THANON VEE (ถนนวี)

thanonvee
Location :
Paris France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thanonvee's blog to your web]
Links
 

 
มองต่างมุม : ภาพลักษณ์จอมปลอม



Grenoble, April 2007


“มนุษย์ผู้เชิดชูคุณธรรม......การสร้างภาพให้ดูดี......กับภาพลักษณ์จอมปลอม......หรือคนดี.......ที่ถูกสังคมลงโทษ....และ ทอดทิ้ง......”


มีแนวคิดอยู่หนึ่งแนวคิด ที่บอกว่า คนเรานั้นไม่มีใครเลยที่รู้จักตัวตนจริงๆของตัวเอง หมายความว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะบอกกับคนอื่นได้ว่า ตัวเองนั้นเป็นคนเช่นไร เป็นคนนิสัยแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบอะไร ฯลฯ หากแต่เป็นคนอื่นๆในสังคมเท่านั้นที่บอกได้ว่าคนๆนั้น มีนิสัยหรือเป็นคนเช่นไร...


ถามว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปในทำนองเดียวกับที่เรามักจะบอกว่าคนทำผิดโดยนิสัย จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองทำผิดหรือเปล่า? คำตอบคือใช่ แต่ใช่แค่ครึ่งเดียว เหตุผลก็เพราะว่าคนทำผิดแล้วไม่รู้ตัวว่าตัวเองทำผิดนั้น เป็นผลมาจากคนๆนั้นถูกปลูกฝังหรือเรียนรู้มาว่า สิ่งๆนั้นไม่ผิด

แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนั้น คือ นิสัยและลักษณะอุปนิสัยทุกด้านของมนุษย์คนหนึ่งๆ ทั้งด้านดีและไม่ดี กล่าวคือ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนดี หรือชั่ว เรียบร้อยหรือแข็งกร้าว เงียบขรึมหรือสนุกสนานเฮฮา ฯลฯ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน ผู้ที่กำหนดและลงมติว่าเขาเป็นคนเช่นนั้นคือสมาชิกคนอื่นๆในสังคม ไม่ใช่ตัวเขาเอง


“คนหนึ่งคนจะรู้ว่าตัวเองเป็นคนเช่นไรนั้น เขาจะรับภาพสะท้อนตัวเขาเองจากคนอื่น...” ดังนั้นสังคมที่เขาอาศัยอยู่นั้นจึงทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนและแสดงให้เขาเห็นว่าตัวเองมีลักษณะอย่างไร ทั้งนี้ทั้งลักษณะทางกายภาพ (รูปธรรม) และลักษณะนิสัย (นามธรรม) (ซึ่งในที่นี้เราจะใช้คำว่า “ลักษณะส่วนบุคคล”) และเมื่อเขาได้รับภาพตัวของเขาเองจากคนอื่นแล้ว บุคคลนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการจดจำและปลูกฝังลักษณะนั้นให้กับตัวเอง และจะยึดภาพนั้นไว้เพื่อบอกกับตัวเองหรือบอกกับคนอื่นต่อไป


คำถามคือว่า แล้วลักษณะส่วนบุคคลดังกล่าวเป็นลักษณะนิสัยจริงๆของคนๆนั้นหรือไม่?

ก่อนอื่นต้องต้องยอมรับและทำความเข้าใจก่อนว่า ลักษณะส่วนบุคคลที่คนหนึ่งคนได้รับการสะท้อนมาจากสังคมนั้นเป็นภาพที่คนในสังคมส่วนใหญ่รับรู้และลงมติส่วนรวมว่าเป็นแบบนั้น จะเป็นไปไม่ได้และเกิดขึ้นไม่ได้เลย (ในระบบปกติของสังคม) ที่คนในสังคมจะลงความเห็นว่า คนหนึ่งๆมีนิสัยแบบนี้ โดยที่เขาไม่ได้แสดงลักษณะนิสัยแบบนั้นออกมา ดังนั้นตามปกติแล้วลักษณะส่วนบุคลที่คนๆหนึ่งได้รับการสะท้อนมา จะเป็นลักษณะที่แท้จริงหรือใกล้คียงกับ ลักษณะส่วนบุคคล ของบุคคลนั้น


อย่างไรก้อตามปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นบ่อยมากนั่นก็คือ เมื่อคนหนึ่งคนแสดงลักษณะนิสัยของตัวเองในสังคมที่อาศัยอยู่ในแบบหนึ่ง ทั้งโดยเจตนาให้เป็นอย่างนั้นหรือโดยธรรมชาติของตัวเอง แต่ภาพที่ปรากฏต่อสังคมกับเป็นอีกอย่าง ด้วยเหตุนี้ภาพที่สะท้อนกลับมายังตัวคนคนนั้นจึงไม่ใช่ลักษณะนิสัยที่แท้จริง หรือไม่ใกล้เคียงกับลักษณะนิสัยจริงๆของตัวเอง ในกรณีนี้ เขาก็จะได้รับการปลูกฝังและจดจำในสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากลักษณะส่วนบุคคลที่ที่ถูกต้องของตนเอง


เมื่อบุคคลได้รับภาพสะท้อนจากสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ลักษณะส่วนบุคลที่แท้จริงของ ผลที่ตามมาก็คือการยึดติดกับภาพลักษณ์และลักษณะนิสัยที่ได้รับมาจากสังคมซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริง ปัญหาที่ตามมาในส่วนนี้เราแยกออกเป็นสองประเภทใหญ่ คือ ลักษณะส่วนบุคลที่ไม่จริงในด้านบวก และลักษณะส่วนบุคลที่ไม่จริงในด้านลบ


แบบแรกนั้นเป็นลักษณะที่สังคมให้การยอมรับ และเป็นลักษณะส่วนบุคคลที่เจ้าตัวเองก็รู้สึกดีที่มีลักษณะที่สังคมยอมรับ ตัวอย่างเช่น ลักษณะส่วนบุคคลของนาย ก. ที่คนในสังคมมองว่าเป็นคนที่รอบคอบ เอื้อเฟื้อ และมีคุณธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นาย ก. ไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้นเลย แต่อาจจะด้วยเหตุผลที่นาย ก. (1)ตั้งใจแสดงให้คนเห็นว่าลักษณะของตัวเองเป็นคนเช่นนั้น (การสร้างภาพให้ดูดี) หรือ (2)อาจจะด้วยเหตุผลที่คนในสังคมเข้าใจผิดไปเอง (นาย ก. ทำตัวตามปกติ) แต่ภาพที่คนในสังคมเห็นและลงความเห็นร่วมกันก็คือ นาย ก มีลักษณะส่วนบุคคลที่ดี เอื้อเฟื้อ และมีคุณธรรม ในกรณีนี้เราเรียกว่า ลักษณะส่วนบุคลที่ไม่จริงในด้านบวก


ข้อดีและประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่จริงแบบนี้ คือ นาย ก. ยึดภาพที่คนในสังคมมองตนว่าเป็นคนรอบคอบ เอื้อเฟื้อ และมีคุณธรรม และนำมาเป็นบรรทัดฐานในการปฎิบัติตน กล่าวคือ เขาปรับตัวเองให้ มีลักษณะตามที่สังคมสะท้อนภาพลักษณ์ของเขา จากนั้นเมื่อ นาย ก. กลายเป็นคนที่รอบคอบ เอื้อเฟื้อ และมีคุณธรรม แน่นอนว่าประโยชน์ต่อสังคม และคนรอบข้างย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนข้อเสียและปัญหาของลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่จริงแบบนี้ คือกรณีที่นาย ก. นำภาพลักษณ์ที่รอบคอบ เอื้อเฟื้อ และมีคุณธรรมนี้ เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผิดกฏหมาย หรือเอารัดเอาเปรียนบสังคม

แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่มีคุณธรรมนี้เองที่กลายเป็นเกราะป้องกันการถูกตรวจสอบจากคนในสังคม ทำให้เขายังกระทำการที่ผิดนั้นต่อไปเรื่อยๆโดยที่คนส่วนใหญ่ยังเคารพและนับถือภาพลักษณ์ที่รอบคอบ เอื้อเฟื้อ และมีคุณธรรม(ที่ไม่จริง) ของเขาต่อไป กรณีนี้คงไม่ต่างอะไรกับคำกล่าวที่ว่า “ผู้ดีจอมปลอม”


สำหรับแบบที่สองนั้น เป็นลักษณะที่สังคมไม่ให้การยอมรับ ดังนั้นเราจึงเรียก ลักษณะส่วนบุคลที่ไม่จริงในด้านลบ ตัวอย่างเช่น นาย ข. ถูกคนในสังคมลงความเห็นและมีมติร่วมกันว่า ลักษณะส่วนบุคคลของนาย ข. เป็นคนที่กร้าวร้าว เจ้าอารมณ์ ชอบใช้กำลัง เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นาย ข. มิได้เป็นคนในลักษณะดังกล่าว

แต่เหตุผลที่คนในสังคมเข้าใจว่าเขาเป็นคนเช่นนั้น อาจเป็นเพราะ (1)นาย ข. ตั้งใจแสดงลักษณะแบบนั้นออกไป เพื่อต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองเก่งน่าเกรงขาม ต้องการประชดบางสิ่ง หรือเพื่อจุดประสงค์อื่น (จงใจทำให้คนเห็น) หรืออาจด้วยเหตุผลที่ (2)นาย ข. ทำตัวตามปกติ แต่ด้วยหลายๆตัวแปรที่คลาดเคลื่อนทำให้คนในสังคมเข้าใจผิด และคิดว่านาย ข. เป็นคนกร้าวร้าว เจ้าอารมณ์ ดังกล่าว (นาย ข. ทำตัวตามปกติ) ดังนั้นนาย ข. จึงได้รับภาพสะท้อนจากสังคมว่าเขามี ลักษณะส่วนบุคลที่ไม่จริงในด้านลบ
ลักษณะส่วนบุคลที่ไม่จริงในด้านลบนี้ ข้อดีและประโยชน์ที่มีต่อส่วนรวมเกิดขึ้นได้ในกรณีเดียวคือกรณีที่นาย ข. ตั้งใจและมีเจตนาแสดงลักษณะที่ไม่ดีออกไป
เหตุผลเพราะเมื่อเขาจงใจกระทำการที่ไม่ดีต่อส่วนรวม บุคคลอื่นก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้นของเขา ดังนั้นเมื่อนาย ข.ได้รับการสะท้อนภาพลักษณ์ที่สังคมไม่ให้การยอมรับ ก็เท่ากับว่าเขาได้รับการลงโทษจากสังคมนั่นเอง

นอกจากนี้ผลดีอีกอย่างก็คือเมื่อเขารับรู้แล้วว่าการกระทำดังกล่าวไม่ดี สังคมไม่ให้การยอมรับ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่นาย ข. ก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับตัวเอง นั่นคือเขาจะเริ่มประพฤติและปฎิบัติในสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ


สำหรับข้อเสียและปัญหาของลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่จริงแบบนี้ คือ เมื่อนาย ข. รับภาพสะท้อนจากคนอื่นแล้วว่าตนเองมีลักษณะที่สังคมไม่ไห้การยอมรับ แทนที่เขาจะเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ในกรณีที่นาย ข.จงใจทำ) ผลกระทบจากการที่เขาถูกสังคมลงโทษด้วยการไม่ยอมรับ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันให้เป็น”คนนอกสังคม” นาย ข. จึงมีความคิดที่จะดำเนินการในลักษณะที่สังคมไม่ให้การยอมรับนั้นต่อไป ที่สำคัญจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ส่วนในกรณีที่นาย ข. ทำตัวตามปกติ แต่คนในสังคมเข้าใจผิดไปเอง ก็เช่นเดียวกัน นาย ข. จะเกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม บางรายทำตัวตามปกติแต่กลับถูกมองในด้านลบ บางรายทำสิ่งที่เป็นผลดีต่อส่วนรวมแต่ก็ถูกมองในแง่ลบเช่นกัน ความรู้สึกแห่งอยุติธรรมก้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นบุคคลเหล่านี้ก็จะยึดภาพลักษณ์ที่สังคมไม่ให้การยอมรับนั้นไปปฎิบัติจริงๆ นี่คงไม่แตกต่างอะไรเลยกับคำกล่าวที่ว่า “เมื่อเป็นคนดีไม่ได้ ...ก็ชั่วให้สุดๆไปเลย...”



สรุปง่ายๆก็คือ (ต่อเนื่องจากบทความ“คุณผิด! เพราะเราไม่คิดเหมือนคุณ”) การตัดสินอะไร หรือตัดสินว่าใครผิด หรือ ถูก เป็นคนดี หรือ ไม่ดี มีคุณธรรม หรือ ไร้จริยธรรม อย่าตัดสินแบบมีอคติ อย่ามองแค่ปัจจุบัน อย่ามองแค่ด้านเดียว อย่าตัดสินเพราะฟังเขาเล่ามา อย่าตัดสินตามกระแสคนส่วนใหญ่ ...........

อย่าลืมว่าเพียงหนึ่งครั้งที่คุณตัดสินและมองคนผิด ผลเสียไม่ใช่แค่คุณรู้สึกว่าตัวเองโง่ที่โดนหลอกเท่านั้น เพราะสิ่งเลวร้ายที่สุดที่ตามมาคือ คุณกลายเป็นคนที่สร้าง “ปีศาจร้ายที่มีหน้ากากของคุณธรรมบังหน้า” หรือ “คนเลวสุดขั้วเพราะเป็นคนดีไม่ได้” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว (คน) แล้ว ในสังคมของเรา


นักเรียน (บ้าน) นอก

19.11.2016 : ย้ายหมวดหมู่ ไม่ได้แก้เนื้อหา


Create Date : 01 เมษายน 2550
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2559 23:32:44 น. 0 comments
Counter : 461 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.