๆ ว่า แต่ละท่านนั้นมีศิษย์ที่ต้องแนะนำพร่ำสอนท่านละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ขณะจำพรรษาอยู่กับพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม
นอกจากเป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ จะเห็นได้ จากคราวหนึ่ง พระสารีบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า การบัญญัติสิกขาบทและการแสดงปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒ นี้เป็นเหตุให้พรหมจรรย์มั่นคง พระสารีบุตรจึงกราบบังคมทูลให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงรับข้อเสนอของพระสารีบุตรแต่ตรัสชี้แนะว่า
“ตามปกติพระศาสดาจะบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเกิดขึ้นในสงฆ์”
ผลงานอีกอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร คือ การเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ให้จัดทำสังคายนา ซึ่งได้แก่การจัดคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งเมื่อทำอย่างนี้แล้ว จะช่วยรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงอยู่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้นานแสนนาน
ภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะผู้เป็นหนึ่งในบรรดาพระอสีติมหาสาวก ที่เหลืออยู่ไม่กี่รูป ก็ได้สร้างผลงาน ชิ้นสำคัญไว้ นั่นคือเป็นกำลังสำคัญในการ รักษาธรรมวินัยโดยชวนพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป (รวมทั้งท่านด้วยเป็น ๕๐๐ รูป) ทำสังคายนาตามแนวทางที่พระสารีบุตรเสนอ ส่งผลให้คำสอนของพระพุทธเจ้ายั่งยืนสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในคราวทำปฐมสังคายนานั้น นอกจากพระมหากัสสปะแล้ว ยังมีพระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ พระอุบาลี และพระอานนท์
นอกจากพระอสีติมหาสาวกรูปที่กล่าว มานี้ พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ต่างก็ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเหมาะสม และปฏิบัติชอบ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวมานี้ของพระอสีติมหาสาวก เหล่านั้นสามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้


Create Date : 27 สิงหาคม 2554
Last Update : 27 สิงหาคม 2554 11:35:33 น. 1 comments
Counter : 305 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 15 ธันวาคม 2563 เวลา:11:30:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.