Group Blog
 
All blogs
 

พญาสิงโตแห่งแดนใต้ Bulbophyllum Polystictum

เดือนพฤษภาคม เมื่อพญาแรกนา ทำการแรกนาขวัญ อีกไม่นานสายฝนก็ปรายโปรย สิงโตหลากหลายชนิดที่บานเบ่งกลางฤดูฝน ก้เริ่มเบ่งบาน

เหมือนกันกับสิงโตใหญ่แห่งแดนใต้ "สิงโตโพลี"

ช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มเลี้ยงกล้วยไม้ ไม่นานมานี้ ผมเคยไปงานประกวดกล้วยไม้แล้วพบสิงโตชนิดใหม่ซึ่งมีกลีบยาวมาก กลีบยาวเกือบ 3 นิ้ว สีสันสดใส เป็นสิงโตที่น่าสนใจมาก เพราะดอกใหญ่น่าจะนำมาพัฒนาสายพันธุ์ได้อีกยาวไกล



"พญาสิงโต" ชื่อนี้ได้ยินชาวใต้เรียกมานานแล้ว เพราะว่าสิงโตชนิดนี้เป็นไม้ประจำถิ่นทางภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซีย ลำลูกกล้วยเป็นหัวรูปไข่ยาว ประมาณ 2 นิ้ว ใบกว้าง3-4 นิ้ว ยาวได้ถึง 10 นิ้ว อาศัยอยู่ในป่าดงดิบ บนเขาทางภาคใต้ ผมยังไม่รู้ระดับความสูงว่าต่ำสุด-สูงสุดอยู่ได้ขนาดไหน แต่เลี้ยงออกดอกได้ในกรุงเทพ แน่นอน

สำหรับต้นที่ออกดอกนี้ หอบหิ้วมาจากหาดใหญ่ โดยเพื่อนใหม่ท่านตัดออกมาจากต้นส่งให้เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมานี้เอง นำกลับบ้านมาเลี้ยงไว้ใต้ร่มชมพู่น้ำดอกไม้ แขวนห่างจากพื้นดินเพียง 1ฟุต กว่าๆ เท่านั้น แทงซองดอกออกมาประมาณ 3 ซองดอก แต่พัฒนาขึ้นมาเป็นดอกสมบุรณ์ได้เพียงดอกเดียว อีกดอกเกิดอาการชะงัก เพราะอะไรไม่รู้ ดอกเน่าไปเลย สงสัยเป็นเพราะถูกน้ำฝนในช่วงที่ผ่านมานี้เอง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้นอกจากจะเป็นช่วงออกดอกแล้ว ยังเป็นช่วงที่สิงโตชนิดนี้ออกใบใหม่ด้วยเช่นกัน ส่วนดอกใหม่ที่แทงออกมาอีกจะพัฒนาเป็นดอกบานได้หรือไม่นั้น โปรดติดตามกันต่อไปนะครับ







 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 23 สิงหาคม 2550 16:47:15 น.
Counter : 2906 Pageviews.  

สิงโต "อนันดา" ไม้ถิ่นใต้ในกรุง

Bulbophyllum annandalei

สิงโตอนันดา

ไม่เคยเห็นสิงโตชนิดนี้ในป่ามาก่อนเลย แต่ได้ยินมาว่าเป็นไม้ที่พบในป่าใต้ แถบจ. ระนอง พังงา ได้ยินชื่อ ได้เห็นภาพมานาน ตามหาจากตลาดต้นไม้ก็ไม่ค่อยเห็น จนพี่สาวใจดี "พี่หนูจิ๋ว" เมืองนครปฐม ตัดมาให้สี่ใบ เลี้ยงมาหนึ่งปีก็ยังไม่ออกดอก สงสัยจะเลี้ยงไม่เป็นเสียแล้วสิ



ตามหาจนเจอที่เชียงใหม่
สองปีที่แล้วได้เดินทางไปพบน้องคนหนึ่งที่เชียงใหม่ "ตลาดคำเที่ยง" ได้เดินดูต้นไม้หลากหลาย แล้วก็ไปพบร้านหนึ่งขาย สิงโตอนันดา ด้วยความที่อยากได้ แม้จะได้มาแล้วแต่ก็กลัวว่าตัวเองจะเลี้ยงไม่รอด เลยซื้อมาอีกติดไม้มาอย่างเรียบร้อย รากเดินดี

ก็รู้ทั้งรู้ว่าเป็นไม้ป่า แต่อดใจไม่ได้เสียที แต่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่ได้ซื้ออีกแล้ว รู้สึกว่าบางทีซื้อมามากๆ ก็ไม่ได้ดูแลให้ดี

ยิ่งเวลาออกเดินทางไปเที่ยวดูนก ชมธรรมชาติในป่าก็ยิ่งอยากให้เจอกล้วยไม้ในป่ามากขึ้น เจอทีไรตื่นเต้นดีใจเสียทุกครั้ง

แล้วก็เลยเลี้ยงเรื่อยมา เอาแขวนไว้ใต้ร่มโรงรถ ใกล้ๆ กันนั้นก็เป็นกล้วยไม้หลากหลายชนิด ได้รับแสงเพียงรำไร ต้นไม้ก็ออกหน่อใหม่งอกงามดี ทำให้มีกำลังใจ แต่ทำไม ทำไมไม่ยอมออกดอกเสียที



สิงโตอนันดาที่มีอยู่สองไม้ ไม้ละสี่หัว สี่ใบ ต้นหนึ่งโดนแดดมาก ต้นหนึ่งอยู่ร่มรำไร แต่พอต้นปี ๔๙ ต้นที่ได้รับแสงมากก็เริ่มแทงช่อดอก ส่วนต้นนี้ก็เริ่มแทงช่อดอกเหมือนกัน ช่อดอกยาวๆ สี่ห้านิ้ว กับก้านช่อดอกแบบซี่ร่ม ออกดอกตูมมาสี่ดอก กลีบเลี้ยงคู่ข้างติดกัน กลีบดอกมีขนครุยเล็กๆ น่ารัก สีเหลืองสด ดอกขนาดยาวไม่เกิน 1 นิ้ว แต่ก็นับว่าใหญ่พอดู

ตั้งแต่แทงดอกจนดอกบานใช้เวลาเกือบสองสัปดาห์ บานทนอยู่สี่ห้าวันก็เริ่มโรย จับเอาเกสรไปผสมกับสิงโตปากม่วง ก็เหี่ยว ไม่ติดฝัก สงสัยต้องรอปีหน้า

เมื่อเลี้ยงในสภาพแสงที่แตกต่างกันสองไม้ ทำให้รู้ว่า สิงโตชนิดนี้ อดทนดีเหมือนกัน ไม่กลัวแสงมาก แต่ความชื้นต้องได้ เลี้ยงได้ไม่ยากในกรุงเทพ เมื่อต้นสมบูรณ์เต็มที่ก็จะแทงช่อดอก แล้วบานได้อย่างงดงาม

สิงโตชนิดนี้อาศัยอยู่ในป่าดงดิบ ในภาคใต้ ดังนั้นจึงชอบอากาศร้อนชื้น แสงรำไร ไม่ค่อยกลัวโรคและแมลงเท่าไร จะมีก็แต่ได้รับน้ำมากเกินไปจนเครื่องปลูกแฉะ จนยอดเน่า จึงต้องระวังในการรดน้ำเป็นอย่างมาก


เลี้ยงกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้พันธุ์แท้ที่ออกดอกบานปีละครั้ง ต้องให้ความเอาใจใส่มาก แต่บางทีผมก็พบว่า เอาใจใส่มากเกินไป โดยเฉพาะการรดน้ำให้ปุ๋ย ให้มากเกินไปก็ไม่ดี ให้น้อยเกินไปก็แคระแกรน ต้องหาหนทางที่เหมาะสมกับไม้แต่ละชนิด

เหมือนชีวิต ตึงไปก็ไม่ได้ หย่อนไปก็ไม่ได้ หากหาหนทางสายกลาง เดินไปอย่างมั่นคงได้จึงเป็นการดี




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 17:03:57 น.
Counter : 1639 Pageviews.  

สิงโต "ขนตาแดง"

จากกระบี่มาเบ่งบานอยู่ ณ บ้านสวนพุทธมณฑล

เมื่อเริ่มเข้าไปเรือนกล้วยไม้พันทิป เมื่อสามปีก่อน ผมได้รู้จักน้องชายคนหนึ่ง บ้านเรือนนิวาสสถานอยู่ที่ จ. กระบี่ และการที่ได้รู้จักเขาผู้มีน้ำใจกว้างขวางกว่าเรือนร่างนี่เอง ที่ทำให้ผมได้รับของขวัญเป็นสิงโตแสนสวยชนิดนี้

สิงโต "ขนตาแดง" Bulbophyllum gracillimum



ผมคุยหลังไมค์ไปหาเขาบางครั้ง ปรึกษาหารือเรื่องกล้วยไม้กันบางเรื่อง และเรื่องหนึ่งคือการแลกเปลี่ยนกล้วยไม้กัน

ขณะนั้นเราเป็นมือใหม่กันทั้งคู่ ต้องอัธยาศรัย เรียกว่าใจตรงกัน เขาสนใจกล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตาด้วยเช่นกัน รวมถึงกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ รองเท้านารี ฟาแลนนอบซิส หวาย ฯลฯ ทั้งยังนำเรื่องราวการไปสำรวจกล้วยไม้ในพื้นที่มาเล่าสู่กันฟัง

วันหนึ่งก็ปรากฏกล้วยไม้กล่องใหญ่ส่งมาจากแดนใต้ ไม้หลายชนิดถูกส่งมา แต่ว่าหลายชนิดผมเลี้ยงแล้วก็ทรงตัว ยังไม่เบ่งบานออกดอก มีเพียงสิงโตขนตาแดงต้นนี้ที่นำมาเกาะกับไม้ แขวนไว้ในระเบียงหน้าบ้าน เมื่อแรกมานั้นออกดอกครั้งแรกเพียงช่อเดียว

แต่เมื่อเวลาผ่านมา ทุกปีดอกไม้จะบานมากขึ้น มากขึ้น ดังเช่นปีนี้บานมากถึง 6 ช่อ และกำลังแทงช่อดอกใหญ่อยู่ ณ ขณะนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2548)

ผมเขียนบันทึกนี้ด้วยความรู้สึกถึงวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก ที่กลายเป็นวันที่คนไม่เข้าใจมากที่สุด เพราะเรื่องเกิดขึ้นจากความรักของนักบุญ เซนต์วาเลนไทน์ ที่มอบความรักแด่เด็กหญิง และกระจายความรักสู่ผู้คนรอบข้าง

ความรักกล้วยไม้ของผม ความรักกล้วยไม้ของน้องชายนาย "ลิงเล" ความรักในสิ่งที่ธรรมชาติมอบมาให้ สร้าง "น้ำใจ" ระหว่างคนต่อคน ระหว่างใจต่อใจ
สิงโตขนตาแดงบานเมื่อครั้งใด
ผมก็ระลึกถึงเขาด้วยความขอบใจขึ้นทุกครั้ง

ความรักจึงมิใช่เพียงความรักของหนุ่มสาว แต่เป็นความรักอันยั่งยืนต่อสรรพชีวิตในธรรมชาติ

และขอมอบความรักนี้แด่ทุกท่านครับ




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 16:57:33 น.
Counter : 2014 Pageviews.  

สิงโต แห่ง "สยาม" ประเทศ

ผมค้นพบว่าที่บ้าน มีสิงโต ดอกหนึ่งบาน โดยที่ผมเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นสิงโตที่ตามหามานาน

ตามหา แต่ไม่เคยไล่ล่า แล้ววันหนึ่ง หลังจากปลูกเลี้ยงมานานถึงสองปี สิงโตชนิดนี้ก็เบ่งบาน

สิงโตสยาม Bulbophyllum siamense



ตอนแรกที่ดอกนี้บาน อยู่ในซุ้มที่ด้านล่างปลูกเฟินไว้จำนวนมาก ผมยังมองผ่านๆ
เพราะว่าเลิกคาดหวังกับสิงโตชนิดนี้ เพราะได้มาทีไรก็กลายดอกเป็นสิงโตอีกชนิดหนึ่ง

และคิดว่าสิงโตชนิดนี้คงไม่สามารถออกดอกในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ค่อนข้างร้อนและอยู่ในความสูงระดับ 1 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

แต่ผมคิดผิด เป็น "สิงโตสยาม" ที่เคยตามไปดูที่ภูหลวง แต่แม้สีสันจะไม่เข้มข้น กลีบดอกจางบาง แต่ก็นวลนุ่ม น่าทนุถนอม เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ได้ทดลองถ่ายรูปในแสงสลัว เพราะบริเวณที่ปลูกเลี้ยงนั้น โดนแสงน้อยมาก มีต้นไม้อื่นๆ กรองแสงให้มากถึง 60 เปอร์เซนต์ ไม่เคยถูกแสงแดดโดยตรง

ปีที่แล้ว ข้างๆ กับอีกกระถางหนึ่งมีสิงโตงาม Bulbophyllum orectopetalum ออกดอก ผมจึงนึกว่าเป็นชนิดเดียวกัน

ดีใจกับผมหน่อยสิครับ หลังจากตามหามาสามปี แล้วเราก็พบกัน
ขอสัญญาว่าจะดูแลกันอย่างดี จนกว่าจะถึงเวลาเบ่งบานอีกครั้งในปีหน้า




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 17:03:16 น.
Counter : 1088 Pageviews.  

สิงโตปากม่วง Bulbophyllum coweniorum

สิงโตปากม่วง Bulbophyllum coweniorum
จากช่องเม็ก มาเบ่งบานที่ลานข้างบ้าน

สามปีที่แล้ว ผมเพิ่งเริ่มต้นมองหากล้วยไม้ชนิดต่างๆ เข้าบ้าน เพราะเพิ่งปลูกบ้านเสร็จไปไม่นาน ยังพอมีที่ว่างเหลืออีกเยอะ ในช่วงแรกก็หาต้นไม้ประดับสวนพวกโกสน หมากผู้หมากเมีย เฟิน คล้า และอื่นๆ อีกมาก จนเรียบร้อย ผมก็มองหากล้วยไม้โดยเฉพาะสิงโต

วันนั้นไปเดินเล่นตลาดน้ำตลิ่งชัน มีร้านกล้วยไม้ร้านหนึ่ง เห็นสิงโตแพใหญ่ เขาบอกว่าเป็นสิงโตสยาม ด้วยความอยากได้ ก็เลยซื้อมาทั้งแพยี่สิบกว่าใบ พอมาถึงบ้านก็พบว่ามีตาดอกแทงออกมาแล้ว สองสัปดาห์ต่อมาก็พบว่าเป็น "สิงโต" ที่คล้ายกับสิงโตงาม คือกลีบดอกมีลายประ แต่ลายประเป็นสีม่วง แถมกลีปปากก็เป็นสีม่วงด้วย

ผมนึกสงสัย เพราะในหนังสือเล่มอื่นๆ ก็ไมีมีระบุไว้ คนขายบอกว่าได้มาจากทางภาคอีสาน ซึ่งเมื่อพอนำมาถามเพื่อนๆ ในเรือนกล้วยไม้ถึงได้รู้ว่าคงมาจากประเทศลาวเลยทีเดียว ช่วงนั้น สิงโตชนิดนี้ดูเหมือนว่าจะหายาก เพราะอาจจะเป็นไม้ชนิดใหม่

และก็เป็นความจริงที่ว่าสิงโตชนิดนี้เป็นสิงโตชนิดใหม่ พี่ชายที่นับถือคนหนึ่งพบนานหลายปีแล้ว และได้ส่งให้ อ. ไซเดนฟาเดนเขียนรายงานในหนังสือของต่างประเทศ แต่ยังไม่ทันตีพิมพ์ อ. ไซเดนฟาเดนก็เสียชีวิตก่อน ตอนนั้นรู้สึกว่าจะให้ชื่อว่า Bulbophyllum rufuslabrum (ซึ่งผมอาจจะจำชื่อวิทยาศาสตร์ผิดก็ได้ แปลว่า มีปากสีม่วง)

สิงโตชนิดนี้ตอนแรกผมก็ไม่ทราบว่าจะต้องเลี้ยงอย่างไร ก็ลองเลี้ยงเหมือนสิงโตงาม คือชื้น และไม่ค่อยถูกแสง ปีแรกออกดอกมาสวยงามมากหลายดอก ได้ตัดแบ่งไปให้เพื่อนๆ เลี้ยงบ้าง ปรากฏว่าปีนี้ ผมลองเปลี่ยนที่เลี้ยง ความชื้นคงน้อยลง เลยผลิดอกน้อยมาก เหลือออกมาให้ชมเพียงดอกเดียว



ฉากหลังเป็นใบบิโกเนียครับ ไม่ค่อยสวย ดูเอาสนุกละกันครับ

ตอนแรกที่ได้กล้วยไม้ชนิดนี้มา ผมยังอ่อนมากในเรื่องการรู้จักกล้วยไม้ ไม่รู้ว่าการเพาะทำอย่างไร ผสมพันธุ์ทำอย่างไร มีฝักติดมาด้วยใหญ่มาก ก็ไม่ได้ส่งไปเพาะ แต่ฝักอยู่ติดกับต้นนานถึง 6 เดือน จึงแตกไป แต่ผมเชื่อว่าฝักคงมีอายุนานกว่านั้น

"สิงโตปากม่วง" นี้ ผมยังไม่เคยพบเห็นในธรรมชาติ ที่บ้านทะยอยบานตั้งแต่ต้น พฤศจิกายนมาจนถึงกุมภาพันธ์ ลำลูกกล้วยรูปหยดน้ำยาวประมาณ 3-4 ซม. อ้วนกลม ใบรูปหอกปลายมน กว้าง 4 ซม. ยาวประมาณ 10-15 ซม. สีเขียวเข้ม

ดอกล่าสุดเมื่อวานนี้เอง

ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5 ซม. หรือกว่านั้น ดอกมีขนาดไม่ใหญ่มาก กลีบเลี้ยงด้านบนยาวประมาณ 2-3 ซม. กลีบเลี้ยงคู่ข้าง ก็ประมาณกัน ถ้าวัดกันจริงๆ ก็คงประมาณ 3-4 ซม. แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้น

ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีพื้นสีเหลืองอ่อน ถึงเหลืองเข้ม แล้วแต่สภาพแสงของการเลี้ยงดู มีลายประเหมือนลายเสือโคร่งสีม่วง กลีบปากสีชมพูเข้มอมม่วง แต่ปลายกลีบปากมีสีเหลือง เกสรสีเหลืองสด

บานได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ และออกดอกง่าย ถ้าได้รับแสงและความชื้นเต็มที่ ผมเชื่อว่าเป็นไม้เบา ที่น่าจะนำมาผสมกับสิงโตสยาม สิงโตโพลี หรือสิงโตงาม เพื่อเพิ่มสีสัน และทำให้ออกดอกได้ง่ายขึ้น

แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีโอกาสผสม เพราะว่ามีต้นแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ น้อยเกินไป และแพที่ได้มาเมื่อสามปีก่อนเอง คงเลี้ยงแบบแห้งเกินไป ไม่มีเครื่องปลูก รากเลยเดินไม่ค่อยดี ขอกลับไปบำรุงอีกสักปี แล้วปีหน้าค่อยมาดูกันอีกทีว่าจะได้ขนาดดอก หรือสีสันดีขึ้นหรือไม่




 

Create Date : 20 มกราคม 2549    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2549 17:28:48 น.
Counter : 1420 Pageviews.  

1  2  3  

เสือจุ่น
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เสือจุ่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.